ชาวเมียนมาพากันออกมาตีหม้อ ตีกระทะ หลายคนนัดกันไปจอดรถขวางกลางถนน บ้างก็ออกมาเต้นเพื่อปลดปล่อยความโกรธเกรี้ยวที่มีต่อกองทัพ
สถานการณ์การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยของเมียนมายังคงเป็นที่จับตามอง เพราะเมียนมาถือเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ที่หลายคนรู้สึกใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ทางกองทัพเมียนมาก็พยายามสกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอยู่เนืองๆ
The MATTER เลยไปพูดคุยกับ แนทตี้–อรรวี แตงมีแสง เจ้าของเพจ Natty in Myanmar และอดีตผู้สื่อข่าวสายอาเซียน ที่อาศัยอยู่ในเมียนมานานกว่า 6-7 ปีแล้ว เพื่อพูดคุยเรื่องสถานการณ์และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในเมียนมากัน
แนะนำตัวเองให้ฟังหน่อย
ก่อนหน้านี้ เราเป็นนักข่าวด้านอาเซียนสายเมียนมา ปกติก็บินไปกลับเมียนมาอยู่ประมาณ 2 ปีกว่า ก่อนจะตัดสินใจลาออก แล้วย้ายไปทำที่เมียนมาเลย โดยตอนนี้เราทำงานประจำเกี่ยวกับ communications agency ที่เมียนมา และใช้ชีวิตอยู่ที่เมียนมา มาประมาณ 6-7 ปีแล้ว
เพจ Natty in Myanmar เริ่มมาตั้งแต่ตอนอยู่เมียนมา ด้วยความที่เราเป็นนักข่าวเก่า แล้วเป็นคนที่ลืมอะไรง่ายๆ ด้วย ก็เลยอยากจะบันทึกว่าตัวเองไปพบเจออะไรที่เมียนมา แล้วก็อยากให้คนเห็นเมียนมาในมุมมองใหม่ๆ เพราะเวลาคนคิดถึงเมียนมาก็จะคิดว่า ไปไหว้พระ คิดถึงแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่จริงๆ แล้วมันมีอีกหลายแง่มุมมากๆ เกี่ยวกับเมียนมาที่คนไม่เคยรู้ ก็เลยมาทำเพจนี้ขึ้นมา ด้วยความตั้งใจแรกว่าจะเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ในการใช้ชีวิตที่โน่น ก็คือไปกิน ดื่ม เที่ยว เพื่อให้เห็นว่าคนเมียนมาเขาเป็นยังไง
เหตุผลหลักๆ ที่ย้ายไปอยู่ที่โน่น คืออยากที่จะรู้เกี่ยวกับเมียนมาให้ลึกซึ้งมากขึ้นว่าอะไรทำให้เขาคิดแบบนี้ อะไรทำให้เขาแสดงออกแบบนี้ อะไรเป็นปัจจัยให้เขาคิดแบบนี้ ตัดสินใจแบบนี้ คือเราอยากจะรู้ ให้เข้าใจ รู้ลึกรู้จริง เลยตัดสินใจย้ายไปอยู่
เหมือนไปเริ่มจากความอยากรู้ว่าที่เมียนมามีอะไรบ้าง?
