คำว่า ‘วัฒนธรรมข่มขืน’ หรือ Rape Culture ฟังดูคล้ายๆ กับเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นคำที่เสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นมาโดยเหล่านักเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นเพศสภาพ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเฟมินิสต์หรือกลุ่มอื่นๆ
เราอาจได้ยินเรื่องราวของ ‘การข่มขืน’ หรือ Rape มากมายไปหมด ทั้งในและต่างประเทศ ของต่างประเทศนั้นมีตั้งแต่กรณีของดาราและผู้กำกับดังๆ อย่างเช่น โรมัน โปลันสกี้, วูดี้ อัลเลน, บิล คอสบี และคนอื่นๆ อีกมาก ส่วนในไทยก็อย่างที่พบเห็นกันอยู่ ไม่ใช่เฉพาะกับนักการเมืองที่มีชื่อและนามสกุลดังๆ เท่านั้น แต่เราพบเห็น ‘การข่มขืน’ ได้แทบจะทั่วทุกหัวระแหง ในชุมชน ในหมู่บ้าน ในละแวกใกล้เคียง และน่าจะมีคนมากมายที่ต้องเผชิญกับการข่มขืน พยายามข่มขืน ลวนลาม หรือล่วงละเมิดทางเพศด้วยตัวเองเสียด้วยซ้ำ
ไม่ – ‘การข่มขืน’ เหล่านี้ไม่ใช่ ‘วัฒนธรรมข่มขืน’ โดยตัวของมันเอง – แต่ ‘การข่มขืน’ คือดอกผลที่งอกงามขึ้นมาบน ‘วัฒนธรรมข่มขืน’ ในสังคมที่หล่อเลี้ยงให้วัฒนธรรมนี้เติบโตและ ‘วัฒนะ’ ข้ึนมาได้ในแง่ลบ – โดยที่สังคมนั้นๆ อาจรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว อาจมีสำนึกและจงใจหรือมีสำนึกที่ผิดพลาดและมืดบอดจนมองไม่เห็น, ก็ได้
การข่มขืนหรือ Rape นั้นแย่มากพออยู่แล้ว
แต่วัฒนธรรมข่มขืนนั้นร้ายย่ิงกว่า เพราะนอกจากจะทำให้การข่มขืนเป็นเรื่องปกติ (Normalized) จนสามารถไม่ดูดำดูดีกับเหยื่อได้แล้ว หลายครั้งยังทำให้การข่มขืนเป็นเรื่องชอบธรรม (Legitimized) ด้วย นั่นแปลว่านอกจากไม่สนใจแล้ว ยังอาจสามารถกระทำตัวเป็น ‘ผู้ข่มขืน’ หรือที่บ่อยกว่านั้นก็คือเป็นผู้ ‘ข่มขืนซ้ำ’ ด้วยวิธีการแบบเดียวกันหรือวิธีการอื่นๆ เช่นการเหยียดเหยื่อ การแก้ตัวให้นักข่มขืน และมีแม้กระทั่งการข่มขืนซ้ำที่ฝังตัวอยู่ในกระบวนการสอบสวน เช่นให้เหยื่อเล่าเรื่องเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ฯลฯ
วัฒนธรรมข่มขืน คือวัฒนธรรมที่มองดู ‘ความรุนแรงทางเพศ’ (Sexual Violence) ว่าเป็นเพียงเรื่องปกติธรรมดา ให้ลองนึกถึงการ ‘ถวายตัว’ ของผู้คนในสังคมเก่า ที่บีบบังคับลูกสาวของตัวเองที่ไม่สมยอม ให้ไปเป็นเมียน้อยของท่านเจ้าคุณผู้เป็นเจ้าของเศษซากของกากเดนอำนาจที่ได้รับสืบทอดมาจากระบบการปกครองแบบเดิมดูก็ได้ มันกลายเป็น Norm และเป็นแม้กระทั่ง Cultural Norm หรือ ‘ปทัสถานทางวัฒนธรรม’ คือไม่ได้เป็นเพียงเรื่องปกติธรรมดาเท่านั้น แต่เมื่อเป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรม ก็ถือกันว่าเป็นเรื่องที่ ‘ควร’ เป็นไปเช่นนั้นด้วยซ้ำ
