มนุษยชาติและเมืองของเราเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความยืดหยุ่น
เราผ่านภัยพิบัติและภัยธรรมชาติมามากมาย ในทุกครั้งเมืองและมนุษย์เราก็จะปรับปรุง ปรับตัว โดยไม่ได้แค่เอาตัวรอดมาได้ แต่เมืองและวิทยาการของเรายังยิ่งก้าวไปข้างหน้าด้วย เมืองที่ยิ่งใหญ่ ตึกระฟ้า สาธารณูปโภคทั้งหลายมีหน้าตาดังเช่นทุกวันนี้ ก็เพราะเราผ่านภัยพิบัติทั้งหลายมาได้
ในหลายบริบท หลายช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ภัยพิบัติใหญ่ไม่ว่าจะจากธรรมชาติหรือจากน้ำมือมนุษย์ หลายเหตุการณ์เป็นจุดเปลี่ยนความก้าวหน้าของพื้นที่เมือง หลายภัยเป็นจุดที่เมืองนั้นๆ ตัดสินใจว่าจะใช้ความเสียหายดังกล่าวเป็นพลังทำให้การอยู่อาศัยก้าวหน้าและยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น
จุดเปลี่ยนสำคัญของเมืองและภัยพิบัติหลายครั้งยังเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนเมืองไปสู่ความทันสมัย สู่เมืองสมัยใหม่ ถ้าเรามองย้อนไป มหาอัคคีภัยที่กรุงเอโดะซึ่งเกิดห่างจากเพลิงไหม้ใหญ่ของลอนดอนไม่ถึง 10 ปี ทั้ง 2 เพลิงไหม้นี้ก็ทำให้เกิดการวางผังเมือง การวางระบบป้องกันภัย เกิดแนวคิดเรื่องความปลอดภัย เช่น การควบคุมอาคาร ไปจนถึงธุรกิจการรับประกัน ซึ่งกลายเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน
หรือเมืองอย่างฮิโรชิม่าที่ราบเป็นหน้ากลองเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากเมืองทางการทหาร ไปสู่การเป็นเมืองแห่งสันติภาพ กลายเป็นเมืองที่ห้อมล้อมด้วยพื้นที่สีเขียว และกลายเป็นปลายทางแห่งสันติภาพของโลกเช่นกัน
จากกรณีแผ่นดินไหว มีหลายเสียงกล่าวว่า ความเข้าใจเรื่องแผ่นดินไหวมาจากการ์ตูนที่เราดู เราเห็นภาพชินจังรับมือแผ่นดินไหวในบ้าน พูดถึงการหลบใต้โต๊ะ และการปิดแก๊สในจังหวะที่เรียบเฉย เห็นการพูดถึงการรับมือในเรื่องอื่นๆ เช่น โดราเอมอนว่าความเชื่อมโยงหนึ่งที่น่าสนใจ คือ พื้นที่สนามเด็กเล่นที่เราเห็นจนคุ้นตา เป็นหนึ่งในการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ของคันโตในปี 1923 (Great Kantō Earthquake)
The MATTER จึงชวนย้อนดูว่า หลายๆ พื้นที่หรือภาพเมืองญี่ปุ่นที่เราเห็นในปัจจุบัน โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่โล่งและพื้นที่สีเขียว จากสวนขนาดใหญ่ ไปจนถึงการกระจายสวนโดยมีเด็กๆ เป็นหัวใจของการพัฒนา การปรับสะพานไม้ที่พังเสียหาย ไปสู่สะพานและอพาร์ทเมนต์ที่ก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
ความฝันสู่โตเกียวใหม่ที่ถูกการเมืองเล่นงาน
