ไม่นานมานี้มีนักการเมืองพรรคหนึ่งเสนอว่า ถ้าปรับโทษอาญาของการหมิ่นประมาทออกแล้วบังคับใช้แค่โทษทางแพ่งจะทำให้คนไม่เท่ากัน เพราะเป็นการเปิดทางให้คนรวยจะด่าใครก็ได้เนื่องจากยังไงก็มีเงินพร้อมจ่ายค่าสินไหมทดแทน การยกเลิกโทษอาญาจึงจะนำไปสู่สังคมไม่เท่าเทียม
อ่านแล้วอยากจะหัวเราะให้กับความมโนเก่ง แต่ผมคงไม่ขอใช้พื้นที่อธิบายว่าย่อหน้าข้างต้นเป็นตรรกะวิบัติอย่างไร (ใครสนใจลองไปอ่านได้ในบทความเรื่องตรรกะวิบัติ slippery slope ดูนะครับ) เพราะประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ทำไมชายหนุ่มคนกล้าคนนี้ถึงกลับนิ่งเงียบเมื่อคราวที่บริษัทร้านสะดวกซื้อและเบียร์เจ้าตลาดของไทยจ่ายเงินจ้างอินฟลูเอนเซอร์ให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบรวมค่าปรับการทำผิดกฎหมายอยู่ในแพ็คเกจ กรณีนี้ต่างหากที่ควรจะมาคิดต่อว่าต้องทำอย่างไรให้มหาเศรษฐีหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่สามารถใช้ ‘เงินฟาด’ เพื่อละเมิดกฎหมายได้อย่างหน้าตาเฉย
ปัญหาลักษณะนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กฎหมายฉบับดังกล่าวเพียงแค่ฉบับเดียวนะครับ แต่มันแฝงฝังอยู่ทั่วทั้งระบบยุติธรรมของไทยที่ใช้การระบุค่าปรับเป็นตัวเงินโดยมีการกำหนดช่วงของค่าปรับต่ำสุดและสูงสุดและให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจใช้ดุลพินิจว่าควรคิดค่าปรับในอัตราเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม
นั่นหมายความว่าต่อให้เป็นลูกมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทที่ได้เงินเดือนหลักล้านหรือป้าแม่บ้านที่ได้เงินเดือนหลักพัน เมื่อขับรถเร็วกว่ากำหนดก็จะได้จดหมายร่อนส่งตรงถึงบ้านให้ไปชำระค่าปรับ 500 บาทเท่ากัน สำหรับลูกมหาเศรษฐี เขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเงินหายไปจากบัญชี แต่สำหรับป้าแม่บ้าน นี่คือค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันที่เธออาจต้องไปหยิบยืมเงินมาชำระ
หากใช้ตรรกะแบบนักการเมืองในย่อหน้าแรก เราก็คงต้องเพิ่มโทษอาญาให้กับกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้ ‘คนเท่ากัน’ ซึ่งเป็นทางออกมืดบอดที่ทำราวกับมองไม่เห็นปัญหา ‘นักโทษล้นคุก’ เพราะจำนวนนักโทษในประเทศไทยขึ้นแท่นอันดับ 6 ของโลกและอันดับ 1 ในอาเซียน สวนทางกับเทรนด์โลกที่พยายามตีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะได้ไม่ต้องเอาคนเข้ามาในคุกแต่การบังคับใช้กฎหมายยังมีประสิทธิภาพ
ในบทความนี้ผมขอเสนออีกทางเลือกหนึ่งซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่าการเพิ่มโทษอาญา นั่นคือ ‘ระบบค่าปรับตามรายได้’ (day fines) นั่นเอง
แค่ขับเร็วแต่เสียค่าปรับหลักล้าน
ย้อนกลับไปเมื่อราว 5 ปีก่อน นักธุรกิจชาวฟินแลนด์ถูกจับปรับเพราะขับรถยนต์ด้วยความเร็ว 65 ไมล์/ชั่วโมง ในพื้นที่ที่กำหนดความเร็วสูงสุด 50 ไมล์/ชั่วโมง หากเหตุการณ์นี้เกิดในประเทศไทยเขาคงจ่ายค่าปรับหลักร้อยแล้วไปซิ่งต่อ แต่ค่าปรับจากการทำผิดกฎหมายจราจรที่ประเทศฟินแลนด์จะอิงตามรายได้ ชายคนดังกล่าวคือมหาเศรษฐีที่แบบยื่นภาษีล่าสุดปรากฎว่ามีรายได้ 6.5 ล้านยูโร/ปี เขาจึงโดนค่าปรับจากการขับรถเร็วครั้งนี้คิดเป็นมูลค่า 54,000 ยูโรหรือราว 2 ล้านบาท
อ่านไม่ผิดหรอกครับ เขาโดนใบสั่ง 2 ล้านบาทเพราะขับรถเร็ว
แม้บางคนจะรู้สึกว่าเป็นค่าปรับที่ดูสูงลิ่วจนเกินกว่าเหตุ แต่หากคิดดีๆ อย่างถี่ถ้วนจะได้คำตอบว่าระบบดังกล่าวสมเหตุสมผลอย่างยิ่งเมื่อย้อนไปพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการมีกฎหมายที่มีไว้เพื่อ (1) ลงโทษผู้ละเมิดกฎหมายให้หลาบจำ (2) ป้องปรามไม่ให้คนทำผิดกฎหมาย
การกำหนดค่าปรับแบบอัตราเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งสองอย่างได้ เพราะคงไม่มีมหาเศรษฐีคนไหนรู้สึก ‘หลาบจำ’ จากการเสียค่าปรับ 500 บาท เพราะขับรถเร็ว หรือรู้สึกว่าต้องขับรถอย่างระมัดระวังไม่ให้เกินความเร็วที่กำหนดไว้เพราะเกรงกลัวที่จะทำผิดกฎหมาย ในทางกลับกันการปรับด้วยจำนวนเงินที่ตายตัวเช่นนี้คือฝันร้ายของเหล่าผู้มีรายได้น้อย
ย่อหน้าข้างบนนี้ผมไม่ได้คิดเองเออเองนะครับ เพราะมีการศึกษาพบว่า คนรวยจะมีแนวโน้มละเมิดกฎหมายจราจรมากกว่าคนจนในสหรัฐอเมริกา
นี่คือเหตุผลที่หลายประเทศเลือกใช้ระบบค่าปรับตามรายได้ซึ่งจะต่างจากโทษปรับทั่วไป เพราะนอกจากค่าปรับจะเป็นไปตามระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิดแล้วยังขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ละเมิดกฎหมายอีกด้วย การคิดค่าปรับในลักษณะดังกล่าวจะช่วยสร้างเสริมประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ป้องปรามการละเมิดกฎหมายของคนทุกชนชั้นอย่างเท่าเทียม และสร้างความเป็นธรรมในสังคม
ระบบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน และเดนมาร์ก เริ่มบังคับใช้ระบบค่าปรับลักษณะนี้มาตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะเป็นที่แพร่หลายไปทั่วสหภาพยุโรป อีกทั้งการคำนวณก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่หลายคนคิดโดยสามารถเขียนเป็นสูตรการคำนวณได้ดังนี้
ค่าปรับ = จำนวนหน่วยความผิด (วัน) x รายได้สุทธิต่อวันของผู้กระทำความผิด
โดยจำนวนหน่วยความผิดที่กำหนดเป็นวันจะขึ้นอยู่กับความหนักเบาของการกระทำความผิด เช่น ประเทศเยอรมันกำหนดจำนวนวันปรับไว้ตั้งแต่ 5 ถึง 360 วันและสูงสุดไม่เกิน 720 วัน ส่วนรายได้สุทธิต่อวันอาจอิงจากข้อมูลรายได้และการจ่ายภาษี ประมาณการจากการซักถามผู้กระทำความผิด หรือคิดจากรายจ่ายมาตรฐานต่อวันของประชาชนในประเทศ
แนวคิดลักษณะนี้ยังไปปรากฏในกฎหมายที่บังคับใช้กับนิติบุคคล เช่น กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรป ที่กำหนดโทษปรับไว้สูงสุดถึง 30% ของยอดขายที่เกี่ยวข้อง นี่คือสาเหตุที่เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Google เคยโดนค่าปรับโดยสหภาพยุโรปคิดเป็นมูลค่าถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2561
แต่เหรียญก็ย่อมมีสองด้านเพราะหลายเสียงก็เห็นต่างเรื่องระบบค่าปรับตามรายได้ ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิผลในการป้องปรามการกระทำความผิดของผู้มีรายได้น้อยที่อาจด้อยลงเพราะค่าปรับอาจอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอย่างมาก หรือกระทั่งโต้ว่าระบบดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะลงโทษผู้กระทำความผิดแต่ละรายในฐานความผิดเดียวกันแตกต่างกันซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ความลักลั่นของระบบค่าปรับไทย
หันกลับมาที่ระบบค่าปรับของไทย ในการศึกษาที่ชื่อว่า ‘ระบบค่าปรับทางอาญา’ โดย อิสร์กุล อุณหเกตุ ยังพบปัญหาอีกสองประการดังนี้
ประการที่หนึ่ง การศึกษาพบความลักลั่นในกฎหมายราว 500 มาตรามีกำหนดบทลงโทษเป็นการจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยกฎหมายฉบับที่บังคับใช้ในภายหลังจะมีการกำหนดค่าปรับไว้สูงกว่าแม้ว่าจะกำหนดโทษจำคุกใกล้เคียงกันซึ่งนับว่าไม่สมเหตุสมผล การกำหนดค่าปรับแบบไม่มีมาตรฐานทำให้การกระจายตัวของค่าปรับในกฎหมายไทยค่อนข้างสูง โดยค่าปรับที่เป็นตัวเงินซึ่งเทียบเท่ากับโทษจำคุก 1 ปีมีค่าตั้งแต่ 1,000–3,000,000 บาท
สิ่งที่น่าสนใจคือค่าปรับของกฎหมายที่บังคับใช้ในปีเดียวกันและมีโทษจำคุกใกล้เคียงกันก็ยังแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
ประการที่สอง โทษปรับทางอาญาจำนวน 1,086 มาตรามีการกำหนดค่าปรับไว้ชัดเจนตายตัว อย่างไรก็ดี การกำหนดค่าปรับในลักษณะนี้ถือเป็นการมองข้ามเรื่องเงินเฟ้อ หมายความว่าค่าปรับจะค่อยๆ มีมูลค่าลดลงเมื่อเวลาผ่านไปซึ่งจะเห็นอย่างชัดเจนในกลุ่มกฎหมายที่บังคับใช้มาอย่างยาวนาน
เพื่อให้เห็นภาพ ผู้วิจัยได้ยกตัวอย่างค่าปรับ 2,000 บาทตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 แต่ตัวเลขค่าปรับที่แท้จริงหลังจากหักมูลค่าที่สูญหายไปจากเงินเฟ้อออกจะเหลือเพียง 225 บาทเท่านั้น
ระบบค่าปรับตามรายได้นับเป็นทางออกหนึ่งที่สามารถแก้ไขทั้งสองปัญหานี้ได้อย่างชะงัด เพราะแทนที่จะกำหนดค่าปรับเป็นตัวเงิน ตัวบทกฎหมายก็สามารถใช้หน่วย ‘วัน’ เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยอิงจากความรุนแรงของการกระทำความผิดประกอบกับระยะเวลาของโทษจำคุก นอกจากนี้ ค่าปรับที่อิงตามรายได้จะปรับตามเงินเฟ้อแบบอัตโนมัติ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ผันแปรไปในแต่ละปีจะถูกสะท้อนอยู่ในค่าแรงซึ่งเป็นตัวแปรหนึ่งในการคำนวณค่าปรับ
ที่ผ่านมา ระบบค่าปรับไทยเบียดเบียนคนจนและเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา คงถึงเวลาแล้วที่เราจะมองหาทางเลือกใหม่อย่างระบบค่าปรับตามรายได้ที่น่าจะเหมาะอย่างยิ่งกับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงลิ่วอย่างไทยซึ่งกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด 10% แรกจะมีรายได้มากกว่ากลุ่มคนที่จนที่สุด 10% สุดท้ายถึงเกือบ 20 เท่าตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก
The Constitutionality of Income-Based Fines
A Billionaire and a Nurse Shouldn’t Pay the Same Fine for Speeding
Illustration by Sutanya Phattanasitubon