‘GO WENT GONE องค์กรบริหารส่วนจังหวะ’ คือหนังสือเล่มแรกในชีวิตของ ชลากรณ์ ปัญญาโฉม หลายคนจดจำเขาในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังรายการโทรทัศน์ที่โด่งดังมากมายหลายรายการในช่องเวิร์คพอยท์
คนรุ่นใหม่ๆ หน่อยก็รู้จักเขาในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกปั้น T-POP Stage รวมถึงค่ายเพลง XOXO Entertainment ที่มีศิลปินดังเช่น 4EVE และ ATLAS
ชลากรณ์เคยบอกเล่าไว้ในหลายๆ โอกาสว่า ชีวิตที่ผ่านมาของเขาเคยรู้สึกเหมือน ‘อยู่ผิดที่ผิดทาง’ จากคนทำงานสายวิศวะที่ผันตัวไปทำงานสายครีเอทีพ ชีวิตที่ผ่านมาเขาต้องรับโจทย์การทำงานที่ท้าทายมากมาย ทั้งผิดหวังบ้าง สมหวังบ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หลายโปรเจ็กต์ที่เขาลงมือทำ มันได้ขับเคลื่อน ‘จังหวะ’ ของอุตสาหกรรมบันเทิงในไทยไม่มากก็น้อย
เรามีชวนผู้บริหารคนนี้มาพูดคุยกันอีกครั้ง ถึงเรื่องราวชีวิตการทำงาน และผลงานการออกหนังสือเล่มแรกในชีวิต
คุณอยากบอกเล่าอะไรผ่านหนังสือเล่มนี้บ้าง
ถ้าอ่านทั้งเล่มแล้วสังเกตดีๆ มันเหมือนจะมีเรื่องเดียว คือคนเราต้องใช้ชีวิตและทํามาหากิน มีปัญหาก็แก้กันไป เพียงแต่ว่างานที่ผมทํามันอาจจะหวือหวาหน่อย
คุณเคยบอกว่า ในตอนแรกที่เข้ามาทำงานกับเวิร์คพอยท์ คุณเคยรู้สึกผิดที่ผิดทาง อยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในตอนนั้นบ้าง
ตอนเข้ามามันก็ยังไม่ได้มีฟังก์ชันในการทํางานชัดเจนมาก ก็เลยว่าไม่รู้ว่าอะไรทําได้อะไรทําไม่ได้อะไรต้องทําอะไร อะไรไม่ต้องทํา แล้วก็เป็นธรรมชาติของอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความคิด และเรารู้สึกว่าอุตสาหกรรมนี้มันใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจกันพอสมควร คือมันไม่ได้มีไอเดียไหนถูกหรือไอเดียไหนผิดหรอก แค่เราจะเลือกไอเดียไหน ซึ่งถามว่าทําไมเค้าเลือกไอเดียไหน มันก็มีหลายเหตุผลเช่นทุกคนเห็นตรงกันว่าน่าจะเวิร์ค ฉะนั้นพอเราเป็นคนใหม่เลยแรกแรกมันอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวเข้ากับสิ่งนี้ครับ
ใช้เวลาคลําอยู่นานไหม ก่อนจะรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันเวิร์คหรือไม่น่าเวิร์ค
น่าจะประมาณ 4-6 เดือนได้ มันเป็นช่วงที่เรารู้แค่ว่า มันเป็นเรื่องใหม่สําหรับเราแล้วก็ต้องรู้ให้เยอะทํางานให้เยอะ แล้วบังเอิญมันมีเรื่องสนุกพอดีครับ คือสมมติว่าเราไม่ได้เป็นคนในฝั่งครีเอทีฟแล้ว ก็ในยุคนั้น คําว่าครีเอทีฟมันดูเท่เนอะ ไปทํางานช่วงแรกก็ไปปริ้นต์คำคมของ วอลท์ ดิสนีย์ แปะไว้ที่โต๊ะ มันคือคำที่เขาบอกว่า “I don’t know if it’s art, but I know I like it” (ฉันไม่รู้ว่านี่คือศิลปะรึเปล่า แต่รู้แค่ว่า ฉันชอบมัน)
