สำหรับแฟนๆ ดาบพิฆาตอสูร ช่วงนี้คืนวันอาทิตย์หลายคนคงนั่งรีเฟรชหน้า Netflix ว่าตอนใหม่มารึยังนะกันวนไป
ระหว่างรอ ถ้าเราดูดาบพิฆาตอสูร เราจะเห็นกลิ่นอายของบริบททางประวัติศาสตร์บางอย่างที่ด้านหนึ่งเราได้เห็นภาพของเมืองโตเกียวในลักษณะที่เป็นเมืองมหานครหรือ metropolis และถ้าเราดูการเดินทางของทันจิโร่อย่างคร่าวๆ โดยที่มีบริบทยุคไทโชอันเป็นยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สมัยใหม่นั้น การเดินทางของทันจิโร่จากเด็กหนุ่มหมู่บ้านห่างไกลจนเข้ามาสู้กับอสูรใหญ่ที่มีความซับซ้อนในพื้นที่เมือง ในช่วงซีซั่น 1-2 โดยที่มีภาครถไฟคั่นกลาง ทันจิโร่เองก็ดูจะเติบโตโดยมีการเข้าสู่พื้นที่ความทันสมัยเป็นองค์ประกอบหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความทันสมัยในบริบทของญี่ปุ่นก็ถือว่ามีความซับซ้อนในตัวเอง แน่นอนว่าความทันสมัยและความเป็นเมืองโดยทั่วไปมีความเกี่ยวข้องกับการเข้ามาของตะวันตกและกระบวนการทำให้ทันสมัย (modernization) แต่ทว่าถ้าเราลองดูดีๆ ตัวพื้นที่โดยเฉพาะย่านโยชิวาระอันเป็นย่านเก่าแก่ของกรุงโตเกียวตั้งแต่สมัยยังเป็นเอโดะ ย่านแห่งนี้ก็มีความเป็นย่านธุรกิจ (district) คือ เมืองมีความพยายามในการจัดการและสร้างให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และพื้นที่กินดื่มพักผ่อนที่ไม่มีวันหลับใหล
ด้วยความพิเศษของดาบพิฆาตอสูรโดยเฉพาะการมีฉากเป็นย่านสำคัญของกรุงโตเกียว The MATTER จึงชวนไปย้อนดูบริบททางประวัติศาสตร์จากยุคไทโช ยุคสมัยที่ต่อเนื่องจากการเบ่งบานของโลกสมัยใหม่ ซึ่งตัวพื้นที่เมืองที่ขยายตัวนั้นก็ได้สร้างปัญหาบางอย่างขึ้น ถ้าเรามองเรื่องราวของตัวละครในดาบพิฆาตอสูรไม่ว่าจะเป็นตัวอสูรหรือหน่วยพิฆาตอสูรเองก็ล้วนเป็นเด็กกำพร้าที่ได้รับบาดแผลบางอย่างที่ดูจะสัมพันธ์กับบริบทของญี่ปุ่นยุคฟื้นฟู การผจญอสูรในพื้นที่เมือง และภาพของเมืองที่เริ่มปรับตัวเพื่อรักษาและโอบอุ้มเหล่าเด็กและผู้คนผ่านแนวคิดเมืองที่ดี
Sensō Koji เด็กกำพร้าจากสงคราม
ในระดับเรื่อง แน่นอนว่าคู่ขัดแย้งหลักคือ อสูร—ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่ถ้าเราดูในระดับบริบท ตัวเรื่องของดาบพิฆาตอสูรก็ดูจะสัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น และเราเองก็อาจจะตีความได้ว่าอสูรนั้นเป็นภาพแทนหรือ metaphor ของร่องรอยทางประวัติศาสตร์บางอย่างได้
ยุคไทโช (ค.ศ.1912-1926) จึงดูเป็นยุคที่น่าสนใจที่ผู้เขียนมังงะเลือกใช้เป็นฉาก แน่นอนว่ายุคไทโชเป็นสมัยรอยต่อที่ต่อเนื่องจากยุคเมจิ ยุคสมัยแห่งความก้าวหน้าที่ญี่ปุ่นทั้งรับเอาวิทยาการความก้าวหน้า การก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม และการรวมชาติโดยมีกรุงโตเกียวหรือเอโดะเดิมเป็นศูนย์กลาง ในภาพรวมเราอาจจะมองเห็นว่ายุคไทโชเป็นยุคต่อเนื่องที่มีการเบ่งบาน ไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยม การเติบโตของคนกลุ่มใหม่ๆ แต่ทว่าสมัยไทโชรวมถึงยุคเมจินั้นก็ถือว่าญี่ปุ่นเพิ่งพ้นภาวะสงครามมา ในยุคเมจิได้เกิดคำศัพท์ที่เรียกว่า Sensō-เซนโซ (สงคราม) Koji-โคจิ (เด็กกำพร้า) ซึ่งผลพวงของยุคก่อนหน้าไม่ว่าจะเป็นความตาย ความอดอยาก ปัญหาจากภัยธรรมชาติ รวมถึงตัวพื้นที่เมืองเองก็ได้ก่อปัญหาให้กับเหล่าเด็กๆ ที่ต่อมาญี่ปุ่นก็พยายามโอบอุ้มดูแลต่อไป
พอพูดเรื่องเด็ก ก็อาจจะทำให้รู้สึกถึงประเด็นว่า ในเรื่องดาบพิฆาตอสูรนั้นว่าด้วยเรื่องเด็กเป็นหลัก ตัวละครที่เข้าหน่วยพิฆาตอสูรมักจะเข้าต่อสู้ตั้งแต่เป็นเด็ก ทันจิโร่อายุเพียง 13 ปี พวกเสาหลักก็อายุอยู่ที่ 14-21 ปี และส่วนใหญ่แล้วการเข้าหน่วยก็จะเกิดจากการสูญเสีย การเป็นภาวะกำพร้าจนทำให้ต้องจับดาบเพื่อต่อสู้ ในทำนองเดียวกันอสูรหลายตนก็เป็นอสูรตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และมีภูมิหลังของการถูกทำร้าย ได้รับบาดแผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์เท่าที่มี คือสถิติเด็กกำพร้าในปี ค.ศ.1948 ของกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น (ยุคนั้นเป็นยุคต้นของสมัยโชวะและเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังยุคดาบพิฆาตอสูรไปสักหน่อย) ตัวสถิติระบุตัวเลขของเด็กกำพร้า (อายุ 0-18 ปี) ว่ามีประมาณ 123,000 คน ซึ่งตัวสถิติแบ่งออกเป็นสี่ประเภท คือ เด็กที่พ่อแม่ตายจากสงคราม บางส่วนเป็นเดก็ที่พลัดกับพ่อแม่ (repatriated orphans) ซึ่งก็เป็นผลพวงของสงคราม เป็นเด็กๆ ที่ถูกรัฐทอดทิ้งเมื่อถอนกำลังออกไป หรือกวาดต้อนกลับมาจากดินแดนในอาณัติของญี่ปุ่น ไปจนถึงเด็กที่ถูกทิ้งและเด็กกำพร้าทั่วไป โดยรวมพอเป็นยุคหลังสงครามนักวิชาการก็จะนิยามว่าเป็นเด็กกำพร้าที่สัมพันธ์กับสงครามทั้งหมดแสนกว่าคน
แน่นอนว่าสำหรับยุคไทโช ที่แม้ว่าจะเป็นยุคหลังเฟื่องฟู แต่เราก็ยังเห็นสภาพชีวิตของเด็กๆ ที่อาจจะไม่สู้ดีนัก อันที่จริงทันจิโร่ก็มาจากครอบครัวที่ค่อนข้างลำบาก ไม่ได้มีบริการสาธารณสุข ไม่มีระบบดูแลความปลอดภัย ซึ่งเงื่อนไขการรับมืออสูรในช่วงต้นซีซั่นหนึ่งและซีซั่นปัจจุบันนั้นก็เลยค่อนข้างต่างกัน คือ มีภาวะเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
บาดแผลและความวิตกกังวลของพื้นที่เมือง
ทีนี้ พื้นที่เมืองเป็นปัญหาอย่างไร เราจะเห็นว่าช่วงที่ทันจิโร่เข้ามาในโตเกียวเป็นครั้งแรก ทันจิโร่มีภาวะ ‘ช็อกเมือง’ ภาพของวัดอาสากูสะในยุคของทันจิโร่นั้นมีลักษณะเป็นเมืองมหานครแล้ว คือ เป็นศูนย์รวมของผู้คนมากหลายตา เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีกลิ่นอายความเป็นตะวันตก มีรถราง แสงสี และที่สำคัญคือเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับ
ฉากที่ทันจิโร่เข้าเมืองครั้งแรก ด้วยความที่เป็นหนุ่มบ้านนอก ทันจิโร่ก็เลยช็อกกับภาวะวุ่นวายของเมืองหลวง โดยฉากสำคัญคือการที่ทันจิโร่เจอกับมุซันกลางเมือง ท่ามกลางผู้คนนับร้อยนับพัน สิ่งที่เราจะเริ่มมองได้คือการปรากฏตัวของภัยคุกคาม ที่ถ้าเป็นพื้นที่นอกเมือง อสูรอาจจะมีหน้าตาอัปลักษณ์และอยู่กลางป่ากลางเขา หน้าที่ของเราคือต้องอยู่ในบ้านตามกำหนดเวลา แต่ทว่าอสูรหรือภัยคุกคามยุคใหม่—ในบริบทพื้นที่เมือง—อสูรเหล่านี้กลับสามารถเร้นกายอยู่ร่วมกับมนุษย์ท่ามกลางคนแปลกหน้าอื่นๆ ได้
ดังนั้น การดำรงอยู่ของอสูรในภาคปัจจุบันรวมถึงมุซันจึงค่อนข้างไปคล้ายกับการเกิดขึ้นของภูตผีปีศาจในยุคใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทเมือง ส่วนหนึ่งสะท้อนความวิตกกังวลของภาวะเมืองใหญ่ที่เราใช้ชีวิตอยู่กับคนจำนวนมาก และเราไม่แน่ใจว่าคนข้างบ้านของเรา คนที่ดูเป็นคนทั่วๆ ไป อาจจะเป็นปีศาจ เป็นฆาตกรก็เป็นได้ ลักษณะของอสูรที่เดินอยู่ท่ามกลางผู้คนใต้เงาเมืองได้นั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือแดรกคูลา ที่ในเรื่องแดรกคูลาก็ดูเป็นคนปกติ แถมเตรียมไปซื้อบ้านกลางลอนดอนอีกต่างหาก
ย่านเริงรมย์ ย่านธุรกิจ ความเสื่อมโทรมในฉากหน้าอันฉูดฉาดของเมืองใหญ่
ทีนี้ ดังที่เปรยไปข้างต้น อันที่จริงกรุงเอโดะเองในบางความเห็นของนักวิชาการก็มองว่า เอโดะมีความเป็นเมืองอยู่ในรูปแบบของตัวเองอยู่แล้ว เช่น การเป็นศูนย์กลางของการอยู่อาศัย การมีย่านการค้า การจัดการระบบสาธารณูปโภค ซึ่งถ้าเราดูตัวย่านเริงรมย์เอง ก็อาจจะพอยืนยันลักษณะของความเป็นเมืองใหญ่ และอาจมองเห็นปัญหาของเมืองใหญ่ได้
ในด้านหนึ่ง ความเป็นเมืองสัมพันธ์กับการกระจุกตัวของผู้คน และในด้านหนึ่งคือการที่เมืองจัดการพื้นที่ให้เป็นระบบ มีระบบน้ำ ไฟส่องสว่าง ระบบรักษาความปลอดภัย และถ้าเราดูการเกิดขึ้นของย่านโคมแดงหรือย่านโยชิวาระ เราจะเห็นการก่อตัวขึ้นของกรุงโตเกียวและความพยายามในการจัดการพื้นที่เมือง คือ ในทศวรรษ 1650 เมืองเอโดะขยายตัวขึ้น ทางเมืองก็เลยจัดการย้ายย่านโคมแดงไปอยู่ทางทิศเหนือของวัดอาซากูซะ ประกอบกับที่ย่านเดิมถูกไฟไหม้ในเวลาต่อมา ตัวย่านใหม่ที่รัฐไปจัดสร้างไว้ก็เลยกลายเป็นทั้งเขตควบคุม และกลายเป็นพื้นที่ที่ฉูดฉาดที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงโตเกียวในเวลาต่อมา ในแง่ของการปรากฏของย่านกินดื่มและการเป็นพื้นที่พักผ่อน ย่านโยชิวาระจึงทำให้โตเกียวคับคั่งและมั่งคั่งมาตั้งแต่ยุคเอโดะแล้ว ทั้งตัวย่านเองก็ได้รับการจัดวางอย่างเป็นระบบ มีการวางผังด้วยรูปทรงสี่เหลี่ยม
ทีนี้ ประเด็นเรื่องย่านโยชิวาระ รวมถึงอสูรเช่นดาคิ เราเองก็เลยอาจจะพอตีความได้ว่า บาดแผลของดาคิคือการเป็นเด็กที่เกิดในย่านโยชิวาระ ตัวย่านเองสัมพันธ์กับการที่ย่านนั้นเป็นเหมือนพื้นที่ดำมืดของเมืองใหญ่ นึกภาพกรุงเอโดะที่กลายเป็นเมืองที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามา โดยอีกด้านของเมืองก็คือปัญหาความยากจน หรือกระทั่งการเดินทางเข้าเมืองเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีที่โชคชะตาอาจจะไม่อำนวยให้เหล่าหญิงสาว
ยิ่งถ้าเราดูบริบทของเมืองในยุคไทโช พื้นที่ของโตเกียวเองก็ประสบปัญหาผู้คนอพยพเข้ามาเพื่อเป็นแรงงาน เกิดปัญหาความยากจน ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยที่ไม่ถูกสุขอนามัย เกิดโรคระบาดเช่นอหิวาห์ และแน่นอนว่าภาวะสงครามในยุคต่อๆ มาก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องภาวะแรงงาน การใช้แรงงานเด็ก และสุขภาวะของเด็กๆ ในพื้นที่เมือง
สุดท้าย ตัวเรื่องของดาบพิฆาตอสูรได้ใช้ช่วงรอยต่อของญี่ปุ่นยุคเก่าสู่ญี่ปุ่นสมัยใหม่ ในด้านหนึ่งภาพของพื้นที่ที่ทันจิโร่เผชิญ ปัญหาของเด็กๆ และปัญหาที่อาจสัมพันธ์กับบริบทการพัฒนาเมืองของกรุงโตเกียว ยุคไทโชเป็นยุคที่ทั้งเด็กเองยังประสบกับปัญหาบางอันผลพวงจากยุคก่อนหน้า และตัวพื้นที่เมืองที่เติบโตขึ้นอย่างไร้ทิศทางก็กลายเป็นปัญหาที่รัฐลงมาดูแลกันต่อไป
สิ่งที่น่าสนใจจากข้อสังเกตเรื่องเด็ก เรื่องบริบทเมือง และปัญหาของเมืองในช่วงผลัดเปลี่ยนของญี่ปุ่น คือ แม้ว่าในเรื่องจะเล่าถึงความยากลำบากที่เกิดจากอสูรหรือตัวละครในจินตนาการ แต่ทว่าในบริบทททางประวัติศาสตร์—ยุคสงครามและสมัยของการเปลี่ยนผ่าน การเข้าสู่โลกสมัยใหม่ การอพยพเข้าเมือง หรือการเติบโตของเมืองอย่างไร้ทิศทาง ในที่สุด ในความก้าวหน้าและแสงไฟอันสว่างสดใสก็ย่อมมีผู้คนที่ตกอยู่ใต้เงามืด
ความพิเศษของยุคไทโชส่วนหนึ่งจึงไม่ใช่แค่การก้าวไปข้างหน้า แต่คือการแก้ไขจากการก้าวกระโดดที่อาจรวดเร็วเกินไป หรือการปรับรับเอาความทันสมัยแบบใหม่ เข้าผสานกับความทันสมัยหรือความเป็นเมืองในบริบทของตัวเอง หนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญคือการเกิดขึ้นของแนวคิดเรื่องผังเมืองที่กรุงโตเกียวได้เกิดทั้งหน่วยงานผังเมืองคือ City Planning Bureau (Toshi Keikaku Ka) ในปี ค.ศ.1989 พร้อมกับการเกิดขึ้นของกฎหมายเพื่อการจัดระเบียบเมืองและการควบคุมอาคารขนาดในเวลาต่อมา
สำหรับบริบทการวางผังเมืองโตเกียวใหม่ การลงมือและจัดผังเมืองใหม่ญี่ปุ่นเองก็ได้รับอิทธิพลจากหลายเมืองใหญ่ไม่ว่าจะเป็นปารีสหรือจากฝั่งเยอรมนี ตัวอย่างเช่น ในกระบวนการเวนคืน จัดสรรและสนับสนุนงบประมาณได้อิทธิพลจากกรุงปารีสใช้วิธีของ Georges-Eugène Haussmann ผู้ทุบปารีสและสร้างใหม่จนมีผังแบบปัจจุบัน หรือการวางกฎหมายอาคารรวมถึงการจัดโซนในระบบผังเมือง ญี่ปุ่นก็ได้รับอิทธิพลจากเยอรมันโดยมี Bebauungsplan เป็นต้นแบบ
จากรากฐานผังเมืองสมัยใหม่ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาของเมืองยุคเฟื่องฟู ในประเด็นเรื่องเด็กๆ ญี่ปุ่นเองก็มองเห็นและพยายามโอบอุ้ม ดูแลเด็กๆ ในฐานะอนาคตสำคัญของชาติ ลองนึกภาพเรื่องราวในการ์ตูนเช่นชินจัง หรือเรื่องราวอื่นๆ เราจะเห็นว่าเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือเด็กน้อยมักจะไปใช้เวลาที่สวนขนาดเล็กไม่ไกลจากบ้านหรือโรงเรียน สวนเหล่านี้เกิดขึ้นทิศทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในยุคหลังแผ่นดินไหวในเขตคันโตครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1923 เมื่อเมืองต้องถูกสร้างขึ้นใหม่ โตเกียวกลับเลือกที่จะสร้างสวนขนาดเล็กที่ออกแบบเพื่อเด็กๆ โดยเฉพาะ ทำให้หลังจากแผ่นดินไหวใหญ่ โตเกียวกลับมีสวนจิ๋วผุดขึ้นอย่างน้อย 52 แห่งในระยะการเดินของโรงเรียนทั่วเมือง
อ้างอิงข้อมูลจาก