เราเริ่มจากความที่ไม่รู้อะไรเลยดีกว่า เราเริ่มจากที่ไม่มีคอนเนคชั่นอะไรเลยเกี่ยวกับเมียนมามาก่อนในชีวิต เราเริ่มจากการที่ไปรู้จักคนเมียนมาคนแรก จุดเริ่มต้นจริงๆ คือ ตอนนั้นเรียนจบใหม่ๆ ได้ทำงานแรกคือเป็นนักข่าว ที่อาเซียนทีวี (เครือเนชั่น) เป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็มีโอกาสได้ไป forum งานเสวนาเกี่ยวกับเมียนมา ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
ตอนนั้นเมียนมาเพิ่งเปิดใหม่ๆ ประมาณปี 2011-2012 ก็รู้สึกว่าไม่รู้จักอะไรเลยเกี่ยวกับเมียนมา ทั้งที่อยู่ใกล้กันแค่นี้ มีความรู้สึกว่าอยากจะรู้จักเมียนมามากขึ้น เลยไปตามหาคนที่จะพาไปทำข่าวที่เมียนมาได้ ไปรู้จักกับคนเมียนมาคนแรกในชีวิต แล้วก็เริ่มไปทำข่าวที่เมียนมาครั้งแรก พอไปแล้วก็รู้สึกว่าชอบ รู้สึกว่า เฮ้ย มันมีอะไรที่เราไม่รู้อีกเยอะ เหมือนคนละโลกกับกรุงเทพฯ เลย เขามีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ไปไหนมาไหนก็มีความเรียบง่าย พอเราชอบก็หาเรื่องไปทำข่าวที่เมียนมาเรื่อยๆ
ช่วงที่เมียนมาเพิ่งเปิด ก็มีการลงทุนเข้าไปเยอะ คนไทยก็เริ่มเข้าไปเยอะขึ้น แล้วก็มีเสวนา สัมมนาเกี่ยวกับเมียนมาค่อนข้างเยอะ ประกอบกับตอนนั้น The Nation หนังสือพิมพ์ในเครือเนชั่น ไปพาร์ทเนอร์กับสื่อเมียนมา เลยได้มีโอกาสเดินทางไปและได้ทำข่าวที่เมียนมาค่อนข้างบ่อย แล้วก็อยากจะรู้เรื่องราวเพิ่ม เพราะว่าการไปๆ มาๆ มันจะเห็นภาพแค่ด้านเดียว อย่างเช่น 7 วัน 14 วัน มันก็เลยเห็นภาพแค่ด้านเดียว มันจะมีแต่ความรู้สึกดีตลอดเวลา ก็เลยอยากจะรู้มากขึ้น อยากจะมองเห็นให้รอบด้านมากขึ้น จึงออกจากเนชั่น แล้วก็ย้ายไปทำงานเอเจนซี่ เป็น PR ที่เมียนมา
คิดว่า จุดร่วมของคนไทยกับเมียนมาคืออะไร?
จริงๆ แล้วต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า เมียนมาอยู่ภายใต้การปกครองของทหารจนถึงประมาณปี 2010 ตอนนั้นเมียนมาเป็นสังคมปิด ไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปได้อย่างง่ายๆ สภาพเศรษฐกิจค่อนข้างแร้นแค้น ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนค่อนข้างมาก คนก็ไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพอะไรมากนัก ช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารจะเป็นประมาณนี้
แต่พอมีการเลือกตั้งปี 2011 มีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา แล้วก็มีการเปิดประเทศให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น ความเจริญก็มากขึ้นตามไปด้วย
จริงๆ ช่วงที่เปิดประเทศก็เป็นรัฐบาลพลเรือนแล้ว แต่พลเรือนที่หมายถึงคือ เป็นทหารเก่าที่ปรับมาเป็นพลเมือง และจุดแข็งของรัฐบาลพลเรือนที่เป็นทหารเก่าในช่วงนั้น คือเขาพยายามดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปยังประเทศ แล้วนักลงทุนก็เข้าไปจริงๆ เข้าไปเยอะด้วย แล้วมันก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ การที่นักลงทุนเข้าไปมากขึ้นหมายความว่า คนมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น คนมีรายได้มากขึ้น ความสะดวกสบาย ความเจริญมันเข้ามา
อย่างเมื่อก่อนที่เราเข้าไป ซิมการ์ดราคา 3,000 บาท ตอนนี้ราคา 30 บาท เพราะมีการเปิดใบอนุญาตให้บริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติเข้าไปลงทุน พอเกิดการสร้างการแข่งขันขึ้นมา ทำให้คนที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชน ต้องเข้าใจว่า ก่อนเราเข้าไปซิมการ์ดราคาเป็นหมื่นเลย บางหมู่บ้านต้องจับฉลากถึงจะได้ซิมการ์ด มันเป็นเรื่องที่หายากมาก การเข้าถึงก็น้อยมาก แต่ตอนนี้คนมันเข้าถึงทุกคน มีสมาร์ทโฟนเข้าไป ด้วยราคาที่ถูกลง คนก็เข้าถึงได้ ความเจริญก็มากขึ้น
อย่างช่วงเลือกตั้ง 2015 ที่พรรค NLD ของอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้ง ความเจริญก็ยิ่งมากขึ้น ช่องว่างระหว่างชนชั้นเลยย่นย่อยลงไปบ้าง เริ่มมีชนชั้นกลางมากขึ้น นักศึกษาจบใหม่ก็มีงานทำที่ดี ได้ทำงานกับองค์กรข้ามชาติ มีรายได้มากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ต่างจังหวัดก็มีโซลาร์เซลล์ มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือที่ถูกลง มีการใช้ digital farming ความเจริญกระจายไปทุกๆ ย่อมหญ้า นี่คือชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมของผู้คนก่อนที่รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นมา เป็นความเจริญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น ในช่วงเวลาแค่ 10 กว่าปี ความเป็นอยู่ของคนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย
เลยกลายเป็นเหตุผลว่า พอเกิดการรัฐประหารขึ้น ทำไมคนถึงออกมาเยอะ ทำไมทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานเอกชน ทั้งตำรวจ หมอ ครู อาชีพอื่นๆ ออกมาร่วมกัน เพราะเขาไม่อยากกลับไปอยู่ในจุดที่อยู่ภายใต้ความแร้นแค้น เขาไม่อยากกลับไปอยู่ในจุดที่ทุกอย่างอยู่บนความกลัวแล้ว
ตอนนี้โลกเรามีอินเทอร์เน็ตแล้ว ในตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คนเมียนมาเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว เขาตามทันโลกแล้ว ไม่ต้องมีเซนเซอร์ชิปใดๆ แต่ถ้ากลับไปอยู่ในจุดที่ปกครองแบบทหารอีก ความเจริญที่ทำมา 10 ปี เขาก็กลัวว่ามันจะหายไปทั้งหมด นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาออกมาสู้เพื่อประชาธิปไตยในครั้งนี้
แล้วตอนนี้ พอเข้าสู่ช่วงรัฐประหารแล้ว เป็นยังไงบ้าง
ถามว่า ถึงจุดที่หลายคนกลัวกันหรือยัง ก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ก็ไม่อยากให้ไปถึงจุดที่นองเลือดกัน แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ พลังใจของคนเมียนมาออกมามาก เขาพร้อมสู้ ต้องบอกว่าอุปนิสัยของคนเมียนมาเขาพร้อมสู้อยู่แล้ว เป็นนักสู้อยู่ในสายเลือด ทำให้เห็นเลยว่า ครั้งนี้ เขาสู้ เขาทุ่มกันหมดตัวจริงๆ ไม่กลัวแม้แต่ปลายกระบอกปืน เขายังไม่กลัว ยังออกมาเพื่อที่จะได้ประชาธิปไตยคืนมา เพื่อจะได้ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของเขาคืนมา
แต่ในครั้งนี้ เขาก็สู้ในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิมนะ มันไม่ใช่การประท้วงอย่างเดียวแล้ว มีการทำอารยะขัดขืนเข้ามาด้วย รวมถึงใช้หลายๆ วิธีในการทำอารยะขัดขืนเพื่อกดดันกองทัพ แล้วก็พยายามที่จะส่งข่าวสารข้อมูลไปถึงต่างประเทศ เพื่อให้ช่วยกันกดดันกองทัพให้ล้มเลิกการทำรัฐประหารครั้งนี้
มองว่าการเคลื่อนไหวของชาวเมียนมา ทั้งเรื่องของการต่อสู้และอารยะขัดขืนสะท้อนให้เห็นถึงอะไร
ต้องเข้าใจอย่างนึงว่า ในเมียนมาจะมีคนสองกลุ่มหลักๆ คือ ฝั่งอองซาน ซูจี รวมกับพรรค NLD และกองทัพกับพรรคที่เป็นตัวแทนทหาร มีแค่สองส่วนใหญ่ๆ แล้วต้องเข้าใจว่า ฝั่ง NLD เป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ
จริงๆ ในเมียนมามีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ๆ ก็คือ ‘พม่า’ ซึ่งหลายกลุ่มชาติพันธุ์ก็อาจจะไม่พอใจอองซาน ซูจี แต่ ณ ตอนนี้ชอยส์ของเมียนมามีแค่ อองซาน ซูจี และ NLD หรือทหารซึ่งหลายคนก็ไม่ชอบทหาร เพราะด้วยความกดขี่ที่ผ่านมาในอดีต ทุกคนมองทหารในแง่ลบอยู่แล้ว เลยทำให้คนส่วนใหญ่เทไปที่อองซาน ซูจี เราก็เลยเห็นเป็นภาพที่ค่อนข้างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นทิศทางเดียวกัน โดยไร้แกนนำด้วย ทุกคนออกมาด้วยใจ ไม่ต้องมีใครสั่งหรือนำ เพราะว่าทุกคนมีความคิดเป็นไปในทางเดียวกันทั้งหมด ถามว่าคนที่ซัพพอร์ททหารมีไหม ก็มี แต่เป็นคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ก็ซัพพอร์ทอองซาน ซูจีอยู่ เห็นได้จากผลการเลือกตั้งเลย
มีคนวิเคราะห์ว่า คนเมียนมามีวัฒนธรรมการอ่านที่ฝังรากลึก เลยส่งผลต่อการออกมาต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้?
คนเมียนมาชอบอ่านหนังสือชอบมาก แต่ในตอนนี้สิ่งที่คนเมียนมาติดกันมากก็คืออินเทอร์เน็ต เขาเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การใช้ชีวิตของคนเมียนมา คือทุกคนใช้ชีวิตอยู่บนเฟซบุ๊ก เห็นโลกจากเฟซบุ๊ก เห็นข่าวสารบ้านเมืองจากเฟซบุ๊ก คนเมียนมาสนใจข่าวสารบ้านเมืองอยู่แล้ว สนใจการเมือง และสนใจสถานการณ์รอบโลกว่าอะไรเกิดขึ้นที่ไหนอย่างไรบ้าง เขาไม่ได้แค่สโคปอยู่ในประเทศอย่างเดียว แต่สนใจว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกบ้าง ดังนั้น เขาจึงตามข่าวสารทั้งในประเทศ ประเทศข้างเคียง และระดับโลกด้วย มันก็เหมือนจะเปลี่ยนจากการอ่านหนังสือมาเป็นการอ่านบนอินเทอร์เน็ตแทน คิดว่าสิ่งที่เป็นปัจจัย คือการที่เขาได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ได้อ่านข้อมูลข่าวสารของประเทศอื่นๆ จากทางอินเทอร์เน็ตด้วย
ขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตก็กลายมาเป็นเครื่องมือที่ใช้แสดงออกด้วย?
มากเลยทีเดียวนะ สิ่งที่เราเห็นได้ชัดว่าแตกต่างจากการต่อสู้ครั้งที่แล้ว ก็คือครั้งนี้มีการเอนเกจบนโลกออนไลน์มากขึ้น เหมือนเป็นการเอาออนไลน์เข้ามาสู้เลย เป็นการบิวต์คน สร้างแคมเปญกดดัน ทำอารยะขัดขืน เริ่มมาจากโลกออนไลน์เลย
ที่เขาทำกันในโลกออนไลน์ มีอะไรบ้าง?
เขาเรียกว่า อารยะขัดขืน ซึ่งเริ่มจากคุณหมอที่มัณฑะเลย์ กลุ่มคุณหมอที่มัณฑะเลย์บอกว่า จะประกาศหยุดงาน ต้องเข้าใจว่าในสถานการณ์ COVID-19 นี้ คุณหมอถือเป็นฮีโร่ของการต่อสู้เลย แต่กลุ่มที่ประกาศต่อต้านกลุ่มแรกเลย ก็คือคุณหมอและพยาบาลในมัณฑะเลย์ แล้วก็ใช้การกระจายข่าวผ่านทางเฟซบุ๊ก จนแทบทั้งประเทศมาเข้าร่วมการต่อต้านรัฐประหารในครั้งนี้ ทำให้เกิดการ disruption ขึ้น พอทุกคนเห็นคุณหมอกล้าลงมาขนาดนี้ ทุกคนก็ตามๆ กันมา เลยทำให้การทำอารยะขัดขืนที่กำลังทำกันอยู่ มันมีประสิทธิภาพ
ส่วนตัวเรามองว่า นี่จะสร้างความมึนงงให้กับกองทัพเหมือนกัน เพราะเขาไม่เคยเจอการทำอะไรแบบนี้มาก่อน การทำอารยะขัดขืนผ่านโลกออนไลน์ นอกจากนี้ก็คือการนัดกันผ่านโลกออนไลน์ ด้วยการตีหม้อ ในช่วงเวลา 2 ทุ่มตอนที่มีรัฐประหารแรกๆ คนในแต่ละเมืองก็ออกมากันมากมาย ออกมาตีหม้อ กันทุกๆ 2 ทุ่ม ทำกันอยู่เป็นอาทิตย์แล้ว มีช่วงหนึ่งที่เขาบล็อกเฟซบุ๊ก คนก็เลยแห่ไปทวิตเตอร์แล้วไปปั่นให้ติดเทรนด์ เพื่อให้คนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในเมียนมา มีการเปลี่ยนโปรไฟล์เฟซบุ๊ก การที่ดาราออกมาชูสามนิ้ว มีการทำแคมเปญย่อยๆ เยอะมากในโลกออนไลน์ เพื่อกดดันกองทัพ และส่งข้อความไปยังนานาชาติให้กดดันกองทัพเช่นกัน ก็จะเห็นการสู้บนโลกออนไลน์แบบนี้อยู่เรื่อยๆ
จนตลอดสองอาทิตย์ที่ผ่านมาก็ยังใช้การต่อสู้แบบนี้อยู่?
อย่างล่าสุดเลย ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจับกุมตัวคุณหมอที่เป็นผู้นำการอารยะขัดขืน กลุ่มที่เป็นตัวตั้งตัวตี คนก็พากันเฟซบุ๊กไลฟ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็เรียกให้คนมาดู ตอนนี้มันกลายเป็นคอมมูนิตี้แล้ว พอไลฟ์ปุ๊บ คนที่อยู่แถวๆ นั้นก็จะรุมกันมาช่วยสกัดการจับกุม พอเป็นอย่างนี้ประมาณ 2-3 วัน เขาก็เริ่มออกมาให้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในช่วง 01.00-09.00 น. เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนไลฟ์ทางเฟซบุ๊กเยอะมากว่าเหตุการณ์เป็นยังไง มีการจับกุมตรงไหน คือใช้เฟซบุ๊กไลฟ์เป็นเครื่องป้องกันตัว อะไรแบบนี้ถือเป็นการต่อสู้รูปแบบใหม่ที่หลายๆ คนไม่เคยเห็น ทางกองทัพเองก็อาจจะไม่เคยเห็นด้วยเช่นกัน
การรับข้อมูลข่าวสารจากเมียนมาดูยาก และต้องกรองหลายชั้นมาก ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