วัฒนธรรมข่มขืนจึงคือการบังคับให้ผู้ที่ถูกข่มขืน (ในกรณีนี้คือผู้หญิง – แต่อาจเป็นคนเพศอื่นๆ ได้ด้วย) ต้องถูกพราก ‘สิทธิ’ ที่จะมี ‘เสรีภาพ’ ในการเลือกสิ่งต่างๆ ของตัวเองไป นั่นเท่ากับทำให้คนเหล่านี้ต้องสูญเสียโอกาสที่จะได้ทดลองมีชีวิตตามที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่ามันจะเป็นหนทางที่ถูกหรือผิด ให้คุณหรือให้โทษกับตัวเองก็ตามแต่ บ่อยครั้งเราจะเห็นการ ‘บังคับให้ถูกข่มขืน’ ด้วยความปรารถนาดีโดย ‘ผู้ใหญ่’ เช่นการบังคับให้ลูกต้องแต่งงานกับคนที่พ่อแม่เลือกให้ เพื่อจะได้มี ‘ชีวิตที่ดี’ เป็นต้น
การ ‘โทษเหยื่อ’ เช่นการบอกว่า ก็เพราะแต่งตัวโป๊นั่นแหละ ถึงทำให้ถูกข่มขืน, ถือเป็นรูปแบบที่แพร่หลายมากในวัฒนธรรมข่มขืน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่ในสังคมไทยเท่านั้น แม้แต่ในแคนาดาที่เป็นโลกเสรีนิยมก็เคยมีกรณีที่โด่งดังมาก เมื่อตำรวจคนหนึ่งไปตรวจตราพื้นที่ตามปกติที่ Osgoode Hall Law School (ดู https://www.theguardian.com/world/2011/may/06/slutwalking-policeman-talk-clothing) แล้วพยายามอบรมนักศึกษาโดยการบอกว่า – ผู้หญิงไม่ควรแต่งตัวเหมือน ‘อีตัว’ (Slut) จะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อ
คำพูดนี้จุดประกายขนานใหญ่ ทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงที่เรียกว่า Slutwalk ในวันที่ 3 เมษายน 2011 โดยหลายคนแต่งตัวให้ดูเหมือน ‘อีตัว’ จริงๆ คือแต่งตัวแบบ Slutty เพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านวัฒนธรรมข่มขืนอันฝังรากลึกอยู่ในตัวคน แล้วการเดินขบวนแบบนี้ก็แพร่ไปทั่วโลกในที่ต่างๆ ทั้งในอเมริกา อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ไปจนถึงเกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิสราเอล และอินเดีย ที่ว่ากันว่ามีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศสูง
คำว่า ‘วัฒนธรรมข่มขืน’ หรือ Rape Culture นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในทศวรรษ 1970s โดปยปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ Rape: The First Sourcebook for Women ที่รวบรวมจากการประชุมของกลุ่มเฟมินิสต์ในปี 1974 ที่นิวยอร์ค เพื่อจะสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องเพศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเพศ
บ่อยครั้งมาก ที่การข่มขืนเป็นเรื่องของ ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ คือเป็นการใช้อำนาจอย่างลุแก่อำนาจเพื่อแสดงอำนาจ
