ก่อนหน้านี้เราจะเห็นเทรนด์การใช้ชีวิตแบบโปรดักทีฟ ใช้ทุกวินาทีให้คุ้มค่า ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา
แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นเทรนด์ต่อต้านการทำงานหนักอย่าง Anti-work Movement และ Lying Flat หรือเทรนด์ที่ทำงานแค่พอไม่ให้ถูกไล่ออกอย่าง Quiet Quitting แม้กระทั่งพจนานุกรมของอ็อกซ์ฟอร์ดยังยกให้คำว่า ‘ก็อบลิน โหมด’ (Goblin Mode) เป็นศัพท์แห่งปี 2022 ที่สื่อถึงความขี้เกียจ ปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่แคร์บรรทัดฐานหรือค่านิยมในสังคม ชวนให้เราสงสัยว่า ตอนนี้หมดยุคโปรดักทีฟไปแล้วหรือยัง?
ถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้ ในสหรัฐอเมริกา มีสิ่งที่เรียกว่า Hustle Culture ซึ่งให้คุณค่ากับการทำงานหนักและยกให้งานคือชีวิต โดยแนวคิดนี้เริ่มได้รับความนิยมจากวัฒนธรรมการทำงานใน Silicon Valley ที่ทุ่มเทให้กับงานเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา บวกกับยุคสมัยแห่งโซเชียลมีเดียที่เอื้อให้เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมากขึ้นเพราะเห็นความสำเร็จของคนอื่นจนเต็มฟีด และกลัวจะวิ่งตามไปไม่ทัน (Fear of Missing Out) เลยต้องโปรดักทีฟตลอดเวลา ตามมาด้วยเรื่องงานที่เริ่มหลอมรวมกับชีวิต อย่างแนวคิดที่ว่า งานอดิเรกควรจะสร้างรายได้ (ทั้งที่บางคนแค่อยากทำเพราะสนุกเฉยๆ) ทำงานที่เรารักหรือรักงานที่เราทำ (ทั้งที่บางคนแค่อยากทำงานเพื่อให้มีรายได้) ไปจนถึงวัฒนธรรมการทำงานแบบครอบครัวที่สะท้อนว่างานได้ถูกผูกรัดเข้ากับความสัมพันธ์ส่วนตัวของเรา
ชีวิตอาจแสนสั้นเกินกว่าจะเอาแต่ทำงาน
ขณะที่เหล่าคนหนุ่มสาวกำลังรู้สึกว่า ไหนๆ ก็อยู่ในช่วงชีวิตที่เรา ‘ยังมีเรี่ยวแรง’ เลยอยากทุ่มเทเวลาให้กับงานและการพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่าชีวิตคงอีกยาวไกล แต่แล้วเรื่องไม่คาดฝันก็ได้เกิดขึ้น เมื่อ COVID-19 กลายเป็นเหมือนใครสักคนที่มาเขย่าตัวเราแรงๆ ให้ตื่นขึ้นมาพบว่าชีวิตนั้นแสนสั้นและไม่แน่นอน บวกกับตั้งคำถามว่า เราจะใช้เวลาที่เหลือเพื่อก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไปจริงหรือเปล่า?
ยิ่งการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ในช่วง COVID-19 บางคนเจอบรรยากาศท็อกซิก บางบริษัทเลิกจ้าง บ้างก็เอาเปรียบพนักงานในช่วงวิกฤต ยิ่งทำให้หลายคนเริ่มเกิดความคิดที่ว่า เราทุ่มเทขนาดนี้ไปเพื่อใครและเพื่ออะไรกันแน่ ในเมื่อผลลัพธ์ที่ได้มาไม่ได้คุ้มค่าสักเท่าไร เพราะนอกจากเงินเดือนจะไม่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังพ่วงมาด้วยสุขภาพย่ำแย่ ความสัมพันธ์ที่พังลงไป เลยไม่น่าแปลกใจที่ช่วงหลังๆ จะมีเทรนด์ต่อต้านการทำงานหนัก หรือหมดไฟจนไม่อยากทำอะไรเลย
และแม้ว่าตอนนี้สถานการณ์ COVID-19 จะดีขึ้นแล้ว แต่ต้องยอมรับว่ารูปแบบการทำงานของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะความยืดหยุ่น เช่น การทำงานทางไกล (remote work) หรือการทำงานที่ยืดหยุ่นเวลามากขึ้น (Asynchronous work) ดังนั้นความโปรดักทีฟอาจเป็นเรื่องที่วัดได้ยากขึ้นไปกว่าเดิม นอกจากนี้ เรายังมีเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI เข้ามาช่วยเป็นเครื่องทุ่นแรงและลดขั้นตอนสำหรับงานบางงาน เลยไม่ต้องทุ่มเทพลังงานมากเท่าเดิม แต่แบ่งเวลาที่เหลือมา ‘คิด’ สร้างสรรค์สิ่งใหม่มากขึ้น หรือพักผ่อนเติมพลังเพื่อไม่ให้เบิร์นเอาต์ไปเสียก่อน
ยุคสมัยแห่งความสร้างสรรค์
ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายถึงคนเราจะลบความโปรดักทีฟออกไปจากชีวิตอย่างสิ้นเชิง แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เราโบกมือลา คือความเชื่อที่ว่า ‘เราต้องโปรดักทีฟตลอดเวลา’ เพราะความโปรดักทีฟอาจไม่ได้เป็นตัวร้ายในตัวมันเอง แต่ดูเหมือนว่าการวิ่งไปอย่างสุดโต่งต่างหากที่กัดกินตัวตนและความสุขของผู้คน นี่จึงอาจเป็นยุคที่เราหาตรงกลางไม่ให้กลายเป็น Toxic Productivity แต่ก็ไม่เฉื่อยชาจนทุกอย่างในชีวิตหยุดชะงัก ซึ่งตรงกลางที่ว่านั้น อาจเป็นการทำในสิ่งที่จำเป็นและสอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย ไม่ใช่การหว่านแหทำเยอะๆ ไว้ก่อน บวกกับการมองระยะยาวมากขึ้น โดยเปลี่ยนจากการตั้งเป้าหมายแค่ ‘ทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จ’ มาเป็นการ ทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จโดยที่ยังมีสุขภาพกายและใจที่ดีไปด้วย
เช่นเดียวกับ Katina Bajaj ที่เขียนในบทความของเธอว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เรายอมรับการทำงานแบบหนูถีบจักร ยกให้ ‘งาน’ มาก่อนทุกอย่างในชีวิต และพยายามใช้ทุกช่วงเวลาของวันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทว่าการทำงานวิ่งวนในวัฏจักรเหล่านี้ สุดท้ายอาจลงเอยด้วยปัญหาสุขภาพใจอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน แต่โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เราไม่ได้อยากทำงานมากขนาดนี้ เพราะมนุษย์จะเติบโตและก้าวหน้าได้มากขึ้น เมื่อเรา ‘มีเวลาว่าง’ ให้ฝันกลางวัน และจินตนาการ ซึ่งจริงๆ นักวิจัยพบว่าสังคมที่ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนมากกว่าการทำงานจะมีความเป็นอยู่ที่ดีในระดับที่สูงขึ้นด้วยซ้ำ แต่ความคิดสร้างสรรค์ที่ว่าไม่จำเป็นต้องคิดงานใหม่ๆ ทำอะไรยิ่งใหญ่เลย บางทีอาจจะเป็นแค่การวาดรูปเล่นในกระดาษ เล่นเลโก้ หรือนั่งมองฟ้า มองน้ำรื่นรมย์กับสิ่งรอบข้างเฉยๆ ก็ได้
นอกจากนี้ การมีพื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เราเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เริ่มตั้งคำถามและคิดอะไรที่ต่างออกไป นั่นคือจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมใหม่ๆ ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมและออกจากระบบเดิมๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเริ่มมาจากการจินตนาการ พร้อมกับคำถามที่ว่า ‘อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า…’
มุมมองนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ สก็อตต์ เบลสกี (Scott Belsky) ผู้ก่อตั้ง Behance เคยเขียนวิเคราะห์ไว้ว่า ในแง่มุมของการทำงาน ตอนนี้เราก้าวผ่านยุคที่มนุษย์ต้องโปรดักทีฟเพื่อให้ได้ผลิตผลเยอะๆ มาเป็นการใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีผลิตสิ่งเหล่านี้แทน เรากำลังจะเข้าสู่ยุคที่มนุษย์เอาเวลามาใช้คิดหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ซึ่งเป็นเรื่องที่ ‘เครื่องจักรทำไม่ได้’ ผู้คนจะเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ในตลาดจะมีสินค้าที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม (niche) มากขึ้น และไม่แน่ว่านี่อาจเป็นยุคสมัยที่งานสร้างสรรค์กำลังจะเติบโต จากที่ก่อนหน้านี้งานสร้างสรรค์เป็นเหมือนพรีวิเลจอย่างหนึ่งเพราะมีแค่คนบางกลุ่มเท่านั้นจะสามารถทำเพื่อเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคงจริงๆ
แต่แนวคิดนี้ ในตัวมันเองก็คือความโปรดักทีฟรูปแบบหนึ่ง แค่เปลี่ยน ‘วิธีการ’ จากการลงมือทำเยอะๆ มาเป็นการใช้เครื่องมืออื่นๆ ทุ่นแรง หรือแบ่งเวลาไปพักชาร์จแบตตัวเองเพื่อให้โปรดักทีฟได้ในระยะยาว ดังนั้นความโปรดักทีฟอาจจะไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่มีมุมมอง มีวิธีการที่เปลี่ยนแปลงไปและหลากหลายมากขึ้นเท่านั้นเอง
หรืออีกมุมหนึ่ง สิ่งเหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็นว่า เราเริ่มมอง ‘มนุษย์’ เป็น ‘มนุษย์’ มากขึ้น ไม่ใช่แค่ AIหรือเจ้าหนูถีบจักรที่ไม่มีวันเหน็ดเหนื่อยอีกต่อไป
อ้างอิงจาก