เหลือบมองหน้าจอ พอเห็นแจ้งเตือนชื่อเพื่อนในที่ทำงานและเจ้านายเข้ามาทักทาย ก็อดไม่ได้ที่จะย้ายสายตาไปมองเวลาว่า ตอนนี้มันกี่โมงกันแล้วนะ? อีกครั้งแล้วสินะ ที่ฉันต้องรวบรวมลมปราณ ตอบไลน์ อีเมลเกี่ยวกับงานระหว่างเดินทางกลับบ้าน หรือต้องนั่งหาคำตอบให้ระหว่างมื้อเย็น หลายครั้งที่การคุยเรื่องงานมักไม่จบอยู่แค่ในเวลาการทำงาน จนมันแทบจะกลายเป็นสิ่งปกติไปเสียแล้ว
ในวันที่เราสามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้ตลอดเวลา เพียงแค่ปลายนิ้วก็สามารถพูดคุยกับผู้อื่นได้ เส้นแบ่งของการพูดคุยเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวจึงไม่ชัดเจน ปะปนกันมั่วไปหมด “ไม่เป็นไรหรอกน่า พิมพ์ทิ้งไว้เฉยๆ” “แค่แจ้งไว้ก่อนน่า วันทำงานค่อนเข้ามาทำ” “ถามนิดเดียวเอง ไม่ได้ให้เปิดคอมทำงานซะหน่อย” แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในเวลาส่วนตัว ข้อความทวงงานในบ่ายวันอาทิตย์ หรือห้าทุ่มวันทำงาน มันกลายเป็นเรื่องปกติได้จริงหรือ?
แน่นอนว่า ถ้าเป็นไปได้ คงไม่มีใครอยากลุกขึ้นมาคอยตอบเรื่องงานตลอดเวลา ด้วยความที่เทคโนโลยีมันช่วยให้เราติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อความแจ้งให้ทราบ โทรแบบเสียงเมื่ออยากได้คำตอบชัดเจน หรือแม้แต่วิดีโอคอลแบบเห็นหน้า การติดต่อเหล่านี้ทำได้ตลอดเวลา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราสามารถและสบายใจที่จะติดต่อกับผู้คนอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะเรื่องงานในช่วงเวลาหลังเลิกงาน ล้วนสร้างความกังวลให้ผู้รับไปแล้วทั้งนั้น พอต้องเจอแจ้งเตือน ก็เหมือนรู้แล้วว่ามีงานกำลังรอข้างหน้า หรือแม้แต่ในตอนนี้ เดี๋ยวนี้ มันคือการทำลายเวลาส่วนตัวของผู้รับนั่นแหละ ยิ่งถ้าหากทำกันจนเป็นเรื่องปกติ แล้วเราไม่สะดวกตอบเข้าสักวัน มันอาจจะกลายเป็นความผิดของเราที่ไม่ตอบไปซะงั้น
ผลการวิจัยเรื่อง ‘Killing me softly: Electronic communications monitoring and employee and spouse well-being’ ของ วิลเลียม เบ็กเกอร์ (William Becker) แห่ง Pamplin College of Business ได้กล่าวถึงผลเสียของการคาดหวังในการทำงาน โดยประเด็นที่น่าสนใจ คือ ความคาดหวังที่พนักงานจะต้องคอยตอบ คอยเช็กอีเมล แม้จะเป็นหลังเวลาเลิกงาน จนเกิดวัฒนธรรม always on ขึ้น ความคาดหวังนี้ส่งผลต่อความเครียด ความกังวล ของตัวพนักงานเอง และส่งผลถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย
ด้วยรูปแบบการทำงานที่ตอบสนองต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ นี้ ทำให้เราเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในโลกการทำงานกันมากขึ้น หากสิ่งเหล่านี้กำลังรบกวนชีวิตส่วนตัวที่พ่วงมาด้วยชีวิตการทำงานของเราอยู่ ลองมาทำความรู้จักกับ ‘Right to Disconnect’ สิทธิ์ที่จะปฏิเสธการคุยนอกเวลางาน ที่ในหลายประเทศ เริ่มมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองเหล่าคนทำงาน จากการคุยงานนอกเวลา
