ตำแหน่งเด็กฝึกงานสามารถเป็นได้ทั้งเซียนกาแฟ—จำได้ว่าพี่คนไหนดื่มอะไร เพราะไปซื้อให้ทุกวัน—เป็นโปรด้านเอกสาร ออกมาจากเครื่องถ่ายเอกสารร้อนๆ แล้วพร้อมไปเสิร์ฟให้พี่ๆ ทุกแผนก และเป็นได้อีกหลายอย่างที่พี่ๆ ต้องการให้เป็น แต่อาจไม่ได้เป็นคนทำหน้าที่ที่สมัครมานี่สิ ไหนใครเคยเจอประสบการณ์แบบนี้กันมาบ้างหรือเปล่า?
‘เด็กฝึกงาน’ คือคนที่ยืนอยู่ระหว่างสองวัย จากเด็กวัยรุ่นวัยเรียนเข้าสู่วัยทำงานอย่างเต็มตัว เป็นช่วงวัยแห่งการเปลี่ยนผ่านอีกหนึ่งก้าวของชีวิต การฝึกงานคือการก้าวเข้าไปในออฟฟิศที่หลายๆ คนมาทำงานในฐานะพนักงาน ในขณะที่เด็กฝึกงานมาในฐานะของนักศึกษา ถึงอย่างนั้น เราก็มาเพื่อซ้อมลงสนามจริงในการทำงานเช่นกัน ทั้งความรู้ที่จะได้รับ วิธีการทำงาน รวมถึงชีวิตที่ก้าวเข้ามาในโลกของการทำงานแล้วจากพี่ๆ ที่นั่งเป็นพนักงานอย่างเต็มตัวคือภาพในหัวที่เด็กฝึกงานต่างวาดภาพไว้ … แต่ในโลกความจริง มันอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอ
แม้จะฝึกงานแต่ก็ต้องเจอปัญหาต่างๆ ในการทำงาน ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างการปรับตัว เรื่องหน้าที่ในการทำงานที่อาจถูกย้ายไปทำหน้าที่อื่น ไม่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในข้อตกลง หรือทำงานหนักจนเกินไปโดยไม่ได้ค่าตอบแทน ไปจนถึงเรื่องคอขาดบาดตาย อย่างอุบัติเหตุในการทำงาน ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานไปจนถึงเสียชีวิต
เมื่อเกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น หลายคนคงนึกภาพว่าบริษัทก็ต้องรับผิดชอบไปตามระเบียบ แต่บางกรณี บริษัทบางแห่งหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่มีใครมาเอาผิดอะไรได้ นั่นเพราะคำว่า ‘เด็กฝึกงาน’ ‘นักศึกษาฝึกงาน’ ไม่ได้ถูกคุ้มครองในฐานะลูกจ้างตาม พรบ. คุ้มครองแรงงาน ด้วยซ้ำ
เมื่อเข้าไปนั่งทำงาน แต่ไม่อยู่ในนิยามของลูกจ้าง จึงทำให้พวกเขาตกรถ ไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ ตั้งแต่แรก ปัญหาที่ตามมาอย่างการถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำงาน ค่าตอบแทน วันหยุด วันลา ฯลฯ จึงเป็นปัญหาที่เหล่าเด็กฝึกงานไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งพาใคร เราเลยได้เห็นข่าวนักศึกษาฝึกงานเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน นิ้วขาด แขนขาด ไฟดูดเสียชีวิต ไปจนถึงคำบ่นและเรื่องราวอันน่าท้อแท้บนโซเชียลมีเดีย
ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าและไม่ได้รับการแก้ไขเหล่านี้ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเด็กฝึกงานก็ยังคงไม่ใช่ลูกจ้างตามกฎหมาย จะไปเอาผิด ไปทวงถามความรับผิดชอบก็ไม่ได้ประโยชน์เท่ากับลูกจ้างอยู่ดี แม้จะมานั่งทำงานเหมือนกันก็ตาม
ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการจึงรวมกับอีกหลายหน่วยงานในภาคี ผลักดันให้เด็กฝึกงานได้มีตัวตนขึ้นมาในกฎหมายบ้าง เพื่อให้ความคุ้มครองและรักษาสิทธิประโยชน์ที่พวกเขาควรได้ ในฐานะลูกจ้างคนหนึ่งนั่นเอง โดยการขับเคลื่อนของหน่วยงาน ด้วยการยื่นข้อเสนอการยกระดับการฝึกงานในประเทศไทย มีทั้งหมด 6 ข้อ ดังนี้
- ผลักดันให้เกิด พระราชบัญญัติการฝึกงาน
- นายจ้างจะต้องทําประกันคุ้มครองให้แก่ผู้ฝึกงาน
- ผู้ฝึกงานสามารถเข้าร่วมสหภาพแรงงาน
- ลงทะเบียนเป็นสถานประกอบการที่สามารถเปิดรับผู้ฝึกงานได้
- มีการจัดสอบเพื่อวัดผลของผู้ฝึกงานภายหลังเสร็จสิ้นการฝึก
- โครงการค่าตอบแทนผู้ฝึกงาน คนละครึ่งระหว่างสถานประกอบการกับรัฐ
สิ่งที่น่าสนใจ คือ ข้อเสนอให้เกิด พรบ. การฝึกงาน เพื่อให้เหล่าเด็กฝึกงานได้รับความคุ้มครองทางด้านกฎหมายอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และได้รับประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น โดยในข้อเสนอ พรบ. การฝึกงานที่อยู่ในขั้นตอนของการเสนอนั้น มีรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้
- อายุของผู้ฝึกงาน มีอายุ 15 ปีขึ้นไป
- สัญญาฝึกงาน : เพื่อให้มีหลักประกันให้กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ฝึกงาน สถานประกอบการ และสถานศึกษา โดยระบุถึงรายละเอียด เช่นเดียวกับสัญญาจ้างในการทํางานจริง
- ระบุขอบเขตหน้าที่ในการฝึกงานอย่างแน่ชัดภายในสัญญา
- ระยะเวลาในการฝึกงาน ไม่น้อยกว่า 2 เดือน และไม่เกิน 1 ปี ยกเว้น นักศึกษาฝึกงานที่มีเงื่อนไขเฉพาะ
- เวลาทํางาน ไม่เกินวันละ 6 ชั่วโมง และไม่เกิน 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- เวลาพัก ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากลูกจ้างทํางานมาแล้วไม่เกิน 4 ชั่วโมง
- วันหยุดประจําสัปดาห์ ไม่น้อยกว่า 2 วันต่อสัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 5 วัน และได้รับวันประจําปี
- วันลาป่วย สามารถใช้สิทธิ์ลาป่วย โดยไม่ต้องยื่นใบรับรองแพทย์ หากไม่เกิน 3 วัน ตามพรบ. คุ้มครองแรงงาน
- ความปลอดภัยในการฝึกงาน ห้ามมิให้ผู้ฝึกงานทํางานในพื้นที่และรายละเอียดงานที่มีความเสี่ยงต่ออันตราย
- กำหนดสถานที่ห้ามฝึกงาน ได้แก่ บ่อนการพนัน สถานที่ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีผู้บําเรอปรนนิบัติลูกค้า อาบอบนวด
- ค่าตอบแทน ชั่วโมงละ 50 บาท โดยอ้างอิงจากรายได้ของพนักงานพาร์ตไทม์
- คุ้มครองผู้ถูกละเมิด ด้วยการกำหนดให้มีบทลงโทษตามกฎหมาย หากนายจ้างละเมิดผู้ฝึกงาน
จากการพูดคุยกับศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ ตอนนี้ข้อเสนอที่อยู่ในมือนั้นอยู่ในขั้นตอนของการยื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกัน มีการประชาสัมพันธ์ถึงข้อเสนอดังกล่าวต่อคนทั่วไป ทั้งสื่อประชาสัมพันธ์ สัมมนาออนไลน์ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ นอกจากการขับเคลื่อนให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ทางหน่วยงานเองยังต้องการสร้างความตระหนักให้ทั้งผู้ประกอบการ ตัวผู้ฝึกงานเอง หรือแม้แต่คนทั่วไป ยอมรับและปฏิบัติกับเด็กฝึกงานในฐานะพนักงานคนหนึ่งด้วยเช่นกัน
เพราะการเข้ามาฝึกงานในแต่ละครั้ง ไม่ใช่แค่ในมุมของผู้ประกอบการที่มอบความรู้ให้เท่านั้น แต่ในมุมของผู้ฝึกงานเองก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย อย่างค่าเดินทาง ค่าที่อยู่ น้ำพักน้ำแรงที่ตอบกลับไปในรูปแบบของการทำงานเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก
เกศนคร พจนวรพงษ์ (ไนล์) พรรคก้าวไกล
ณปกรณ์ ภูธรรมะ (ฟร้อง) ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ
Illustration by Krittaporn Tochan