แล้วก็ตลกมากเลย อยู่ๆ พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) เขาก็เดินมาที่โต๊ะ แล้วตอนนั้นเขาต้องเขียนคำนำให้กับนิตยสาร DDT ที่ป๋าเต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) ซึ่งพี่จิกเขาก็เขียนชื่อตอนของคำนำนั้นว่า “แค่ชอบคงไม่พอ” เหมือนเราโดนพี่จิกด่าเลย (หัวเราะ) ซึ่งเนื้อหาในนั้นพี่จิกเขียนว่า แค่ชอบสิ่งที่ทำอย่างเดียวมันคงไม่พอ เราต้องหลงใหลมันแบบหัวปักหัวปำ ชอบมันให้ลึกซึ้ง ต้องอยู่กับมันให้เยอะๆ อะไรทำนองนั้น ผมก็คิดว่า นี่พี่จิกตั้งใจมาบอกกันรึเปล่านะ
แล้วหลังจากนั้นคุณเลือกเชื่อใครระหว่าง วอลท์ ดิสนีย์ หรือ ประภาส ชลศรานนท์
ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะว่าเวลาคนเอาคำคมมาใช้ เราจะเอามาแค่ท่อนเดียว สิ่งที่พี่จิกมาเติมให้เราก็คือความหมายที่ว่า แค่ชอบสิ่งที่ทำอยู่เพียงอย่างเดียวมันอาจจะไม่พอก็ได้นะ
แล้วคุณเพิ่มอะไร เมื่อรู้แล้วว่าแค่ชอบอย่างเดียวไม่พอ
ความชอบมันดีตรงที่ มันช่วยให้เราฮึกเหิมได้ง่าย พอเราชอบปุ๊บเราก็จะมีความอยากไปทํา แต่ในความอยากไปทํานั้น บางทีถ้าเราไม่ได้รู้ว่างานชิ้นนึง มันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แค่ความชอบก็อาจจะเอาไม่อยู่ ยกเว้นว่าเราพร้อมมากๆ สมมติว่าผมมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบมาก ไม่ว่าจะรวยมากหรือว่าไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้ชีวิตมาก ผมก็ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความชอบไปเลยก็ได้
คุณรู้ได้อย่างไรว่า เราต้องเติมอะไรให้กับความชอบบ้าง
ไม่ได้หา แต่เพียงแค่รู้ว่า เราต้องรู้เยอะๆ เอาไว้ก่อน แต่ถ้ารู้เยอะแล้วมันไปต่อไม่ได้ ก็อาจจะต้องยอมแพ้ ผมเป็นยอมแพ้ง่าย (หัวเราะ) ผมเป็นคนที่ไม่ได้ดื้อมาก
ในโลกของการทำงาน มันจะมีบางอย่างที่เราเคยทํากันแล้วรู้สึกว่าเราชอบมากเลย แต่ว่าในความเป็นจริงมันไปต่อได้ยาก เพราะอุปสรรคเรื่องการทำเงิน ทำยอด ทำรางวัลไม่ได้บ้าง เวลาเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมา คุณจะยอมไปต่อหรือปล่อยสิ่งที่ชอบทิ้งไว้ตรงนั้น
