#นรกบนดิน ถูกจุดขึ้นมาเป็นกระแสในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ด้วยแฮชแท็กที่บอกเล่าเรื่องราวของหญิงคนหนึ่ง ซึ่งถูกข่มขืน และยังไม่ได้รับความเป็นธรรม
เรื่องราวโดยย่อของเหตุการณ์นี้คือ นักศึกษาหญิงคนหนึ่ง ประกอบอาชีพนางแบบเพื่อหาเงินระหว่างเรียน แต่กลับถูกล่อลวง มอมยา ก่อนจะถูกข่มขืนและแบล็คเมล์ ยิ่งกว่านั้น ยังต้องเผชิญกับสิ่งที่ทำให้เหมือนถูกกระทำซ้ำสองในกระบวนการสืบสวน จนต้องออกไปยืนถือป้ายในการชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้เรื่องราวของเธอมีคนรับฟังและได้รับความเป็นธรรมเสียที
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับหญิงสาวคนนี้ ถึงเรื่องราวที่เธอได้พบเจอในกระบวนการยุติธรรม และมายาคติในสังคมที่มักกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ เพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งที่ผู้เสียหายต้องเผชิญ
Trigger Warning: บทสัมภาษณ์นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ
การข่มขืน โรคซึมเศร้า การใช้ยาและสารกระตุ้น และการฆ่าตัวตาย
หลังจากผ่านเหตุการณ์มา สภาพจิตใจเป็นอย่างไรบ้าง
ช่วงนั้นย่ำแย่พอควรเลย ต้องไปพบจิตแพทย์ คือเราเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ก่อนแล้ว ก็รักษาอาการซึมเศร้ามาเรื่อยๆ แล้วสักพักนึงก็เริ่มเป็นไบโพลาร์ด้วย สภาพจิตใจตอนนั้นคือ ไม่พร้อมที่จะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน เราก็พร้อมที่จะเล่า มันอาจจะฟังดูแปลกๆ แต่เราอยู่ในสภาวะ freeze หรือสภาวะแช่แข็งความรู้สึก ถ้าอยู่ต่อหน้านักข่าว เราเตรียมใจไว้แล้ว เราเล่าให้ฟังได้ แต่ถ้าจู่ๆ มีคนมาถามโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว มันอาจทำให้เรารู้สึกแย่ แล้วเกิดอาการ trauma ขึ้นมา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว รู้สึกขยะแขยง รู้สึกแย่ต่อตัวเอง
คือมันส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายด้วย?
ใช่ ตอนนั้นเราอยู่ในสภาวะ freeze ซึ่งในที่นี้คือ ไม่รู้สึกอะไรเลย ตอนที่ออกไปถือป้ายข้อความในม็อบ (วันที่ 2 ธันวาคม 2563 ที่ห้าแยกลาดพร้าว) ออกไปให้ปากคำกับตำรวจ ก็มีรู้สึกแย่บ้าง รู้สึกว่าทำไมเราโดนซักไซ้หนักขนาดนี้ แต่ก็มีคนมาช่วยให้ดีขึ้นบ้าง
แตกต่างจากตอนนี้ที่มีภาวะ freeze เป็นบางเวลา แล้วเวลาที่ไม่ freeze ก็จะเหมือนน้ำแข็งละลายแล้วเรารู้สึกถึงข้างในขึ้นมา รู้สึกแย่ ขยะแขยง อาจมีร้องไห้ มีอาเจียน แล้วก็เก็บตัวเงียบ กินข้าวได้น้อยลง
ก่อนที่จะมีคนรู้เรื่องนี้ การต้องเล่าเหตุการณ์ให้ใครสักคนฟัง ต้องบอกให้คนสักคนรู้ มันยากขนาดไหน
สำหรับเรามันยากมากๆ เลย อย่างตอนที่บอกให้แฟนรู้ ตอนแรกคือเราไม่กล้าที่จะบอกแฟน แต่แฟนสังเกตว่าเราสะโหลสะเหล เดินไม่ปกติ อารมณ์อ่อนเพลีย อ่อนแรง แล้วก็ไม่รู้ว่าเขาสังเกตถึงรอยช้ำหรือเปล่า เพราะจับนิดจับหน่อยเราก็จะร้องโอดโอย มันระบมมันช้ำไปทั้งตัว แฟนก็สงสัย เราถึงจุดประเด็นว่า ถ้าสมมติเราถ่ายแบบแล้วเราโดนข่มขืนจริงๆ ตัวเองจะรับได้ไหม เป็นคำถามเหมือนโยนหินถามทาง แต่แฟนเริ่มรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็ถามว่า “โดนมาใช่ไหม เกิดอะไรขึ้น”
