เธอคือหนึ่งในผู้ที่อยู่กับ Grab ยูนิคอร์นแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่วันแรก เธอเป็นเจ้าของ YouTrip สตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเงินมาแรงของอาเซียน จบโรงเรียนธุรกิจ Harvard Business School และทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่เพื่อนร่วมชั้นที่ได้จดบริษัทเทคโนโลยีเข้าตลาดหุ้นไปมากมาย ขณะเดียวกันทั้งหมดทั้งมวล เธอบริหารธุรกิจอะลูมิเนียมของที่บ้านมาตั้งแต่อายุ 14 ปี
เธอคือหนึ่งในผู้บริหารหญิงซีรีส์ In Her Role ที่น่าสนใจมากเลยทีเดียวล่ะ สำหรับ ‘จูน—จุฑาศรี คูวินิชกุล’ ทายาท ‘อลูเม็ท’ ธุรกิจอะลูมิเนียมเจ้าใหญ่ และปัจจุบันคือผู้ก่อตั้ง YouTrip สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เธอบริหารทั้งธุรกิจดั้งเดิมและบริษัทเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน
อีกส่วนที่น่าสนใจ คือ เธอเป็นหนึ่งในผู้พา Grab เข้ามาในประเทศไทย จูนคือเพื่อนร่วมชั้นของผู้ก่อตั้ง Grab ที่ Harvard Business School ซึ่งเธอได้เข้าไปเรียน MBA ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นอีกกว่า 900 คน และแอบกระซิบ—เธอคือต้นคิดของการตั้งชื่อ ‘Grab’ ที่คนไทยเรียกติดปากกันทุกวันนี้
แม้เธอจะบอกว่าตัวเองเป็นอินโทรเวิร์ต พูดไม่เก่ง ถนัดงานหลังบ้านสุดๆ แต่การพูดคุยกับเธอสนุกมากจริงๆ ไปอ่านบทสัมภาษณ์ที่มีคำตอบสดใหม่ น่าตื่นเต้นจากเธอ พร้อมกันเลยดีกว่า
คนมักจะรู้จักคุณในฐานะผู้ก่อตั้ง Grab เล่าให้ฟังหน่อยทำไมได้ร่วมงานกับสตาร์ทอัพที่ถือว่าเติบโตไวและคนไทยคุ้นหู
บังเอิญว่าได้ขอคุณพ่อ 5 ปีไว้สำหรับเวลาชีวิตนิดหนึ่ง ก็เลยว่า 3 ปีแรกเนี่ยไปทำงานที่ญี่ปุ่นก็เป็นบริษัท trading แล้วอีก 2 ปีหลังก็ไปเรียนต่อที่ Harvard Business School ซึ่งอันนี้คือ จูนว่าเป็นจุดที่เปลี่ยนที่ทำให้เข้าสตาร์ทอัพ ตอนนั้นมันก็จะมีกรณีศึกษาเยอะ แล้วสตาร์ทอัพกำลังมา เราก็เห็นหลายอุตสาหกรรมมันเปลี่ยนไป
ทีนี้เนี่ยในเพื่อนร่วมชั้นเองก็มีคนทำสตาร์ทอัพเยอะ แล้วมหา’ลัยก็สนับสนุน แล้วเขาบอกแหละว่า ที่สแตนฟอร์ดมี Google แล้วเด็กฮาร์วาร์ดล่ะ?
