เรื่องของตัวเองไหมก็เปล่า แต่ทำไมเราถึงอินกับเรื่องของคนดังมากขนาดนี้นะ?
ลำพังแค่เรื่องดราม่าของคนใกล้ตัวก็อดใจไม่ไหวต้องไปร่วมวงหมดเวลาไปครึ่งค่อนวันแล้ว แต่นี่เป็นถึงเรื่องซุบซิบของคนดัง มีเบื้องลึกเบื้องหลังอีกไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ แถมยังเกิดกับคนที่ปกติก็เห็นในสื่อว่าเป็นใช้ได้มาตลอด ไม่คาดคิดว่าจะมีเรื่องอะไรแบบนี้กับเขาด้วย เรื่องเด็ดแบบนี้เราจะพลาดได้ไงละ รู้ตัวอีกทีก็ตามข่าวดราม่าจนแทบไม่ได้หลับได้นอน สมองเบลอจนได้ยินเสียงเพื่อนอวยพรให้เราดื่มน้ำ 8 ชั่วโมง พักผ่อนให้ครบ 8 แก้วซะได้
ในวันที่ดราม่าข่าวร้อนของคนดังเริ่มปะทุขึ้น หลายคนก็อดไม่ได้ที่จะรับบทเป็นชาวเน็ตช่างใส่ใจกับเรื่องราวของคนอื่น เพราะแง่หนึ่งเรื่องราวของคนดังก็ส่งผลกระทบต่อคนในสังคมไม่มากก็น้อย แต่ไม่รู้ทำไมระหว่างที่กำลังเสพข่าวดราม่าเรากลับรู้สึกสนุกจนหยุดไม่ได้ไปด้วยน่ะสิ
ยิ่งได้รู้เรื่องลับๆ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกเหมือนได้ไขปริศนาลงทีละเปราะ จะว่าเป็นความชอบส่วนตัวก็ไม่น่าใช่ เพราะยังมีเพื่อนร่วมวงสนทนาที่สนุกไปกับเรื่องแซ่บนี้ไม่ต่างกัน แล้วอะไรกันละที่ทำให้เราสนใจเรื่องดราม่าของคนดัง ผิดไหมที่เราจะรู้สึกดีกับเรื่องเหล่านี้ไปด้วย และถ้าอยากใส่ใจเรื่องของคนอื่นให้น้อยลงจะมีวิธีไหนบ้างนะ
ไม่ใช่แค่เรา แต่สมองก็ชอบเรื่องดราม่าของคนดัง
การชอบใส่ใจเรื่องคนดัง จะบอกว่าเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ปุถุชนก็ไม่ผิดนัก เพราะสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราคนเดียว แต่หลายคนก็เคยมีประสบการณ์เสพติดดราม่าของเหล่าคนดังเช่นกัน หนึ่งในสาเหตุก็มาจากการทำงานของสมองที่ชื่นชอบให้เราสนใจเรื่องเหล่านี้
เกิดอะไรขึ้นกับสมองเมื่อได้ยินเรื่องซุบซิบ? ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Social Neuroscience ปี 2015 ทำการทดลองโดยการดูภาพสแกนสมองของผู้เข้าร่วม ขณะฟังเรื่องนินทาทั้งแง่ดีและไม่ดีเกี่ยวกับตัวเอง เพื่อนสนิท และคนดัง ผลสรุปว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่รู้สึกสนุกและพึงพอใจ หากได้ยินเรื่องดีของตัวเองและเรื่องอื้อฉาวของคนดัง ในขณะที่จะรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจเมื่อได้ยินคนพูดเรื่องไม่ดีของตัวเองมากกว่าเรื่องไม่ดีของคนอื่น