แฟนเราพยายามคาดคั้น ตอนนั้นเราเริ่มน้ำตาแตก ร้องไห้ พูดไม่ออก แฟนก็เป็นห่วงมาก เขาถามเรา แล้วก็พูดว่า ทำไมมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ เราก็เลยบอกเขาไปว่า “เราขอโทษที่ไม่เชื่อเธอ เราโดนข่มขืน เราโดนรุมโทรม เราไม่รู้จะทำยังไงแล้ว” แล้วเขาก็สติแตก โกรธมาก สุดท้ายคือ เราเจ็บปวดกันทั้งคู่ หลังจากนั้น แฟนก็พาไปสถานีตำรวจ พาไปวันนั้นเลย เรายังไม่ได้อาบน้ำ ชำระร่างกายอะไร คือไปหาเดี๋ยวนั้นเลย
มีความรู้สึกไหมว่า เราเงียบไม่ได้ เราต้องออกมาพูดว่าเจออะไรมา
ที่เรารู้สึกต่อต้านขึ้นมาใช่ไหม เราไปแจ้งความแล้วตำรวจพูดขึ้นมาว่า ตำรวจรู้จักกับคนกระทำ เขาทำงานเพื่อมูลนิธิ เป็นคนดีนะ เขาไม่น่าจะทำอย่างนั้นหรอก มั่นใจใช่ไหมว่าเป็นคนนี้ ซึ่งตอนนั้นเราก็ เอ๊ะ ทำไมล่ะ ต่อให้รู้จักกัน แล้วทำไมไปเข้าข้างกันขนาดนั้น เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเลย
เรารู้ว่าคดีข่มขืนคือคดีอาญา แต่ทำไมตำรวจถึงทำแค่ลงบันทึกประจำวันให้เรา ทำไมไม่แจ้งความให้เรา
แล้วเขาก็เงียบไป เหมือนจะให้เรากลับบ้าน เราเลยพูดว่า อยากไปตรวจร่างกาย เพราะรู้ว่าในตัวเรายังมีน้ำอสุจิของคนกระทำอยู่แน่นอน แต่ไม่รู้ว่ามีของใครบ้าง ตำรวจก็บอกว่า ถ้าอยากไปตรวจก็ไปตรวจที่โรงพยาบาล เราก็ต้องไป แล้วตอนนั้นเราก็เบลออยู่ เจอเรื่องหนักๆ มาเยอะ สภาพร่างกายเราอ่อนล้ามากแล้ว ไม่ได้พักผ่อนเลย จิตใจก็แตกเป็นเสี่ยงๆ ไปแล้ว คิดอะไรไม่ออกเลย
หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อจากตำรวจอีกเลย เราก็โทรหานักข่าว พยายามโทรหามูลนิธิแห่งหนึ่งให้เขาช่วยเรา แต่โดนปฏิเสธ เราโดนปฏิเสธจากทุกคน เลยรู้ว่า เฮ้ย ข่าวเราไม่ใหญ่เหรอ เราโดนข่มขืนนะ แล้วเราติดต่อไปหาตำรวจ ตำรวจก็บอกว่า ยังก่อนๆ ยังไม่ต้องสอบสวนแค่ลงบันทึกประจำวันไว้ก็พอแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้เราทนไม่ไหว ผ่านไปได้ประมาณ 4-5 วัน หลังจากแจ้งความแล้วได้แค่ลงบันทึกประจำวัน เราก็เห็นคดีของหมวยเอินที่ไปยืนชูป้ายในม็อบ (ม็อบนักเรียนเลว วันที่ 21 พฤศจิกายน 2563) ที่เขาเรียกร้องความเป็นธรรมว่า “หนูถูกครูทำอนาจาร โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัย” เลยได้แรงบันดาลใจ เลยคิดว่าหรือว่าเราจะต้องเป็นข่าว เป็นข่าวแล้วคดีมันถึงจะเคลื่อน
ทีนี้ก็มีม็อบที่ห้าแยกลาดพร้าวพอดี เราเลยซื้อปากกากับฟิวเจอร์บอร์ด นั่งวินมอเตอร์ไซค์ไป แล้วเขียนตรงนั้นเลยว่า เราโดนข่มขืน ในนั้นเขียนไปว่า 5 วัน 5 คืน แต่จริงๆ มันคือ 8 วัน 7 คืน เพราะตอนนั้นไม่มีสติ แล้วก็โกรธมากๆ ต้องการทำอะไรสักอย่างให้ตัวเองเป็นจุดสนใจ แล้วมันก็เป็นที่สนใจจริงๆ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดกรณีแบบนี้กับใครอีกแล้ว
สิ่งที่เจอกับการช่วยเหลือของนักสังคมสงเคราะห์และการรักษาพยาบาล เป็นอย่างไรบ้าง
ในเรื่องของค่ารักษาพยาบาล เราใช้สิทธิ์จากการโดนข่มขืน ทำให้เราไม่ต้องจ่ายค่ายา ซึ่งเขาจะนัดไปเจอกับนักสังคมสงเคราะห์ สิ่งที่เราได้รับจากนักสังคมสงเคราะห์คือ คำปลอบใจว่าโดนข่มขืนเหรอ เรื่องมันแย่เนอะ ใช้ธรรมะช่วยได้ด้วยการปล่อยวางนะ อะไรที่ยอมกันได้ก็ยอมๆ ไปเสีย อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป ปล่อยวางนะ ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดแง่ร้าย เหมือนฟังผ่านหูไป ด้วยความที่เราอดนอนด้วย เพลียด้วย แล้วเขาก็บอกว่า มีค่ารักษาพยาบาลให้เรา 3,000 บาท ถ้าเหนือจากนี้เราจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง
เราไปหาหมอ หมอก็ตรวจแบบไม่ละเอียดเท่าไร มีบอกว่าช่องคลอดติดหูดกับติดเริม แล้วก็ถามว่ามีรอยช้ำหรือบาดแผลไหม เราก็พยายามชี้ให้ดูรอยช้ำ ซึ่งมันเริ่มจางไปแล้ว แต่ยังหลงเหลือความม่วงอยู่ หมอดูแล้วก็หันไปบอกนางพยาบาลว่า ไม่มี คือเราก็ชี้ให้หมอดูว่า “นี่ค่ะ เป็นรอยช้ำ ช่วยเขียนไปในประวัติหน่อยว่าหนูโดนทำร้ายร่างกายแล้วมีรอยช้ำ” เขาก็บอกว่าไม่เห็นมีเลย แล้วเขาก็บอกกับนางพยาบาลว่าไม่มีรอยช้ำ ในใบนั้นก็เขียนตามที่หมอพูดเลยว่าไม่มีรอยช้ำ
เราเลยรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พอกลับไปในห้องนักสังคมสงเคราะห์เพื่อมารักษา ติดต่ออาการ ติดตามผล นักสังคมสงเคราะห์ก็บอกว่า “มาทำไมอีก มาอีกแล้วเหรอ หมอนัดเหรอ” เป็นอย่างนี้ทุกครั้งเลย เราไม่ได้รับการต้อนรับเลย เข้าไปปุ๊บเหมือนโดนไล่ออกปั๊บ แบบนี้เราก็ไม่รู้ว่าจะมีนักสังคมสงเคราะห์ไว้ทำไม
เขาบอกว่าเราไม่จำเป็นจะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ต้องเสียค่ารักษาทุกอย่าง แล้วยังมีค่าบริการภายนอก ค่าหยิบแฟ้ม ค่าจิปาถะ เยอะแยะไปหมด รวมถึงค่าจิตแพทย์ด้วย ทีนี้ มีช่วงหนึ่งที่หูดหรือเริมของเรายังไม่หายดี มันยังเจ็บ ยังคันอยู่ เราก็ไปหาหมอ คือตอนนั้นหมอไม่ได้นัดแล้ว แต่หมอบอกว่าถ้าอาการไม่ดีก็ให้มาหานะ พอไปโรงพยาบาลเขาก็บอกว่าถ้าจะมาหาหมอ ต้องไปติดต่อนักสังคมสงเคราะห์ ให้เขาทำประวัติและส่งขึ้นมาข้างบนเหมือนเดิม เลยไปหานักสังคมสงเคราะห์ เขาก็พูดว่า “หมอไม่นัดแล้วนี่ แล้วจะมาทำไมอีก” เราก็บอกว่า เรารู้สึกว่ายังรักษาไม่หาย ยังเป็นหูดเป็นเริม เวลาปัสสาวะมันติดขัด มันแสบ มันยังเป็นรอยแผลอยู่ แต่เขาพูดว่า “วันหลัง หมอไม่นัดแล้วก็ไม่ต้องมานะ” นี่คือคำพูดที่ออกมาจากปากของนักสังคมสงเคราะห์
พอประมาณค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการรักษาทั้งสภาพร่างกายและจิตใจได้ไหม ว่าเสียไปเท่าไหร่
หลายหมื่นแล้ว เรารักษาอาการจิตเวชที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง รักษาครั้งนึงประมาณ 4,000 บาท อย่างนี้ไปเรื่อยๆ คือทุกเดือนเราต้องเสีย 4,000 บาท เพราะโรงพยาบาลที่ตำรวจส่งมาเขาไม่นัดเราต่อแล้ว เลยต้องมารักษาข้างนอก
ส่วนเรื่องหูดเรื่องเริม เราก็ต้องมารักษาข้างนอกอีก ก็คือมาจี้ยา หมดค่ารักษาไป 6,000 กว่าบาท เรื่องหูด และเริมที่จะต้องจ่าย อันนี้คือแค่ข้างนอกนะ แต่ถ้าในโรงพยาบาลที่ตำรวจส่งตรวจด้วยก็น่าจะประมาณหลายพันบาทอยู่ แต่ไม่แน่ใจว่าเท่าไหร่
แล้วในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ต้องพบเจออะไรบ้าง