ทีนี้ ตอนปีหนึ่ง ขึ้นปีสอง เลือกไปฝึกงานที่ VC ที่เยอรมัน เป็นการเปิดโลกมากๆ ยกตัวอย่างเช่นตัวผู้ก่อตั้งเคยทำคล้ายๆ Facebook มาก่อน แล้วเขาขายบริษัทไป ก่อนจะมาตั้งเป็นกองทุน กองทุนนี้ก็เอาไปซื้อบริษัทต่างๆ แล้วเอามาทำซ้ำทั่วโลก ขณะเดียวกัน เพื่อนร่วมชั้นที่ฮาร์วาร์ด ‘แอนโธนี ตัน’ ‘ฮุย หลิง ตัน’ และเพื่อนร่วมชั้นอีกคน เขาตั้งสตาร์ทอัพขึ้นมา ตอนนั้นยังไม่เรียกว่า Grab Taxi เวอร์ชั่นแรกชื่อ My Travel Safe แล้วเอาไปทดสอบทที่มาเลเซียช่วงหน้าร้อน ซึ่งตอนแรกต้องมีทั้งคนขับและแท็กซี่ของแอพพลิเคชั่นเอง พอกลับไปที่โรงเรียนก็เอาไปประกวด Harvard Business School Business Plan Competition แล้วทั้ง VC ทั้งอาจารย์ก็มาช่วยกันให้ความเห็น ทำไปทำมาก็กลายเป็นแอพพลิเคชั่นโมเดลที่เห็นกันทุกวันนี้
พอเราจบปี ค.ศ.2011 แอนโธนีก็ปล่อยแอพพลิเคชั่นอย่างเป็นทางการที่มาเลเซีย ทีนี้แอนโธนีก็มาคุยบอกว่า โอเค อยากจะทำให้มันลงประเทศอื่นๆ ด้วย อยากมีเพื่อนร่วมชั้นที่ฟิลิปปินส์มาช่วยกันทำ เราเป็นเพื่อนร่วมชั้นที่เมืองไทย ก็มาช่วยกันทำ เลยเป็นที่มาในตอนนั้น
แล้วจากชื่อ My Travel Safe มาเป็น Grab Taxi ได้ยังไง
ชื่อถัดมาจาก My Travel Safe คือชื่อ My Teksi Teksi ภาษามาเลเซียแปลว่าแท็กซี่ แล้วตอนนั้นมีเรื่องมีราว คือ บริษัทที่เยอรมันบอกว่าช่วยเปลี่ยนชื่อด้วยนะเพราะว่าถ้าคล้ายๆ กัน มันจะซ้ำ จูนเป็นคนตั้งชื่อ Grab Taxi เอง เพราะว่าตอนนั้นเราพยายามหาชื่อกัน แล้วเราดูโดเมนคำว่าแท็กซี่มีคนใข้ไปหมดแล้ว ก็เลย เออ คิดจากว่าคนจะกลับบ้านยังไง จะผ่านยังไง ก็จะบอกว่า ‘Grab a Taxi! Grab a Taxi’ เป็นที่มาของชื่อ Grab Taxi
แต่ตอนนี้คุณไม่ได้ร่วมงานกับ Grab Thailand แล้ว
ทำไปทำมา พอมันเข้าที่ในระดับหนึ่ง แล้วเราระดมทุนได้ค่อนข้างเยอะ มันต้องใช้ความเป็นมืออาชีพ
จูนทำสายธุรกิจครอบครัวมาตลอดตั้งแต่อายุ 14 ปี จูนว่าคนที่มาจากธุรกิจครอบครัวจะเข้าใจว่า จะต้องทำให้มันมืออาชีพมากขึ้น แล้วพอดีกับที่ ฮุย หลิง กลับมาที่ Grab และมาทำงานกับแอนโธนี เพราะฉะนั้นเพื่อนร่วมชั้นคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่มีธุรกิจของที่บ้านที่ต้องดูแลก็เลยคุยว่า โอเค งั้นเราให้คนที่เชี่ยวชาญช่วยรันดีกว่า ให้คนที่เขาเต็มที่และทำได้เต็มเวลาแล้วเก่งกว่าเราช่วยรันธุรกิจ ซึ่งเพื่อนร่วมชั้นหลายๆ คนตัดสินใจทำแบบนี้ แม้แต่ Gojek เอง ‘นาดีน มาคาริม’ ก็เป็นเพื่อนร่วมชั้น ตอนนี้ก็ออกจาก Gojek ไปเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว
คนก่อตั้งลาออกแต่ถือหุ้นไว้ เพื่อให้บริษัทมันทำงานได้มากที่สุด มันมีเหตุผลหลายๆ อย่างค่ะ ถ้าเราเป็นคนก่อตั้ง เป็นเพื่อนๆ กันเอง มันก็จะเหมือนธุรกิจครอบครัว แต่ว่าถ้าเราอยากให้มันเติบโต เพื่อดึงคนเก่งๆ มา และตอบโจทย์มากขึ้น เราให้คนที่เขาเต็มที่กับมันจริงๆ ทั้งวันทั้งคืนมารัน เราคิดว่าไปได้ไกลกว่า
นอกจากถอยออกมาดูแลธุรกิจอะลูมิเนียมของที่บ้านแล้ว เข้าใจว่าคุณก็ออกมาตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพของตัวเองด้วยชื่อว่า YouTrip?
