สถานการณ์บ้านเมืองช่วงนี้ ถ้าถูกตีค่าออกมาเป็นอุณหภูมิก็คงจะเดือดปรอทแตก เพราะมีทั้งการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของหลายภาคส่วน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกอุ้มหาย มีหมายจับแกนนำการชุมนุมอย่างไม่สมเหตุสมผล คำตัดสินคดีบอส อยู่วิทยา ที่ไม่เป็นธรรม และเหตุไฟไหม้ที่ซอยตากสิน 23 ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับหลายครัวเรือน
ประเด็นข่าวที่กล่าวมาข้างต้นกลายเป็นที่สนใจของคนบนโลกอินเทอร์เน็ต จนเกิดเป็นกระแสและแฮชแท็กเรียกร้องมากมาย เนื่องจากเป็นประเด็นที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และความยุติธรรมในสังคม แต่ถ้าถามว่าวางโทรศัพท์แล้วเปิดโทรทัศน์มาเราเจอกับข่าวอะไร? ทุกคนคงให้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ข่าวลุงพล’
ลุงพลคือใคร? สำคัญยังไงกับสื่อกระแสหลัก?
หากใครเปิดดูข่าวภาคค่ำในโทรทัศน์ช่วงนี้ ที่มุมล่างขวาจะเห็นการนับเลขไม่เว้นวัน โดยมีข้อความว่า ‘xx วัน ไขคดีน้องชมพู่’ ซึ่งคดีน้องชมพู่ที่ว่า ก็คือคดีสะเทือนขวัญที่ได้รับความสนใจจากสังคมเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และจนถึงวันนี้ (ที่บทความถูกเผยแพร่) นับเป็นวันที่ 100 พอดีหลังจากเกิดคดีขึ้น
วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ‘น้องชมพู่’ เด็กหญิงวัย 3 ขวบ หายตัวออกไปจากบ้านพักที่หมู่บ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร และถูกพบว่าเสียชีวิตอยู่บริเวณป่าภูเหล็กไฟอย่างปริศนา กลายเป็นที่สนใจของคนในสังคมอย่างมาก เพราะคดีนี้ดูจะมีเบื้องหลังที่ไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะพิรุธจากคนในครอบครัวของน้องชมพู่เอง หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ลุงพล’ ลุงของน้องชมพู่ ที่ไม่มาร่วมงานศพ ทั้งๆ ที่รักหลานสาวคนนี้มาก แต่เวลาต่อมา ลุงพลก็ได้ออกมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองให้สังคมเห็นอยู่เรื่อยๆ ทำให้เข็มทิศความคิดผู้คนเริ่มเปลี่ยนมาเป็น ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ ในตัวลุงพลเพิ่มมากขึ้น
ถึงแม้จะผ่านมาเป็นเวลา 3 เดือน แต่คดีน้องชมพู่ยังถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง มีชาวบ้านจำนวนมากแห่มาให้กำลังใจลุงพล และเชื่อว่าลุงพลบริสุทธิ์จริง ถึงขั้นมีเศรษฐีใจดีควักเงินสร้างบ้านใหม่ให้ และมีคนแต่งเพลงมอบให้แก่ลุงพล จากคดีที่มีกลิ่นตุๆ ว่าใครฆ่าน้องชมพู่หรือน้องชมพู่ขึ้นเขาไปได้ยังไง กลายเป็นยกสปอตไลท์ไปส่องที่ตัวลุงพลแทน และสปอตไลท์ก็สว่างมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสื่อเลือกที่จะนำเสนอรายละเอียดของลุงพลให้ลึกลงไปอีก เช่น
“ลุงพลอายุ 44 ปี ส่วนสูง 178 ซม.
