ตั้งแต่โซเชียลมีเดียบูมขึ้นมา อะไรรอบตัวก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปไวขึ้น ข่าวที่เพิ่งเป็นประเด็นร้อนเมื่อวันก่อน พอถึงวันนี้ก็กลับกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่อยากจะสนใจ แถมนอกจากเรื่องความมาไวไปไวแล้ว ปรากฏการณ์สื่อบนโลกออนไลน์ก็ยังชวนให้ตกใจไม่แพ้กัน เดี๋ยวก็เรื่องภาพความรุนแรง เดี๋ยวก็เรื่องพาดหัวล่อเป้า เดี๋ยวก็เรื่องข่าวมั่ว ข่าวไม่เป็นกลาง เบี่ยงเบนข้อเท็จจริง ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ
ยิ่งเดี๋ยวนี้มีระบบไลฟ์สดผ่านมือถือ ไอ้เรื่องที่พวกเราเคยคิดว่ามันเร็วแล้ว มันก็ยิ่งเร็วขึ้น ซึ่งถ้ามันไลฟ์แล้วดีก็ดีไป แต่ถ้าไลฟ์แล้วเกิดข้อผิดพลาด ผลกระทบที่ตามมาก็อาจแย่กว่าที่จะแก้ไขทัน
จะว่าไปเฉพาะปีนี้เราก็เห็นกันไปตั้งหลายอย่าง ทั้งไลฟ์คนฆ่าตัวตาย ไลฟ์ภาพความรุนแรง หรือถ้านอกโลกออนไลน์ก็อย่าง การพาดหัวข่าวด้วยภาพสยองแบบไม่ได้เซ็นเซอร์ ชวนให้คิดว่าสื่อในยุคออนไลน์นี่มันควรจะนิยามจริยธรรมและจรรยาบรรณยังไง วางตัวยังไงกันแน่ เพื่อให้เป็นสื่อที่อยู่ได้แล้วก็มีคุณภาพไปพร้อมๆ กัน
The MATTER ชวน ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาคุยหาที่มาที่ไปว่าทำไมเราถึงยังแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ได้สักที ถ้ามันแก้ไม่ได้ จะมีทางออกหรือทางเลือกอื่นๆ ยังไงบ้าง แล้วจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อ ณ ปัจจุบัน มันเปลี่ยนไปตามแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไปรึเปล่า
อยากให้ลองอ่านกันดู เผื่อว่าในมุมคนเสพข่าวสารเอง ก็จะได้รู้สถานการณ์สื่อในปัจจุบันด้วย
ทั้งๆ ที่มันเกิดการตั้งคำถามกับการทำงานของสื่อขนาดนี้ แต่ปัญหาเดิมๆ ก็ยังมีอยู่ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้นักข่าวยังทำแบบนั้น
จริงๆ ของเดิมก็มี แต่อาจจะคนละแง่มุม ตอนนี้เราอาจเห็นเยอะมากขึ้นเพราะอุตสาหกรรมข่าวแข่งขันสูง ไม่ได้จำกัดอยู่แค่หนังสือพิมพ์หรือทีวี แม้แต่ทีวีเองจากเดิมที่มีแค่หกช่องก็เพิ่มเป็นหลายสิบช่อง ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้บริโภคก็มีตัวเลือกมากขึ้น ข่าวก็ไม่ได้แข่งกันเชิงคุณภาพ แต่แข่งในเชิงดึงคนให้มาดูตัวเองให้มากที่สุด เลยเป็นการแข่งด้วยเชิงความเร็วและความแรง
อีกอย่างคือ ณ ปัจจุบันมันมีแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้มันมีสำนักข่าวที่ไม่ได้เป็นแบบ Traditional สำนักข่าวจากแพลตฟอร์มเดิมๆ ก็เลยต้องแข่งขันมากขึ้น แน่นอนว่าทั้งหนังสือพิมพ์ หรือทีวีก็ย้ายมาออนไลน์ การตรวจสอบคอนเทนต์ก็เป็นไปได้ยากขึ้น เพราะสมัยก่อนข่าวมันออกไปเป็นรอบๆ แต่เดี๋ยวนี้ต้องเน้นโพสต์เร็ว และยิ่งคนมีคอนเทนต์ให้ดูเยอะ ข้อมูลมันก็ Overload มาก คนก็ดูแค่ผ่านๆ ไป นักข่าวเลยยิ่งต้องทำข่าวให้แรงเข้าไว้ มันเลยยิ่งทำให้หลายครั้ง ความแรงเหล่านั้นก็ไปละเมิดจรรยาบรรณหลายๆ อย่าง
ตอนนี้เราอาจเห็นปัญหาเยอะมากขึ้นเพราะอุตสาหกรรมข่าวแข่งขันสูง
ไม่ได้จำกัดอยู่แค่หนังสือพิมพ์หรือทีวีอีกต่อไป
แสดงว่าการออนไลน์ก็ส่งผลต่อการรายงานข่าวโดยตรงเลย
ส่งผลค่ะ พอตัวนักข่าวต้องการความแรง หรืออาจจะโดนสั่งมาอีกที หรือด้วยอะไรก็ตาม หลายครั้งมันก็เกิดการละเมิด ทั้งสิทธิส่วนบุคคลที่ไม่เคารพผู้ที่ตกเป็นข่าว และเรื่องสำบัดสำนวนที่ใช้ แน่นอนว่าออนไลน์จะใช้ภาษาที่แรงกว่าในสื่อเก่า
ถ้าเกิดจะมีสำนักข่าวหนึ่งที่ไม่ทำตามที่อื่น แล้วยอดวิว ยอดขายน้อยกว่า พวกนั้นเขาจะอยู่ได้ด้วยอะไร
จริงๆ โลกออนไลน์มันเปิดโอกาสให้เราเข้าถึง Niche Market ได้นะ คือเป็นความต้องการเฉพาะของแต่ละคนที่อยากเสพข่าวคนละแบบ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ทุกคนบนโลกออนไลน์ที่ต้องการเสพข่าวกระแส แน่นอนว่ามันก็ต้องมีสำนักข่าวที่ตามกระแส ซึ่งตรงนี้มันจะเป็นลักษณะว่าใครเร็วกว่าจะได้ยอดวิว คอมเม้นต์ ยอด Engage สูงที่สุด ซึ่งตรงนั้นก็เข้าใจได้
แต่ถ้าพูดถึงสำนักข่าวที่ไม่ตามกระแสแบบนั้น โดยส่วนตัวก็คิดว่าเขาอยู่ได้นะ เพียงแต่ตอนนี้มันอยู่ในช่วงที่เปลี่ยนแพลตฟอร์มมายังออนไลน์ สิ่งที่สำนักข่าวหรือสื่อที่ย้ายมาออนไลน์ต้องทำก็คือหา Business Model ของตัวเองให้ได้ ซึ่งตรงนี้ยอดวิวมันมีอยู่แล้ว แถมเผลอๆ ยังเยอะกว่าเดิมด้วย เพราะของเดิมมันต้องปริ้นต์ กว่าคนจะเดินทางไป กว่าจะซื้อมา แต่ออนไลน์มันลดเรื่อง Logistic ทำให้ข่าวสารมันมาถึงตัวผู้บริโภคได้ง่ายมาก แค่นั่งอยู่เฉยๆ
