ถึงจะถูกสื่อมวลชนและใครต่อใคร เรียกว่า ‘คดีอิลลูมินาติ’ ให้ดูน่าสนใจขึ้น
แต่ความจริงแล้วคำร้องขอให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ของณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอะไรไปมากกว่าการกล่าวอ้างถึงสมาคมลับจากคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่คนจำนวนมากฟันธงไปแล้วว่าเป็นเพียง ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ (conspiracy theory) คือ เป็นเรื่องที่เกิดจากการจับแพะชนแกะ ยังไม่มีหลักฐานมายืนยันความเป็นจริง
และแม้คำร้องของณฐพรจะมาจากการประมวล ‘ข้อเท็จจริง’ ที่เกิดขึ้นจริง เพียงแต่วิธีการประกอบร่างขึ้นมาเป็นคำร้องขอให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็มีลักษณะ ‘ปะติดปะต่อ’ คล้ายยืนยันสิ่งที่ตัวเองเชื่อมากกว่าจะทำไปเพื่อพิสูจน์สมมุติฐานว่า ข้อกล่าวหาที่ว่า จริง-เท็จหรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ‘ชุดข้อมูล’ ที่ณฐพรใช้ แทบไม่ต่างจากชุดข้อมูลที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองใช้โจมตีพรรคอนาคตใหม่ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
คดีนี้จึงอาจมี ‘เดิมพัน’ มากกว่าที่เราคิด เพียงแค่พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบหรือไม่? แต่ยังรวมไปถึงว่า ชุดข้อมูลที่ใช้โจมตีพรรคการเมืองนี้มาตลอด มีความน่าเชื่อถือเพียงใด? ยังจะถูกหยิบมาใช้ดิสเครดิตในทางการเมืองต่อไปได้หรือไม่? – โดยศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ให้คำตอบ
ไม่รวมถึงว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าคดีนี้มีความผิดจริง ศาลจะให้คำอธิบายกับสังคมว่าอย่างไร
แต่ก่อนอื่น เราขอชวนทุกคนย้อนกลับไปดูข้อเท็จจริงกันก่อนว่า มีอะไรอยู่ในคำร้องของณฐพรบ้าง นอกจากเรื่องราวของสมาคมลับในตำนาน
มีอะไรอยู่ในคำร้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่
เอกสารคำร้องที่ณฐพรส่งให้กับศาลรัฐธรรมนูญมีด้วยกัน 2 ชุด ชุดแรกส่งให้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2562 และชุดที่สองส่งให้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2562 รวมทั้งหมด 41 หน้ากระดาษเอสี่
ที่แม้ทั้ง 2 คำร้องจะมีเป้าหมายเดียวกัน – ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง ‘ยุบพรรคอนาคตใหม่’
แต่แง่มุม ถ้อยคำภาษา รวมไปถึงประเด็น ที่ณฐพรหวังจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นนั้น ‘แตกต่างกัน’
คำร้องแรก ณฐพรชี้ประเด็นเรื่อง ‘ข้อบังคับพรรค’ ของพรรคอนาคตใหม่มีปัญหา ตรงไปเลือกใช้คำว่า “หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” แทนที่จะใช้คำว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยเขาระบุว่า ‘กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา’ แล้วโยงเรื่องคำประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยไม่บอกว่าจะยกเว้นเนื้อหาส่วนใด คำให้สัมภาษณ์ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ทั้งเรื่องลักษณะนิยมคนไทยที่ชอบยิ้ม ล้มเลิกประเพณีกราบไหว้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สานต่อภารกิจปี พ.ศ.2475 ฯลฯ การเป็นเจ้าของนิตยสารฟ้าเดียวกัน หรือบทบาทของปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ สมัยเป็นอาจารย์ในกลุ่มนิติราษฎร์