ในสถานการณ์ตอนนี้ ข่าวลือมันเยอะมาก แล้วหลักๆ ก็คือ เราต้องเช็กจากสื่อท้องถิ่นเป็นสำคัญ รวมถึงเพื่อนนักข่าว คอยรีเสิร์ชและเช็กกับคนท้องถิ่นเป็นหลักๆ หรือว่าจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ อย่างเราเข้ามาในเมียนมาตั้งแต่เป็นนักข่าว เลยพอมีเพื่อนนักข่าวอยู่เยอะ แล้วก็ทำธุรกิจด้วยก็มีลูกค้าที่ใหญ่ๆ อยู่เหมือนกัน เลยได้คุยแล้วเช็กข่าว มีกลุ่มเพื่อน กลุ่มคอมมูนิตี้ในเมียนมา อย่างในเฟซบุ๊กมีเพื่อนชาวเมียนมาหลายร้อยคน ก็ทำให้เห็นเวลาเขาคุยเรื่องอะไรกัน ทำให้เห็นว่า อันไหนจริง อันไหนปลอม มันจะมีคนคอยดับเบิลเช็คกันอยู่ แล้วก็มีคนไทยที่สนใจเรื่องเมียนมา เราก็มีกลุ่มที่รู้จักกันแล้วคอยดับเบิลเช็คข่าวที่ออกมาด้วย
ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมมันถึงดูเป็นเรื่องยากสำหรับสื่อต่างชาติในการเช็กข่าว แต่คิดว่า คนไทยอาจจะไม่ได้มีเพื่อนเป็นคนเมียนมาเยอะขนาดนั้น เลยทำให้ไม่เห็นว่าเขาพูดอะไรกัน ทำให้ดับเบิลเช็กหรือครอสเช็กไม่ได้ เพราะไม่ได้มีคอนเนคชั่น ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งเหมือนกัน
มีทักษะอะไรจากการเป็นนักข่าว มาช่วยในการรับข้อมูลข่าวสารได้ไหม?
ทักษะที่ได้มาก็คือการยืนยันข้อมูล ต้องตั้งคำถามตลอดเวลาว่า ได้ข้อมูลมาจากไหน แหล่งข้อมูลเป็นใคร เชื่อถือได้หรือเปล่า แล้วก็ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ต้องมีทักษะในการรีเสิร์ชเพิ่มว่า ข้อมูลที่ได้มา มีแหล่งอ้างอิงจริงๆ หรือเปล่า คือต้องดับเบิลเช็ค ครอสเช็ค อันนี้เป็นทักษะที่ต้องถือ แล้วต้องไม่เผยแพร่ข่าวปลอม ต้องมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือมายืนยันข้อมูลที่เขียนไป หรือข้อมูลที่นำเสนอไปต้องยืนยัน มีการค้นหา สืบค้นหลักฐานมาซัพพอร์ทข้อมูลนั้นๆ นี่ก็เป็นทักษะที่ได้จากการเป็นนักข่าว
ในมุมมองส่วนตัวแล้ว คิดว่า พลังของสื่อมวลชนมีเยอะหรือน้อยแค่ไหนกับสถานการณ์ในตอนนี้
สื่อมวลชนมีพลังเยอะนะ เพราะถือเป็นแหล่งที่คนมาติดตามข่าวสารกันเป็นหลัก แล้วก็เรื่องของการไลฟ์ หลายคนอยากเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบสดๆ ณ ปัจจุบัน เลยเป็นหลักสำคัญให้สื่อมวลชนไปรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการไลฟ์ เพื่อให้คนได้ติดตามสถานการณ์อย่างเกาะติด ดังนั้นแล้ว สื่อมวลชนถือว่าสำคัญในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้มาก
เห็นข่าวว่ามีนักข่าวที่ถูกจับกุมไปด้วย
จากการจับกุมนักข่าว ถือเป็นการคุกคามสื่อแล้ว แต่ตอนนี้นักข่าวที่ถูกจับกุมก็ถูกปล่อยตัวแล้ว กับอีกที่หนึ่ง เป็นผู้หญิง ถูกจับกุมแล้วก็ปล่อยตัวแล้ว มีการออกมาบอกว่า ห้ามสื่อใช้คำว่า ‘รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร’ ถือว่าเป็นการเซ็นเซอร์สื่อในระดับหนึ่งเลยนะ ทางกองทัพคงจะเรียกสื่อมาคุย และตอนนี้ก็มีการแถลงข่าวเกิดขึ้น
แต่สื่อหลายคนก็พากันบอยคอตการแถลงข่าวครั้งนี้เหมือนกัน เพราะเขามองว่า เขาถูกจำกัดสิทธิ เสรีภาพในการรายงาน
อย่างตอนนี้ ทางฝั่งกองทัพเขามีการเคลื่อนไหวอะไรอีกบ้าง