สาเหตุที่เรารู้สึกดีเมื่อได้ยินเรื่องเสียๆ หายๆ เกี่ยวกับคนดังของคนดัง งานวิจัยนี้ก็อธิบายไว้ว่าเพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้ยินเรื่องดราม่าของคนอื่น ระบบให้รางวัลในสมองก็จะถูกกระตุ้น โดยจะหลั่งโดปามีน หรือสารให้ความสุขออกมา ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เราอยากทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ อีก จึงไม่แปลกหากเราจะรู้สึกสนุกสนานไปกับเรื่องของคนดัง เสพติดข่าวจนอดหลับอดนอน เพราะยิ่งมีข้อมูลที่เราไม่เคยรู้ออกมามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้สึกสนุกหรือประหลาดใจจากสารที่หลั่งมามากเท่านั้น
จากงานวิจัยนี้นอกจากแสดงให้เห็นว่า ร่างกายเราก็ชอบเรื่องซุบซิบของคนดังแล้ว ยังสะท้อนว่าถึงยังไงมนุษย์ก็ยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งและได้รับการยอมรับในแง่ดีจากคนรอบข้าง แม้ว่าบางครั้งอาจสนุกกับเรื่องลับๆ ของคนอื่นบ้างก็ตาม
ใส่ใจเรื่องคนอื่นเพื่อเปรียบเทียบว่าเราอยู่ตรงไหนของสังคม
ในเมื่อคนเราชอบการได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง คำถามต่อมาคือ เราจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นคนที่ดีพอสำหรับคนอื่นแล้ว? หลายครั้งที่เราก็มักนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ทางจิตวิทยา เรียกว่าการเปรียบเทียบทางสังคม (Social comparison) สาเหตุก็เพราะเราต้องการจะรู้จักตัวเองมากขึ้น ประเมินว่าตัวเองอยู่ระดับไหน หรือนำมาตั้งเป้าหมายส่วนตัว
การจะรู้ว่าเราเก่งไหมก็ขึ้นอยู่กับเรากำลังเปรียบเทียบตัวเองกับใคร หากเราเปรียบเทียบกับเด็กอนุบาล 2 แน่นอนว่าเราต้องเก่งกว่า แต่หากเรากำลังเปรียบเทียบกับอาจารย์มหาวิทยาลัย ให้เวลาเดา 3 วิก็คงรู้คำตอบได้ไม่ยาก เช่นเดียวกับการเปรียบเทียบทางสังคมในมุมจิตวิทยาก็มีการแบ่งเป็น 2 ประเภท นั่นคือ Upward Social Comparison การเปรียบเทียบทำให้เรารู้สึกแย่เพราะอีกคนเหนือกว่า ขณะที่ Downward Social Comparison คือการเปรียบเทียบที่ทำให้เรารู้สึกดีเพราะอีกคนด้อยกว่า
การเปรียบเทียบกับคนอื่นจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งการเปรียบเทียบกับคนดัง แม้ปกติการเปรียบเทียบกับดาราหรือไอดอลจะทำให้เรารู้สึกหมดความมั่นใจได้ง่าย เพราะพวกเขามักเป็นคนต้นแบบของความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา ฐานะ แต่พอถึงคราวต้องตกเป็นข่าวอื้อฉาว บางทีเราอาจรู้สึกดีที่ได้เห็นเซเลปคนดังที่เพียบพร้อมในอีกมุมหนึ่งก็ได้ เนื่องจากรับรู้ว่าพวกเขาเองก็ไม่ต่างจากเรา หรือคนทั่วไปที่เห็นในชีวิตประจำวันเท่าไหร่
แม้จะเป็นเรื่องไม่ดี แต่อีกด้านหนึ่งความผิดพลาดและความบกพร่องของเหล่าคนดัง ก็ทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับพวกเขาได้ง่ายขึ้น และลดความคาดหวังกับมนุษย์ลง ถึงพวกเขาจะเป็นคนมีชื่อเสียง แต่ก็มีอารมณ์และความต้องการไม่ต่างจากเราเหมือนกัน
