เมื่อพ่อใหญ่ทรัมป์คัมแบ็ก – แบบไม่ต้องนอนชั้น 14!
วันที่ 20 มกราคม 2025 โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เดินหน้าเข้าสู่พิธีสาบานตน (Inauguration) สถาปนาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ทรัมป์ได้กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง พร้อมเริ่มต้นการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่
รัฐบาลทรัมป์ชุดนี้ แม้จะมีหลายส่วนคล้ายรัฐบาลสมัยแรกของเขาเมื่อปี 2017-2021 แต่ด้วยบริบทการเมืองภายในและการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมมีความแตกต่างและสลับซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในแง่บุคลากรและแนวนโยบาย
The MATTER ชวนเข้าใจ ‘รัฐบาลทรัมป์ 2.0’ แบบย่อยง่าย ด้วยการจินตนาการใหม่ในบริบทไทยๆ
ถ้าทรัมป์เป็นนักการเมืองไทย… ต้องใส่ชุดผ้าไหม เข้าพิธีสาบานตน
ถ้าเกิดจะจินตนาการให้ทรัมป์เป็นนักการเมืองไทย แน่นอนว่าสิ่งแรกที่ต้องจับมาสวมใส่ ก็คือ ชุดผ้าไหมไทย ซึ่งเรียกได้ว่า แทบจะเป็นยูนิฟอร์มภาคบังคับของนักการเมืองไปแล้ว ชุดลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า ‘ไทยพระราชนิยม’ เห็นได้บ่อยในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ในปัจจุบัน ก็ยังคงใส่กันเป็นปกติเช่นกัน
แน่นอนว่า แฟชั่นเกี่ยวพันกับทุกเรื่อง รวมถึงการเมืองอย่างแยกไม่ขาด และแฟชั่นก็บอกอะไรเราได้มาก
ในพิธีสาบานตนของทรัมป์คราวที่แล้ว เมื่อปี 2017 เมลาเนีย ทรัมป์ (Melania Trump) สตรีหมายเลขหนึ่งอีกครั้ง ปรากฏตัวในชุดเดรส ราล์ฟ ลอเรน (Ralph Lauren) สีฟ้า พร้อมกับถุงมือและส้นสูงสีฟ้าที่แมตช์กัน โดยไม่เคยเปิดเผยราคา แต่ชุดดังกล่าวก็เป็นที่วิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา The New York Times ชี้ว่า เธอตั้งใจใส่ให้นึกถึง แจ็กเกอลีน เคนเนดี (Jacqueline Kennedy) อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชุดของเมลาเนียในปี 2025 นี้ ก็เป็นที่จับตาของนักวิเคราะห์ในวงการแฟชั่นและการเมืองไม่แพ้กัน
เราคงจะไม่มีวันได้เห็นทรัมป์ใส่ชุดผ้าไหมในพิธีสาบานตน เพราะปีนี้อากาศหนาวจัดจนต้องย้ายไปจัดงานในร่ม แต่ถ้าเราจะได้เห็นทรัมป์ใส่ชุดผ้าไหมไทย เหมือนกับ โจ ไบเดน (Joe Biden) ที่ใส่ชุดผ้าไหมกัมพูชา ในระหว่างการประชุมอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2022 ก็คงจะสนุกไม่น้อยเหมือนกัน
ภูมิหลังเป็นนักธุรกิจใหญ่ เอาใจมวลชน ด้วยประชานิยม
“มาแล้วพี่น้องงงง ‘พ่อใหญ่ทรัมป์’ ครับพี่น้องงงง”
ถ้าทรัมป์เป็นนักการเมืองไทย คำประกาศก่อนขึ้นเวทีหาเสียงของเขาก็คงไม่ต่างไปจากข้างต้นนี้ – อันที่จริง ทรัมป์เองก็ปลุกเร้ามวลชนเก่งไม่แพ้นักการเมืองไทยคนไหน ด้วยแนวทางและจุดยืนของเขาที่ได้รับการอธิบายมาอย่างยาวนานว่าเป็น ‘ประชานิยม’ หรือ ‘populism’
แนวทางแบบ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America First) โดยเฉพาะนโยบายขับไล่ผู้อพยพ ที่ทรัมป์เคยประกาศว่าจะเนรเทศคนกลุ่มนี้เป็นหลักล้านคนออกจากสหรัฐฯ ก็ถือว่าเป็นการหาเสียงแบบประชานิยม
ในทางเศรษฐกิจ ทรัมป์เคยสัญญานโยบายไว้หลายๆ อย่างเพื่อเอาใจมวลชน เช่น ยุติเงินเฟ้อ ลดราคาพลังงาน ลดภาษีให้กับผู้ใช้แรงงาน เช่น พนักงานเสิร์ฟ พนักงานขับรถ กอบกู้อุตสาหกรรมสหรัฐฯ สร้างงานสร้างรายได้ จัดสรรงบประมาณรัฐบาลใหม่ ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย รวมถึงประกาศปกป้องประกันสังคม (Social Security) และโครงการประกันสุขภาพ (Medicare)
แม้ทรัมป์จะไม่ได้ผูกผ้าขาวม้า คล้องพวงมาลัยดอกดาวเรือง แต่ประชานิยมแบบทรัมป์ก็ทำให้เขาคว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ชนะคู่แข่งอย่าง กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ด้วยคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้ง 312 ต่อ 226 และกวาดคะแนนจากรัฐสวิงสเตททั้ง 7 รัฐไปได้ทั้งหมด
‘บ้านใหญ่ทรัมป์’ ทรงอิทธิพล
จะว่าไปแล้ว ถ้าจะนับว่าบ้านใหญ่คือตระกูลการเมืองที่มีอิทธิพล ครอบครัวทรัมป์ก็อาจจะจัดอยู่ในประเภทนี้ได้
ในช่วงรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก ลูกๆ ของเขาต่างก็มีบทบาทอยู่ในทำเนียบขาวพอสมควร ลูกชายคนโต โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ (Donald Trump Jr.) แม้ไม่มีตำแหน่งทางการ แต่ก็ช่วยหาเสียง และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของทรัมป์ ขณะที่ อิวานกา ทรัมป์ (Ivanka Trump) ลูกสาว และ จาเร็ด คุชเนอร์ (Jared Kushner) สามีของอิวานกา เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานาธิบดี (Advisor to the President)
แม้ในปี 2025 นี้ ลูกๆ ของทรัมป์จะออกห่างจากการเมืองมากกว่าเดิม เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ และอิวานกา ที่ประกาศไม่รับตำแหน่ง แต่ก็มีคนในครอบครัวที่ขึ้นมามีบทบาท เช่น มัสซาด บูลอส (Massad Boulos) พ่อเขยของ ทิฟฟานี ทรัมป์ (Tiffany Trump) ลูกสาวและลูกคนที่ 4 ของทรัมป์ ที่ทรัมป์แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาด้านอาหรับและตะวันออกกลาง
นายแบก–นางแบก ลาจอทีวี รับตำแหน่งในทำเนียบ
อีกลักษณะเด่นของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ก็คือคณะรัฐมนตรีที่แทบจะเต็มไปด้วยดาวเด่นจากวงการทีวีสหรัฐฯ ที่ต่อแถวรับตำแหน่งในทำเนียบขาว
เริ่มจาก พีต เฮกเซธ (Pete Hegseth) ทหารผ่านศึกในอัฟกานิสถานและอิรัก และพิธีกรช่อง Fox News ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา และจะเรียกว่าเป็น ‘นายแบก’ คนหนึ่งของทรัมป์ก็ว่าได้ โดยทรัมป์ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
‘นายแบก’ คนต่อมา ที่คอยปกป้องทรัมป์ทางช่อง Fox News ก็คือ ฌอน ดัฟฟี (Sean Duffy) ที่คุ้นเคยกับวงการทีวีมาอย่างยาวนาน และเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อยู่ 9 ปี ในช่วง 2011-2019 ล่าสุด ทรัมป์ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
อีกคนที่ถือว่าเป็นดาวเด่นก็คือ ลินดา แมคมาฮอน (Linda McMahon) อดีตซีอีโอบริษัทมวยปล้ำ World Wrestling Entertainment (WWE) ซึ่งก็เคยรับตำแหน่งในรัฐบาลทรัมป์มาแล้วเมื่อปี 2017-2019 แต่รอบล่าสุดนี้ ทรัมป์แต่งตั้งให้เธอคุมกระทรวงศึกษาธิการ
ในขณะที่อีกคนซึ่งไม่ได้อยู่ในคณะรัฐมนตรีโดยตรง แต่ก็ถือว่าโดดเด่นจากวงการทีวี คือ เมห์เมต ออซ (Mehmet Oz) หรือ ดร.ออซ (Dr. Oz) ศัลยแพทย์หัวใจที่มีรายการของตัวเอง ว่าด้วยเรื่องสุขภาพ ชื่อว่า ‘The Dr.Oz Show’ ฉายตั้งแต่ปี 2009-2022 โดยในรัฐบาลชุดใหม่นี้ ทรัมป์แต่งตั้งให้เขาคุมศูนย์บริการเมดิแคร์และเมดิเคด (Centers for Medicare & Medicaid Services หรือ CMS) หน่วยงานสำคัญที่จัดการระบบประกันสุขภาพ
และแน่นอน ใครจะลืม อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ไปได้ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ผู้ครอบครอง Tesla และ SpaceX ที่ทรัมป์แต่งตั้งให้คุมกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (Department of Government Efficiency หรือ DOGE)
ถ้าเกิดว่าจะแปลงนักธุรกิจหนุ่มอย่าง อีลอส มัสก์ มาสู่บริบทแบบไทยๆ คุณจะนึกถึงใครกัน?