คำร้องที่สอง ซึ่งเป็นคำร้องเพิ่มเติม ณฐพรพุ่งเป้าเรื่องการเป็นขบวนการ ‘ปฏิกษัตริย์นิยม’ (anti-royalism) และนำหลายๆ วาทกรรมที่ใช้โจมตีแกนนำพรรคอนาคตใหม่มารวบรวมไว้ โดยเฉพาะเรื่องความพฤติกรรมของพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ จากสิ่งที่เคยโพสต์ในเฟซบุ๊ก
อ้างถึงพยานหลักฐานอะไรบ้าง
พยานหลักฐานที่ณฐพรใช้ประกอบคำร้อง ส่วนใหญ่จะเป็นคำพูดในงานเสวนา สิ่งที่โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ก สิ่งที่เขียนไว้ในวาระโอกาสต่างๆ ไปจนถึงคำให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ทั้ง 3 คน ได้แก่ ธนาธร ปิยบุตร และพรรณิการ์ ย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ถึงปัจจุบัน เช่น คำให้สัมภาษณ์นิตยสารสารคดี นิตยสาร GM นิตยสารข่าวมติชนสุดสัปดาห์ หนังสือ Portrait ธนาธร รายการ The Standard Daily บทวิเคราะห์การเมืองในเว็บไซต์ Tpolitic ข้อความในเฟซบุ๊กอดีตผู้พิพากษารายหนึ่ง ฯลฯ
มีเอกสารที่เป็นทางการไม่กี่รายการเท่านั้น ได้แก่ ข้อบังคับพรรคของพรรคอนาคตใหม่ และคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติของศาลรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เนื้อหาบางส่วนในคำร้องได้แสดงทัศนะทางการเมืองส่วนตัวของเขา ต่อคนเสื้อแดง ทักษิณ ชินวัตร และ คสช. ไว้ด้วย อาทิ
“..(ธนาธรเคยให้สัมภาษณ์)สนับสนุนการชุมนุมของ นปช. หรือกลุ่มเสื้อแดง โดยไม่ได้แสดงท่าทีกังขากับวิธีการถ่อยสถุลที่ไม่ต่างจากอันธพาลและพฤติกรรมเผาบ้านเผาเมืองของผู้ชุมนุมกลุ่มนี้แต่อย่างใด..” (คำร้องแรก หน้า 6)
“..เราจะปล่อยให้บุคคลอันตรายนี้เข้ามามีบทบาททางการเมือง นานไปก็จะเหมือนในอดีตที่ให้ทักษิณเป็นนายกฯ หลุดคดีขายหุ้น…” (คำร้องแรก หน้า 14)
“..เป็นแถลงการณ์ที่มีเจตนาใส่ร้ายคณะ คสช.ว่าเป็นเผด็จการ ซึ่งเป็นการกล่าวเท็จโดยสิ้นเชิง และกล่าวหาคณะ คสช.ที่ทำหน้าที่รัฎฐาธิปัตย์ว่าเป็นเผด็จการ โดยไม่มีข้อมูลอื่นใดมาสนับสนุนข้อมูลดังกล่าว จึงเป็นการกล่าวเท็จและใส่ร้ายต่อคณะ คสช. ที่ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่รู้ข้อเท็จจริง คิดและเข้าใจว่ารัฐบาล คสช. เป็นรัฐบาลเผด็จการ..” (คำร้องที่สอง หน้า 13)
เป็นต้น
‘อิลลูมินาติ’ มาเกี่ยวข้องได้อย่างไร
ณฐพรอ้างถึงสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่ากลับหัว “แสดงให้เห็นเจตนาที่ซ่อนเร้นถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของพรรค”
โดยณฐพรระบุว่า สมาคมอิลลูมินาติ (Illuminati) ก่อตั้งขึ้นที่เมือง Ingolstadt ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 1 พฤษาคม ค.ศ.1776 โดยอดัม ไวส์ฮอพ ผู้ยึดถือปรัชญาความคิดอิสระ ไม่ยึดติดกับความเชื่อเก่าๆ ที่สั่งสอนกันมาทั้งเรื่องระบบการปกครองและศาสนา เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคการปกครองแบบใหม่ (New World Order) และเชื่อกันว่าสมาคมอิลลูมินาติอยู่เบื้องหลังการล้มล้างการปกครองด้วยระบบกษัตริย์ของหลายๆ ประเทศในทวีปยุโรป รวมถึงการประกาศอิสรภาพของอเมริกาในปี ค.ศ.1776