ทำยังไงถ้าอยากใส่ใจเรื่องคนอื่นให้น้อยลง
แม้ว่าการใส่ใจเรื่องดราม่าจะช่วยหลั่งสารความสุขออกมา แถมยังเป็นสะพานที่คอยเชื่อมความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้เรามีเรื่องได้พูดคุยกันทุกวัน แต่ถึงอย่างนั้นในก็อาจไม่เป็นผลดีกับเราในระยะยาวเท่าไหร่
ทั้งนี้ก็เพราะดราม่าที่เราเสพดราม่าทุกวัน อาจไม่ใช่ความสุขที่มีคุณภาพ การใช้โซเชียลมีเดียถูกจัดให้เป็นโดปามีนราคาถูก ที่ให้ความสุขเราในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เราเสพติดความรู้สึกนั้น ไม่ต่างจากการใช้สารเสพติด การติดน้ำหวาน หรือการพนัน หากเราอยากได้ความสุขระยะยาว อาจจะต้องหันมาใส่ใจกับการพักผ่อน การออกกำลังกาย หรือการทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จแทน
แต่จู่ๆ จะให้เลิกสนใจเรื่องซุบซิบไปเลยก็คงจะเป็นเรื่องยาก เราเลยหยิบคำแนะนำจากซาราห์ วิลกินส์ (Sarah Wilkins) ผู้สอนโยคะและการบำบัด ที่แนะนำวิธีการฝึกควบคุมตัวเองไม่ให้เผลอไปซุบซิบมากเกินไป ดังนี้
- เลือกเพื่อนสนิทไว้สักคนเพื่อจำกัดการนินทา: ข่าวดังขนาดนี้ยังไงก็ไม่อยากพลาด แต่ก็ไม่อยากใช้เวลาไปกับการตามข่าวมากเกินไป ดังนั้นแทนที่จะเข้าไปร่วมจอยทุกวง อัปเดตทุกช่องทาง อาจจะลองเลือกเพื่อนขาเม้าธ์ที่ถูกคอไว้สักคนสองคน เพื่อให้ตัวเองรู้ว่าเราจะซุบซิบเรื่องชาวบ้านแค่กับคนนี้นะ ยิ่งน้อยคนเท่าไหร่ก็ยิ่งจำกัดวงสนทนา และช่วยควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น
- หากรู้ตัวว่ากำลังเสพข่าวดราม่ามากเกินไปให้หยุด: วิธีนี้อาจจะไม่มีเทคนิคพิเศษ และต้องพึ่งพาตัวเองมากสักหน่อย นั่นคือการมีสติกับตัวเองอยู่ตลอด สังเกตว่าเราตามข่าวดราม่ามานานเท่าไหร่แล้วนะ เราคุยแซ่บไปกี่ชั่วโมงแล้ว หากมองนาฬิกาแล้วกำลังเลยเวลานอนของคนทั่วไป หรือใกล้เวลาเลิกงานเต็มที่ก็อาจจะต้องบอกตัวเองให้พอก่อน แล้วไปทำอย่างอื่นแทน
- อย่าด่วนตัดสิน และตรวจสอบแหล่งที่มาก่อน: หลายครั้งที่เราร่วมวง ตามหาคนที่พูดแทนใจตัวเองอย่างดุเดือดจนทำให้เสียเวลาไปกับการตามข่าวเป็นวันๆ บางทีอาจต้องหยุดคิดสักนิดว่าเอ๊ะ ที่จริงแล้วข้อมูลนี้มาจากไหนนะ เขาพูดจากหลักฐานอะไร หากยังไม่ชัวร์ การรอสักพักให้สถานการณ์คลี่คลายก็เป็นอีกทางที่ช่วยประหยัดพลังงาน แถมยังรู้ตอนจบของเรื่องนี้ได้เหมือนกัน
แม้ว่าข่าวของคนดังจะกระตุ้นต่อมความอยากรู้อยากเห็นของเรามากแค่ไหน แต่เมื่อไหร่ที่ข่าวเหล่านั้นกระทบใจมากเกินไป การวางหน้าจอมือถือสักพัก แล้วกลับมาโฟกัสตัวเองก็เป็นอีกทางที่ทำให้เรามีความสุขได้เหมือนกันนะ
อ้างอิงจาก