มาตรการส่งฟรีทุกออเดอร์ช่วงล็อกดาวน์ จาก ‘Robinhood’ แอพพลิเคชันส่งอาหารเดลิเวอรี ระหว่างวันที่ 11-25 กรกฎาคม ค.ศ.2021 อาจกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของวงการเดลิเวอรีไทยก็ว่าได้
เพราะราว 18 เดือนที่ผ่านมา คนไทยใช้ชีวิตใต้หน้ากากอนามัย สลับกับล็อกดาวน์อยู่บ้าน หลายๆ ครัวเรือนน่าจะสั่งอาหารผ่านแอพฯ เดลิเวอรี จนกลายเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว ถึงจะมีออเดอร์เพิ่มขึ้นเพราะคนอยู่บ้าน แต่ก็สวนทางกับกำลังซื้อที่ฝืดเคือง ร้านอาหารเลยต้องเปลี่ยนมาทำเดลิเวอรีเพื่อประคองสายป่าน คนตกงานเองก็หันมาขับรถส่งอาหารผ่านแอพฯ
ด้วยภาระที่หนักอึ้ง สังคมก็เกิดข้อเรียกร้องเสนอว่าให้ทางแอพฯ เดลิเวอรีลดค่า GP (ค่าดำเนินการ) ลงหน่อย เพื่อให้ร้านอาหารไม่ถูกหักค่าดำเนินการมากเกินไป ขณะเดียวกันก็มีเสียงเรียกร้องให้ดูแลค่าแรงของบรรดาคนขับขี่เดลิเวอรีมากขึ้นเช่นกัน
ในการล็อกดาวน์รอบล่าสุดตั้งแต่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา แอพฯ Robinhood กับทางธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ได้ออกมาตรการพิเศษ ‘ส่งฟรีทุกออเดอร์ช่วงล็อกดาวน์’ ตั้งแต่วันที่ 11–25 กรกฎาคม ค.ศ.2021 รวม 15 วัน
ทาง Robinhood ระบุว่า “เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้คนในสังคม ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าด้วยการออกค่าส่งอาหารให้ฟรีทุกออเดอร์ มุ่งหวังช่วยร้านอาหารโดยเฉพาะร้านเล็กๆ ให้มีออเดอร์มีรายได้ในการพยุงธุรกิจ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างงานที่เพิ่มขึ้นให้กับไรเดอร์ หวังให้มาตรการพิเศษในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของโมเดลที่ ‘คนตัวใหญ่’ จะสามารถมีส่วนช่วยเหลือสังคมและต่อลมหายใจให้ ‘คนตัวเล็ก’ สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากได้อีกครั้ง”
การประกาศของ Robinhood ทำให้คนแห่มาใช้บริการกันมาในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา จนทำให้บนหน้าโซเชียลมีเดีย หากเลื่อนผ่านน่าจะได้เห็นโพสต์ปัญหาสั่งอาหารเล่นๆ ข้ามเมือง หรือปัญหาที่หลายคนออกมาแชร์กันว่าหาไรเดอร์ส่งอาหารไม่ได้ อย่างไรก็ตามก็ถือเป็นก้าว ‘ใหม่’ ที่ Robinhood ได้ลองทำ
ซึ่งก่อนหน้าที่ Robinhood จะออกมาตรการ ทางภาครัฐก็ได้เรียกเดลิเวอรีเจ้าอื่นเข้าไปคุยเพื่อหารือลดค่า GP กันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Grab, LINE MAN หรือ foodpanda ฯลฯ (ส่วน Robinhood อัตรา GP 0% มาตั้งแต่แรก)
อันที่จริงแล้ว ในจังหวะที่ COVID-19 ระบาดหนักๆ ในหลายประเทศฝั่งยุโรป–อเมริกา คนล็อกดาวน์อยู่บ้านกันนานเป็นเดือนๆ ค่ายเดลิเวอรีต่างประเทศก็มีมาตรการช่วยเหลือร้านอาหาร และลูกค้าให้เห็นหลายเคส โดยที่ทางรัฐและประชาชนเองก็พยายามส่งเสียงให้เกิดความ ‘ช่วยเหลือ’ ดังกล่าวจากเจ้าตลาด
สหรัฐอเมริกา
ช่วงมีนาคม ค.ศ.2020 ที่สหรัฐอเมริกาเริ่มมีการระบาดวงกว้างและทวีความรุนแรง ประชากรต้องล็อกดาวน์อยู่บ้าน ‘Grubhub’ เดลิเวอรีแพลตฟอร์มได้ประกาศที่จะงดค่าคอมมิชชั่นที่เรียกเก็บจากร้านอาหาร โดยมีวงเงินช่วยเหลือกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (แต่ยังคงค่าจัดส่งและค่าดำเนินการสั่งซื้ออยู่) ซึ่งทำให้ Uber Eats และ Postmates ขยับตาม
หรือเดลิเวอรีของ ‘KFC’ สหรัฐอเมริกาก็ประกาศส่งฟรีกว่าหนึ่งเดือนครึ่งทั่วประเทศ หากสั่งอาหารมูลค่าเกิน 12 ดอลลาร์สหรัฐฯ
มีไอเดียช่วยเหลือรายย่อยที่น่าสนใจอื่นๆ จาก ‘Uber Eats’ อีก ที่ยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดส่ง สำหรับคำสั่งซื้อทั้งหมดจากร้านอาหารร้านเล็กๆ อิสระ และเป็นร้านท้องถิ่น กว่า 100,000 ร้านบนแอพฯ ตามมาด้วยแคมเปญเกาะกระแสการต่อสู้ในสังคม อย่างการงดค่าส่งตลอดปี ค.ศ.2020 เมื่อสั่งผ่านร้านที่ ‘คนผิวดำ’ เป็นเจ้าของ
Reuters ระบุว่า บรรดาแพลตฟอร์มเดลิเวอรีอาหารถูกกดดันจากทั้งร้านอาหารเล็กๆ และผู้กำกับกฎหมาย เพื่อให้ลดหรือละค่า GP และดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งค่าเฉลี่ย GP ของแอพฯ เดลิเวอรีสหรัฐอยู่ที่ราว 15-30%
อย่างในช่วงเวลานั้น สภาฯ นิวยอร์ก (เมืองศูนย์กลางการระบาดของสหรัฐอเมริกา) ก็ได้เสนอร่างเพื่อขอให้บรรดาแอพฯ ส่งอาหาร ลดค่า GP เหลือ 10% โดยเรียกผู้ให้บริการ เช่น DoorDash, Postmates และ Uber เข้ามาพูดคุย ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นที่ในสหรัฐฯ พูดคุยกันอยู่แม้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติได้บ้างแล้ว เพราะพวกเขาเรียกร้องไปถึงในระยะยาวว่า อัตรา GP ควรอยู่ที่ 10% ตลอดไป
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีช่วงเวลาที่ได้รับการช่วยเหลือ แต่ร้านอาหารยังต้องแบกรับค่า GP อัตราสูงอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นช่วงล็อกดาวน์เราได้เห็นไอเดียใหม่ๆ ในการเลือกใช้เทคโนโลยีของร้านอาหารในอเมริกา บางร้านอาหารเลือกใช้ ‘Ordrslip’ แอพฯ ให้บริการที่ทำงานร่วมกับการขายหน้าร้าน โดยเก็บค่าธรรมเนียมเป็นรูปแบบ ‘รายเดือน’ แทน ทำให้โดนตัด GP น้อยลง
อังกฤษ
คล้ายกันกับที่อังกฤษที่ Uber Eats ถือเป็นเจ้าใหญ่ของตลาดเดลิเวอรี ปีที่แล้วช่วงที่ล็อกดาวน์หนักๆ ในเดือนมีนาคมปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา ทางแอพฯ ก็ยกเว้นค่าธรรมเนียมจัดส่งและค่าลงทะเบียนของร้านอาหาร
ก่อนหน้านั้น ทาง ‘Just Eat’ ก็ได้ใช้วงเงินราว 10 ล้านปอนด์ ในการสนับสนุนร้านอาหาร ด้วยการคืนค่าคอมมิชชั่นให้ร้านอาหาร 1 ใน 3 และยกเลิกค่า GP รวมถึงฟรีค่าลงทะเบียนสำหรับร้านอาหารใหม่ เป็นระยะเวลา 30 วัน
นอกจากนั้น ที่สตาร์ตอัพเดลิเวอรีของยุโรปบางเจ้า ยังมีการจัดตั้ง ‘กองทุน’ ช่วยเหลือพนักงานเดลิเวอรี กรณีที่ไรเดอร์เหล่านั้นป่วย หรือต้องกักตัวในช่วง COVID-19 เช่น ‘Deliveroo’ ของอังกฤษ และ ‘Glovo’ ของสเปน
อินเดีย
สมาคมร้านอาหารในอินเดียรวมตัวกันกดดัน Swiggy และ Zomato สองแพลตฟอร์มใหญ่ของประเทศ ให้ลดค่าคอมมิชชั่นสำหรับพวกเขา จากที่ปกติเก็บ 20-25% ในปีที่แล้ว ก่อนที่ต้นปีที่ผ่านมา (ค.ศ.2021) การระบาดที่รุนแรงในอินเดียทำให้ Amazon Food ขยับออกนำ โดยลดค่าคอมมิชชั่นสำหรับร้านอาหารเหลือแค่ 10%
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
Careem บริษัทที่ Uber เป็นเจ้าของในดูไบคิดไอเดียช่วยร้านอาหารเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยตัดสินใจจะเรียกเก็บค่านายหน้า หรือ GP จากร้านอาหารเป็นรายเดือน แทนการเก็บเป็นออเดอร์ ซึ่งจะทำให้ร้านอาหารโดนหักลดลงเฉลี่ย 6-7% (จากปกติ GP เก็บที่ 30%) และหากร้านอาหารทำยอดขายได้สูงมากขึ้นไปอีก เฉลี่ยแล้วค่า GP ที่โดนหักก็ยิ่งถูกลง
สิงคโปร์
ช่วงเดือน พฤษภาคคม–มิถุนายน ค.ศ.2021 ที่ผ่านมา สิงคโปร์สั่งห้ามทานอาหารนอกบ้านอีกครั้ง ทำให้แอพฯ ส่งอาหารต่างๆ ของสิงคโปร์นำแพ็กเกจลดค่า GP จากล็อกดาวน์รอบก่อนมาใช้อีกครั้ง โดยเฉลี่ยแล้วลดลง 5%
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเดลิเวอรีหลายๆ ประเทศ ก็ดูเหมือนจะมีปัญหาเรื่องค่าคอมมิชชั่น หรือค่า GP ที่เฉลี่ยเก็บ 25-35% อยู่เหมือนกัน เป็นปัญหาที่มักถกเถียงกันว่าแพงไป และไปลดรายได้ของร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารรายย่อย ตัวเล็กตัวน้อย ทำให้หลายประเทศเริ่มพูดคุยไปถึงว่าค่า GP ยุคหลัง COVID-19 ก็ควรจะถูกดันให้ถูกกว่านี้เพื่อความแฟร์กับทุกฝ่าย
แน่นอนว่า การระบาดของ COVID-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป และการสั่งอาหารเดลิเวอรีกลายเป็น ‘วิถีชีวิต’ ที่คงไม่มีใครคิดอยากจะปฏิเสธอีกแล้ว ไม่ว่าจะฝั่งคนลูกค้า หรือฝั่งธุรกิจ ก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan