ความจริงตรงหน้า กำลังบอกว่า พวกเราอยู่ในสังคมที่ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 มีจำนวนมากกว่าสองพันรายเป็นครั้งแรก ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งให้กับประชาชนนั้นมีเพียงแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์กว่าๆ เท่านั้น แม้ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วเกิน 50 วัน
เราอยู่ในสังคมที่มีข่าวผู้สูงอายุสามคนที่ติดเชื้อ COVID-19 ถูกทิ้งให้อยู่ในบ้าน พี่สาววัย 85 ปีกลายเป็นผู้ป่วยอาการหนัก น้องสาวอายุไล่เลี่ยกัน ยกมือไหว้ผ่านคลิป ร้องขอให้มีคนพาพี่สาวของเธอไปรักษาที่โรงพยาบาลเพราะกลัวว่าจะเสียชีวิต ขณะที่หญิงอีกคนวัย 70 ปีที่อยู่ข้างๆ ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ก็ติดเชื้อด้วยเช่นกัน โดยมีอาการไข้สูง เริ่มทานอาหารไม่ได้
ทั้งสามคนประสานให้มีเจ้าหน้าที่มารับตัวไปรักษามานานหลายวัน แต่ก็ไม่มีใครมารับตัวไปยังโรงพยาบาล จนสุดท้าย หญิงสูงวัยที่นอนป่วยมานานก็ได้เสียชีวิตลงที่บ้าน
ยังไม่นับรวมปัญหาที่ผู้ป่วยติดเชื้อหลายคน ที่ยังคงต้องรอคอยการได้รับเตียงอยู่ที่บ้านมานานหลายวัน หมั่นโทรศัพท์เพื่อเช็คว่าเมื่อไหร่จะได้ไปโรงพยาบาล โดยที่ปลายสายอาจจะเป็นข้าราชการคนหนึ่ง ที่กำลังปฏิบัติงานอย่างเหน็ดเหนื่อย มีเพียงแค่โทรศัพท์หนึ่งเครื่องตรงหน้า และระบบจดบันทึกด้วยแบบอนาล็อค
บุคลากรทางการแพทย์เองก็อยู่ในภาวะที่วิกฤตเช่นกัน แม้พวกเขาควรจะเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนต้าน COVID-19 เป็นกลุ่มแรกๆ เพราะมีความเสี่ยงใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ แต่พวกเขาหลายคนก็ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด
เรากำลังอยู่ในสังคมที่ผ่านวิกฤต COVID-19 มาเกิน 1 ปี แต่ระบบดูแลชีวิตของประชาชน ก็ยังถูกตั้งคำถามอยู่ถึงวันนี้ว่าออกแบบมาดีแค่ไหนเพื่อรักษาชีวิตของผู้คนในสังคม?
วิกฤตครั้งนี้คือตัวเร่งอาการให้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ สะท้อนผลลัพธ์ออกมาอย่างรุนแรง
ตลอดปีที่ผ่านมา ประเด็นการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลอย่างรุนแรงต่อสังคมที่เหลื่อมล้ำสูงนั้น ถูกพูดถึงกันมาตลอดไม่ใช่แค่ในระดับต่างประเทศ แต่ยังรวมถึงในสังคมไทย
แม้ภาวะไวรัสแพร่ระบาดจะกระทบต่อคนทุกชนชั้น หากแต่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด ย่อมเป็นกลุ่มคนที่อยู่ชนชั้นล่างของสังคม พวกเขาได้รับผลกระทบมาตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกแรก เรื่อยมาจนถึงระลอกเมษายน 2564
ออกซ์แฟม องค์กรไม่แสวงผลกำไร เคยออกรายงานมาว่า วิกฤตโรคระบาดได้ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม กล่าวให้เห็นภาพคือ มันทำให้เราเห็นถึงช่องว่างระหว่าง ‘คนรวย’ และ ‘คนจน’ ถูกถ่างออกจากกันมากขึ้นและชัดเจน รายงานของออกซ์แฟม บอกด้วยว่า มหาเศรษฐีที่รวยสุดในโลก สามารถใช้เวลาเพียง 9 เดือนฟื้นกลับมาสู่จุดที่มีรายได้เท่ากับเมื่อสูญเสียไปช่วง COVID-19 ระบาด
ความเหลื่อมล้ำในระดับโลกก็ไม่แพ้กัน เพราะมีข้อมูลว่า วัคซีนจำนวนส่วนใหญ่ ยังคงกระจุกตัวอยู่กับประเทศโลกที่หนึ่ง ส่วนประเทศโลกที่สองและสามก็ได้ลดหลั่นลงไป พร้อมกับความหวังว่า รัฐบาลของแต่ละชาติจะมีฝีมือพอหรือไม่ ที่จะเข้าไปหาข้อต่อรองและแย่งชิงวัคซีนที่น่าเชื่อถือมาได้
ถ้าหันกลับมามองสังคมไทย มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายคน ที่ออกมาในทางที่ตรงกันว่า คนจนและคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำนี่แหละ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 มากที่สุด
ปัญหาความเป็นธรรมด้านสุขภาพในวิกฤต COVID-19