YouTrip ก็ทำกับเพื่อนร่วมชั้น 2 คนเหมือนกัน คือ ‘ซิซิเลีย ชู’ แล้วก็ ‘อาเธอร์ มัก’ เป็นคนฮ่องกง พอเราคิดว่า Grab อยู่ในจุดที่เราฝากได้แล้ว ให้คนที่เขาเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยรัน เราก็คิดว่าเรื่องการเงินเป็นเรื่องหนึ่งที่อยากทำมานานแล้ว ซีซิเลียเองมีแบ็กกราวด์มาจากทางสายการเงินเช่นกัน เค้าทำ I-banking และเคยเป็นที่ปรึกษาธุรกิจมาก่อน
เราเห็นความเหลื่อมล้ำที่มี และมีคนที่อยากจะเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือสิทธิประโยชน์ เราเห็นช่างว่างค่อนข้างสูง เราเลยมองว่า การบริการทางการเงินมันจะยังไงให้ไร้พรมแดนให้มากที่สุด คือ ลดความเหลื่อมล้ำแล้วทำให้ทุกคนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือการบริการทางการเงินที่ดีๆ ได้
ที่นี้จูนกับซีซิเลียก็คุยกัน ย้อนกลับไปตอนเราเรียนอยู่ฮาร์วาร์ดตอนที่เราจบ ก่อนที่จะรับปริญญาเรามีทริปไปที่ยุโรปด้วยกัน ตอนนั้นเราเป็นเด็กทุน เรากู้เงินเรียน เราก็ต้องประหยัดเงินทั้งคู่เลย พอเราไปยุโรปแล้วระหว่างทริปเงินหมด เราต้องใช้เครดิตการ์ด แต่ค่าเงินหลังจากนั้นมันต่างกันมาก ซึ่งจูนเสียผลประโยชน์ด้วยเพราะว่าจูนเป็นคนใช้เครดิตการ์ด แล้วเราตกลงกันว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินสดที่เราใช้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนของวันที่ซีซิเลียแลกเงิน เรามองย้อนกลับไปว่าเราจะทำให้ธุรกรรมนั้นราบรื่นขึ้นได้ยังไงบ้าง เป้าหมายจริงๆ แล้วคือบริการทางการเงินที่ลดความเหลื่อมล้ำ เราจึงเริ่มต้นโดยที่เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ได้หลายสกุลเงิน ใช้ได้มากกว่า 150 สกุลเงินทั่วโลก ไม่มีค่าธรรมเนียมและให้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่า เราเริ่มที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มที่สิงคโปร์ก่อน ในปี ค.ศ.2018 และที่เมืองไทย ค.ศ. 2019 ตอนนี้เรากำลังเข้าไปมาเลเซีย ก่อนจะตามด้วยอินโดนีเซีย
พอโลกมี COVID-19 เข้ามาเป็นตัวแปร ธุรกิจของคุณกระทบไหม
กระทบแน่นอน มีผลเยอะเพราะว่าเราเริ่มจากสายท่องเที่ยว ตอนแรกๆ ที่ COVID-19 ยังไม่มา มันสวยมาก แต่หนีไม่พ้นที่ว่าพอโรคระบาดมา การเดินทางน้อยลง เราเลยปรับเป็นรูปแบบ e-commerce ซึ่งเห็นว่าตลาดมันโต 200% ในยุค COVID-19 เลยปรับโมเดลมาเป็นการใช้จ่ายออนไลน์
ในฐานะที่คุณคือหนึ่งในผู้ร่วมสร้างยูนิคอร์นระดับภูมิภาคอย่าง Grab คุณคิดว่าสตาร์ทอัพไทยจะทำยังไงให้เป็นยูนิคอร์นได้บ้าง
อย่างแรกคือ เราไม่แน่ใจว่าอะไรคือคำว่าสตาร์ทอัพไทย เพราะว่า ถ้าจะพูดถึงยูนิคอร์น จริงๆ เมืองไทยมีมาแล้วหลายตัวในแง่ของจูนนะ ถ้าบอกว่าคนก่อตั้งเป็นคนไทย เริ่มต้นจากประเทศไทย เราก็มีมาแล้วตั้งหลายตัว จะเป็น Agoda หรือจะ Omise แต่ถ้าบอกว่าสตาร์ทอัพที่ไม่ออกไปข้างนอกเลยแล้วกัน ใช้แต่ ecosystem ไทย อันนี้จะมีความต่าง เพราะ ecosystem ไทยมีความต่างอยู่
แต่นั่นก็คือเหตุผลหนึ่งว่าเวลาเรามองทั้ง Grab ทั้ง YouTrip เราไม่ได้มองเป็นประเทศ แต่เรามองจากภูมิศาสตร์ในที่ต่างๆ ทั่วโลก อย่างที่เราเรียกว่าเป็นบริษัทสิงคโปร์ หรือว่าอยู่ประเทศสิงคโปร์ก็เพราะว่ารัฐบาลเค้าสนับสนุนเต็มที่ เขาช่วยเราเต็มที่ แล้วเราลองอะไรต่างๆ ได้เร็ว เราเล่นกับตลาดทุน เราตอบโจทย์นักลงทุนมากกว่า เราจึงเลือกไปอยู่สิงคโปร์
อย่าง YouTrip หุ้นส่วนก็คนฮ่องกง แต่ย้ายไปอยู่สิงคโปร์แทน เพราะฉะนั้นถ้าคำถามในแง่ที่ว่ายูนิคอร์นไทย จูนว่าสำหรับจูนคือมียูนิคอร์นหลายตัว
ดูเหมือนว่าหลายสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จเลือกที่ไปตั้งบริษัทแม่ในประเทศที่มี ecosystem ที่ดีอย่างสิงคโปร์ หมายความว่าการสนับสนุนของรัฐบาลแต่ละประเทศสำคัญมากต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพ?
ยกตัวอย่างอย่างนี้ว่า ทำไมทั้ง Grab ทั้ง YouTrip ถึงเลือกสิงคโปร์ คือ รัฐบาลสิงคโปร์เขาซัพพอร์ตให้จริงๆ อาจจะไม่ขอเข้ารายละเอียดว่าซัพพอร์ตอะไรบ้าง แต่ว่าทั้งเรื่องกฎหมาย ทั้งเรื่องเงินทุน ทั้งอะไรต่างๆ เนี่ย เขาให้เยอะมากและเต็มที่ แล้วเราคิดว่าเราทำงานง่ายกว่าในการลองของใหม่ๆ อย่างถ้าในฐานะธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน ถ้าเราจะไปแก้กฎหมายหลายๆ ประเทศเราใช้เวลา เราก็ต้องลงในที่ๆ กฎหมายเปิดก่อน ลองได้เร็วๆ เป็นประเทศที่เราทดลองได้เร็วแล้วเราค่อยเข้าเอาเข้าประเทศอื่น
ถ้าให้รีวิว ecosystem เมืองไทย?
ecosystem ไทย จูนว่าเป็นจุดหนึ่งที่ต่างมากๆ คือในแง่ของเงินทุน ประเภทของนักลงทุน ความกล้าเสี่ยงของนักลงทุน ซึ่งไม่ได้มองแค่ตลาดสตาร์ทอัพนะ มองตลาดทุนทั่วโลกเลย
แล้วสตาร์ทอัพ จูนว่ามันประกอบไปด้วยสองส่วนใหญ่ๆ คือทุน กับคนที่มีความสามารถ [talent] เพราะฉะนั้นทุนยังไงก็มีส่วนสำคัญมาก กลยุทธ์ในการเพิ่มทุน ในการระดมทุนที่มันต้องหมุน
ถ้าในมุมมอง ecosystem ไทย นอกจากเรื่องของกฎหมาย เรื่องประเภทของนักลงทุนกับเงินในตลาดทุนที่มีผลเยอะ ความสามารถด้านเทคโนโลยีก็ต่าง เช่น งานพัฒนาโค้ด ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ คือคนไทยคนเก่งเยอะ อย่าเข้าใจผิด แต่ถ้าเทียบกับไซส์จะค่อนข้างต่าง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องเอาเทคโนโลยีไปที่สิงคโปร์บ้าง อินโดนีเซียบ้าง เวียดนามบ้าง อินเดียบ้าง จีนบ้าง อเมริกาบ้าง
