ช่วงเทศกาลปลายปี ‘ของขวัญ’ ดูจะเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทำให้เทศกาลเป็นเทศกาลจริงๆ ถ้าไม่มีการให้ของขวัญกันนี่มันก็ยังไงๆ เนอะ การเลือกซื้อของขวัญสำหรับหลายคนนี่แทบจะเรียกว่าเป็นวาระแห่งชาติได้เลยด้วยซ้ำ
การเลือกของขวัญว่าเราจะให้อะไรใคร ราคาเท่าไหร่ ห่อยังไง ทุกอย่างดูมีนัยสำคัญไปหมด เพราะถึงมันจะเป็นของที่เราซื้อให้คนอื่น แต่ก็ดูเหมือนจะมีบางส่วนของผู้ให้ติดอยู่ในของขวัญนั้นด้วย
ของขวัญมีความหมาย และการห่อของขวัญก็ดูจะมีความหมายด้วยเหมือนกัน ทั้งๆ ที่สุดท้ายก็ต้องแกะเอากระดาษห่อของขวัญออก แต่ทำไมดูเหมือนว่าคนทั้งโลกในหลายๆ วัฒนธรรมต่างพากันให้ความสำคัญและเอากระดาษไปปกปิดสิ่งของที่ตัวเองให้กัน
มูลค่าของกระดาษห่อของขวัญ
กระดาษ = ต้นไม้ ถ้าเกิดเรามองกระดาษห่อของขวัญในแง่ของสิ่งแวดล้อมก็ดูจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่ได้เกิดผลเท่าไหร่ คือใช้เพื่อประดับตกแต่งเป็นหลัก ไม่ได้มีฟังก์ชั่นอะไรมากไปกว่านั้น มีรายงานว่าในสหรัฐฯ ใช้เงินไปกับกระดาษห่อของขวัญมูลค่ากว่า 2 พัน 6 ร้อยล้านต่อปี เกือบครึ่งของผลิตภัณฑ์กระดาษที่ผลิตได้ กว่า 85 ล้านตันเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทกระดาษห่อ ถุงกระดาษ และอุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ ในจำนวนนี้ 4 ล้านตันกลายเป็นขยะ
ในสหราชอาณาจักรเองมีการประเมินว่าผู้คนทิ้งกระดาษห่อของขวัญรวมแล้วเป็นความยาวประมาณ 226,800 ไมล์ ซึ่งเอามาคลี่ห่อโลกได้ 9 รอบ
อะไรมันจะลงทุนลงแรงขนาดนั้นกับการห่อๆ แกะๆ และการทำเซอร์ไพรส์
ใครมันเริ่มห่อของขวัญกันฟะ
การห่อของขวัญเพื่อให้กันแม้จะเป็นกิจกรรมที่ไม่มีประสิทธิผลเท่าไหร่ แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่มนุษย์เราทำกันมาเนิ่นนานแล้ว
หลักฐานการห่อของขวัญที่เก่าแก่ที่สุดพบในอารยธรรมจีนโบราณ คือประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 2 เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการที่มนุษย์คิดค้นกระดาษขึ้นมาได้ ในสมัยราชวงซ่ง ของขวัญที่ให้เป็นเงินจะถูกใส่ไว้ซองเวลาที่มอบให้กัน ในญี่ปุ่นสมัยเอโดะก็เกิดมีผ้าที่ใช้ห่อสิ่งของเรียกว่า furoshiki ส่วนในเกาหลีก็มีการใช้ bojagi ในการห่อสิ่งของมาตั้งแต่ในสมัยยุคขุนพล
สำหรับโลกตะวันตก ชนชั้นสูงตั้งแต่สมัยวิคตอเรียนนิยมห่อของขวัญด้วยกระดาษและประดับตกแต่งด้วยริบบิ้นและแถบต่างๆ ในศตวรรษที่ 20 พี่น้องตระกูลฮอลล์ (Rollie และ Joyce Hall) ก่อตั้ง Hallmark Cards ธุรกิจกระดาษตกแต่งและการ์ดอวยพรขึ้นในสหรัฐฯ ทำให้กระดาษห่อของขวัญและการห่อของขวัญสวยๆ ก่อนส่งให้ผู้รับเป็นความคิดที่แพร่หลายขึ้น