มันแล้วแต่บริบท เช่นถ้ามันเป็นแค่เรื่องส่วนตัวของเรา ก็อาจจะมีแต่ทุรังบ้าง แต่ถ้าเป็นเรื่อง ของส่วนรวม เช่น ในฐานะที่เราเป็นลูกจ้าง เราใช้เงินบางส่วนของนายจ้างเราทำงานอยู่ ถ้าเราจะดันทุรังไปต่อ เราต้องหาทางออกให้เขาให้เจอ ถ้าเราไม่เจอทางออกให้เขา ถ้าเขาไม่ได้รักเรามากๆ หรือถ้าเขาไม่ได้เชื่อว่าเดี๋ยวสิ่งนี้ ที่เราดันทุรังอยู่มันจะเวิร์คมากๆ นะ มันก็ไม่ได้เหลือเหตุผลที่ทําไมเขาต้องซัพพอร์ตสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ
บทสนทนาแบบนี้มันจะขึ้นระหว่างคุณกับคุณปัญญา นิรันดร์กุล ในฐานะผู้บริหารของช่องบ่อยไหม
เกิดขึ้นไม่ได้บ่อยแต่ว่าผมจะอธิบายเรื่องนี้ก่อนเสมอครับว่า ถ้าสิ่งที่ผมอยากทำ มันไปต่อไม่ได้เมื่อไหร่ ผมจะหยุดมันเอง ผมจะพูดทุกครั้งเลยเมื่อต้องทำงานที่มันมีความสุ่มเสี่ยงว่า ถ้ามันไปต่อไม่ได้ ไม่ต้องห่วงนะ ถึงเวลาผมจะไม่ดื้อ
ยกตัวอย่างได้ไหมว่า แล้วมีโปรเจ็กต์อะไรที่เคยถูกมองว่าเสี่ยงบ้าง
อย่างค่ายเพลงนี้ (XOXO) เลย คือเรามีรายการทีวีมาแล้ว ได้ศิลปินมาแล้ว ที่ผ่านมาเราก็ทำรายการเกี่ยวกับเพลงบ่อย แต่เราไม่เคยได้จัดการเรื่องศิลปิน ทีนี้พอมันเป็นโปรเจ็กต์ 4EVE มันจะยากกว่าที่ผ่านมา แล้วเรามีเด็กทีมนี้มาแล้ว เราก็เลยคิดว่างั้นมาลองกันดูหน่อย ลองตั้งใจทํามันดูว่าจะเป็นยังไง ทําไปช่วงหนึ่งก็เห็นว่ามันน่าจะไปได้ ก็เลยบอกกับคุณปัญญาว่า เดี๋ยวจะขอทำค่ายเพลงหน่อย แล้วจะทํากันอย่างจริงจัง แต่ไม่ต้องห่วงถ้ามันไปไม่ได้จริงจริง จะสามปี หรือห้าปี จะมาบอกเอง
ในหนังสือเล่มนี้ มีพาร์ทหนึ่งที่คุณบอกเล่าถึงการอยู่กับข้อมูลมากๆ ในการทำโปรเจ็กต์ต่างๆ อยากรู้ว่าคุณลงลึกไปอยู่กับข้อมูลแค่ไหน แล้วมันสำคัญอย่างไร
มันอาจจะช่วยเรา อธิบายความกันว่า ทําไมคนต้องดูรายการนี้ แล้วทําไมรายการนี้มันถึงสนุก รายการนี้คนดูจะชอบอะไร หรือเขาอาจจะไม่ชอบอะไร เวลาเราขึ้นรายการใหม่ๆ แล้วทีมงานมานั่งดูชิ้นงานที่เป็นตัว pilot ด้วยกัน มันจะมีเหตุผลในการอธิบายความกัน ถ้าไม่ทำแบบนี้ มันก็แค่ gut feeling ล้วนๆ ซึ่งพอเราอยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เงินเป็นจำนวนมาก มันใช้ gut feeling อย่างเดียวไม่ได้
พอมีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว อยากรู้คิดว่า เวลามีโปรเจ็กต์อะไรที่อยากทำ คุณมีเกณฑ์อะไรในการตัดสินใจบ้างว่า สิ่งนี้มันน่าจะไปต่อได้
ในเชิงธุรกิจ มันจะขีดเส้นได้เลยว่าเราจะขาดทุนกับสิ่งนี้ไปกี่ปี กี่เดือน กี่วัน หรือถ้ามันขาดทุนได้ แล้วรายได้มันโตไหม ถ้ารายได้มันโต มันก็แก้ได้ไม่ยาก ก็ต้องไปจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย ส่วนเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องเงิน เราก็ต้องคิดว่า สิ่งที่เราทำมันได้คุ้มเสียไหม หมายถึงว่า ทีมงานชอบทำสิ่งนี้ อยากทำสิ่งนี้ แล้วในแง่บริษัท สิ่งที่ทำมันไม่ได้ contribute ในเรื่องการเงิน แต่ได้เรื่องความภาคภูมิใจอย่างทีมงาน มันจะทำให้เหนื่อยเพิ่มไหม ถ้าเหนื่อยเพิ่มจนไปกระทบกับงานอื่นที่มันอุ้มชูบริษัทอยู่ ก็อาจจะต้องเพลาลง เพราะเวลาทํางานมันเสียสองอย่าง ไม่เงินก็เวลา เวลาน้องๆ มาขอทําอะไรก็ตามที่งอกเงยขึ้นมา ผมก็จะทักว่า “เอากี่เดือน” หมายถึงว่า จะทำไปกี่เดือน ก่อนที่จะให้พี่มาประเมินว่าเหนื่อยไหม (หัวเราะ)
ถ้าเทียบเป็นสัดส่วนเวลาปล่อยน้องๆ ทํา เวลามันผ่านไปแล้ว 6 หรือ 7 เดือน น้องๆ จะกลับมาบอกว่าทำต่อหรือไม่อยากทำต่อมากกว่ากัน
โชคดีที่ทีมที่ทำงานด้วยกันทุกวันนี้ เป็นทีมที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่แรก ตั้งแต่พี่เริ่มทํางานใหม่ๆ ส่วนใหญ่แล้ว น้องๆ ก็จะเป็นคนเดินมาบอกเองว่าไม่ไหวจริงว่ะพี่
การทําธุรกิจโดยเฉพาะสื่อบันเทิงอะไร มันต้องคิดทั้งความสนุกแล้วก็เรื่องรายได้ด้วย เวลาต้องตัดสินใจบางอย่างไป คุณหาจุดสมดุลของเรื่องความสนุกและรายได้ยังไง
โดยบรรทัดสุดท้าย พอมันมีคําว่าธุรกิจ มันก็จะมีเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยวพันทันที แล้วก็ไม่รู้เด็กสมัยนี้อาจจะไม่เป็นเหมือนคนสมัยก่อน พอเราพูดคําว่าธุรกิจ หรือคําว่าทุนนะมันดูเป็นคําเนกาทีฟทันทีเลย แต่ว่ามันเป็น fact มากเลยว่า สมมติทำไปแล้ว มันขาดทุนไปตลอด มันสีแดงไปเรื่อยๆ แล้วปัญหามันก็จะลุกลามไปถึงเศรษฐกิจส่วนตัว หรือเรื่องปากท้องของคนทำงานแล้ว ผมว่ามันเป็นช่วงอายุช่วงวัย แล้วก็สภาพแวดล้อมของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน
เวลามีโปรเจกต์ที่คุณอยากทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ คุณคุยกับทีมงานยังไง เพื่อให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้มันจะดี
เอาเข้าจริงจริงมันโหดร้ายเหมือนมันนะ เพราะเวลาเราไปบอกว่า เดี๋ยวเราจะทําสิ่งนี้กันนะ น้องก็อาจจะตกใจพักนึง แต่ผมก็จะบอกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวเรามาดูกัน ผมคิดว่าพอเราทํางานด้วยกันมานาน เราก็จะรู้จักกันดี ถ้าเทียบจากวันแรกที่ผมเข้าอยู่เวิร์คพอยท์เท่านั้นเนี่ย อย่างในหนังสือก็จะบอกว่าผมเปลี่ยนงา เปลี่ยนฟังก์ชั่นงานทุก 3 ปี 5 ปี 7 ปี ฉะนั้นไอ้น้องทีมที่อยู่ประจํากัน มันก็ชินไปกับผมแล้ว พอถึงเวลาสิ้นปี น้องก็จะถามว่าแล้วปีหน้าผมอยากทำอะไรไหม อย่างตอนนี้ก็เริ่มถามกันแล้ว
เรื่องการสร้างความไว้วางใจก็เป็นสิ่งหนึ่งที่คนในแวดวงการทำงานให้ความสำคัญ คุณสร้างความไว้วางใจกับคนในทีมยังไงบ้าง
