เราพร้อมให้โอกาสคนๆ หนึ่งที่เคยทำผิดพลาดได้ปรับปรุงตัว หรือกระทั่ง ‘เริ่มต้นใหม่’ มากน้อยแค่ไหน
และหากความผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องของกฎหมาย ถึงขั้นติดคุกมากก่อนล่ะ ..คุณยังพร้อมจะให้โอกาสอยู่ไหม และภายใต้เงื่อนไขใด
กรมราชทัณฑ์ได้รวบรวมสถิติเกี่ยวกับการ ‘กระทำผิดซ้ำ’ ของผู้ต้องขังไทย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 จนถึงปัจจุบัน และพบข้อมูลน่าสนใจว่าภายใน 3 ปีหลังพ้นโทษ ราวหนึ่งในสามของผู้ต้องขังจะกลับมากระทำผิดซ้ำ จนต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนอะไรบ้าง เป็นเพราะคนเหล่านั้นเป็นคนไม่ดีโดยกมลสันดาน หรือเพราะโอกาสที่ตีบตันจากสถานะ ‘อดีตนักโทษ’ พร้อมกับโครงสร้างบางอย่างที่กดทับพวกเขาอยู่
เราอยากชวนไปแง้มดูว่า หลังผู้ต้องขังคนหนึ่งพ้นโทษออกจาก ‘กรงขัง’ ยังมีอะไรอีกบ้างที่ขวางกัน ไม่ให้พวกเขาได้กลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนคนอื่นๆ ทั้งที่ชดใช้ความผิดตามที่ค้อนของความยุติธรรมพิพากษาไปแล้ว
กรงคน
“มีรอบหนึ่ง พี่ไปสมัครงานที่โรงงาน เขาถามว่าเคยทำอะไรมาก่อน ก็ตอบไปตามตรง เขาก็บอกว่าเดี๋ยวติดต่อกลับ เท่านั้นแหละรู้เลยว่าเขาไม่รับ ..หลังจากนั้น พี่ก็ไปสมัครงานอีกที่ พอเราบอกเขาเหมือนเดิมตามตรง เขาก็บอกว่าไม่อยากให้มียาเสพติดอยู่ในโรงงานเลย เท่านั้นแหละ พี่พูดเลยว่า รู้ได้ไงว่าโรงงานนี้ไม่มียาเสพติดแล้วลุกออกจากโต๊ะเลย”
รี่ หญิงวัยสี่สิบเศษเติบโตในสลัมของ จ.สมุทรปราการ พ่อเป็นคนขับแท็กซี่ แม่เป็นแม่บ้าน ความขัดสนทำให้เธอเริ่มเป็นคนเดินยาในชุมชนตั้งแต่เด็ก กระทั่งกลายมาเป็นผู้ค้าเสียเอง ก่อนจะโดนจับครั้งแรกในคดีค้ายาเสพติด และถูกส่งเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 7 ปี
หลังพ้นโทษออกมา เธอพยายามสมัครเข้าทำงานที่โรงงานหลายแห่ง ทุกครั้งจะถูกถามว่าเคยทำอะไรมาก่อน เมื่อเธอบอกไปตามตรงอย่างไม่บิดพริ้ว คำตอบที่ได้ก็เป็นไปตามบทสนทนาข้างต้น
ความผิดหวังซ้ำซากบวกกับโอกาสที่ไม่เคยได้รับ บีบให้เธอกลับสู่เส้นทางเก่า จนต้องเข้า-ออกเรือนจำรวม 9 ครั้ง
แต่รี่ไม่ใช่คนเดียวที่เผชิญการปฏิเสธจากโลกภายนอก
นัฐ เติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของลุงที่รับเขามาเลี้ยง เพราะพ่อแม่เป็นคนจีนโพ้นทะเลที่แยกทางกันตั้งแต่เขายังไม่ลืมตาดูโลก ความเหินห่างและแปลกแยกทำให้เขาหันเข้าหายาเสพติด และเริ่มขโมยของภายในบ้านเพื่อนำไปหาซื้อยามาเสพ จนถูกไล่ออกจากบ้าน
เมื่อออกมาเผชิญโลกภายนอกด้วยตัวเอง นัฐจึงดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยการลักเล็กขโมยน้อย เพื่อหาเงินไปจ่ายค่าเช่าห้องและซื้อยาเสพติด ปรนเปรอความสุขและความอยู่รอดให้ตัวเองแบบวันต่อวัน จนถูกจับเข้าสู่สถานพินิจ 3 รอบ แต่ประสบการณ์ในนั้นยิ่งทำให้เขาถลำลึก เขาเริ่มรู้จักเครือข่ายยาเสพติด จนเปลี่ยนจากผู้เสพมาเป็นผู้ขาย ก่อนจะกลายมาเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษธนบุรี
เมื่อเขาพ้นโทษออก ถนนชีวิตยังคงมืดมิด ไม่มีแสงไฟให้เห็นแม้สักดวงเดียว ทำให้เขาหวนคืนสู่วงจรยาเสพติดอีกครั้ง
“ออกจากเรือนจำครั้งแรก ผมเริ่มคิดได้ว่าจะไม่ขายยาเสพติดอีกแล้ว ก็เลยไปสมัครงานที่โรงงานไอติม พอเดินไปถึงหน้าโรงงาน ยามเขาถามก่อนเลยว่าเคยติดคุกมาไหมเนี่ย ผมก็บอกว่าครับ เขาบอกว่า โอ้ย ที่นี่เขาไม่รับหรอก ตอนนั้นผมก็กลับเลยนะ มันทำให้เรารู้สึกว่า อะไรวะ ไม่ใช่แล้ว
“หลังจากนั้น ผมพยายามปลอมวุฒิการศึกษาไปสมัครงาน เพราะจบมาแค่ ป.6 แต่มันก็ยากเหลือเกิน สุดท้ายเราก็ตัดใจ กลับไปหาเพื่อนดีกว่า ไปขอยามาทำ สุดท้ายก็เลยโดยจับอีกรอบ”
สิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้ง 2 คน คือภาพสะท้อนชะตากรรมของอดีตผู้ต้องขัง ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาทับซ้อนกัน ทั้งความยากจน ไร้การศึกษา และเมื่อขาดโอกาสประกอบอาชีพที่สุจริต จึงทำให้ต้องหันไปเดินบนเส้นทางเดิม ชีวิตวนลูปอยู่ในวงจรการกระทำความผิด
ทำไม จึงควรให้โอกาสอดีตนักโทษ
บางความเห็นในสังคมไทยมักสนับสนุนให้ลงโทษผู้ที่ทำผิดกฎหมายหนักๆ ให้ติดคุกนานๆ ไม่ควรปล่อยให้กลับออกมาใช้ชีวิตกับคนทั่วไป เช่น “เลวขนาดนี้ ทำไมถึงติดแปปเดียว” หรือ “ขี้คุก พวกนี้ออกมาเดี๋ยวก็ทำเรื่องชั่วๆ อีก”
แล้วทำไมเราจึงควรให้โอกาสคนเหล่านี้ ?
“เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่ผิดโดยสันดาน คนที่พลั้งพลาดมีเยอะนะ จากสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าตกงาน ยากจน สังคมสร้างพวกเขาขึ้นมาทั้งนั้น สามีที่ซ้อมภรรยาทุกวันสุดท้ายโดนแทงสวนกลับไป ภรรยาติดคุก หรือผู้หญิงที่ไม่มีการศึกษา ถูกสามีทิ้ง แล้วหันไปขายยา เราไม่ควรให้โอกาสพวกเขาเหรอ” นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ตั้งคำถาม
นัทธียังกล่าวถึงความเข้าใจผิดของสังคมเรื่องหนึ่งว่า คนที่ทำผิดคดีรุนแรงจะต้องทำผิดซ้ำ แต่ความจริงคือคนที่ทำผิดคดีเล็กน้อยหลายๆ ครั้งต่างหากที่นำไปสู่คดีรุนแรง
“สังคมคิดว่าคนที่ผิดคดีรุนแรงจะต้องทำผิดซ้ำ จริงๆ มันกลับกัน เพราะถ้าคุณเคยติดคุก 1 ปี คราวหน้าคุณก็ไม่กลัวคุกอีกแล้ว จนสุดท้ายคุณเลยกล้าทำความผิดคดีใหญ่ ผมทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมพบว่าใน 20 คดีใหญ่ๆ ไม่ว่าจับตัวประกันหรือฆาตกรรม ส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยติดคดียาเสพติด หรือคดีเล็กน้อยมาก่อนทั้งนั้น”
หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมไทยก็เห็นถึงปัญหาที่สกัดกั้นไม่ให้อดีตผู้ต้องขังได้กลับเนื้อกลับตัว-กลับคืนสู่สังคม จึงพยายามผลักดันหลายโครงการมาแก้ปัญหา เช่น โครงการ ‘Every Step Together ก้าวที่ไม่โดดเดี่ยว’ ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ที่ส่งเสริมให้อดีตผู้ต้องขังและผู้ต้องขังมีงานทำหลังก้าวพ้นเรือนจำ โดยทำงานร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อสร้างแรงจูงใจให้รับคนกลุ่มนี้เข้าทำงาน
ทั้งนี้ มีผลการวิจัยจากสถาบันแมนฮัตตัน (The Manhattan Institute) ที่สำรวจเส้นทางชีวิตของผู้พ้นโทษในสหรัฐอเมริกาและพบว่า หากอดีตผู้ต้องขังในคดีลหุโทษ หากสามารถหางานทำได้ภายในปีแรกหลังพ้นโทษ จะลดโอกาสการกระทำผิดซ้ำได้ถึง 20%
หรือกล่าวได้ว่า โอกาสในการทำงานจึงสำคัญกับการเริ่มต้นใหม่ของอดีตผู้ต้องขัง
โดยเฉพาะอดีตผู้ต้องขังไทย ที่กว่า 70% ของผู้เพิ่งพ้นโทษจะอยู่ในช่วงอายุ 21-40 ปี หรือเป็นคนในวัยทำงาน ยังพร้อมจะสร้างตัว และเริ่มต้นใหม่
นอกจากนี้ ปลายปี 2564 กรมราชทัณฑ์ยังเริ่มต้นโครงการ ‘นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์’ นำร่องในเรือนจำ 4 แห่ง ได้แก่ เรือนจำชั่วคราวบางหญ้าแพรก จ.สมุทรปราการ, เรือนจำชั่วคราวบ้านบึง จ.ชลบุรี, เรือนจำชั่วคราวคลองด่าน จ.สมุทรปราการ และเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว จ.ระยอง เพื่อเสริมทักษะของผู้ต้องขังให้พร้อมกับการกลับสู่สังคม
อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการเหล่านี้ยังมีช่องโหว่และข้อจำกัด (อย่างน้อยๆ ก็ในแง่ของบประมาณ) ทำให้ผู้ต้องขังจำนวนมากเข้าไม่ถึง และต้องออกมาเผชิญปัญหาจากโลกภายนอกเมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว
ประวัติอาชญากร ดาบสองคม
“ตอนนั้นผมทำงานไปได้ประมาณ 2 เดือนกว่า วันหนึ่งฝ่ายบุคคลเขาก็เดินมาหาแล้วบอกว่า พี่เพิ่งตรวจประวัติของเป็ด คงต้องให้เป็ดออกจากงานภายในสิ้นเดือนนี้”
เป็ด ชายวัยสี่สิบที่เกิดและเติบโตในชุมชนแออัดย่านบางพลัด ผู้ออกจากโรงเรียนก่อนจบชั้นประถมศึกษา จนต้องไปก้าวเดินบนเส้นทางสีเทา กระทั่งเข้า-ออกเรือนจำอยู่หลายครั้ง เขาเคยได้งานที่โรงงานทำปั๊มน้ำแห่งหนึ่ง แต่ถูกขอให้ออกเพราะเคยมี ‘ประวัติอาชญากร’ หลังจากนั้นไม่ว่าจะพยายามหางานอะไร ก็ถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า
อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประวัติอาชญากรว่า เปรียบเสมือน ‘ดาบสองคม’ ในแง่หนึ่งมันสัมพันธ์กับความปลอดภัยของสังคม แต่ในอีกแง่ มันส่งผลกับโอกาสของอดีตผู้ต้องขัง ทั้ง 2 ด้านนี้จึงต้องหาวิธีทำให้สมดุลกัน
เขาเสนอว่า 1. ประวัติอาชญากรควรให้ผู้บังคับใช้กฎหมายดูได้เท่านั้น ไม่ใช่ใครไปขอดูก็ได้ เว้นแต่ความผิดบางประเภท เช่น คดีข่มขืนผู้เยาว์ และ 2. ต้องมีการจำกัดขอบเขต ถึงจุดหนึ่งมันควรลบได้ เช่น ถ้าภายใน 5 ปีไม่มีการกระทำผิดซ้ำและมีพฤติกรรมในทางบวกต่อสังคม อย่างเคยไปทำงานจิตอาสา ก็ควรจะขอลบได้ ซึ่งได้ในยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังดำเนินการกันอยู่
อ.ปริญญายังกล่าวถึงปัญหาการทำประวัติอาชญากรของไทยว่า แค่ตำรวจบันทึกข้อมูลของผู้ต้องหา ก็ถือว่ามีประวัติอาชญากรแล้ว แม้ต่อมาอัยการจะสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง ข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ถูกลบไป ยกเว้นผู้นั้นไปขอคัดแยกไว้ในบัญชีที่ขอดูไม่ได้ ทำให้ปัจจุบัน ไทยมีประวัติอาชญากรมากกว่า 17 ล้านแผ่น จากตัวบุคคล 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 7 ของประชากรทั้งประเทศ
“และถึงแม้ถูกจำคุกแล้ว มันก็ควรถามว่าจำคุกเท่าไหร่ถึงเรียกว่าเป็นอาชญากร 6 เดือนเป็นไหม 1 ปีเป็นไหม หรือโทษปรับ-รอลงอาญาเป็นไหม แต่ตอนนี้เราเป็นหมดตั้งแต่ตำรวจปั๊มลายนิ้วมือ นี่มันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิพื้นฐานมาก” อาจารย์นิติศาสตร์รายนี้กล่าว
กรงกฎหมาย
นอกเหนือจากเรื่องประวัติอาชญากรแล้ว อีกประเด็นที่ชวนหยิบมาพูดคุยถกถึยง ก็คือการกำหนดไว้ในกฎหมายหลายฉบับว่า อดีตผู้ต้องขังจะไม่สามารถไปประกอบอาชีพใดได้บ้าง
หนึ่งในนั้นคืออาชีพ ‘ข้าราชการ’
เพราะตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 36 กำหนดคุณสมบัติของผู้เป็นข้าราชการไว้ว่า ต้องไม่ “..(4) เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม..(7) เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ..”
และนอกจากข้าราชการแล้ว กุลภา วจนสาระ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเคยรวบรวมข้อมูลไว้ว่า มีกฎหมายห้ามอดีตผู้ต้องขังประกอบอาชีพใดบ้าง อาทิ
- ทนายความ – พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528
- แพทย์ – พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
- ตำรวจ – พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547
- ครู – พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547
- คนขับรถสาธารณะ คนเก็บค่าโดยสาร นายตรวจ ผู้บริการประจำรถ – พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522
ทั้งนี้ ในอดีตกระทั่งอาชีพหมอนวดก็ยังห้ามผู้ต้องขังทำตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ก่อนจะมีการแก้ไขในภายหลัง หลังถูกวิจารณ์อย่างหนัก
“ยังมีกติกาอีกหลายข้อ ไม่ว่าจะสำหรับข้าราชการหรืออาชีพอื่น ที่จะไม่รับผู้เคยกระทำผิดทางอาญา เท่ากับเรายังไม่ยอมรับ ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจอดีตผู้ต้องขังเลย แล้วจะมาบอกเอกชนว่าให้โอกาสพวกเขาหน่อย ทั้งๆ ที่รัฐยังกำหนดข้อห้ามเอาไว้ มันไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้อง”
คือคำกล่าวของ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (บ้านกาญจนาภิเษก) ผู้ทำงานกับเยาวชนที่ก้าวพลาดให้ได้กลับคืนสู่สังคม ที่มองว่า กติกาบางอย่างกีดกันผู้ต้องขังจากการประกอบอาชีพ
แต่ นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มองต่างว่า มีความจำเป็นที่บางอาชีพต้องมีกฎหมายคุ้มครอง เพราะเรือนจำยังฟื้นฟูคนเหล่านี้ไม่ได้ 100%
ด้าน อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า เราควรหยิบเรื่องนี้มาถกเถียงกันว่า ข้อห้ามในกฎหมายต่างๆ เป็นการกีดกันผู้ต้องขังในการประกอบอาชีพหรือไม่ และมันส่งผลกระทบต่อโอกาสในการคืนสู่สังคมของพวกเขาแค่ไหน
“ถ้าพวกเขารับโทษตามคำพิพากษาหมดแล้ว ถามว่า การที่พวกเขาหมดสิทธิประกอบอาชีพใดๆ อีก ถือเป็นโทษในทางกฎหมายไหม หรือกลายเป็นโทษทางปฏิบัติที่เขาต้องรับตลอดชีวิต”
อย่างไรก็ตาม อ.ปริญญากล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้คงต้องหยิบมาถกเถียงกันอีกมาก เพราะเป็นการหาสมดุลระหว่างความปลอดภัยของสังคมและสิทธิเสรีภาพของปัจจัย
จะทำอย่างไรเพื่อคลายกรง นอกเรือนจำ
“อยากได้โอกาสและการยอมรับจากสังคม ถามว่าที่ผ่านมาได้บ้างไหม คำตอบคือไม่มีเลย ..อดีตนักโทษต้องการแค่โอกาสที่ทุกคนจะเปิดใจรับเขาอย่างบริสุทธิ์ใจ เขาขอแค่นี้ ให้มีพื้นที่เล็กๆ ให้เขายืนบ้างก็ยังดี”
คือคำตอบจากอดีตผู้ต้องขังรายหนึ่งที่ถูกปฏิเสธการสมัครงานครั้งแล้วครั้งเล่า เพียงเพราะนายจ้างรู้ว่าเคยติดคุกมาก่อน จนต้องกลับไปทำอาชีพผิดกฎหมาย และกลายไปเป็นหนึ่งในผู้กระทำผิดซ้ำ – หลังเราถามว่า สิ่งที่ต้องการที่สุดคืออะไร ?
แม้การพูดถึง ‘โอกาส’ อาจเป็นคำที่ดูโลกสวย หากพิจารณาจากโครงสร้างของปัญหาที่สลับซับซ้อน แต่มันก็เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและสร้างความหวังให้กับผู้คน
ทิชา ณ นคร จากบ้านกาญจนาภิเษก ให้ข้อสงสัยไว้ว่า ที่ผ่านมา เรามักเห็นความเกรี้ยวกราด เห็นการตั้งคำถามกับตัวบุคคลอย่างรุนแรง แต่น้อยมากที่เราจะตั้งคำถามกลับไปยังโครงสร้างว่า อะไรทำให้คนจำนวนหนึ่งพลัดหลงไปอยู่ในนั้น
“แล้วถ้าเราไม่มองว่าอะไรคือปัจจัยร่วมที่ทำให้คนเหล่านี้ติดคุก เราจะคิดว่ามันเป็นเรื่องของความชั่วร้ายของคนนั้นๆ และโฟกัสแต่พฤติกรรมของเขา มันจะทำให้รัฐมีความชอบธรรมที่จะกีดกันพวกเขาออกจากสังคม และยังทำให้เกิดความชอบธรรมในการสร้างกติกา เขียนระเบียบขึ้นมาว่าคนเคยติดคุกต้องมีข้อจำกัดในการทำงานหลายๆ อย่าง” ทิชากล่าว
ยิ่งยามที่บ้านเมืองผิดรูปร่างเช่นนี้ สายตาที่แหลมคมถึงโครงสร้าง ยิ่งต้องควบคู่ไปกับสายตาอ่อนโยนและเห็นอกเห็นใจ
เพราะความผิดของคนๆ หนึ่ง หลายครั้งก็ไม่ได้เริ่มจากตัวเขาเพียงคนเดียว แต่มันมีปัจจัยร่วมหลายอย่าง
และใช่หรือไม่ว่า คนเราสมควรได้รับโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่เคยทำผิดพลาดไป หลังจากรับโทษทัณฑ์ต่างๆ ไปจนหมดสิ้นแล้ว เพื่อคืนเขากลับสู่สังคม
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
https://prachatai.com/journal/2017/02/69910
https://www.law.tu.ac.th/summary_seminar_deletion_of_criminal_records/
https://www.the101.world/thicha-nanakorn-interview/