การออนไลน์มันเป็นประโยชน์กับสำนักข่าวพวกนี้อยู่แล้ว แต่ว่าเขาก็ต้องพยายามหาตลาดให้ได้ อาจจะต้องทำข่าวที่แตกต่าง เราไม่เชื่อว่าพอข่าวมาอยู่ในมือถือแล้วต้องเป็นข่าวสั้นนะ เราเชื่อว่าถ้าข่าวน่าสนใจ ยาวยังไงคนก็อ่าน เพียงแต่มันต้องมีเทคนิคการใช้ภาษา การเลือกประเด็นให้น่าสนใจ ตรงนี้มันเป็นโอกาสสำหรับคนทำงานข่าวที่ไม่ตามกระแสด้วยซ้ำไป ทีนี้จะอยู่รอดหรือเปล่าก็ขึ้นอยู่ที่ว่าคุณจะหา Business Model ของตัวเองเจอหรือเปล่า
การออนไลน์มันเป็นประโยชน์กับสำนักข่าวพวกนี้อยู่แล้ว
แต่ว่าก็ต้องพยายามหาตลาดให้ได้
จะอยู่รอดหรือเปล่าก็ขึ้นอยู่ที่ว่า
คุณจะหา Business Model ของตัวเองเจอหรือเปล่า
ปัจจุบันสื่อโดนตีกรอบ ทำให้เราไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่ Matter จริงๆ ออกไปได้
ก็จริงที่ยุคนี้มันค่อนข้างโดนปิดกั้นข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาล กลายเป็นว่าพอมีรัฐบาลชุดนี้ นักข่าวก็หันไปโหนกระแสข่าวดารา ข่าวกระแสอื่นๆ แทน เพราะเราไปแตะนักการเมืองไม่ได้
เราอาจจะต้องปรับตัวเองให้ไปเล่นข่าวนโยบายแบบที่ฉลาดกว่านี้มั้ย เพราะถึงมองย้อนกลับไปสมัยที่เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นักข่าวก็ทำข่าวปิงปองเหมือนกัน แบบที่ถามคนโน้นแล้วโยนไปคนนี้ แล้วนักข่าวก็เอาคำพูดทุกฝ่ายมาโยงเป็นเรื่องการเมือง สุดท้ายชาวบ้านก็ไม่ได้ข่าวที่มีคุณภาพเลย เรายังขาดการทำข่าวเชิงนโยบายจริงๆ
ด้วยบริบทตอนนี้ นักข่าวอาจจะทำงานยากขึ้น เราก็น่าจะเปลี่ยนตัวเองเป็น Data Journalist ใช้ความเป็นโลกดิจิตอลเข้าถึงข้อมูลภาครัฐให้ได้ แล้วก็ดึงแง่มุมบางอย่างที่อยู่บนฐานข้อมูลนั้นแล้วมันเชื่อถือได้ออกมาทำเป็นข่าว มันเป็นภาพการทำข่าวอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งทำให้เราหลีกเลี่ยงข่าวปิงปองได้ เช่น ตอนนี้รัฐลงทุนอะไรไปบ้างแล้ว เพียงแต่คำถามคือเราจะฉลาดพอที่จะได้ข้อมูลข่าวสารมาอย่างแท้จริงหรือเปล่า
ถ้าเราเบื่อข่าวนายกหงุดหงิด เราก็ไม่ต้องไปทำให้นายกหงุดหงิด ก็ไปทำข่าวเชิงข้อมูลแบบนั้น มันก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า
ถ้าเราทำข่าวเชิงข้อมูลแล้วนายกยังหงุดหงิดอยู่ล่ะ
อย่างน้อยเขาก็เถียงไม่ได้ไง แต่ถ้าเป็นข่าวว่านายกพูดอย่างนั้นอย่างนี้มันก็อีกเรื่อง แน่นอนว่าเขาอาจหงุดหงิดข่าวเรา ก็เป็นเรื่องของเขาไป แต่ถ้าเราทำข่าวที่ยืนยันข้อมูลได้ว่ามันจริง มันน่าจะทรงพลังกว่า แล้วมันก็ยืนยันได้โดยที่เขาจะเถียงเราไม่ออก แล้วมันก็ไม่ใช่ข่าวเชิงอัตวิสัยที่ตัวคนเขียนข่าวมโนเอาเอง ข่าวเชิงข้อมูลนี่อย่างไทยพับลิก้าก็ทำอยู่ ซึ่งก็ไม่มีใครไปด่าอะไรเขาได้ เพราะข่าวเขามาจากฐานข้อมูลที่ยืนยันได้และเชื่อถือได้ แถมเป็นข่าวที่ดีด้วย ไม่ใช่ว่าอ่านสามนาทีแล้วลืม
