ทำไมต้องใส่ใจกับความเหลื่อมล้ำ?
อีริก เอส. มัสกิน (Eric S. Maskin) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2007 บอกว่ามีอยู่ 3 เหตุผลสำคัญ
เหตุผลแรก คือเหตุผลด้านศีลธรรม – เราเชื่อว่าทุกคนเท่ากัน ควรมีสิทธิเท่ากัน และควรมีโอกาสเท่ากัน ความเหลื่อมล้ำจึงกลายเป็นปัญหา
เหตุผลที่สอง การลดความเหลื่อมล้ำเชื่อมโยงกับการบรรเทาความยากจน และเราก็เชื่อว่า การบรรเทาความยากจนนั้นควรเป็นเป้าหมายที่สำคัญ
เหตุผลที่สาม ซึ่งมัสกินมองว่าน่าจะสำคัญที่สุด คือ ความเหลื่อมล้ำนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง เมื่อมีความเหลื่อมล้ำ ก็นำไปสู่ความไม่พอใจของคนด้านล่างต่อคนด้านบน นำไปสู่โลกที่มีสันติภาพน้อยลงในที่สุด
ปัญหาหนึ่งก็คือ ในโลกแห่งโลกาภิวัตน์ (globalization) ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนกลับไม่ได้ลดน้อยตามลงไป ตามที่บางทฤษฎีอาจจะเคยคาดการณ์กันไว้
“คำสัญญาหนึ่งที่โลกาภิวัตน์ได้ให้ไว้ ที่กลับไม่ได้ผลดีเท่าไรนัก คือ การลดทอนช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนที่มีกับคนที่ไม่มี ในเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ (emerging economies)” มัสกินกล่าว
“และอันที่จริง เรากลับได้เห็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในหนึ่งชั่วอายุคนที่ผ่านมา ในเกือบทุกประเทศ ประเทศไทยเองก็ปรากฏว่า มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่กว้างมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก”
ทำไมโลกาภิวัตน์ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ? นี่คือโจทย์ใหญ่ของมัสกิน ในการบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ในฐานะส่วนหนึ่งของงาน Chulalongkorn University BRIDGES Nobel Laureate Talk Series ภายใต้มูลนิธิสันติภาพนานาชาติ (International Peace Foundation) และจัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
The MATTER ขอสรุปความการบรรยายดังกล่าว ไว้ด้านล่างนี้
ทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ: โลกาภิวัตน์ลดความเหลื่อมล้ำ?
“ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ดังนั้น ผมจึงสนใจในการทำความเข้าใจว่าทำไมความเหลื่อมล้ำนี้จึงเกิดขึ้นในเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่” มัสกินเล่าบนเวทีหอประชุมใหญ่ที่จุฬาฯ
“และมันก็พอบอกได้ว่า ความเหลื่อมล้ำจริงๆ แล้วเป็นพัฒนาการที่น่าประหลาดใจของโลกาภิวัตน์ เพราะมันไปขัดแย้งกับหลักการที่ยึดถือกันมาช้านานในเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเรียกว่า ทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (theory of comparative advantage) ทฤษฎีความได้เปรียบเทียบโดยเปรียบเทียบบอกว่า โลกาภิวัตน์เชิงการค้าเสรีจริงๆ แล้วควรจะลดความเหลื่อมล้ำ”
มัสกินอธิบายว่า ตามทฤษฎีนี้ เหตุผลที่แต่ละประเทศค้าขายซึ่งกันและกัน ก็เพราะว่า แต่ละประเทศมีความได้เปรียบในการผลิตสินค้าต่างชนิดกัน ซึ่งนั่นเป็นเพราะแต่ละประเทศมีปัจจัยการผลิต (input) ในการผลิตแตกต่างกัน ในกรณีนี้ให้ยกตัวอย่างว่ามี 2 ประเทศ – ประเทศร่ำรวย และประเทศกำลังพัฒนา – ประเทศร่ำรวยมีคนงานที่มีทักษะสูง (high-skill workers) มากกว่า และประเทศกำลังพัฒนามีคนงานที่มีทักษะต่ำ (low-skill workers) มากกว่า