น้ำหนัก 68 กก. ไหล่กว้าง 20 นิ้ว
รอบอก 38 นิ้ว รอบสะเอว 35 นิ้ว
สนใจเดินแบบ สนใจร้องเพลง สนใจงานแสดง
เพลงโปรดคือ น้ำตาสัญญาแม่”
และนี่คือสิ่งที่สื่อกระแสหลักบางช่องนำเสนอในช่วงไพรม์ไทม์ (19.00-22.30 น.) ช่วงเวลาที่คนดูเปิดโทรทัศน์ดูข่าวมากที่สุด ซึ่งยังไม่รวมโหงวเฮ้งลุงพล ความคืบหน้าของการสร้างบ้านลุงพล การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในบ้านลุงพล มีคนแต่งเพลงมอบให้ลุงพล มีคนมอบเส้นก๋วยจั๊บสื่อความหมายให้ลุงพล หมอปลาทำขนมจีนแกงเขียวหวานให้ลุงพล ลุงพลกินตีนไก่ ค่างวดรถกระบะลุงพล ของขลังที่ลุงพลพกไปร่วมสาบาน ลุงพลนั่งท่าไหน นักร้องจินตราจะชวนลุงพลร่วมขับร้องเพลงเต่างอยในคอนเสิร์ต ฯลฯ
เอ่อ……………?
หลายคนคงขมวดคิ้วจนหน้าผากเป็นรอยย่น พร้อมกับคำถามในหัวว่า “นี่ฉันต้องรู้ไปเพื่ออะไร?” แต่ก็นับว่าลุงพลคนเดียว สามารถสร้างคอนเทนต์เรียกเรตติ้งให้กับรายการข่าวได้เป็นเวลาเดือนๆ ด้วยความที่เป็นชาวบ้านธรรมดาทั่วไป มีอำนาจในการต่อรองต่ำเมื่อเทียบกับตัวละครในข่าวอื่น อย่างนักการเมือง นักธุรกิจ หรือผู้มีอิทธิพล ทำให้สื่อสามารถเล่าเรื่องลุงพลได้ทุกวันและเป็นเวลาเกือบชั่วโมง
‘ละครในข่าว’ เมื่อสื่อทำข่าวให้เป็นละคร
ตั้งแต่เข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล รายการโทรทัศน์เริ่มมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ ศึกช่วงชิงเรตติ้งทำให้หลายช่องต้องปรับเปลี่ยนการนำเสนอใหม่ หรือนำเทคนิคต่างๆ เข้ามาเสริมเพื่อสร้างความน่าสนใจ เช่นเดียวกันกับรายการข่าว ที่ได้ immersive graphic หรือ ‘กราฟิกจำลองสถานการณ์’ เข้ามาช่วยอธิบายและเล่าเหตุการณ์ ให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ บวกกับการนำเสนอข่าวแบบ immersive journalism ที่เน้นมุมมอง น้ำเสียง และท่าทีของตัวนักข่าวเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงอารมณ์ของข่าวมากขึ้น
และด้วยแรงกดดันของธุรกิจสื่อ ประกอบกับความสนใจของคนดูที่คาดเดายาก ก็ได้สร้างความกดดันให้แก่ทีมงานและผู้สื่อข่าว (โดยเฉพาะภาคสนาม) ทำข่าวให้ ‘ถูกใจ’ คนดู โดยวิ่งวุ่นหาแง่มุมต่างๆ มานำเสนอให้ได้มากที่สุด แม้แง่มุมนั้นจะเกินขอบเขตการนำเสนอของสื่อมวลชนก็ตาม เราเลยจะเห็นว่า แม้บางข่าวสาระสำคัญของมันจะจบลงไปแล้ว แต่สื่อยังต้องขยี้ข่าวนั้นซ้ำไปซ้ำมา ทั้งหยิบเอาตัวบุคคลมาเล่าประวัติ หรือยึดโยงเหตุการณ์เข้ากับความเชื่อและไสยศาสตร์ เพื่อให้คนดูรู้สึกว่าเรื่องนี้ยังไม่จบ ยังมีอะไรให้ติดตามต่อเรื่อยๆ ดังเช่นข่าวเด็ก 13 คนติดถ้ำนางนอนเมื่อ 2 ปีก่อน ที่ถึงแม้จะนำเด็กออกมาจากถ้ำได้แล้ว แต่สื่อยังคงให้พื้นที่กับเด็กเหล่านั้นเรื่อยๆ แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ติดถ้ำครั้งนั้นเลยก็ตาม
ในงานเสวนาออนไลน์ เรื่อง ‘ข่าว ไม่ใช่ละคร | เส้นแบ่งอาชญากรรมเสมือนจริง” ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อธิบายว่า ที่ผ่านมาสื่อเริ่มมีการนำเสนอข่าวอาชญากรรมในรูปแบบเสมือนจริงมากขึ้น โดยใช้เทคนิค immersive ที่ผู้สื่อข่าวใช้น้ำเสียงเร้าอารมณ์ รายงานข่าวเสมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริง ใช้ภาพจำลองเหตุการณ์ที่ล่อแหลม ใช้จินตนาการคาดเดา รวมถึงมีการละเมิดบุคคลในข่าว ทำให้นำไปสู่การตั้งคำถามต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า การนำเสนอข่าวแบบนี้ จะส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหว ในการก่ออาชญากรรมของคนในสังคมอย่างไร? และเมื่อสื่อทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน ไม่ใช่สื่อเชิงสืบสวน จะส่งผลต่อรูปคดี บุคคล สังคม และมาตรฐานวิชาชีพสื่ออย่างไร?