ก่อนหน้านี้เขาเรียกร้องให้คุณหมอและเจ้าหน้าที่หลายคนกลับเข้าไปทำงาน แล้วก็มีเรื่องตัดอินเทอร์เน็ตอยู่ และได้ข่าวที่ยังไม่คอนเฟิร์มว่าเขาจะตัดเรื่อยๆ แล้วก็มีการแก้กฎหมายเรื่องของโทรคมนาคม กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีใส่บทลงโทษเข้าไปว่า ถ้าวิจารณ์กองทัพจะมีการลงโทษจำคุก รวมถึงการประกาศแก้ไขกฎหมายให้คล้องกับสถานการณ์ฉุกเฉินว่า ถ้าใครขัดขืนการรัฐประหารของกองทัพอาจจะมีการปรับแล้วก็จำคุกสูงสุดถึง 20 ปี ถ้าใครปล่อยข่าวลืออาจจะโดนปรับหรือจำคุกถึง 3 ปี ปล่อยข่าวลือบนโลกออนไลน์ก็โดนเหมือนกัน มีการแก้เหล่านี้ออกมา
รวมถึงมีร่างกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์เพื่อขอความคิดเห็นของบริษัทต่างๆ ซึ่งร่างกฎหมายนี้ พอเราดูแล้วพบว่า กองทัพพยายามที่จะมอนิเตอร์การใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนและจำกัดเสรีภาพ รวมถึงการใส่บทลงโทษ เช่น การปรับหรือการจำคุกประชาชน
พูดง่ายๆ คือ ถ้าเล่นอินเทอร์เน็ตก็อาจจะมีสิทธิโดนจับ โดนจำคุกได้ ทำให้หลายๆ องค์กรก็ออกมาคัดค้านร่างกฎหมายนี้
ถือเป็นการตอบโต้ที่แทบจะไม่เคยเห็นมาก่อน
ใช้คำว่า เป็นการตอบโต้ที่รุนแรงขึ้น ไม่ใช่ว่าไม่เคยเห็นหรอก อย่างกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ก็เคยมีมาอยู่แล้ว แต่ก็มีการปรับแก้ มีการตอบโต้ที่ใช้ความรุนแรง โดยไม่ได้ใช้กำลัง พูดง่ายๆ ว่า คนเมียนมาสู้ด้วยอินเทอร์เน็ต เขาก็พยายามจะตอบโต้กลับด้วยอินเทอร์เน็ต ด้วยการบล็อกอินเทอร์เน็ต เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนบนโลกออนไลน์มากขึ้น
พอเริ่มมีการเคลื่อนไหวจากทางกองทัพ ฝั่งประชาชนใช้วิธีเคลื่อนไหวแบบไหนแทน?
สิ่งที่เขาพอทำได้ตอนนี้ หนึ่งก็คือ ออกมาประท้วงลงถนน ด้วยวิธีใหม่ๆ พร้อมกับประท้วงบนโลกออนไลน์ และการทำอารยะขัดขืน สองก็คือ องค์กรต่างๆ ก็จะออกแถลงการณ์ออกมาอยู่เรื่อยๆ เอาจริงๆ ถ้ากองทัพจะกวาดต้อนจริงๆ ประชาชนจะทำอะไรได้ล่ะ? คนก็เลยมองว่า การสู้ก็คือการออกไปประท้วงเพื่อให้ประเทศนานาชาติกดดัน หรือแสดงท่าทีคัดค้านการทำแบบนี้
ต้องสู้กันต่อไป ต้องหาวิธีการว่าจะต้องทำอย่างไร อันนี้ก็เป็นประเด็นที่คุยกันในหลายๆ วงนะ เขาก็มองกันว่า ผู้ประท้วงจะต้องทำยังไงถึงจะยกระดับการประท้วงให้เกิดผลกระทบได้มากกว่านี้ สิ่งที่เกิดอิมแพคในการประท้วงหลักๆ เลยก็คือการทำอารยะขัดขืนให้คนหยุดทำงาน อย่างพนักงานธนาคาร คุณหมอ หรือเจ้าหน้าที่รัฐสามารถสร้างแรงกดดันได้ดีเลยทีเดียว แต่จะเป็นวิธีการอย่างไรต่อ เราก็ยังมองไม่เห็น
เห็นคนเมียนมาในไทย ออกมาพูดถึงเรื่องของความหวังที่ถูกพรากไปหลังจากการรัฐประหาร ในฝั่งเมียนมาเองก็มองอย่างนี้ด้วยเหมือนกัน?
จริงๆ คนเมียนมาเองเขาก็อยากจะเก็บเงินก้อนนึงแล้วก็กลับไปอยู่บ้าน อยากกลับไปหางานทำที่บ้าน เพราะอย่างที่บอกว่า คนเมียนมายึดถือครอบครัวเป็นสถาบันยึดเหนี่ยวจิตใจหลักเลย เขาก็อยากจะทำงานเก็บเงินไปตั้งรกรากอยู่ที่นั่น นี่ก็เป็นความหวังกับคนเมียนมาที่โน่น เขาหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น จะมีงานทำ มีชีวิตที่สุขสบายมากขึ้น ครอบครัวจะเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ต้องปากกัดตีนถีบแล้ว
สถานการณ์ในเมียนมา ถูกหยิบมาเทียบกับไทยเยอะ เพราะว่าเป็นการต่อสู้ เพื่อหลุดจากการปกครองของทหาร/อดีตทหาร เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมา เหมือนกัน ซึ่งถามว่า เมียนมาเป็นประชาธิปไตยขนาดนั้นไหม ก็เป็นในแบบของเขา หมายถึงว่า การที่เขาได้มีสิทธิ มีเสียงในการเลือกตั้ง และได้ผู้นำที่มาจากการชนะเลือกตั้งที่มาจากเสียงของประชาชนจริงๆ
หลายคนบอกว่า สถานการณ์ของเมียนมาดูมีความหวังมาก คิดเห็นอย่างไรบ้าง?
ไม่รู้ว่ามีความหวังมากกว่าไทยไหม คนอาจจะมองว่ามีความหวัง เพราะคนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วกองทัพเมียนมาดูโหดมากอยู่ ก็เลยคิดว่ากว่าที่จะไปถึงจุดนั้นมันต้องมีอะไรเกิดขึ้นอีกเยอะ
เอาจริงๆ เราคิดว่า มีความหวังน้อยกว่าไทยด้วยซ้ำ หมายถึงว่า ความหวังในการต่อสู้แบบสันติ เพราะเราคิดว่า มันต้องมีเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนขึ้นมา ซึ่งหลายๆ คนมองว่า จุดเปลี่ยนอาจจะเป็นการนองเลือดหรือเปล่า? หรือมีการปะทะกันอย่างรุนแรงเกิดขึ้นหรือเปล่า เราก็ยังไม่แน่ใจ แต่มันน่าจะมีจุดเปลี่ยนขึ้นมา เพื่อจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น
ของไทยเราเห็นการรัฐประหารมาแล้วหลายสิบครั้ง แต่ของเมียนมาเราไม่รู้ว่า เขาจะเป็นยังไงต่อ จะกลับไปเหมือนช่วงปี 1988 ที่ทุกอย่างมืดมนไปหมดไหม? เลยกลายเป็นว่ายังไม่มีใครมองเห็นภาพตรงนี้ เราคิดว่า ดังนั้น มันอาจจะเปรียบเทียบความหวังกันไม่ได้
เราเข้าใจนะ คนไทยหลายคนมองว่าเมียนมาดูมีความหวังกว่า เพราะเขาดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาก ทุกคนเป็นเสียงเดียวกัน เลยดูมีความหวัง แต่ถ้ามองจริงๆ หลายคนก็วิเคราะห์กันว่า โดยเนื้อแท้มันต้องมีวิธีอะไรซักอย่าง หรือเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนมากกว่านี้ ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงๆ