ในวันที่เรายืนเดียวดาย เนื้อตัวสั่น สายตาก็จับจ้องไปที่ฝักบัว ใครที่โชคดีมีอันจะกินหน่อยก็คงจะครอบครองเครื่องทำน้ำอุ่นไว้สู้ความหนาว การได้อาบน้ำอุ่นๆ ถือเป็นอีกหนึ่งความสุข และทำให้เรารอดชีวิตจากยุคน้ำแข็งของเมืองไทยที่นานๆ จะมีสักที
คนเราก็ต้องรู้จักบุญคุณ ยืนมองเจ้าเครื่องทำน้ำอุ่นตู้เหลี่ยมๆ ก็พานคิดอยากจะขอบคุณมวลมนุษยชาติที่พัฒนาเทคโนโลยีจนทำให้เรามีวันนี้ได้ ใครกันนะช่างคิดเจ้าเครื่องทำน้ำอุ่นขนาดเล็กๆ ที่ทำให้น้ำอุ่นได้ทันใจเหมือนเวทมนตร์แบบนี้ นึกภาพไปที่ดินแดนหนาวเหน็บ ประเทศเช่นญี่ปุ่น เช่นยุโรป การมีระบบน้ำอุ่นก็ทำให้ชีวิตอบอุ่นรื่นรมย์ สู้ภัยหนาวได้สบายยิ่งขึ้น
การเกิดขึ้นของเครื่องทำน้ำอุ่นก็ราวๆ ช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นยุคที่มนุษย์เราเริ่มสร้างวิทยาการต่างๆ จากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน การสร้างไอน้ำ เปลี่ยนถ่ายพลังงานความร้อน พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของครัวเรือนและเครื่องใช้ภายในบ้านอันเป็นสินค้าที่สร้างความสะดวกสบายให้กับชนชั้นใหม่ๆ เช่น ชนชั้นกลาง กลุ่มคนมีอันจะกิน แต่ก็ไม่ได้มั่งคั่งถึงขนาดจะมีคนรับใช้ไปต้มน้ำเป็นนางซินฯ ได้ทุกวี่ทุกวัน
จริงๆ แล้วเครื่อง—ระบบทำน้ำอุ่นก็มีหลายระบบเนอะ ถ้าเราพอนึกออก ตามโรงแรมหรือเมืองหนาวก็มักจะเป็นระบบจ่ายน้ำอุ่นตลอดเวลา ที่จะมีก๊อกสองก๊อกให้เราเลือกปรับได้ ระบบจ่ายน้ำอุ่นแบบนี้เรียกว่าระบบแทงก์ คือมีแทงก์และระบบต้มน้ำ ทำหน้าที่ต้มน้ำร้อนจ่ายเข้าระบบท่อกันอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ตู้ทำน้ำอุ่นเล็กๆ เป็นระบบไร้แทงก์ เป็นนวัตกรรมใหม่กว่านิดหน่อย เป็นระบบที่นิยมในบ้านเรา
ประวัติศาสตร์ตะกุกตะกักของการอาบน้ำอุ่นๆ
การอาบน้ำอุ่นๆ เป็นบุญบารมีอย่างหนึ่งเนอะ ในเมืองหนาวเองก็มีความพยายาม—และความจำเป็นในการอาบน้ำอุ่นกันมาเนิ่นนานแล้ว ระบบทำน้ำอุ่นที่เก่าแก่ที่สุดที่มีหลักฐานก็ย้อนไปได้ตั้งโน่น ยุคโรมันโบราณที่เราอาจเคยได้ยินสถานที่ที่เรียกว่าโรงอาบน้ำโรมัน คือในสมัยนั้นวิทยาการระบบทำน้ำอุ่นยังไม่ได้ขยายไปสู่ในระดับครัวเรือน แต่จะเป็นระบบจ่ายน้ำในโรงอาบน้ำสาธารณะที่มีใช้การต้มน้ำด้วยฟืนและจ่ายไปตามท่อ ไปลงบ่ออาบน้ำรวม—คล้ายๆ โรงอาบน้ำ สปาออนเซนของญี่ปุ่นนี่แหละ
สำหรับครัวเรือนเอง กระทั่งในยุคสมัยใหม่แล้ว ครอบครัวที่อยากจะแช่น้ำร้อนก็จะต้องเผชิญความยากลำบาก มีการใช้อ่างขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนถ่านหรือไฟเพื่ออุ่นให้น้ำนั้นร้อนขึ้น ก็ถือเป็นกิจกรรมการแช่น้ำของครอบครัว ชาวเมืองหนาวก็จะแช่น้ำได้นานๆ ครั้ง
ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ถ้ายังพอจำได้ ระบบเครื่องจักรในยุคนั้นคือการผันพลังงานต่างๆ เพื่อไปขับเคลื่อนเครื่องจักร เช่นระบบไอน้ำ ดังนั้นการแปรสภาพพลังงาน การต้มน้ำให้ความร้อน ผนวกกับความปรารถนาของครอบครัวชนชั้นกลางที่เริ่มมีอันจะกิน พอมีเวลาว่างก็มีฝันอยากจะลงอ่างอุ่นๆ กันบ่อย นักประดิษฐ์ทั้งหลายก็เลยเริ่มสานฝันโดยมีหมุดหมายในราวปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งการสร้างเครื่องทำน้ำอุ่นที่อบอุ่น ปลอดภัย และใช้งานได้ดีถือเป็นอีกหนึ่งเควสต์ที่ขลุกขลัก และกว่าจะได้เรื่องได้ราวก็เรียกได้ว่ายิงยาวไปจนจบศตวรรษกันเลยทีเดียว
ปี ค.ศ.1868 เป็นหมุดหมาย-จุดสำคัญแรกของนวัตกรรมเครื่องทำน้ำอุ่น กับการจดสิทธิบัตรเครื่องทำน้ำอุ่นเครื่องแรกของโลก โดยนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษนาม Benjamin Waddy โดยเครื่องทำน้ำอุ่นของคุณเวดดี้นี้เป็นเครื่องอุ่นและจ่ายน้ำระบบแก๊ส ที่ถ้าใครเอาไปใช้ในบ้านก็จะเกิดหายนะ เพราะคุณพี่แกไม่ได้ออกแบบระบบระบายอากาศไว้ ทำให้การต้มน้ำของพี่แกมีโอกาสที่ก๊าซคาร์บอนมอนอ็อกไซด์จะรั่วไหล และทำให้สำลักหายใจไม่ออกลาโลกไปได้ง่ายๆ
จุดเริ่มธุรกิจระบบให้ความร้อนและระบบหล่อเย็น
กว่าเราจะมีน้ำอุ่น มีเครื่องทำน้ำอุ่นที่ไม่ฆ่าคนได้ก็นับจากคุณเวดดี้ล่วงเลยมาถึง 20 ปี จากดินแดนทวีปยุโรป โยกย้ายมาก่อกำเนิดที่อเมริกา ดินแดนเกิดใหม่แห่งโลกอุตสาหกรรม ในช่วงทศวรรษ 1880 ที่อเมริกามีวิศวกรชาวนอร์เวย์ชื่อคุณ Edwin Ruud ก็อยากจะแก้ปัญหาไม่ต้องเอาอ่างเหล็กออกไปต้มน้ำอุ่นแช่นอกบ้านให้อายฟ้าดินกันอีกต่อไป คุณ Ruud ก็พยายามออกแบบระบบน้ำอุ่นให้กับคุณ George Westinghouse อันเป็นเฮียในเจ้าของบริษัทพลังงานเจ้าหนึ่ง
จากอานิสงส์ผลบุญที่แกอยากจะสร้างชีวิตดีๆ แกเลยออกแบบระบบเครื่องทำน้ำอุ่นที่ปิดปัญหาเครื่องทำน้ำอุ่นในยุคก่อนหน้าเช่นเรื่องแก๊สเกิน ไปจนถึงระบบระบายอากาศและความดันทั้งหลายได้สำเร็จ จนสามารถจดเป็นสิทธิบัตรได้ในปี ค.ศ.1899 เป็นระบบทำน้ำร้อนที่มีระบบวาล์วและตัวควบคุมอุณหภูมิ งานออกแบบนี้เป็นเครื่องขนาดกะทัดรัด เหมาะสมกับการใช้ในครัวเรือน และแน่นอนว่าแกก็จัดการเปิดเป็นบริษัทและผลิตเครื่องทำน้ำอุ่นขาย เปิดเป็นบริษัท Ruud Manufacturing ในเวลาต่อมา
จากจุดนั้นก็เลยถือเป็นจุดเริ่มของความมั่งคั่งเนอะ นึกภาพการเริ่มผลิตเครื่องและระบบทำน้ำร้อนขายในครัวเรือนจนกลายเป็นเครื่องที่มีหลายบ้าน หลังจากนั้นบริษัท Ruud ก็พัฒนากลายเป็นบริษัทเกี่ยวกับระบบทำความร้อนและการหล่อเย็นที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา
ก้าวสู่ศตวรรษที่ 20 อย่างปลอดภัยและสะดวกขึ้น
เราอาจจะมองว่าคุณ Ruud เป็นหนึ่งในผู้มีพระคุณยามมองตู้ทำน้ำอุ่น แต่เดี๋ยวก่อน งานออกแบบของแกนั้นยังมีปัญหาบ้าง และในโลกของการทำความร้อนก็ยังมีการพัฒนาแก้ไข เกิดบริษัทใหม่ๆ และนวัตกรรมทำน้ำอุ่นมากมายจนกระทั่งถึงยุคที่เรียกว่ายุคทองของเครื่องทำน้ำร้อน คือในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ของเรานี่เอง
คุณ Stiebel Eltron ซึ่งถ้าใครชอบเดินโฮมโปรอาจจะพอเคยได้ยินเครื่องทำน้ำอุ่นชื่อเยอรมัน ในปี ค.ศ.1929 คุณ Stiebel-Eltron ก็ได้ประดิษฐ์เครื่องทำน้ำอุ่นแบบไม่ต้องมีแทงก์ เป็นเครื่องมีระบบซับซ้อนกว่าด้วยการผสมระบบการให้ความร้อนไม่ว่าจะด้วยแก๊สหรือไฟฟ้าและการนำน้ำผ่านท่อทองแดง เจ้าเครื่องแสนวิเศษนี้จึงสามารถทำน้ำร้อนและอุ่นน้ำได้ในทันทีไม่ต้องมีการต้มและปล่อยรอกันตลอดเวลา เป็นต้นแบบเครื่องทำน้ำอุ่นที่เราหมุนใช้ และยืนยิ้มกับมันในวันหนาวๆ แบบนี้
หนาวเราก็ชอบเนอะ และไอ้ความหนาวที่แหละที่ทำให้เราอาบน้ำอุ่นแล้วสุขหัวใจมากขึ้น เครื่องทำน้ำอุ่นที่เราหมุนใช้เลยดูเป็นอีกหนึ่งตัวแทนจากวิทยาการจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม จากการต่อสู้ภัยหนาวและแสวงหาความสบาย จนกลายเป็นเครื่องทำน้ำอุ่นที่เหมาะสมกับเมืองร้อนที่นานๆ หมุนทีแบบบ้านเรา
ว่าแล้วก็อยากจะเอาพวงมาลัยไปรำลึกขอบคุณเหล่านักประดิษฐ์ตั้งแต่อังกฤษ นอร์เวย์ และเยอรมัน ขอบคุณที่ทำให้ผ่านยามเช้าในช่วงสัปดาห์นี้ไปได้โดยสวัสดิภาพ
อ้างอิงข้อมูลจาก