นักเรียนถูกตี ถูกตัดผม ถูกคุกคาม เนื้อหาการศึกษาที่ล้าสมัย ไม่ไปกับกระแสโลก และตอกย้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำ ประเด็นในโรงเรียนเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราเห็น และสะท้อนความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยให้เราได้เห็นกันตลอด
แต่ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฏการณ์ของนักเรียนในหลายโรงเรียน ที่จัดการชุมนุม ชูสามนิ้วระหว่างร้องเพลงชาติ เพื่อยืนยันว่า พวกเขาจะต่อสู้กับระบบการศึกษาที่ไม่เป็นธรรม ที่กดขี่พวกเขา และต้องการการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอย่างแท้จริง ซึ่งในวันนี้ (5 กันยายน 2563) ที่บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ‘กลุ่มนักเรียนเลว’ และแนวร่วมนักเรียนอีก 50 โรงเรียน ก็ได้จัดการชุมนุมในชื่อว่า #หนูรู้หนูมันเลว
นักเรียนเหล่านี้ ได้เสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่
1) หยุดคุกคามนักเรียน
2) ยกเลิกกฎระเบียบในโรงเรียนที่ล้าหลัง
3) ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ
ภายใต้เงื่อนไข ถ้าทำไม่ได้ขอให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการลาออกไป
ซึ่งนอกจากกิจกรรม การปราศรัยต่างๆ แล้ว ช่วงไฮไลท์ของวันนี้ ยังมีเวทีดีเบทของ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และน้องมิน ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว โดยมีครูทอม จักรกฤต โยมพยอม เป็นพิธีกร ที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างได้มาถามตอบ ถกเถียงพูดคุยถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อนี้ และชี้แจงในมุมของนักเรียน และผู้รับผิดชอบในตำแหน่ง ว่าแต่ละฝ่ายคิดถึงปัญหาพวกนี้ และจะหาทางออกกับประเด็นเหล่านี้อย่างไร ซึ่ง The MATTER สรุปการดีเบทบนเวทีมาให้แล้ว
หยุดคุกคามนักเรียน
รมต. ณัฏฐพล ได้ขึ้นเวทีดีเบท พร้อมการพูดคุยถึงประเด็นแรกในข้อเรียกร้อง คือเรื่องของการ ‘หยุดคุกคามนักเรียน’ ซึ่งณัฏฐพล ระบุว่า ทุกวันนี้ มี 109 โรงเรียน ที่มีปัญหาเรื่องการคุกคามอยู่ จากการร้องเรียนมา โดยเขาชี้ว่า ครูใน 109 โรงเรียนนี้ ยังไม่เข้าใจ ถึงการแสดงออกของนักเรียน แต่ยังมีครูอีก 5 แสนคนที่เข้าใจ และพยายามบริหารจัดการเรื่องนี้ ซึ่งท่าน รมต.ย้ำว่า “ครูที่ไม่เข้าใจคือครูจำนวนน้อยเท่านั้น”
รมต.ศึกษา ชี้แจงว่า ที่เขามองว่ามีครูจำนวนน้อยที่ไม่เข้าใจ เพราะว่าทุกวันนี้ ประเด็นที่ร้องเรียนก็มีน้อยลง แต่ถ้ายังมีก็ยินดีที่จะให้ส่งกันมาได้ในช่องร้องเรียนต่างๆ ซึ่งถ้ามีมากกว่านั้น ก็พร้อมที่จะจัดการ
“เรื่องที่คุยในวันนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องที่เราไม่คุ้นเคยในประเทศไทย” ณัฏฐพล กล่าว
