เป็นไปได้ไหมนะ ที่คนธรรมดาอย่างเรา จะเลื่อนชนชั้นให้กลายเป็น ‘เศรษฐี’ ได้?
ถ้าไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด แค่พยายามให้มากขึ้น เรียนให้สูงขึ้น หางานทำให้มีรายได้มากขึ้น หรือย้ายประเทศ จะทำให้เราสามารถเลื่อนชนชั้นให้สูงขึ้นได้หรือเปล่า?
จากสถิติในปี 2564 ประเทศไทยมีสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ของรายได้อยู่ที่ 43.3% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยประชากรที่รวยที่สุดเพียง 10% ถือครองความมั่งคั่งเกินครึ่งหนึ่งของความมั่งคั่งของคนทั้งประเทศ
สิ่งที่นำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ คือ ‘Great Gatsby Curve’ หมายถึง สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ มักจะมีความเหลื่อมล้ำทางโอกาส กล่าวคือ ถ้าสังคมมีความเหลื่อมล้ำสูง ก็มีโอกาสต่ำที่คนจะเลื่อนชนชั้นได้ (หากเกิดมาจน ก็ต้องจนต่อไป) แต่ถ้าสังคมมีความเหลื่อมล้ำต่ำ ก็มีโอกาสมากที่คนจะเลื่อนชนชั้นได้
แล้วในเมื่อสังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นสูง จะมี ‘วิธีการ’ ไหนไหม ที่คนคนหนึ่งจะสามารถเลื่อนชนชั้นให้สูงขึ้นได้?
หลายๆ คนอาจบอกว่า ‘การศึกษา’ เป็นปัจจัยหลัก แต่มันเป็นความจริงทั้งหมดหรือเปล่า ถ้าเพียงแค่ตั้งใจเรียนให้จบระดับการศึกษาที่สูงจะช่วยให้เลื่อนชนชั้นและมีคุณภาพชีวิตได้จริงไหม หรือยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลอีก ที่เราควรจะให้ความสนใจเพิ่มเติม?
ด้วยคำถามเหล่านี้ จึงเกิดเป็นวงเสวนาและการนำเสนอในหัวข้อ ‘การเลื่อนระดับชั้นทางสังคมในประเทศไทย (Intergenerational Mobility in Thailand)’ ดำเนินรายการโดย ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ และ กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์ จัดโดย สมาคมสังคมวิทยาสาธารณะ ประเทศไทย (PSAT) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567
และต่อไปนี้คือเนื้อหาบางส่วนจากงานเสวนาที่ The MATTER เลือกสรรมาให้แล้ว
ความเชื่อทาง ‘ศาสนา’ ที่สอนให้อดทน จนสิทธิ-สวัสดิการถูกมองข้าม
(เนื้อหาบางส่วนจากการนำเสนอ หัวข้อ ‘วาทกรรมของพระพุทธศาสนาแบบราชาชาตินิยมของไทย’ โดย เขมภัทร ทฤษฎีคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย)
เชื่อหรือไม่ว่า ‘ศาสนา’ หรือความเชื่อ และแนวคิดของบุคคล ก็มีผลต่อการเลื่อนชนชั้นของเราด้วย
สำหรับศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ หนีไม่พ้น ‘พระพุทธศาสนา’ ซึ่งถ้าหากจะนิยามให้ถูกต้องแล้ว รศ.สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญา ให้นิยามว่าพุทธแบบไทย คือ ‘พระพุทธศาสนาแบบราชาชาตินิยม’ หรือคือการที่สถาบันหลักของชาตินั้นถูกผูกติดกันไว้ระหว่าง ชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์
ซึ่งเขมภัทรอธิบายถึงแนวคิดของพุทธแบบไทยแบบนี้ ว่ามีการสร้างกรอบศีลธรรมแบบพุทธมาใช้ในการจัดการทรัพยากร เพื่อไม่ให้การใช้ทรัพยากรเพื่อบริโภคนั้นนำไปสู่การสะสมทรัพย์สิน หรือกลายเป็น ‘กิเลส’ ซึ่งจะทำให้คนไม่สามารถบรรลุถึงจุดสูงสุดอย่างการนิพพานได้
โดยตีกรอบนี้ไว้ภายใต้วิธีคิดเรื่องชนชั้นแบบเดช-บุญ กล่าวคือ ทำให้มองเห็นว่าเรื่องชนชั้นทางสังคมเป็นผลมาจากการกระทำที่ควบคุมไม่ได้ หรือมาจากบุญที่เราจะสะสมมาจากชาติก่อน ถ้าหากเกิดมายากจนก็เป็นเพราะชาติก่อนเก็บสะสมบุญบารมีมาน้อย
และถ้าหากในชาตินี้เราเกิดมามีบุญมาก ก็ยิ่งมีโอกาสในการต่อยอดสะสมบุญเพิ่ม ในขณะที่ถ้าเกิดมามีบุญน้อย การจะสะสมบุญหรือทรัพย์สินก็ย่อมยากกว่า และยังสอดคล้องกับระบบอุปถัมภ์อันเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทย ที่คนมีกำลังทรัพย์มากกว่าก็จะต้องประทานลงมาให้คนที่มีน้อยกว่า
ถ้าหากเราอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ก็จะต้องมี ความเพียร-พยายาม ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นให้พึ่งพาตัวเอง หรืออย่างคำสอนที่ถูกปลูกฝังผ่านชาดกอย่างพระมหาชนก ที่แสดงให้เห็นว่าหากมีความ ‘อดทน’ ก็จะก้าวผ่านอุปสรรคไปได้
ซึ่งเขมภัทรเห็นว่าแนวคิดเช่นนี้จะทำให้ข้อเรียกร้องต่อภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนชนชั้นนั้นถูกมองข้ามไป เพราะมุ่งเน้นที่ความพยายามส่วนบุคคลมากกว่า ทั้งที่ความเป็นจริงนั้น การเลื่อนชนชั้นมีหลายปัจจัยที่มาส่งผล
เพราะ ‘การศึกษา’ ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อชนชั้นทางสังคม
จากงานวิจัยเรื่อง Intergenerational Occupational Mobility in Rural Thailand 1997-2017 โดย ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ ศึกษาเรื่องการเคลื่อนย้ายเพื่อประกอบอาชีพของคนไทย พบว่า คนที่มีภูมิหลังจากผู้ปกครองที่สูงกว่า จะมีโอกาสที่สูงกว่าเช่นกัน ตามมาด้วยชนชั้นกระฎุมพีหรือชนชั้นกลาง ที่มีโอกาสเลื่อนชนชั้นขึ้นสู่สถานะที่สูงขึ้นได้
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้คนได้รับโอกาสชีวิตไม่เท่ากันมีหลายประการ ได้แก่
- ความเหลื่อมล้ำทางสังคม
- การเข้าถึงการศึกษา
- สิ่งแวดล้อม เช่น อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัด มีมลพิษ เสียงดัง ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
- ปัจจัยทางภูมิศาสตร์
- ความไม่เท่าเทียมทางเพศและบทบาททางเพศ เช่น บทบาทที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องเลี้ยงดูลูกจนกีดกันจากโอกาสต่างๆ
- พัฒนาการช่วงปฐมวัย ที่ส่งผลมาสู่ช่วงที่เติบโตแล้วได้
- เครือข่ายของผู้ปกครอง
- การส่งต่อจากพ่อแม่ เช่น หากพ่อแม่เป็นข้าราชการ ก็มีแนวโน้มที่ลูกจะรับข้าราชการเช่นกัน
- ความทะเยอทะยาน ซึ่งมาจากการที่พ่อแม่แสดงให้เห็นว่าตนมีความทะเยอทะยาน จนทำให้ลูกเกิดความรู้สึกนี้เช่นกันได้
ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อชนชั้นทางสังคมนั้นมีทั้งปัจจัยจากพื้นหลังเดิมของครอบครัวซึ่งติดตัวมาตั้งแต่เกิด และปัจจัยทางสังคมที่เราควบคุมด้วยตัวเองไม่ได้
ศุภลักษณ์อธิบายเพิ่มเติมถึงงานวิจัยที่ศึกษาสวัสดิการในกลุ่มประเทศนอร์ดิก (เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีดัชนีการเลื่อนชนชั้นทางสังคมสูงที่สุด พบว่าปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจคือการมีสวัสดิการเพื่อผู้หญิง เช่น การมีสวัสดิการด้านการดูแลเด็ก (Child Care) ซึ่งช่วยเปิดโอกาสด้านอื่นๆ ให้ผู้หญิงได้
สำหรับในไทย งานวิจัยของศุภลักษณ์พบว่าเมื่อเปรียบเทียบด้วยปัจจัยทางเพศ ผู้หญิงมีอัตราการได้เลื่อนชนชั้นทางสังคมมากกว่าผู้ชาย แต่ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาต่อไป
‘เด็กข้ามชาติ’ กับโอกาสทางการศึกษาที่ไปไม่ถึงฝั่ง
(เนื้อหาส่วนหนึ่งจากการนำเสนอ หัวข้อ ‘การเข้าถึงการศีกษาและโอกาสในการขยับสถานะของเด็กข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่’ โดย ปิยชัย นาคอ่อน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ว่ากันว่า ‘การศึกษา’ คือเครื่องมือในการรักษาและเลื่อนชนชั้น แต่สำหรับ ‘เด็กข้ามชาติ’ การจะเข้าถึงการศึกษานั้นมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก
จากงานศึกษาเรื่อง สิทธิไร้ตัวตน: การศึกษาของเด็กข้ามชาติไทใหญ่ในโรงเรียนไทย จังหวัดเชียงใหม่ โดย นงเยาว์ เนาวรัตน์ และ ชญาณิศวร์ ยิ้มสวัสดิ์ พบว่าเด็กข้ามชาติไทใหญ่เกือบทั้งหมดมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในช่วงก่อนอายุ 14 ปี อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นกลับลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ด้วยหลายปัจจัย เช่น เอกสารไม่พร้อม หรือต้องเริ่มเข้าสู่การทำงาน
ปิยชัยสรุปเหตุผลที่เด็กข้ามชาติต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไว้ดังนี้
- ต้องเข้าตลาดแรงงาน ทำงานช่วยเหลือครอบครัว
- ผู้ปกครองต้องย้ายถิ่นฐานตามงานที่ทำ ทำให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนในพื้นที่นั้น
- ขาดเป้าหมายในการเรียน ไม่รู้ว่าจะเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นเพื่ออะไร
- สภาพเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถส่งเด็กเรียนต่อไปได้
- ปัญหาอื่นๆ ด้านครอบครัว เช่น พี่คนโตต้องออกจากการศึกษาเพื่อมาช่วยเลี้ยงน้อง
ด้วยเหตุนี้ ปิยชัยจึงเสนอ ‘โอกาส’ ที่เด็กข้ามชาติเชียงใหม่จะเลื่อนสถานะได้ดังนี้
- ส่งเสริมทักษะประกอบอาชีพ เพื่อให้มีทักษะเพียงพอต่ออาชีพที่จะช่วยเลื่อนชนชั้นได้
- เรียนรู้ภาษาที่สาม เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอาชีพที่มากขึ้น
- เพิ่มโอกาสเข้าถึงตลาดแรงงาน เนื่องจากในจังหวัดเชียงใหม่มีลักษณะงานเป็นภาคบริการและงานก่อสร้าง ซึ่งมีกำลังการจ้างงานและรายได้น้อย เด็กจึงรีบออกจากระบบการศึกษาเพื่อไปทำงาน ในขณะที่หากเปรียบเทียบกับจังหวัดที่มีงานอุตสาหกรรมเป็นหลักอย่างสมุทรสาคร ก็จะเป็นงานที่มีความมั่นคงมากกว่า และมีอัตราการจ้างงานมากกว่า จึงเพิ่มโอกาสให้เด็กเลือกเข้าเรียนหรือทำงาน
- เพิ่มโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ
ที่สำคัญคือการที่ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการปรับโครงสร้างการจ้างงานดังที่กล่าวไปข้างต้น และให้การศึกษาที่ฟรีตลอดกระบวนการ ทั้งค่าเล่าเรียน และสนับสนุนค่าใช้จ่ายจำเป็นสำหรับให้เด็กไปเรียน เช่น ค่าเดินทาง เพื่อให้เด็กข้ามชาติได้มีโอกาสเข้าเรียนโดยไม่ต้องเผชิญกับอุปสรรคทางเศรษฐกิจ
‘การเลื่อนระดับชั้นทางสังคมในประเทศไทย’ จึงเป็นคำถามที่อยู่ในใจหลายๆ คน แต่กลับยังไม่มีการศึกษามากเท่าที่ควร จึงเป็นโจทย์สำคัญต่อไปว่าคนไทยจะ ‘ลืมตาอ้าปาก’ ได้จากปัจจัยอะไรบ้าง? ซึ่งก็ต้องฝากความหวังไว้กับการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ และความร่วมมือของทุกคนในการเรียกร้องสิทธิ แต่ที่สำคัญที่สุดคือสวัสดิการที่เหมาะสมจากภาครัฐ
อ้างอิงจาก