หากมองดูแล้ว ‘ห้องสมุด’ ก็แวดล้อมอยู่รอบตัวเราตลอดตั้งแต่เข้าเรียนวัยประถมจนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเข้าไปตากแอร์ ไปนอนเล่น ไปหาการ์ตูนอ่าน ไปทำการบ้าน ห้องสมุดเคยผูกพันกับชีวิตวัยเด็กของเรามากมาย แต่หลังเดินออกจากสถาบันการศึกษา ห้องสมุดกลายเป็นพื้นที่ที่แทบจะหายไปจากชีวิตของเรา และกลายเป็นว่าการจะเข้าไปใช้บริการห้องสมุดแต่ละทีก็มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่อยากอ่านไม่มีในระบบ ค่าสมัครบางแห่งก็แพงเกินไป หรือไปแล้วยืมหนังสือไม่ได้ ไหนจะต้องแต่งกายให้สุภาพ ขาสั้นห้ามใส่ สายเดี่ยวห้ามเข้า
ทั้งๆ ที่ห้องสมุดควรจะเป็นของทุกคน เป็นพื้นที่ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้ จะเป็นคนไร้บ้าน คนพิการ ประชาชนทั่วไป เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ
พื้นที่แห่งความรู้ควรเป็นที่ที่คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และสบายใจที่จะเข้าไปใช้บริการด้วยรึเปล่า?
ซึ่งอาจต้องย้อนกลับไปถึงหน้าที่ของห้องสมุดในไทยแต่เดิมที่เหมือนว่าจะกลายเป็นที่ ‘เก็บ’ หนังสือมากกว่า โดย ชานันท์ ยอดหงษ์ เคยให้ข้อสังเกตถึงเรื่องห้องสมุดไว้ว่า ห้องสมุดแห่งแรกในไทยนั้นสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2426 ซึ่งก็คือ ‘หอพระสมุดวชิรญาณ’ โดยสร้างขึ้นเพื่อเก็บหนังสือ เช่น หนังสือพระไตรปิฎก หนังสือแปลกๆ และหนังสือไทย ซึ่งหนังสือไทยในที่นี้เป็นหนังสือความรู้ ไม่นับพวกนวนิยายและนิทานต่างๆ เพราะมองว่าไม่ได้มีคุณค่ามากพอจะเก็บ
หนังสือจึงเหมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนไทย และทำให้ห้องสมุดดูขลังจนเข้าไม่ถึงตามไปด้วย ยิ่งรวมเข้ากับระบบราชการที่ดูเข้าถึงยากและต้องเป็นทางการ ยิ่งทำให้ห้องสมุดถูกกีดกันและกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปรู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ดังนั้น ภาพห้องสมุดในสมัยก่อน ยิ่งเป็นห้องสมุดประชาชน เราก็คงนึกถึงว่าเป็นสถานที่ที่เงียบเชียบ ต้องเข้าไปใช้บริการแบบนอบน้อม มีชั้นหนังสือเยอะๆ บรรณารักษ์ดุๆ
แต่ในเมื่อ ‘ความรู้’ ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้คนเข้าถึงฟรีและสบายใจที่จะเข้าถึง พื้นที่ของการเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งค้นคว้า แหล่งจัดเก็บข้อมูล อย่างห้องสมุดก็ควรเข้าถึงได้ง่าย ซึ่ง ห้องสมุดประชาชนก็ควรจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่มาตอบโจทย์ตรงนี้ได้
กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ดูแลจัดการห้องสมุดประชาชนในกรุงเทพฯ และน่าจะเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาว่ารัฐพยายามทำอะไรกับห้องสมุดบ้าง ซึ่งจากการลองไปลงพื้นที่ใช้บริการห้องสมุดบางแห่งในกรุงเทพฯ เอง ดูเหมือนว่ากรุงเทพฯ ก็พยายามปรับให้ห้องสมุดดูเป็นมิตรมากขึ้น แม้จะยังมีกฎระเบียบบางข้อที่หลงเหลือมาจากการเป็นสถานที่ราชการ เช่น ต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย ห้ามขาสั้น และต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าห้องสมุด (ซึ่งก็เป็นข้อเสียหนึ่งที่ทำให้คนไม่อยากไปใช้ห้องสมุดเหมือนกันนะ)
ถึงอย่างนั้น ก็พอจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดประชาชนในกรุงเทพมหานครที่ต้องการเปลี่ยนแปลงห้องสมุดให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ โดยเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงชื่อจาก ‘ห้องสมุดประชาชน’ เป็น ‘ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้’
ซึ่งมากจากนโยบายของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ตอนได้รับเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลก เมื่อปี พ.ศ. 2556 คืออยากให้ “ห้องสมุดกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้และเป็นห้องสมุดที่มีชีวิต”
ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของกรุงเทพฯ มีอะไร?
ห้องสมุดของกรุงเทพฯ นั้นมีอยู่ 36 แห่ง (ดูได้ที่บทความนี้) มีงบประมาณในการบริหารจัดการอยู่ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบกับงบอื่นๆ แล้วก็ดูเป็นจำนวนน้อยนิด ยิ่งเกี่ยวข้องกับการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้ ยิ่งทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าจริงๆ รัฐควรลงทุนมากกว่านี้หรือไม่ แต่หากจะกดดันเรื่องงบประมาณก็คงจะอีกยาวและยาก เราจึงชวนมาดูว่าภายใต้งบเพียงเท่านี้ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของกรุงเทพฯ สามารถบริการอะไรให้เราได้บ้าง
อันดับแรกคงต้องพูดถึง ‘หนังสือ’ ในห้องสมุด จากที่ลงไปสำรวจบางแห่งพบว่ามีหนังสือประเภทนวนิยาย ปรัชญา (ที่รวมด้านโหราศาสตร์ how to เข้าไว้ด้วย) หนังสือทั่วไป หนังสือประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แต่จำนวนหนังสือในห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ฯ ก็ยังคงมีน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับภาพห้องสมุดที่เราชินตากัน ซึ่งเมื่อสอบถามไปยังทางกรุงเทพมหานคร ก็ได้รายละเอียดว่า ในแต่ละปีจะมีงบประมาณในการซื้อหนังสือให้ห้องสมุดทั้ง 36 แห่งรวมกันอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านบาทต่อปี
โดยหนังสือที่ทางห้องสมุดเลือกมานั้นมีเหตุผล 2 แบบ คือ 1.) เป็นหนังสือที่ประชาชนเป็นคนเสนอผ่านห้องสมุด ซึ่งเราสามารถไปบอกเจ้าหน้าที่ประจำห้องสมุดได้หากต้องการให้ทางห้องสมุดนำหนังสือเล่มไหนเข้ามา และ 2.) บรรณารักษณ์ประจำห้องสมุดในแต่ละแห่งจะมีการประชุมหารือกันว่าต้องการซื้อหนังสือเล่มไหนแล้วเสนอไปยังกรุงเทพฯ เพื่อให้พิจารณา ซึ่งบรรณารักษณ์จะเลือกจากความสนใจของประชาชนที่เข้าไปใช้บริการ
ซึ่งที่ผ่านมาจากการสำรวจของทางห้องสมุดมองว่า ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการมักเลือกอ่านหนังสือประเภทบันเทิงคดีมากที่สุด ทำให้ห้องสมุดแต่ละแห่งเลือกซื้อหนังสือนิยาย หนังสือบันเทิง เข้าห้องสมุดมากกว่าหนังสือวิชาการ หรือหนังสือที่ใช้สำหรับค้นคว้าในด้านเฉพาะทาง
นอกจากนี้ห้องสมุดในกรุงเทพฯ ยังมีธีม (theme) ประจำห้องสมุดด้วย อย่างเช่น ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ซอยพระนาง มาในธีมวรรณกรรมเนื่องจากเคยเป็นพื้นที่ของนักเขียนดังหลายคน เช่น คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ หรือศรีบูรพา ซึ่งจะเน้นไปที่งานวรรณกรรมเป็นหลัก หรือห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ห้วยขวาง มาในธีมการ์ตูน ซึ่งจะมีหนังสือการ์ตูนให้บริการมากกว่าที่อื่นๆ และมีการจัดบอร์ดให้ความรู้ถึงพัฒนาการของการ์ตูน ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ภาษีเจริญ มาในธีมห้องสมุดนิทานชาดก ที่มีการจัดบอร์ดให้ความรู้เรื่องนิทานชาดก (ที่รวมเอาสามก๊กมาเป็นตัวอย่างด้วย)
การสร้างห้องสมุดให้ดูดีขึ้นเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนมากที่สุด โดยห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ในแต่ละที่นั้นดูเป็นมิตรขึ้น ซึ่งการทำให้ห้องสมุดมีหน้าตาที่ทันสมัย อาจทำให้คนอยากเข้าไปใช้บริการไม่น้อย และกรุงเทพฯ ก็ถนัดในการปรับปรุงภูมิทัศน์ของพื้นที่ ในตอนนี้ห้องสมุดหลายๆ แห่งจึงมีหน้าตาน่าเข้าไปใช้งานมากยิ่งขึ้น ดูใหม่มากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องดีๆ เรื่องหนึ่งที่ได้ลองเข้าไปใช้บริการมาบางแห่ง
