หนึ่งในนโยบายสำคัญของการเลือกตั้ง ในปี 2562 ก็คือนโยบายในการแก้ไขปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ของประเทศ ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที ช่องว่างรายได้คนรวย-คนจนนับวันยิ่งถ่างออก คนที่ครอบครัวทรัพย์สินส่วนใหญ่ของประเทศ กลายเป็นแค่คนหยิบมือเดียว เศรษฐีต่างดีใจกับตัวเลข GDP แต่คนหาเช้ากินค่ำกลับพยายามเลือดตาแทบกระเด็น เพื่อเพียงให้วันนี้มีข้าวกินพออิ่มท้อง
ข้อมูลจากสถาบันการเงิน Credit Suisse ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก โดยคนรวยที่สุด 5 แสนคนครอบครองทรัพย์สินร่วมกัน 66.9% ของประเทศ แม้หน่วยงานของรัฐไทยจะออกมาตอบโต้เรื่องแหล่งข้อมูลที่ Credit Suisse ใช้ (และตอบโต้เรื่องการเป็น ‘ที่สุดของโลก’) แต่ก็ยอมรับว่า กลุ่มคนรวยที่สุดของไทยมีรายได้มากกว่ากลุ่มคนจนที่สุดถึง 19.29 เท่า ซึ่งก็ถือว่ายังเหลื่อมล้ำสูงอยู่ดี
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีงานเสวนาการเมืองใหญ่เวทีหนึ่งถูกจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร ที่ผู้จัดได้เชิญตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ถึง 11 พรรค ให้มาร่วมพูดถึง ‘นโยบายการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ’
แม้ว่าถึงเวลาจริง จะมีพรรคการเมืองส่งตัวแทนมาร่วมเพียง 10 พรรค (ขาดไปพรรคเดียว คือ พรรคพลังประชารัฐ)
แต่คนที่มาปรากฎตัว หลายคนก็เป็นระดับแคนดิเดตนายกฯ โดยมีหัวหน้าพรรคถึง 4 คนเข้าร่วม ได้แก่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่, ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช จากพรรคไทยรักษาชาติ และสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ จากพรรคเพื่อชาติ
และแม้จะมีข้อจำกัดให้แต่ละคนพูดไม่กี่นาที (รอบแรกคนละ 7 นาที รอบหลังและช่วงถาม-ตอบอีกคนละไม่กี่นาที) แต่บนเวทีกลับมีประเด็นชวนคิดอยู่มากมาย ในห้องประชุมที่มีคนรุ่นใหม่กำหนดจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือ first-time voter ในปีนี้ หลายร้อยคนมาร่วมฟัง ..จนแน่นห้อง!
หลายพรรคพูดถึงการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง รวย-จน ไม่ใช่เรื่องฉลาดหรือโง่ ขยันหรือขี้เกียจ หลายพรรคพูดถึงระบบอุปถัมภ์ที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน บางพรรคเสนอให้แก้ระบบการศึกษา บางพรรคบอกว่าต้องช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็มีบางพรรคที่ไม่ได้เสนออะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพียงแต่บอกว่าเลือกพรรคของเรา แล้วประเทศจะเจริญ!
ปัญหาเกิดจาก ‘นายทุนผูกขาด-คนกลุ่มเล็กๆ ที่มีพลัง’
สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ โจมตีตรงๆ ว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดจากนายทุนรายใหญ่ไม่กี่เจ้าผูกขาดอำนาจทางธุรกิจ มีการยกตัวอย่างธุรกิจเหล้าและดิวตี้ฟรี ที่สิ่งเหล่านี้ต้องยุติลง และมองว่าระบบสวัสดิการ การศึกษา และการสาธารณสุขจะช่วยให้ชีวิตคนทั่วๆ ไปดีขึ้นได้
ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ เห็นตรงกันว่า ความเหลื่อมล้ำในไทยเกิดจากกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ที่เป็น ‘คนกลุ่มเล็กๆ แต่มีพลัง’ เข้ามากุมอำนาจต่างๆ ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ คำว่าอุ้มนายทุนกดหัวคนจนเกิดขึ้นจริง ดังนั้น นโยบายต่างๆ ของเราจึงคิดอยู่บนฐานที่ว่า ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส
ต้องแก้เชิงโครงสร้าง แก้ทีละประเด็นทำอะไรไม่ได้
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ออกมาตรการมาแก้ปัญหาทีละประเด็นไม่ได้ ต้องแก้ที่โครงสร้างเพียงอย่างเดียว โดยสิ่งที่เราจะทำมีด้วยกัน 7 เรื่อง
- เลิกยึดถือ GDP แต่ให้ดูการกระจายรายได้ด้วย
- เอามุมมองความเหลื่อมล้ำไปดูเรื่องการจัดสรรทรัพยากร เช่น ก๊าซธรรมชาติ
- แก้ปัญหาการผูกขาดทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน บังคับใช้กฎหมายแข่งขันการค้าอย่างจริงจัง
- นำระบบสวัสดิการมาใช้ เช่น ประกันรายได้ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ เกิดปั๊บรับแสน
- ขยายบริการขั้นพื้นฐาน เรียนฟรี การรักษาพยาบาล
- ปรับโครงสร้างภาษี คนรวยต้องจ่ายมากขึ้น
- ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการเมือง ไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน
อภิสิทธิ์ชี้ว่า รัฐบาลต้องกระจายอำนาจ และหยุดควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เปลี่ยนบทบาทไปเป็นกรรมการที่ดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมแทน
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็เป็นอีกคนที่มองว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เกิดจากพันธมิตร นายทุน ทหาร ข้าราชการ ที่ผูกขาดประเทศมาช้านาน จนทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าไม่ได้ เราต้องเลิกมองวิธีแก้ปัญหาเชิงประเด็น แต่ต้องไปแก้ที่โครงสร้าง
“การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่จึงทำขึ้นมาเพื่อต่อรอง ดึงอำนาจนี้กลับมากระจายให้กับทุกๆ คน” ธนาธรกล่าว
ข้อเสนอเพิ่มโอกาส-ติดอาวุธให้กับคนยากจน
สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย มองว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เรื่องของเงินทอง แต่เป็นเรื่องของ ‘โอกาส’ ทั้งด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ การรับบริการจากรัฐ การเข้าถึงทรัพยากร โดยพรรคมีแนวทางแก้ไขปัญหา 3 แนวทาง คือ
- ปรับแนวคิดภาครัฐ เลิกออกกฎหมายคุมธุรกิจที่โต แก้ปัญหาการผูกขาด เลิกนโยบายลด-แลก-แจม-แถม
- กระจายอำนาจอย่างแท้จริง ให้ท้องถิ่นตัดสินใจด้วยตัวเองได้ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ และต้องกระจายงบประมาณไปด้วย
- ต้องจัดการปัญหาภายในระบบราชการ ต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน
วราวุธ ศิลปอาชา ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอว่า วิธีแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำควรจะ ‘ติดอาวุธ’ ให้กับ 2 ภาคส่วน คือภาคเกษตร และภาคการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่ควรจะให้คนจากหลากวัย หลายภาคส่วน เข้ามาร่วมกำหนด ไม่ใช่ให้คนแก่อายุเฉลี่ย 60 ปีขึ้นไปมากำหนด เหมือนกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ไม่รู้กรรมการแต่ละคนจะอยู่ถึงวันนั้นหรือไม่
นโยบายอื่นในการแก้ปัญหา ..หรือไม่มีนโยบาย แค่ขอให้เลือกเรา!
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ตัวแทนพรรคชาติพัฒนา เน้นไปที่การแก้ไขปัญหารายได้เกษตรกร ให้เข้าถึงแหล่งน้ำ เพราะพื้นที่เกษตร 130 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทานแค่ 22% เท่านั้น รวมถึงต้องพัฒนาดิน เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตด้วย
เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ตัวแทนพรรครวมพลังประชาชาติไทย เสนอให้พัฒนาภาคเกษตรและภาคท่องเที่ยว และมองว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำ ส่วนหนึ่งเกิดจากนายทุนเข้าไปยึดพรรคการเมืองต่างๆ ทำให้สุดท้ายเมื่อได้เป็นรัฐบาล ก็ไม่ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
นพดล ปัทมะ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย เน้นที่การกระจายรายได้ ตามสโลแกนหาเสียงของพรรค สร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างอนาคต อาทิ นำที่ดิน สปก.ไปกู้เงินได้ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 350 บาท/วัน มีกองทุนการศึกษา ให้เด็กไทยเรียน 3 ภาษา ปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. เป็นต้น
ปิดท้ายด้วย ดร.อนุกูล แพรไพศาล ตัวแทนพรรคเสรีรวมไทย ที่ตอบสั้นๆ ว่า ถ้าปราบปรามคอร์รัปชั่นสำเร็จ จะช่วยให้มีงบประมาณเหลือพอไปแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ จึงอยากให้ทุกๆ คนเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (ที่วันนั้นไม่ได้มาร่วมเวทีด้วย) เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งหมดนี้ คือสรุปสาระสำคัญบนเวทีเสวนาที่ว่าด้วยแนวคิดในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ จากตัวแทนพรรคการเมืองสำคัญๆ
– ภาพประกอบทั้งหมดมาจากเฟซบุ๊ก ข่าวประชาสัมพันธ์ มศว ประสานมิตร PRswu