แน่นอน – การข่มขืนย่อมมีอารมณ์ทางเพศเกี่ยวข้องอยู่ด้วย แต่สิ่งที่สร้างความ ‘ชอบธรรม’ ให้แก่การผสมผสานอารมณ์ทางเพศนั้นเข้ากับความรุนแรงและการละเมิดเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น ก็คือเรื่องของอำนาจ
ในวัฒนธรรมข่มขืน ผู้ข่มขืนจะมีสำนึกลึกๆ ว่าตัวเองมีสถานะทางอำนาจที่ ‘เหนือกว่า’ ในหลายๆ ด้าน ตัวอย่างที่ง่ายที่สุด ก็คือความเหนือกว่าของ ‘เพศชาย’ ที่มีต่อเพศอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ปรากฏออกมาเพียงความดูแคลนเท่านั้น แต่ยังสามมรถปรากฏออกมาในการชื่นชมในความน่ารักได้อีกด้วย เพราะความน่ารักมีนัยเกี่ยวพันไปถึงสภาวะไร้อันตราย ไม่คุกคาม ไม่เป็นภัย หรือเลยไปถึงความเชื่อง เชื่อฟัง ยินยอมทำตาม ไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านขัดขืน ซึ่งย่อมแปลว่ามีสถานะทางอำนาจที่ด้อยกว่า
ผู้ข่มขืนที่เติบโตอยู่ในเนื้อนาดินของวัฒนธรรมข่มขืน จะไม่เห็นว่าการข่มขืนเป็นเรื่องเลวร้าย และอาจคิดด้วยซ้ำว่าตัวเองจะได้รับผลจากการกระทำของตัวเอง เพราะในสังคมที่สมาทานวัฒนธรรมข่มขืนนั้น มักจะมีกลไกหลายอย่างที่ช่วยปกป้องนักข่มขืนเอาไว้ ทำให้ ‘เหยื่อ’ ที่มีอำนาจน้อยกว่า ลุกขึ้นมาต่อต้านขัดขืนได้ยาก
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็เช่น หากเราถูกข่มขืน (ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน) หากลุกข้ึนไปแจ้งความเอาผิดกับผู้ข่มขืน เราจะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้คนอื่น ‘รับรู้’ ว่าเราถูกข่มขืน เพราะเราต้องหาหลักฐานพยานมายืนยันว่าเราถูกข่มขืนจริง ซึ่งบ่อยครั้ง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดแบบขาวจัดดำจัด เช่น ถูกตีหัวลากตัวเข้าป่าไปข่มขืนในพงหญ้าโดยคนแปลกหน้าอะไรทำนองนั้น แต่อาจเกิดกับคนใกล้ตัว ในบางสถานการณ์ที่ชวนเคลิบเคลิ้ม ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีการสมยอมหรือเปล่า หรือในกรณีที่ผู้ถูกข่มขืนแต่งตัวแบบวาบหวาม (อย่างในกรณี Slutwalk) ก็อาจถูกมองจากสายตาขอสังคม (และแม้กระทั่งกฎหมาย) ว่ามีส่วนในการยั่วยุ ไม่นับรวมการต้อง ‘เล่าซ้ำ’ ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่รู้จักกี่หน ซึ่งอาจเหมือนการเอามีดไปกรีดซ้ำๆ บนรอยแผลแห่งการข่มขืน จนเหมือนถูกข่มขืนซ้ำๆ – ก็เป็นได้
จะเห็นได้ว่า ในวัฒนธรรมข่มขืนนั้น ‘ภาระ’ ในการหลีกเลี่ยงการถูกข่มขืนหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ (โดยเฉพาะในผู้หญิง) จะถูกวางเอาไว้บนบ่าของผู้ถูกข่มขืนตั้งแต่ต้น (เช่นห้ามแต่งตัวแบบนั้นแบบนี้ ห้ามมีพฤติกรรมแบบนั้นแบบนี้) ไล่เลยมาจนถึงเมื่อเกิดการข่มขืนหรือล่วงละเมิดแล้ว ก็ยังต้องมี ‘ภาระ’ในการพิสูจน์อีก
ในหลายสังคม มี ‘การข่มขืนเพื่อแก้ไข’ หรือ Corrective Rape (หรือบางทีเรียกว่า Homophobic Rape) นั่นก็คือการจัดการให้คนที่เป็นเลสเบี้ยนหรือเกย์ ต้องถูกข่มขืนเพื่อ ‘แก้ไข’ ความ ‘ลักเพศ’ ของตัวเอง ที่เกิดขึ้นมากก็คือกับเลสเบี้ยน โดยเฉพาะในประเทศที่มีความเชื่อในเรื่องนี้แรงๆ เช่น อินเดีย หรือในแอฟริกาบางประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วย ผมเคยได้ยินมากับหู กับความเชื่อของบางคนที่ว่า – ถ้าเลสเบี้ยน ‘โดนผู้ชาย’ เข้าไปสักครั้ง จะหายเป็นเลสเบี้ยนได้ชะงัด
นี่คือ ‘วัฒนธรรมข่มขืน’ ที่เอื้อต่อการสร้างความชอบธรรมให้การข่มขืนชัดๆ
หากมองว่า การข่มขืนมีความหมายกว้างกว่าเรื่องเพศ แต่เป็นเรื่องการพราก ‘สิทธิ’ ที่จะมี ‘เสรีภาพ’ ในมิติต่างๆ ของชีวิต เราจะพบว่าวัฒนธรรมการข่มขืนไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะเพศเพียงอย่างเดียว เพราะมันคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีการกดข่มแบบลุแก่อำนาจ วัฒนธรรมข่มขืน (ที่โดยสัมพัทธ์อาจถือได้ว่าเป็น subculture แบบหนึ่ง) ดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีการเกื้อหนุนและรองรับของวัฒนธรรมที่ใหญ่กว่า และเป็นตัวการสร้างความชอบธรรมให้แก่วัฒนธรรมการข่มขืนอีกต่อหนึ่ง โดยอาจมี ‘วัฒนธรรมหน้าไหว้หลังหลอก’ (ที่ก็ฝังตัวอยู่ในวัฒนธรรมใหญ่มายาวนาน เพราะในด้านหนึ่งมันก็ค้ำจุนวัฒนธรรมข่มขืนด้วย) เข้ามาแทรกปนจนทำให้เรา ‘เห็น’ และ ‘แยกแยะ’ วัฒนธรรมข่มขืนที่ฝังลึกอยู่ในตัวเราออกได้ยากมาก
เป็นสังคมแบบนี้นี่เอง ที่ได้ ‘ข่มขืน’ คนลงมาเป็นชั้นๆ จากบนลงล่าง แม้คนที่ถือเพียง ‘เศษอำนาจ’ แต่ถ้ามีสำนึกว่าตัวเองพอจะมีอำนาจอยู่บ้าง ก็มักจะ ‘ข่มขืน’ คนที่อยู่ต่ำกว่าตัวเองลงไปเป็นขั้นๆ ด้วยวิธีการต่างๆ
วัฒนธรรมข่มขืนจึงผลิตนักข่มขืนออกมาเรื่อยๆ แม้ปากจะถือศีล แต่มือนั้นถือสากหนักกว่าใครๆ แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ ในวัฒนธรรมแบบนี้ นักข่มขืนจะทำหน้าที่ ‘ผลิตซ้ำ’ เหยื่อ – ที่ต่อมาสามารถกลายเป็นนักข่มขืนได้ เพราะเมื่อวัฒนธรรมแบบนี้ไม่ได้ปฏิบัติกับเหยื่อโดยมีความยุติธรรม ก็เป็นไปได้ที่เหยื่อจะยอมสมาทานตัวเองเข้าสู่วัฒนธรรมข่มขืน แล้วเมื่ออำนาจแก่กล้ามากขึ้น ก็เปลี่ยนตัวเองจากเหยื่อมาเป็นนักข่มขืนเสียเองเพื่อระบายความกดดันนั้นออกไปสู่คนที่มีอำนาจน้อยกว่าอีกทีหนึ่ง
วัฒนธรรมข่มขืนจึงถ่ายทอดสืบต่อกันได้ไปเรื่อยๆ และทำให้สังคมแบบนี้ยิ่งแข็งแกร่งในวัฒนธรรมข่มขืนของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