เขาจ้างเรามาคุ้มเงินเดือนหรือเปล่านะ ลองดูงานของคนตำแหน่งเดียวกันคนเก่าที่เรามาแทนเขา ทำอะไรก็ดีไปหมด ยอดก็ปัง หัวหน้าก็รัก ตัดภาพมาที่เราที่ไม่น่าจะทำได้เท่าเขาแน่ จะอยู่รอดไหมเนี่ย
การเปรียบเทียบกันในออฟฟิศ ไม่ได้มีแค่เปรียบเทียบเรากับคนที่อยู่แผนกเดียวกัน บางครั้งเราในฐานะพนักงานใหม่ก็เผลอเปรียบเทียบตัวเองกับคนเก่า แล้วเกิดเป็นความสงสัยในใจอยู่บ่อยครั้ง การเปรียบเทียบตัวเองสรุปแล้วมันดีกับเราหรือเปล่า ทำไมคิดไปคิดมาแล้วมันน้อยใจจัง
เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่เสมอ
ไม่ว่าจะในเรื่องของการทำงาน ทักษะนอกเหนือจากการทำงาน รูปลักษณ์ภายนอก ฐานะ หรืออะไรก็ตาม เมื่อคนเราไม่มีใครเหมือนกัน การเปรียบเทียบก็ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ซึ่งทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคมของ ลีออน เฟสทิงเจอร์ (Leon Festinger) ก็หยิบเอามาใช้ได้เสมอ เขาแบ่งการเปรียบเทียบเอาไว้เป็น 2 ประเภท คือ การเปรียบเทียบกับคนที่เก่งกว่าเพื่อใช้กำหนดเป้าหมายที่เราอยากจะไปถึง และเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่าเพื่อใช้ประเมินตัวเองว่าเราอยู่จุดไหนของการพัฒนาตัวเอง
ลีออนเชื่อว่าการประเมินตัวเองอยู่เสมอนั้นสำคัญกับการมีชีวิตอยู่รอด ไม่ว่าจะในยุคแรกของมนุษย์ที่พวกเราก็เปรียบเทียบกันว่าใครที่วิ่งได้เร็วกว่าก็จะมีโอกาสรอดจากการโจมตีของสัตว์ป่าได้มากกว่า ดังนั้นมนุษย์ก็จะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในกลุ่มว่าตอนนี้เราพอจะวิ่งหนีสัตว์ป่าพ้นหรือยัง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การเปรียบเทียบตัวเองในที่ทำงานก็เป็นเรื่องปกติ
มีงานศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าการเปรียบเทียบกับคนที่เก่งกว่านั้นนอกจากจะสามารถช่วยให้เราได้ข้อมูลที่สามารถเอาไปใช้พัฒนาตัวเองแล้ว ความรู้สึกอิจฉาเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในใจ ก็สามารถใช้เป็นแรงผลักดันในเชิงบวกได้ ถ้าเราเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่เก่งขึ้นกว่านี้
เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราเปรียบเทียบ
การเปรียบเทียบจะช่วยให้เราอยากเป็นคนที่เก่งขึ้นก็จริง “คนเก่าเก่งกว่าเรา สร้างผลงานไว้เยอะเลย เราจะเก่งเท่าเขาให้ได้” จะสร้างผลงานที่ดีเหมือนกับที่เขาเคยทำเอาไว้ให้ได้ แต่มันก็มีเส้นบางๆ กั้นอยู่ระหว่างการเปรียบเทียบที่ดีกับใจ และการเปรียบเทียบที่กัดกินใจเรา ซึ่งอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเราลดลง
“นี่เราไม่เก่งเลย บริษัทจ้างเราแล้วคุ้มเงินเดือนมั้ย พี่ในทีมคงจะมองว่าจ้างเรามาทำไม หัวหน้าจะผิดหวังที่จ้างเรามาหรือเปล่า” เมื่อปล่อยให้ความคิดเหล่านี้เข้ามากินพื้นที่ในใจ ในระยะยาวเราจะเริ่มรู้สึกกับตัวเองในทางลบ แต่เหตุผลที่เราไม่ควรเปรียบเทียบตัวเองกับใคร ข้อแรกเลยคือ เราอาจจะเปรียบเทียบได้ไม่ตรงกับความจริง ซึ่งก็มีงานวิจัยสนับสนุนว่าเรามักจะตัดสินความสามารถของตัวเราเองได้ไม่ตรงกับที่เป็น
การเปรียบเทียบตัวเองกับคนเก่า มักจะเกิดขึ้นกับงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ยอดเอนเกจเมนต์คือทุกอย่าง เราตั้งใจสร้างคอนเทนต์ขึ้นมา แต่ผลตอบรับที่ได้กลับแห้งเหี่ยว แต่ทำไมคนเก่าทำอะไรก็ดีไปหมด ยอดไลก์ยอดแชร์หลายพัน หัวหน้าก็พูดถึงไม่หยุดเลย เราก็มีแนวโน้มที่จะโทษตัวเองว่าเราทำคอนเทนต์ออกมาได้แย่ แต่ในความเป็นจริงมันมีปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้อีกเยอะ
ลองก้าวออกมาจากการโทษตัวเองและเปรียบเทียบกับคนเก่า ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นอัลกอรึทึมการมองเห็นที่ปรับใหม่ ช่วงเวลาในการลงคอนเทนต์ที่ไม่มีสูตรสำเร็จ หรือสิ่งอื่นใดที่ไม่ได้เกี่ยวกับตัวเราก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำไมงานของเราถึงไม่ปัง เราก็ไม่ได้จะบอกว่าให้รำไม่ดีก็โทษปี่โทษกลองไปซะนะ แค่อยากให้ลองมองอีกมุมว่าบางครั้งไม่ใช่แค่เรื่องรำดีหรือรำไม่ดี แต่ก็เป็นเพราะมีปี่ด้วย มีกลองด้วย มีฟ้าฝนที่เป็นส่วนประกอบของงานด้วย สิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่เป็นใจกับงานของเรา แต่เราก็ไม่สามารถควบคุมมันได้
ทุกคนมีดีแตกต่างกัน
บางครั้งการเปรียบเทียบก็ทำให้เราโฟกัสแต่กับจุดอ่อนของตัวเองจนลืมจุดแข็งไป อย่าให้การเปรียบเทียบมาบดบังไม่ให้เราเห็นจุดแข็งของตัวเอง เส้นทางชีวิต ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เปลี่ยนความไม่มั่นใจของตัวเองให้กลายเป็นพลังบวกที่ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้จะดีกว่า ลองเรียนรู้จากงานที่เขาเคยทำเอาไว้ก็ได้ มานั่งแกะทีละจุดเลยว่าทำไมถึงปังได้ขนาดนี้ เขามีเทคนิคอะไรที่เราพอจะหยิบไปใช้ได้ไหม
ไม่มีใครยืนอยู่ที่เดิมตลอดไป เราทุกคนล้วนมีเป้าหมาย ตอนนี้เราอาจยังไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่กระเตื้องมาจากจุดที่เรายืนอยู่เมื่อ 3 เดือนที่แล้วสักหน่อย ลองใช้เวลากับตัวเอง ทบทวนงานของเราตอนที่เข้ามาทำงานวันแรกกับงานปัจจุบัน อย่างน้อยก็ต้องเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ลองถามตัวเองด้วยชุดคำถามประมาณว่า
- เดือนที่แล้วเราได้เรียนรู้อะไรใหม่จากงานบ้างไหม
- งานชิ้นไหนที่เคยเป็นงานที่ยากมาก แต่ตอนนี้รู้สึกว่าไม่ได้ยากขนาดนั้น
- ตอนนี้เราทำอะไรลงไปบ้างแล้ว เราใกล้ถึงเป้าหมายเข้าไปอีกนิดหรือยัง
- งานชิ้นไหนที่เราภูมิใจกับมันบ้าง
เมื่อเราสะท้อนและเช็คตัวเองบ่อยขึ้น เราจะพบว่าอย่างน้อยสิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้วันนี้ก็ทำให้ตัวเราแตกต่างจากเมื่อวานแล้ว หรืองานชิ้นไหนที่เคยยาก ถ้ามาลองทำตอนนี้มันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นนี่นา ก็ชี้ให้เห็นได้แล้วว่าเราเก่งขึ้น แล้วสักวันเราจะเก่งได้อย่างแน่นอน
ไม่ต้องกังวลไปนะ ไม่ว่าใครก็รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งได้ทั้งนั้นแหละ
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Manita Boonyong
Proofreader: Runchana Siripraphasuk