ผมติดตามอ่านและดูข่าวการไล่ล่าจับกุมตัว น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย หรือ ‘เปรี้ยว’ กับพวก ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันฆ่าและหั่นศพด้วยใจระทึก เพราะชวนให้นึกถึงหนึ่งในภาพยนตร์เพลงอันโด่งดังเมื่อสิบกว่าปีก่อน อย่าง Chicago ที่เขียนขึ้นจากเรื่องจริงในสหรัฐฯ ยุคปี ค.ศ. 1920 เมื่ออาชญากรสาวหน้าตาสะสวย กลายมาเป็น ‘เซเล็บ’ ในเวลาชั่วข้ามคืนจากนำเสนอข่าวของสื่อ
กรณีของเปรี้ยว สื่อไทยหลายสำนักไม่ว่าจะสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ต่างแข่งกันหยิบแง่มุมต่างๆ ของสาววัย 22 ปีนี้มานำเสนอ จนแทบไม่ต่างจากการนำเสนอข่าวดาราหรือคนดัง ทั้งภาพเซ็กซี่ที่ได้จากเฟซบุ๊กส่วนตัว ไปจนถึงคลิปร้องเพลงกับเพื่อนสนิท
แม้หลังจากเข้ามอบตัว ภาพการแต่งหน้าหรือเซลฟี่กับตำรวจอย่างสนุกสนานก็ถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำ ทั้งที่สถานะของเธอในเวลานั้น ก็คือ ‘ผู้ต้องหา’ ในคดีฆาตกรรม
เรียกง่ายๆ ก็คือ เธอถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘ฆาตกร’
ส่วนคดีความที่กลายเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังภาพยนตร์เรื่อง Chicago มาจากเรื่องราวของ 2 ผู้ต้องหาหญิง ชื่อ Beulah Annan กับ Belva Gaertner ทั้งคู่ถูกจับหลังยิงคนเสียชีวิตในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐฯ
หากใครเคยดูภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลออสการ์ไปถึง 6 รางวัลในปี ค.ศ.2003 เรื่องนี้ จะเห็นภาพการชิงดีชิงเด่นกันระหว่าง Annan (ในภาพยนตร์คือ Roxie Hart) กับ Gaertner (ในภาพยนตร์คือ Velma Kelly) ทั้งภายในเรือนจำและบนหน้าสื่อ ด้วยหวังให้เหล่าลูกขุนปราณีล้างความผิดให้กับพวกเธอจากคดีอุกฉกรรจ์
ผู้เขียนบท Chicago ฉบับดั้งเดิม ซึ่งถูกเขียนขึ้นในฐานะบทละครเวทีก็คือนักข่าวที่ทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเมืองชิคาโกฉบับหนึ่ง ซึ่งเกาะติดทำข่าวคดีของ 2 สาวโดยตลอด ด้วยความตั้งใจที่จะเสียดสีกระบวนการยุติธรรมที่ใจอ่อนให้กับ ‘อาชญากรคนดัง’ หรือ ‘Celebrity Criminal’
แต่สิ่งที่เป็นประเด็นซึ่งซุกซ่อนอยู่ในระหว่างบรรทัดก็คือ ‘อาชญากร’ จะเป็น ‘คนดัง’ ได้ ก็ต้องได้รับการปลุกปั้นจากคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า ‘สื่อมวลชน’
โดยเฉพาะสื่อที่นิยมการข่าวขายหวือหวาในยุคสมัยนั้นอย่างหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์
Douglas Perry ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Girls of Murder City: Fame, Lust, and the Beautiful Killers Who Inspired Chicago ว่าด้วยชะตากรรมของอาชญากรสาวหลายคนในช่วงต้นทศวรรษที่ยี่สิบ อธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมการปลุกปั้นให้ผู้ต้องหากลายเป็นคนดังถึงเป็นข่าวที่ขายได้บนหน้าสื่อ “เพราะใครๆ ก็อยากอ่านข่าวเกี่ยวกับอาชญากรที่หน้าตาสะสวยทั้งนั้นแหละ”
เขายังบอกด้วยว่าการที่สื่อมักตั้งฉายาให้กับอาชญากรสาว เช่น Moonshine Mary, Wolf Women หรือ The Tiger Girl ว่าเป็นกลยุทธ์เพื่อให้พาดหัวนั้นน่าสนใจ และขายออก
แน่นอนว่า Annan ซึ่งได้รับฉายาว่า ‘The Prettiest Murderess’ กับ Gaertner เจ้าของฉายา ‘The Most Stylish Woman’ ย่อมถือเป็นสินค้าชั้นดีให้กับบรรดาแท็บลอยด์แห่งเมืองชิคาโกได้ผลิตข่าวยอดนิยมออกมาอย่างต่อเนื่อง
ผลของการนำเสนอภาพบุคคลทั้งสองในฐานะ ‘คนดัง’ มากกว่า ‘อาชญากร’ ไม่เพียงทำให้ผู้คนจะไม่มองเธอว่าเป็นตัวอย่างของคนที่ทำสิ่งไม่ดี แต่คนจำนวนไม่น้อยยังหลงรักพวกเธอ ถึงขนาดมีคนส่งดอกไม้ เสนอตัวช่วยจ่ายค่าจ้างทนาย ไปจนถึงส่งคำขอแต่งงานมาถึงภายในเรือนจำ !
ด้วยกระแสนิยมนี้เอง ที่ Perry ระบุว่า เป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้คณะลูกขุนที่เป็นผู้ชายทั้งหมดตัดสินยกคำฟ้องในท้ายที่สุด “เพราะเธอทั้งสองต่างเล่นบทที่ทำให้เหล่าลูกขุนรู้สึกเห็นใจได้สำเร็จ” ทั้งนี้ Perry ได้นำบางคดีที่ผู้ต้องหาเป็นผู้หญิง แต่ไม่มีเสน่ห์เท่า Annan หรือ Gaertner มาเปรียบเทียบ โดยเฉพาะคดีหนึ่งที่ผู้ต้องหาเป็นหญิงต่างชาติ และการนำเสนอข่าวของสื่อทำให้เหล่าลูกขุนรู้สึกมีอคติจนตัดสินลงโทษเธออย่างรุนแรง
ไม่ว่าจะในยุคสมัยหรือในประเทศใด การนำเสนอข่าวของสื่อมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของผู้คนและต่อการทำหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง ดังเช่นกรณีเปรี้ยว ที่ระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. ต้องมานั่งสอบปากคำด้วยตัวเอง โดยอ้างเหตุว่าเป็นคดีที่สาธารณชนให้ความสนใจ!?
การนำเสนอ ‘ข่าวอาชญากรรม’ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะไม่เพียงต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้สูญเสีย ยังต้องระวังระมัดผลกระทบต่อรูปคดี
สำหรับเมืองไทย เรามักได้ยินบุคคลในกระบวนการยุติธรรมเช่นตำรวจหรืออัยการ ออกมาบ่นอยู่หลายครั้งว่าการนำเสนอข่าวของสื่อในบางคดีพยายามชี้นำผลของคดีจนทำให้ผู้เกี่ยวข้องทำงานยาก หรือแม้จะคลี่คลายคดีจนส่งฟ้องได้สำเร็จ สาธารณชนก็ไม่เชื่อมั่นและยังคงตั้งคำถาม ดังเช่นคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี
การนำเสนอข่าวอาชญากรในแง่มุมต่างๆ จนไม่ต่างจาก ‘คนดัง’ ไม่เพียงส่งผลเชิงบวกต่อบุคคลนั้น หลายครั้งเช่นกันที่ส่งผลเชิงลบ กรณีที่เห็นชัดที่สุด คือ ‘สาวซีวิค’ ผู้ก่อเหตุขับรถชนรถตู้โดยสารจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน ช่วงปลายปี พ.ศ.2553 ที่ถูกสื่อหลายแห่งนำข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผย จนปัจจุบันยังถูกคนในสังคมบางส่วนไล่ล่า ทั้งที่ช่วงเวลาเกิดเหตุเธอมีอายุไม่ถึง 18 ปี ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะ ‘เยาวชน’
หรือในบางคดี สื่อก็แทบจะพิพากษาผู้ต้องหาไปล่วงหน้า ผ่านการใช้คำเรียกขานหรือคำพาดหัว ทั้ง ‘ไอ้’ ‘อี’ ‘โหดเหี้ยม’ ‘อำมหิต’ ‘ฆาตกร’ ฯลฯ ทั้งที่รัฐธรรมนูญรวมถึงประมวลกฎหมายอาญาให้หลักการพื้นฐานไว้ว่า ในคดีใดที่ศาลยังไม่ตัดสิน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์
กว่าสิบปีก่อน ผบ.ตร.ในขณะนั้น รวมถึงไม่นานมานี้ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเคยออกคำสั่งห้ามนำตัวผู้ต้องหามาร่วมแถลงข่าวหรือทำแผนประกอบคำรับสารภาพ เพราะหากท้ายสุดศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด คนเหล่านั้นจะอยู่ไม่ได้ในสังคม แต่การณ์ก็ยังเป็นอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือยังมีการนำตัวผู้ต้องหาในคดีดังมาแถลงข่าว-ทำแผนฯ อยู่ โดยตำรวจมักอ้างว่าถูกสื่อกดดัน (แต่สื่อก็มักชี้แจงกลับว่า ตำรวจนั่นแหล่ะ อยากแสดงผลงาน)
ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรมไทยได้พัฒนาการทำข่าวขึ้นมามากจนใกล้เคียงกับมาตรฐานสากล ทั้งระมัดระวังผลกระทบต่อคดีและผู้สูญเสีย มีการเคารพสิทธิผู้ต้องหาด้วยการเบลอภาพใบหน้าของผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน หรือเบลอภาพการถูกจับใส่กุญแจมือหรือโซ่ตรวน ไปจนถึงระมัดระวังการใช้คำเรียกขานไม่ให้เป็นการด่วนตัดสินก่อนที่คดีจะสิ้นสุด
แต่ก็ยังมีนักข่าวบางคนหรือสื่อบางแห่งที่กระทำการไต่เส้นจริยธรรมหรือจรรยาบรรณ โดย 2 เหตุผลที่มักใช้อ้างกันคือ “เพราะสังคมอยากรู้” และ “ให้เป็นอุทาหรณ์”
แน่นอนว่าด้วยแรงกดดันทางธุรกิจ ทำให้ผู้บริหารสื่อหลายแห่งกดดันไปยังผู้สื่อข่าวในสนามให้พยายามหาแง่มุมต่างๆ มานำเสนอให้ได้มากที่สุด
กล่าวให้ถึงที่สุด ข่าวก็คือสินค้าประเภทหนึ่ง ที่ต้องหาวิธีนำเสนอให้ถูกใจผู้ชม-ผู้อ่านมากที่สุด นี่คือข้อเท็จจริงที่ยากจะปฏิเสธ
กรณีเปรี้ยวเป็น ‘ข่าวใหญ่’ แน่ๆ เพราะเป็นคดีฆ่าหั่นศพแรกที่ผู้ต้องหาเป็นผู้หญิง นอกจากนี้ เนื้อหาของคดียังสลับซับซ้อน เพราะมีการพาดพิงโยงใยไปถึงขบวนการค้ายาเสพติดระดับโลก คำถามคือ สื่อควรจะนำเสนอแค่ไหนถึงจะ 1.พอเหมาะพอควร 2.สร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง และ 3.ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน
การรุมทึ้งกันนำเสนอเปรี้ยวแทบจะทุกอิริยาบถ ตอบคำถาม 3 ข้อข้างต้นหรือไม่ เชื่อว่าหลายคนน่าจะมีคำตอบอยู่ในใจ
แน่นอนว่า ความดังเป็นสิ่งที่มีวันหมดอายุ อีกไม่นานข่าวของเปรี้ยวก็จะซาลงไป แต่ในอนาคตก็น่าจะมีเปรี้ยว2 เปรี้ยว3 เปรี้ยว4… ตามมา หากสถานการณ์สื่อยังเป็นเช่นปัจจุบัน