วันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรกในรอบ 9 ปีจะเกิดขึ้นเมื่อไร ยังไม่มีใครรู้ (หรือต้องรอจนกว่าพรรคพลังประชารัฐสรุปตัวผู้สมัครให้ได้ก่อน?) แต่ถึงปัจจุบัน ผู้ประกาศตัวว่าจะลงสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.หลายๆ คนก็เริ่มขยับออกหาเสียงกันแล้ว
หนึ่งในคนที่น่าสนใจและประกาศตัวมานานแล้ว ก็คือ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ อดีต รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่ขอลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ
The MATTER ได้ฟังว่าที่แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.รายนี้พูดในงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ ‘ทบทวนโครงสร้างมหานครตอบโจทย์เมืองที่ทุกคนใฝ่ฝัน’ ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2565 เห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจดี
เพื่อเป็นการปูพื้นว่า ผู้ว่าฯ กทม.ทำอะไรได้บ้าง อำนาจของท้องถิ่นลักษณะพิเศษอย่าง กทม.มีแค่ไหน และชัชชาติคิดจะทำอะไรกับเมืองหลวงของไทยนี้
เราจึงขอหยิบเนื้อหาที่เขาพูดในวันนั้นบางส่วนมาถ่ายทอดต่อ
เมืองน่าเที่ยว-แต่ไม่น่าอยู่
ชัชชาติเริ่มต้นกล่าวถึงลักษณะ กทม.ว่าเป็นเมืองโตเดี่ยว (primate city) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือมีจำนวนประชากรมากกว่าเมืองที่โตอันดับสอง ไม่ว่าจะเป็น จ.เชียงใหม่ หรือ จ.นนทบุรี แล้วแต่คนจะนับ สูงถึง 40 เท่า จึงถือเป็นเอกนครมากๆ
“มันมีตัวเลข 2 ตัวที่แสดงความเป็นจริงของ กทม. คือ 1 กับ 98 ไม่ใช่ใบ้หวยงวดต่อไป ตัวเลข 1 คือเราเป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับ 1 ของโลก ตามที่เคยมีการสำรวจมา แต่เรากลับเป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 98 ของโลก ฉะนั้น กทม.จึงเป็นเมืองที่น่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่ โอเคว่า คนที่อยู่กลางเมือง ใกล้รถไฟฟ้า อาจจะคิดว่าน่าอยู่ แต่อีก 80% ยังต้องปรับปรุง คำถามคือจะทำอย่างไรให้ กทม.เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน”
สำหรับหน้าที่หลักๆ ของ กทม. จะมีอยู่แค่ 3 อย่าง 1.ดูแลคุณภาพชีวิตประชากร 2.เพิ่มประสิทธิภาพของเมือง 3.สร้างโอกาสที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน อะไรที่ไม่ใช่ 3 อย่างนี้ กทม.ไม่ต้องไปทำ
เขายังบอกว่า การจะทำเมืองให้ดีขึ้น หัวใจแรก คือความยั่งยืน (sustainable) ไม่ใช่การเอาทรัพยากรในอนาคตมาใช้ในปัจจุบันแล้วทิ้งปัญหาไว้ การจำกัดขยะในปัจจุบันของ กทม.ที่มีขยะราววันละ 1 หมื่นตัน ใช้วิธีฝังกลบราว 80% อีกไม่นานก็เต็ม เรื่องนี้จึงเห็นได้ชัดว่าไม่ยั่งยืน
หัวใจที่สอง คือความครอบคลุม (inclusive) เราจะทำให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งทางราง แต่บริเวณใกล้ๆ กันอย่างสวนจตุจักร ปรากฎว่าคนยังต้องมารอรถเมล์หรือรถตู้อยู่เลย หรือทางเท้าต่างๆ อย่าว่าแต่คนพิการที่เป็นมนุษย์ล้อเลย กระทั่งคนทั่วๆ ไปยังเดินลำบาก
หัวใจที่สาม ความยุติธรรมกับความเข้าใจ (fair and empathy) การแก้ไขปัญหาบางอย่าง จะเน้นแต่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ แต่ยังต้องอาศัยความเข้าใจด้วย เช่น การแก้ไขปัญหาชุมชนที่อยู่ตามริมคลอง ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ก็แก้ปัญหาเรื่องชุมชนริมคลองลาดพร้าวได้ดี ด้วยการไปจัดหาที่ว่างสำหรับสร้างที่พักให้ใหม่
“นี่คือ 3 ไม้บรรทัดในการพัฒนา ความยั่งยืน, ความครอบคลุม และความยุติธรรมกับความเข้าใจ”
ชัชชาติยังบอกว่า คำขวัญปัจจุบันของ กทม.ที่ชนะการประกวดมา คือ ‘กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัดวังงามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย’ ส่วนตัวไม่ค่อยชอบ เพราะไม่สะท้อนความเป็นจริงเท่าไร ตนชอบคำขวัญเดิมมากกว่า คือ ‘ช่วยชุมชนแออัด ขจัดมลพิษ แก้ปัญหารถติด ทุกชีวิตรื่นรมย์’ ทั้งนี้ การจะทำให้เมืองน่าอยู่ได้ ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเป็นจริงให้มากขึ้น
ปัญหาเชิงโครงสร้างของ กทม.
