‘ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้’ รวมถึงหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นห้องสมุดที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กทม. ที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้บริการได้ฟรี ซึ่งแต่เดิมหลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันในชื่อ ‘ห้องสมุดประชาชน’ มากกว่า แต่ตั้งแต่ที่กรุงเทพฯ ได้รับเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลกในปี พ.ศ.2556 ทาง กทม.ก็พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบห้องสมุดให้น่าไปใช้บริการมากขึ้น
นอกจากการปรับปรุงหน้าตาและภาพลักษณ์แล้ว ก็พยายามนำเทคโลยีและการให้บริการต่างๆ เสริมเข้ามา เช่นสามารถยืมหนังสือข้ามเขตได้ มีห้องมินิเธียร์เตอร์ไว้ให้ดูหนัง หรือมีอินเทอร์เน็ตไว้คอยให้บริการ หากต้องการยืมหนังสือกลับไปที่บ้าน ก็สามารถสมัครสมาชิกที่มีค่าธรรมเนียมในราคาที่เอื้อมถึงได้
แต่ก็ยังมีคำถามมากมายที่หลายคนอาจจะสงสัย เช่น เมื่อไหร่จะมีห้องสมุดแถวบ้านเสียที เพราะในปัจจุบันนี้ห้องสมุดภายของ กทม.มีเพียง 36 แห่ง จากทั้งหมด 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ หรือบางคนอาจสงสัยว่าหนังสือในห้องสมุดมาจากไหน แล้วถ้าอยากให้มีหนังสือที่ต้องการเข้าไปอยู่ในห้องสมุด จะทำได้ไหม
The MATTER ไปหาคำตอบกับ คุณวัลยา วัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแม่งานใหญ่ในงานดูแลห้องสมุดของ กทม. ถึงที่มาที่ไปของการบริหารห้องสมุด และทิศทางของห้องสมุด กทม.ในปัจจุบัน
The MATTER: การเปลี่ยนจากห้องสมุดประชาชนเป็นห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ มีความแตกต่างกันตรงไหนบ้าง
แต่ก่อนจะเป็นห้องสมุดเฉยๆ อาจจะดูทึมๆ แต่เดี๋ยวนี้มีการปรับภาพลักษณ์ให้เป็นห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ อยากให้เป็นที่ที่ทุกกลุ่มอายุได้เข้ามาใช้บริการ ก็ปรับภาพลักษณ์ให้มีความโปร่งโล่งสบาย เข้ามาแล้วรู้สึกอยากอ่านหนังสือ อยากเข้ามาเรียนรู้มากขึ้น แล้วก็มีการตั้งอินเทอร์เน็ตให้ใช้งานได้มากขึ้น การยืมหนังสือก็ให้บริการได้ง่ายมากขึ้น อาจจะยืมทางออนไลน์ได้ เช่น ถ้าที่ห้องสมุดนี้ไม่มี เราก็สามารถไปหาจากห้องสมุดที่อื่นมาให้คุณยืมได้ เพราะเราลิงก์กันได้หมดนะคะ
เราอยากให้ทุกคนได้เข้าใจว่า การเรียนรู้ทำได้ตลอดชีวิต แล้วก็อยากให้นักเรียนในชุมชน หรือคนที่อยู่ใกล้ๆ สามารถมาใช้บริการของเราได้ เพราะเรามีกิจกรรมต่างๆ มากมาย
ถามว่าเราอยากจะเปิดเพิ่มมั้ย เราอยากจะเปิดเพิ่มนะคะ แต่ต้องหาสถานที่นิดนึง ต้องมีสถานที่ แต่ทุกวันนี้ก็ได้เห็นว่ามีเอกชนเปิดกันเยอะแยะแล้ว แล้วก็เรามีห้องสมุด 35 แห่ง และเพิ่งมีหอสมุดเมืองอีกที่หนึ่งที่เปิดมาเมื่อสองปีที่แล้ว อันนี้ก็ถือว่าเป็นแหล่งใหญ่ มีหนังสือเยอะแยะ มีหลายชั้น แต่ละชั้นก็มีความแตกต่างกัน
ห้องสมุดส่วนใหญ่เปิดตั้งแต่ 8.00 น. – 20.00 น. ทุกที่ปิดวันจันทร์กับวันนักขัตฤกษ์ แล้วก็มีรถห้องสมุดเคลื่อนที่อีก 5 คัน แล้วแต่ว่าโรงเรียนไหนขอมา หรือตามชุมชนที่มีงานสำคัญ
The MATTER: หนังสือในห้องสมุดมาจากไหน
เราก็จะถามความต้องการของประชาชนที่เขาใช้บริการในแต่ละพื้นที่ และมีการจัดซื้อปีละครั้ง เพราะเราต้องรวมๆ กันซื้อ ทำรายชื่อและดูความเหมาะสม หนังสือที่ได้เข้าห้องสมุดบ่อยๆ ก็คือนิตยสาร หนังสือพิมพ์ ต้องให้คนอัพเดต แน่นอนว่าแบบนี้คนเขาอ่าน
แล้วห้องสมุดบางที่ก็จะมีความเฉพาะของมัน เช่น ห้องสมุดภาษีเจริญ เป็นด้านนิทานชาดก ก็จะมีนิทานเยอะหน่อยนึง ห้องสมุดซอยพระนาง เป็นด้านวรรณกรรม ก็จะมีการซื้อวรรณกรรมเข้าไป ลักษณะนี้นะคะ มันมีความเฉพาะ มีความหลากหลาย คือห้องสมุดที่เจาะจง เช่นด้านสิ่งแวดล้อม ก็มีหนังสือสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การพัฒนาพื้นที่สิ่งแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้ เรื่องพื้นที่สีเขียว
ประชาชนสามารถมาบอกได้ว่าต้องการหนังสืออะไร เราก็จะพิจารณาตามดุลยพินิจของบรรณารักษ์ที่จะประชุมกันเพื่อคัดเลือกหนังสือประจำปี แล้วทยอยกระจายไปตามห้องสมุดแต่ละแห่ง
บรรณารักษ์เองก็จะทราบว่ากลุ่มผู้ใช้บริการของเขาต้องการอ่านหนังสือประเภทใด เพราะเห็นได้จากสถิติยืม-คืน เราก็จะนำมาจัดกลุ่มเอาไว้ ส่วนใหญ่ก็เป็นนิยาย การอ่านนิยายก็ทำให้เรามีจินตนาการเหมือนกันนะ พี่ก็ชอบอ่าน พี่ชอบอ่านหนังสือมาก
The MATTER: ธีมของแต่ละห้องสมุดมีที่มาที่ไปยังไง
ห้องสมุดที่มีธีมเหล่านี้ไม่ได้มีทุกแห่ง อย่างเช่นห้องสมุดบางบอน ใกล้สนามกีฬา ก็จะเป็นธีมกีฬา มีหนังสือเกี่ยวกับกีฬา เน้นเรื่องสุขภาพ หรือห้องสมุดที่บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์ ก็จะเป็นเรื่องของภาษาศาสตร์ เพราะจะมีนักครุศาสตร์ นักศึกษามาเรียนรู้ที่นี่มาก
ก็จะเน้นแบบนั้นน่ะค่ะ ขึ้นอยู่กับสถานที่ หรืออย่างห้องสมุดสีเขียวที่ลาดกระบังน่ะค่ะ ที่สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังมาทำให้ ก็อยู่ภายในสวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็จะมีเรื่องพลังงานต่างๆ ก็สร้างมาเพื่อเรียนรู้แต่ละอย่าง นี่ก็ธีมที่มีไว้ หรือห้องสมุดที่ลุมพินี HSCB มาปรับปรุงให้เรา ก็จะเหมาะกับเด็ก พัฒนาเด็ก มีพื้นที่ให้เด็กเรียนรู้มากขึ้น
ตอนนี้มีห้องสมุดที่มีธีมประจำทั้งหมดเก้าแห่ง (สำรวจรายชื่อห้องสมุดในกทม.)
