“มีเนื้อหาในบทเรียนแบบเดิมๆ ซ้ำๆ เน้นการท่องจำ ทำให้เป็นวิชาที่ดูไม่น่าสนใจ”
เป็นคำอธิบายความเห็นการสำรวจของชุมชน Eduzones เกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์ วิชาที่ติดอันดับ 5 ในลิสต์ของวิชาที่ควรถูกยกเลิกมากที่สุดนอกจากวิชาลูกเสือ พระพุทธศาสนา พลศึกษา และกระบี่กระบอง พร้อมทั้งยังกังขาว่าวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ไม่น่าเชื่อถือว่าถูกต้องอย่าง 100% เพราะประเทศผู้เขียนประวัติศาสตร์เหล่านั้นให้นักเรียนได้เรียนก็มักเข้าข้างประเทศของตัวเอง
อะไรทำให้นักเรียนไทยรู้สึกแบบนั้นกับวิชาที่มีเรื่องให้เล่าและให้เรียนมากมาย? และเราสามารถหาทางออกยังไงได้บ้าง?
หลักสูตรประวัติศาสตร์ไทย ‘แคบ’ ไปหรือเปล่า?
ในเอกสารตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ในหมวดหมู่ประวัติศาสตร์มีการแบ่งสัดส่วนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยส่วนมากในช่วงประถม และเริ่มมีการแนะนำประวัติศาสตร์โลกโดยรวมช่วงประถมปลายถึงมัธยมปลาย สัดส่วนและช่วงวัยที่สอนดูไม่ใช่ปัญหาอะไร แต่สิ่งที่อาจชวนสังเกตคือสาระการเรียนรู้มาตรา ส 4.3 ที่ชื่อว่า “เข้าใจความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย มีความรัก ความภูมิใจ และธำรงความเป็นไทย”
เนื้อหาของมาตรานี้มักเกี่ยวข้องกับการรู้ ยกย่อง และอนุรักษ์ความเป็นไทย เช่น ให้ท่องจำชื่อพระมหากษัตริย์ และพระราชกรณียกิจ หรือตัวอย่างของวัฒนธรรมไทยอะไรที่ควรยกย่องและอนุรักษ์ วีรกรรมของบรรพบุรุษไทยที่ปกป้องชาติเอาไว้
ความหมายของความเป็น ‘ไทย’ ที่ ‘ควรถูกอนุรักษ์’ ในมาตรานี้มีความเจาะจงอย่างมีนัยยะ ห้วงเวลาที่หลักสูตรตั้งไว้ว่าเป็นสิ่งที่ควรถูกอนุรักษ์นั้นไล่ยาวมาตั้งแต่สุโขทัยจนมาถึงรัตนโกสินทร์ แต่ในหมวดหมู่ของบุคคลสำคัญที่พัฒนาประเทศชาติ กลับมีเพียงครั้งเดียวที่ได้เห็น ‘ชาวบ้าน’ ถูกระบุอยู่ในหลักสูตรนี้คือชาวบ้านบางระจัน
“ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหน้าที่ให้ใครรักชาติมากขึ้นหรือน้อยลง” ธงชัย วินิจจะกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน กล่าวในงานเสวนา ‘จะหาเรื่องกับประวัติศาสตร์อย่างไร’ โดยเขาอธิบายว่าการตีความและการนำประวัติศาสตร์ไปใช้ในทางใดขึ้นอยู่กับแนวคิดทางการเมืองของแต่ละบุคคล แต่เมื่อพูดถึงเนื้อแท้ของมันแล้ว วิชาประวัติศาสตร์เรียนเพื่อให้ได้คิดและไม่หยุดคิด
ธงชัยกล่าวเสริมอีกว่าแนวคิดว่าเรียนเพื่อให้รักชาตินั้นตรงข้ามกับจุดประสงค์ของการเรียนประวัติศาสตร์และเป็นอันตราย โดยเขาเชื่อว่าความรู้ทางประวัติศาสตร์ควรเพ่งเล็งไปที่การตีความการเปลี่ยนแปลง การไม่หยุดนิ่ง การตรวจสอบตัวเองเสมอ และการตั้งคำถามทั้งกับแนวคิดของผู้อื่นและของตัวเอง
ประเด็นเรื่องความเอนเอียงและไม่หลากหลายของบทเรียนนั้นเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้เหล่านักเรียนไม่ชอบเรียนประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นการท่องจำ ความรู้สึกนี้นอกจากในมุมมองวิชาการแล้ว การเติบโตของนักเรียนในยุคปัจจุบันที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเอกสารความรู้ที่รอบด้านอยู่ในมือของตัวเอง ทำให้ต้องตั้งคำถามกับหลักสูตรว่าหากนักเรียนสามารถหามุมมองของการศึกษาประวัติศาสตร์ที่หลากหลายกว่า การเข้าถึงมุมมองที่ตั้งคำถามต่อหลักสูตร รวมถึงมุมมองที่สามารถเหลาแนวคิดของพวกเขาให้แหลมคมได้มากกว่าที่เอกสารในหลักสูตรสามารถให้ได้ การเรียนกับหลักสูตรแบบเดิมๆ จะตอบโจทย์นักเรียนในปัจจุบันเท่าไร?
แต่การถอดประวัติศาสตร์ออกจากหลักสูตรไม่น่าใช่ทางออกของปัญหาเสียทีเดียว ในตัวของมันการเรียนประวัติศาสตร์สำคัญต่อการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ต้องมีการปรับแนวทางการสอนที่เข้าหาผู้เรียนและเปิดกว้างหลักสูตรมากขึ้น
แล้วเราจะสอนประวัติศาสตร์กันยังไงดี?
มีตัวอย่างของหลักสูตรที่กว้างขวางและรอบด้าน รวมไปถึงเป็นบทสนทนาที่ร้อนที่สุดในระบบการศึกษาสหรัฐอเมริกาในช่วงสองปีที่ผ่านมาคือความเหมาะสมของการสอนทฤษฎีเชื้อชาติเชิงวิพากษ์ (Critical Race Theory) ในโรงเรียน โดยเป็นวิชาที่เล็งการสอนประวัติศาสตร์ในมุมมองว่าเชื้อชาติและชาติพันธุ์มีผลต่อการพัฒนาประเทศ สภาพสังคม และนโยบายสาธารณะอเมริกายังไง
ซึ่งฝั่งอนุรักษ์นิยมมองว่ามันเป็นหลักสูตรที่จะสร้างความแตกแยกให้แก่คนต่างเชื้อชาติ และเป็นภัยที่จะปลูกฝังให้แก่นักเรียนตั้งแต่ยังเด็ก แต่ก็มีการตั้งคำถามว่าเราสามารถละทิ้งอดีตหรือประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้จริงหรือ? เพราะประเทศสักประเทศไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างใสสะอาด อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมืองอเมริกันและการใช้ทาสผิวดำในอดีต โดยที่ยังมีลูกหลานของคนกลุ่มนั้นๆ อยู่ในประเทศ ซึ่งนี่ก็คือประวัติศาสตร์ของพวกเขาที่ถูกเล่าด้วย
ตัวอย่างของประเทศที่มีการบังคับสอนประวัติศาสตร์ที่กระอักกระอ่วนของประเทศตัวเองอีกแห่งคือเยอรมนี ที่ให้เรียนเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยจะมีการพูดถึงเรื่องนี้เล็กๆ น้อยๆ ตลอดหลักสูตร และเริ่มสอนอย่างจริงจังตอนมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือเมื่อนักเรียนอายุประมาณ 16 ปี
หลายๆ ครั้งครูจะพานักเรียนของพวกเขาออกไปพิพิธภัณฑ์หรืออนุสรณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ เหตุผลที่รัฐสอนเรื่องนี้เพื่อไม่ให้ความทรงจำของเหตุการณ์ที่น่าเศร้าในอดีตเช่นนี้หายไปตามกาลเวลา และเป็นการต่อต้านแนวคิดฝ่ายขวาสุดโต่งที่ปฏิเสธการเกิดขึ้นของมัน
“อย่าให้ประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นใดเวอร์ชั่นหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป” เป็นโควตของธงชัย วินิจจะกุลจากงานเสวนา ที่เราเชื่อว่าตอบโจทย์เรื่องความสมดุลของข้อมูลประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้อย่างดี เขาเสนอว่าไม่ว่าประวัติศาสตร์จากแนวคิดทางการเมืองใดก็ไม่ควรเป็นวิชาประวัติศาสตร์หนึ่งเดียว แต่ควรมีประวัติศาสตร์หลายๆ มุมมองให้ผู้ที่สนใจหาเรียนได้ เป็นแนวคิดที่เตือนใจเราว่าไม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่ การเรียนประวัติศาสตร์ในทุกมุมมองสามารถให้แนวคิด ข้อมูล และข้อกังขาใหม่ๆ แก่เราได้ ทั้งในตัวประวัติศาสตร์เอง และผู้ที่เขียนพวกมันขึ้นมา
เมื่อหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มีหลากหลาย
อีกหนึ่งหนทางที่สามารถช่วยแก้ปัญหาความรู้สึกน่าเบื่อหน่ายและมุมมองที่จำกัดของหลักสูตรปัจจุบันที่นักเรียนรู้สึกได้ นั่นคือการพานักเรียนไปรู้จักประวัติศาสตร์หลายมุมมองจากหนังสือเรียนนอกเวลามากขึ้น หลายๆ ครั้งการอ่านข้อเขียนเชิงวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อาจจะมากเกินไปสำหรับนักเรียนที่ยังไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกและบริบทรอบๆ ประวัติศาสตร์บางเรื่อง แต่หนังสือนอกเวลามีข้อดีที่แก้ไขความยากเหล่านั้นได้
อย่างแรกคือการเรียนประวัติศาสตร์ให้เป็นก้อนที่เล็กลงสามารถช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจมันได้ง่ายขึ้นก่อนไปหาเรื่องที่กว้างขึ้นมาอ่านต่อ อย่างที่สองคือการเล่ามันเป็นเรื่องสามารถสร้างความน่าติดตามให้แก่ประวัติศาสตร์ได้ ตัวอย่างของหนังสือแบบนี้คือ Maus โดย อาร์ต สปีเกิลแมน หนังสือนิยายภาพเจ้าของรางวัล Pulitzer ปี ค.ศ.1992 ที่เล่าเรื่องของพ่อผู้เขียน ชายชาวยิวผู้รอดชีวิตมาจากค่ายกักกันตอนสงครามโลกครั้งที่สอง
โดยเขาเล่าเรื่องที่หนักหนานี้ผ่านตัวการ์ตูนที่เปรียบชาวยิวเป็นหนูและทหารเยอรมันเป็นแมว สำหรับหลายๆ คน นี่คือครั้งแรกที่ได้เรียนรู้และรู้สึกเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองจริงๆ ไม่ใช่ข้อมูลที่เราจำไปเพื่อสอบล้วนๆ นี่คือหนึ่งในพลังของการเล่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราว คือเนื้อหาและการเขียนทำให้ผู้อ่านเรียนรู้และเข้าใจเหตุการณ์จริงเหล่านั้นได้ในระดับความรู้สึก ไม่ใช่แค่ในระดับความทรงจำ
การเรียนประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ “ผู้ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ย่อมทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” เป็นคำพูดที่จริงเสมอ แต่เรื่องถัดมาที่ต้องถามคือการเรียนประวัติศาสตร์ในรูปแบบที่หลักสูตรในโรงเรียนสอนอยู่จะนำไปสู่หนทางใด? อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่หลักสูตรการเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนสามารถทำได้คือการเป็นน้ำจิ้มที่เปิดความสนใจของนักเรียนไปสู่การแสวงหาความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ที่กว้างขวางขึ้น แต่นั่นคือสิ่งที่หลักสูตรปัจจุบันต้องการหรือไม่?
อ้างอิงข้อมูลจาก