นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะเร่งรัดการ ‘เก็บภาษีใหม่’ เป็นพิเศษ โดยเฉพาะสินทรัพย์ทางการเงิน (financial asset) อย่างสกุลเงินเข้ารหัสหรือคริปโตเคอร์เรนซี และหุ้นสามัญ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางกับความ ‘อิหยังวะ’ ในวิธีคิดภาษี
สิ่งที่ชวนเกาหัวมากที่สุดคือ ‘แนวคิด’ การจัดเก็บภาษีของสินทรัพย์ทั้งสองประเภทซึ่งถือว่าเป็นจัดว่าเป็นสินทรัพย์กลุ่มเดียวกัน หากหันไปมองประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะคริปโตฯ หรือหุ้นก็จะเก็บภาษีบนฐานของผลได้จากทุน (capital gain) ส่วนประเทศไทยเลือกใช้วิธีคิดนี้กับคริปโตฯ เท่านั้น แต่สำหรับหุ้นกลับเตรียมเก็บภาษีจากธุรกรรมทางการเงิน (financial transaction tax) พร้อมให้เหตุผลว่าการเก็บภาษีบนผลได้จากทุน “ดำเนินการยุ่งยากและเป็นภาระกับผู้เสียภาษีมากกว่า”
อ้าว!? ก็รู้นี่ครับว่าการเก็บภาษี capital gain ทั้งยุ่งยากและเป็นภาระประชาชน แต่ทำไมทู่ซี้เลือกเก็บภาษีคริปโตฯ ด้วยวิธีนี้ ราวกับว่าประเทศไทยมีกรมสรรพากรสองสำนักที่ยึดถือแนวคิดคนละทิศละทางจึงได้ผลลัพธ์เป็นการเก็บภาษีคนละฐานกับสินทรัพย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน
การเก็บภาษีไม่ผิดหรอกครับ ผมเองก็เคยเขียนสนับสนุนให้ยุติการยกเว้นการเก็บภาษีผลได้จากทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดานเทรดในประเทศไทย (อ่านได้ที่ คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น : แล้วทำไมรัฐถึงยกเว้นภาษีให้กับคนรวย?) แต่แนวทางในปัจจุบันของสรรพากรทั้งลักลั่น ย้อนแย้ง และผลักภาระให้ประชาชนจนอยากจะเรียนให้ท่านๆ กลับไปปรึกษากันภายในโดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งว่าตกลงจะเอายังไงกันแน่
ตรรกะพิสดารในการคำนวณฐานภาษีคริปโตฯ ไทย
ประเด็นที่ทำให้หลายคนไม่พอใจกับแนวทางการจัดเก็บภาษีผลได้จากทุนจากการซื้อขายคริปโตฯ คือ วิธีการคิดฐานภาษีที่ดูจะขัดต่อสามัญสำนึก เนื่องจากสรรพากรจะคำนึงถึงธุรกรรมซื้อขายที่ได้กำไร โดยไม่สนใจธุรกรรมที่มีผลขาดทุน แตกต่างจากวิธีการคำนวณฐานภาษีในต่างประเทศที่จะคิดจากกำไรสุทธิซึ่งคำนวณจากการนำผลกำไรและขาดทุนตลอดทั้งปีมาหักกลบลบกัน
อ่านแล้วก็อาจจะยังไม่เห็นภาพ ผมขอยกตัวอย่างเฮียหมีนักเทรดคริปโตที่ทำธุรกรรมซื้อขายเหรียญ 4 ครั้งตลอดทั้งปี โดยฟันกำไรมหาศาล 1 ครั้ง แต่ขาดทุนเละเทะอีก 3 ครั้งสรุปได้ดังตารางข้างล่าง
การซื้อขายครั้งที่ | ผลกำไร / ขาดทุนจากการซื้อขาย
(คำนวณจากราคาขาย – ราคาซื้อ) |
1 | +100,000 บาท |
2 | -30,000 บาท |
3 | -20,000 บาท |
4 | -60,000 บาท |
จากตารางข้างต้น เฮียหมีนักเทรดจะขาดทุนสุทธิจากการซื้อขายคริปโตทั้งสิ้น 10,000 บาท หากเฮียอาศัยอยู่ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา จะสามารถนำผลขาดทุนดังกล่าวไปแบ่งเบาภาระภาษีเป็นเสมือนรางวัลปลอบใจ หรือไม่ก็สามารถยกยอดไปใช้ลดภาษีผลได้จากทุนในปีหน้า แต่หากเฮียหมีโชคดีได้เกิดมาเป็นคนไทย สรรพากรจะมองเห็นเฉพาะธุรกรรมที่เฮียฟันกำไร 100,000 บาท แล้วใช้ big data และ data analytic ส่งจดหมายแจ้งให้เฮียจ่ายภาษีจากฐานดังกล่าวบวกกับเงินได้อื่นๆ ที่หาได้ตลอดทั้งปี