ผมต่อสายโทรศัพท์ คุยกับ นพ.บวรศม บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เขาให้ความเห็นว่า การมาถึงของ COVID-19 ทำให้เราเห็นถึงปัญหา ‘ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ’ (Health Equity) ได้เป็นอย่างดี
เขาเล่าให้ฟังว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้ ทำให้เราเห็นถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคมได้อย่างชัดเจน และสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเราออกแบบระบบดูแลสุขภาพของประชาชนได้ไม่กว้าง และไม่ครอบคลุมผู้คนทุกกลุ่มอย่างเพียงพอ กลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยจึงกลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
โควิดทำให้เรามองปัญหาความไม่เป็นธรรมเต็มไปหมด เช่น การเข้าถึงวัคซีน หรือความเดือดร้อนจากการกักตัวที่บ้าน ที่ไม่ใช่ทุกคนทำได้
นโยบายที่ผ่านมาจากภาครัฐ มักจะถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นนโยบายแบบตัดสูทไซส์เดียวให้กับกลุ่มคนที่แตกต่างในสังคม ทั้งที่นโยบายที่ดีกว่า อาจจะต้องเป็นสิ่งที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นชุดสูทที่หลากหลาย เหมาะกับคนที่มีความต้องการแตกต่างกันไป
“ไม่ใช่ว่าเพราะฉันทำตามมาตรการนี้ได้ แปลว่าคนอื่นก็ต้องทำได้ และคิดว่ามันคือความเป็นธรรม อย่างนี้มันคือความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมที่ผิด ยกตัวอย่าง รัฐอยากให้คนอยู่บ้าน แต่สำหรับคนรายได้น้อยที่ต้องออกจากบ้านทุกวัน มันก็เป็นทางเลือกที่ยากสำหรับเขาเหมือนกันนะ มันเป็นโจทย์ที่สาธารณสุขต้องคิดว่า เมื่อไหร่ที่ปัจเจกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กลไกของสังคมเราจะเข้าไปช่วยยังไง” นพ.บวรศม อธิบาย
ถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา มันคงเป็นเหมือนกับพายุที่กำลังถาโถมเข้ามายังน่านน้ำประเทศไทย นโยบายรัฐที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้คนหนีพายุนี้ด้วยเรือคนละลำ ใครมีเรือใหญ่ มีทุนเพียงพอ ก็รอดจากพายุ ส่วนใครที่เรือเล็กก็อาจจะผ่านมันไปได้อย่างยากลำบาก หรือบางคนอาจไปไม่รอดจากสิ่งนี้ได้
“ที่ผ่านมา ศบค. อาจจะออกมาตรการที่สะท้อนเสียงของชนชั้นกลางมากไปหน่อย แต่ต้องคิดให้รอบด้านมากขึ้น ผมเข้าใจว่าทุกฝ่ายกำลังพยายามทำงานกันอยู่ แต่มันก็มีมาตรการที่ออกมาอย่างน่ากังขาในหลายๆ ครั้ง ผมเชื่อว่า นโยบายที่ดีต้องคิดให้ถึงคนทุกแง่มุม เช่น คนจน ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง และภาคส่วนอื่นๆ ที่ต้องมองให้ครบ” นพ.บวรศม บอก
“ผมเป็นห่วงเรื่องความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ยกตัวอย่าง home isolation ที่ถามว่า ประชาชนสามารถกักแยกโรคที่บ้านได้ทุกคนไหม ผมไม่มั่นใจ มันไม่ใช่ทุกคนทำได้ คนที่ทำไม่ได้ ภาครัฐก็ควรดึงพวกเขาเข้าสู่ระบบเช่นโรงพยาบาลสนามหรือ hospitel” อาจารย์หมอกล่าว
Social Distancing มีราคาที่ต้องจ่าย: เมื่อความเหลื่อมล้ำทำให้คนจนแบกรับการกักตัวไม่ไหว
คนจน คนไร้ชื่อเสียง ไร้สิทธิพิเศษ ที่ต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อเอาตัวรอด
อ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในบทความของเขาว่า ประชาชนจำนวนมาก ต้องเผชิญกับการต้องเบียดแย่งกันเพื่อเข้ารับการเยียวยา
“ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ระบบการเยียวยาด้านสวัสดิการ ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กลายเป็นระบบชิงโชค ที่ต้องผ่านการพิสูจน์สิทธิ์ รอคอย วางแผนไม่ได้” อ.ษัษฐรัมย์ อธิบาย