“การนำเสนอข่าวแบบนี้ จะส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหว
ในการก่ออาชญากรรมของคนในสังคมอย่างไร?
และเมื่อสื่อทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน ไม่ใช่สื่อเชิงสืบสวน
จะส่งผลต่อรูปคดี บุคคล สังคม และมาตรฐานวิชาชีพสื่ออย่างไร?”
คำถามจาก ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์
จากการรายงานข่าวน้องชมพู่ที่เราเห็นกันบนจอโทรทัศน์ ก็ทำให้กลางเดือนกรกฎาคมมีสื่อ 2 ช่องถูกคณะกรรมการธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนเรียกมาชี้แจง เนื่องจากชาวบ้านร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ของสื่อ โดยเปรียบพวกเขาเหมือนสินค้าที่ถูกสื่อนำไปขาย จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าการทำข่าวของสื่อทั้งสองเกินขอบเขตหน้าที่ และละเมิดจรรยาบรรณของสื่อหรือไม่? เพราะหลายครั้งความเชื่อหรือไสยศาสตร์ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ติดขัดและยุ่งยากมากกว่าเดิม
อีกทั้ง การนำเสนอข้อมูลตัวบุคคลที่ยังไม่พ้นจากการเป็นผู้ต้องสงสัย อาจเป็นการชี้นำความคิดของคนในสังคม หรือทำให้คดีผิดรูปไป อย่าลืมว่าคดีนี้ยังหาตัวคนร้ายที่แท้จริงไม่พบ ซึ่งตามหลักแล้ว ลุงพลยังคงตกเป็นผู้ต้องสงสัยอยู่ ดังนั้น การนำเสนอภาพลุงพลในลักษณะเป็นที่รักใคร่ของชาวบ้าน อาจเป็นการชี้นำให้เกิดความเอนเอียงและถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมได้
“กรอบของคำว่าข้อเท็จจริงคืออะไร?
บางครั้งคำว่าความจริงกับความเชื่อมันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน”
นายกิตติเดช กิจมโนมัย ที่ปรึกษากรรมาธิการ
หนึ่งในคณะกรรมการสอบสวนกรณีสื่อรายงานข่าวน้องชมพู่
จนถึงทุกวันนี้ คดีน้องชมพู่ยังไปไม่มีความคืบหน้าใดใดที่เป็นประโยชน์ต่อการจับกุมตัวคนร้าย จะมีก็เพียงแต่ภาพลุงพลกินตีนไก่ และความคืบหน้าของบ้านใหม่ลุงพลที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ คล้ายกับสื่อลืมไปแล้วว่าที่มุมล่างขวาของรายการคือ ‘xx วัน ไขคดีน้องชมพู่’ ไม่ใช่ ‘xx วัน ตามติดชีวิตลุงพล’ และทำให้ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดก็ตกมาอยู่ที่ลุงพล ซึ่งกรณีนี้ก็คล้ายกับแก๊งหมูป่า เนื่องจากคนดูบางส่วนเริ่มรำคาญกับการรายงานข่าวที่หาสาระไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเลยที่เลือกจะเป็นข่าว แต่รายการต่างหากที่เลือกจะนำเสนอ โดยใช้คำว่า ‘xx วัน ไขคดีน้องชมพู่’ เป็นข้ออ้างเพื่อสร้างเรตติ้งให้กับตัวเอง
#ให้มันจบที่รุ่นเรา…เถอะนะ…ขอร้อง
แม้ทุกวันนี้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าจนเราสามารถติดตามข่าวได้ในจอมือถือเล็กๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าสื่อกระแสหลักในจอโทรทัศน์ ยังคงเข้าถึงผู้คนได้ทั่วถึงกว่าอยู่ดี และด้วยความที่เกือบทุกบ้านมีโทรทัศน์ จึงทำให้สื่อกระแสหลักยังคงสำคัญและมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของคนในสังคมอยู่ โดยเฉพาะรายการข่าวในช่วงไพรม์ไทม์ที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเปิดรับข่าวสารมากที่สุด
#ให้มันจบที่รุ่นเรา เป็นแฮชแท็กที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการนำเสนอข่าวลุงพล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนประชาธิปไตยในบ้านเมือง และต้องการให้ระบอบเผด็จการจบลงในอนาคตอันใกล้ ซึ่งชาวเน็ตก็ได้มีการนำมาแฮชแท็กนี้มาใช้ล้อเลียนในหลายๆ ประเด็น เช่น การ์ตูนหรือซีรีส์ที่ควรจะจบได้แล้ว หรือบางสิ่งบางอย่างที่สังคมมองว่าไม่ควรมีอยู่อีกต่อไป
ซึ่งข่าวลุงพลก็เป็นอีกสิ่งที่ผู้คนเรียกร้องให้จบลงในเร็วๆ นี้ เพราะนอกจากจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความคืบหน้าของคดี ยังเป็นการแย่งพื้นที่สื่อที่ควรจะนำเสนอข่าวที่สลักสำคัญต่อสังคมจริงๆ จึงอยากให้สื่อมวลชนกลับมาทบทวนบทบาทหน้าที่ของตัวเองใหม่ โดยเฉพาะการเลือกประเด็นข่าวที่สำคัญต่อการรับรู้ของคนในสังคม และท่าทีของการรายงานที่ไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน ละเมิดการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือแม้กระทั่งละเมิดจรรยาบรรณของตัวเอง
นอกจากนี้ ข่าวลุงพลยังทำให้สังคมเห็นว่า สื่อมีกำลังมากพอที่จะทำข่าวเชิงสืบสวน (investigative journalism) สืบลึกลงไปถึงขั้นที่รู้ว่าบ้านลุงพลจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในบ้านยังไง หากสื่อนำกำลังนี้ไปใช้กับคดีน้องชมพู่จริงๆ ก็อาจจะพบตัวคนร้ายในเร็ววัน หรือหากสื่อนำกำลังไปใช้กับประเด็นข่าวอื่นๆ ก็คงจะเป็นดั่งแสงสว่างที่นำความหวังมาสู่สังคมได้ทีเดียว เพราะยังมีข่าวอีกมากมายที่รอให้สื่อนำเสนอ ซึ่งข่าวเหล่านั้นหากถูกนำเสนอในสัดส่วนที่พอดี ก็อาจนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมในสังคมได้
และถึงแม้การนำเสนอข่าวที่เน้นสีสันอาจดึงความสนใจของผู้รับสารได้มากก็จริง แต่ถ้าเรายังวนเวียนอยู่กับการนำเสนอที่สนใจเรตติ้งมากกว่าประโยชน์ของสังคม เช่นนี้ ความฝันที่จะเป็นสื่อคุณภาพดีเหมือนต่างประเทศก็คงอีกยาวไกล
ด้วยการใช้แรงและกำลังคนในข่าวลุงพลที่มากเกินไปนี้เอง จึงเป็นที่มาของมุกตลกที่ว่า “อยากให้สื่อทำข่าวการชุมนุมหรอ? ก็บอกให้ลุงพลออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยสิ”
อ้างอิงข้อมูลจาก