เวลามีแขกถึงประตูบ้านแล้วเราไล่ไม่ให้เข้าบ้าน ฟังดูว่าเราในฐานะเจ้าของบ้าน ก็เป็นผู้มีอำนาจกับพื้นที่ในบ้านของตน นี่มันบ้านเรา ไม่ให้เข้าโว้ย
การทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดีหรือแนวคิดเรื่องการต้องรับแขก (รวมถึงศัตรูหรือคนที่ไม่ชอบ) เป็นเรื่องการมี ‘อารยธรรม’ อย่างหนึ่ง คือถ้าเราตะเพิดแขกไปมันก็แสดงให้เห็นว่าแกนี่มันเมืองเถื่อน จะต้อนรับแขกให้เหมาะสมก็ทำไม่ได้ ดังนั้นแนวคิดเรื่องการต้อนรับแขกเลยปรากฏเป็นกฏเกณฑ์อยู่ในแทบทุกอารยธรรม บ้านเรามีภาษิตใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ ในโลกตะวันตกก็จะมีกฏเกณฑ์ในทำนองเดียวกัน
ในเบื้องต้น เรื่องมารยาทและการแสดงออกของศักดิ์ศรีเจ้าบ้าน เผินๆ แล้วก็ดูจะมีมิติแค่นั้น แต่การเลือกรับหรือไม่รับกลับมีนัยของอำนาจบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ การที่เราเปิดประตูให้แขกเข้ามาในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรือประเทศมันหมายถึงการแสดงออกถึงอำนาจของเจ้าบ้านและความสามารถในการควบคุมดูแลแขกที่อยู่ภายใต้การดูแลหรือชายคาของตนด้วย
การปฏิเสธไม่รับแขก จึงอาจไม่ได้ถึงอำนาจแต่กลับแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพของเจ้าบ้านแทน
ต้อนรับขับสู้
การเป็นเจ้าบ้านหรือการต้อนรับขับสู้ คำว่า Hospitality มาจากรากละตินคำว่า hospes ที่มีความหมายทั้งเจ้าบ้าน (host) แขก (guest) หรือคนแปลกหน้า (stranger) คำว่า Hospes มาจากคำว่า hostis ที่หมายถึงทั้งคนแปลกหน้าและศัตรู ไอ้คำว่า hostile ที่แปลว่าเป็นศัตรูกันมันก็มาจากรากเดียวกันกับคำว่าเจ้าบ้านนี่แหละ ส่วนคำว่าโรงพยาบาล โดยรากละตินหมายความถึงห้องนอนแขกหรือโรงเตี๊ยม เป็นที่มาของคำว่า hostel hotel ด้วย
ในอารยธรรมสมัยก่อน แนวคิดเรื่องการต้อนรับขับสู้มันเป็นเรื่องใหญ่ระดับที่มีเทพเจ้าเข้ามาเกี่ยว การต้อนรับและเลี้ยงดูแขกอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างยิ่งยวด ในสมัยกรีกแนวคิดเรื่อง xenia คือการต้อนรับแขกเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าระดับบิ๊กคือเฮียซุสเองเลย เทพบดีแห่งโอลิมปัสบางทีก็เรียกกันว่า Zeus Xenios คือเป็นเทพที่ปกปักษ์แขกหรือผู้มาเยือน คิดดูว่าสำคัญขนาดไหน ไม่ใช่เทพไก่กาที่มาดูแลนะ ระดับซุสเลย ซึ่งซุสจะทรงโปรดถ้าเหล่ามนุษย์ปฏิบัติต่อแขกแปลกหน้าของตนอย่างดี ในตำนานเมืองทรอย ปารีสดันไปแหกกฏในฐานะแขก เล่นไปลักพาเมียเจ้าบ้านเฉย ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดมหันต์ซุสเลยต้องลงโทษ ในวัฒนธรรมอินเดียเองก็เป็นทำนองเดียวกัน คือถือกันว่าผู้มาเยือนมีสถานะเสมือนแขกของพระผู้เป็นเจ้า
ต้อนรับขับไล่
นัยที่ซับซ้อนลงไปกว่านั้น แดร์ริดานักปรัญชาขี้รื้อ ชอบพลิกมุมพูดถึงแนวคิดเรื่องการเป็นเจ้าบ้านว่า ในความหมายของคำมันหมายถึงอำนาจ (power) ด้วย แดร์ริดาบอกว่าการที่จะเป็นเจ้าบ้านได้คนที่เป็นเจ้าบ้านต้องเป็นเจ้าเข้าเจ้าของหรือเป็นนาย (master) ของสิ่งนั้นๆ ง่ายๆ เลยคือจะต้อนรับขับสู้ชาวบ้านได้ คนที่ต้อนรับต้องมีอำนาจเหนือพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ประเทศ หรือชาติใดชาติหนึ่ง ในลำดับต่อไป การที่แขกเข้ามาในพื้นที่ของตน การต้อนรับเลี้ยงดูมันก็มีนัยของการที่เจ้าบ้านใช้อำนาจควบคุมคนที่ตนกำลังดูแล หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่