นอกจากการปรับปรุงหน้าตาของห้องสมุด อีกสิ่งที่ทำให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ก็พยายามปรับปรุงระบบการให้บริการหนังสือคือการเพิ่มวิธีการให้ยืมหนังสือข้ามเขต ซึ่งหากห้องสมุดไหนขาดหนังสืออะไร เราสามารถแจ้งให้เจ้าหน้าที่ยืมมาจากสาขาอื่นๆ ได้ และรอรับได้ภายใน 1 อาทิตย์ โดยสามารถเช็ครายการหนังสือได้ที่ http://office.bangkok.go.th/cstd/LearningLibrary/add_search.php หรือลองเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่
นอกจากนี้ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร (และในที่นี้จะขอพูดถึงหอสมุดแห่งชาติด้วย เพราะเป็นหอสมุดสำคัญจากรัฐ) ยังให้บริการ e-book และพยายามนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในหอสมุดมากขึ้น อย่างในหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครก็มีตู้ยืม-คืนหนังสือด้วยตัวเอง
จากการพูดคุยสอบถามถึงนโยบายและวิสัยทัศน์ของผู้ดูแลห้องสมุดในกรุงเทพมหานครนั้น ดูเหมือนว่าทางกรุงเทพฯ ต้องการให้ห้องสมุดกลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของชุมชน และต้องการให้ห้องสมุดมีชีวิต จึงเริ่มมีการจัดกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เช่น ทุกวันเสาร์ ทางห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ในที่ต่างๆ จะมีการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะ หมุนเวียนกิจกรรมกันไปเรื่อยๆ และห้องสมุดบางแห่งเป็นพื้นที่สอนหนังสือสำหรับเด็กๆ ในชุมชนด้วยเช่นกัน
รวมถึงการที่หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร พยายามจัดงานเสวนาในแต่ละเดือน และอนาคตทางหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครต้องการให้ที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนในย่านที่อยู่ โดยตั้งใจว่าในอนาคตจะมีโครงการสอนภาษาอังกฤษให้คนในชุมชน รวมถึงการให้ความรู้ในด้านอื่นๆ อีกต่อไป
ซึ่งจากทั้งหมดนี้ก็พอจะเห็นความพยายามและการเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานครจากพันธกิจของการเคยเป็นเมืองหนังสือโลก
แต่ห้องสมุดเป็นได้มากกว่านั้นหรือเปล่า?
แม้ห้องสมุดของกรุงเทพฯ จะมีทิศทางที่อาจจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาหลายๆ อย่างที่ควรจะต้องแก้ไข อันดับแรกคือเรื่องของการเลือกหนังสือ แม้จะเป็นเรื่องดีที่มีการสอบถามความเห็นของประชาชนในการซื้อหนังสือเข้ามา แต่ในอีกทางหนึ่งห้องสมุดอาจต้องจัดเตรียมหนังสือให้พร้อมก่อนคนเรียกหา เพราะหลายครั้งที่คนที่เข้าไปใช้บริการต้องการเข้าไปที่ห้องสมุดเพื่อค้นคว้าบางอย่าง แต่กลับไม่มีหนังสือที่ตอบโจทย์พวกเขา
เมื่อห้องสมุดไม่สามารถให้คำตอบได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะหันไปพึ่งพาอินเทอร์เน็ตแทน ยิ่งในยุคที่ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ การที่ห้องสมุดมีแหล่งข้อมูลน้อยกว่าอินเทอร์เน็ตถือเป็นข้อเสียเปรียบอย่างหนึ่ง
ห้องสมุดจะต้องก้าวไปอีกขั้น อินเทอร์เน็ตอาจมีทุกสิ่ง แต่ห้องสมุดที่มีหนังสือคือผู้ที่รักษาข้อมูลที่น่าเชื่อถือกว่าได้ เพราะหากเทียบกันแล้ว หนังสือยังคงเป็นแหล่งอ้างอิงที่ได้เปรียบกว่ามาก ดังนั้น นี่อาจเป็นโจทย์หนึ่งของห้องสมุดที่ต้องเป็นให้ได้มากกว่าข้อมูลบนในอินเทอร์เน็ต และเมื่อต้องแข่งกับยุคอินเทอร์เน็ตครองโลก ก็ต้องทุ่มงบประมาณให้เหมาะสมกับการอยากให้ห้องสมุดเป็นแหล่งพัฒนาคน เป็นแหล่งเรียนรู้ของคน และต้องเข้าถึงคนให้มากกว่านี้
