แม้จะเป็นประเด็นที่ถูกพูดกันมานานแล้ว แต่ความเห็นล่าสุดจากผู้ใหญ่ในวงการศึกษาไทย ที่เสนอให้ยกเลิกการติดป้ายโชว์รูปนักเรียนที่สอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดัง ก็ทำให้เรื่องนี้กลับมาเป็นร้อนๆ และน่าพูดถึงกันอีกครั้ง
แนวคิดนี้มาจากประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เอกชัย กี่สุขพันธ์ ที่แสดงความเห็นว่า เขาอยากจะให้โรงเรียนต่างๆ ยกเลิกการขึ้นป้ายโฆษณาผลงานของนักเรียน ที่สอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดังกันเสียที เพราะไม่ใช่แค่สะท้อนถึงปัญหาการหาประโยชน์จากนักเรียนเพื่อชื่อเสียงของตัวโรงเรียน แต่ยังรวมไปถึงการให้ความสนใจเพียงแค่เด็กเฉพาะกลุ่มเพียงเท่านั้น
“ผมมองว่าโรงเรียนควรเลิกใช้นักเรียนมาสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง เพราะการที่โรงเรียนให้ความสนใจเด็กเฉพาะกลุ่ม คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้อง” ประธาน กพฐ. ระบุ
เอาเข้าจริง แนวคิดนี้ของประธาน กพฐ. ก็น่าสนใจไม่น้อยเหมือนกัน เพราะอย่างน้อยๆ ก็สะท้อนให้เราเห็นว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจและบทบาทในวงการศึกษาไทยเองก็รับรู้ และสนใจในประเด็นนี้เหมือนกัน หลังจากประเด็นนี้ถูกส่งเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกกันมาสักพักใหญ่ๆ แล้วทั้งจากนักวิชาการ รวมถึงนักเรียนเอง
ปัญหาการแพ้คัดออกในระบบการศึกษาไทย
เวลาพูดถึงปัญหาการศึกษาไทย หนึ่งในเรื่องใหญ่ที่พยายามจะแก้ไขกันมายาวนานแล้วก็คือเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในระบบการศึกษา ที่ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างนักเรียนที่เข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา กับ นักเรียนที่เข้าไปไม่ถึงทรัพยากรเหล่านั้นถูกถ่างออกมาห่างจากกันขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น เมื่อเด็กกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยเขาเติมเต็มความรู้ที่ขาดหายจากห้องเรียน รวมถึงการที่ครอบครัวจะมีเงินเพียงพอที่จะส่งลูกๆ ไปเรียนกวดวิชา เพื่อสามารถแข่งขันกับนักเรียนคนอื่นๆ ในการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย
ในทางกลับกัน เราคงปฏิเสธได้ยากว่า ยังมีนักเรียนอีกจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร เทคโนโลยี หรือสถาบันกวดวิชาเหล่านั้นได้ ภาพความแตกต่างแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้เราเห็นถึงช่องว่างระหว่างนักเรียนที่มี ‘ทุน’ และไม่มี ‘ทุน’ ในการเล่าเรียนอย่างเท่าเทียมกัน
มิหนำซ้ำ เด็กที่ไม่มีทุนจำนวนมากในสังคมเรา ก็มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะหลุดออกไปจากระบบการศึกษาไทย ทั้งจากเหตุผลเรื่องฐานะทางครอบครัว รวมถึงบริบททางสังคมที่พวกเขาอยู่
เลือกพูดถึงความสำเร็จ แต่ซุกปัญหาไว้ใต้พรม?
เมื่อปัญหาเป็นเช่นนั้น วัฒนธรรมการติดป้ายโชว์ผลงานของนักเรียนที่สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดังๆ ได้จึงถูกตั้งคำถามมาอย่างต่อเนื่องว่า โรงเรียนกำลังหลับตาข้างเดียวพูดถึงความสำเร็จของนักเรียนกลุ่มหนึ่ง แต่หลงลืมนักเรียนอีกกลุ่มที่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะก้าวไปสู่จุดนั้นได้หรือเปล่า?
ครูคนหนึ่งเล่าให้กับเราฟังว่า เขาเองก็เคยเป็นหนึ่งในครูที่ถูกมอบหมายให้ทำป้ายโชว์ผลงานของนักเรียนมาก่อน แต่ทำได้ไปสักพักหนึ่ง เขาก็ตัดสินใจถอนตัวออกมาจากงานนี้ เพราะคิดว่านี่คือสิ่งที่ไม่เหมาะสม และเป็นการตอกย้ำปัญหาในระบบการศึกษา ณ ปัจจุบัน
“ผมไม่เคยเห็นด้วยกับการทำป้าย จนต้องมาทำป้ายเอง เพราะเขาบังคับให้ทำ แต่ตอนนี้เลิกทำไปแล้ว เพราะรู้สึกว่าไม่ค่อยโอเค มันเหมือนเชิดชูหนึ่งคน แต่กำลังลงโทษคนที่เหลือ ซึ่งคนที่เหลือไม่ได้ทำผิดอะไรด้วยซ้ำ เขาแค่ไม่ได้ไปประกวด หรือแค่ไม่ได้อยู่ในสายตาของครูที่พาเขาไปประกวดแข่งขันงานต่างๆ”
ครูคนนี้เชื่อว่า วัฒนธรรมการติดป้ายโชว์ผลงานของนักเรียน สะท้อนเลือกมองเพียงแค่ความสำเร็จ แต่ละทิ้งคนที่เหลือออกไป
“มันสะท้อนว่าสังคมเรายอมรับแค่คนเก่ง ไม่ยอมรับคนที่ไม่เก่งพอที่จะขึ้นป้ายได้ คนที่ขึ้นป้ายมีกี่คนในโรงเรียน สรุปแล้วทั้งโรงเรียนอาจรอดสิบคน แต่อีกร้อยคนถูกซุกเอาไว้ใต้พรม พอเราทำสิ่งนี้ขึ้นมา มันเลยกลายเป็นว่าคนที่เหลือคือปัญหาเฉยเลย แต่ความจริงแล้ว เขาเป็นปกติด้วยซ้ำ บางคนมีความสุขกับการร้องเพลงในห้อง อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นคนเก่งเหมือนกัน”
สอดคล้องกับที่ อ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยอธิบายให้เราฟังถึงประเด็นนี้เอาไว้ว่า
“เราจึงเห็นโรงเรียนจำนวนมากในบ้านเรา เวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัยเสร็จจะมีป้ายไวนิลติดไว้หน้าโรงเรียน บอกเลยว่าใครเรียนที่ไหนอย่างไร คำถามคือ คุณมีเด็กสักพันกว่าคน เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สัก 250 คน อีกพันคนไปไหน โรงเรียนเผชิญความจริงไหมว่าเด็กพันคนไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย
“โรงเรียนบอกได้ไหมว่า เตรียมความพร้อมเขาดีพอแล้วเพื่อให้เขาอยู่ในสังคมนี้ได้ จบแค่วุฒิ ม.6 จะทำงานยังไง เงินเดือนยังได้ไม่เท่าเด็กจบสายอาชีวะ ปวช.3 เลย แถมส่วนใหญ่พอเรียนสายสามัญก็ไม่ได้เรียนวิชาอาชีพเลย แล้วเขาจะอยู่จะเอาตัวรอดในสังคมนี้อย่างไร
“เราจัดการศึกษาไม่ตรงไปตรงมา เราเลือกพูดเฉพาะด้านที่พอเห็นความสำเร็จ แต่ด้านที่เป็นปัญหายังมีอยู่อีกมากที่เราไม่เอาจริงเอาจังในการแก้ไข แต่เรากลับซุกปัญหาเอาไว้ใต้พรม”
นิยามความเป็น ‘เด็กเก่ง’ ที่ถูกวัดเพียงแค่ผลทางวิชาการ
วัฒนธรรมการติดป้ายโชว์ผลงานนักเรียน ยังสะท้อนให้เราเห็นถึงภาพของการนิยามการเป็น ‘เด็กเก่ง’ ในสังคมไทยเราด้วยเหมือนกัน
ที่ผ่านมา ระบบการศึกษาไทย รวมถึงครูหลายๆ คนมักจะนิยามความเก่ง และการเป็นคนเก่งของนักเรียน โดยผูกติดอยู่กับความเก่งในเชิงวิชาการเป็นหลัก (ในขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังทำให้เด็กหลายคน ไม่สามารถพัฒนาตัวเองเข้าถึงความเก่งตามนิยามนั้นได้)
ยังไม่นับรวมว่า การจะเป็น ‘เด็กเก่ง’ ในนิยามความเป็นเลิศทางวิชาการนั้น ยังถูกตีกรอบว่าต้องสอบให้ติดในบางคณะเท่านั้น เช่นคณะสายวิศวกรรม หรือคณะสายแพทย์
ในบทความของ Voice Online ชื่อ อนาคตของ ‘เด็กธรรมดา’ ในสังคมที่ให้ค่าแต่ ‘เด็กเก่ง’ ได้มีความเห็นของ นายแพทย์ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ นักจิตวิทยาที่พูดถึงผลกระทบของการให้คุณค่ากับเด็กเก่งในนิยามความเก่งเชิงวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว
นายแพทย์ ประเสริฐ มองว่า นอกจากมันจะเป็นการตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทยแล้ว ปัญหาที่น่ากังวลอีกอย่าง คือการทำให้คนที่ต้องพ่ายแพ้ในการศึกษาจะสูญเสียความภูมิใจในตัวเองไป
“คนแพ้มีมากกว่าคนชนะแน่นอน คนแพ้ทั้งหมดถูกทำลายสิ่งที่เรียกว่า เซลฟ์เอสตีม (Self- Esteem) ความรัก ความภูมิใจ ความมั่นใจในตัวเอง นิยามที่ดีกว่าคือ ความสามารถที่จะลิขิตชีวิตของตัวเอง เด็กไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กที่เรียนไม่เก่ง ไม่มีความสามารถจะลิขิตชีวิตตัวเอง เขารู้อยู่ว่าพ่อแม่มีเงินเท่านี้ จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่ากวดวิชาคอร์สละ 5,000” นายแพทย์ ประเสริฐ ระบุผ่าน Voice Online
ปลดป้ายอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ?
เมื่อปัญหาในการศึกษาไทยมีทั้งความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเด็กยากจนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากร และการนิยามความสำเร็จทางการศึกษาที่เน้นด้านวิชาการมากจนเกินไป ประเด็นเหล่านี้ ก็เลยยิ่งทำให้ข้อเสนอเรื่องการยกเลิกการทำป้ายโชว์ผลงานของนักเรียนดูมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
แต่คำถามคือ เพียงแค่การปลดป้ายแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่พอต่อการแก้ปัญหาที่ถูกสะสมกันมาอย่างยาวนาน
หรือจะพูดอีกทางก็คงจะได้ว่า ป้ายโชว์ผลงานมันเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งในระบบการศึกษาไทย โดยปัญหาที่ลึกลงไปมากกว่านั้น คือการพยายามลดช่องว่างระหว่างนักเรียนให้ได้มากขึ้น
รวมถึงการร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างนิยามคำว่า ‘ความสำเร็จ’ ในการศึกษากันเสียใหม่
อ้างอิงจาก
http://www.voicetv.co.th/read/LunekFCA2
https://www.the101.world/prasert-interview-early-childhood/
https://mgronline.com/qol/detail/9620000005113