ระบบเศรษฐกิจของของขวัญ
การแลกเปลี่ยนของขวัญจริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องสนุกๆ ตามเทศกาล แต่นักคิดหลายคนมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและระบบเศรษฐกิจ เป็นวิธีการสำคัญหนึ่งที่มนุษย์เรารวมไปถึงภาคส่วนต่างๆ ใช้เพื่อแสดงและดำรงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมไว้ เรียกว่าเป็น ‘ระบบเศรษฐกิจของของขวัญ’ (gift economy)
ระบบเศรษฐกิจของของขวัญคือรูปแบบการแลกเปลี่ยนสิ่งของ (อาจจะไม่ใช่วัตถุก็ได้) ที่มีมูลค่า การแลกของขวัญไม่เหมือนกับการค้าขายแลกเปลี่ยน ตรงที่มันไม่ได้ถูกแลกโดยตรง ถูกเปลี่ยนโดยทันที แต่มันมีความตกลงกันโดยนัยสำหรับการตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
พูดง่ายๆ ว่า ของขวัญไม่ใช่ของฟรี แต่ก็ไม่เชิงว่าเป็นของขาย การที่เราให้ของขวัญใครไป มันจะเกิดพันธสัญญาขึ้นโดยนัยว่าจะต้องมีการมอบของขวัญหรือสิ่งที่มีค่าอื่นๆ แลกเปลี่ยนกลับคืนในอนาคต การมอบของขวัญนี้เองที่เป็นเหมือนกับระบบเศรษฐกิจบางอย่างที่ซ่อนอยู่ภายใต้วัฒนธรรมและประเพณีของเรา ที่มีความซับซ้อนอยู่
ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) นักสังคมวิทยาพูดถึงระบบเศรษฐกิจของของขวัญไว้ว่าเป็นระบบกลไกการแลกเปลี่ยนหลักของมนุษย์ และที่น่าแปลกใจคือบูร์ดิเยอกลับบอกว่าการให้ของขวัญกันในโลกธุรกิจนี่แหละที่เป็นสิ่งที่ธำรงทั้งความสัมพันธ์ของคนในโลกสมัยใหม่และภายในภาคธุรกิจไว้ด้วยกัน
แกนสำคัญของระบบเศรษฐกิจของของขวัญอยู่ที่การที่บุคคลหรือองค์กรแลกเปลี่ยนของขวัญกัน การแลกเปลี่ยนดังกล่าวกระทำกันโดยนัย แต่จริงๆ แล้วมีนัยของการแสดงสถานะของผู้ให้ มีการคิดคำนวนและการแลกเปลี่ยนซ่อนอยู่ ในการกระทำนี้เป็นการแสดงและสานสัมพันธ์ของบุคคลหรือความเป็นพาร์ทเนอร์กันเพื่อเอาตัวรอดในโลกธุรกิจและดำเนินกิจการสะสมทุนกันต่อไป
พูดง่ายๆ คือในโลกธุรกิจมันไม่ใช่แค่มิติทางเศรษฐกิจที่พูดถึงตัวเลข หรือกำไรกันอย่างเดียว แต่ความสำคัญในการอยู่รอดยังต้องพึ่งพิงกับมิติเชิงวัฒนธรรมในการสานสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งการให้ของขวัญเป็นพิธีกรรมสำคัญในการเน้นย้ำถึงตัวตนและความสัมพันธ์ทั้งระหว่างผู้ให้และผู้รับ
ในมิติของบุคคลเองก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ ที่เราต่างต้องการผู้อื่นในการใช้ชีวิตในสังคมนี้ การให้และรับของขวัญจึงเต็มไปด้วยนัยของความสัมพันธ์ จึงไม่แปลกที่เราจะปวดหัวกับการเลือกของขวัญ เพราะในของขวัญก็มีการเมืองและเรื่องจริงจังแอบแฝงอยู่ให้เราต้องครุ่นคิส
เอ้า จะปีใหม่แล้ว มีของที่เหมาะสมเพื่อรักษาสถานะทางสังคมแล้วรึยัง