ตีกอล์ฟคุยงาน เสมือนอยู่ที่ ‘เขาใหญ่’
นับตั้งแต่ที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ‘มาร์อาลาโก’ (Mar-a-Lago) ก็ได้กลายเป็นจุดสนใจ และเป็นจุดศูนย์กลางที่ดึงดูดผู้คนในแวดวงการเมืองให้หลั่งไหลเข้ามาที่รีสอร์ตบนที่ดิน 17 เอเคอร์ในปาล์มบีช รัฐฟลอริดา แห่งนี้ มาร์อาลาโกยังเป็นบ้านพักหลักของทรัมป์ด้วย เขาเคยบอกด้วยว่า มาร์อาลาโกเป็น ‘ทำเนียบขาวในช่วงฤดูหนาว’ ของเขา
“หลังจากเป็นประธานาธิบดี ผู้คนที่อยากจะเข้าถึงอำนาจแน่นอนว่าก็ต้องมาที่มาร์อาลาโก ซึ่งทำให้มันดูน่าดึงดูดยิ่งขึ้นอีกหนึ่งชั้น” เลส สแตนดิฟอร์ด (Les Standiford) นักเขียนที่เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับมาร์อาลาโก กล่าว
ในสมัยแรกของทรัมป์ มาร์อาลาโกเคยเป็นที่รับรองผู้นำโลกที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้ล่วงลับ และ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ผู้นำจีน และก่อนที่จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ทรัมป์ก็พบกับ จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา มาแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ถือเป็นจุดศูนย์รวมอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง จะว่าไปแล้วก็คล้ายๆ กับการไปออกรอบตีกอล์ฟตามสนามแถวๆ เขาใหญ่ ที่นักการเมืองบิ๊กๆ เขาชอบทำกัน
ปลุกม็อบปิดรัฐสภา เมื่อแพ้เลือกตั้ง
แม้ทรัมป์จะได้กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งผ่านการเลือกตั้ง แต่อย่าลืมว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ในวันที่ 6 มกราคม 2021 ทั่วโลกได้แต่เฝ้ามองด้วยความตะลึง เมื่อม็อบผู้สนับสนุนทรัมป์บุกถล่มอาคารรัฐสภาฯ สหรัฐฯ โดยมีทรัมป์เองคอยปลุกระดม ในขณะนี้สภาคองเกรสกำลังนับผลโหวตเพื่อรับรองชัยชนะของไบเดน
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง และผู้ชุมนุมถูกจับและตั้งข้อหามากกว่า 1,500 ราย และส่งผลให้ทรัมป์เองถูกสภาฯ ยื่นถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ 2 ในสัปดาห์ต่อมา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2021 ด้วยข้อหาปลุกปั่นการจลาจล (incitement of insurrection)
เหตุการณ์จลาจลครั้งนั้นทำให้ผู้คนที่เฝ้ามองจากประเทศไทยด้วยความเป็นห่วงไม่น้อย พลางรู้สึกคลับคล้ายคลับคลา และตั้งคำถามถึงประชาธิปไตยในสหรัฐฯ
ผ่านมาจนถึงวันนี้ ทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 อย่างเป็นทางการ หลังชาวอเมริกันเลือกที่จะเริ่มต้นใหม่กับคนเดิม สื่อหลักในสหรัฐฯ ยังคงตั้งคำถามถึงทิศทางของประชาธิปไตย และนั่นคือสิ่งที่เราต้องจับตาต่อไป ในอีก 4 ปีต่อจากนี้