The MATTER: งบประมาณของห้องสมุดเป็นยังไงบ้าง
มันมีทั้งงบของเจ้าหน้าที่ งบในการปรับปรุงอาคาร งบของอาสาสมัคร แล้วก็เป็นงบหนังสือบางส่วน (เราเคยพูดถึงเรื่องงบประมาณห้องสมุดไว้ที่นี่) แล้วก็มีงบกิจกรรม เราต้องจัดกิจกรรม เพราะเด็กจะเรียนเฉยๆ ไม่ได้ บางทีเด็กอนุบาลมา เด็ก ป.2 ป.3 เราก็จะสร้างกิจกรรมให้เขา มีกิจกรรมตามวันประเพณีด้วย ทั้งส่งเสริมศาสนาด้วย โดยกิจกรรมเหล่านี้จะจัดก่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยเราก็จะทั้งจัดกิจกรรม ทั้งทำบอร์ดให้ความรู้ต่างๆ
ช่วงปิดเทอมเราก็ยังมีการจัดกิจกรรมภาคฤดูร้อนด้วย เราจัดกิจกรรมให้เขามาเรียนรู้ เช่น เรามีจัดทริปให้เด็กๆ ไปเรียนรู้ที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ของการไฟฟ้าที่เปิดใหม่ที่บางกรวย เราก็จะพาเด็กๆ ไปเรียนรู้ตรงนั้นด้วย เด็กที่เป็นสมาชิกเราก็มีความใส่ใจอยากจะไปอะ เราไม่ได้บังคับ เพราะนี่เป็นแหล่งที่เขาจะได้เรียนรู้ แล้วเราก็ให้ผู้ปกครองไปด้วย
กิจกรรมแต่ละอัน เราคิดจากศูนย์กลางตรงนี้ จากสำนักวัฒนธรรมฯ แล้วก็กระจายกิจกรรมไปยังห้องสมุด 35 ห้องสมุด ดำเนินการพร้อมๆ กัน เพราะว่าห้องสมุดจะได้ไม่เหลื่อมล้ำว่าทำไมห้องสมุดนี้มี ห้องสมุดนั้นไม่มี
จริงๆ กทม.เองก็มีปัญหาหลายๆ อย่างให้ต้องแก้ เรามองว่าห้องสมุดก็สำคัญ แต่ก็มีบางเรื่องที่อาจจะสำคัญกว่าเช่นการแก้ปัญหาน้ำท่วม เขาก็ต้องทุ่มงบให้ตรงนั้นก่อน กว่างบจะมาถึงตรงนี้ก็อาจต้องใช้เวลา การจะขยายหรือปรับปรุงอะไรก็ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปก่อน
The MATTER: คนเข้าใช้บริการ ได้รับเสียงตอบรับดีไหม
คือคนที่ใช้บริการห้องสมุดรวมๆ กันต่อปีก็เป็นล้านนะ ก็ถือว่าโอเคอยู่
คือตอนนี้เพราะเรามีการให้บริการได้อินเทอร์เน็ตด้วย ก็จะมีคนเข้ามาใช้บริการอินเทอร์เน็ต มีคอมพิวเตอร์ คนที่เข้ามาใช้บริการก็อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง แต่มีเข้ามาตลอด แต่มองว่าคนอ่านหนังสือน้อยลง แต่เราก็พยายามอยากให้เขาเข้ามาเรียนรู้ตรงนี้มากขึ้น โดยใช้กิจกรรมให้เขาสนใจ แล้วใช้หนังสือประกอบ โดยเฉพาะกิจกรรมเพื่อเด็กเนี่ย เรามีเยอะมาก เช่น เรามีพิพิธภัณฑ์เด็กตรงจตุจักรกับที่ทุ่งครุ วันเสาร์-อาทิตย์มีคนเข้าไปใช้บริการประมาณ 1,400 – 1,500 คน เด็กก็จะได้เรียนรู้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการอ่านหนังสืออย่างเดียว แต่ได้จับ ได้เห็นภาพ เห็นอะไรมากขึ้น นี่ล่ะค่ะ เป็นลักษณะของการเรียนรู้ด้วย
ที่พิพิธภัณฑ์เด็กแม้จะมีหนังสือน้อยหน่อย แต่ก็เป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็ก แล้วมีกิจกรรมให้เด็กๆ เห็นเป็นภาพชัดเจน เป็นองค์ประกอบ เป็นวัตถุที่เห็นชัดน่ะค่ะ แล้วก็มีการเปิดสอนเรื่องคหกรรมด้วย สอนเรื่องการสเก็ตช์ภาพด้วย การวาดภาพ ให้เขาได้ใช้มือใช้อะไร นอกจากนี้ในห้องสมุดบางแห่งก็มีมินิเธียร์เตอร์เล็กๆ แล้วก็มีห้องสำหรับเด็กให้เขาได้ทำกิจกรรม อ่านหนังสือ ห้องสำหรับผู้ใหญ่ก็อีกที่หนึ่ง จะได้ไม่ส่งเสียงดัง รบกวนกัน เพราะบางทีเด็ก ป.1 อนุบาล เราก็จะสอนเขาอ่านหนังสือนิทาน เพื่อสร้างจินตนาการของเขา เด็กต้องสร้างจินตนาการ
ผู้ใหญ่ก็ควรอ่านนิทานเป็น เราก็มีการส่งเสริมให้บรรณารักษ์ไปเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อให้เขาได้วัดความรู้ ความก้าวหน้า ได้พัฒนาตัวเอง เพื่อกลับมาถ่ายทอดให้เด็กๆ
The MATTER: มีแผนจะพัฒนาอะไรเพิ่มเติมอีกบ้างเกี่ยวกับสังคมการอ่าน และห้องสมุดในกรุงเทพฯ
ก็มีที่ทำมาตลอดคือการดำรงเรื่องการอนุรักษ์ภาษาไทย ให้เขาได้เรียนภาษาไทยมากขึ้น มีกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมภาษาไทย เพราะปัจจุบันดูเหมือนเด็กๆ จะไม่ค่อยเก่งภาษาไทย ภาษาไทยไม่แข็งแรง เราก็มีกิจกรรมให้เขาแต่งกลอน ให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษณ์ภาษาไทยมากขึ้น เพราะเรายังต้องสื่อสารด้วยการเขียนในบางครั้ง เด็กๆ เดี๋ยวนี้เขียนไม่เก่ง อ่านเนี่ย สุ จิ ปุ ลิ นะคะ อ่าน เขียน ฟัง แล้วก็ถาม เนี่ย มันถึงจะไปด้วยกันได้ อ่านแล้วก็ต้องจด ช็อตโน้ตเป็น เขียนเป็น และถามเป็น ฟังเป็น อันเนี้ยเป็นสิ่งที่เราตั้งใจ แล้วก็จัดกิจกรรมวันสำคัญ
นอกจากกิจกรรมส่งเสริมภาษาไทย ก็มีการส่งเสริมอื่นๆ เช่น วันสันติภาพโลก ที่ห้องสมุดตรงสวนเสรีไทย ก็จะให้ความรู้เกี่ยวกับเสรีภาพโลก วันสันติภาพไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็จะจัดแบบนี้
จริงๆ สังคมการอ่านก็ควรจะเริ่มจากที่บ้าน ให้มีสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยหนังสือ ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญ สมัยพี่ พี่ก็เป็นคนซื้อหนังสือเข้าบ้านคนแรก น้องๆ ก็เลยได้อ่านด้วย พอมีหลานๆ ก็ให้เขาอ่าน เขาก็ชอบอ่านหนังสือกัน เราก็อยากทำให้เด็กๆ ได้มีสภาพแวดล้อมที่มีหนังสือรอบตัว ห้องสมุดก็อาจจะช่วยตรงนั้น
จากการพูดคุยกับทางหัวเรือใหญ่ในการดูแลห้องสมุดของกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ทำให้เห็นความพยายามในการเปลี่ยนห้องสมุดที่เคยมีภาพลักษณ์อึมครึม ให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิต แต่ปัญหาสำคัญก็ยังคงอยู่ที่งบประมาณในการบริหารห้องสมุดที่ไม่เพียงพอต่อการขยับขยายพื้นที่ รวมถึงหนังสือที่ยังต้องรองบประมาณประจำปี ทำให้การอัพเดทหนังสือใหม่ๆ เป็นไปอย่างล่าช้า
ยังไงก็ตาม วันไหนเดินผ่านห้องสมุดใกล้บ้าน ก็ลองเข้าไปใช้บริการกันได้ และหากมีข้อเสนอแนะหรือต้องการให้ทางห้องสมุดนำหนังสือเล่มใดเข้ามา สามารถบอกเจ้าหน้าที่ได้เช่นกันนะ
[ หมายเหตุ: กรุงเทพฯ หมายถึงจังหวัดกรุงเทพมหานคร ส่วน กทม. จะหมายถึงหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่บริหารจัดการเรื่องราวภายในกรุงเทพฯ ]
อ่านเรื่องห้องสมุดเพิ่มเติมได้ที่
‘ห้องสมุดประชาชน’ พื้นที่ที่ควรเป็นได้มากกว่าที่เก็บหนังสือ
เปิดแผนที่ 36 ห้องสมุดภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร
ห้องสมุดที่หายไป? เพียงพอไหมที่ กทม. มีห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ฯ 36 แห่งจาก 50 เขต