การเลือกตั้งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ (ถ้าไม่เลื่อนอีกนะ) ช่วงนี้เปิดทีวี หรือหยิบหนังสือพิมพ์ฉบับไหนขึ้นมา เราคงจะเห็นข่าววิเคราะห์คะแนนเสียงพรรคการเมืองกันเต็มไปหมด พรรคนู้นดูดพรรคนี้ ส่วนพรรคนั้นกำลังจะถล่มฐานเสียงของอีกพรรค
เมื่อการเมืองเริ่มเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง หลายคนก็มักจะโฟกัสกันที่คะแนนเสียง รวมถึงที่นั่งในสภากันเป็นเรื่องแรกๆ บางพรรคก็ประกาศความมั่นใจกันไปแล้วว่าคะแนนถล่มทลายแน่นอน ได้เป็นรัฐบาลชัวร์ๆ
แต่สำหรับ ‘พรรคเกียน’ แล้ว ‘บก.ลายจุด’ หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์ ว่าที่หัวหน้าพรรคยืนยันเป็นเสียงแข็งว่า พรรคการเมืองนี้จะไม่สนใจการ ‘หาเสียง’ แต่อยาก ‘หาเรื่อง’ มากกว่า แถมไม่แคร์ด้วยว่าจะได้ที่นั่งในสภาเท่าไหร่
ฟังดูแล้วก็น่าสนใจเหมือนกันเนอะ ตกลงพรรคนี้มีจุดยืนอย่างไร อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบไหนให้กับการเมืองไทย แล้วที่บอกว่า อยากหาเรื่องนี่ตกลงเป็นยังไงกันนะ?
วันนี้เราจะไปสำรวจตัวตนของพรรคการเมืองน้องใหม่พรรคนี้กัน
ทำไมต้องเกรียน?
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บก.ลายจุด และมิตรสหายผู้ร่วมอุดมการณ์ เคยทำเรื่องขอ กกต. ใช้ชื่อ ‘พรรคเกรียน’ มาแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ต้องกลับมาแก้ชื่อกันใหม่ จนลงตัวที่คำว่า ‘เกียน’ แทน
แม้ชื่อใหม่จะขัดใจ บก.ลายจุด ในตอนแรกอยู่บ้าง แต่เขาก็ยืนยันว่าตอนนี้แฮปปี้แล้ว และความเกรียนจะยังเป็นจุดยืนสำคัญของพรรคการเมืองนี้เหมือนเดิม
“ผมตั้งใจให้พรรคนี้เป็นสาระความบันเทิง พรรคเราจะสร้างรูปลักษณ์ทางการเมืองผ่านอารมณ์ขัน เพื่อให้คนเห็นและรู้จักเราจากการเคลื่อนไหวต่างๆ ผมอยากให้คนรู้สึกผ่อนคลายกับการเมืองบ้าง อย่างน้อยๆ เวลาเขาเห็นสิ่งที่เราทำก็น่าจะยิ้มมุมปาก หรืออ่านหนังสือพิมพ์แล้วทำกาแฟหกได้” บก.ลายจุด เกริ่นให้เราฟังถึงที่มาที่ไป
เขาเล่าว่า ความเกรียนของพรรคเกียน ไม่ได้เน้นเอาตลกหรือเฮฮาเพียงอย่างเดียว เป้าหมายโดยลึกๆ คืออยากทำให้คนที่ไม่สนใจการเมืองเห็นว่า การเมืองไทยก็มีเรื่องสนุกให้น่าติดตาม ไม่ได้มีแค่ความซีเรียสขึงขังไปหมดเสียทุกอย่าง
“หลายคนไม่สนใจการเมือง เพราะคิดว่ามันไม่สนุก น่าเบื่อ ไม่เชื่อมโยงกับตัวเขา แต่อารมณ์ขันน่าจะช่วยให้เขาเข้าถึงการเมืองได้ ถ้าพรรคเราทำกิจกรรมไปเรื่อยๆ ก็จะน่าใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่ไม่ค่อย active ทางการเมืองได้มากกว่าพรรคอื่นๆ เมื่อคนกลุ่มนี้เริ่มสนใจแล้ว พรรคเราก็จะช่วยให้เขามีส่วนร่วมทางการเมืองมากยิ่งขึ้น”
ที่มาสโลแกน ‘ไม่หาเสียง แต่อยากหาเรื่อง’
ถ้าฟังชื่อสโลแกน ‘ไม่หาเสียง แต่หาเรื่อง’ ของพรรคเกียนแบบเร็วๆ ก็อาจจะต้องเลิกคิ้วสงสัยกันได้ง่ายๆ เพราะเรามักมีภาพจำกันว่า เป้าหมายสูงสุดของพรรคการเมืองคือการได้เป็นรัฐบาล แต่ไม่ใช่สำหรับพรรคเกียนในช่วงเวลานี้
“เราไม่แคร์เรื่องเก้าอี้ในสภา ได้ก็เอา ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร” คือจุดยืนของ บก.ลายจุด “เวลาเลือกตั้งทีไรแล้วมีป้ายหาเสียงเยอะๆ ผมเกลียดมากเลยนะ มันบังตาตอนขับรถ และทำไมเราต้องใช้เงินขนาดนั้นเพื่ออะไร ผมว่าไม่จำเป็น รถแห่นี่ผมก็เกลียดมากเลย มันไม่ควรไปรบกวนคนแบบนั้น ผมจะไม่ทำแบบนั้น แล้วผมก็ไม่มีตังค์ด้วย” เขายอมรับตรงๆ