เราโดนด่าว่าเป็นกะหรี่ มันเป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้เลยจากตำรวจนายหนึ่งที่เขาอ้างว่าเป็นผู้กำกับในสถานีตำรวจภูธรนั้น เขาบอกว่าเราทำอาชีพนางแบบบังหน้า แต่ทำอาชีพค้าบริการเป็นอาชีพแฝง ซึ่งไม่ใช่เลย เราแค่ต้องการเป็นนางแบบเพื่อส่งเสียตัวเองเรียน เนื่องจากบ้านเราไม่ค่อยมีฐานะเท่าไหร่ แล้วตำรวจก็พยายามบอกทุกคน บอกมูลนิธิ บอก manager case ของเราว่า เชื่อจริงๆ เหรอว่าน้องไม่ได้ขายตัว ว่าน้องไม่ได้จงใจไปกับมัน เพราะสุดท้ายแล้วในกล้องวงจรปิดเห็นว่าเราระริกระรี้ไปกับเขา เขาใช้คำว่า ‘ระริกระรี้’ เลยนะ
แล้วเขาพยายามพูดกับแฟนเราว่า “เมียพี่ยังสวยกว่าแฟนน้องเลย น้ำหน้าอย่างแฟนน้องเป็นได้แค่กะหรี่” เฮ้ย ทำไมคำพูดแบบนี้ถึงออกมาจากปากผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ล่ะ เขาควรจะช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างเราไม่ใช่เหรอ
ในใบค่าตอบแทนของรัฐ คือเราเป็นผู้ที่โดนข่มขืน มันจะมีค่าตอบแทนของรัฐเป็นค่าชดใช้ค่าเสียหายจากการที่รัฐไม่สามารถคุ้มครองดูแลเราได้ อันนี้มันอยู่ที่ความเห็นของพนักงานสืบสวนด้วย ในนั้นมันเขียนว่าเรามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำครั้งนี้ อาจเป็นเพราะความคึกคะนอง และเรารู้จักกับผู้ต้องหามาก่อน ซึ่งในตอนสอบสวน เราก็บอกว่าเราไม่รู้จักกับผู้ต้องหามาก่อน แล้วเขาเขียนไปอย่างนี้ได้อย่างไร
อย่างที่สองก็คือ เขาติ๊กว่าเรามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำในความผิดครั้งนี้ คือหมายความว่าเราไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยแท้จริง ประมาณว่า เราเป็นผู้เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา มันทำให้เราเสียสิทธิ์ทางด้านกฎหมายหลายๆ อย่าง แล้วก็เสียชื่อเสียงและส่งผลกับสภาพจิตใจด้วย
มีเรื่องอะไรอีกไหมที่มองว่า มันเป็นอุปสรรคใหญ่ในการต่อสู้คดีของตัวเราเอง
มีการอ้างว่าเรือนจำเต็มต้องลดความแออัดของเรือนจำด้วยการปล่อยตัวผู้ต้องหาออกมา ซึ่งเราก็คัดค้านการประกันตัวของเขา เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง เขารู้ว่าบ้านเราอยู่ตรงไหน เขาอาจจะมาทำร้ายหรือคุกคามเราก็ได้ แต่ด้วยความที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินผู้ต้องหาก็จะยังถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งทุกวันนี้ เขาออกจากเรือนจำแล้ว เราก็ยังเห็นเขาโพสต์หานางแบบอยู่เรื่อยๆ
กับคำพูดที่ว่า ‘เวลาผู้เสียหายเจอการสืบสวนสอบสวนของตำรวจในคดีข่มขืน มันทำให้ผู้เสียหายรู้สึกเหมือนถูกกระทำซ้ำสอง’ คิดเห็นอย่างไรบ้าง
จริงมากๆ อย่างเราเองก็จำไทม์ไลน์ในช่วงวันแรกๆ ไม่ได้ว่า เราเจออะไรบ้าง เพราะเราโดนมอมยาหลายตัว โดนซ้ำแล้วซ้ำอีก เราบอกตำรวจว่าเราจำไม่ได้ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ คุณต้องนึกให้ออก ไม่อย่างนั้นก็ถือว่าคุณกล่าวหาลอยๆ แล้วเราโดนสอบสวน 5-6 ชั่วโมงโดยไม่ได้พักเลย สอบสวนแบบนี้ทุกวันเป็นเวลาติดกันอยู่ 1-2 สัปดาห์ได้ มันก็กลายเป็นว่า เราต้องเล่าเรื่องซ้ำๆ ด้วยสภาพจิตใจที่บอบช้ำอยู่ ทำให้เรายิ่งจำเหตุการณ์ได้มากขึ้น