ขณะที่ ด้านของน้องมิน ลภนพัฒน์ โต้แย้งว่า “ต้องพูดว่าการคุกคามนักเรียน ไม่ใช่แค่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แต่หมายถึงการตีนักเรียน ทำร้าย ลงโทษอย่างไม่สมเหตุสมผล เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ นักเรียนก็ถูกตีมา 10 ปีแล้ว” และเมื่อย้อนกลับไปถึงเรื่อง 109 โรงเรียนนั้น เป็นการรวบรวมเรื่องร้องเรียนจากองค์กรเดียว ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะมีมากกว่านี้ก็ได้ด้วย
น้องมินมองว่า กระทรวงศึกษาฯ ต้องมีศักยภาพในการปกป้องโรงเรียนได้มากกว่านั้น ด้วยวิธีการ ‘การประเมินโรงเรียน’ เพื่อดูว่ายังมีโรงเรียนที่ยังคุกคามนักเรียนอยู่หรือไม่ มากกว่าการรอคอยรับเรื่องร้องเรียนอย่างเดียว ทั้งมินยังมองว่า กระบวนการในการร้องเรียนไม่มีประสิทธิภาพ มีเรื่องความปลอดภัยของคนร้องเรียน กระทรวงควรแสดงความใส่ใจในการลงพื้นที่ตรวจสอบ
“การประเมินโรงเรียนไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่มันกลายเป็นวัฒนธรรมผักชีโรยหน้า ที่พอมีการประเมิน ครูถึงมาแก้ไขในวันนั้น แต่ถ้าการประเมินเป็นไปอย่างแท้จริง ก็เป็นวิธีที่น่าสนใจในการปกป้องนักเรียน” น้องมินเสนอ ทั้งยังเล่าว่า เคยเสนอเรื่องนี้ไปกับทางนิติการของกระทรวงแล้ว แต่ได้รับคำตอบว่า ทำไม่ได้ เพราะโรงเรียนมีเยอะเกินไป ซึ่งทำให้เขามองว่า ถ้าเรื่องอื่นประเมินได้ จริงๆ แล้วการประเมินเรื่องการคุกคามนักเรียนก็ควรจะทำได้ด้วย
รมต.ณัฏฐพล ยืนยันว่า เขาต้องการแก้ไขทุกปัญหา แต่ก็ไม่ใช่ว่าการคุกคามจะหายไปเลยได้ โดยเขายกตัวอย่างว่า เรื่องคุกคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศ มีมาหลาย 10 ปี ที่ผ่านมาครูที่คุกคามไม่เคยโดนไล่ออก แต่ในระหว่างการดำรงตำแหน่งของเขา 6 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการจัดการครูที่ล่วงละเมิดทางเพศไปรวมแล้ว 15 ราย ซึ่งเขาเองก็ยอมรับว่า การแก้ปัญหานี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
“ต้องมีการจัดกระบวนการใหม่ เรากำลังพูดถึงครู 5 แสนคน กับนักเรียน 10 ล้านคน ผมก็อยากจะเปิดสวิชต์เลย แต่เราต้องมาพูดความจริง ผมอยากจะแก้ทั้งหมด แต่แก้ไม่ได้ เลยต้องเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน โดยที่ไม่ต้องกังวลถึงครู ผู้ปกครอง โดยตรง ให้ส่งมาได้ แต่ช่องทางเหล่านั้น ทางครู หรือผู้ปกครอง ก็ส่งมาได้ เช่นกัน ต้องแฟร์กับทุกฝ่าย” รมต.ศึกษาระบุ
ในช่วงที่ผ่านมา ในกระแสโลกโซเชียลเอง เราก็ได้เห็นคลิปครูคุกคามเด็กมากมาย ไปถึงวิดีโอที่ครูลงคลิปการทำโทษนักเรียนผ่านแพลตฟอร์มอย่าง TikTok ซึ่งครูทอม จักรกฤต ในฐานะพิธีกร ก็ได้ถาม รมต.ศึกษาว่า ท่านเคยเห็น หรือรับรู้สถานการณ์เหล่านี้หรือไม่ ซึ่ง รมต.ณัฏฐพล ก็ตอบว่า ถ้าส่งมาก็จะจัดการและแก้ปัญหาให้ด้วย รวมถึงทุกครั้ง ก็ได้มีการจัดการหาว่า คลิปมาจากไหน จากใคร ซึ่งที่ผ่านมา ก็หาได้ 100%
รวมถึงในประเด็นปัญหาที่มีโรงเรียนห้ามนักเรียนเผยแพร่สิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนั้น รมต.ก็ตอบว่า ไม่ควรจะซุกปัญหาไว้ แต่ต้องเอาปัญหามาคุยกัน
“เราซุกหลายๆ อย่างไว้ใต้พรมมากเกินไปแล้ว เราต้องยอมรับความจริง ถ้าจะเผยแพร่เกี่ยวกับการกระทำไม่ดีของบุคลากรทางการศึกษา ก็ส่งมา พร้อมรับฟัง ครูดีๆ ก็มี ต้องสนับสนุนกันและกัน อะไรที่ดีอยู่แล้ว ก็ดีต่อไป อะไรที่เป็นปัญหา เอามาวาง และเอามาแก้”
ครูทอมยังถามต่อถึงเหตุการณ์เกิดขึ้นที่บางโรงเรียนมีการชุมนุม และพบว่ามีบุคคลภายนอกเข้ามาในโรงเรียน ซึ่งอาจมีลักษณะการคุกคามนักเรียนได้ ซึ่งคำถามนี้ รมต.ก็ได้ตอบว่า แต่โรงเรียนก็มีกฎของแต่ละโรงเรียน และถ้ามีบุคคลภายนอกเข้าไปนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า เขาเข้าไปทำอะไร ถ้ามีการเข้าไปตรวจยาเสพติด หรือสิ่งผิดกฎหมาย เขาก็ควรจะเข้าไปตรวจได้ด้วย
ในข้อเสนอนี้ น้องมินยังได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ครูตบหน้านักเรียนในโรงเรียน จ.ยโสธร ซึ่งกระทรวงได้มีการจัดการ แต่พบว่าครูคนนี้มีประวัติทำร้ายนักเรียนมาก่อนแล้ว ซึ่งในตอนนั้นแค่มีการขอโทษ และยังให้ครูกลับมาสอนได้จนเกิดคดีอีก น้องมินเองก็ได้วิจารณ์มาตรการการจัดการกับครู และย้ำว่า “ท่านต้องปกป้องเรา ไม่ให้ถูกคุกคามแต่แรก”
ยกเลิกระเบียบที่ล้าหลัง
ประเด็นการยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง น้องมินชี้ว่า เป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องมากับปัญหาแรก ซี่งพอมีเด็กที่ไม่ทำตามกฎระเบียบได้ ก็จะถูกคุกคาม ซึ่งแม้ว่า ล่าสุด กระทรวงศึกษาฯ จะออกระเบียบทรงผม ให้นักเรียนสามารถไว้ผมยาวได้ แต่ระเบียบนั้นก็ยังไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กับทุกโรงเรียนด้วย ยังมีบางโรงเรียนทำโทษนักเรียนทั้งๆ ที่กระทรวงออกระเบียบใหม่แล้ว ทั้งระเบียบบางอย่าง เช่นระเบียบยกเลิกการตี ก็เกิดจากการที่ผู้ปกครองไปฟ้องศาล และศาลออกเป็นคำสั่งมา กระทรวงถึงออกกฎมาปกป้องนักเรียน ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเช่นกัน
น้องมินยังชี้ว่า กระทรวงศึกษาธิการทำเหมือนจะปกป้องนักเรียน แต่ถ้านักเรียนลงจากเวทีไปแล้ว ก็อาจจะถูกคุกคามอีกได้ “จริงๆ นักเรียนแนวร่วมมีมากกว่า 50 โรงเรียน แต่บางแห่งโรงเรียนไม่ให้เข้าร่วม นี่เป็นชีวิตประจำวันที่นักเรียนต้องเจอ รวมถึงระเบียบวินัยที่ล้าหลัง ที่ไม่รู้จะมีทำไม ต้องมาดูเหตุผลของการกระทำสิ่งนั้นๆ ว่าทำแล้วมันส่งเสริมการมีระเบียบวินัยจริงไหม”
ในส่วนนี้ รมต.ณัฏฐพล ก็ยอมรับว่า ระเบียบบังคับในแต่ละโรงเรียนยังไม่มีประสิทธิภาพบังคับใช้กับทุกโรงเรียนนั้น ก็เป็นเพราะว่า กระทรวงฯ ไม่ได้เข้มงวดพอ แต่ รมต.ก็ยืนยันว่า เรื่องระเบียบวินัย ความปลอดภัย สุขลักษณะ เป็นเรื่องที่กระทรวงจะให้ความสำคัญ และจะยอมไม่ได้
ท่านได้เล่าว่า ที่ผ่านมามีปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ไม่มีการไล่ออก เพราะครูรู้จักผู้ปกครอง มีการเจรจา ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ทุกวันนี้ เราไม่ยอมความ ซึ่งก็ยอมรับว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเช่นกัน แต่ต้องไล่ไปตั้งแต่ต้นว่า ผอ.โรงเรียน และศึกษาธิการแต่ละที่ไม่ปฏิบัติ เรื่องละเมิดทางเพศ ยาเสพติด จะอยู่ในโรงเรียนไม่ได้ แต่ท่านก็ย้ำว่า ทุกวันนี้ กระทรวงฯ ได้ใช้เวลาในการตรวจสอบ และจัดการปัญหาที่น้อยลง ไม่ยืดเยื้อเหมือนแต่ก่อนด้วย
มิน ยังชี้ให้เห็นปัญหาของระเบียบที่ล้าหลังอีกว่า เป็นการตีตรานักเรียน ไม่ว่าจะทรงผม หรือยูนิฟอร์ม ซึ่งล้วนแต่เป็นทัศนคติ สิ่งที่ผู้ใหญ่อยากเห็น เช่น กรณีสโลแกนของชุดนักเรียนยี่ห้อหนึ่ง ที่ใช้คำว่า ‘ชุดนักเรียน ใส่… เท่เสมอ’ ซึ่งมินได้ตั้งคำถามว่า สรุปแล้วชุดนักเรียนนั้น เป็นการใส่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หรือความเท่ รวมถึงดีเทลของยูนิฟอร์ม ซึ่งปกติแล้วทางโรงเรียนต้องส่งดีเทลเหล่านี้ให้ทางกระทรวง ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหา เพราะบางโรงเรียนดีเทลถึงเนื้อผ้า สีผ้า ที่เป็นระเบียบที่ละเอียดเกินไป
ทาง รมต.ก็ได้ตอบคำถามในเรื่องของชุดนักเรียนว่า ท่านมองว่ายังต้องมีชุดนักเรียน เพราะ 1) ปัญหาเรื่องความปลอดภัย ซึ่งท่านบอกว่า ถ้าเด็กออกจากโรงเรียน แล้วไม่ใส่ชุดนักเรียน จะไม่รู้เลยว่าใครเป็นใคร พร้อมยกตัวอย่างการชุมนุมนี้ว่า ทำให้แยกออกได้ว่า ใครเป็นนักเรียน ใครเป็นประชาชน ซึ่งหากเกิดเหตุอันตราย จะได้สามารถปกป้องนักเรียนได้ก่อนด้วย
ส่วนประเด็นที่ 2) เรื่องของความเหลื่อมล้ำ ซึ่ง รมต.มองว่า หากใส่ชุดไปรเวทแล้ว จะเกิดการอวดของ อวดแฟชั่นกันได้ ซึ่งในเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่มีหลากหลายความเห็น
ในเรื่องของชุดนักเรียน และความปลอดภัย ทางน้องมิน และครูทอมเอง ก็ได้เห็นแย้งกับ รมต.ศึกษา โดยชี้ว่าที่ผ่านมา มีนักเรียนมากมายที่ถูกกระทำในคราบชุดนักเรียน มีการทำร้ายร่างกายนักเรียน แม้จะใส่ยูนิฟอร์ม รวมไปถึงชุดนักเรียนที่ยิ่งเป็นเป้าหมายด้วย “ชุดนักเรียนไม่ใช่เสื้อเกราะ ไม่สามารถทำให้นักเรียนปลอดภัยได้” น้องมินกล่าว
ถึงแม้ว่าหลายฝ่ายจะเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญ แต่ รมต.ณัฏฐพล ก็มองว่าเรื่องเครื่องแต่งกาย ยังไม่ใช่ปัญหาสำคัญอันดับแรกๆ ที่ต้องแก้ไข แต่เรื่องของการปฏิรูปการศึกษา เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมาเป็นอันดับต้นๆ รวมถึงเรื่องกฎระเบียบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทางกระทรวงเองก็มีทีมงานที่กำลังปรับปรุง เพื่อให้ทันสมัย
แต่เมื่อถูกถามว่า ในทีมนั้นมีคนรุ่นใหม่หรือไม่ รมต.เองก็ปฏิเสธว่า “ยังไม่มี” แต่ถ้าน้องๆ อยากมีส่วนร่วม ก็ไม่มีปัญหาอะไร ในส่วนที่มีมีการทำประชาพิจารณ์ ก็มีน้องๆ เป็นตัวแทนได้ แต่ รมต.ก็ย้ำว่า จะพยายามปรับ แต่ต้องคำนึงถึงคุณครูในโรงเรียนด้วย เพราะครูก็ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเช่นกัน
นอกจากเรื่องเครื่องแบบแล้ว ตัวแทนนักเรียนยังถาม รมต.ถึงเรื่องของทรงผม ที่ตอนนี้แม้ว่าจะมีเสรีให้นักเรียนไว้ผมยาวได้แล้ว แต่ถ้าหากว่า นักเรียนหญิงอยากไว้ผมสั้น หรือนักเรียนชาย หรือนักเรียน LGBT อยากไว้ผมยาวนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้หรือไม่ ซึ่ง รมต.ก็ตอบทันทีว่า ยังไม่ไปถึงจุดนั้นได้
“ยังไม่ได้ แต่จะมาดูกฎกันต่อจากนี้ ถ้าน้องอยากจะไว้ผมยาว ก็อาจจะมีหลายคนที่ไม่อยากให้มีสิ่งนั้นในโรงเรียนก็ได้ ต้องมาดูว่า เราพร้อมตรงนั้นเมื่อไหร่” ทั้งยังยกตัวอย่างว่า ตอนนี้ ครม.ก็มีการผ่าน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมแล้ว ซึ่งก็ถือเป็นจุดเริ่มต้น แต่ทางน้องมินก็แย้งว่า พ.ร.บ.ที่ผ่านไปนั้น คือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งไม่เท่ากับ สมรสเท่าเทียม ขณะที่ ณัฏฐพล ก็อธิบายว่า เมื่อเข้า ครม. ก็เพิ่มเป็นสมรสเท่าเทียมได้
นักเรียนถาม – รมต.ตอบ
นอกจากการพูดคุยถึงข้อเรียกร้องแล้ว บนเวทียังมีช่วงถาม-ตอบ จากคำถามของนักเรียนในที่ชุมนุม ซึ่งเป็นการสุ่มให้ท่าน รมต.หยิบคำถามขึ้นมา โดยคำถามแรกนั้นถามว่า “ท่านคิดว่า ระบบการศึกษาสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองใคร ?”
รมต. ณัฏฐพล ได้ตอบคำถามนี้ว่า “ถ้าวันนี้คิดว่าการศึกษาไม่ตอบสนองนักเรียน ก็ต้องร่วมกันทำ พยายามจะทำให้เกิดให้ได้ คำตอบผมชัดเจน ถ้ายังไม่ตอบสนอง ผมก็คิดเหมือนกัน ดังนั้นเรามาช่วยกัน เพราะนักเรียน คืออนาคตของประเทศ”
คำถามที่สองนั้น ถามว่า “ลูกเสือ และรด. เรียนไปเพื่ออะไร” ซึ่ง ณัฏฐพล ได้ตอบว่า “ความเห็นส่วนตัว กิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมอย่างนึง มีทักษะที่เราเรียนลูกเสือ เนตรนารี และ รด. โดยสิ่งที่หลายคนก็อาจจะมองว่าไม่มีประโยชน์ หลายคนก็มองว่ามีประโยชน์”
สุดท้ายแล้ว พิธีกรได้ให้ช่วงเวลา รมต.ศึกษาได้กล่าวอะไรถึงนักเรียนที่มาชุมนุม ซึ่งท่านก็ได้กล่าวส่งท้ายว่า
“วันนี้เราเปิดเวทีในหลายรูปแบบในการรับฟังความคิดเห็น ถ้าขอได้ เราไม่มีความจำเป็นต้องอยู่บนเวที สร้างความกดดันแบบนี้” ทั้งถ้าพูดถึงเรื่องทำให้ประเทศมีศักยภาพ ท่านเอาอดีตมาพูดได้ แต่อดีตที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จ วันนี้เป็นโอกาส อย่างน้อยผมรับฟังจากท่าน ครู ผู้ปกครอง ที่ทำให้การศึกษาดีขึ้น