เมื่อเรามองหาลู่ทางใหม่ในการทำงาน เรามักจะเตรียมความสามารถให้พร้อม งัดท่าไม้ตายทุกท่าที่มีมาให้องค์กรใหม่ประทับใจ และเชื่อว่าเราก็ลูกพระยานาหมื่น ด้วยทักษะเพียบพร้อมไม่น้อยหน้าใคร
ทว่าในโลกการทำงานยุคใหม่ที่ใครๆ ต่างเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทุกแคนดิเดตเลยต่างมีความสามารถไม่หนีกันเท่าไหร่ แค่ทักษะอย่างเดียวจึงอาจไม่ใช่สิ่งที่จูงใจให้นายจ้างเลือกเราได้แล้ว แต่อะไรกันล่ะที่จะช่วยให้เราโดดเด่นขึ้นมาจากตัวเลือกเหล่านั้น?
ในขณะที่เราวุ่นอยู่กับการแข่งขันด้านทักษะเฉพาะทางของอาชีพ ‘บุคลิกภาพ’ กลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่องค์กรใช้เลือก ว่าจะให้ผู้สมัครคนไหนผ่านเข้ารอบ จนเกิดการพูดถึงเทรนด์ ‘Personality Hire’ บนแพลตฟอร์มยอดฮิตของคนรุ่นใหม่อย่าง TikTok และวิดีโอที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นวิดีโอจากบัญชีผู้ใช้ ‘viennaayla’ ที่มียอดเข้าชมกว่า 10 ล้านครั้ง โดยพูดถึงคนที่ถูกจ้างมาทำงานแบบ ‘Personality Hire’ ซึ่งมาพร้อมพลังงานบวกเต็มกระเป๋า พร้อมบูสต์พลังให้พนักงานคนอื่นๆ แบบไม่มีอ่อม เป็นตัวกลางพูดคุยให้กับหลายฝ่าย และสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน
หากอธิบายให้ชี้ชัดลงไปหน่อย การจ้างคนมาทำงานโดยพิจารณาจากบุคลิกภาพนั้น คือการเลือกจ้างใครสักคน โดยมองหาบุคลิกภาพและมนุษยสัมพันธ์ของคนนั้นเป็นเหตุผลหลัก (มากกว่ามองเรื่องทักษะเฉพาะทางอย่างเดียว) อาจจะเพื่อใช้บุคลิกแสนแพรวพราวนั้นแก้ไขสถานการณ์ที่ยากลำบาก และสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงาน หรืออาจเป็นได้ทั้งเลือกเข้ามาทำงาน เพราะเป็นคนที่เหมาะกับบรรยากาศและผู้คนในทีมที่มีอยู่ หรือจะเข้ามาเพื่อกำหนดทิศทางบรรยากาศของการทำงานก็ได้
ถ้าถูกจ้างมาเพราะบุคลิกอย่างเดียวแบบนั้นแล้ว จะทำให้ถูกมองข้ามทักษะความสามารถที่มีไปหรือเปล่า? เรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะตัวเลขจาก Monster เว็บไซต์ให้คำปรึกษาด้านการทำงาน ชี้ว่า 45% ของเหล่าพนักงานมองว่า คนที่ถูกจ้างมาแบบ Personality Hire จะก้าวหน้าได้ง่ายขึ้น เนื่องจากพวกเขามีความสัมพันธ์อันดีกับผู้บริหาร และพนักงานกว่า 48% ระบุว่า ตนเองนั้นก็ถูกจ้างมาแบบ Personality Hire เช่นกัน
สิ่งนี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่อาชีพที่ต้องใช้บุคลิกอย่างฝ่ายขาย หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพียงอย่างเดียว ในตอนนี้ทุกตำแหน่งก็ถูกจับตามองในเรื่องของบุคลิกภาพด้วย อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น องค์กรเองอาจต้องการคนที่เหมาะกับบรรยากาศเดิมที่มี หากมีใครสักคนเข้ามาใหม่ ก็อยากให้ทำงานร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหา หรือในอีกทางหนึ่ง การเลือกคนที่มีบุคลิกภาพโดดเด่นเข้ามา อาจเพื่อเป็นตัวนำบรรยากาศให้องค์กร มาช่วยบูสต์ๆ เอนเนอร์จี้ไม่ให้ทีมอ่อมอย่างที่เคยเป็นมาก็ได้
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจรู้สึกว่าบุคลิกภาพมันเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเปล่านะ ตราบใดที่ทำงานได้ดี เราจะนิสัยแบบไหน บุคลิกยังไง ก็ไม่น่ามีปัญหาหรือเปล่า? จะว่าแบบนั้นก็ใช่ เพราะทุกคนมีอิสระในการแสดงตัวตนของตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า หลายๆ องค์กรมีสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) ครอบอยู่ แม้จะไม่เห็นได้ด้วยตา แต่มันสัมผัสได้จากบรรยากาศ ทัศนคติ ผู้คน ที่จะบอกเรากลายๆ ว่าพื้นที่นี้เหมาะกับคนแบบไหน