“อิลลูมินาติเป็นองค์กรลับที่รู้จักกันไปทั่ว มีเป้าหมายใหญ่ต้องการล้มล้างหรือนัยหนึ่งปฏิวัติความเชื่อใหม่ๆ ทั้งในเรื่องระบบการปกครองและศาสนา ภายใต้คำขวัญ ‘จัดระเบียบสำหรับยุคใหม่’ เพื่อให้บรรลุความฝันสูงสุด และมีหลักฐานน่าเชื่อถือยืนยันว่ากลุ่มนี้อยู่เบื้องหลังขบวนการล้มเจ้า หรือล้มล้างสถาบันกษัตริย์ของหลายๆ ประเทศในยุโรป รวมไปถึงมีส่วนสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติในรัสเซีย รวมถึงการประกาศอิสรภาพของอเมริกา”
คือความเชื่อของณฐพรต่อพรรคอนาคตใหม่ นำมาสู่การยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรค
ข้อสังเกต
- คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่เปิดให้มีการไต่สวนพยาน ทำให้พยานหลักฐานที่จะใช้ในการพิจารณาคดี หลักๆ จะมีเพียงคำร้องของณฐพรและเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาจากพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น
- มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เส้นทางคดีนี้ ณฐพรใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 49 “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้” โดยณฐพรไปยื่นขอให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องกับศาลรัฐธรรมนูญก่อน แต่อัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการใดๆ เมื่อพ้น 15 วัน เขาจึงยื่นคำร้องกับศาลเอง – แต่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตราดังกล่าวมีเพียง ‘สั่งให้เลิกการกระทำ’ เท่านั้น ไม่ใช่ยุบพรรค
- กระทั่งในคำร้องของณฐพรเอง หน้าแรกได้อ้างถึงข้อกฎหมายเรื่อง ‘สั่งให้เลิกการกระทำ’ แต่หน้าสุดท้าย กลับอ้างถึง พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92(1)(2) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วย ทั้งที่อำนาจในการยื่นคำร้องตามกฎหมายดังกล่าวเป็นของ กกต. ไม่ใช่บุคคลทั่วไป
- ประเด็นแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัย ก็น่าจะเป็นเรื่องผู้ร้องมีอำนาจในการยื่นคำร้องนี้หรือไม่?
- สมมุติศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ณฐพรมีอำนาจในการยื่นคำร้อง ก็น่าติดตามต่อไปว่า คำร้องที่เริ่มต้นด้วยข้อกฎหมายมาตราหนึ่ง แต่ไปขอให้ลงโทษตามข้อกฎหมายอีกมาตราหนึ่ง ศาลจะชี้ว่าอย่างไร
- กรณีนี้จะคล้ายกับ ‘คดีเงินกู้ 191 ล้านบาท” ซึ่ง กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่ตอนแรก ใช้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 66 (มีโทษอาญา ไม่มีโทษยุบพรรค) ทว่าตอนฟ้องกลับใช้มาตรา 72 (มีโทษยุบพรรค) โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใหม่ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ระบุว่าทำให้พวกเขาขาดโอกาสในการโต้แย้ง แต่ กกต.ก็ยืนยันว่าตามข้อกฎหมายให้ทำได้
- กล่าวโดยสรุป ‘คดีอิลลูมินาติ’ ไม่ใช่คดีสุดท้ายที่พรรคอนาคตใหม่จะต้องเผชิญข้อหา ‘ยุบพรรค’ โดยขณะนี้ แกนนำพรรคได้เริ่มส่งสัญญาณให้ ส.ส.และสมาชิกเตรียมหาพรรคการเมืองใหม่ที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกันสังกัดแล้ว