เมื่อยกตัวอย่างแบบนี้ ประเทศร่ำรวยจะมีสัดส่วนของคนงานที่มีทักษะสูงมากกว่า ทำให้มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) ของการผลิตสินค้าที่ต้องใช้ทักษะสูงมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา จะมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการผลิตสินค้าบางประเภท เช่น ข้าว มากกว่า เพราะมีสัดส่วนของคนงานที่มีทักษะต่ำมากกว่า
ก่อนที่จะมีโลกาภิวัตน์ ทุกๆ การผลิตจะต้องเป็นการผลิตภายในประเทศทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ประเทศร่ำรวยก็ต้องผลิตทั้งซอฟต์แวร์เอง และข้าวเองด้วย แต่เมื่อมีโลกาภิวัตน์เกิดขึ้น และประเทศร่ำรวยสามารถค้าขายกับประเทศกำลังพัฒนาได้ ก็พอจะสรุปได้ว่า ประเทศร่ำรวยอาจจะไม่จำเป็นต้องผลิตข้าวอีกต่อไป แต่สามารถนำเข้าข้าวจากประเทศกำลังพัฒนาได้ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาก็สามารถนำเข้าซอฟต์แวร์จากประเทศร่ำรวยได้ โดยไม่ต้องผลิตเอง
ผลก็คือ อุปสงค์ (demand) สำหรับแรงงานทักษะต่ำในประเทศกำลังพัฒนาก็จะสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างสูงขึ้น เพราะข้าวเป็นที่ต้องการมากขึ้น ในขณะที่แรงงานทักษะสูงในประเทศกำลังพัฒนา ก็จะมีอุปสงค์ที่ต่ำลง เพราะสามารถนำเข้าสินค้าแทนได้ ทำให้ค่าจ้างต่ำลง ในแง่นี้ ความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง
“ผมได้อธิบายชัดเจนว่า ทำไมคนที่เห็นด้วยกับโลกาภิวัตน์ถึงบอกว่า ความเหลื่อมล้ำจะต้องลดลงในเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ และนั่นคือข้อถกเถียงที่ผมได้เพิ่งอธิบายไป มันคือทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ” มัสกินกล่าว
แต่ประเด็นก็คือ มัสกินกลับไม่ได้เห็นด้วยกับการใช้ทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ในการอธิบายโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา และมองว่า โลกาภิวัตน์กลับไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเลยต่างหาก – เป็นเพราะอะไร?
เมื่อโลกาภิวัตน์ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
มัสกินอธิบายว่า โลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมานั้น วางอยู่บนพื้นฐานของการทำให้การผลิตมีความเป็นนานาชาติ (internationalization of production)
เขายกตัวอย่างคอมพิวเตอร์ในฐานะตัวอย่างของผลลัพธ์จากกระบวนการผลิตที่ผ่านโลกาภิวัตน์ “คอมพิวเตอร์อาจจะถูกออกแบบในสหรัฐฯ มันอาจจะถูกวางโปรแกรมในยุโรป และมันอาจจะถูกประกอบขึ้นในจีน”
ภายใต้สภาวะเช่นนี้ มัสกินแบ่งแรงงานออกเป็น 4 ระดับคร่าวๆ ตามทักษะ จากทักษะสูง ไปจนถึงทักษะต่ำ ซึ่งเรียงได้เป็น
A > B > C > D
พอจะสันนิษฐานได้ว่า ประเทศร่ำรวยจะมีคนงานระดับ A และ B เยอะ ซึ่งเป็นคนงานที่มีทักษะสูงสุด 2 ระดับแรก ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะมีคนงานระดับ C และ D เยอะ ซึ่งเป็นคนงานที่มีทักษะต่ำกว่า โดยที่มัสกินถือว่า C อาจจะพอมีทักษะอยู่บ้าง ในขณะที่ D อาจจะมีทักษะที่ตามไม่ทันโลกสมัยใหม่
เขายังแบ่งรูปแบบงานเพื่อใช้ในการอธิบาย โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ งานด้านบริหารจัดการ (managerial task) ซึ่งใช้ทักษะสูง กับงานระดับรอง (subordinate task) หรือพูดเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ งานของลูกน้อง ซึ่งใช้ทักษะที่ต่ำกว่า งานทั้ง 2 ประเภทนี้ จะต้องจับคู่กัน โดยมีคนงานที่มีทักษะสูงกว่าดูแลงานประเภทแรก และคนงานที่มีทักษะต่ำกว่าดูแลงานประเภทหลัง
ก่อนที่จะมีโลกาภิวัตน์ การจับคู่ดังกล่าว จะต้องเป็นการจับคู่ภายในประเทศเท่านั้น ในกรณีของประเทศร่ำรวย A อาจจับคู่กับ B ได้ และในประเทศกำลังพัฒนา C อาจจับคู่กับ D ได้ ตามภาพครึ่งบนในสไลด์ของมัสกินด้านบน
แต่เมื่อเกิดโลกาภิวัตน์แล้ว การจับคู่ จะจับคู่ข้ามประเทศอย่างไรก็ได้ ในรูปแบบใดก็ได้ อย่างไรก็ดี ถ้าระดับของทักษะระหว่างแรงงานฝ่ายบริหารจัดการ กับแรงงานระดับรอง ห่างกันเกินไป ก็อาจจะทำให้ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีเหตุผลที่แรงงานทักษะสูงๆ จะต้องมาจับคู่กับแรงงานทักษะต่ำ (เช่น A จับคู่กับ D)
ผลที่ปรากฏจากโลกาภิวัตน์ ซึ่งพบเห็นได้ก็คือ แรงงานระดับ C ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งถือว่าพอมีทักษะที่ดี จะหันมาทำงาน โดยจับคู่กับ B ในประเทศร่ำรวย ในบริษัทข้ามชาติมากขึ้น (ตามภาพครึ่งล่างในสไลด์ด้านบน) ถือว่าได้รับโอกาสในตลาดแรงงานระหว่างประเทศ ในขณะแรงงานระดับ D ซึ่งมีทักษะไม่เพียงพอ ก็จะไม่ได้รับโอกาสเดียวกัน ทำให้ค่าแรงของ C สูงขึ้น ในขณะที่ D มีรายได้เท่าเดิม
และสำหรับมัสกิน นี่คือสาเหตุที่อธิบายได้ว่า ทำไมโลกาภิวัตน์กลับทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศกำลังพัฒนาย่ำแย่ลงกว่าเดิม
ใครต้องช่วยแก้ปัญหานี้? คำตอบคือรัฐบาล
“คุณอาจจะบอกว่า ก็หยุดโลกาภิวัตน์สิ เพราะโลกาภิวัตน์สร้างความเหลื่อมล้ำ แต่การหยุดโลกาภิวัตน์ ถึงเป็นไปได้ ก็จะเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง” มัสกินบรรยายต่อมา “เพราะโลกาภิวัตน์ก็เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความมั่งคั่งที่สำคัญ ตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา
“ดังนั้น เราจะไม่ต้องการหยุดโลกาภิวัตน์ ถึงแม้จะทำได้ แต่เราต้องการแก้ความเหลื่อมล้ำ และวิธีแก้ที่ชัดเจนก็คือ เพิ่มระดับทักษะให้กับแรงงาน D เพื่อให้พวกเขาได้รับโอกาสในต่างประเทศด้วยเหมือนกัน เพื่อให้บริษัทข้ามชาติอยากจ้างพวกเขา แบบเดียวกับแรงงาน C ด้วย
“ปัญหาสำหรับนโยบายดังกล่าวก็คือ จะต้องมีใครบางคนควักกระเป๋าจ่ายเพื่อการศึกษาและการอบรมทักษะ เพื่อเพิ่มระดับทักษะให้กับ D”
แล้วใครจะต้องเป็นคนจ่าย?
มัสกินบอกว่า แรงงานเองจ่ายไม่ได้แน่ๆ ด้วยฐานะที่ยากจน
ส่วนผู้ผลิต และนายจ้าง ก็ไม่มีแรงจูงใจให้จ่ายเงินอบรมให้แรงงาน D มีทักษะดีขึ้น เพราะถ้าหากทำแบบนั้นแล้ว แรงงาน D ก็จะได้รับโอกาสในการหางานบริษัทอื่นๆ ที่ดีขึ้น จนทำให้ไม่ต้องทำงานกับนายจ้างเดิมก็ได้ หรือย้ายไปทำงานให้กับคู่แข่งก็เป็นได้ การลงทุนจ่ายเงินอบรมจึงถือว่าเป็นการลงทุนที่เสียเปล่า
ดังนั้น คำตอบสุดท้ายก็คือรัฐบาล ที่จะต้องมาช่วยลงทุนในการศึกษาและอบรมให้กับแรงงาน “รัฐบาลถือว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เราไม่สามารถไม่มีรัฐบาลได้” คือข้อสรุปของมัสกิน ซึ่งเสนอต่อมาว่า รัฐบาลอาจจะลงทุนอบรมเองก็ได้ หรืออาจจะไม่จำเป็นต้องอบรมเองก็ได้เช่นกัน แต่อาจจะช่วยลดหย่อนภาษีให้กับผู้ผลิต ถ้าผู้ผลิตยอมจ้างแรงงานทักษะต่ำ และฝึกฝนให้กับพวกเขา เป็นต้น