ประเด็น Right to Disconnect ถูกพูดถึงในวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในวันที่การติดต่อสื่อสารมันช่างง่ายดายเพียงปลายนิ้วจิ้ม ยิ่งทำให้เส้นแบ่งเวลาชีวิตทำงานและเวลาส่วนตัวมันเลือนลางหายไป สิ่งนี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อคุ้มครองชีวิตส่วนตัวและแจ้งเตือนหลังเลิกงานของเรา ไม่ให้มีเรื่องงานเล็ดลอดเข้ามาทักทายบนหน้าจอได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเพื่อติดตามงาน มอบหมายงาน หรือใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับการทำงาน ไม่ว่าจะในรูปแบบของการโทร อีเมล ข้อความ หรือติดต่อสื่อสารช่องทางอื่น
เมื่อปี ค.ศ.2012 ค่ายรถยนต์อย่าง Volkswagen เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงตั้งค่าเซิร์ฟเวอร์เอาไว้ไม่ให้อีเมลส่งไปยังพนักงานในช่วงวันหยุดและนอกเวลางาน ส่วนในเวลาทำงาน จะส่งได้แค่ก่อนและหลังเวลางานเพียง 30 นาทีเท่านั้น
หรือจะเป็นเคสอันเลื่องชื่อ 60,000 ยูโร หรือตีเป็นเงินไทยประมาณ 2 ล้านบาทเศษๆ เป็นราคาค่าเอางานไปละเมิดเวลาส่วนตัว ที่ Rentokil Initial ต้องจ่ายให้กับพนักงาน (ที่ถูกไล่ออก) คนหนึ่ง ที่อาจไม่ได้เป็นเงินมากมายอะไรนักสำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่การจ่ายค่าปรับครั้งนี้กำลังบอกว่า วัฒนธรรม always on ในออฟฟิศ ไม่ได้เป็นที่ยอมรับอีกต่อไปแล้ว
นี่อาจดูเป็นข้อตกลงในบริษัทแห่งหนึ่ง ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของพนักงาน แล้วคนอื่นๆ ล่ะ มีใครตระหนักถึงเรื่องนี้อีกไหม?
ฝรั่งเศส
จะบอกว่านี่เป็นต้นกำเนิดของ ‘Right to Disconnect’ ที่ถูกผลักดันกันอย่างจริงจังจนมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายก็ได้ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2016 รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน Myriam El Khomri ได้เสนอ ‘El Khomri law’ ที่มีไอเดียเดียวกับ Right to Disconnect ที่เรารู้จักในตอนนี้ และผ่านร่างกฎหมายในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.2016
ทั้งนี้ มันจะถูกนำไปใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละบริษัท โดยตัวกฎหมายจะเป็นเพียงการแนะแนวทางเท่านั้น ไม่ได้เป็นการกำหนดนิยามของ ‘the right’ โดยตรง ดังนั้น บริษัทจึงสามารถเลือกใช้ในทางปฏิบัติที่เหมาะกับองค์กรได้เช่นกัน
แต่ความน่าสนใจ คือ การหยิบยกเรื่องนี้และผลักดันให้เป็นกฎหมายอย่างจริงจังนั้น เริ่มต้นมาจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของประชาชนในยุคดิจิทัล ที่เราสามารถสื่อสารกันได้ทุกที่ทุกเวลา หลากหลายช่องทาง ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวไม่ชัดเจน เพราะรัฐบาลเชื่อว่า ควรมีการปรับตัวบทกฎหมายให้เข้ากับพฤติกรรมในการทำงานที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพื่อคงไว้ซึ่งสุขภาพและคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง เราเลยได้เห็น Right to Disconnect อยู่ใน ‘Adapting the Labour Law to the Digital Age’ นั่นเอง
อิตาลี
Right to disconnect มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างชัดเจนแล้ว โดยกำหนดว่า ในช่วงเวลาพักผ่อนของพนักงานนั้น จะไม่ถูกรบกวนหรือต้องติดต่อกันด้วยเครื่องมือสื่อสารใดๆ จากองค์กร โดยเป็นประเทศแรกๆ ที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายหลังจากฝรั่งเศสเพียงไม่ถึงหนึ่งปี
แคนาดา
ในรัฐออนแทริโอมีการผลักดันให้นายจ้างที่มีลูกจ้างมากกว่า 25 คน ต้องออกนโยบายที่เคารพต่อชีวิตส่วนตัวของลูกจ้าง โดยยึดหลัก Right to Disconnect ภายในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.2022 โดยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของแคนาดาได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า รัฐบาลพยายามอยางมากที่จะช่วยให้เหล่าคนทำงานมีรายได้ที่มากขึ้น มีความปลอดภัย และได้รับโอกาสที่ดีกว่าเดิม แต่นโยบายก็ยังไม่ออกมามีผลบังคับใช้กับภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาต่อไปในอนาคต
เยอรมนี
แม้จะไม่มีตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจน แต่ถือว่าเยอรมนีเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่สร้างความตระหนักเกี่ยวกับ Right to Disconnect บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งค่อนข้างให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิ์ที่จะไม่ติดต่อสื่อสารกับพนักงานในช่วงนอกเวลางาน อย่างกรณีของค่ายรถยนต์อย่าง Volkswagen เมื่อปี ค.ศ.2012 ที่เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงตั้งค่าเซิร์ฟเวอร์เอาไว้ไม่ให้อีเมลส่งไปยังพนักงานในช่วงวันหยุดและนอกเวลางาน สำหรับทำงาน จะส่งได้แค่ก่อนและหลังเวลางานเพียง 30 นาทีเท่านั้น
หรือจะเป็นบริษัทยนตรกรรม Daimler ที่ผลิตซอฟต์แวร์ ‘Mail on Holiday’ ออกมาให้กับเหล่าคนทำงาน เพื่อให้พวกเขามีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธข้อความหรือโทรศัพท์แบบอัตโนมัติในช่วงหลังเลิกงานหรือในวันหยุดของพวกเขาเอง และในปี ค.ศ.2014 มีการหยิบยกประเด็น ‘anti-stress legislation’ ซึ่งรวมถึงการพูดคุยนอกเวลางานนี้ด้วยเช่นกัน หลังจากเกิดภาวะความเครียดจากการทำงานของเหล่าลูกจ้างพุ่งสูงขึ้น
ฟิลิปปินส์
ในช่วงต้นปี ค.ศ.2017 มีการหยิบยกประเด็นการให้สิทธิ์แก่พนักงาน เพื่อตัดขาดการเชื่อมต่อจากการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการทํางานในเวลาหลังเลิกงานหรือนอกเวลาทำการ และประเด็นนี้ก็ถูกนำมาบังคับใช้ตามกฎหมายได้ในปีนั้นเอง โดยนอกจากจะกำหนดให้ พนักงานมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการติดต่อพูดคุยเรื่องงาน ในช่วงหลังเวลาเลิกงานแล้ว การปฏิเสธนี้ จะต้องไม่ถูกลงโทษหรือถูกตัดสินว่าเป็นการประพฤติมิชอบอีกด้วย
แต่ Right to Disconnect เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอยู่ว่า จะสามารถเป็นไม้บรรทัดเดียวที่ใช้ได้กับทุกการทำงานได้จริงหรือ? หากมีความจำเป็นต้องทำจริงๆ อย่าง remotely work หรือตำแหน่งที่ควรจะติดต่อได้ตลอดเวลา ควรมีการระบุไปในความรับผิดชอบของงานตั้งแต่แรกเลยว่ามีความจำเป็นต้องติดต่อได้ตลอดเวลานะ จะได้มีความเข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายแต่แรก และไม่เกิดการฟ้องร้องกันอย่างที่เล่าให้ฟังในตอนต้น
หากแจ้งเตือนที่เห็นหลังเวลางาน จะมีแต่เรื่องส่วนตัวที่ไม่ใช่งานอีกแล้ว ไม่ต้องมานั่งตอบตอนโหนรถเมล์ บนรถไฟฟ้า ระหว่างติดไฟแดง ในวันที่ทุกคนออนไลน์ ความสะดวกสบายในการสื่อสารอาจทำให้เราลืมไปว่า นี่ไม่ใช่เวลาที่ถูกต้องเท่าไหร่นัก
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart