จะปีใหม่แล้ว วันศุกร์แบบนี้ ไปเดินวนในห้าง เตรียมซื้อของขวัญสำหรับให้ญาติมิตรสนิทกันสักหน่อย… กิจกรรมการส่งมอบของขวัญกันก็สนุก – อบอุ่นหัวใจ – ดีอยู่หรอก แต่ขั้นตอนการไปเดินซื้อหานี่สิ ทำไมมันถึงปวดหัวนักนะ
ของขวัญดูจะเป็นเรื่องพิเศษและแสนจะยอกย้อนในตัวเอง เรารู้สึกว่าการให้ของขวัญเป็นเรื่องของหัวใจเนอะ ใครให้ของขวัญเราก็ถือเป็นเรื่องพิเศษหมด แต่พอลงมือซื้อหาหรือรับของขวัญของใครมา ไอ้เจ้าของฟรีพวกนี้มันกลับมี ‘ความหมาย’ หรือ ‘นัย’ บางอย่างติดมาด้วยเสมอ พอรับมาแล้วก็เอาแล้วแหละ ปีหน้าหรือโอกาสต่อไป เราอาจจะต้องมี ‘ความผูกพัน’ บางอย่างที่จะต้อง ‘มอบ’ ของขวัญให้กับผู้เคยให้เราในโอกาสต่อไป กลายเป็นว่าของที่ดูเหมือนให้เปล่านี้กลับเป็นเรื่อง ‘เครือข่ายความสัมพันธ์’ การคิด การประเมิน การคำนวน ในการให้และรับของให้เปล่าในกล่องสวยงามพวกนี้
‘ของขวัญ’ จึงไม่ใช่แค่ของ แต่ของขวัญเกี่ยวข้องกับเครือข่ายความสัมพันธ์อันซับซ้อนตั้งแต่ระดับบุคคล ไปจนถึงในระดับสังคม นักมานุษยวิทยาหลายคนมองว่าของขวัญ – การที่เราแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน – เป็นแกนหนึ่งของสังคมมนุษย์ในการที่เราจะสร้างและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันเอาไว้ เป็นระบบเศรษฐกิจแบบของขวัญ เป็นศิลปะของการให้ที่เราแฝงไว้ด้วยการส่งสัญญาณบางอย่างที่มีนัยของมูลค่าและความหมาย นั่นสิ… ตกลงแล้วของขวัญควรจะเป็นตัวแทนของตัวเราเอง หรือเพื่อคนรับดี
การเมืองและวัฒนธรรมของของขวัญ
การแลกเปลี่ยนของขวัญถือเป็นพิธีกรรมที่มนุษย์เราทำเพื่อรักษาความสัมพันธ์ทั้งภายในกลุ่มคนและระหว่างกลุ่มหรือเผ่าพันธุ์ สมัยก่อนเราก็มีการส่งของขวัญของบรรณาการ การเลือกจะให้ของอะไรกับใครถือเป็นการกระทำที่ต้องคิดหลายตลบถึงคุณค่าและความหมายที่เรากำลังจะส่งผ่านไปให้ใครอีกคน
ในมิติของวัฒนธรรม แน่ล่ะว่า ‘สิ่งของ’ หรือ ‘ทรัพย์สิน’ ไม่ใช่เป็นแค่ ‘ของ’ (thing) Chris Hann บอกว่าทรัพย์สิน (property) ไม่ใช่แค่เรื่องของของ แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คนที่อยู่รายรอบข้าวของต่างๆ ของขวัญเองก็เช่นกัน
การที่เราให้ของไปแก่ใครก็ไม่ใช่แค่ว่าเราให้ไปส่งๆ เท่านั้น แต่เป็นการยืนยันตัวตน สถานะและรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับ
การให้ของขวัญจึงเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนคุณค่าและเป็นการเพิ่มพูนสานต่อความสัมพันธ์ของเราด้วย ภายใต้การให้ของขวัญกันนั้น นักมานุษยวิทยาเองถกเถียงกันในประเด็นเรื่องการให้ของขวัญว่า เอ๊ะ การให้ของขวัญนี่เป็นกิจกรรมการให้แบบไม่คิดอะไรจริงรึเปล่า นักมานุษวิทยาเช่น Malinowski ก็บอกว่าไม่จริงจ้ะ การให้ของขวัญไปฟรีๆ นั้นมันไม่มีจริง เวลาที่ผู้คนมอบของบางอย่างไปแล้ว เราก็มักจะคาดหวังบางสิ่งที่มีคุณค่า/มูลค่ากลับมาเสมอ – ซึ่งตรงนี้ถ้าเราไม่ได้มองว่าการได้ ‘สิ่งตอบแทน’ จะต้องเป็นวัตถุสิ่งของ แต่อาจเป็นสิ่งอื่นที่เรามองว่ามีคุณค่า เช่น ความสัมพันธ์ หรือการเคารพ สิ่งนามธรรมเหล่านี้อาจนำไปสู่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางอย่างในอนาคตได้
ปิแอร์ บูร์ดิเยอ เจ้าพ่อผู้บอกว่าระบบทุนนิยมกำลังกำกับวิธีคิดของเราอย่างลึกซึ้งบอกเราว่า ทุกอย่างที่เราทำมันมี ‘ผลประโยชน์’ (interest) แฝงอยู่ในทุกๆ อย่าง แต่วิธีการที่ซับซ้อนคือ เจ้าผลประโยชน์นี้มันทำตัวว่าตัวมัน ‘ไม่มีผลประโยชน์’ (disinterest) การให้ของขวัญก็ดูจะเป็นกิจกรรมสำคัญที่เราทุกคนต่างมีนัยในการให้และรับของที่ดูเหมือนให้เปล่านี้ แต่โดยนัยของการให้และรับนี้กลับเต็มไปด้วยการคิดคำนวน คิดว่าเราจะให้อะไรดี จะตอบแทนอย่างไร
กลยุทธ์ที่ทำให้การให้ของขวัญเป็นกิจกรรมที่ดู ‘ไม่ใช่เรื่องของการแลกเปลี่ยน’ คือการ ‘ประวิง’ เวลา หมายความว่า พอเราได้ของมาปุ๊บ เราก็ทำไม่รู้ไม่เห็น ไม่มีการตอบแทนทันที แต่เราจะคิดไว้ในใจว่าโอกาสหน้าเราต้องแลกบางสิ่งไปตอบแทน แต่ด้วยเวลาที่ล่าออกไปนี้เลยทำให้การมอบของขวัญดูจะเป็นการให้เปล่า ไม่มีการคิดคำนวนใดๆ เราแค่ให้กันตามโอกาสเท่านั้น แต่อย่างน้อยๆ ถ้าลองคำนวณโดยพื้นฐานแล้ว สิ่งที่ผลักดันให้เราให้ของขวัญใครตามโอกาส ก็มาจากความต้องการที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันไว้ จะให้ค่าแค่ไหน ก็ดูที่สิ่งที่มอบให้กันอีกที
ของขวัญในฐานะตัวแทนเรา หรือคิดจากความต้องการของผู้รับ
ในปีใหม่แบบนี้จึงเป็นโอกาสที่ เอ้อ ใครที่ยังสำคัญและควรรักษาความสัมพันธ์ไว้ เราก็มักคิดซื้อหาของขวัญไปเพื่อแสดงว่ารักของเรายังดีอยู่ไหม แต่ปัญหาอีกอย่างของของขวัญคือ มันมีคนสองคนหรือสองกลุ่มอยู่ในสมการ เรามีผู้ให้และผู้รับ ทีนี้ในฐานะคนให้ของขวัญเราควรเลือกของขวัญเพื่อเป็น ‘ตัวแทนของเรา’ หรือเป็นของขวัญที่เราคิดว่า ‘เหมาะกับ’ ผู้รับดี
คิดยากเนอะ การให้ของประเภทหลังดูจะสื่อถึงความเอาใจใส่ดี แต่จากงานวิจัย ‘Give a piece of you: Gifts that reflect givers promote closeness’ ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Experimental Social Psychology คืองานวิจัยพวกนี้ก็ตรงไปตรงมาดี แทบจะบอกทุกอย่างตั้งแต่ชื่อ คืองานศึกษานี้พบว่าการให้ของที่ ‘เป็นตัวแทน’ ของผู้ให้ ส่งผลต่อความสัมพันธ์มากกว่า
ในงานวิจัยนี้เริ่มจากแนวคิดว่า การให้ของขวัญเป็นกิจกรรมทางสังคมเพื่อหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งเพื่อน ครอบครัว และคนรัก ผลของการศึกษากลับพบว่ากิจกรรมการให้และรับของขวัญเป็นเรื่องยอกย้อน คือพบว่าคนที่ให้ของมักพิจารณาว่าของอันนี้เหมาะกับคนรับแค่ไหน เขาชอบหรือต้องการอะไร และแน่ล่ะว่าคนรับเองก็ชอบที่จะได้รับของที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่ในการศึกษากลับพบว่า การให้ของที่คิดจากตัวผู้ให้ เช่นของที่เป็นตัวแทนของเราหรือเป็นของที่เราชอบกลับได้ผลลัพธ์เรื่องความใกล้ชิดสนิทสนมมากกว่า เพราะการที่เราได้ของขวัญเป็นของชอบของผู้ให้ พอเรามองไปที่ของนั้น เรากลับรู้สึกถึงความใกล้ชิด เป็นการมอบบางส่วนของคนๆ นั้นมาไว้ที่เรา
สรุปแล้วอ่านบทความนี้ก็ยิ่งนอย ก็รู้แล้วว่าการให้ของขวัญเป็นเรื่องที่ต้องคิดและบรรจุความหมายไว้มากมาย แถมไอ้งานวิจัยก็ดันยอกย้อนอีกว่า เออ ให้ของที่เขาได้ใช้ คนรับก็พอใจ ได้ใช้ด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราให้ของที่เป็นตัวแทนหรือของที่เราชอบก็ดูจะอีโก้เยอะ ถึงจะเล็งผลเรื่องการให้บางส่วนของเราไปเป็นตัวแทนก็เถอะ ก็จะดูแปลกๆ หน่อยอยู่ดี
อ้างอิงข้อมูลจาก