“ผู้ผลิตไหวไหม? สินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้าไทย”
“ไทยอ่วม สินค้าจีนทะลัก กินรวบธุรกิจ ไม่ต่างจากทัวร์ศูนย์เหรียญ”
“เศรษฐกิจไทยสะเทือน โรงงานปิดตัว สินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้ามาไม่หยุด”
เหล่านี้คือพาดหัวข่าวเศรษฐกิจในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สะท้อนความกังวลในแวดวงเศรษฐศาสตร์ไทย ที่มีต่อปรากฏการณ์ ‘สินค้าจีนทะลักเข้าไทย’ ซึ่งเกิดจากภาวะ excess capacity หรือการผลิตที่มากเกินไป จนล้นทะลักออกมานอกตลาดของจีน
การเข้ามาเมื่อเร็วๆ นี้ ของแอปพลิเคชั่น Temu อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน ที่เน้นขายสินค้าปลีกราคาถูก ส่งตรงจากโรงงานจีน ดูเหมือนจะยิ่งตอกย้ำความกังวลข้างต้น
ข้อมูลจาก อาชนัน เกาะไพบูลย์ รองศาสตราจารย์ ศูนย์วิจัยความสามารถการแข่งขันและการพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ไม่ใช่แค่สินค้าไม่กี่ชนิดที่ทะลักเข้ามาจากจีน แต่ภาวะที่เกิดขึ้นกำลังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง กับทุกอุตสาหกรรม
หากเทียบสัดส่วนการนำเข้าจากจีนรายกลุ่มสินค้า ปี 2023 กับครึ่งปีแรกของปี 2024 ก็จะมีกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด เช่น ผลิตภัณฑ์จากพืช, พลาสติก, ผลิตภัณฑ์ยาง, ผลิตภัณฑ์จากไม้, สิ่งทอ, ยานยนต์ และสินค้าของใช้เบ็ดเตล็ด
“จะเห็นได้ว่า มันกระจายๆ กัน มันไม่ได้กระจุก บางประเทศก็โดนตัวนั้น บางประเทศก็โดนตัวนี้ มันกำลังบอกเราว่า มันเกิดขึ้นในวงกว้าง มันไม่ได้เกิดเฉพาะ มันไม่ใช่เรื่องที่ว่า จีนหยิบสินค้าหนึ่งออกมาถล่มประเทศหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง มันก็เกิดในอุตสาหกรรมนั้นๆ ของทุกๆ ประเทศ อันนี้มันกระจายๆ กันอยู่
“เพราะฉะนั้น นั่นคืออาการแบบคนหนีตาย”
The MATTER ชวนเข้าใจปรากฏการณ์ ‘สินค้าจีนทะลัก’ กับ อาชนัน เกาะไพบูลย์
เข้าใจสาเหตุ ‘สินค้าจีนทะลัก’
“คำถามว่า มาอย่างไร? เหตุผลหลักๆ จริงๆ แล้ว มันเป็นผลมาจากสถานการณ์ภายในจีน” คือการวิเคราะห์ของอาชนัน
เขาอธิบายว่า ช่วงปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกๆ ที่อัตราการเติบโตของ GDP จีนตกต่ำลง และอัตราเงินเฟ้อ (inflation) ติดลบ สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในจีนแตก ซึ่งอาชนันชี้ว่า อสังหาริมทรัพย์ถือเป็น ‘แหล่งของความมั่งคั่ง’ ของคนจีน 40-50%
เมื่อฟองสบู่แตก กำลังซื้อจึงหดตัว