การเลือกจ้างคนแบบที่มีลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ ที่น่าจะเข้ากันได้มาไว้ในทีมจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร โดยเฉพาะในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จากผลสำรวจเดียวกันในข้างต้น พบว่า 85% ของพนักงานที่ถูกจ้างมาด้วยเรื่องบุคลิกภาพนั้น มีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงาน อีก 71% มีส่วนร่วมในการปรับปรุงวัฒนธรรมองค์กร และ 70% มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้คลี่คลายลง และช่วยรักษาขวัญกำลังใจได้ดี
หากสิ่งนี้เริ่มกลายมาเป็นอีกหนึ่งทักษะที่เราต้องมี เราจะบูสต์ๆ พลังตัวเองยังไงให้พร้อมกับการสัมภาษณ์งาน ที่อาจมีแมวมอง Personality Hire มาสอดส่องด้วยล่ะ
- ศึกษาเอกลักษณ์องค์กร (Corporate identity – CI)
เราอาจคุ้นเคยว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องของการออกแบบ โลโก้ สี ฟอนต์ ต่างๆ หรือเปล่า จริงๆ แล้ว CI ครอบคลุมถึงคอนเซ็ปต์ ทัศนคติ ภาพลักษณ์ และการแสดงออกของแบรนด์ด้วย ว่าจะสื่อสารกับใคร ในน้ำเสียงแบบไหน เป็นกันเองหรือเป็นทางการ เข้าถึงง่ายหรือเฉพาะทาง ซึ่งเราอาจเริ่มจากศึกษาโซเชียลมีเดียของแบรนด์ เว็บไซต์ทางการ เพื่อให้รู้ว่าแบรนด์แทนภาพลักษณ์ตัวเองยังไง ไม่ต้องเป็นคนพลังล้นเหลือก็ได้ แค่เข้าใจตัวตนขององค์กรก็ชนะไปหนึ่งก้าวแล้ว - ประเมินความเข้ากันได้
เมื่อเรารู้แล้วว่าแบรนด์สร้างภาพลักษณ์ วิธีการสื่อสารได้ยังไง เราก็สามารถประเมินได้ว่า วัฒนธรรมองค์กรจะเป็นไปในทิศทางไหน ลองดูว่าบุคลิก ลักษณะนิสัยของเรา จะเข้ากันได้กับที่นี่หรือเปล่า อาจไม่ได้ต้องเหมือนกันเป๊ะ แนบเนียนลื่นไหลเหมือนอยู่กันมาตั้งแต่วันก่อตั้ง แต่แค่ไม่ขัดแย้งกันก็โอเคแล้ว - เตรียม Soft Skill ให้เลิศ
พอรู้ว่าต้องทำบุคลิกให้โดดเด่น หลายคนอาจคิดว่าเราต้องเล่นใหญ่ใจถึงไหม แต่จริงๆ แล้วไม่ต้องถึงขั้นพูดเจื้อยแจ้วเป็นนกแก้วก็ได้ เพราะการพูดน้ำไหลไฟดับแต่จับใจความไม่ได้ ก็อาจถูกปัดตกรอบได้เหมือนกัน ดังนั้น เราควรเตรียม Soft Skill อย่างการสื่อสาร การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่เราอาจเคยมองข้ามไปให้พร้อม อย่างน้อยพอตอบคำถามได้ ขายจุดแข็งตัวเองเป็น ก็ถือว่าโอเคแล้ว
อย่างไรก็ตาม เรายังยืนยันว่า ไม่ว่าใครจะมีบุคลิกแบบไหนก็สามารถเลือกทำงานที่ตัวเองชอบได้ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้มากขนาดนั้น เพียงแต่ว่าวันนี้ เรื่องบุคลิกภาพอาจเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการคัดเลือกคนขององค์กรบางแห่ง เราเลยอยากแนะนำสำหรับใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองให้เท่าทันกับโลกการทำงานอยู่เสมอเพียงเท่านั้น
ด้วยความที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ทุกวงสังคมมักคัดเลือกคนแบบเดียวกันและคนที่เข้ากันได้ให้อยู่ร่วมกันเสมอ ต่อให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับสังคมนี้ ถูกปฏิเสธจากที่นี่ ก็ไม่ได้หมายความว่า เรามันช่างเป็นคนมนุษยสัมพันธ์แย่ เข้ากับกลุ่มไหนไม่ได้อีกเลย หากมันเป็นเพียงแค่ความไม่ลงล็อก เหมือนจิ๊กซอว์ที่ยังไม่เจอเหลี่ยมมุมที่ใช่ โลกการทำงานจึงมีสิ่งที่เรียกว่า Culture Fit ไงล่ะ
หากการเป็นตัวเองของเราไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน สักวันเราจะได้เจอที่ที่เหมาะกับตัวเราเอง
อ้างอิงจาก
monsterworkwatch24.my.canva.site