ชัชชาติยังโยนคำถามน่าสนใจต่อว่า แล้วปัญหาเชิงโครงสร้างของ กทม.มีอะไรบ้าง
1. การบริหารจัดการค่อนข้างรวมศูนย์ เรามีผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้ง มีสภา กทม. ส.ก. (ไม่ได้เลือกตั้งมา 13 ปีแล้ว ชุดปัจจุบันคือแต่งตั้งมา) และปลัด กทม. มี 16 สำนัก 50 เขต ฉะนั้นอำนาจผู้ว่าฯ กทม.จะรวมศูนย์ สำนักเขตจะขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ กทม. เพราะเป็นผู้แต่งตั้ง ผอ.เขต
การบริหารงบประมาณ กทม.ปีละ 7.5 หมื่นล้าน หลังช่วง COVID-19 อาจจะเหลือปีละราว 6 หมื่นล้าน โดยเราเสียเงินกับความสะอาดสูงสุด ตามมาด้วยจราจร น้ำเสีย ฯลฯ อนาคตจะต้องปรับปรุงการจัดสรรงบ เพื่อให้เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น ด้วยการปรับโฟกัสใหม่ว่าควรจะเน้นอะไร
2. เมือง กทม.มีความกระจายตัว (sprawling) สูงมาก คนย้ายจาก กทม.ชั้นในไปอยู่ชั้นนอกมากขึ้น เพราะราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยถูกกว่า นอกจากนี้ กทม.ยังเป็นเมืองที่ความหนาแน่นต่ำ แต่ความแออัดสูง ถนนหนทางโดยเฉพาะในเขต กทม.ชั้นในค่อนข้างเล็ก พอการกระจายตัวมันแบบนี้ จะเกิดปัญหารถติด เพราะทุกเช้า คนจะวิ่งจากที่อยู่อาศัยใน กทม.ชั้นนอกมาทำงานยัง กทม.ชั้นใน เพราะเรายังใช้ระบบถนนเป็นหลัก และเพิ่งเริ่มพัฒนาระบบรางไม่กี่ปีนี้
3. กทม.ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ หลายๆ หน่วยงานไม่มีอำนาจไปควบคุม ทั้งการประปานครหลวง (กปน.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นของกระทรวงมหาดไทย ไฟดับ กทม.ยังไปแก้เองไม่ได้เลยเพราะไม่ใช่เจ้าของสายไฟ, การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รถเมล์ก็ไม่ได้เกี่ยว, ที่มาขุดฟุตบาตหลายจุดก็มาจาก CAT หรือ TOT, การท่องเที่ยวดูแลโดย ททท., กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ดูแลปัญหาควันดำ ดูแลแท็กซี่, กระทรวงสาธารณสุขดูโรงพยาบาลของตัวเอง, กระทรวงศึกษาธิการดูโรงเรียนใต้สังกัด สพฐ., การเคหะแห่งชาติดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย ฯลฯ จะเห็นว่า กทม.มีอำนาจค่อนข้างจำกัด
“อย่างการจราจรเอง ที่หลายๆ คนบอกว่า อยากให้ผู้ว่าฯ กทม.มาช่วยแก้ปัญหารถติด ปรากฎว่ามีถึง 37 หน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่น่าเชื่อ มันทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เบ็ดเสร็จได้”
4. ปัญหาอยู่ที่เส้นเลือดฝอย ที่ผ่านมา เราไปเน้นเส้นเลือดใหญ่ซะเยอะ แต่ละเลยเส้นเลือดฝอย เรามีโรงพยาบาลเจ๋งๆ ระดับโลก แต่พอไปดูเส้นเลือดฝอย ศูนย์สุขภาพต่างๆ มีอุปกรณ์ไม่มาก เรามีโรงเผาขยะมูลค่าหมื่นล้าน แต่การจัดเก็บขยะ ยังมีปัญหา เรามีอุโมงค์ระบายน้ำ 2-3 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าไปดูท่อระบายน้ำหน้าบ้าน ก็จะเจอขยะเต็มไปหมด น้ำก็ไม่ไปถึงอุโมงค์ กลายเป็นน้ำรอระบาย
แล้วเมืองที่น่าอยู่จะเป็นอย่างไร?