ญี่ปุ่นเผชิญภัยแผ่นดินไหวหลายครั้ง ภัยพิบัติเหล่านี้จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ญี่ปุ่นค่อยๆ พัฒนา และวางระบบสิ่งปลูกสร้างและการรับมือภัยพิบัติที่เข้มแข็ง รวมถึงอาจเป็นความยืดหยุ่นของชาวญี่ปุ่นที่รับมือกับ ‘ความตาย’ ในผืนน้ำและแผ่นดิน ทั้งสึนามิและแผ่นดินไหว บ้านเรือนที่สร้างขึ้นเร็วเท่าๆ กับที่พังลงมา ในสมัยเอโดะเองโตเกียวก็เริ่มเรียนรู้ต่อการรับมือภัยพิบัติจากเพลิงไหม้ ด้วยการเว้นพื้นที่ว่างไว้เพื่อกั้นไฟและเป็นพื้นที่อพยพ ทั้งยังมีการล้อมวัดด้วยกำแพงที่กรุด้วยดินเผา
เหตุการณ์สำคัญของโตเกียวและภูมิภาคคันโต คือแผ่นดินไหวใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 1 กันยายน 1923 แผ่นดินไหวในครั้งนั้นประมาณการว่า น่าจะอยู่ที่ 7.9-8.2 ริกเตอร์ โดยมีบันทึกจากหลายพื้นที่ว่าน่าจะสั่นไหวนานราว 4- 10 นาที
โตเกียวอันเป็นเมืองหลวงประสบภัย รวมถึงเกิดเพลิงไหม้ใหญ่ติดตามมาแทบจะในทันที มีรายงานการเสียชีวิตหลักแสนคน และนับว่าเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงและมีการเสียชีวิตครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ตัวแผ่นดินไหวนี้นำไปสู่ภัยพิบัติอื่นๆ ทั้งความรุนแรงในพื้นที่ วิกฤติการเงิน กระทั่งการกลับมาของโรคระบาด ในทุกๆ วันที่ 1 กันยายน จึงถูกนับให้เป็นวันป้องกันภัยพิบัติชาติ (Disaster Prevention Day)
ในแง่ของการพัฒนาปรับปรุงเมือง โตเกียวในทศวรรษ 1920 เป็นยุคไทโช (1912-1926) ยุคสั้นๆ ที่ทรงอิทธิพลทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องจากยุคเมจิ ญี่ปุ่นในขณะนั้นเริ่มเกิดเมืองใหญ่และรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา นอกจากความเป็นตะวันตกแล้ว ความเป็นเมืองเองก็เกิดขึ้น แต่การขยายตัวของเมืองนั้นกลับเกิดขึ้นอย่างไร้ทิศทางเหมือนกับอีกหลายเมืองใหญ่ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นมรดกสำคัญ คือการก่อตั้ง City Planning Bureau (Toshi Keikaku Ka) สำนักผังเมืองในปี 1918 ก่อตั้งโดยโกโตะ ชิมเปอิ (Goto Shimpei) ซึ่งจะเป็นบุคคลสำคัญในการจัดการผังและสร้างเมืองขึ้นใหม่ในช่วงนี้ต่อไป ช่วงนี้เอง หน่วยงานภายในของญี่ปุ่นและสถาบันการศึกษาก็เริ่มเกิดความร่วมมือ เกิดการสร้างองค์ความรู้ด้านผังเมือง ด้านวิทยาการเกี่ยวกับอาคาร และกฎหมายอาคาร
ในยุคไทโช บางมุมจึงเป็นการเข้าไปแก้ปัญหาจากความทันสมัยและการปรับประเทศในยุคเมอิจิ ผังเมืองเริ่มเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการเติบโตที่ไร้ทิศทาง และการเข้าไปแก้ปัญหาอื่นๆ เช่น ประเด็นเรื่องเด็กที่กลายเป็นปัญหาใหม่ ซึ่งต่อเนื่องจากภาวะหลังสงครามในยุคเมจิที่เกิดเด็กกำพร้าสงคราม รวมถึงเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อตัวของอุตสาหกรรม ภัยธรรมชาติ และทุกขภิกขภัย
เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในปี 1923 จึงเป็นรอยต่อสำคัญ ขณะนั้นนายโกโตะเป็นอดีตนายกเทศมนตรีกรุงโตเกียว เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย (Home Minster) โดยรับหน้าที่ในการสร้างโตเกียวใหม่ขึ้น
ภาพที่นายโกโตะวาดให้กับกรุงโตเกียว คือการสร้างเมืองแห่งอนาคต เป็นเมืองในฝันที่โตเกียวจะมีบริการสาธารณะใหม่ๆ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สิ่งที่น่าตระหนักคือ จากภาพฝันโตเกียวใหม่ กลายเป็นการถกเถียงที่ไม่รู้จบ และไม่กลายเป็นความจริงว่า ตกลงแล้วเมืองแห่งอนาคตเป็นอย่างไรกันแน่ เพราะความขัดแย้งทางการเมือง
แผนการสร้างโตเกียวขึ้นใหม่ที่ได้รับการเสนอต่อสภาในปี 1923 ได้ถูกลดงบประมาณลงเหลือ 460 ล้านเยน จากเดิม 598 ล้านเยน และเพิ่มงบเข้าไปจนกลายเป็น 740 ล้านเยน ซึ่งนั้นหมดนั้นห่างไกลจากงบสร้างเมืองในฝันหลักพันล้านเยนอย่างไกลโพ้น
ทว่าแม้แผนเมืองใหม่ที่ยิ่งใหญ่จะชะงักไปจากข้อจำกัดทางการเมือง รวมถึงประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่โตเกียวลงมือทำ คือการปรับและจัดการการใช้ที่ดินใหม่ (land readjustment) ด้วยการจัดการการใช้ที่ดิน และสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างถนน ทางเท้า สวนขนาดเล็ก และพื้นที่เพื่อคุณภาพชีวิตสำหรับชาวเมือง
สวนเล็ก สวนใหญ่ และอพาร์ทเมนต์
แม้เราจะบอกว่าการพัฒนาหรือการสร้างโตเกียวใหม่หลังแผ่นดินไหวจะเป็นไปอย่างยากลำบาก และอาจเรียกได้จำกัดจำเขี่ย แต่อันที่จริงรากฐานสำคัญของสาธารณูปโภคสมัยใหม่ก็เกิดขึ้นในยุคไทโชหลังแผ่นดินไหว อย่างแรกคือการสร้างสะพานขึ้นใหม่ เพื่อทดแทนสะพานเดิมซึ่งเป็นไม้ มีการสร้างสะพานเหล็กขึ้นใหม่ 9 สะพานเพื่อข้ามแม่น้ำสุมิดะ (Sumida River) ซึ่งสร้างโดยทั้งจากรัฐบาลกลางและฝ่ายบริหารกรุงโตเกียว โดยหลายสะพานยังใช้งานได้อยู่จนถึงปัจจุบัน
นอกจากสะพานแล้ว จากบ้านเรือนที่ส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ และภาวะไร้บ้านที่เกิดขึ้นทันทีหลังแผ่นดินไหว รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ก่อตั้งองค์กรโดจุนไค มาทำหน้าที่จัดหาและจัดสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งตอบสนองกับภัยพิบัติ ทั้งทนต่อแผ่นดินไหวและทนไฟ การก่อสร้างจึงเป็นการสร้างอพาร์ทเมนต์ด้วยนวัตกรรมการก่อสร้างสมัยใหม่ ใช้คอนกรีตเสริมแรง รวมถึงเปิดพื้นที่การอยู่อาศัยสำหรับคนชั้นกลางที่กำลังเติบโตขึ้นในเมือง
ในราว ปี 1926 อพาร์ทเมนต์ของโดจุนไคก็นับเป็นอพาร์ทเมนต์แบบญี่ปุ่นยุคแรกๆ เป็นยูนิตขนาดเล็กที่มีพร้อมสาธารณูปโภค มีไฟฟ้า น้ำประปา ไปจนถึงโถสุขภัณฑ์ และนอกจากพื้นที่กายภาพแล้ว ยังเป็นการออกแบบโมเดลการอยู่อาศัย โดยผสมผสานองค์ประกอบบ้านญี่ปุ่นเข้ากับการอยู่อาศัยแนวตั้งในเมือง เช่น การใช้เสื่อทาทามิ ประตูบานเลื่อน การมีห้องส่วนกลางที่มีความยืดหยุ่น ไปจนถึงการมีสาธารณูปโภคกลางที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบ เช่น โรงอาบน้ำ ร้านค้า คาเฟ่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างบ้านแล้ว ยังนับเป็นการสร้างชุมชนเมืองขึ้นไปพร้อมกันด้วย
นอกจากอพาร์ทเมนต์และถนนหนทางแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจในแผนการสร้างและพัฒนาเมืองของญี่ปุ่น คือการควบรวมธรรมชาติเข้ามาร่วมรับมือและเยียวยาผลของภัยพิบัติ สวนสาธารณะสำคัญของโตเกียวอย่างสวนสุมิดะ (Sumida Park) ซึ่งอยู่ใกล้อาซากุสะ จากพื้นที่เอกชนกลายเป็นสวนขึ้นชื่อของต้นซากุระ สวนฮามะโช (Hamacho Park) และสวนคินชิ ก็เป็นสวนที่สร้างขึ้น โดยถือว่าเป็นสวนสาธารณะเพื่อการเยียวยาจากภัยพิบัติ (disaster recovery parks)
พื้นที่สีเขียวนอกจากจะเยียวยาหัวใจให้กับผู้คนแล้ว ยังเป็นพื้นที่เปิดโล่งที่มีความสำคัญในการรับมือภัยพิบัติ
นอกจากสวนขนาดใหญ่แล้ว อาจด้วยความจำกัดในการพัฒนา ทั้งงบประมาณและการจัดการแปลงที่ดิน รวมถึงข้อบ่งชี้ว่า เด็กๆ กลายเป็นหัวใจในการพัฒนาเมืองของผู้บริหารญี่ปุ่น
นวัตกรรมที่เกิดจากความจำกัดในการฟื้นฟูหลังแผ่นดินไหวปี 1923 คือการที่โตเกียวสร้างและกระจายสวนขนาดเล็กจำนวน 52 แห่ง โดยกระจายไปตามโรงเรียนประถมฯ ของเมือง ซึ่งสวนขนาดเล็กที่เราคุ้นตาจะอยู่ใกล้ๆ โรงเรียน อาจเป็นลานโล่ง สนาม หรือสนามเด็กเล่น การสร้างสวนจิ๋วนี้ถือเป็นการใช้พื้นที่ขนาดเล็กในหลายระดับ
จากการเป็นพื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของชุมชน การออกแบบสวนโดยมีเด็กเป็นผู้ใช้งานหลัก เป็นพื้นที่ที่ใช้ประกอบกิจกรรมและสันทนาการที่มีความยืดหยุ่น หลากหลาย และที่สำคัญคือ ลานและสนามที่กระจายตัวนี้ยังสามารถใช้เป็นจุดรวมพล พื้นที่หลบภัย หรือเป็นพื้นที่ศูนย์กลางในการกระจายความช่วยเหลือในยามที่เกิดภัยพิบัติได้
การย้อนดูเรื่องการลุกขึ้นยืนหลังภัยพิบัติ หลายกรณีเกิดขึ้นอย่างทุลักทุเล เช่น โตเกียวที่เจอปัญหาการเงินและปัญหาการเมือง แต่ด้วยการบริหารจัดการ หลายพื้นที่ที่เรามองเห็นได้ในวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นในปัจจุบัน ทั้งสะพานข้ามแม่น้ำ การใช้ชีวิตผสมผสานในอพาร์ทเมนต์ที่มีความญี่ปุ่นผสมกับความเป็นเมือง การอยู่อาศัยแนวตั้ง ไปจนถึงสวนจิ๋วๆ อย่างสนามเด็กเล่นที่เราคุ้นเคย ล้วนสัมพันธ์หรือเป็นร่องรอยของมหาภัยพิบัติจากร้อยปีก่อน
อ้างอิงจาก
tokyo-resilience.metro.tokyo.lg.jp
thematter.cojohnbarrarchitect.com