และถ้าไปพูดถึงโครงสร้าง มันแตกหลายเรื่องมาก เมืองไทยคล้ายกับฮ่องกง สตาร์ทอัพเกิดยาก ถ้าใช้ ecosystem ในประเทศ ฮ่องกงมีเงินทุนก็จริง แต่ว่าจะมีบริษัทดั้งเดิมซึ่งพวกเขามีการป้องกัน มีเกราะเยอะ ฮ่องกงไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ตัวใหม่ๆ เมืองไทยก็เช่นกัน ตัวใหญ่ๆ เขามีเกราะป้องกันเป็นบาร์เรียที่มองไม่เห็น [invisible barrier] ที่ใหญ่มาก และในเรื่องของกฎหมายด้วยอย่าง Grab คือชัดเจน แก้ได้ทุกประเทศยกเว้นประเทศไทย ค่อยๆ มาแก้ได้บ้างในช่วงหลังๆ แต่ว่าแทบจะเกือบถอดใจกันไปแล้วด้วยซ้ำ
ส่วนตัวคุณคิดว่าอะไรสำคัญที่สุดในโลกสตาร์ทอัพ
สมมติว่าถ้ามองว่าสตาร์ทอัพ คือ เราต้องตอบโจทย์นักลงทุน แล้วเราต้องสู้กับตัวใหญ่ๆ อย่างเช่นระบบเศรษฐกิจเก่าๆ หรือบริษัทดั้งเดิมที่เขามาก่อน แล้วเขามีเงินทุนหนา มีคนเยอะ จูนว่าเราหนีไม่พ้นที่เราจะต้องมีเงินทุนเยอะพอสมควร ดังนั้นเงินทุนกับความสามารถ เวลาทำสตาร์ทอัพยังไงก็หนีไม่พ้นสองตัวนี้ สำคัญมากที่ต้องวางกลวิธีดีๆ คือเราทำด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ เราต้องมีทีม เอาความสามารถมาแข่งกับบริษัทใหญ่ๆ และเราต้องมีเงินจ่ายนักลงทุนด้วยอัตราราคาตลาด แต่เราบวกความวุ่นวายที่เขาต้องเจอ สวัสดิการที่ไม่เสถียรให้ด้วย แล้วเราต้องมีหุ้นให้เขา หุ้นจะมีมูลค่าเมื่อนักลงทุนมีจำนวนหนึ่ง เราก็ต้องหมุน หมุนให้เขาเห็นมูลค่าที่สูงขึ้น จูนว่ามันต้องตอบโจทย์ ทั้งนักลงทุน เราต้องดูแลทั้งนักลงทุน คนภายใน เราต้องบริหารให้คุ้มค่า
ถ้าให้คุณมองจุดแข็งของตัวเองในการทำงาน คิดว่าเป็นอะไร
จูนเป็นคนวางกลยุทธ์ จริงๆ จูนทำโอเปอร์เรชั่น จูนมองภาพใหญ่และภาพเล็กได้ จูนจะค่อนข้าง micro super detailed นิดหนึ่ง พอจูนลองมาทุกขั้นตอนแล้ว เวลามาถึงจุดที่สเกลไปอีกระดับหนึ่ง แล้วมันเข้าขั้น mature Stage จูนมักจะปล่อยให้คนอื่นเข้ามาช่วย
เพราะฉะนั้นความสามารถของจูนคือเริ่มจากที่ไม่มีอะไรเลย แล้วทำให้มันเกิดขึ้น ความสามารถในการต่อจิ๊กซอว์ตรงนั้น มองภาพเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ภาพอย่างนี้ 5 ปีข้างหน้าอาจจะเป็นอย่างนี้ 10 ปีข้างหน้าอาจจะเป็นอย่างนี้ เข้าประเทศนี้ก่อน เข้าประเทศนี้หลัง การเข้าประเทศนี้ทำ 1-2-3 ในแง่ประชาสัมพันธ์เราต้องมีจุดยืนแบบนี้ ในแง่ของการเงินเรายืนแบบนี้ ผลิตภัณฑ์เราเป็นแบบนี้ เราทำอะไรก่อน หาคนทำงานตำแหน่งไหนก่อน อะไรแบบนี้ค่ะ
ขณะที่บริหารสตาร์ทอัพ คุณก็บริหารธุรกิจของที่บ้านด้วย ซึ่งเป็นธุรกิจใหญ่ คิดว่ามีความแตกต่างในการใช้ความคิดบริหารไหม
มีจุดคล้ายกันเยอะในเรื่องของการธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขั้นไหนหรือว่าเป็นอะไร อุตสาหกรรมไหน มันมีความคล้ายคลึงกันหมด จูนว่าปัญหาเรื่อง ‘คน’ ปัญหา ‘การหมุนเงิน’ ทุกอย่างเป็นปัญหาคลาสสิก ที่ไหนก็มี หลักการของธุรกิจเหมือนกัน เพียงแต่ว่าการแข่งขันบางอย่างมันอาจอาจจะไม่เหมือนกัน
ณ วันนี้ ถ้าสมมติมีบริษัทดั้งเดิมยักษ์ใหญ่มาชวนคุณไปนั่งบริหาร คุณจะไปไหม
คงบอกได้ว่า ไม่ค่ะ อย่างแรกเลยคือเดี๋ยวคุณพ่อตีตายเลย (หัวเราะ)
จูนเป็นซีอีโอ รู้ทุกอย่างของที่บ้านหมดใช่ไหมคะ แล้วทักษะจูนไม่ใช่แบบนั้น ทักษะของจูนคือคนที่ชอบอะไรตอนที่มันมั่วๆคำว่ามั่วมีได้หลายตอนแหละ แต่จากที่ผ่านมา การแก้ของเก่าเนี่ยยากยิ่งกว่าสร้างของใหม่ ส่วนตัวจูนว่าคนที่ถึงจะไม่ได้ทำสตาร์ทอัพ ไม่ได้ทำของใหม่ แต่ต้องแก้ของเก่าในองค์กรใหญ่ๆ จะเล็กหรือจะใหญ่ หรือว่าจะทำธุรกิจครอบครัวมา ต้องซูฮกคนพวกนั้นมาก คือเขาเก่ง แต่ไม่ได้แปลว่าคนที่ทำอะไรใหม่ๆ ไม่เก่งกว่า เอาอย่างนี้ดีกว่าว่า ถ้าเกิดจะให้ทำบริษัทใหญ่ๆ ไม่ตรงกับทักษะที่จูนมีแน่นอนค่ะ ทำได้นะ ทำได้ แต่อาจจะไม่ชอบ
ถามต่อว่า ความเป็นหัวหน้าหรือผู้นำของสตาร์ทอัพควรมีอะไร
ถ้าพูดถึงหัวหน้า ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า achieve strategy through people การทำให้กลยุทธ์สำเร็จผ่านคน เพราะไม่สามารถทำด้วยคนคนเดียวได้ จูนคิดว่าหลายๆ หัว หลายๆ คนกว่าคนเดียวเสมอ
แล้วถ้าคุณที่อยู่ในจุดของคำว่าหัวหน้า หมายความว่าคุณสามารถมีผลกระทบกับชีวิตคนอื่นได้ คนในทีมเขาก็มีครอบครัว ในแต่ละวันการทำงานเป็นส่วนหนึ่ง เป็นส่วนสำคัญของชีวิต เราใช้เวลากับมันเยอะ เราสามารถปรับและเราสามารถมีส่วนช่วย
จูนคิดว่าการเป็นหัวหน้าที่ดีจะต้องดูแลทีมได้ดี ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยาก มันละเอียดอ่อน หมายความว่าคุณต้องมีความเสียสละ มีความอดทน แล้วปัจจัยที่จูนเจอทั้งภายในและภายนอกมีเยอะ มีปัญหาภายในเยอะมาก จะปัญหาการเมือง ต้องดูแลนักลงทุน การแข่งขันในตลาด เราต้องบริหารทั้งภายในและภายนอก และกลั่นออกมาให้เป็นทีมที่เราสามารถดึงศักยภาพของคนออกมาให้มากที่สุด ให้มีการแข่งขันที่พอเหมาะ ให้ที่ทำงานมีสภาพแวดล้อมที่ดี แล้วให้ทุกคนพายเรือไปทางเดียวกัน และเขาโอเคกับมัน อาจจะให้ทุกคนมีความสุขไม่ได้ บางอย่างมันต้องตัดสินใจ มันเป็นการตัดสินใจที่ยากแต่จำเป็น