“ที่บอกว่าเราไม่หาเสียง แล้วจะหาแต่เรื่อง เพราะว่าเราอยากต้องทุ่มเทกับการคิดค้นนโยบายให้เสร็จ แล้วค่อยหาเสียงออกไป ผมเชื่อว่าถ้าเราให้ประชาชนตัวเล็กๆ ได้ช่วยกันคิดนโยบาย แม้มันจะเป็นนโยบายเล็กๆ แต่สังคมจะสนใจ หรือถ้าเราได้ทำนโยบายใหญ่ๆ มันก็จะเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองใหญ่ไม่เคยสนใจมาก่อน ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องค่อยๆ ทำอย่างต่อเนื่อง” เมื่อเป็นเช่นนี้ การมีที่นั่งในสภาจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุดของพรรคเกียน เท่ากับ การสร้างกระบวนการและผลิตนโยบายเพื่อคนทั้งสังคม
นโยบายพรรคเกียน เริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัว
อดีตแกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง อธิบายว่า นโยบายพรรคเกียนจะเริ่มต้นจากสิ่งที่ใกล้ตัว พรรคการเมืองแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์ม ที่เปิดกว้างให้สมาชิกทุกคนสามารถนำเสนอประเด็นที่ตัวเองสนใจได้
เท่าที่เราได้รวบรวมมาจากการให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ และจากความเคลื่อนไหวผ่านหน้าเฟซบุ๊กของ บก.ลายจุด จะเห็นได้ว่านโยบายพรรคนี้ค่อนข้างจับประเด็นที่ค่อนข้างหลากหลาย ที่น่าสนใจคือส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันเป็นหลัก เช่น
- การจัดการปัญหาสุนัขจรจัดทั้งระบบ
- การจัดการขยะ และระบบกำจัดขยะ
- ปฏิรูปโรงเรียน เปลี่ยนหลักสูตรเพื่อตอบสนองผู้เรียน
- ธนาคารต้นไม้ คนไทยมีเงินล้าน
- สุขภาพจิตชาวไทยให้ยั่งยืน
- การส่งเสริมตลาดนัดกลางคืน
- สนับสนุนความหลากทางเพศในสังคมไทย
ท่ามกลางนโยบายที่หลากหลาย บก.ลายจุด เชื่อว่า กระบวนการหารือเพื่อตกผลึกกดันภายในพรรคจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะบอกว่าพรรคเกียนควรมีจุดยืนต่อนโยบายเหล่านั้นอย่างไรบ้าง
“สมาชิกพรรคที่เข้ามาแต่ละคนมีเรื่องในใจ ที่เขาคิดว่าบ้านเมืองควรจะมีสิ่งนี้นะ กระบวนการของเราคือ สมาชิกจะต้องเดินเข้ามาพร้อมกับนโยบาย เขาจะต้องนำเสนอมันต่อพรรค หลังจากนั้นจะมีการอภิปรายกันในระบบหลังบ้านของเรา”
การเป็น think tank ให้กับสังคมไทย คือหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ ของการจัดตั้งพรรคการเมืองตามสไตล์ บก.ลายจุด เพราะเชื่อว่า พรรคการเมืองในรูปแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านได้เท่าที่ควร ขณะเดียวกัน แม้สังคมไทยจะมี think tank ที่เป็นทางการอยู่บ้าง แต่ประเด็นความสนใจนั้นมักเป็นเรื่องเชิงมหภาค ที่ชาวบ้านเข้าไม่ถึง หรือไม่ก็ยากจนเกินเข้าใจ
“ใครสนใจในประเด็นไหน เราก็จะคุยกันต่อในกลุ่มที่เจาะจงลงไป ทำให้เรามี think tank ในห้องต่างๆ เต็มไปหมดในระบบหลังบ้านของพรรเกียน กระบวนการแบบนี้มันจะยกระดับสมาชิกพรรค ที่ต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานในการผลิตนโยบายสาธารณะได้ ซึ่งต้องใช้เวลาที่ยาวนานเลยนะ แต่เราก็เห็นก้อนประเด็นหลักๆ ที่ควรจะทำบ้างแล้ว”
สร้างพรรคมวลชน จากการรวบรวมคนโนเนม
“เราจะเป็นพรรคมวลชน เราเห็นความพยายามสร้างพรรคมวลชน ทั้งในพรรคสามัญชน และพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเราก็ทำ เพียงแต่ว่าทำภายใต้รูปแบบและวิธีการทำงานเรา คนที่จะเข้ามาในพรรคเกียนจะเป็นคนค่อนข้างโนเนม แต่ผมเชื่อว่าแต่ทุกคนมีของ ผมจะพิสูจน์ให้เห็นว่าคนธรรมดา ถ้ามีแพลตฟอร์มที่ดี เขาจะสร้างข้อเสนอทางการเมืองที่น่าสนใจได้ไม่น้อยกว่าพรรคใหญ่ๆ”
บก.ลายจุด ทิ้งท้ายกับเรา ด้วยการเปรียบเทียบพรรคการเมืองของเขา กับระบบปฏิบัติการในคอมพิวเตอร์ แม้วันนี้จะยังไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก แต่จะเดินหน้าด้วยความใจเย็นและด้วยก้าวที่ต่อเนื่อง
“ตอนนี้พรรคเกียนอาจเหมือนระบบปฏิบัติการ Linux เราอาจจะเล็กมากในตลาด แต่ถ้าพัฒนาสิ่งนี้ขึ้นไปเรื่อยๆ วันนึงเราอาจจะกลายเป็น Ubuntu ก็ได้ ก็ปล่อยให้มันเป็นไปละกัน”
ข้อจำกัด และสิ่งท้าทายความเกรียน
ก่อนหน้านี้ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการชื่อดัง เคยเขียนบทความเกี่ยวกับพรรคเกรียน (ชื่อในอดีต) ลงในมติชนออนไลน์ โดยระบุถึงความหวังว่า พรรคนี้น่าจะเป็นความหวังในการสร้างการเมืองแบบใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยได้
ในบทความที่ลงในมติชนสุดสัปดาห์ อ.นิธิ วิเคราะห์ว่า พรรคเกรียน น่าจะเป็นตัวแบบที่ดี ของผลักดันข้อเสนอจากเวทีการเมืองที่ไม่เป็นทางการ (เช่น ความเห็นจากชาวบ้าน หรือกลุ่มแรงงาน) ขึ้นมาสู่เวทีการเมืองที่เวรี่ๆ ทางการ เช่น ผู้บริหารพรรคการเมืองเข้าไว้ด้วยกัน
อ.นิธิ เขียนในบทความเอาไว้ว่า
“หากพรรคเกรียนสามารถทำให้แนวคิดด้านนโยบายสาธารณะ ไม่ว่าจะมาจากพรรคหรือมาจากคนอื่น ถูกนำมาถกเถียงอภิปรายกัน ก่อนที่จะประกาศเป็นนโยบาย ก็จะเป็นความสำเร็จทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ เพราะในเมืองไทย นโยบายสาธารณะ ไม่เคยถูกสังคมนำมาพิจารณา ถกเถียงกันก่อนประกาศใช้เลย”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปรมาจารย์อย่าง อ.นิธิ จะค่อนข้างออกตัวเห็นด้วยกับแนวทางของพรรค
แต่ข้อจำกัดสำคัญที่พรรคเกียนกำลังเผชิญ คือปัญหาเรื่องในแง่การบริหารพรรค ที่ บก.ลายจุด ยังมีเรื่องค้างคาในด้านการระดมทุน อันเนื่องจากการถูกอายัดบัญชี จากกรณีไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องตามกันต่อ ว่าจะส่งผลกระทบต่อพรรคอย่างไรบ้าง เพราะเราก็ปฏิเสธกันได้ยากว่า การบริหารพรรคการเมืองในวันนี้ ก็ต้องมีต้นทุนกันอยู่พอสมควร
ในขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวหลังจากนี้จากพรรคเกียน ก็น่าสนใจว่าจะทำให้คนที่ไม่สนใจการเมืองไปนานแล้ว หันมาสนใจการเมืองอีกครั้งได้มากน้อยแค่ไหน เพราะความขัดแย้งในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา มันก็ทำให้หลายคนตัดสินใจเบือนหน้าหนีให้กับเรื่องนี้กันไปแล้ว ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องนี้จะเปลี่ยนกันง่ายๆ ด้วยระยะเวลาอันสั้น
ในเส้นทางหลังจากนี้ พรรคเกียนอาจจะต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักหน่วง เพื่อทำให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่พรรคการเมืองที่จะเป็นเพียงแค่สีสันประดับการเลือกตั้ง แต่เป็น think tank ที่ผลิตนโยบายสาธารณะได้ตามที่ บก.ลายจุด ตั้งความหวังเอาไว้