อย่างการมีธีมประจำห้องสมุดเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ขั้นต่อไปที่ห้องสมุดอาจจะต้องมีเพิ่มเติมคือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับธีมนั้นๆ ต้องลงลึกและมีรายละเอียดมากขึ้นจนกลายเป็นห้องสมุดเฉพาะทางของเรื่องนั้นๆ เช่น ห้องสมุดธีมวรรณกรรม ต้องมีหนังสือที่มากกว่างานวรรณกรรม แต่ต้องรวมไปถึงการรวบรวมหนังสือทฤษฎีทางวรรณกรรมให้ครบถ้วน มีการจัด book club สนทนาวรรณกรรม หรือใครอยากเป็นนักเขียน ก็สามารถมาเริ่มต้นได้ที่นี่ ให้ห้องสมุดกลายเป็นจุดกำเนิดหรือแรงบันดาลใจให้คนอย่างสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมใหม่ๆ การที่ห้องสมุดนี้มีธีมวรรณกรรม จึงไม่ใช่เพียงแค่ตั้งนิทรรศการถึงนักเขียนและนำหนังสือวรรณกรรมเข้าชั้นเพียงอย่างเดียว
และสิ่งสำคัญ ห้องสมุดควรทำหน้าที่ให้บริการและรับใช้พื้นที่หรือชุมชนตรงนั้นให้มากที่สุด เป็น archive ให้ชุมชน เป็นทั้งคนที่คอยเก็บข้อมูลและคอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนนั้นไปพร้อมกันๆ เป็นตัวตั้งสำคัญในการพัฒนาชุมชนละแวกนั้นไปด้วย เพราะห้องสมุดต้องไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ของการเก็บหนังสือ แต่ห้องสมุดคือพื้นที่เก็บวัฒนธรรม เก็บประวัติศาสตร์ เก็บวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในละแวกนั้น หน้าที่ห้องสมุดจึงควรเป็นมากกว่าพื้นที่ของหนังสือ แต่เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ของชุมชนที่ทุกคนสามารถเข้าไปหารากเหง้าของตัวเองได้
เนื่องจากห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของกรุงเทพฯ สามารถกระจายตัวไปในแหล่งชุมชนได้มากมาย และที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ของ ‘รัฐ’ ที่ต้องให้บริการประชาชน ก็เป็นเหมือนข้อได้เปรียบที่จะทำหน้าที่เหล่านี้ ซึ่งนำไปสู่อีกเรื่องที่สำคัญในการบริหารห้องสมุดคือ การบริหารงานอย่างปัจเจก แน่นอนว่า งบประมาณนั้นต้องได้รับการสนับสนุนมาจากรัฐ เพราะพื้นที่เหล่านี้คือพื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อให้บริการประชาชน แต่ว่า ชุมชนแต่ละแห่งมีความสนใจต่างกัน
พื้นฐานแรกของห้องสมุดคือการมีหนังสือที่ครอบคลุมต่อการให้บริการ แต่ห้องสมุดในขั้นต่อไปต้องสร้างความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมาด้วย การเลือกหนังสือ การเตรียมกิจกรรม การสร้างรูปแบบของห้องสมุด ควรเป็นไปอย่างอิสระมากกว่าจะต้องผ่านการพิจารณาจากเบื้องบนอีกที ซึ่งบางทีก็ต้องยอมรับว่าระบบราชการอาจจะดำเนินการอะไรได้ช้ากว่า และการรวมศูนย์ก็เป็นปัญหามาอยู่เสมอ พื้นที่แต่ละที่ก็มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ห้องสมุดต้องสร้างตัวตนให้สอดคล้องกับพื้นที่ของตัวเอง เพื่อตอบสนองต่อชุมชนนั้นๆ
ห้องสมุดต้องเป็นให้ได้มากกว่าที่เก็บหนังสือ แต่ต้องเป็นที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาพึ่งพาและตามหาทรัพยากรความรู้ รวมถึงความต้องการของตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ฟรีเสมอ และนี่คือ ‘หน้าที่’ หนึ่งของรัฐด้วยเช่นกัน
ขอขอบคุณ
คุณกนกอร ศักดาเดช ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ
คุณชัชกูล รัตนวิบูลย์ ที่ปรึกษาหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร
คุณโสภณ สุดเอียด บรรณารักษ์ชำนาญการ, หัวหน้ากลุ่มงานห้องสมุดกรุงเทพมหานคร
คุณนราวัลลภ์ ปฐมวัฒน เจ้าของห้องสมุด The Reading Room