เวลาเรามีอยู่อย่างจำกัด ต้องใช้ให้คุ้มและไม่หยุดพัฒนาตัวเอง แต่พอคิดอีกทีชีวิตก็ไม่แน่นอน หรือเราควรใช้มันไปกับการพักผ่อนหย่อนใจแล้วใช้ชีวิตให้มากขึ้นกันแน่นะ?
ข้อถกเถียงอันไม่มีวันจบสิ้นเกิดขึ้นผ่านตัวอักษรบนโลกโซเชียลมีเดียที่เปิดพื้นที่ให้ความเห็นหลากหลายหลั่งไหลเข้ามาแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น เมื่อเลนส์ที่มองโลกต่างกัน จึงมีทั้งฝั่งที่มองว่าเราควรบริหารเวลาดีๆ แล้วลงมือทำในสิ่งที่ช่วยให้ชีวิตก้าวหน้า ได้พัฒนาทักษะนู้น ความสามารถนี้ เรียกว่าเป็นการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน รอความงอกงามจากความอดทน ทว่าความเห็นของอีกฝั่งคือ การอดเปรี้ยวไว้กินหวานในยุคนี้ช่างดูสิ้นหวังและโอกาสที่จะได้ลิ้มรสหวานนั้นดูเหมือนจะริบหรี่มากขึ้นทุกวัน บางคนจึงให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น สบายใจและมีความสุขกับปัจจุบันมากกว่าจะวิ่งคว้าอนาคตอันไม่แน่นอน
คงเป็นเรื่องยากหากจะบอกว่าใครถูกผิด เพราะต่างฝ่ายต่างพูดในเงื่อนไขและบริบทที่แตกต่างกันออกไป แต่ท้ายที่สุดแล้ว เรายังมี ‘ตรงกลาง’ ให้ได้ใช้ชีวิตแบบที่ยังโปรดักทีฟโดยไม่เหนื่อยจนเกินไปหรือเปล่านะ?
เมื่อความโปรดักทีฟยังเป็นเรื่องสำคัญ
แน่นอนว่าการทำสิ่งต่างๆ ให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพในเวลาน้อยๆ ยังเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะในโลกทุนนิยมที่เรายังจำเป็นต้องทำงานหาเงินเพื่อมาตอบสนองความต้องการพื้นฐานในชีวิต ฉะนั้นการใช้เวลาให้คุ้มค่าและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ฟังพอดแคสต์ เข้าคอร์สเสริมทักษะ บริหารจัดการเวลาให้เราทำงานได้ดีขึ้น เก่งขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ฟังดูสมเหตุสมผล เพราะความก้าวหน้าก็ช่วยให้ชีวิตเรามีรายได้ที่เพิ่มขึ้นหรือมั่นคงมากขึ้น ส่วนในด้านจิตใจการทำสิ่งเล็กๆ สำเร็จในแต่ละวันช่วยกระตุ้นความรู้สึกว่าเราควบคุมชีวิตตัวเองได้เลยรู้สึกอุ่นใจมากกว่าจะปล่อยเวลาให้พ้นผ่านไปเรื่อยๆ โดยปราศจากผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกันค่านิยมการใช้ชีวิตให้โปรดักทีฟก็เป็นเหมือนดาบสองคมที่มีอีกด้านด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า toxic productivity ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจผิดคิดว่าการทำตัวยุ่งๆ ตลอดเวลาเท่ากับการโปรดักทีฟ ไปจนถึงความรู้สึกกลัวตกขบวน (FOMO) ที่เกิดขึ้นพร้อมความกดดันว่าเราใช้เวลาอย่างเปล่าประโยชน์อยู่หรือเปล่านะ บางคนอาจจะสุดโต่งถึงขั้นที่คิดว่าเราควรทุ่มเวลากับสิ่งที่ ‘มีสาระ’ ทิ้งความสัมพันธ์รอบข้าง มองว่าการพักผ่อนเป็นเรื่องที่เราปล่อยเวลาให้ผ่านไปพ้นไปอย่างไร้ประโยชน์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นวิธีที่ไม่เฮลตี้กับชีวิตในระยะยาว
โปรดักทีฟเราอาจไม่เท่ากัน
นอกจากความโปรดักทีฟในรูปแบบที่ ‘ตึงเกินไป’ แล้ว อีกเรื่องสำคัญที่ทำให้เราเครียดจากความโปรดักทีฟ คือการเผลอเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นๆ ว่า ‘เวลาเรามีเท่ากัน แต่ทำไมเขาทำได้มากกว่า’ ซึ่งการเผลอเปรียบเทียบแบบนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้และเป็นธรรมชาติของมนุษย์โดยอิงทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม (social comparison theory) ของนักจิตวิทยา ‘ลีออน เฟสติงเจอร์’ (Leon Festinger) ที่กล่าวว่า เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้าง เพื่อประเมินและทำความเข้าใจตัวเองว่าเราคือใคร อยู่ตรงจุดไหน และต้องทำอะไรต่อไปบ้าง นอกจากนี้ในเว็บไซต์ positive psychology ระบุว่า เราจะยิ่งเปรียบเทียบมากกว่าปกติเมื่ออยู่ในช่วงชีวิตที่ก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ๆ เช่น วันแรกๆ ที่เข้าเรียน ช่วงเริ่มต้นชีวิตวัยทำงานของเหล่า first jobber
ดังนั้น การคิดว่า ‘ทำไมเราทำแบบเขาไม่ได้บ้างนะ’ จึงเป็นเรื่องปกติเพื่อการปรับตัวของมนุษย์ และอาจส่งผลดีกับเราเมื่อสิ่งนั้นคือแรงผลักดันให้เราอยากก้าวไปข้างหน้า แต่สิ่งที่ควรมาควบคู่กัน คือการตระหนักเสมอว่ามนุษย์เราใช้ชีวิตอยู่บนเงื่อนไขที่แตกต่างกัน แค่ตอนเริ่มต้นก็อาจจะอยู่คนละจุดกันแล้ว เช่น บางคนสุขภาพกายหรือใจไม่ได้ดีเป็นทุนเดิม การลุกมาทำหลายๆ อย่างหมือนคนอื่นอาจจะส่งผลเสียได้มากกว่า หรือถ้าลองนึกภาพคนที่ต้องลุยฝนขึ้นรถเมล์ ทรงตัวบนรถไฟฟ้าอัดแน่นเป็นปลาประป๋อง แล้วต้องเติมความรู้ผ่านการอ่านหนังสือ ฟังพอดแคสต์เนื้อหาหนักๆ ไปด้วย แทนที่จะได้พัฒนาทักษะความรู้ อาจกลายเป็นการเติมความเครียดให้ชีวิตแทน หรือบางคนทำงานเยอะเท่าไร แต่ชีวิตก็ยังไม่ขยับไปไหน แถมค่าตอบแทนยังถูกแช่แข็งไว้เท่าเดิม ทั้งยังไม่ได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ นอกเหนือไปจากความอดทน เมื่อทุ่มเทเท่าไรก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปมากกว่านี้ เลยไม่น่าแปลกใจถ้าความโปรดักทีฟในรูปแบบที่คนหนึ่งทำแล้วประสบความสำเร็จ อาจจะปรับใช้ไม่ได้กับอีกคนเสมอไป
แต่ถ้าใครหยุดเปรียบเทียบความโปรดักทีฟของตัวเองกับคนอื่นๆ ไม่ได้ ก็อาจจะลองปรับมาเปรียบเทียบชีวิตตัวเองในช่วงเวลาที่แย่กว่านี้ แล้วฝึกขอบคุณตัวเองบ่อยๆ เพื่อเติมกำลังใจให้ตัวเองในวันที่กำลังพยายามก้าวไปข้างหน้า และหันมาโฟกัสว่า เป้าหมายและความต้องการของเราคืออะไร ควรโปรดักทีฟกับเรื่องไหน หยุดพักตอนไหน เพราะหากเราตอบตัวเองได้ชัด อาการหวั่นไหวไปกับชีวิตแสนโปรดัฟทีฟของคนอื่นอาจจะลดลงไป และหาสมดุลระหว่างการพักผ่อน กับการพัฒนาตัวเองได้ง่ายขึ้นบ้าง
แต่ถ้าใครยังรู้สึกผิดกับการพักผ่อน ใจมันร้อนรนเมื่ออยู่ว่างๆ ทั้งที่ร่างกายบอกว่าไม่ไหวแล้ว เราอยากจะบอกว่ามีการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ความโปรดักทีฟกับความเป็นอยู่ที่ดีมีความเชื่อมโยงกันด้วยนะ เพราะความเป็นอยู่ที่ดี เช่น การมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง และอารมณ์ความรู้สึกที่มั่นคง ช่วยเพิ่มความโปรดักทีฟในการทำงานได้มากกว่า
ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญอาจไม่ใช่ ‘คนอื่น’ วิ่งไปไกลแค่ไหน หรือใช้ 24 ชั่วโมงไปกับอะไรบ้าง แต่เป็นการจริงใจกับตัวเองว่า สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คืออะไร โอเคกับจุดที่อยู่ตอนนี้ไหม ถึงเวลาที่เราจะโปรดักทีฟมากขึ้นหรือหยุดพักแล้วหรือยัง ซึ่งคงมีแค่เราเท่านั้นจะตอบตัวเองได้
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Manita Boonyong
Proofreader: Runchana Siripraphasuk