นักธุรกิจชื่อดังๆ ก็พูดเรื่องนี้กัน ผมว่าถ้ากับคนรุ่นใหม่มันมีเหตุผลเดียว มันมีวิธีเดียวคือ ความไว้วางใจมักจะเกิดเวลามันมีเรื่องที่พังทลายเกิดขึ้น ถ้าเราเป็นทีมเดียวกัน เราจะเคลียร์กันเลย แต่ถ้ามันเป็นนอกกลุ่มก้อน ผมอาจจะต้องออกรับหน้ากับปัญหาเอง
ในหนังสือ คุณเขียนถึงหลายโปรเจ็กต์ที่ได้ทำมา อยากชวนหยิบสักเรื่องหนึ่งมาเล่าให้ฟังได้ไหม เพื่อเป็นน้ำจิ้มให้คนอ่าน
อย่างตอนทำ The Mask Singer ที่มาที่ไปก็ไม่ซับซ้อน ก็คือไปงานแฟร์ แล้วได้มาากเซลล์คนนึงของบริษัทนึง ซึ่งเรารู้จักนิสัยใจคอกันดี เขาเอาแผ่นรายละเอียดของรายการนี้มาให้ ซึ่งไม่ใช่งานของบริษัทเขาเองด้วย ซึ่งเขาก็แนะนำเรามาเพราะรู้ว่ามันเข้ากับเรามากๆ มันคือความจริงใจ เรื่องนี้ทำให้ผมรู้ว่า บางทีต้นทุนเหล่านี้มันก็สําคัญมากๆ เลยนะในการทำงาน มันคือต้นทุนเรื่องความเข้าใจกัน และความเป็นมนุษย์ที่มีต่อกันและกัน
โจทย์หนึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิงคือ เวลาทำโปรเจ็กต์อะไรสักอย่างแล้ว มักจะเดินไปถึงจุดที่ต้องเลือกระหว่างการรักษาความเป็นตัวเอง กับการมุ่งไปยังตลาดระดับแมส คุณมองเรื่องนี้ยังไงบ้าง
ในแง่ของการทำดนตรี เราอาจจะเริ่มต้นด้วยการที่เรามีลายเซ็นอยู่ลายเซ็นหนึ่ง ที่ทำให้มีคนเข้ามาฟัง ในแง่ของวงดนตรี ถ้าเขาโชคดีสุดๆ ก็คือไอ้แนวเพลงหรือสไตล์ที่เขาทํามันใหญ่ขึ้นพอดี ส่วนอีกโจทย์ก็คือ ถ้าเขาต้องการแฟนเพลงที่มากขึ้น เขาอาจจะต้องผสมผสานดนตรีหลายหลายแบบ เพื่อให้เค้าโตขึ้นเพื่อให้แฟนเพลงเขาใหญ่ขึ้นแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป
สำหรับผมแล้ว ต้องถามว่า แล้วการอยากแมสผิดตรงไหนเหรอ เพราะสุดท้ายแล้ว มันเป็นเรื่องปากท้องเขานะ โอเคแหละเรามีความชอบในรสนิยม มีงานศิลปะสร้างสรรค์อยู่ แต่พอดีประเทศเรามันยังไม่ได้พร้อมขนาดนั้น สภาพสังคมเรายังไม่ดีขนาดนั้น สวัสดิการสังคมมันไม่ได้ดีพอ เรายังต้องดูแลตัวเองกันเยอะพอสมควร ทั้งดูแลตัวเองและครอบครัว
สุดท้ายแล้ว คุณคิดว่าคนที่มาอ่านหนังสือเล่มนี้ เขาน่าจะได้รับรู้เรื่องราวแบบไหนกลับไปบ้าง
เอาจริงๆ ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ เพราะพออ่านเสร็จแล้ว ผมรู้สึกว่าผมพูดเรื่องส่วนตัวมันเยอะมากเลย (หัวเราะ) แล้วก็โดยส่วนตัวรู้สึกว่าใจความสําคัญมันมีแค่เรื่องเดียวเลย คือคนเราต้องตั้งใจทํามาหากินแล้วก็บาลานซ์เรื่องความชอบ เรื่องงาน และการเลี้ยงชีพให้มันพอดีกัน ถ้ามีปัญหาอะไรก็แก้ไป
ผมไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนนอกจากว่า ถ้ามันมีปัญหาก็ต้องแก้