จูนว่าความสามารถที่ดีเนี่ย ถ้าเรานึกถึงสิ่งที่เราคุยมาทั้งหมด เราเอามากรองคือความเป็นคน ความเป็นมนุษย์ ความเป็นเพื่อนมนุษย์ แล้วก็เป็นเพื่อนกัน อย่าง COVID-19 สถานการณ์ร้ายแรง เราจะพาบริษัทไปข้างหน้าได้ยังไงในฐานะที่สตาร์ทอัพ เจอเกณฑ์การระดมทุนแบบใหม่ ที่ดูความเป็นไปได้ ดู bottom line หนักขึ้น เราดูแลทุกคนยังไง เราจะนำเขายังไงแล้วให้เขายังโอเค ให้เขาเป็นภาพรวมที่ดีที่สุด โดยที่เราไม่สามารถตอบโจทย์ตามแต่ละบุคคลได้ เราต้องมองภาพรวม
การเป็นหัวหน้าที่ดี จูนว่ามันคือทำยังไงให้ทีมแข็งแกร่งที่สุด ซึ่งนั่นเป็นหัวใจของสตาร์ทอัพ ไม่ความสามารถของคน เราไปไหนไม่ได้ค่ะ
สุดท้าย ส่งต่อคำแนะนำให้คนที่อยากจะเข้ามาลิ้มรสชาติวงการสตาร์ทอัพ
ถ้าอยากจะลองทำด้านเทคโนโลยี จูนว่าบริษัทสตาร์ทอัพหรือบริษัทเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพหรือไม่ใช่สตาร์ทอัพเปิดรับคนมีความสามารถอยู่แล้ว ลองเลยลองไปแล้วก็รู้ แต่ถ้าบอกว่าอยากจะทำของตัวเอง อยากเป็นคนก่อตั้ง จูนขอมองจากสถิติ คือ ยิ่งประสบการณ์มาก โอกาสประสบความสำเร็จยิ่งมาก แนะนำว่ายิ่งถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน ลองเถอะ ลองไปทำบริษัทสตาร์ทอัพที่ไม่ใหญ่ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนที่ให้ทุนจูน สอนจูนมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่ฮาวาร์ด ว่าถ้าจะลองเอาประสบการณ์ให้ไปเลือกที่เล็กๆ อย่าไปเลือกที่ใหญ่ๆ อย่าไปเลือกที่ๆ เพื่อนร่วมชั้นเรียนเราซึ่งมีประมาณ 900 คนไปสมัคร แล้วเอาแค่คน ถึงสองคน พอเข้าไปแล้วไปเจอคนอื่นที่เก่งๆ คือโอกาสที่คุณจะได้ spread your wings มันน้อยกว่าเยอะ
แต่ถ้าคุณไปทำที่ที่เล็กหน่อย และไม่ได้คิดเรื่องเงินเดือนมาก คุณจะได้เห็นทุกอย่าง ดูเรื่องระดมทุน ดูเรื่องการทำการตลาด การคิดกลยุทธ์ การดำเนินธุรกิจ การต่อภาพอะไรต่างๆ คุณได้เรียนรู้เยอะมาก
และการเป็นผู้ก่อตั้งหรือเป็นเจ้าของธุรกิจตัวเองมันไม่สวยหรู อันนี้ขอย้ำ จูนว่ามันไม่เหมาะกับทุกคน แต่ละคนมีความถนัดที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นไปได้ จูนอยากให้ถนัดอะไรทำอย่างนั้น มันไม่ได้มีอะไรดีกว่าอะไร การบริหารการเงินทำไปได้ควบคู่ไปกับการทำงาน แต่ถ้าอยากจะเป็นคนก่อตั้งจริงๆ ต้องมีความอึด มีความเสียสละนะ เหตุผลอันดับหนึ่งของเวลาสตาร์ทอัพมันพังหรือธุรกิจใหม่ๆ ที่พัง คือพังจากปัญหาหุ้นส่วน ไม่ใช่ตัวธุรกิจ ถ้าไม่มีใครเสียสละในทีม พังๆๆๆ และพัง อันนี้เห็นมากี่ครั้งต่อกี่ครั้งไม่แน่ใจ