มารีน่า อบราโมวิช เกิดในคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย ปี 1946 พ่อเป็นวีรบุรุษสงคราม แม่เคยเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะและการปฏิวัติ บ้านของเธอใกล้ชิดกับจอมเผด็จการติโต
นั่นแปลว่าพ่อแม่ต้องมีฐานะพอสมควร แต่ก็ไม่เคยซื้อเสื้อผ้าดีๆ ให้เลย มารีน่าต้องเย็บกระโปรงใส่เอง ซึ่งมันใส่ไม่พอดีเลยสักครั้ง แถมยังต้องใส่รองเท้าเสริมฝ่าเท้าเพราะขาสองข้างไม่เท่ากัน ทั้งหมดนี้เธอต้องใส่ขึ้นเวทีเพื่อไปรับรางวัลเป็นกระดานหมากรุกใหม่ 5 ชุด ในฐานะประธานชมรมหมากรุกของโรงเรียน แต่เธอก็ทำมันพังจนได้ รองเท้าอันเทอะทะไปสะดุดกับอะไรสักอย่าง เธอล้มคะมำกลางเวที กระดานหมากรุกปลิวว่อนไปทุกทิศ คนหัวเราะทั้งงาน
“อับอายสุดขีด” มารีน่าเล่าในหนังสือบันทึกความทรงจำ (memoir) ที่ชื่อ Walk Through Walls “ตอนเด็กๆ มันเป็นไปไม่ได้เลย กับการที่ฉันจะสามารถคุยกับคนอื่นได้”
แต่ตอนนี้ เธอบอกว่า เธอสามารถมองตาคนนับพันได้ และพูดกับพวกเขาได้เป็นชั่วโมงๆ โดยที่ไม่ต้องเตรียมสคริปต์อะไรเลย – เช่นเดียวกับ ณ ขณะนี้ ที่มารีน่ากำลังถือไมค์เดินขึ้นบนเวที สายตาจับจ้องมาจากผู้ชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มารอฟังเธอเล่าถึงประวัติศาสตร์ศิลป์แขนงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต (performance art) เป็นการบรรยายที่จะกินระยะเวลารวมแล้วกว่า 2 ชั่วโมง เป็นการบรรยายที่เธอพูดได้อย่าง ลื่นไหล และสัมผัสได้ว่าเปี่ยมไปด้วยพาสชั่น
มันเกิดอะไรขึ้น?
“Art happened.” คือคำตอบ
1.
ปัจจุบันขณะ
25 มกราคม 2023 มารีน่า อบราโมวิช (Marina Abramović) ในวัย 76 ปี ยังคงกระฉับกระเฉง เบื้องหลังของเธอ คือ 50 กว่าปีที่ได้ทำงานเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตมาอย่างไม่หยุดหย่อน ส่วนเบื้องหน้า ก็คาดว่าเป็นคนจากทั้งวงการศิลปะไทย ที่มารวมตัวกันอยู่ในบอลรูมของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์แห่งนี้
นี่คือการบรรยายในหัวข้อ History of Long Durational Works of Art and MAI ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2022 เป็นการบรรยายพิเศษให้กับผู้ชมในกรุงเทพฯ ที่จะว่าด้วยเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตแขนง ‘long durational’ หรืองานที่กินระยะเวลายาวนาน ไม่ใช่แค่ 1-2 ชั่วโมง แต่อาจใช้เวลาหลายวัน หลายเดือน หรือหลายปี และขณะเดียวกัน เธอก็จะมาเล่าถึงสถาบัน มารีน่า อบราโมวิช (Marina Abramović Institute หรือ MAI) ที่มีเป้าหมายบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ ตามแนวทางของเธอที่เรียกว่า วิถีอบราโมวิช (Abramović Method)
เสียงปรบมือต้อนรับเกรียวกราว ตอกย้ำความเป็น ‘เจ้าแม่’ แห่งเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต “ฉันไม่เคยคิดเลย ว่าจะมีคนจำนวนมากในค่ำคืนนี้ อยากจะฟังทุกอย่างเกี่ยวกับเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตแบบ ‘long durational’ และสถาบันแห่งนี้ นี่มันคือปาฏิหารย์ นี่มันคือชั่วขณะแห่งประวัติศาสตร์” เธอกล่าวเป็นประโยคแรก
มารีน่าเริ่มต้นด้วยการแสดงภาพถ่ายอวกาศห้วงลึกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ที่เพิ่งเป็นที่ฮือฮาไปเมื่อกลางปี 2022 ที่ผ่านมา เป็นภาพที่ประกอบไปด้วยประกายระยิบระยับ ซึ่งไม่ใช่ดวงดาว แต่ทั้งหมดนี้คือกาแล็กซี่ ที่ห่างจากเราออกไปเป็นร้อยเป็นพันล้านปีแสง นี่คือตัวอย่างของ ‘ภาพใหญ่’ ที่มารีน่าบอกว่าจะช่วยให้เราผละออกไปจาก ‘ภาพเล็ก’ อันเป็นสิ่งที่เราจดจ่ออยู่แทบตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน
“เวลาที่ฉันเหนื่อยหรือหมดอาลัย ฉันมักจะสนใจไปกับการมองภาพใหญ่ คุณรู้ใช่ไหมว่าเราจะจดจ่ออยู่กับสิ่งเล็กๆ ตลอดเวลา – สิ่งที่เราเห็น คือ ปัญหาของเรา ปัญหาในชีวิตประจำวัน ปัญหาครอบครัว สถานการณ์ทางการเมือง สิ่งที่เราทำกับโลก และอีกมากมาย – แต่คุณต้องหันมามองภาพใหญ่จริงๆ”
การออกมามองภาพใหญ่ก็จะทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้มากขึ้น “เราไม่ได้อยู่แม้แต่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก ทว่าอยู่แค่ขอบนอกของทางช้างเผือก ณ แห่งหนหนึ่งอันไกลโพ้น นั่นแหละคือเรา ทั้งหมดมันก็มีเท่านี้แหละ อุกกาบาตหรือดาวหางอาจจะมาชนโลกนี้ตอนไหนก็ได้ และเราทั้งหมดก็จะหายวับไป ในขณะที่ตอนนี้เราก็ยังไม่เห็นคุณค่าในที่ที่เราอาศัยอยู่อีก นี่คือโลกใบเล็กๆ ที่เราทุกคนควรจะใส่ใจ และมันก็สำคัญมาก”
ท้ายที่สุดภาพใหญ่ก็จะกลับมาสู่การทำความเข้าใจภาพเล็ก ซึ่ง ‘ปัจจุบันขณะ’ (here and now) ก็คือสิ่งเดียวทั้งหมดที่มนุษย์มี
และศิลป์แขนงหนึ่งที่จะพาเราเข้าถึง ‘ปัจจุบันขณะ’ ได้ ก็คือ เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต
2.
เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต
“งานเพอร์ฟอร์แมนซ์เป็นแขนงของศิลปะที่จะคุณไปสู่จุดของการมองเห็นปัจจุบันขณะได้ และทั้งหมดที่คุณต้องตระหนักก็คือ การอยู่ในชั่วขณะตรงหน้านี้” มารีน่าอธิบาย “งานเพอร์ฟอร์แมนซ์เป็นศิลปะแบบ ‘time-based’ คุณต้องอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ในช่วงเวลาขณะเดียวกับที่มันเกิดขึ้น และเมื่อเพอร์ฟอร์แมนซ์สิ้นสุดลง สิ่งที่หลงเหลืออยู่ก็มีเพียงความทรงจำ หรือการไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่าเห็นอะไรมาบ้าง”
จากประสบการณ์กว่า 50 ปี ที่ทำงานศิลปะ มารีน่ายังบอกด้วยว่า นี่คือศิลปะแขนงหนึ่งที่ ‘มีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง’ (transformative) มากที่สุดสำหรับเธอด้วย “ทำไม? เพราะมันคือชีวิต คุณต้องเอาชีวิตไปอยู่ตรงนั้น และคุณก็ต้องส่งต่อพลังงานให้กับคนดู”
และการเผชิญหน้ากันระหว่างศิลปินกับคนดู ก็คือส่วนประกอบสำคัญในงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่กินระยะเวลานานๆ เธออธิบายว่า สำหรับงานเพอร์ฟอร์แมนซ์นั้น “มันเป็นการเดินทางที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ และคนแสดงก็ต้องแสดงต่อหน้าคนดู เพราะคนดูกับคนแสดงจะทำให้งานสมบูรณ์ร่วมกัน คนแสดงที่ไม่มีคนดูนั้นไม่มีอยู่จริง
“ถ้าคุณเพอร์ฟอร์มอะไรบางอย่าง หนึ่งเดือน สองเดือน สามเดือน แปดชั่วโมงต่อวัน สิบชั่วโมงต่อวัน คุณจะทำเป็นแค่การแสดงไม่ได้ คุณต้องเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา ซึ่งคุณก็จะเปราะบางมาก คุณเปราะบางเพราะมันมีความอ่อนแอ ความกลัว ความไม่มั่นคง มีหลายสิ่งหลายอย่างมากที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น และคนดูก็จ้องมองคุณ และพวกเขาจะรับรู้ถึงความรู้สึกทุกอย่างนี้ทั้งหมด พวกเขารู้สึกถึงความเปราะบางของคุณ เพราะมนุษย์เราต่างก็เปราะบาง และคนดูก็รู้สึกเชื่อมโยงกับคุณ เพราะความไม่สมบูรณ์แบบของคุณ
“จากนั้น คนดูและคุณต่างก็เป็นกลไกที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน แล้วเพอร์ฟอร์แมนซ์ก็จะเริ่มต้นขึ้น”
ทั้งหมดนี้ สะท้อนแนวคิดการสร้างผลงานศิลปะ ที่มารีน่ามีอยู่ในใจ จากคำกล่าวในอดีตของศิลปินบางคน
“มีคนกล่าวว่า ศิลปะเป็นเรื่องของความเป็นความตาย มันอาจจะฟังดูละครน้ำเน่า แต่มันคือเรื่องจริง” – บรูซ นอแมน (Bruce Nauman)
เช่น บรูซ นอแมน (Bruce Nauman) ศิลปินชาวอเมริกัน ที่เคยพูดไว้ว่า “มีคนกล่าวว่า ศิลปะเป็นเรื่องของความเป็นความตาย มันอาจจะฟังดูละครน้ำเน่า แต่มันคือเรื่องจริง” เขาหมายความว่าอย่างไร?
มารีน่าอธิบายว่า เวลาที่คุณทำอะไรบางอย่างในชีวิต “คุณต้องทำทุกอย่างแบบ 150% แค่ 100% ยังไม่ดีพอ แต่ถ้าคุณทำเพิ่มอีก 50% อะไรบางอย่างอาจเกิดขึ้นได้ ปาฏิหาริย์อาจเกิดขึ้นได้” ซึ่งมันอาจจะนำไปใช้กับอะไรก็ได้ ไม่ใช่เพียงศิลปะ แต่รวมถึงในธุรกิจ การศึกษา การเกษตร หรือแม้แต่การเป็นแม่คน
แต่สำหรับศิลปะแล้ว “ถ้าคุณมองมันเป็นเรื่องของความเป็นความตาย คุณก็จะสามารถสร้างผลงานที่สำคัญๆ ออกมาได้” เธออธิบายต่อมา “เพราะมันมีศิลปะที่ ‘โอเค’ ศิลปะที่ ‘ดี’ แล้วก็สิ่งที่ฉันเรียกว่า ศิลปะที่ ‘ว้าว’ ซึ่ง ‘ศิลปะที่ว้าว’ จะต้องทำแบบ 150% เท่านั้น น้อยกว่านี้ไม่ได้”
“ผมไม่สนว่าศิลปะของผมจะสวยหรือน่าเกลียด แต่มันต้องจริง” – ปิเอโร แมนโซนี (Piero Manzoni)
หรืออย่าง ปิเอโร แมนโซนี (Piero Manzoni) ศิลปินชาวอิตาลี ผู้จากไปอย่างกะทันหันด้วยวัยเพียง 29 ปี เมื่อปี 1963 ซึ่งเคยพูดว่า “ผมไม่สนว่าศิลปะของผมจะสวยหรือน่าเกลียด แต่มันต้องจริง”
“ศิลปะไม่ใช่เครื่องประดับ” มารีน่ากล่าว “ศิลปะต้องมีความหมายมากมายกว่านั้นมาก ความงามเป็นหนึ่งในนั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ศิลปะต้องเผยให้เห็นความจริง ศิลปะต้องเป็นออกซิเจนของสังคม ศิลปะต้องทำนายอนาคต ศิลปะต้องรบกวนใจ ศิลปะต้องสะเทือนอารมณ์ของคุณได้จริงๆ ดังนั้น ไม่สำคัญว่ามันจะหน้าตาเป็นอย่างไร สวยหรือน่าเกลียด แต่มันต้องทำงานกับคุณ”
3.
พลังงาน
หากพูดถึงมารีน่า อบราโมวิช หลายคนอาจจะจดจำเธอได้จากงาน The Great Wall Walk (1988) ซึ่งมารีน่าถือว่าเป็นงานเพอร์ฟอร์แมนซ์แบบ ‘long durational’ ชิ้นแรกของเธอด้วย นี่คือทศวรรษ 1980 ในขณะที่จีนยังไม่ต้อนรับชาวต่างชาติ เธอและอูไล (Ulay) คนรักและศิลปินชาวเยอรมันที่ทำงานเพอร์ฟอร์แมนซ์เคียงไหล่กับเธอ กำลังจะแต่งงานกัน ไอเดียหนึ่งของการฉลองรักครั้งนี้ก็คือการเดินเท้าตามแนวกำแพงเมืองจีน จากปลายคนละฝั่ง เพื่อมาบรรจบกันตรงกลาง
แต่มารีน่าเล่าว่า กว่าจะขออนุญาตทางการจีนได้ ก็ใช้เวลาถึง 8 ปี และการมาพบกันกลางกำแพงเมืองจีนเพื่อแต่งงานกัน ก็ต้องแปรเปลี่ยนเป็นการพบกันเพื่อลาจากแทน
“ในตอนแรกเราอยากจะแต่งงานกัน แต่ 8 ปีคือเวลาที่ใช้ในการขออนุญาต คราวนี้เราเลิกกันแล้ว แต่เราไม่อยากทิ้งโปรเจ็กต์นี้ไป และเราก็พูดกันว่า เอาล่ะ ตอนนี้เราไม่สนแล้ว เราจะไม่แต่งงานกัน แต่เราจะไปเพื่อแยกทางกัน เราก็เลยไปเดินเท้าบนกำแพงเมืองจีนเพื่อบอกลากันและกัน”
การเดินเท้าฝ่ายละ 2,500 กิโลเมตร ในระยะเวลา 90 วัน เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม-มิถุนายน ปี 1988 และเมื่อจุดจบมาถึง เธอก็บอกว่า นั่นคือจุดเปลี่ยนในชีวิตของเธอ เป็นช่วงเวลาที่เศร้าและยากลำบากมากในชีวิต
“ในตอนนั้น ฉันมีอายุ 40 ปีพอดี และก่อนหน้านั้น 12 ปีที่ผ่านมา ฉันกับอูไลก็ทำงานด้วยกัน และเซ็นงานด้วยกันเป็น 2 ชื่อมาตลอด ในขณะนั้น ฉันได้ยุติความสัมพันธ์กับชายที่ฉันรัก และทำงานด้วยกันมา เราไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อีกต่อไปแล้ว”
“ตอนนั้นก็เลยเป็นสภาวะที่หนักหน่วงในชีวิตฉันมาก แล้วต้องทำอะไรต่อไปล่ะ?” มารีน่าถาม “หลังจากนี้มันไม่มีอะไรเลย เป็นความว่างเปล่าอย่างสมบูรณ์”
จากนั้น เธอถึงตระหนักได้ว่า ตลอด 3 เดือนที่เดินอยู่บนกำแพงนั้น สิ่งที่ขาดหายไปก็คือ ‘ผู้ชม’ เธอจึงคิดได้ว่า ต้องสร้างอะไรบางอย่างเพื่อให้สาธารณชนมีประสบการณ์แบบเดียวกับที่เธอมีมาบนกำแพงเมืองจีนได้ ประสบการณ์ที่ว่า ก็คือการได้ค้นพบว่า การเดินบนกำแพง ทำให้เธอรู้สึกได้ถึง ‘พลังงาน’ (energy) บางอย่าง ซึ่งสัมพันธ์และจะเปลี่ยนไปตามวัสดุที่เธอเหยียบ
“ทุกครั้งที่ฉันเดินบนกำแพงและไปเจอหมู่บ้าน ฉันจะขอให้ล่ามพาคนที่อายุเยอะที่สุดในหมู่บ้านมาเล่าเรื่องให้ฟังเกี่ยวกับกำแพงส่วนที่อยู่ตรงนั้น และหญิงสูงอายุทั้งหมดเหล่านี้ ซึ่งมีอายุ 105, 110 หรือแม้แต่ 120 ปี ก็จะพูดถึงการขับเคี่ยวกันของมังกรดำ มังกรเขียว และมังกรแดง ทำให้คิดได้ว่า มันเกี่ยวข้องกับการโคจรของพลังงานบนพื้นที่เหยียบไป ถ้าฉันเดินบนดินเหนียว ฉันจะรู้สึกแบบหนึ่ง ถ้าฉันเดินบนทองแดงหรือวัสดุที่มีสีเขียว ฉันก็จะรู้สึกถึงพลังงานอีกแบบหนึ่ง ถ้าเป็นสีดำ หรือเป็นเหล็ก ก็จะอีกแบบหนึ่ง”
ประสบการณ์บนกำแพงเมืองจีน จึงนำมาสู่การสร้างซีรีส์ที่ชื่อ Transitory Objects ประกอบด้วยผลงานหลายๆ ชิ้น ซึ่งก็คือวัตถุที่เป็นประติมากรรม ที่จะทำให้ผู้ชมสามารถรับ ‘พลังงาน’ บางอย่างในลักษณะเดียวกันนี้ได้
นำมาสู่ชิ้นงาน เช่น Red Dragon (1989), Green Dragon (1989), Black Dragon (1990) ที่ผู้เข้าชมจะต้องสัมผัสกับวัสดุที่แตกต่างกันไปในแต่ละงาน ในอิริยาบถที่แตกต่างกัน เช่น ยืน นั่ง นอน เพื่อรับพลังงานและนำไปสู่ความรู้สึกหรืออารมณ์อะไรบางอย่าง เช่นเดียวกับ Inner Sky (1991), Chairs for Human Use with Chairs for Spirit Use (2012) หรือ Shoes for Departure (2015) ที่ผู้เข้าชมต้องอยู่นิ่งกับวัตถุในแต่ละงาน และปล่อยจิตใจให้ทะยานออกไป โดยปราศจากการรบกวนของสภาพแวดล้อม
ในทำนองเดียวกัน คือผลงานเมื่อไม่นานมานี้ที่ชื่อ Crystal Wall of Crying (2021) ที่ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) ได้เชิญศิลปินจำนวนหนึ่งให้มาสร้างผลงานเพื่อรำลึกถึงการสังหารหมู่ชาวยิวหลักแสนคนในยูเครนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ผลงานชิ้นนี้จะประกอบไปด้วยกำแพงที่มีคริสตัลปักอยู่ตามแนว ซึ่งผู้คนสามารถมายืนใกล้ๆ หรือสัมผัส เพื่อรับรู้หรือรู้สึกถึงความทรงจำในอดีตได้ อย่างไรก็ดี นี่ก็คืองานที่มารีน่าเพิ่งสร้างสรรค์เสร็จสิ้นเพียง 2 เดือนก่อนที่รัสเซียจะเริ่มรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ทำให้เธอตั้งข้อสังเกตว่า “ถ้าอนุสาวรีย์เหล่านี้อยู่รอดมาได้ มันก็จะเป็นอนุสาวรีย์ที่รำลึกถึงสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นถึงสองอย่างพร้อมกัน อย่างแรกคือสงครามโลกครั้งที่ 2 และอีกอย่างคือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้”
4.
ประวัติศาสตร์งานเพอร์ฟอร์แมนซ์แบบ ‘long durational’
แน่นอนว่าหัวข้อในการบรรยายคือประวัติศาสตร์ของงานเพอร์ฟอร์แมนซ์แบบ ‘long durational’ หรืองานที่กินระยะเวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเดือนหรือเป็นปี ในการบรรยายนี้ มารีน่าก็ได้ร่ายยาวถึงผลงานที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเธอบอกว่ามีมานานแล้ว “ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย” และย้อนกลับไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เริ่มด้วย:
- Der Ring des Nibelungen (1848-1874) ของ ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) ผลงานโอเปร่าที่ใช้เวลาแสดงต่อเนื่อง 15 ชั่วโมง ซึ่งวากเนอร์จะมีข้อปฏิบัติอย่างเข้มงวดให้กับนักเต้น นักร้อง และนักดนตรี ว่าจะทำอะไรได้บ้าง กินอะไรได้บ้าง หรือนอนได้แค่ไหนบ้าง ฯลฯ
- Vexations (1894) ของ เอริก ซาตี (Erik Satie) เพลงที่มีความยาวไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ แต่ต้องเล่นวนไปซ้ำๆ 840 ครั้ง
- Licht (1977-2003) ของ คาร์ลไฮนซ ชต็อกเฮาเซน (Karlheinz Stockhausen) โอเปร่าที่มีดนตรียาว 29 ชั่วโมง
- Organ² / ASLSP (As Slow as Possible) (2001-2640) ของ จอห์น เคจ (John Cage) ดนตรีที่ต้องใช้ออร์แกนเล่นเป็นเวลา 639 ปี ไปจนถึงปี 2640 ซึ่งมารีน่าบอกว่า กว่าจะเล่นเสร็จ “พวกเราทั้งหมดก็คงตายไปหมดแล้ว”
- The Clock (2010) ของ คริสเตียน มาร์เคลย์ (Christian Marclay) ผลงานที่ตัดภาพนาฬิกาจากภาพยนตร์กว่าพันเรื่อง เพื่อนำมาปะติดปะต่อกันนาทีต่อนาทีจนครบ 24 ชั่วโมง แน่นอนว่าชิ้นงานสุดท้ายที่ออกมา ก็ต้องใช้ 24 ชั่วโมงในการชมเช่นกัน
- Bauerntheater (2007) ของ เดวิด เลอวีน (David Levine) ซึ่งจ้างนักแสดงให้มาเล่นเป็นเกษตรกรปลูกมันฝรั่งบนไร่ในเยอรมนี โดยต้องอยู่ในบทบาทนั้นเป็นเวลาหนึ่งเดือน พอปลูกจนโตแล้ว ก็มีการเชิญคนจากเบอร์ลินมาหนึ่งคันรถบัส เพื่อมารับชมการแสดงบทบาทนั้น และก็ได้มันฝรั่งติดมือกลับบ้านไปด้วย
- ผลงานของ เฉียเต๋อชิ่ง (Tehching Hsieh) อาทิ
- Cage Piece (1979-1980) ที่เขาได้สร้างกรงขึ้นมาในบ้าน เพื่ออาศัยอยู่ในนั้นเป็นเวลาหนึ่งปี มีเพียงอ่างล้างหน้า เตียงเล็กๆ และถังสำหรับขับถ่าย โดยจะมีเพื่อนคอยนำอาหารมาให้และนำถังไปล้างในทุกๆ วัน
-
- Time Clock Piece (1980-1981) ที่เขาจะ ‘ตอกบัตร’ กับนาฬิกาตอกบัตร ในทุกหนึ่งชั่วโมง เป็นเวลาหนึ่งปี (นั่นหมายความว่า เขาจะนอนเกินครั้งละหนึ่งชั่วโมงไม่ได้ด้วย เพราะต้องตื่นมาตอกบัตร) โดยมีการบันทึกภาพไว้ทุกๆ ครั้งที่ตอกบัตร ซึ่งก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของเวลาผ่านเส้นผมที่จากเดิมสั้นเตียน จนสุดท้ายยาวประบ่า
-
- Outdoor Piece (1981-1982) ที่เขาจะใช้ชีวิตนอกบ้าน เป็นระยะเวลาหนึ่งปีเต็ม
เฉียเต๋อชิ่ง (Tehching Hsieh) ถือว่ามีความสำคัญในใจของมารีน่ามาก ซึ่งเธอยกย่องให้เป็น ‘ศิลปินที่มีความสำคัญมากที่สุดในโลก’ โดยกล่าวว่า “เขาเป็นคนที่ฉันไม่มีคำพูดจะมาพรรณนา เพราะฉันไม่อาจทำได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เขาทำเลย”
เธอเล่าว่า ศิลปินชายคนนี้ สร้างผลงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ออกมาแค่ 5 ชิ้นในชีวิตเท่านั้น และงานแต่ละชิ้นก็มีระยะเวลายาวนานหนึ่งปีเต็ม
“ต่อมา ตอนที่ฉันไปหาเขาหลังจากนั้น หลังจากที่เขาหยุดทำงานไปแล้ว ฉันพูดกับเขาว่า แล้วคุณจะทำอะไรต่อล่ะ? แล้วตอนนี้ เขาก็พูดอะไรบางอย่างที่ทำให้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า งานได้เปลี่ยนชีวิตของเขาไปแล้ว
“เขาพูดว่า ตอนนี้ผมก็ใช้ชีวิต” มารีน่าเล่า
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้เธอสะท้อนคิดและได้ข้อสรุปว่า งานเพอร์ฟอร์แมนซ์ถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ยากที่สุด โดยเธอกล่าวว่า “ศิลปะมีหลากหลายรูปแบบมาก แต่งานเพอร์ฟอร์แมนซ์แบบที่กินระยะเวลายาวนานนั้น ยากที่สุด จับต้องได้น้อยที่สุด และจริงที่สุด”
ซึ่งการจะทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งสำเร็จได้ ก็ต้องลงมือทำ และเผชิญหน้ากับสิ่งแปลกหน้าด้วยตัวเอง “วิธีเดียวที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณได้ คือคุณต้องทำมันด้วยตัวเอง” เธออธิบาย “คุณต้องเข้าไปในดินแดนที่ไม่เคยมีใครไปถึง คุณต้องเสี่ยง และคุณต้องไม่กลัวที่จะล้มเหลว ความล้มเหลวถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญเหลือเกินในการทำงานของศิลปิน”
และไอเดียเหล่านี้ ก็ตกผลึกกลายมาเป็นแนวคิดในการปฏิบัติงาน ที่เธอใช้สอนลูกศิษย์ศิลปินรุ่นใหม่ นั่นก็คือ ‘วิถีอบราโมวิช’ หรือ ‘Abramović Method’
5.
วิถีอบราโมวิช
แนวคิดของวิถีอบราโมวิช คือการฝึกฝนทางกายภาพให้กับศิลปินรุ่นใหม่ เพื่อทำงานเพอร์ฟอร์แมนซ์แบบ ‘long durational’ ซึ่งมีความพิเศษตรงที่ต้องอาศัยแรงกาย แรงใจ การจดจ่อ และสมาธิ ในแบบที่ข้ามพ้นขีดจำกัดมากไปกว่าการทำกิจกรรมทั่วไป
โดยมารีน่าเองก็ได้ก่อตั้งสถาบันศิลปะขึ้นมาเพื่อรองรับการฝึกฝนนี้ ในชื่อ สถาบันมารีน่า อบราโมวิช (Marina Abramović Institute หรือ MAI) ภายในสถาบัน ก็จะมีการฝึกฝนหลากหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ‘Cleaning the House Workshop’ เวิร์กช็อประยะเวลา 5-7 วัน ที่ศิลปินในสังกัดจะไม่ได้กินอะไรเลย ยกเว้นเพียงแต่น้ำและชา เพื่อให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย หรือ ‘Slow Motion Exercises’ ที่ทุกคนจะได้ทำทุกอย่าง อาทิ กินข้าว ย้ายข้าวของ แต่งตัว อย่างช้าๆ โดยไม่พูดจา
นอกจากศิลปิน มารีน่าก็ยังนำวิถีอบราโมวิชมาทดลองใช้กับคนทั่วไปด้วย เช่น ให้คนใส่หูฟังเพื่อฟังเสียงของ ‘ความเงียบ’ และให้ได้จดจ่ออยู่กับตัวเอง และยังมีการฝึกฝนรูปแบบอื่นๆ อย่างการมัดผ้าปิดตาแล้วให้เดินไปในความเงียบ หรือการจ้องมองตากับคนแปลกหน้า เป็นต้น
หรืออีกอย่างหนึ่งที่เธอถือว่าประสบความสำเร็จ คือการฝึกฝนในประเภทสโลโมชั่นให้กับคนทั่วไป ด้วยการให้แยกข้าวออกจากถั่ว หรือการเดินช้าๆ โดยเธอเล่าว่า เคยมีชายคนหนึ่งมาเข้าร่วมกิจกรรมเดินช้าที่แกลเลอรีเซอร์เพ็นทีน (Serpentine Gallery) ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งมาทุกวัน วันละ 3-4 ชั่วโมง ตลอดทั้งสัปดาห์ ทำให้เธอสนใจและถามเขาว่าทำอาชีพอะไร
“ผมเป็นนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ ผมเพิ่งค้นพบการฝึกฝนนี้ แล้วทุกครั้งที่ผมมาร่วมเดินช้า ผมกลับบ้านไปแล้วก็เขียนได้ดีขึ้นมาก” ชายคนนั้นตอบ นั่นทำให้มารีน่าเริ่มตระหนักได้ว่า วิถีอบราโมวิชสามารถสร้างผลลัพธ์ที่งอกเงยได้ ไม่ใช่แค่ในศิลปะ แต่ยังรวมถึงศาสตร์ต่างๆ นอกเหนือไปจากนั้นด้วย
วิถีอบราโมวิชยังนำมาสู่ผลงานหลากหลายชิ้นที่น่าสนใจของศิลปินในสังกัดสถาบัน MAI ซึ่งมารีน่าก็ได้นำมาโชว์ให้ดูกันอย่างจุใจ เช่น
- Jargon (2016) ของ เวอร์จิเนีย แมสโทรไจอันนาคี (Virginia Mastrogiannaki) บททดสอบทางกายและจิตใจของมนุษย์ ด้วยการนับวินาที ทุกวินาที เป็นเวลา 2 เดือน วันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งมารีน่าเคยบอกว่า นี่มันคือ “นรกบนดิน” ชัดๆ และเธอน่าจะล้มเลิกไปใน 3-4 วัน แต่สุดท้ายก็ทำมันสำเร็จ
- The Key (2016) ของ เยียนนิส ปัปปาส (Yiannis Pappas) ที่ศิลปินขังตัวเองอยู่ในพื้นที่เล็กๆ โดยเขาต้องใช้กุญแจขูดกำแพงด้านในที่มีอยู่หลายชั้นเพื่อพาตัวเองออกมา ในขณะที่ทางออกนอกสุดจะมีเพียงผู้ชมเท่านั้นที่สามารถไขกุญแจให้เขาออกมาได้ ซึ่งทำไปทำมา ศิลปินบอกว่า ชวนให้นึกถึงประสบการณ์ของผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะเมื่อมีซากปรักหักพังในนั้นซึ่งคล้ายคลึงกับบ้านเรือนที่พังทลายลงเพราะสงคราม
- The Bond (2015) ของ มอริซิโอ เอียเนส (Maurício Ianês) ซึ่งเป็นการสร้างพื้นที่ทางสังคม (social space) ขึ้นมาโดยอาศัยความสัมพันธ์และความช่วยเหลือของชุมชน ศิลปินมาถึงพื้นที่นั้นบนรถแท็กซี่ด้วยร่างกายเปลือยเปล่า และจะใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน โดยที่ผู้เข้าชมต้องนำอาหาร เสื้อผ้า และอื่นๆ มาให้ ในขณะที่ผู้เข้าชมจะทำอะไรกับพื้นที่นั้นก็ได้โดยไม่มีข้อจำกัด
- Noise Body (2015) ของ พอลา การ์เซีย (Paula Garcia) ซึ่งแสดง 8 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 2 เดือน ในห้องเล็กๆ ที่มีกำแพงเป็นแม่เหล็ก เป้าหมายคือ นำชิ้นส่วนเหล็กทั้งหลายในห้องนั้น มาติดบนกำแพงให้ได้ทั้งหมด
- Transmutation of Meat (2015) ของ แอร์สัน เฮราคลิโต (Ayrson Heráclito) ซึ่งเล่นกับความเป็นพิธีกรรม โดยมี ‘เนื้อ’ เป็นสื่อกลาง ซึ่งสื่อถึงร่างกายที่เต็มไปด้วยความทรงจำและความเจ็บปวดของมนุษย์ผู้ตกเป็นทาสในอดีต รวมถึงลูกหลานที่สืบทอดมาจากทาสเหล่านั้น
- Our Glorious Past Our Glorious Present Our Glorious Future (2018) ของ ลิน เท็ต (Lin Htet) งานเพอร์ฟอร์แมนซ์ของศิลปินชาวเมียนมา ที่เพิ่งจัดแสดงไปในเทศกาล Bangkok Art Biennale ที่หอศิลปกรุงเทพฯ (BACC) เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งใช้ร่างกายสะท้อนถึงปัญหาตัวตน (issues of identity) ของผู้คนในเมียนมาท่ามกลางสงครามกลางเมือง
