ในช่วงเวลาที่เราได้รัฐบาลใหม่แล้ว สิ่งหนึ่งที่เริ่มถูกนำกลับมาพูดถึง คือแนวทางนโยบายที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองได้เสนอเป็นทางเลือกไว้เพื่อพัฒนาประเทศ ตอนนี้เราอาจจะมองไปยังเงินดิจิตอลวอลเล็ตที่ดูจะเป็นแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับบล็อกเชนและโลกการเงิน มีคำสำคัญๆ เช่น ซอร์ฟพาวเวอร์ ซอร์ฟสกิล ไปจนถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งดูจะเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับกระแสเศรษฐกิจและการพัฒนาทั่วโลก
ในช่วงเวลาที่สังคมเริ่มมองนโยบายและมองภาพอนาคตของประเทศ The MATTER ชวนไปรู้จักแนวทางนโยบายน่าสนใจใหม่ๆ ที่เราน่าจะนับได้ว่า เป็นการทดลองและความพยายามของภาครัฐ ต่อการผลักดันคุณภาพชีวิตของผู้คนไปข้างหน้าให้มากขึ้นไป เป็นแนวทางนโยบายที่เราอาจจะรู้สึกว่าเป็นไปได้ยาก แต่หลายประเทศก็พยายามผลักดัน ทดลอง หรืออาจทำสำเร็จไปแล้ว ไม่ว่าจะจากนโยบายใหญ่ๆ เช่น ขนส่งสาธารณะฟรีทั้งระบบ ระบบรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ไปจนถึงนโยบายน่ารักๆ อย่างการให้งบสำหรับวัยรุ่นเพื่อซื้อสินค้าทางวัฒนธรรม
ขนส่งสาธารณะฟรี และเมืองไร้รถยนต์
ประเทศไทยเรามีประเด็นเรื่องราคารถไฟฟ้า เพราะขนาดว่าสำหรับคนทำงานระดับกลางๆ การจ่ายค่ารถไฟฟ้าหลักร้อยต่อวัน ยังถือเป็นภาระทางการเงินอย่างหนึ่ง ขนส่งสาธารณะเป็นบริการพื้นฐานเบื้องต้น ซึ่งนอกจากความสะดวกสบายแล้ว มันยังเป็นช่องทางที่ผู้คนใช้เพื่อเข้าถึงโอกาส เพื่อเคลื่อนไหวทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และยิ่งในช่วงหลังมานี้ กระแสความรับผิดชอบเรื่องภูมิอากาศ การลดคาร์บอนและอุณหภูมิอย่างสำคัญ วิธีหนึ่งที่จะมาช่วยเสริมความรับผิดชอบนี้ได้ คือการลดปริมาณรถยนต์ลง
ขนส่งสาธารณะที่ฟรีและมีคุณภาพ จึงเป็นการลงทุนที่หลายเมืองใหญ่เลือกลงทุน โดยปัจจุบันก็มีบางประเทศที่ทำสำเร็จแล้ว จากการเปิดขนส่งสาธารณะฟรีทั้งระบบ เช่น ลักเซมเบิร์ก บางแห่งก็เป็นการเปิดบริการขนส่งสาธารณะให้ใช้ฟรีในระดับเมือง บ้างก็ให้บริการต่อพลเมืองฟรีในบางบริการ เช่น รถเมล์ (ประเทศไทยเองก็เคยมีรถเมล์ฟรีเช่นกัน) และหลายเมืองของสหรัฐอเมริกาก็มีบริการรถเมล์ฟรีเป็นบริการพื้นฐาน
แน่นอนว่าขนส่งสาธารณะฟรีเป็นการลงทุนและการอุดหนุน รวมถึงเป็นสวัสดิการพื้นฐานรูปแบบหนึ่ง ประเทศสำคัญอย่างลักเซ็มเบิร์ก เบื้องต้นเป็นประเทศที่ค่อนข้างร่ำรวยก็ชี้ให้เห็นว่า รายได้จากค่าตั๋วขนส่งสาธารณะทั้งระบบของประเทศอยู่ที่ 40 ล้านยูโร จากค่าดำเนินการทั้งหมด 500 ล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วนแล้วคุ้มค่าที่รัฐจะสนับสนุน โดยนำเอาภาษีไปอุดหนุนนั่นเอง ทั้งนี้ยังเป็นประเทศที่เปิดให้พลเมือง รวมถึงนักท่องเที่ยวใช้ขนส่งสาธารณะได้ฟรีทั้งระบบ สาธารณรัฐเอสโตเนียเองก็เปิดให้พลเมืองใช้รถเมล์ทั่วประเทศและขนส่งมวลชนทั้งหมดในเมืองฟรี รวมถึงประเทศมอลตาก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เปิดขนส่งสาธารณะฟรีทั้งระบบให้กับพลเมือง ไปจนถึงสเปนที่เปิดบางเส้นทางและบางบริการให้พลเมืองใช้ได้ฟรี
ประโยชน์ของการอุดหนุนโดยภาครัฐ จนทำให้ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะฟรีได้ หลายรัฐและหลายเมืองก็มองเห็นว่ามีประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอัตราการใช้ขนส่งสาธารณะ ลดมลพิษ และลดความร้อนของเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ในบางประเทศ เช่น เยอรมนีมีการออกตั๋วเดินทางในราคาที่ถูกมากๆ คือ 9 ยูโรต่อเดือน เพื่อใช้เดินทางได้ทั่วประเทศ มีแนวคิดหลักคือการลดรายจ่ายให้ครัวเรือนจากช่วงโรคระบาด และกระตุ้นการเดินทางในประเทศ หรือในบางเมือง เช่น ปารีสก็มีการเปิดขนส่งสาธารณะในตัวเมืองให้เด็กและวัยรุ่นนั่งฟรี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าปารีสต้องการปรับไปสู่เมืองสีเขียว การให้วัยรุ่นใช้ขนส่งสาธารณะฟรี จึงเป็นไปเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้คนรุ่นต่อๆ ไปต่อใช้ขนส่งสาธารณะให้เป็นกิจวัตร
การเปิดขนส่งสาธารณะให้ใช้ฟรี รวมถึงการพัฒนาตัวขนส่งสาธารณะและโครงข่ายการเดินทางอื่นๆ เช่น การเดินเท้าและการใช้จักรยาน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปรับทิศทางการพัฒนาเมืองใหม่ จากเมืองที่เคยออกแบบเพื่อรถยนต์ไปสู่เมืองของผู้คน หลายเมืองใหญ่จึงวางเป้าหมายใหม่ๆ ที่อาจไปไกลกว่าจินตนาการ เช่น การปิดพื้นที่กลางเมืองให้กลายเป็นพื้นที่ไร้รถยนต์ (Car Free Zone) การส่งเสริมเมืองเดินได้นั้นสัมพันธ์กับประโยชน์หลายด้าน เพราะเมืองที่เดินได้ทำให้ย่านต่างๆ และธุรกิจท้องถิ่น มีความคึกคักเข้าถึงได้ มีมลพิษน้อยลง ทั้งการเดินและการปั่นจักรยานยังช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและใจให้กับผู้คน
ขนส่งสาธารณะที่ดี เมืองที่เดินได้ จึงเป็นเมืองที่ช่วยส่งเสริมการใช้ชีวิต
เป็นทิศทางที่เมืองส่วนใหญ่กำลังปรับและพัฒนา
จากเมืองของรถยนต์ ถนน ทางด่วน
ไปสู่เมืองสีเขียวของย่านชุมชนและของผู้คน
รายได้พื้นฐาน
เราพูดถึงสวัสดิการในหลายระดับ การให้สวัสดิการที่เหมาะสม เพียงพอ และถ้วนหน้า นับเป็นความฝันและความพยายามของรัฐ ซึ่งต้องการลดความเหลื่อมล้ำลง รายได้พื้นฐาน (Universal Basic Income) นับเป็นหนึ่งในสวัสดิการภายใต้อุดมคติที่หลายพื้นที่ให้ความสนใจ คำว่า รายได้พื้นฐาน คือการที่รัฐจะมอบเงินให้กับพลเมืองเป็นรายได้ระดับพื้นฐาน ส่วนใหญ่อาจจะจ่ายให้เป็นรายเดือน โดยเป็นจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต และเป็นเงินพื้นฐานเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและคุณภาพชีวิต ซึ่งบางแห่งก็เริ่มทดลองทำแล้วในระดับเมือง
รายได้พื้นฐานเป็นสวัสดิการและความฝันที่มีมาค่อนข้างนานแล้ว ตัวอย่างสำคัญ คือการทำการทดลองในประเทศต่างๆ ที่เริ่มจากการทดลองให้รายได้พื้นฐานในพื้นที่เล็กๆ ในช่วงเวลาจำกัดเพื่อศึกษาผลกระทบ เช่น สหรัฐฯ ได้เริ่มทดลองตั้งแต่ราวทศวรรษ 1960 แคนาดาเริ่มทำการทดลองในทศวรรษ 1970 ประเทศแนวหน้าด้านสวัสดิการอย่างเนเธอแลนด์เอง ก็ทดลองมอบเงินพื้นฐานพร้อมสวัสดิการอื่นๆ และในช่วงปี 2017 มีการทดลองให้รายได้พื้นฐานในประเทศฟินแลนด์
การทดลองที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม คือการจ่ายเงินอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ เริ่มในช่วงปี 2010 เป็นต้นมา โดยกระแสความสนใจต่อการจ่ายเงินในพื้นที่และการทดลองนี้ก็ค่อนข้างจะเกิดขึ้นทั่วโลก เป็นการทดลองที่เริ่มตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ ให้เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น เมืองหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย มีการทดลองให้บัตรเดบิตที่ได้รับเงินเดือนละ 500 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่าเกณฑ์ ต่อมาระยะหลังจึงเริ่มทดลองให้โดยไม่มีเงื่อนไข เช่น เยอรมนีที่ทดลองให้เงินเดือนละ 1,200 ยูโรกับกลุ่มทดลองเป็นระยะเวลาถึง 3 ปี เพื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับเงิน และอังกฤษเองก็มีแผนจะมอบเงินเดือนละ 1,600 ปอนด์ เพื่อทำการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน
แน่นอนว่าการให้เงินฟรีต่อผู้คน นำไปสู่ข้อโต้แย้งมากมาย นอกจากประเด็นเรื่องความสามารถในกำลังจ่ายของรัฐต่อการอุดหนุนเงินพื้นฐานแล้ว งานทดลองหลายชิ้นยังค่อนข้างให้ผลไปทางบวก เช่น แคนาดาพบว่าผู้คนอาจทำงานน้อยลง แต่ก็พบแค่ในบางกลุ่มอย่างกลุ่มคุณแม่ที่เพิ่งมีลูก หรือในกลุ่มวัยรุ่นผู้ชาย ซึ่งผลอาจไม่ได้เป็นไปตามอคติ เพราะพบว่าการทำงานที่น้อยลงนั้นกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในการศึกษาต่อ ไม่ต้องออกจากการศึกษากลางคัน คือแทนที่จะต้องรีบทำงาน แต่บางส่วนของกลุ่มทดลองเลือกที่จะเรียนต่อในระดับมัธยม และมีอัตราการจบมัธยมที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ผลการศึกษาส่วนใหญ่ยังพูดถึงสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีสุขภาพกาย และความมั่นคงด้านต่างๆ ที่ค่อนข้างให้ผลเชิงบวก
มิติทางวัฒนธรรมและงบวัฒนธรรมวัยรุ่น
เมื่อพูดถึงซอร์ฟพาวเวอร์ ทางหนึ่งเราอาจมองว่าการพัฒนาซอร์ฟพาวเวอร์เป็นการเพิ่มทุนทางวัฒนธรรม โดยหนึ่งในกระแสที่เมืองและประเทศต่างๆ ลงมือทำ คือการลงทุนในพื้นที่ทางวัฒนธรรม เราจะเห็นได้ว่าเมืองน้อยใหญ่ทั่วโลกมีการลงทุนในพื้นที่วัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด ศูนย์วัฒนธรรม แกลลอรี่ ไปจนถึงการพัฒนาระดับย่านชุมชน ประเทศจีนเองก็นับเป็นอีกหนึ่งในประเทศ ที่มีการลงทุนพื้นที่สาธารณะทางวัฒนธรรมขนานใหญ่ ทั้งใช้และส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่ทางวัฒนธรรม ด้วยการลงทุนผ่านทีมออกแบบระดับโลก ซึ่งเมืองที่ถูกวางให้เป็นเมืองของคนรุ่นใหม่ และมีการลงทุนพื้นที่สาธารณะใหม่ๆ คือ Shenzhen Bay Culture Park ส่วนที่มีอาคารหน้าตาเหมือนโลกอนาคต ภายในเป็นพื้นท่ีบ่มเพาะทางวัฒนธรรม มีสตูดิโอ พื้นที่จัดแสดง และอื่นๆ
อีกตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือโครงการบริเวณริมทะเลของเมืองไหโข่ว มณฑลไหหลำ สาเหตุมาจากการที่จีนต้องการเปิดพื้นที่เมือง จึงใช้กลยุทธ์สำคัญผ่านการสร้างพื้นที่สาธารณะเป็นจุดๆ ตามแนวชายฝั่ง เพื่อสร้างแลนมาร์กระดับโลก และเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อกิจกรรมของผู้คน จัดแสดงงานออกแบบใหม่ๆ ซึ่งออกแบบโดยสตูดิโอระดับโลก เช่น อัฒจรรย์ทรงกลมที่เป็นวงกลมเหมือนริบบิ้น ไปจนถึงห้องสมุดที่มีลักษณะเหมือนกับรูหนอน แต่สามารถมองไปยังทิวทัศน์ทะเลของเมืองได้
นโยบายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมวัฒนธรรม ทั้งการปลูกฝังเพื่อวัยรุ่นและเยาวชน ไปจนถึงเป็นการส่งเสริมกิจการสร้างสรรค์ รวมถึงกิจการและธุรกิจที่เกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรม คือรัฐมอบเงินให้กับวัยรุ่น เพื่อใช้จ่ายกับสินค้าทางวัฒนธรรม ไปซื้อหนังสือ ไปดูการแสดง และอื่นๆ โดยประเทศในยุโรปที่เป็นโมเดลสำคัญคือ ในปี 2021 ฝรั่งเศสเองมีการมอบเงินให้วัยรุ่นใช้ซื้อสินค้าทางวัฒนธรรม โดยพลเมืองจะได้ Culture Pass มูลค่า 300 ยูโร (11,000 บาท) ไปใช้ในระยะเวลา 2 ปี และในปี 2022 สเปนและเยอรมนีเองก็มี All Pass คล้ายๆ กัน ซึ่งสเปนจะให้งบที่ 400 ยูโร (ประมาณ 15,000 บาท) ส่วนเยอรมนีในปี 2023 ให้งบที่ 200 ยูโรแก่พลเมืองที่มีอายุ 18 ไป เพื่อใช้กับกิจการด้านวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน
การให้เงินแก่ผลเมืองเพื่อซื้อสินค้าทางวัฒนธรรมของภาครัฐนั้นมีเป้าหมายหลายด้าน ด้านหนึ่งคือเป็นการช่วยเหลือฉุกเฉินต่อกิจการสร้างสรรค์และธุรกิจเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมในช่วงโควิด-19 อีกด้านหนึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ เด็ก และวัยรุ่นสามารถเข้าถึง คุ้นเคยกับการบริโภคสินค้าทางวัฒนธรรม สร้างนิสัยในการบริโภคสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมต่อไป
นโยบายข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างมุมมองและความพยายามใหม่ๆ ของรัฐ ในการมอบสวัสดิการและคุณภาพชีวิตแก่พลเมือง เป็นการเปิดจินตนาการของความเป็นอยู่และการมีชีวิตที่ดี ไปจนถึงภาพเมืองและการใช้ชีวิตในระดับกายภาพ เราจะนึกฝันถึงเมืองที่ไม่มีรถยนต์ได้ไหม ขนส่งสาธารณะเป็นบริการพื้นฐานของทุกคนได้อย่างไร ไปจนถึงคำสำคัญๆ เช่น ซอร์ฟพาวเวอร์และพลังของวัฒนธรรม เราจะส่งเสริมและลงทุนสิ่งเหล่านี้ไปสู่ผู้คนอย่างไร
อ้างอิงจาก