ถ้าเราทำข่าวที่ยืนยันข้อมูลได้ว่ามันจริง มันน่าจะทรงพลังกว่า
แล้วมันก็ยืนยันได้โดยที่เขาจะเถียงเราไม่ออก
สุดท้ายแล้วที่นักข่าวยังเล่นข่าวดราม่า ข่าวดารา ข่าวปิงปอง มันแสดงว่าคนเสพข่าวทั่วไปก็ไม่ค่อยสนใจข่าวที่เป็นข้อมูลจริงๆ รึเปล่า
ต้องยอมรับว่าข่าวกระแสมันมาแรงในยุคนี้ อย่างเราไม่ได้อยากรู้ข่าวกราบรถ แต่นั่งอยู่เฉยๆ ข่าวนั้นมันก็วิ่งมาหาเราเอง จริงอยู่ว่าคนเสพข่าวแบบนี้เยอะ แต่มันก็ยังมีคนที่ไม่อยากอ่านข่าวแบบนั้น ก็น่าจะต้องมีพื้นที่ให้เขาบ้าง ต้องทำข่าวให้เขา ถ้าทำแล้วเขาก็เข้าถึงได้ แต่ถ้าไม่มีคนทำเลยแล้วไปทำข่าวกระแสหมด สุดท้ายมันก็ได้แค่นั้น
สำนักข่าวน่าจะต้องตั้งสตินิดนึงว่าตัวเองจะกลับไปทำข่าวกระแสแบบเดิม เล่นกับความเร็วที่บางทีตัวเองก็อาจจะเร็วสู้สำนักข่าวอื่นไม่ได้อยู่ดี หรือจะหันมาเล่น Niche Market ในเชิงข้อมูล หรือเชิงมุมมอง ที่มันอาจจะแค่บิดไปนิดเดียว แต่มันน่าสนใจ คนก็น่าจะเข้าไปดูนะ ข่าวกระแสมันขึ้นมาแป๊บๆ แล้วก็ลง แต่ข่าวแบบนี้มันฉลาดกว่า คุณไม่ต้องเร็วมาก แต่คุณแค่ตั้งสติแล้วพลิกมุมมองการวิเคราะห์ และการนำเสนอนิดเดียว
จริงอยู่ว่าคนเสพข่าวดราม่าแบบนี้เยอะ
แต่มันก็ยังมีคนที่ไม่อยากอ่านข่าวแบบนั้น
ก็น่าจะต้องมีพื้นที่ให้เขาบ้าง
แล้วขอบเขตของ Public Interest ณ ปัจจุบัน ควรจะเป็นแบบไหน
ง่ายๆ เลย คือ อะไรที่เรามองว่าคนอ่านจะได้ประโยชน์ แต่เวลาทำงานจริงๆ เราก็ต้องนิยามคำนี้ให้เล็กลงไปอีก เพราะมันก็ไม่ใช่ว่าทำข่าวไปข่าวนึงแล้วจะเป็นข่าวสำหรับประชาชนทุกคนจริงๆ เพราะข่าวแต่ละข่าวก็มี Target Group มี Segment ย่อยๆ ของมัน เพียงแต่ Public Interest จะมาบอกเราว่าอะไรที่มีผลกระทบต่อสังคม
เราอาจต้องถามตัวเองก่อนว่าหัวข้อข่าวที่กำลังจะทำ สังคมจะได้ประโยชน์อะไร จะทำไปทำไม มันจะพัฒนาอะไรขึ้นมามั้ย มันอาจจะดูอุดมคติ แต่เราว่ามันคือจุดขายของงานข่าว
การเลือกตั้ง US ที่ผ่านมา สื่อเองก็เลือกข้างเลือกฝั่ง แต่คนก็ยังติดตามว่าสื่ออะไรจะเลือกข้างฝ่ายไหน อย่างนั้นความเป็นกลางของสื่อจะยังจำเป็นอยู่มั้ย