“ประเด็นสำคัญเหนืออื่นใดไม่แพ้ประเด็นการกระจายวัคซีน คือระบบการเยียวยาหรือสวัสดิการแบบพื้นฐานของไทยอยู่ในระดับที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ นับเป็นประสบการณ์สำคัญที่รัฐไทยไม่ได้เรียนรู้จากความล้มเหลวจากปี 2563 ที่ผ่านมาที่เลือกจะใช้ระบบการพิสูจน์สิทธิ์ที่ซับซ้อนและกรอบงบประมาณที่ไม่มีความแน่นอน ส่งผลให้รอบนี้กลายเป็นผู้คนในภาคบริการที่ย่ำแย่ลำบากอยู่แล้วกลายเป็นผู้สังเวยในความล่าช้าของรัฐบาลทั้งนโยบายการเยียวยา และนโยบายวัคซีน นโยบาย สวัสดิการ และการรักษางานที่ดีอย่างในกรณีสวีเดน เยอรมนี หรือเดนมาร์ก ที่ได้ระบุไปแล้วนับเป็นตัวอย่างรองรับว่าแม้วัคซีนอาจล่าช้าแต่จะไม่มีคนตาย สูญเสียงาน หรือ ละทิ้งความฝันด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ” นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องรัฐสวัสดิการ ระบุ
จากความเห็นของ อ.ษัษฐรัมย์ ทำให้ผมกลับมานึกถึงภาพของผู้คนที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ต้องคิดแล้วคิดอีกว่า ควรจะนำเงินเดือนส่วนหนึ่งมาใช้เพื่อเสียค่าตรวจหาเชื้อ หรือกดซื้อประกัน COVID-19 ผ่านออนไลน์ดีไหม บางคนก็ได้รับการฉีดวัคซีนโดยที่ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนอะไรมากนักเสียด้วยซ้ำ
ยิ่งไปกว่านั้น มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีทุนเพียงพอ ที่จะเข้าไปตรวจหาเชื้อ และไม่มีเงินกดซื้อประกันเพื่อได้รับการดูแล และห้องพักในโรงพยาบาลที่กว้างขวาง
เมื่อประชาชนต้องดิ้นรนเพื่อได้รับความช่วยเหลือ
หลายวันที่ผ่านมา หลังจากเกิดการแพร่ระบาดระลอกเมษายน 2564 เราเห็นข่าวบุคคลมีชื่อเสียงจำนวนมากที่ติดเชื้อ COVID-19 ข่าวทีวีหลายช่องให้ช่วงเวลานำเสนอเป็นเวลาหลายนาที มีการสัมภาษณ์ความรู้สึก และข้อเรียกร้องที่คนมีชื่อเสียงบางคนยังเข้าไม่ถึงเตียงในโรงพยาบาล
แน่นอนว่า บรรณาธิการข่าวอาจจะมองว่า พวกเขาเป็นคนที่สังคมให้ความสนใจ และไม่ผิดอะไรมากนัก ถ้าจะมีการรายงานเรื่องความเจ็บป่วยของคนดัง (ถ้าสื่อให้แอร์ไทม์ที่สมสัดส่วน) แต่ในขณะเดียวกัน เราอาจจะต้องไม่ลืมว่า นอกจากผู้มีชื่อเสียงเหล่านั้นแล้ว ช่วงโมงข่าว นาทีของสำนักข่าวแต่ละช่องล้วนมีค่า ก็ไม่ควรละเลยความเดือดร้อนของประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยด้วยเช่นกัน
ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือ เราเห็นความดิ้นรนของผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ที่พวกเขาต้องส่งเสียงออกมา ขอร้องให้สื่อนำเสนอเรื่องราวของพวกเขา เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้ามาถึง
คำถามสำคัญที่สุดคือ ระบบสาธารณสุขที่ดีและมีประสิทธิภาพ มันควรจะทำงานด้วยตัวมันเอง และเข้าไปช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลไม่ใช่หรือ
ภาพที่ประชาชนต้องดิ้นรนของพื้นที่สื่อเพื่อขอความช่วยเหลือ มันสะท้อนให้เราได้เห็นถึงความผิดพลาดของระบบดูแลประชาชน ที่ยังทำงานได้ไม่ดีเพียงพอ สิ่งนี้ทำให้ผมย้อนกลับไปนึกถึงกรณีผู้สูงวัยสามคน ที่แม้จะร้องขอผ่านโซเชียลมีเดีย แต่สุดท้ายแล้ว ความช่วยเหลือก็ล่าช้าเกินไปจนมีคนเสียชีวิต
อย่าลืมว่า เราอยู่กับ COVID-19 มานานเกินปีแล้ว ถ้าระบบมันถูกออกแบบมาอย่างดีและเตรียมพร้อมล่วงหน้า การบริหารจัดการวัคซีนเป็นไปอย่างถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น
บุคลากรด้านสาธารณสุข ไม่ควรจะต้องเหนื่อยขนาดนี้ ประชาชนไม่ควรจะต้องดิ้นรนอย่างหนักขนาดนี้ ถ้าระบบมันครอบคลุมและได้รับการออกแบบมาดีเพียงพอ
ผมเชื่อว่าเราเสียเวลาไปกับความไม่พร้อมอีกไม่ได้ การตัดสินใจที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพจากผู้กำหนดนโยบายสาธารณะ มีผลต่อลมหายใจของผู้คนที่กำลังดิ้นรนอย่างยากลำบากในช่วงภาวะวิกฤตที่แสนรุนแรง
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://news.thaipbs.or.th/content/303597