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมสรรพากรจึงใช้ตรรกะหลุดโลกเช่นนี้ในการคำนวณภาษี ผมมีทฤษฎีหนึ่งในการอธิบาย เพราะหากสรรพากรไทยเปิดช่องให้นักลงทุนสามารถนำผลขาดทุนมาใช้ลดฐานภาษีได้ จะกลายเป็นช่องโหว่ช่องใหญ่ให้ประชาชนใช้หลีกเลี่ยงภาษีโดยการขายสินทรัพย์ที่ขาดทุนแล้วเข้าซื้อในราคาต่ำแล้วนำผลขาดทุนที่ได้ในการใช้ลดภาษี
ผมขอยกตัวอย่างเฮียหมีคนดีคนเดิม นอกจากผลขาดทุนข้างต้นแล้ว เฮียยังติดดอยเหรียญ MATTER (นามสมมติ) ที่ซื้อมา 1,000 เหรียญ ในราคา 50 บาท แต่ปัจจุบันเหรียญดังกล่าวราคาเหลือเพียง 20 บาท ในพอร์ตของเฮียจึงมีผลขาดทุนที่ยังไม่ได้รับรู้ (unrealized loss) อยู่ที่ 30,000 บาท (คำนวณจาก [20 – 50] x 1,000) ซึ่งไม่สามารถใช้ในการคำนวณภาษีได้
ถ้าเงินก้อนดังกล่าวเป็นเงินเย็น เฮียหมีก็จะยึดคติไม่ขายเท่ากับไม่ขาดทุนโดยวางแผนจะถือต่อไปเรื่อยๆ แต่หากสรรพากรเปิดช่องให้นำผลขาดทุนมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี เฮียก็จะขายเหรียญทั้งหมดแล้วซื้อกลับมาใหม่ในราคา 20 บาท ทำให้สามารถใช้ลดฐานภาษีได้ในปีนี้ 30,000 บาท และในขณะเดียวกันก็ยังมีจำนวนเหรียญอยู่ในพอร์ตเท่าเดิมเพียงแค่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการซื้อขายเพิ่มเล็กน้อย
อย่างไรก็ดี วิธีดังกล่าวก็ใช้ได้เพียง ‘ชะลอ’ การจ่ายภาษีออกไปในอนาคต เพราะต้นทุนใหม่ของเหรียญ MATTER จะอยู่ที่ 20 บาท ซึ่งจะทำให้มีโอกาสทำกำไรได้สูงขึ้นหากเทียบกับการถือเหรียญไว้ที่ต้นทุน 50 บาทนั่นเอง แต่สรรพากรก็คงไม่ปลื้มนักหากจะเปิดช่องโหว่นี้ให้คนรวยบริหารภาษีด้วยการซื้อขายคริปโตฯ
ในสหรัฐอเมริกา ปัญหานี้ไม่ร้ายแรงนักเพราะรัฐเก็บภาษีฐานรายได้กับฐานผลได้จากทุนแยกกัน นั่นหมายความว่าผลขาดทุนจากหุ้นหรือสกุลเงินเข้ารหัสจะไม่สามารถนำไปหักกลบลบกับรายได้อย่างเงินเดือน เพราะรายได้ทั้งสองอย่างจะแยกกันคนละฐาน และคำนวณภาษีกันคนละแบบนั่นเอง
เห็นไหมครับว่าการจัดเก็บภาษีผลได้จากทุนทั้งดำเนินการยุ่งยากและเป็นภาระกับผู้เสียภาษี แถมยังอาจมีช่องโหว่ให้เลี่ยงภาษีได้อีกด้วย แทนที่จะดึงดันเก็บภาษีแบบนี้ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม สรรพากรไทยก็มีอีกทางเลือกหนึ่งคือการเก็บภาษีจากธุรกรรมทางการเงิน แต่น่าแปลกใจที่รัฐไทยกลับสงวนไว้ใช้กับหุ้นสามัญ
รู้จักภาษีจากธุรกรรมทางการเงิน
แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้ยินชื่อภาษีจากธุรกรรมทางการเงิน (financial transaction tax) หรือ FTT บ่อยครั้งนัก แต่การจัดเก็บภาษีในรูปแบบดังกล่าวมีการบังคับใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง ฝรั่งเศส อิตาลี โปแลนด์ สเปน รวมถึงอีกหลายประเทศในแถบเอเชีย โดยภาษีดังกล่าวจะจัดเก็บตามฐานมูลค่าของทุกธุรกรรมการเงินที่เข้าข่าย เช่น การซื้อขายหุ้น คล้ายกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดซื้อสินค้าและบริการ
ตัวอย่างเช่น ประเทศ ท. เก็บภาษีจากธุรกรรมซื้อหุ้นในอัตรา 0.1% หากเฮียหมีซื้อหุ้น 1,000,000 บาท ก็จะต้องเสียภาษีดังกล่าว 1,000 บาทนั่นเอง
ภาษีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยในปี ค.ศ.1936 ท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หัวหอกที่เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวคือ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ระดับตำนาน และต่อมา เจมส์ โทบิน นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ.1981 ก็เสนอแนวคิดคล้ายคลึงกัน ทั้งสองมองว่าการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมทางการเงินจะเพิ่มต้นทุนต่อธุรกรรม ช่วยลดการเก็งกำไรระยะสั้นซึ่งจะช่วยบรรเทาความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุน
ที่สำคัญคือภาษีจากธุรกรรมทางการเงินยังมีประสิทธิภาพสูง คำนวณได้อย่างตรงไปตรงมา เป็นภาษีอัตราก้าวหน้าแบบธรรมชาติ (คนรวยลงทุนเยอะจ่ายเยอะ คนจนลงทุนน้อยจ่ายน้อย) จัดเก็บได้ง่ายไม่ยุ่งยากหากเทียบกับภาษีผลได้จากทุน อีกทั้งยังฐานภาษีกว้างจึงทำให้สามารถจัดเก็บรายได้เข้ากระเป๋าภาครัฐได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ แม้ว่าจะตั้งอัตราภาษีไว้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินก็ตาม เช่นประเทศฮ่องกงที่จัดเก็บภาษี FTT ในอัตราเพียง 0.1% แต่กลับสามารถสร้างรายได้ให้รัฐคิดเป็นสัดส่วนถึง 1.7% ของ GDP
อย่างไรก็ดี บางประเทศที่เคยทดลองดำเนินนโยบายภาษีจากธุรกรรมทางการเงินแบบสูงลิ่ว เช่น สวีเดนและเยอรมัน ก็เผชิญกับการโยกย้ายเงินลงทุนครั้งใหญ่จนสุดท้ายต้องยกเลิกการจัดเก็บภาษีดังกล่าวไปในท้ายที่สุด รัฐจึงต้องระลึกอยู่เสมอว่าเงินทุนในโลกปัจจุบันสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี หากสภาพเศรษฐกิจและโอกาสในการเติบโตของธุรกิจไม่ได้โดดเด่นกว่าประเทศเพื่อนบ้าน การจัดเก็บภาษี FTT ก็อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี
หันกลับมาที่ประเทศไทย หากเราเดินหน้าเก็บภาษีธุรกรรมซื้อขายหุ้นในอัตรา 0.1% ตามที่วางแผนไว้ นักลงทุนที่ปรับพอร์ต 100% ทุกเดือนก็จะเสียภาษีดังกล่าวในอัตราราว 1.2% ต่อปี นับว่าไม่น้อยหากเทียบกับผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหลักทรัพย์ไทยซึ่งอยู่ที่ราว 7–8% ต่อปี จึงเป็นโจทย์ที่ต้องคิดว่าอัตราผลตอบแทนที่หดหายจะยังดึงดูดนักลงทุนได้หรือเปล่า
จะเห็นว่าการเก็บภาษีสองรูปแบบนี้มาจากคนละฐานคิด หากต้องการให้คำนวณง่าย อัตราต่ำ แต่กระทบทุกคนอย่างถ้วนหน้าก็ควรเลือกใช้ภาษีจากธุรกรรมทางการเงิน แต่หากมีศักยภาพในการจัดการความยุ่งยาก และต้องการเจาะจงเฉพาะคนที่ได้กำไรจากการซื้อขายสินทรัพย์ก็ควรยึดหลักผลได้จากทุน (แบบกำไรสุทธินะครับ ไม่ใช่แบบตรรกะพิสดาร)
แต่ที่สำคัญคือควรจัดเก็บภาษีของหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันในรูปแบบเดียวกัน ไม่ใช่เลือกที่รักมักที่ชัง จนกลายเป็นความลักลั่น ย้อนแย้ง โดยที่ประชาชนผู้เสียภาษีเป็นคนที่ต้องแบกรับภาระ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan