เงินเดือนนิดเดียวต้องยื่นไหม?
หักไปแล้ว ใช่ว่าจ่ายละเหรอ?
ชาวฟรีแลนซ์ให้ทำไง
บทเรียน 101 ของการเติบโตอย่างหนึ่ง จากวัยเรียนสู่วัยมีภาระ คือ ‘การยื่นภาษี’ ที่เป็นหน้าที่ของคนไทยที่มีรายได้ทุกคน ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะเลือกยื่นแบบกระดาษ หรือยื่นออนไลน์ก็เลือกได้ตามสะดวก ดูง่ายสุดๆ แต่ถึงเวลาทีไรก็งมหาวิธีกันยกใหญ่
ถึงจะอยากรับผิดชอบต่อหน้าที่พลเมืองแค่ไหน ก็เป็นธรรมดาที่ไม่มีใครอยากจ่ายเงินเพิ่ม โดยเฉพาะมือใหม่ที่อดกลัวไม่ได้ สู้ไม่ยื่นเลยดีกว่า อย่าเพิ่งกังวลไป ‘ยื่นภาษี≠เสียภาษีเสมอไป ดีไม่ดีหลายคนอาจจะได้เงินติดกระเป๋ากลับมา The MATTER จึงชวนทุกคนไปเตรียมตัว และรื้อความจำกันหน่อย
1. เรามีเงินได้ประเภทไหน?
‘มาตรา 40 (?)’ อย่างที่รู้กันว่าภาษีเงินได้ ใช่ว่าอยู่ดีๆ เราจะจ่ายอย่างไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัวเหมือนเข้าร้านสะดวกซื้อ แต่ส่วนนี้ต้อง ‘ผ่านการประเมิน’ จากเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจะเสียเงินให้ใครทั้งที ก็ควรรู้ก่อนว่าจ่ายด้วยเหตุใด
คำว่า ‘เงินได้พึงประเมิน’ โผล่มาเป็นลำดับต้นๆ เพราะตามมาตรา 40 ของบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มีการแบ่งประเภทเงินได้ไว้ ด้วยเหตุผลว่าแต่ละอาชีพมีต้นทุนต่างกัน ทำให้มีเกณฑ์การลดหย่อนภาษีมาน้อยต่างกันไป
ถึงเป็นที่มาของการแบ่งเงินได้ออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้คำนวณภาษีออกมาให้สมเหตุสมผลที่สุด ดังนี้
(1) จากการจ้างแรงงาน ตั้งแต่เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เงินบำเหน็จบำนาญ แม้แต่บริษัทใครมีที่พักให้อยู่ฟรี หรือมีอาหารให้กินฟรีรายวัน ก็จะถูกคำนวณไว้ในนี้
(2) จากรับจ้างทำงานเป็นครั้งคราว หรือเป็นสัญญา เช่น ค่านายหน้า เบี้ยประชุม
(3) ค่ากู๊ดวิลล์ ค่าลิขสิทธิ์ เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะเป็นเงินรายปี ที่ได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
(4) จากการลงทุน ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร ผลประโยชน์จากการโอนหุ้น เป็นต้น
(5) จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้
(6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ (เช่น สาขากิจกรรมบำบัด สาขารังสีเทคนิค สาขาจิตวิทยาคลินิกก เป็นต้น แต่ไม่รวมวิชาชีพทางการแพทย์ และสาธารณสุขอื่น) วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
(7) จากการรับเหมา ที่เป็นคนรับผิดชอบทั้งค่าแรงและอุปกรณ์ ถ้าหากผู้จ้างเป็นคนออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เราเพียงไปรับทำงาน ก็จะเข้าข่ายเงินได้จากการรับจ้างเท่านั้น
(8) จากการทำธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1)-(7)
พอจะรู้แล้วว่าเรามีเงินได้ประเภทไหน ก็ถึงเวลาไปยื่นภาษีกันแล้ว
2. ยื่นด้วยแบบฟอร์มไหน
เชื่อว่ายื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์ น่าจะเป็นช่องทางที่หลายคนเลือกใช้ เพราะหลังเข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร สมัครสมาชิกอึดใจเดียวก็กดยื่นได้เลย
เอาแล้วไง ภ.ง.ด.90/91 ภ.ง.ด.94 ภ.ง.ด.95 เปิดมาหน้าแรกก็งงเลย คลิกอันไหนดี? ตั้งสติ อย่าเพิ่งล่ก สนใจแค่ ‘ภ.ง.ด.90/91’ ก็พอ
สำหรับแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. ที่ย่อมาจากคำว่าภาษีเงินได้นั้น มีด้วยกัน 2 แบบ คือ
- ภ.ง.ด. 91 เอาไว้สำหรับคนที่มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ก็คือมนุษย์เงินเดียวแบบเราๆ ที่มีสลิปเงินเดือนจากที่ทำงานนี่แหละ
- ภ.ง.ด. 90 สำหรับผู้ที่มีรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากเงินเดือน อย่างค่าตอบแทนจาการรีวิว หรือใครทำมาค้าขายมีบิลรายรับก็เข้าทางนี้เลย
ถ้ายังคงลังเลอยู่ก็ไม่ต้องกังวล เพราะในการยื่นแบบออนไลน์ สามารถคลิกที่ตัวเลือกช่องเดียวกัน
สำหรับคำถามว่า ต้องจ่ายกันเท่าไหร่ จะมีวิธีการคิดคร่าวๆ ที่แบ่งตามสถานะว่าคนโสด หรือสมรสแล้ว ซึ่งเราแทบไม่ต้องคิดเองเลย ระบบจะคำนวณผลตามข้อมูลที่เรากรอกไปเลย
แล้วใครที่สงสัยว่า ภ.ง.ด.94 ไว้สำหรับอะไรนั้น อธิบายง่ายๆ คือ คนที่มีเงินได้เข้าข่าย ตามมาตรา 40 (5)- 40(8) ซึ่งต้องทำกการชำระทุกครึ่งปี ส่วน ภ.ง.ด.95 นั้นจะไว้สำหรับคนต่างประเทศ ที่ได้รับค่าจ้างแรงงานจากสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคในรอบปีที่ผ่านมา
3. ใบทวิ 50 อย่าเผลอทิ้งนะ
ถูกหักเงินไปแล้วทำไมต้องยื่นอีก? เห้ย มีได้เงินคืนด้วยเหรอ? ทุกข้อสงสัยพวกนี้ คงต้องหงายการ์ด ’50 ทวิ’ หรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้เป็นคำตอบ
หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ช่วงทำงานใหม่ๆ แล้วที่ทำงานยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งมาให้ตอนสิ้นเดือน ก็รับมางงๆ ก่อนจะเอาไปซุกไว้สักมุม พอสิ้นปีเท่านั้นแหละ ถึงได้รู้ว่า ชิบหายละ ต้องไปยิ้มแห้งๆ ขอใหม่ แผ่นกระดาษที่ว่านี่แหละ คือ 50 ทวิ ซึ่งเป็นเอกสารพื้นฐานสำคัญของการยื่นภาษี
โดยคนที่จะออกใบนี้ให้ได้ คือคนที่จะจ่ายเงินให้เรานั่นแหละ เท่ากับไม่ว่าคุณจะมีเงินเดือน รับงานเป็นชิ้นๆ หรือชาวฟรีแลนซ์ ก็ตามแต่ เมื่อรับค่าเหนื่อยมาแล้วก็ต้องอย่าลืมทวงถามเอกสารนี้
เล่าให้ฟังเสียหน่อยว่า จริงๆ แล้วการหักภาษี ณ ที่จ่าย เกิดขึ้นมาก็ด้วยความหวังดี ที่กลัวว่าคนจะเข่าทรุดที่ต้องจ่ายภาษีก้อนใหญ่ทีเดียว เลยใช้วิธีให้ตัวแทนช่วยหักภาษีส่วนหนึ่งของรายได้ส่งรัฐไว้ก่อน
แต่ก็นั่นไง เมื่อถูกเก็บไปแล้ว หน้าที่ของเราคือเอาหนังสือฉบับนี้ไปยื่นภาษี เพื่อคำนวณรายได้ทั้งปี และดูว่าภาษีที่ถูกเก็บไปแล้วตรงกับความเป็นจริงที่ต้องจ่ายไหม ถ้ายังไม่ครบ เราก็ยังต้องจ่ายเภาษีเพิ่ม
ส่วนใครจ่ายเกิน หรือ ‘เงินได้ยังไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ’ ที่ต้องเสียภาษี ก็จะได้เงินที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งหมดที่ระบุไว้ในใบทวิ 50 คืนทันที
4. ลดหย่อนภาษีได้
ใส่ข้อมูลผู้เสียภาษีมาแล้วเรื่อยๆ จนมาถึงกรอก ‘ค่าลดหย่อน’ ที่ก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยสามารถจำแนกได้เป็นหลายกลุ่ม
- ลดหย่อนส่วนตัว และครอบครัว
หมายถึง ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าคลอดบุตร รวมถึงกรณีอุปการะเลี้ยงดูผู้พิการ ก็ใช้ลดหย่อนได้เช่นกัน
- ลดหย่อนประกันชีวิตและเงินลงทุน
ประกันชีวิตทั่วไป ประกันสุขภาพตัวเองและบิดามารดา ประกันสะสมทรัพย์ ประกันสังคม กองทุนที่กำหนด เชน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) เป็นต้น
- ลดหย่อนจากลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างดอกเบี้ยบ้าน
- ลดหย่อนจากเงินบริจาค
บริจาคให้พรรคการเมือง การศึกษา กีฬา โรงพยาบาล และอื่นๆ
โดยข้อมูลบางส่วนที่สามารถลดหย่อนได้ เราอาจไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลด้วยตัวเอง เพราะบางบริษัทได้ยื่นรายละเอียดไว้ในฐานข้อมูลภภาษีแล้ว อย่างบริษัทประกัน เป็นต้น แต่หากเราไม่ต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนส่วนนั้น ก็ให้กดยกเลิกการดึงข้อมูลอัตโนมัติ
สิ่งสำคัญ คือ ทุกค่าลดหย่อนที่เราให้ข้อมูลต้องเป็นความจริง เพราะเจ้าหน้าที่สามารถเรียกข้อมูลได้ ไม่งั้นโดยจ่ายภาษีย้อนหลังกันอ่วมแน่
เมื่อตรวจสอบข้อมูลเงินได้ และค่าลดหย่อนทั้งหมดที่ได้กรอกไปแล้ว ระบบจะทำการคำนวณภาษีที่ต้องชำระให้อัตโนมัติ ซึ่งหากมีการชำระภาษีไปแล้วระบบจะแจ้งยอดที่ชำระเกิน โดยสามารถขอคืนภาษีที่ชำระเกินได้ รวมถึงนำเงินภาษีที่ชำระเกินไปอุดหนุนพรรคการเมืองได้อีกทาง
กด “ยืนยันการยื่นแบบ” เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านช่องทางออนไลน์ ถ้าใครได้เงินคืน รอสักหน่อยเงินก็จะถูกโอนคืนผ่านทางพร้อมเพย์ และบัญชีของธนาคารกรุงไทย ส่วนใครจะต้องจ่ายเพิ่มก็มีช่องทางให้เลือกเยอะแยะกว่าแบบได้คืนเสียอีก
5. ช้อปดีมีคืนเก็บไว้ยื่นปีหน้า
เป็นธรรมเนียมทุกสิ้นปี ที่รัฐมักจะออกมาตรการที่กระตุ้นให้ประชาชนที่มีกำลังซื้อ และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ออกไปใช้จ่ายเงิน อย่าง ‘ช้อปดีมีคืน’ ที่สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี โดยนำจำนวนเงินที่ซื้อสินค้าและบริการ มาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่จ่ายจริง ซึ่งรวมกันไม่เกิน 40,000 บาทต่อคน
ถ้าเรามีรายได้ต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี หรือลดหย่อนด้วยช่องทางอื่นจนไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้
อีกอย่างที่ดูจะเข้าใจผิด คือ ล่าสุดที่ใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 จะสามารถใช้ลดในปีภาษี 2566 ซึ่งจะเรียกเก็บในช่วงต้นปี 2567 เท่านั้นนะ
พูดง่ายๆ ว่า เอาไว้ใช้ลดหย่อนรอบจ่ายของปีหน้านะทุกคน เก็บเอกสารที่ขอมากันไว้ดีๆ ล่ะ ถ้าไม่ได้ขอแบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็ถ่ายรูปกันเหนียวเผื่อเอาไว้หน่อยนะ
หากใครบอกว่า บวกลบแล้วก็ยังไม่ต้องเสียภาษีอยู่ดี งั้นไม่ต้องยื่นเลยละกัน … อย่าทำอย่างนั้นเลย เพราะยังมีความผิดตามกฎหมายที่ไม่ยอมแสดงรายได้ ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาทอยู่ เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย มาลองยื่นภาษีกันเถอะ หมดเขต 31 มีนาคมนี้
อ้างอิงจาก