ชัชชาติกล่าวว่า นี่คือคำถามที่ยาก อะไรคือปัญหาสำคัญของ กทม. หลายคนคิดว่ารถติด ตนมองว่าไม่ใช่ แต่คือปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต เพราะปัญหาของ กทม.ไม่ได้มีเรื่องเดียว ส่วนตัวชอบบทความของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ นี่คือคำจำกัดความของเมืองที่น่าอยู่
ทั้งนี้ กทม.จะต้องเปลี่ยน mindset แม้จะไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ปัญหาหลายๆ อย่างจะต้องเป็นเจ้าบ้าน-เจ้าภาพในการแก้ไข เช่น ถ้ามีคนตกท่อ แม้ไม่ใช่ท่อของ กทม.ก็ไม่เป็นไร ไปซ่อมไว้ก่อน แล้วค่อยไปเรียกค่าเสียจากผู้เกี่ยวข้อง บางอย่างถ้าต้องแก้ไขกฎหมายแม้อาจใช้เวลาแต่ก็ต้องทำ บางเรื่องก็ต้องเจรจาหาความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ
เขายังพูดถึงปัญหาผังเมืองว่า เกิดจากกฎหมายผังเมืองที่มันล้าสมัย เช่น การกำหนดว่าอาคารจะต้องมีที่จอดรถกี่คันๆ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีมาก่อนจะมีรถไฟฟ้า อย่างสยามสแควร์มีรถไฟฟ้าถึง 2 สาย แต่กฎหมายผังเมืองบังคับให้อาคารย่านนี้ต้องมีที่จอดรถ แล้วคนก็เอารถมากัน สุดท้ายก็ทำให้รถติด ทั้งๆ ที่ บางจุดอาจไม่ต้องมีที่จอดรถด้วยซ้ำ เพื่อทำให้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเยอะๆ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า นอกจากผังเมืองสีที่เราคุ้นเคยกัน น่าจะมีผังเมืองด้านคมนาคมขนส่ง ด้านน้ำ ด้านสาธารณูปโภคด้วย เพราะผังเมืองสีมันเปลี่ยนง่าย แต่โครงสร้างพื้นฐานของเมืองมันเปลี่ยนตามไม่ทัน
“ผมชอบคำของ อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ที่บอกว่า ผังเมืองคือธรรมนูญเมือง เพราะจะเป็นตัวสะท้อนว่าเมืองจะน่าอยู่แค่ไหน”
ถามว่าในปัจจุบัน กทม.เป็น smart city แล้วหรือยัง ชัชชาติตอบว่า ชอบคำว่า smart enough city มากกว่า แล้วจะทำให้เมืองมัน smart ได้อย่างไร ก็ต้องเริ่มจากการเปิดเผยข้อมูลให้เป็น open government เสียก่อน เอาข้อมูลต่างๆ ขึ้นเว็บไซต์ อย่าไปเห่อคำว่า smart city ให้มาก เน้นที่คนก่อน และเชื่อว่า สุดท้ายคนที่จะผลักดัน กทม.ให้เป็น smart city ก็คือภาคเอกชน ส่วนภาครัฐทำหน้าที่แค่อำนวยความสะดวก
เขายังกล่าวถึงโครงการพัฒนาคลองต่างๆ ของ กทม.ยุคปัจจุบันว่า เนื่องจากคลองใน กทม.มีความยาวรวมกันถึงกว่า 2,700 กิโลเมตร จึงอยากให้พิจารณาจากทรัพยากรที่จำกัด ไปพัฒนาคลองที่เกี่ยวพันกับชีวิตประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่เน้นแค่คลองใน กทม.ชั้นในเท่านั้น ส่วนกรณีโครงการคลองช่องนนทรี มองว่าเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์มากกว่า เพราะยังไม่เห็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพน้ำ
ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ชัชชาติพูดเกี่ยวกับการพัฒนา กทม. เข้าไปฟังงานเสวนาวิชาการดังกล่าวฉบับเต็มได้ที่:
https://www.facebook.com/LawCUconference/videos/1148418405902832
https://www.facebook.com/LawCUconference/videos/1278800209278371