หลายครั้งคนจะงงกับส่วนที่เป็นข่าวกับส่วนคอลัมน์ในสื่อต่างๆ เพราะจริงๆ มันต้องแยกระหว่างข่าว บทบรรณาธิการ กับคอลัมน์ ออกจากกัน เพราะคอลัมน์กับบทบรรณาธิการมันมีความคิดเห็นได้ แต่ในส่วนที่เป็นข่าวจริงๆ มันไม่มีความเห็นหรอก ถ้าดูจริงๆ น้ำหนักทั้งสองฝั่งมันก็เท่ากัน หรืออย่างรายการทีวีบางราย เช่น John Oliver ที่เลือกข้างชัดเจน พวกนี้ก็เป็นทอล์คโชว์ที่แน่นอนว่าเขาจะใส่ความเห็นของตัวเองลงไป แล้วมันก็ขายได้ พอแยกแบบนี้เราก็จะมองออกว่าจริงๆ ส่วนข่าวก็ยังเป็นกลาง ส่วนการเล่าข่าวหรือคอลัมน์มันไม่เป็นกลางอยู่แล้ว และมันก็จูงใจคนอยู่แล้ว
จริงๆ สื่ออเมริกาก็เลือกข้างกันมานานแล้วนะ พวกบทบรรณาธิการต่างๆ มันไม่เป็นกลางนานแล้ว เราสามารถบอกได้เลยว่า FOX ก็เป็นรีพับลิกัน CNN เป็นเดโมแครต ชัดเจนมาก ข่าวน่ะมันเป็นกลาง แต่จุดยืนของสถานีหรือของทีมบรรณาธิการอาจจะไม่กลางก็ได้ ยิ่งการเลือกตั้งรอบนี้มันค่อนข้างพิเศษเหมือนกัน เพราะนักการเมืองสาดโคลนใส่กันพอสมควร มันเลยเกิดการเลือกข้างชัดเจน ดังนั้นบางสื่ออาจจะเป็นกลาง แต่ในเมื่อนักการเมือง Bias คอนเทนต์ก็ Bias พอสื่อเอาไปรายงานมันก็เลยเหมือนสื่อไม่เป็นกลาง ซึ่งจริงๆ อาจไม่ใช่ขนาดนั้น แต่ขณะเดียวกันสื่อก็เลือกข้างเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกผ่านตัวข่าว แต่จะแสดงผ่านงานที่เป็นคอมเมนต์
แต่ข้อดีของการเมืองอเมริกาคือ เมื่อจบคือจบ จะไม่มีมาโวยต่อว่าคนนี้โกง หรือเรียกหารัฐประหาร เขาก็ทนกันไปในเมื่อคนเขาเลือกมาแบบนี้
ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างในปัจจุบัน ทำให้จริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อมันเป็นแค่อุดมคติหรือเปล่า
จะบอกว่าของเดิมมันก็ไม่ได้แม่นยำเที่ยงตรงตามกรอบจรรยาบรรณทุกอย่างนะ เพียงแต่มันเป็นช่วงเปลี่ยนแพลตฟอร์มเฉยๆ ทุกคนเลยต้องหาวิถีทางที่ตัวเองจะอยู่รอด ทำให้มันมีเรื่องแบบนั้นหลุดๆ มาบ้าง แต่เชื่อว่าในระยะยาวมันจะดี
ในระยะยาวสื่อที่น่าเชื่อถือ สื่อที่เป็นกลาง สื่อที่อยู่บนฐานของข้อมูลจริงๆ หรือสื่อเชิงลึก พวกนี้จะอยู่รอด เพราะเราอยู่ในสังคมที่ตอนนี้ข่าวมันมั่วไปหมด เพราะฉะนั้นถ้าสำนักข่าวไหนทำข้อมูลได้ดี มันก็จะเหมือนเป็นโอเอซิสในทะเลทรายอินเทอร์เน็ต ที่ยังไงคนก็จะหันกลับไปฟัง
Illustration by Namsai Supavong