เดี๋ยวพรรคนั้นจับมือพรรคนี้ วันต่อมาอีกพรรคก็ประกาศตัวสนุบสนุนให้คุณลุงหน้าคุ้นๆ เป็นนายกฯ อีกสมัย ข่าวการเมืองและการเลือกตั้งช่วงนี้ แทบจะมีความเคลื่อนไหวกันทุกนาที ลืมตามไปแค่แป๊ปเดียวก็ตามเรื่องไม่ทันแล้ว
แต่ไม่เป็นไร วันนี้ The MATTER ขออัพเดตสถานการณ์พรรคการเมืองต่างๆ ให้ฟังกันแบบโพสต์เดียวรู้เรื่อง เพื่อเป็นหนึ่งในข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกพรรคที่รัก เลือกจุดยืนที่ชอบ ก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้
เพื่อความเข้าใจง่ายๆ เราขอแบ่งพรรคการเมืองต่างๆ เป็นกลุ่มได้ดังนี้
กลุ่มเครือข่ายเพื่อไทย : พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคไทยรักษาชาติ
กลุ่มนี้ชัดเจนว่ายืนอยู่ตรงข้าม คสช. และแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เป็นฝ่ายที่ไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป กลุ่มนี้มีกำลังสำคัญนำโดยพรรคเพื่อไทยเจ้าของคะแนนเลือกตั้งสูงสุดเมื่อครั้งที่แล้ว
ส่วนเหตุผลที่ต้องแตกแบงค์ (เอ๊ย) แตกพรรค เป็นพรรคใหม่ย่อยๆ นั้น บางคนก็วิเคราะห์ว่าเป็นยุทธศาสตร์ ‘แยกกันตี’ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบระบบเลือกตั้งให้เอื้อกับพรรคขนาดกลาง แต่ลดพลังของพรรคขนาดใหญ่ลงไปพอสมควร ดังนั้น การแตกพรรคออกเป็นพรรคย่อยๆ ก็น่าจะช่วยอุดช่องว่างนี้ได้
กลุ่มพรรคใหม่ ไม่เอาลุงตู่ : พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคสามัญชน พรรคเกียน
กลุ่มนี้เป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ ซึ่งจุดยืนชัดเจนเช่นกันว่า ไม่อยากให้รัฐบาลต่อเป็นการครองอำนาจของ คสช. และจะไม่เสนอชื่อให้ลุงตู่เป็นนายกฯ ที่มาจากบัญชีของพรรคการเมืองอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ข้อท้าทายของพรรคการเมืองกลุ่มนี้ คือการเป็นพรรคที่ค่อนข้างหน้าใหม่และการจัดการต่างๆ ภายในพรรคยังมีข้อจำกัดพอสมควร บางพรรคมีดราม่าภายในเรื่องการจัดการพรรคค่อนข้างเยอะทีเดียว ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่พรรคใหม่ต้องเผชิญ
กลุ่มพรรคใหม่ แฟนคลับลุงตู่ : พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชนปฏิรูป พรรครวมพลังประชาชาติไทย
มาถึงกลุ่มนี้ พวกเขาประกาศตัวชัดเจนสุดๆ ไปเลยมาสักพักแล้ว ว่ามีลุงตู่เป็นคามิโอชิ เลือกตั้งครั้งนี้ยังไงก็จะสนับสนุนให้ลุงตู่เป็นผู้บริหารประเทศต่อไปแน่นอน และมีความเป็นไปได้ว่า พรรคการเมืองกลุ่มนี้อาจจะยกมือสนับสนุนให้ลุงตู่เป็นนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมืองได้
พรรคการเมืองที่เป็นพลังสำคัญสุดในกลุ่มนี้ คือ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนำโดยบุคคลสำคัญในรัฐบาล คสช. หลายต่อหลายคน ที่น่าสนใจคือ พรรคพลังประชารัฐประกาศผ่านสื่อแล้วว่า จะมีชื่อของลุงตู่อยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรค
กลุ่มท่าทียังไม่ชัดเจน : พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังชล
ท่ามกลางพรรคการเมืองในกลุ่มอื่นๆ ที่จุดยืนต่อ คสช. และลุงตู่ที่ชัดเจน เรายังมีพรรคการเมืองที่ยังไม่เปิดเผยจุดยืนแบบชัดๆ อยู่บ้าง นำทีมโดยพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เคยพูดแแบบตรงๆ ชัดๆ ว่าพร้อมจะจับมือกับลุงตู่ไหม
ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองที่มีคะแนนนิยมรองลงมาอย่างภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา รวมถึงพลังชล ก็น่าสนใจตรงที่พรรคเหล่านี้จะโหวตให้ใครเป็นนายกฯ และถ้ามี ส.ส. เข้าไปในสภา พรรคจะจับมือทำงานร่วมกับใครบ้าง