ร่ายยาวถึงประวัติศาสตร์เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต หากจะสรุปส่งท้าย เหมาะที่สุดก็คงจะเป็นการกล่าวถึงผลงานที่ถือว่าเป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซของมารีน่า นั่นก็คือ The Artist Is Present (2010) ที่เธอได้ไปแสดงเป็นเวลา 3 เดือนเต็ม ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (Museum of Modern Art หรือ MoMA) นครนิวยอร์ก โดยแสดงต่อเนื่อง 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 10 ชั่วโมงในวันศุกร์
งานเพอร์ฟอร์แมนซ์ชิ้นนี้เรียบง่ายอย่างถึงที่สุด เธอเพียงแค่นั่งลงบนเก้าอี้ เผชิญหน้ากับเก้าอี้ว่างด้านหน้า ที่เปิดให้ใครก็ได้มานั่งลงเพื่อจ้องตากับเธอในความเงียบ ภายใต้แนวคิดที่สำคัญคือ ‘presence’ หรือการที่ศิลปินนำตัวเองมาอยู่ ณ ที่ตรงนั้นจริงๆ ในปัจจุบันขณะ
มารีน่าเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของโปรเจ็กต์นี้ว่า เคลาส์ บีเซ็นบัค (Klaus Biesenbach) ผู้อำนวยการของ MoMA ในขณะนั้น ได้มาพูดคุยกับเธอ บอกว่าอยากให้จัดแสดงงานชิ้นหนึ่งขึ้นมา และให้เรียกว่า ‘The Artist Is Present’ ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว สำหรับพิธีเปิดนิทรรศการศิลปะ มักจะมีการโฆษณาว่าศิลปินเจ้าของผลงานจะมาร่วมงานด้วย โดยใช้คำว่า ‘Artist Is Present’ ทำให้มารีน่าเห็นว่าเป็นจุดตั้งต้นที่น่าสนใจ และรับมาสร้างสรรค์ผลงานต่อ โดยที่งานนี้ไม่จำเป็นต้องมีวัตถุหรือชิ้นงานใดๆ เพราะตัวศิลปินนี่เองที่เป็นงานศิลปะ
พอนำไปเสนอผู้อำนวยการ MoMA เขาก็บอกว่า “เรามันโคตรบ้า ไม่มีใครจะมานั่งเก้าอี้นี้หรอก คนในอเมริกามันไม่มีเวลา เมืองนี้มันโคตรยุ่ง” ทำให้เธอตอบกลับไปว่า “ฉันไม่สน ฉันจะนั่งและลองดูว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แค่นั้นแหละ”
ผลปรากฏว่า งานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จอย่างสุดขีด เธอเล่าว่ามีผู้เข้าชมทั้งหมดมากกว่า 550,000 คน ซึ่งมารีน่าบอกว่า เป็นสถิติจำนวนผู้ชมสูงสุดสำหรับศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย บางคนมานั่ง 5 นาที บางคนนั่งยาวถึง 7 ชั่วโมง แม้แต่ รปภ.ของพิพิธภัณฑ์ ก็ยังเปลี่ยนชุดมานั่งด้วยในวันหยุด
ข้อค้นพบอย่างหนึ่งของมารีน่าจากงานชิ้นนี้ก็คือ “ผู้คนร้องไห้ ร้องไห้ ร้องไห้ ร้องไห้ แล้วก็ร้องไห้” ทำให้เธอได้ข้อสรุปว่า “นิวยอร์กนั้นเต็มไปด้วยความเหงาเสียเหลือเกิน เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวด”
นั่นคือปฏิกิริยาแบบหนึ่งของผู้ชม ซึ่งในทั้งหมดครึ่งล้านคนนั้น ก็คงมีปฏิกิริยาแตกต่างไม่ซ้ำกัน ทำให้เธอได้ข้อค้นพบที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นคือ แท้จริงแล้ว งานของเธอก็คือการทำงานกับคนดู เธอตั้งข้อสังเกตว่า “คนในศตวรรษที่ 21 เหลืออดกับการเป็นคนดูแล้ว คนในศตวรรษที่ 21 ต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของงาน พวกเขาต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ นี่คือการเปลี่ยนผ่านในวัฒนธรรมครั้งใหญ่ นี่คือเหตุผลว่าทำไมงานเพอร์ฟอร์แมนซ์จึงมีความหมายมากในปัจจุบัน”
“ฉันเข้าใจแล้วว่า จากนี้ไป งานของฉันคือคนดู คุณคืองานของฉัน” บทสรุปของ มารีน่า อบราโมวิช