การจำได้มากขึ้นก็ช่วยเรื่องรูปคดีแหละ แต่ก็เป็นผลเสียกับสภาพจิตใจของเรา เรารับไม่ไหว ยิ่งรู้ก็เหมือนยิ่งขุดเหตุการณ์นั้นขึ้นมา สภาพร่างกายเรา สภาพจิตใจเราก็ยิ่งชอกช้ำขึ้นมา ยิ่งรู้สึกแย่ ถึงขนาดที่เคยคิดฆ่าตัวตายเลยนะ เพราะเรารู้สึกไร้ค่ามากเลย อีกอย่างเราอยู่ในสังคมที่ว่ามองว่าพรหมจรรย์เป็นสิ่งสำคัญด้วยแหละ เลยรู้สึกด้อยค่า แล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม
ในการสอบสวนคดี มีคำพูดไหนอีกไหมที่มองว่าเจ้าหน้าที่ไม่ควรถามหรือพูดออกมา
พวกคำพูดเบลมผู้ถูกกระทำทั้งหลาย เขาจะถามว่า คุณสมยอมไปกับเขาเหรอ อย่างคดีของเราเขาก็ถามว่า เราหนีออกมาได้แล้ว แล้วจะกลับไปอีกทำไม แค่นี้มันก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเราสมยอม ซึ่งเราก็แย้งว่า เราไม่ได้สมยอม เราต้องกลับไปเพราะโดนถ่ายคลิปแบล็กเมล คนก่อเหตุก็รู้ที่อยู่บ้านเราด้วย มันเป็นอันตรายต่อครอบครัวของเรา
ตอนนั้นเราอยู่ในสถานะที่ขอความช่วยเหลือไม่ได้ เพราะว่าตกอยู่ในอันตราย แถมยิ่งขอความช่วยเหลือ เราจะยิ่งโดนทำร้ายร่างกาย เขามีมีด มีอาวุธ ขณะที่เราไม่มีอะไรเลย เราก็เสี่ยง คดีข่มขืนแล้วฆ่าก็มีเยอะแยะไป ในตอนนั้นเราต้องทำอย่างไรก็ได้ให้มีชีวิตรอด ให้หนีออกมาได้ แต่ต้องหาทางหนีให้ได้ด้วย
นอกจากเรื่องเบลมผู้ถูกกระทำ ต้องเจอกับความพยายามเกลี้ยกล่อมให้ยอมความด้วยไหม
มีแต่บีบให้เราพ้นจากการเป็นผู้เสียหาย ไปเป็นผู้กระทำความผิดเองมากกว่า ส่วนใหญ่ที่เราเจอคือ เราขายตัวเองนี่นา เรารู้ไม่ใช่เหรอว่าอาชีพนางแบบมันเสี่ยงกับการโดนข่มขืน เสี่ยงกับการขายตัว เราก็งงว่า เอ้า มันเกี่ยวอะไรกัน
ยังมีผู้เสียหายอีกหลายคนที่ไม่กล้าแจ้งความ คิดว่าเป็นเพราะอะไร
หลังจากเราทวีตเรื่องของตัวเอง มีอีกหลายคนมากที่โดนข่มขืนแล้วสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการแจ้งความ เช่น เคสนึงที่เขามาปรึกษาว่า เขาโดนพ่อข่มขืน พอถามว่า แล้วแม่รู้ไหม เขาก็บอกว่า แม่รู้ ไปแจ้งความแล้ว แต่สุดท้าย ตำรวจมองว่ามันเป็นเรื่องในครอบครัว ซึ่งมันไม่ใช่ นี่คือคดีอาญา
เราไม่สามารถช่วยเหลือเขาอย่างเต็มตัวได้ แต่ก็พยายามปลอบใจผู้เสียหายให้เขามีกำลังใจ ให้เขาต่อสู้ เราบอกว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องให้ตำรวจเอาเรื่องให้ถึงที่สุด ขณะเดียวกันก็คอยถามเขาว่า สู้คดีนี้ไหวไหม
การที่ผู้กระทำเป็นคนใกล้ตัว เป็นพ่อ ปู่ แฟน เป็นคนในครอบครัว มันเลยทำให้พวกเขาไม่กล้ามาแจ้งความด้วย และทำให้ตำรวจเองก็เพิกเฉยด้วยเช่นกัน
จากที่เจอมา อยากให้กระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการช่วยเหลือ ปรับปรุงในเรื่องไหนที่สุด เพื่อให้เอื้อกับผู้เสียหายจริงๆ
เยอะเลยแหละ อยากให้ปรับปรุงเรื่องเกี่ยวกับการรับแจ้งความ คือคุณเป็นตำรวจ คุณไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินผู้ถูกกระทำว่าผิดหรือไม่ผิด ยินยอมหรือไม่ยินยอม เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะตัดสินทั้งหมดคือศาล ไม่ใช่ตำรวจ เพราะฉะนั้น ตำรวจมีหน้าที่ทำเพื่อประชาชน ได้รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนก็ควรที่จะทำงานให้เต็มที่ รับแจ้งความทุกเคส แล้วก็ไม่ใช่ว่ารับแจ้งความแล้วปล่อยด้วย
เราคิดว่า ในสังคมไทยมันจะต้องเป็นข่าวก่อนคดีถึงจะเดินหน้า แต่ทำไมถึงต้องรอให้เป็นข่าวก่อน ไม่เป็นข่าวแล้วทำคดีไม่ได้เหรอ ไม่เป็นข่าวแล้วคุณก็ไม่อยากทำคดี เพราะคุณไม่ได้หน้า ไม่ได้ชื่อเสียงเหรอ หรือเราไม่มีผลประโยชน์อะไรต่อคุณ เราเป็นแค่ผู้เสียหายที่ไม่รู้จะทำอะไรได้ เขาก็เลยไม่ตั้งใจที่จะทำงาน
เหมือนกับว่า แทนที่กลไกการทำงานปกติจะเดินหน้าด้วยตัวเอง แต่กลับต้องรอให้เป็นข่าวก่อน
ใช่เลย
แล้วในการพูดคุยกับสื่อ เจออุปสรรคหรือความอึดอัดใจอะไรไหม
โอ้โห กับสื่อเราโดนถามเลยว่า “มีหลักฐานไหมว่าเราโดนข่มขืน ไม่ได้สมยอมกับเขา” มันมีทั้งสื่อที่ดีและไม่ดีแหละ เราคิดว่าคงขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณสื่อด้วยว่าจะเลือกถามคำถามแบบไหน จะเบลมเราไหม อันนี้ก็อยากฝากถึงสื่อเหมือนกันว่า ช่วยคิดถึงจิตใจของผู้เสียหายหน่อยว่าเขาเจ็บปวด เขาบอบช้ำขนาดไหน ถ้าเราเจอคำถามนี้ในช่วงแรกๆ ที่เราเพิ่งผ่านเหตุการณ์มา เราสติแตกเลยนะ มันเป็นคำถามที่ไม่ควรถามจริงๆ
ที่บอกว่า ‘อยู่ในสังคมที่เชื่อว่าพรหมจรรย์คือสิ่งสำคัญ’ ตอนนี้ มองค่านิยมแบบนี้ว่าอย่างไรบ้าง
เราเชื่อว่า ผู้หญิงทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง นี่คือสิ่งที่เราบอกตัวเองด้วยเหมือนกัน แล้วก็อยากบอกทุกคนว่า คุณค่าของเราไม่ได้อยู่ที่พรหมจรรย์ เยื่อเยื่อนึงไม่สามารถตัดสินชีวิตได้ว่าเราจะเป็นคนดีหรือไม่ เยื่อพรหมจรรย์แค่นั่งจักรยาน เต้นลีลาศ เล่นยิมนาสติก มันก็ขาดได้แล้ว เราสามารถทำตัวเองให้มีคุณค่าได้ โดยไม่จำเป็นต้องเอาเยื่อบางๆ มาเป็นตัวตัดสิน
มันยังมีค่านิยมที่ชอบพูดว่า เป็นผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ไม่เอาตัวเองเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง มองคำพูดเหล่านี้ว่าอย่างไร
มันคือสุภาษิตสอนหญิงเนอะ แต่ทำไมมันไม่มีสุภาษิตสอนชายบ้างเลยว่า คุณควรจะเป็นสุภาพบุรุษนะ ไม่ว่าเขาจะแต่งตัวอย่างไร จะพูดจาอย่างไร ทำอาชีพอะไร คุณก็ไม่มีสิทธิ์ไปลวนลาม ไปทำอนาจารเขา หรือข่มขืนเขา คือทำไมไม่มีคำพูดสอนชายบ้างว่า ควรให้เกียรติกันบ้าง
เรานุ่งกางเกงขาสั้นไปหน้าปากซอย เราเจอคนผิวปาก เราก็รู้สึกว่า นี่คือการคุกคามอย่างหนึ่งแล้วนะ ในขณะที่ผู้ชายถอดเสื้อเดินข้างถนนได้ แต่ผู้หญิงโนบราลงมารับอาหาร กลับถูกเอาไปแซวต่อว่า อุ๊ย ใจคอไม่ดีเลยนะ ขอให้คนที่มารับอาหารใส่เสื้อในหน่อย จริงๆ เขาจะใส่หรือไม่ใส่เสื้อในมันก็สิทธิ์ของเขา คุณไม่มีสิทธิ์ไปคุกคาม
จากที่เล่ามา ทั้งเรื่องค่านิยมและเรื่องการสอบสวนของตำรวจที่บอกว่า เราทำอาชีพ sex worker ซึ่งอาจสื่อได้ถึงทัศนคติที่ว่า ‘เป็นเรื่องปกติที่คนประกอบอาชีพเหล่านี้จะถูกข่มขืน’ มองว่าอย่างไรบ้าง
จริงๆ ต่อให้เขาทำอาชีพ sex worker ก็ไม่ควรถูกข่มขืน เซ็กซ์มันเป็นการที่คนสองคนยอมกัน โดยเป็นการยอมในสภาพจิตใจว่า ฉันตกลงปลงใจจะมีเซ็กซ์กับคุณ ด้วยความเต็มใจ สติสัมปชัญญะครบถ้วน และไม่ถูกข่มขู่ หลอกล่อ หรือใช้ผลประโยชน์แลกเปลี่ยน หรือไม่อยู่ในสภาวะจะให้ความยินยอมได้ เช่น โดนมอมยาบ้าง เพราะบางคนโดนมอมยาถึงขนาดที่ช็อกตายเลย อย่างที่หลายคนในข่าวเป็น คือเขาไม่มีสิทธิ์มาได้พูดมาแก้ต่างได้ เรายังโชคดีที่รอดมาแชร์ประสบการณ์ได้
เราคิดว่า ตำรวจไม่ควรตัดสินว่าเราเป็น sex worker เพราะการเป็นนางแบบไม่ได้แปลว่าเราต้องขายตัว มันคือศิลปะอย่างหนึ่ง มีได้หลากหลายแนว เหมือนการถ่ายภาพนู้ดก็เป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าเขาตกลงจะไปมีเซ็กซ์กับคุณ เขาแค่อยากให้ถ่ายเรือนร่างของเขาเป็นผลงานศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งหลายๆ ประเทศยอมรับกันได้
มันคือการตีกรอบไว้ มันคือค่านิยมโบราณว่าเป็นผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว เรื่องพรหมจรรย์เป็นเรื่องสำคัญ คือเราอยู่แต่ในกรอบนั้น ไม่ได้ออกมาจากกรอบนั้นเลย แล้วอย่างที่บอกเลยว่า ทำไมไม่สอนผู้ชายให้เป็นสุภาพบุรุษ ให้เกียรติผู้หญิงบ้าง ทำไมไม่สอนบ้างว่าต่อให้เขาแต่งตัวอย่างไร คุณก็ไม่มีสิทธิ์ไปข่มขืน คุกคามทางเพศ หรือทำอนาจารเขา คนที่มีลูกเป็นผู้ชายก็ควรสอนผู้ชายบ้าง ไม่ใช่สอนผู้หญิงอย่างเดียว
เอาง่ายๆ ในสังคมไทย ถ้าผู้ชายไปมีเซ็กซ์กับผู้หญิง พ่อแม่ก็จะบอกว่าอย่าลืมใส่ถุงยางนะลูก แล้วก็จบ ในขณะที่ ถ้าเป็นผู้หญิง เขาจะบอกว่า อย่าไปมีเพศสัมพันธ์นะ มันยังไม่ถึงวัยต้องแต่งงานก่อน แค่นี้ก็เห็นแล้วว่ามันเหลื่อมล้ำ ว่าทำไมผู้ชายถึงมีเซ็กซ์ได้ล่ะ ในขณะเดียวกัน มีลูกเป็นผู้ชายก็ไม่เป็นไร แต่มีสำนวนว่า มีลูกผู้หญิงเหมือนมีส้วมหน้าบ้าน ซึ่งเราไม่โอเคกับสำนวนนี้
เรื่องราวทั้งหมดที่เจอมา คิดว่าสภาพสังคมเราเป็นอย่างไรบ้าง
ด้านหนึ่งเราเจอตำรวจที่ด่าว่าเรายินยอมบ้างล่ะ ตั้งใจไปกับเขาบ้างล่ะ แต่อีกด้านเราก็เจอตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรอีกแห่งซึ่งเขาดูแลเราดีมาก เขาไม่ตัดสินว่าทำไมเราต้องไปถ่ายแบบ ทำไมเรื่องแบบนี้ถึงเกิดขึ้น ทำไมเราถึงไปกับเขา เอาง่ายๆ ตอนสอบปากคำ ตำรวจอีกสถานีนึงจะพยายามถามให้ได้ว่า โดนทำท่าไหนบ้าง กี่นาที ลงรายละเอียดลึกมาก แต่กับที่ที่ดี เขาก็ให้เกียรติเรามาก ไม่ได้ลงรายละเอียดลึกขนาดนั้น เราไม่จำเป็นต้องบรรยายลึกเลย มันก็สะท้อนว่า มีทั้งตำรวจที่ทำงานดีและไม่ดี เราโชคดีได้เจอตำรวจที่ทำงานดี แต่ก็แจ็กพอตแตกเจอตำรวจที่ทำงานไม่ดีเช่นกัน
ทำนองว่า ไม่มีมาตรฐานในการทำงานของเจ้าหน้าที่
ใช่ มันไม่มีมาตรฐานเดียวกัน เหมือนต้องไปขึ้นกับจิตใต้สำนึกของคน ซึ่งเราไม่สามารถเอาไม้บรรทัดไปวัดได้
ที่บอกว่า เคยมีครั้งหนึ่งที่อยากฆ่าตัวตายด้วย พอเล่าได้ไหมว่าช่วงเวลาที่หนักที่สุดเป็นอย่างไร แล้วผ่านมาได้อย่างไร
หนักที่สุดเลยนะ คือช่วงที่คดีไปถึงตำรวจแล้วแต่ไม่ถึงศาล มันมีรายละเอียดเยอะแยะไปหมดที่ทำให้เรารู้สึกว่า ตำรวจไม่อยู่ข้างเรา ไม่มีใครอยู่ข้างเราเลย ตอนนั้นเราก็มองข้ามความสำคัญของครอบครัว ทั้งพ่อ แม่ แฟน คนใกล้ตัวที่ให้กำลังใจเรามีเยอะมากนะ แต่เรากำลังจมดิ่งกับความคิดตัวเองในตอนนั้นว่าเราไร้ค่า เราทำให้พ่อแม่เสียใจ ทำให้แฟนผิดหวังในตัวเอง ชีวิตเราไม่มีค่า
ตอนนั้นเราจะไปกระโดดน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วแฟนตามมากอดเราไว้ทัน เขาบอกให้เราตั้งสติ ซึ่งตอนนั้นเราไม่อยากอยู่ต่อไปแล้ว เราคิดว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น ไม่มีคุณค่าในตัวเอง แต่ก็ได้รับกำลังใจจากแฟนและครอบครัว ตอนที่แม่เรามารู้เรื่องทีหลัง เขาก็บอกว่า อย่าทำอย่างนี้อีกนะ คุณค่าของเราไม่ได้อยู่ที่พรหมจรรย์ แค่เรามีชีวิตรอดมาหาเขา ทุกวันนี้เราตื่นมาแล้วเจอเขา มันก็คือสิ่งที่ดีที่สุดของเขาแล้ว
เราโชคดีที่ยังมีโอกาสกลับมาเจอหน้าคนที่รักเรา แต่บางคนที่เจอเรื่องแบบนี้ เขาไม่มีโอกาสเจอกับคนที่เขารักอีกแล้ว
จนถึงวันนี้ ที่ได้ออกมาพูด มาแสดงตัวว่าเราเป็นผู้เสียหาย มีราคาที่ต้องจ่าย หรือสิ่งที่ต้องสูญเสียจากการออกมาพูดความจริงไหม
ชื่อเสียงเราเละไปแล้ว มีหลายคนบอกว่าเราแต่งเรื่องบ้าง เรายินยอมพร้อมใจไปเองบ้าง เราเสียอนาคตไปแล้ว เราเจอคนพูดว่า ผู้หญิงที่เขาโดนข่มขืน สุดท้ายแล้ว เดี๋ยวก็ยินยอมไปเอง คือเขามองว่า ผู้หญิงที่ไม่ยินยอมคือเล่นตัว ระริกระรี้เรียกร้องความสนใจ คือเรื่องท้าทายกับผู้ชายที่ควรจะได้มา นี่เป็นตรรกะป่วยๆ ที่ไม่ควรออกมาจากปากใครเลย แล้วยังมีอีกหลายคนมากๆ ที่มองเราเป็นตัวตลก
แต่เรายอมทุกอย่าง เรายอมกรีดแผลตัวเอง ยอมที่จะลุกออกมาเปิดเผยตัวตน เพื่อให้คนรู้ว่า เนี่ย คนที่โดนกระทำอย่างนี้ ไม่ต้องอาย ออกมา ให้เราเป็นคนจุดประกายให้เขากล้าออกมา อย่างน้อยเราจะโดนล้อเลียนอย่างไร แต่เราอยากให้ผู้หญิงหลายๆ เขากล้าออกมา เราอยากให้เขาได้รับความเป็นธรรม
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกระทำมา อยากบอกอะไรกับคนที่เจอเหตุการณ์แบบนี้มาบ้าง
ออกมาเถอะ กล้าแสดงออกมาว่าเราเป็นผู้เสียหาย เราไม่ใช่ผู้ต้องหา คนที่อับอายคือผู้ต้องหา ไม่ใช่เรา เราเป็นผู้เสียหาย ไม่จำเป็นต้องอับอาย เราควรเรียกร้องความยุติธรรมออกมาว่า เราคือผู้เสียหายนะ และคนที่จะต้องได้รับการกระทำคือมัน คนที่จะต้องไม่มีที่ยืนในสังคมก็คือผู้ต้องหา คนที่กล้าแสดงออกมาคือทำดีแล้ว เก่งมากๆ เลย แค่คุณกล้าแจ้งตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นข่าวหรือไม่เป็นข่าวก็ตาม แต่ว่าคุณกล้าจะเอาเรื่องคดีมันถึงที่สุด สุดท้ายแล้ว คุณเป็นคนที่เก่งมากจริงๆ
เราอยากกอดทุกคนที่เจอเรื่องเหตุการณ์ร้ายๆ แบบนี้ มาคุยกับเราก็ได้ มาคุยกับเราที่ทวิตเตอร์ มาเล่าประสบการณ์ก็ได้ เราอาจช่วยเหลือได้ไม่มากก็น้อย แต่อย่างน้อยเราก็เคยเจอเหตุการณ์แย่ๆ แบบนี้ เราไม่เอาตัวเองไปเปรียบกับเขาหรอกว่า เราเจอเหตุการณ์ที่แย่กว่าหรือมันยังไม่เลวร้ายเท่าที่เขาเจอ แต่เรามาพูดคุยกัน มาระบายกันดีกว่า ถ้าเราเก็บไว้คนเดียว เราก็อึดอัดตันใจ บางคนก็อาจไม่เข้าใจเรา ว่าทำไมเราถึงเจอแบบนี้ แต่เรากล้าพูดเลยว่า เราเข้าใจไม่ว่าจะมากหรือน้อย แต่เราเข้าใจและจะไม่ตัดสินผู้ถูกกระทำ
นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำซึ่งต้องเผชิญในกระบวนการยุติธรรม สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติ victim blaming ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย และสุภาษิตสอนหญิงที่กดทับผู้หญิงมานาน อันเป็นผลมาจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