“คนที่เคยอยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์ เวลาบูม เขาก็มีกิน แต่เวลามันเกิดอะไรขึ้นปุ๊บ เขาก็จะตัดก่อนเลย เขาจะประหยัดก่อน เพราะฉะนั้น พอตัดลงปุ๊บ การบริโภค (consumption) ต่ำลงทันที พอการบริโภคต่ำลงปุ๊บ มันก็หมายถึงว่า สิ่งที่เคยผลิตกินในประเทศ มันก็เหลือ และมันก็เอ่อออกมาข้างนอก”
สิ่งที่เกิดขึ้น จึงเป็นภาวะที่อาชนันเรียกว่า excess capacity ซึ่งหมายถึงการผลิตสินค้าออกมามากเกินความต้องการของคนในประเทศ “วันนี้ ความต้องการมันน้อยลง โรงงานเคย run ได้เต็ม 8 ชั่วโมง ก็ run สัก 5-6 ชั่วโมง แต่เงินค่าเครื่องก็ลงไปแล้ว มันก็เหลือ คราวนี้มันก็ต้องขาดทุน วิธีแก้ก็คือ ต้องเร่งขายให้ได้ นั่นคือปัญหาของ excess capacity”
อาชนันยังยกอีก 2 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเร่งส่งออกสินค้าของจีน
ประการแรก การลงทุนโดยตรง (direct investment) ในจีนลดลง ทำให้เหลือวิธี คือ ต้องส่งออก (export)
“จีนเคลื่อนออกจากโลก” (“China’s move away from the rest of the world”) คือข้อสรุปที่มีต่อจีน ที่หอการค้าสหภาพยุโรปในจีน (European Union Chamber of Commerce in China) เคยระบุไว้ในรายงานประจำปี จากเดิมที่จีนเป็นประเทศปฏิบัตินิยม (pragmatic) มีอะไรพูดคุยกันรู้เรื่อง แต่ปัจจุบันกลับเน้นอุดมการณ์ จึงทำให้การลงทุนของต่างชาติเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น
ประการที่สอง อาชนันชี้ว่า สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีน มีแนวนโยบายล่าสุดที่เชื่อมั่นในรัฐวิสาหกิจของจีนเอง ซึ่งแปลว่า หากความต้องการในประเทศลดลง รัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยรัฐวิสาหกิจก่อนช่วยเอกชน และรัฐวิสาหกิจย่อมชนะหากแข่งขันกับเอกชน จึงกลายเป็นความกลัวของเอกชน จนต้องเร่งส่งออกสินค้า
“ก็หนีตายเลย ก็เร่งกันออกมา ซึ่งตอนนี้ สู้กันเอง เละเลย ไม่ใช่สู้กับญี่ปุ่นอย่างเดียวนะ มันคัดกันเอง ระหว่างรถยนต์เอ็มจี (MG) บีวายดี (BYD) ฉางอัน (Changan) ฆ่ากันเอง นั่นก็คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น” อาชนันระบุ
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่โดนกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเล็ก กลาง ใหญ่
“สินค้าจีนมันทะลักเข้ามา มันเป็นเรื่องที่ของคนไทยถูกตีตลาดโดยสินค้าจีน ถามว่า ผู้บริโภคซื้อของถูกลงไหม ก็ถูกลงนะ แต่ในแง่ของผู้ประกอบการ มันก็แย่ลง” อาชนันกล่าว
“และวันนี้ เรายังไม่ฟื้นจาก COVID-19 มันเป็นตัวซ้ำเติม ถ้าสถานการณ์ปกติจะไม่เท่าไหร่ แต่นี่มันกำลังซ้ำเติมจากสถานการณ์ที่มันแย่อยู่แล้ว และมันจะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหาระยะยาว”
เมื่อพูดถึงสถานการณ์สินค้าจีนทะลักตลาดไทย หลายคนย่อมเป็นห่วงผู้ประกอบการรายย่อย เช่น พ่อค้าแม่ค้าสำเพ็ง อย่างไรก็ดี อาชนันชี้ให้เห็นด้วยว่า ไม่ใช่แค่รายย่อย แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและใหญ่ก็ได้รับผลกระทบหนัก
“คนที่จะเจ็บจริงๆ คือกลางกับใหญ่ คำว่ากลางก็ชัดเจน กลืนไม่เข้าคายไม่ออก สมมติมีคนอยู่ 100 คน จะเลิกกิจการ คำถามคือ แล้วคนงานทิ้งไปไหน จะไม่เลิกก็ไม่ไหว ก็ปลดบ้างไม่ปลดบ้าง ทำคาราคาซังอยู่อย่างนี้ ลูกยังเรียนไม่จบ ต้องส่งลูกเรียนอยู่ ก็ต้องอยู่อย่างนี้
“ขนาดกลาง-ใหญ่ คือตัวดึงขนาดเล็ก สมมติโรงงานใหญ่กิจการดี คนงานก็ออกมาซื้อของ กลาง-เล็กที่อยู่ตรงนั้นก็จะได้ประโยชน์ด้วย” เขาอธิบาย “พวกนี้คือตัวที่สร้างลิงก์ลงไปข้างล่าง เศรษฐกิจฐานราก คนพวกนี้เจ็บ รากก็โดนไปด้วย มันก็เลยโดนเป็นวงกว้าง”
อาชนันมองว่า ปัญหาสินค้าจีนอาจจะเป็น ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ สำหรับหลายๆ กิจการที่ทนจากช่วงการระบาดของ COVID-19 ซึ่งเขาชี้ว่า สถานการณ์นี้อาจทำให้ผู้ประกอบการมองว่า “ข้างหน้ามืดเกินที่จะอยู่” ผลก็คือการปิดกิจการ ซึ่งปิดแล้วปิดเลย แตกต่างจากรายย่อยที่ยืดหยุ่นในการเปิดปิดได้ อัตราการว่างงาน (unemployment) ที่จะเกิดขึ้น ก็จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
ในขณะเดียวกัน การมาของแอปฯ อย่าง Temu ที่เปิดช่องทางให้สินค้าวิ่งตรงจากโรงงานจีน ซึ่งตัดบทบาทคนกลางออก ก็จะส่งผลกระทบถึงรายเล็กรายน้อยโดยตรงด้วย
“ตอนนี้มันจะไม่เหลืออะไรให้เราเลย” เขาว่า
“ซึ่งตรงนี้มันคือความน่ากลัว ที่ว่า มันก็จะตอกย้ำสิ่งที่คนเขาชอบพูดกันเรื่อง ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ ทัศนคติ (attitude) อย่างนี้ ในมุมของจีนเขามองว่า นี่มันคือหัวการค้าของเขา ในมุมของการพัฒนา มันคือการกินรวบ การกินรวบในระยะสั้น คนไม่กินก็คงไม่เป็นไร แต่ในระยะยาว คนอื่นไม่ได้กิน มันก็คงอยู่กันไม่ได้”
แต่ ณ วันนี้ หากถอยออกมามองในระดับโลก ภาวะ excess capacity ของจีนเช่นนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบกับเพียงแค่ประเทศไทย แต่กำลังกระทบกับหลายประเทศในภูมิภาคต่างๆ ด้วย
“ที่มันน่าสนใจคืออย่างนี้ ทุกภูมิภาคในโลก 27 ประเทศของสหภาพยุโรป (European Union หรือ EU 27) ประเทศในข้อตกลง USMCA (United States–Mexico–Canada Agreement ซึ่งก็คือ สหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา) เอเชียตะวันออก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ทุกคนกระทบหมดเลย มันไม่ใช่เฉพาะเรา
“และในกลุ่มอาเซียน เราไม่ใช่คนที่โดนหนักที่สุดด้วยซ้ำไป กัมพูชา เวียดนามก็โดน ทุกคนโดนหมด ทุกภูมิภาค”
ประเทศไทยทำอย่างไรต่อ?
เมื่อลักษณะของปัญหาเป็นเรื่องในระดับภูมิภาค หรือกระทั่งระดับโลก ข้อเสนอของอาชนันที่มีต่อภาครัฐก็คือ
ประการแรก ไทยควรรวมกลุ่มกับประเทศอื่นๆ และนำเรื่องนี้ขึ้นโต๊ะเจรจากับจีน
เขาเสนอว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) เป็นกรอบที่ดีที่จะนำเรื่องนี้ขึ้นมาบนโต๊ะเจรจาได้ RCEP คือความตกลงการค้าเสรี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา มีไทยเป็นชาติสมาชิกด้วย ในฐานะส่วนหนึ่งของ 10 ชาติอาเซียน นอกจากนี้ยังมี จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ประการที่สอง ไทยควรทำให้การนำเข้าสินค้าโดยผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการจีน อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน
ปัจจุบัน กระทรวงการคลังประกาศเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% กับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท แต่อาชนันมองว่า สิ่งที่จะสร้างความเป็นธรรมได้มากกว่า คือการแก้กฎระเบียบอย่างจริงจัง ให้ทุกคนอยู่บนหน้ากระดานเดียวกัน
“สิ่งที่มันยังไม่ทำจริงจัง ก็คือ เรายังไม่ทำให้ทุกคนอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เราไม่รู้ว่าจีนได้เปรียบเรา เพราะช่องโหว่ของกฎหมายแค่ไหน อย่างเช่น คนไทยเอาของเข้ามาจากจีน ต้องเสียภาษีเลย ขายได้ไม่ได้ไม่รู้ ก็ต้องเสียเข้ามาเลย แต่จีนสามารถพักในคลังสินค้าทัณฑ์บนก่อน เขาก็จะเอาเยอะๆ มา ค่าขนส่งต่อหน่วยก็ถูก ขายเมื่อไหร่ค่อยจ่าย
“ของเราส่วนใหญ่ ปัญหาที่มันเกิดขึ้นก็คือว่า มันก็จะมีคำว่า สีเทาๆ พวกนี้เต็มไปหมด สีเทาก็หมายถึงว่า กฎหมายหรือระเบียบต่างๆ ไปทำให้คนไทยต้องทำตาม แต่คนจีนไม่ต้องทำตาม คนจีนก็เลยได้เปรียบคนไทย อย่างนี้มันไม่ถูก อันนี้ต้องแก้ ซึ่งตรงนี้ ผมว่ายังไม่เห็น”
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาชนันมีความเห็นว่า นายกรัฐมนตรีจะเป็นบุคคลที่สามารถผลักดันให้แก้ไขปัญหาได้
“รัฐมนตรีเข้ามา เขาก็ต้องหาโปรเจ็กต์ใหม่ๆ จะมาบอกว่าทำตามของเดิม เขาก็บอก อ้าว มันก็ไม่ใช่ของเรา เราต้องมีของใหม่ ของพวกนี้มันทำให้สิ่งที่มันควรจะทำ ก็ไม่ได้ถูกทำ เราต้องเข้าใจ เขาเป็นเจ้ากระทรวง เขาก็คงอยากจะอยู่ของเขานานๆ อยากจะมีผลงานไปโชว์พรรคเขา ซึ่งก็เข้าใจได้
“แต่ทำยังไงที่มันจะทำให้ไปด้วยกัน มันต้องมีวาระ (agenda) ใหญ่ คนที่เป็นนายกฯ ต้องเห็นเรื่องนี้ ทุบโต๊ะ แล้วบอกว่า คุณต้องทำแบบนี้นะ มันก็เป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์ (performance) ของรัฐมนตรีได้ ผมว่ามันต้องขึ้นอยู่กับคนที่เป็นนายกฯ ว่าเขาเห็นโจทย์นี้ยังไง มองโจทย์นี้ยังไง หวังว่าเขาจะเห็น
“ข่าวที่ออกมาคือ จีนรู้สึกแฮปปี้กับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ต้องเข้าใจว่า จีนอยู่ในระบบที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา โอกาสมา คว้าหมด สัญชาตญาณความเป็นนักธุรกิจของเขา หัวการค้าเขาสูงมาก เพราะฉะนั้น ทุกคนก็จะเร่งคว้า เร่งคว้าก็หมายถึงเร่งส่งออก ของก็จะยิ่งเทออกมา
“แนวโน้มในอนาคตต่อไปจะเป็นยังไง ผมว่า คงหนักขึ้นกว่านี้อีก ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย” อาชนันกล่าวส่งท้าย