ในช่วงที่กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย มีการจัดชุมนุมตลอดทุกสัปดาห์ มีประชาชนที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองกว้างขวาง แต่อีกมุมหนึ่ง เราก็เห็นการคุกคามประชาชนที่เกิดขึ้นตามมา มีแกนนำ และผู้ปราศรัยหลายคนถูกจับกุมตัว
การถูกจับกุมตัว และคุกคามเหล่านี้ ก็ทำให้เราย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิที่ถูกลิดรอนลงไป ทั้งเสียงของประชาชนที่เปล่งออกไป รวมถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ถูกพูดถึงเหล่านี้ มีผู้มีอำนาจมารับฟังหรือไม่ ?
‘ทนายอานนท์ นำภา’ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางการเมืองคนหนึ่งที่ขึ้นปราศรัยในเวทีต่างๆ และหนึ่งในผู้ที่ถูกรัฐคุกคาม ตามจับกุมตัวในเรือนจำมาแล้ว ได้พูดคุยกับเราถึงการต่อสู้ของเขา ซึ่งเขาก็ย้ำกับเราในอุดมการณ์ประชาธิปไตย และมองว่ามีโอกาสที่การต่อสู้ของเขาจะไม่สูญเปล่า รวมถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออก และการพูดถึงประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
เสรีภาพในการแสดงออกของประเทศไทยก่อน และหลังรัฐประหาร แตกต่างกันมากแค่ไหน
เสรีภาพในช่วงก่อนรัฐประหารมีสูงมาก สูงจนชนเพดานของการใช้เสรีภาพด้วยซ้ำ คนตื่นตัวในการใช้เสรีภาพสูงมาก เราจะเห็นได้การจัดกิจกรรม การสัมมนา และการชุมนุมในครั้งต่างๆ ประชาชนพูดถึงองคาพยพทั้งหมดในปัญหาของประเทศได้อย่างกว้างขวาง มีการเลือกพูดถึงบ้านเมือง และสถาบันกษัตริย์ไปอย่างกว้างขวาง จนถึงสาระสำคัญของการพูดคุยปัญหา
ไม่ว่าจะเป็นงาน 40 ปี ตุลา ที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งในเหตุการณ์นั้นก็มีการแจ้งความดำเนินคดีกับคนจัด และคนที่เล่นละครในครั้งนั้น ซึ่งพอมีการรัฐประหาร เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็แทบจะเป็นศูนย์ เพราะไม่ว่าคุณจะออกมาชุมนุม คุณก็โดนจับ คุณแสดงความคิดเห็นทางโซเชียลมีเดียก็โดนจับ
แต่ว่าเสรีภาพพวกนี้มันเรียนรู้ว่าควรจะปิดซ่อนตัวเองอย่างไร หลายคนเลือกใช้ร่างอวตาร มีการเปิดเพจ การชุมนุมก็เป็นแบบซิกแซ็ก มีการเปลี่ยนแปลงคำที่จะพูดถึงปัญหาแท้จริง โดยใช้คำแบบสัญญะ เปรียบเปรยมากขึ้น ทำให้เพดานของการพูดค่อยๆ ขยับๆ เข้ามาเรื่อยๆ โดยเฉพาะความชัดเจนของการใช้อำนาจของรัฐบาล ของโครงสร้างที่เป็นปัญหา มันใช้อำนาจอย่างชัดเจน มันก็ทำให้คนมีความชอบธรรมที่จะกล่าวถึง และก็เอามาวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น
ตอนนี้เราเห็นว่ามีปัญหาหลายอย่างในสังคม บางเรื่องเรารู้ว่าเป็นปัญหา แต่ก็ยังไม่พูดถึง หรือไม่กล้าที่จะพูด
ผมคิดว่ามันมีการขยับเพดานในการพูดอยู่ ทั้งในโซเชียลมีเดีย และในทวิตเตอร์ อย่างทวิตเตอร์เราเห็นว่ามันมีการขยับเพดานในการพูดอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดแฮชแท็กต่างๆ หรือแม้แต่ในเฟซบุ๊กที่มีการพูดคุยในเพจที่เปิดเผย หรือในกลุ่มอย่างรอยัลลิสต์ มาเก็ตเพลส เดิมทีจากคนที่ใช้ร่างอวตาร ก็กล้าที่จะใช้ชื่อจริง นามสกุลจริงมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ สามารถคุกคามได้สะดวกขึ้น
มองการคุกคามประชาชน และข้อเรียกร้องเรื่องหยุดคุกคามประชาชนอย่างไร
นัยยะของคำถามนี้คือช่วงก่อนที่จะมีขบวนนักศึกษาออกมาอย่างชัดเจน เพราะว่าการคุกคามประชาชนมันมีมาตั้งรัฐประหาร แต่ฟางเส้นสุดท้าย น้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำให้รู้สึกว่าหยุดคุกคามประชาชน คือกรณีการหายตัวไปของคุณวันเฉลิม เพราะว่าก่อนหน้านี้ก็มีการดักทำร้ายนักกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นคุณเอกชัย จ่านิว และอีกหลายๆ คน รวมทั้งการคุกคามตามบ้านด้วย แต่กรณีการหายไปของคุณวันเฉลิมจึงยิ่งเป็นเหตุให้ทั้งขบวนพูดกับรัฐว่า หยุดคุกคามประชาชน
แล้วในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกล่ะ
ผมคิดว่านัยยะของการชุมนุมครั้งนี้ การพูดถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างทุกคนกล่าวถึงโดยความหมายเดียวกัน เพราะเพดานในการต่อสู้ครั้งนี้ มันไม่ได้พูดถึงแค่รัฐบาล หรือกองทัพ แต่เรายังพูดถึง พระราชอำนาจก็ดี พระราชกรณียกิจบางอย่างก็ดี ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า ในการชุมนุมมันมีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าสื่อเองพยายามจะพูดว่ามันเป็นเรื่องของมือที่ 3 แต่จริงๆ แล้ว เราต้องยอมรับความจริงว่าประชาชนส่วนใหญ่เขาพูดถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย ในเรื่องนี้มันก็เป็นแง่นึงที่มันเป็นตัวบ่งชี้ว่า คนเริ่มตั้งคำถาม หรือกล้าตั้งคำถามมากขึ้น
ผมยกตัวอย่างป้ายในการชุมนุม หลายป้ายที่พูดถึงเป็นสัญญะ แต่ทีนี้เราจะทำอย่างไรที่ทำให้การพูดถึงเหล่านี้เป็นทางการ และเป็นการพูดอย่างตรงไปตรงมา เป็นการพูดด้วยเหตุผล ไม่เป็นการแซะ ไม่เป็นการกล่าวหา และด่าทอ
มอง 3 ข้อเรียกร้องของประชาชนปลดแอกอย่างไร และข้อเรียกร้องที่ทนายอานนท์ปราศรัยถึงสถาบันต่างกันอย่างไร
มันเป็นเรื่องเดียวกัน อย่างเรื่องคุกคาม ถ้าเราตามโซเชียลมีเดีย เราก็จะเห็นว่าหลายคนก็กล่าวหาคนที่อยู่รอบข้างสถาบันกษัตริย์ แต่คำถามเหล่านี้มันไม่ได้ถูกตอบโดยพระราชสำนักว่าตกลงมันเป็นมายังไง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีคนถูกอุ้มหายที่ลาว หรือกรณีคุณวันเฉลิม ข้อสงสัย และคำถามพวกนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องในการหยุดคุกคามประชาชน กรณีนี้มันรวมไปถึงการที่มีกลุ่มบุคคล ไปแอบอ้างสถาบันกษัตริย์ในการคุกคามประชาชนด้วย หรือเพจที่มีการล่าแม่มด ที่มีการหยิบอ้างเอาสถาบันมาคุกคาม ดังนั้นข้อเรียกร้องเหล่านี้จึงเป็นข้อเรียกร้องที่สอดคล้องกัน ไม่ได้แยกกันอย่างชัดเจน
รวมถึงการเรียกร้องเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญด้วย เพราะอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันถูกร่างขึ้นมา อำนาจของ ส.ว.ส่วนนึง เป็นคนที่รับใช้ใกล้เบื้องพระยุคคล แต่ในขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งเป็นนายทหาร ราชองครักษ์ด้วย มันจึงแยกไม่ออกเลยว่า การใช้อำนาจส่วนไหนเป็นส่วนไหน การที่เราเลือกที่จะพูดถึงปัญหาในเชิงโครงสร้าง ในการใช้ถ้อยคำกลางๆ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนทุกภาคส่วน นำเสนอปัญหาได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ หรือยุบสภา
แม้จะบอกว่าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ แต่มักจะมีคนบอกว่ายังออกมาชุมนุมกันได้เลย
ออกมาเรียกร้องมันก็ถูกคุกคาม ก่อนที่จะออกมาเรียกร้องก็ยังถูกคุกคามอยู่ ถ้าจะบอกว่าการออกมาชุมนุมได้ คือไม่ถูกคุกคามนี่ไม่ใช่ เหมือนที่เราโดนตีหัว เราก็ยังต้องออกไปข้างนอก จะบอกว่าไม่ถูกคุกคามทั้งๆ ที่ไม่มีแผลก็ไม่ใช่
ในฐานะคนที่ถูกคุกคามมาตลอด การคุกคามที่เกิดขึ้นในไทยเป็นอย่างไร
มันมีหลายระดับ ระดับแรกๆ คือการคุกคามแบบที่ตามไปที่บ้าน กรณีนี้จะเห็น และมีจำนวนมาก เกือบทุกจังหวัดที่ตำรวจจะตามไปคุกคาม โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา ตามไปถ่ายรูป ไปคุยกับผู้ปกครอง ไปตามถึงโรงเรียน กดดันไม่ให้ทำกิจกรรม
นอกจากนี้ยังมีการกดดันแบบอื่นๆ อย่างไปกดดันที่ทำงานให้ไล่ออก ให้จัดการกับคนที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คุกคามไปยิ่งกว่านั้นก็คือการขู่ฆ่า หรือดำเนินคดี การขู่ฆ่าเหล่านี้ แทบจะเป็นรูปแบบเดียวกันของการคุกคามสมัยใหม่ สมัยก่อนก็คือดักยิง อุ้มหาย แต่สมัยนี้มีรูปแบบอื่น
การคุกคามทำให้คนมันกลัว ไม่กล้าออกมา แต่อย่าลืมว่าทุกเรื่อง ทุกการคุกคามมันเป็นดาบสองคม การที่ไปคุกคามคนเยอะๆ มันก็ทำให้มีความโกรธแค้นที่สะสม ที่รอวันระเบิดออกมา วันนี้การคุกคามเหล่านี้มันจะไม่ได้ผล และรัฐจะจัดการไม่ได้
อย่าลืมว่าคนรุ่นใหม่เขาไม่ได้กลัวอะไรถึงขนาดนั้น เขามีความมุ่งมั่นที่จะพูดถึงปัญหามาก ความเป็นคนรุ่นใหม่มีความกล้า และความบ้าบิ่น มันไม่ได้ชั่งใจขนาดนั้น แต่ถ้าเห็นความไม่ยุติธรรมในบ้านเมืองเขาก็จะออกมา
สังเกตง่ายๆ ที่ผมไปปราศรัยตามต่างจังหวัด 70-80% ที่ออกมา คือน้องๆ มัธยม รองลงมาเป็นนิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไป มันเป็นมิติใหม่ของการเมืองไทย
คิดว่าทำไมการชุมนุม การออกมาเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษา จึงเกิดขึ้นในช่วงนี้
คุณูปการนึงคือเรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์ก มันเริ่มเกาะกลุ่มกันได้มากขึ้น เราเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก เรารู้ว่าถ้าติดแฮชแท็กมันจะเป็นเรื่องเดียวกัน และเราก็ตามอ่านได้ หรือกลุ่ม เพจที่เปิดขึ้นมาที่เป็นเรื่องเฉพาะ มันก็จะมีกลุ่มเฉพาะที่ถ้าเกิดเราสามารถเข้าไปติดตามได้
ส่วนที่สอง ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่เขาไม่ได้มีภาระเรื่องความกลัวอย่างอื่น คนรุ่นใหม่มีความบริสุทธิ์ในความกล้า ในการใช้ความกล้าหาญของตัวเองสูง สูงจนที่รัฐไม่สามารถจัดการได้ โดยเฉพาะเด็กมัธยม เขาไม่กล้าจัดการ ทำให้น้องๆ มัธยมออกมาต่อสู้กันมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็นม็อบมัธยมนัดหยุดเรียนเพื่อประท้วง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
อีกหนึ่งประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นแรงผลักให้เด็กมัธยม หรือมหาวิทยาลัยออกมาต่อสู้ในครั้งนี้ ประสบการณ์จากต่างประเทศก็มีส่วนสำคัญ ไอดอลหรือว่าภาพจำของเขา ที่ไปศึกษาจากกรณีของฮ่องกง หรืออาเซียน มันไปเรียกร้องความเป็นขบถภาคในใจให้ออกมา
มีการมองว่าความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของวัยด้วย
ผมว่ามันไม่ใช่การทะเลาะ มันคือความเห็นที่แย้งกันของอำนาจเก่า กับความเป็นเสรีภาพแบบใหม่ที่เป็นสากล อำนาจเก่าเขาหวงอำนาจของเขาอยู่แล้ว ไม่ว่าคนที่อยู่ในอำนาจจากสถาบันกษัตริย์รอบๆ ไม่ว่าจะกองทัพ หรือนักการเมืองที่ไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตย มันเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง มันไม่ใช่ความขัดแย้งของคนรุ่นเก่าและใหม่ เพราะคนรุ่นเก่าที่เป็นประชาธิปไตยก็เยอะ มันเป็นความขัดแย้งของเก่าใหม่ในแง่อุดมการณ์มากกว่า
คิดว่าในสังคมเรา ควรมีเส้น หรือขอบเขตของเสรีภาพในการพูดไหม หรือเราควรพูดได้ทุกเรื่อง
เสรีภาพมันไม่มีเส้นของมันหรอก ถ้ามันเกินเสรีภาพเขาก็ไม่เรียกเสรีภาพ เส้นเสรีภาพในตอนนี้มันถูกกำหนดด้วยความชอบธรรมของสังคม เมื่อไรที่พวกคุณใช้เสรีภาพจนสังคมมองว่ามันไม่ชอบธรรม ก็จะโดนกดโดยปริยาย แต่ตอนนี้คนที่ออกมาต่อสู้ไม่ว่าจะเงื่อนไข 3 ข้อ หรือถ้าจะให้พูดกันตรงๆ เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ หรือตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์ แรงต้านลดลงจากเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วเป็นอย่างมาก ข้อหาล้มเจ้า จาบจ้วง ใช้ไม่ได้แล้วกับคนรุ่นใหม่ เพราะสังคมเห็นว่าหลายเรื่องเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และควรจะพูดอย่างตรงไปตรงมา
ทุกเรื่องทุกปัญหาควรหยิบยกมาพูดได้หมด มันจะทำให้การพูดเป็นไปด้วยการเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าการที่จะพูดอย่างเลื่อนลอย และที่สำคัญมันจะทำให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด สุดท้ายแล้วเราก็อยู่ในสังคมเดียวกัน และความเสียหายที่ทุกคนจะแบกรับก็เกิดขึ้นร่วมกัน
แต่ตอนนี้มันก็มีกฎหมายต่างๆ ที่เอาไว้จับกุมคนเห็นต่าง ทำให้เสรีภาพทางการพูดเกิดขึ้นไม่ได้
กฎหมายตอนนี้มันเป็นแค่เครื่องมือ ความขลังของมันจริงๆ คือการใช้กฎหมายอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งตอนนี้มันไม่ใช่ เราเอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ใช้เรื่องดูแลสุขภาพ มาใช้กับเสรีภาพการชุมนุม เราเอาเรื่อง พ.ร.บ.คอม หรือ ม.116 มาปรามไม่ให้คนพูด ผมว่ามันชัดเจนกับคนในสังคมว่าการใช้กฎหมายเป็นการใช้เพื่อปิดปากเท่านั้น
พอหลายๆ คดีส่งไปขึ้นศาล ศาลก็วินิจฉัยยกฟ้องเป็นส่วนใหญ่ เพราะมันเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกฎหมายเหล่านี้ ช่วงแรกๆ มันจะกลายเป็นเครื่องมือในการสกัดกั้น ถ้าคนที่มีภูมิคุ้มกันน้อยหน่อยก็อาจจะเพลี้ยงพล้ำให้กับกฎหมายเหล่านี้ได้ แต่ว่าคนที่มีมวลชน มีคนที่อยู่เคียงข้างมากขึ้น ผมว่าเขาก็ไม่กลัว อย่างนักศึกษาหลายคนที่โดนคดี เขาก็ไม่ได้กลัวเรื่องกฎหมายพวกนี้แล้ว
ความจำเป็นของการพูดคุยเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คืออะไร
ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ผมคิดว่าพวกเราปล่อยให้องคาพยพทั้งหมดมันขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์จนเกินขอบที่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอนุญาตไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นออกกฎหมายโดย สนช.ในรัฐบาลของประยุทธ์ ซึ่งตอนนั้นเป็น สนช. ออกกฎหมายให้มีส่วนราชการโดยพระองค์ก็ดี หรือแปรรูปทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่มันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินให้กลายมาเป็นการบริหารจัดการ เป็นดุลพินิจตามพระราชอัธยาศัยของกษัตริย์พระองค์เดียว ซึ่งเหล่านี้มันขัดกับหลักประชาธิปไตยทั้งหมด รวมถึงการออกกฎหมายเอื้อให้กำลังทหารจำนวนมาก ไปเป็นของสถาบันกษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งเหล่านี้มันเกินขอบของประชาธิปไตยที่มันอนุญาตไว้
รวมทั้งการใช้พระราชอำนาจอย่างอื่น ทั้งทางตรงและทางอ้อม มันเกินไปกว่าที่ระบอบมันอนุญาตไว้ ผมว่ามันต้องมาถึงจุดที่ท้วงติง แสดงความห่วงใย และตั้งคำถามกับเรื่องนี้ เพราะถ้าเราไม่ท้วงติงมันจะปล่อยให้ปรากฎการณ์นี้ขยายพรมแดนออกไปเรื่อยๆ เราถูกกระทำโดยความจงใจ ทั้งทางตรงและทางอ้อมมาซักพักใหญ่ๆ กฎหมายหลายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนที่เกิดขึ้นมา มันก็ทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชทั้งในทางตรง และในรูปแบบของการซ่อนรูป อันนี้สำคัญมาก
เพราะว่าระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยการใช้อำนาจผ่านทางผู้แทนราษฎรก็มีปัญหา เพราะพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยก็ถูกคุกคาม ถูกลิดรอน ถูกยุบ พรรคการเมืองไหนที่มีการตั้งคำถามถึงโครงสร้าง หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือว่ากองทัพก็จะถูกทำให้มีอันเป็นไปด้วย
ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์มันมีความพยายามลบเลือนประวัติศาสตร์คณะราษฎร มีการขโมยหมุดคณะราษฎร ย้ายอนุสาวรีย์ หรือเปลี่ยนชื่อค่ายทหารต่างๆ เหล่านี้ถ้าเราไม่มีการตั้งคำถาม หรือพูดถึงมันก็จะมีการขยายออกไปเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะถูกเปลี่ยนชื่อถนนพหลโยธินทั้งหมด หรือเปลี่ยนชื่อถนนปรีดี พนมยงค์ ประดิษฐ์มนูญธรรม รวมถึงอื่นๆ ที่มันเป็นมรดกคณะราษฎรที่เปลี่ยนไป ประวัติศาสคร์ของช่วงนี้ที่เปลี่ยนไป ซึ่งความพยายามที่จะทำลายประวัติศาสตร์ในช่วงนี้มันชัดเจน รวมทั้งการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ผ่านทางพระราชอำนาจทางกฎหมาย
มรดกและอุดมการณ์ของคณะราษฎรกับการเรียกร้องประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกันอย่างไร
อันนี้ก็เป็นเรื่องตลกของปรากฎการณ์อย่างนึง คนรุ่นใหม่ตอนนี้ เขาไม่ได้เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ไปในระยะใกล้ อย่างคนเสื้อแดง หรือพฤษภา 35 ก็ดี หรือตุลาปี 16 หรือ 19 แต่ตอนนี้คนรุ่นใหม่เขาข้ามไปเชื่อมโยงกับคณะราษฎร ผมว่าเรื่องนี้ชนชั้นนำไทยก็เล็งเห็นในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นการพยายามทำลายมรดกของคณะราษฎรก็เป็นหมุดหมายของชนชั้นนำในสังคมไทยด้วย ก็คือจะทำยังไงก็ได้ไม่ให้คนรุ่นใหม่สืบสาวราวเรื่องไปถึงอุดมการณ์ของคณะราษฎร์ เพราะตอนนี้เวลาเราฟัง คนรุ่นใหม่พูดหรือปราศรัย เขาพูดถึงคำว่าศักดินา คือมันเป็นการย้อนกลับไปถึงอุดมการณ์คณะราษฎร์อย่างไม่น่าเชื่อมาก่อน
อย่างคนรุ่นผม เราอายุ 30 กว่าปี เวลาเราพูดถึงไอดอลเราอาจจะนึกถึงคุณเสกสรร ประเสริฐกุล แต่ว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่เขาไม่พูดถึงเรื่องพวกนี้แล้ว เขาพูดถึงจอมพล ป., อาจารย์ปรีดีย์ พนมยงค์ หรือพระยาพหลฯ ซึ่งปรากฎการณ์นี้ผมว่ามันเป็นประเด็นสำคัญที่ชนชั้นนำพยายามลดทอนคณะราษฎร์ลงไม่ให้มันต่อติดกับคนรุ่นใหม่
เพราะอุดมการณ์หลายอย่างของคณะราษฎร์มันมีลักษณะก้าวหน้า และเป็นสากลกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างข้อเรียกร้อง หรือการตั้งคำถามกรณีรัฐธรรมนูญบางมาตราที่กำหนดว่า พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพศักการะ จะละเมิดมิได้ มันมีข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่จะให้แก้ไขเรื่องพวกนี้ด้วย คืออยากจะให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 ชั่วคราว คือพระมหากษัตริย์จะเป็นที่เคารพศักการะ จะฟ้องไม่ได้ แต่กรณีที่พระมหากษัตริย์ทำผิด รัฐธรรมนูญฉบับแรกเราให้สภาเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งหลักการนี้มันถูกตัดทอนไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นว่า พระมหากษัตริย์เป็นอะไรที่แตะต้องไม่ได้
ทีนี้คนรุ่นใหม่ วิธีคิดของเค้าจะย้อนกลับไปว่าเราต้องทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ที่หมายถึงจะทำอะไรก็จะมีรัฐธรรมนูญรองรับ และรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และอยู่เหนือการเมืองให้ได้ หมายความว่าไม่มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เป็นกลางทางการเมือง เป็นที่เคารพศักการะอย่างแท้จริง
หลักการง่ายๆ คือ 2 อย่างนี้ ถ้าทำได้ตามนี้ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็จะมั่นคงกับประเทศไทย
ความยากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นอย่างที่พูดถึงกัน
ยากมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญหลักการสำคัญของมันคือ ถ้ามันเป็นฉันทามติหรือทุกคนในประเทศเห็นร่วมกันว่ามันควรเป็นไปในทางไหน ถ้าเขียนให้มันแก้ยากแค่ไหน ก็แก้ได้ แต่ถ้ามันไม่เกิดฉันทามติถึงขั้นเป็นนัยยะสำคัญ การแก้ก็จะยากมาก เพราะว่าการออกแบบรัฐธรรมนูญตอนนี้มันออกแบบให้แก้ได้ยากมาก ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้เห็นชอบของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ทุกพรรค หรือให้ ส.ว.มาเห็นชอบด้วย ซึ่งมันยาก แต่ถ้ามันเป็นฉันทามติของคนที่กดดัน มันเป็นไปได้
อย่างก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมของนักศึกษา เราไม่คิดไม่ฝันนะว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นไปได้ พอนักศึกษาชุมนุมวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา อำนาจนิยมของฝ่ายชนชั้นนำไทย เริ่มลดความร้อนแรงของการตั้งกำแพงลง หลายส่วนอย่าง วิษณุ เครืองามก็ออกมาพูดว่า แก้ได้ในบางเรื่อง หรืออย่าง ส.ว.บางคนที่เคยปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าอย่ามาแตะเขาก็เริ่มถอย ว่าคงมี ส.ว.แต่อำนาจในการเลือกนายกฯ ให้แก้ได้ พอมันมีฉันทามติของคนจำนวนมาก มันทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีคนที่เห็นด้วย กับไม่เห็นด้วยไปเลย คิดว่าจะชักจูงคนที่อยู่ตรงกลางยังไง
เราต้องใช้สติในการฟัง และการวิเคราะห์เรื่องนี้ค่อนข้างมาก ต้องยอมรับว่าในยุคนึงเราถูกล้างสมองกับเรื่องนี้มาอย่างเต็มที่ เวลาพูดถึงสถาบันกษัตริย์ ต่อให้พูดถึงในเรื่องปกติ ก็กลายเป็นเรื่องไม่ปกติแล้ว ดังนั้นถ้าเราถอยออกมา ใช้สติกับมัน พิจารณาในข้อที่ผมเสนอไป คือแก้เรื่องสำนักงานทรัพย์สิน นำโดยทำให้ทรัพย์สินเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินมันชัดเจนมากขึ้น
ผมยกตัวอย่างเช่น พระบรมมหาราชวัง หรือวัดพระแก้ว มันก็ควรจะเป็นของคนทั้งประเทศ แต่การแก้ให้เป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นไปตามพระราชวินิจฉัย มันก็ขัดกับเรื่องหลักประชาธิปไตยอยู่แล้ว เพราะทรัพย์สมบัติที่เป็นของส่วนรวม มันก็ควรจะเป็นของส่วนรวม คือพระองค์ท่านมาเป็นเจ้าของ ก็เป็นในนามของคนทั้งประเทศ คือทรัพย์สมบัติเหล่านี้เป็นในส่วนของพระมหากษัตริย์ก็จริง แต่มันจะเป็นส่วนของพระมหากษัตริย์ในอนาคตด้วย คือมันจะเป็นไปอย่างนี้ตลอด ไม่ใช่เป็นไปของคนใดคนนึงตัดสินใจ เรื่องนี้ผมคิดว่าถ้าคนคิด ตั้งสติกับมันจริงๆ เค้าจะรู้สึกว่ามันเป็นเหตุเป็นผลของมันอยู่
หรือแม้กระทั่งการโอนย้ายหน่วยกำลังทหาร ซึ่งเป็นทหารกำลังพลหลักของกรุงเทพฯ อย่างราบ 11 อย่างกองราบที่ 1 มันก็จะกลายเป็นรัฐซ้อนรัฐ หรือกองทัพซ้อนกองทัพ ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น ประเทศนี้มันมีรัฐเดียว คนที่จะคุมกองทัพทั้งหมดก็คือรัฐบาลเท่านั้น คนอื่นทำไม่ได้ อันนี้คือหลักการประชาธิปไตยเบื้องต้น อันนี้ต้องย้อนไปถึง 2475 ที่เราวางหลักให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และวางหลักอำนาจเป็นสัดส่วน มีอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ต่อไปนี้ถ้ามันเข้าร่องเข้ารอยกว่านี้
ถ้าฟังที่ผมพูดอย่างตั้งใจ เป็นเหตุเป็นผล ไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่ว่ารับฟัง และคิดตาม จะเห็นว่ามีเหตุผลซ่อนอยู่ในทุกบรรทัดในข้อเสนอ
ความรู้สึกตอนที่ปราศรัยเรื่องนี้
มันเป็นการร้องของของนักศึกษาที่จัดงาน และกลุ่มทั่วๆ ไปว่า อยากให้เป็นตัวแทนไปพูดเรื่องที่มันอาจจะพูดลำบาก ในแง่ของคนที่อาจจะมีข้อจำกัดทั้งในแง่ข้อมูล และการพูด แต่การปราศรัยเป็นการพูดที่ถูกเตรียม และเป็นส่วนหนึ่งของงานในวันนั้น เป็นเรื่องของการกล่าวถึงปัญหาที่ไม่มีใครกล้ากล่าวอ้างขึ้นมา เราใช้ธีมงานเป็นแฮร์รี่พ็อตเตอร์ ถ้าใครดูเรื่องนี้ก็จะรู้ว่า ภาค 7.2 เป็นการกล่าวอ้างถึงชื่อลอร์ด โวลเดอร์มอร์โดยตรง และเป็นการพูดต่อหน้าสาธารณะด้วย ซึ่งนั้นเป็นธีมงานที่เราจัดไว้
ผมแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เฟซบุ๊ก และในหลายๆ โอกาส แต่ครั้งที่ผ่านมามันชัดเจน เพราะมันเป็นการพูดในที่ชุมนุมชน และผมพยายามที่จะตัดเรื่องการใช้สัญญะออกไปให้หมดเลย เป็นการพูดอย่างตรงไปตรงมา เราจะไม่พูดคำเปรียบเปรย ไม่ใช้ศัพท์แสงที่ต้องไปตีความ คือใช้คำพูดตรงๆ และสื่อสารอย่างเคารพต่อทั้งตัวเอง ผู้ฟัง และสถาบันกษัตริย์
ตอนที่เราพูด เราก็ไม่กลัว เราเห็นน้องนิสิต นักศึกษาตื่นตัวกันมากขึ้น มันก็เป็นการปลุกความเป็นอานนท์ในเวอร์ชั่นอายุ 18-19 ปีขึ้นมา เป็นความสนุก ฮึกเหิม ตื่นเต้น แต่ว่าเราก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะคนที่เห็นด้วยกับเราก็เยอะ แต่คนที่เห็นต่างก็มี เราก็ระวังคนที่เห็นต่าง
เป็นไปได้ว่าก็มีคนที่เห็นด้วยกับเรา แต่ก็อาจจะยังกลัวที่จะพูด
มันจะค่อยๆ ทลายความกลัวลง ถ้าเราทำให้เป็นปกติ เหมือนครั้งนึงที่เราไม่กล้าด่ารัฐบาล แต่ตอนนี้คนพูดถึง วิจารณ์กันทั้งประเทศ คือถ้าเรามีพรรคพวก มีคนที่เห็นด้วยกับเรามากขึ้น และแสดงออกมากขึ้น มันก็จะทำให้คนกล้าพูดมากขึ้น บรรยากาศในการพูดง่ายขึ้น
ตอนนี้คนที่พูดถึงประเด็นนี้ก็เป็นนักกิจกรรม เป็นนักศึกษา ยังไม่ค่อยมีคนที่อยู่ในสภา
ผมว่ามันเป็นเพดานที่เราจะต้องช่วยกันผลัก ผมเห็นความพยายามของคนในสภาที่จะพูดถึงอยู่ ไม่ว่าจะคุณโรม หรือคุณพิธา ในการที่พูดปัญหาที่ในกระอักกระอ่วนเราทุกคนทั้งประเทศเรารู้ว่ามันคือเรื่องโครงสร้างของประเทศในเรื่องสถาบัน ที่พระราชอำนาจบางอย่างที่มันขยายออกมาจนล้นเกิน ผมว่าเราต้องผลักเพดานนี้ร่วมกัน เพราะการออกแบบของการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีรัฐสภา ทุกปัญหาต้องเอาไปพูดในสถาได้ เพดานในการพูดที่มีการตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ที่ทำให้ไม่มีการพูด หรืออภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ เราต้องทำลายเพดานนั้นลง เพื่อแก้ปัญหา
ที่ผ่านมาโดนแจ้งข้อหาไปหลายคดี หลังจากปราศรัย
มันเป็นเรื่องที่คาดหมายได้อยู่แล้วว่าคนที่เห็นต่างจากเรา เขาก็จะไปแจ้งจับ ซึ่งเราก็ไม่ได้กลัวอะไร เราเป็นนักกฎหมาย เราเห็นว่าสิ่งที่เราพูดไม่ได้ผิดกฎหมาย ที่สำคัญมันเป็นการพูดด้วยเจตนาดี เจตนาสุจริตต่อบ้านเมือง ผมคิดว่าต่อให้ฟ้องไป ศาลก็วินิจฉัยเป็นคุณกับเรา กระบวนการยุติธรรมผมว่ามันมีเกณฑ์ของมันอยู่ ว่าเขามีสิทธิในการกล่าวหา เราก็มีสิทธิในการสู้คดี ซึ่งเราก็ไปว่ากันในชั้นศาล เรามีพยานหลักฐานก็ไปสู้กัน ซึ่งไม่น่ากลัวเลย
ปกติแล้วทนายความว่าความให้ลูกความ แต่ทนายอานนท์เป็นทนายที่เป็นผู้ต้องหาเองบ่อยครั้งด้วย
ถ้ามองเป็นแง่วิชาชีพอาจจะมองได้ไม่รอบด้าน แต่ถ้ามองว่าทั้งวิชาชีพทนาย และการต่อสู้นอกจากการเป็นทนาย มันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคม มันเป็นเรื่องเดียวกันที่ต้องทำ บางเรื่องอยู่ในศาลถ้าไม่ออกมาพูดต่อมันก็ไม่มีใครรู้ และเรื่องส่วนใหญ่ที่มีปัญหาก็อยู่ในศาล ดังนั้นการบาลานซ์ การทำงานระหว่างทนายและนักกิจกรรมให้ออกมาดี มันเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะนักต่อสู้ในต่างประเทศหลายคนก็เป็นนักกฎหมาย และทักษะนึงที่เราได้มาจากการเป็นทนายก็คือการพูด การเรียงร้อยถ้อยคำให้เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของทนาย พอเราเอามาพูดบนเวทีมันก็ทำให้เราสื่อสารได้ง่ายขึ้น พูดได้ตรงขึ้น
ปัญหาคือถ้าเราไปพูดอ้อมๆ มันจะเข้าใจไม่ตรงกัน และมันจะมีการยั่วยุฝ่ายตรงข้ามให้โกรธด้วย อย่างถ้าไปเปรียบเปรยในหลวงด้วยคำอื่น ก็ดูเป็นการยั่วยุ แต่ถ้าเรากล่าวตรงๆ ถึงสถาบันกษัตริย์ ใช้คำโดยตรง คนที่อยู่ฝั่งนู้นเองก็จะฟังลื่นหูขึ้น และการฟังลื่นหูมันก็จะไม่ได้มีอคติมากเหมือนการไปพูดอ้อมๆ
มองการต่อสู้ของตัวเองจนถึงตอนนี้อย่างไร และมองไปถึงอนาคตอย่างไร
อนาคตของผมก็ผูกไว้ที่การต่อสู้ ถ้าเป็นไปได้เราก็คงจะต้องถนอมตัว และต่อสู้ไปให้ถึงเส้นชัยร่วมกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันจะไม่ตั้งอยู่บนความกลัว จนไม่กล้าไปทำอะไรต่อ โดยวิชาชีพ และโดยพื้นที่ที่พูดได้มากกว่าคนอื่น ในแง่นึง เรามีคนตามในเฟซบุ๊ก เป็นคนที่สาธารณชนจับตา การพูดให้มันดังขึ้น ถี่ขึ้น ก็ถือเป็นหน้าที่เลย เพราะว่าตอนนี้เราเหมือนเราทำหน้าที่แทนคนที่ไม่มีโอกาสจะพูด หรือเสียงไม่ดัง สิ่งที่ผมพูดไม่ใช่สิ่งที่ผมคิดเอง แต่ผมก็เรียนรู้มา จากประชาชนที่ส่งเรื่องมา มันก็เหมือนกับเราเป็นคนพูดแทนเขาบนเวที
มองการชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ว่าจะขับเคลื่อนประเทศได้ถึงไหน
จำนวนของคนร่วมก็มีส่วนสำคัญ การชุมนุมเป็นส่วนนึงของการขับเคลื่อนประเทศ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การชุมนุมมันจะต้องส่งไม้ต่อไปถึงองค์กร และหน่วยงานที่มีอำนาจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญมันต้องส่งต่อไปที่ ส.ส.หรือผู้แทน การเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัว ก็ต้องส่งไป ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ทุกองคาพยพต้องช่วยกันเรื่องนี้
การชุมนุมเป็นกลไกนึง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด อย่าคิดว่าแค่คนออกมาแล้วจะเปลี่ยนมันไม่ใช่ มันเป็นส่วนนึงที่เป็นส่วนสำคัญในการส่งต่อไปยังองค์กรที่แก้ปัญหาได้อย่างสงบ สันติ เพราะว่าถ้าเราตกลงกันว่า ถ้าการแก้ปัญาจะเป็นไปตามร่อง ตามรอย ตามรัฐธรรมนูญ มันจะต้องส่งไปที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ แต่ถ้าคิดว่าการชุมนุมจะเป็นการปฏิวัติ ความรุนแรง ก็เป็นอีกเรื่องนึง ผมว่าตอนนี้ยังไม่ใช่
ในการต่อสู้ หลายประเทศก็จบแบบฝ่ายประชาธิปไตยพ่ายแพ้
ผมคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องการต่อรอง ครั้งนี้ผมคิดว่าธงที่เราชูเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ชนชั้นนำไทยยอมรับได้ ส่วนเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่ค่อยๆ ทำ ผ่านรัฐสภา ต่อไปนี้ถ้าเรามีกระบวนการเลือกตั้งที่มันชอบธรรม มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีรัฐสภาที่เสียงส่วนใหญ่เป็นเสียงของคนทั้งประเทศ การแก้ไขเรื่อง พ.ร.บ.ทรัพย์สินก็ดี การแก้ไขเรื่องการโอนกำลังพล มันก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าเราไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย กระบวนการที่ชอบธรรม แก้กฎหมายที่ขยายพระราชอำนาจก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
อย่าลืมว่าพระราชอำนาจที่ถูกขยายมาทุกวันนี้ ส่วนนึงมาจากการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติเราแข็งแรง การแก้กฎหมายพวกนี้เป็นเรื่องที่ไม่ได้ยากเกินไป
ส่วนนึงก็มีคนที่ไม่ได้มองว่าต้องปฏิรูปอะไร ไม่ได้มองว่าอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของเรา จะทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการเรียกร้องครั้งนี้
บางทีการชุมนุมเป็นแฟชั่นด้วย แต่ถ้าเกิดว่าออกมาบ่อยๆ ฟังข่าวสารบ่อยๆ จากที่เป็นแฟชั่นมันจะกลายเป็นอุดมการณ์ขึ้นมา กลายเป็นสิ่งที่ฝังลึกลงไปในความคิด หลายคนที่มาครั้งแรกๆ ก็อาจจะมาเพราะว่าเพื่อนพามา แต่พอมาฟัง มาเรียนรู้ร่วมกัน สุดท้ายคนเหล่านั้นจะพาคนที่อยู่ข้างๆ มา และถ้าข้อเสนอ ข้อมูลของที่ชุมนุมมันคมคาย มันแหลมคม และตกผลึกร่วมกัน คนที่ไม่ได้ออกมา เขาก็พร้อมที่จะออกมาร่วมด้วย
อย่างตอนนี้ในที่ชุมนุม เราก็จะเห็นคนที่ไม่รู้เรื่องการเมืองเลย หลายคนไม่รู้เรื่องทักษิณด้วยซ้ำ มันออกมาด้วยความมุ่งหมายอีกแบบ แต่ว่าสุดท้ายแล้ว ถ้าข้อเสนอ ข้อมูลมันแหลมคม คนทั้งสังคมพร้อมที่จะเปลี่ยนออกมา จากแม่ที่แค่มาส่งลูกมาชุมนุม แม่ก็จะรอฟัง และมาร่วมด้วย ซึ่งตอนนี้มันเป็นอย่างนั้นแล้ว การชุมนุมมันขยายขึ้นอย่างเป็นนัยยะสำคัญ ตามต่างจังหวัดโตมาก ทั้งในแง่ของคนที่มาร่วม และในแง่ประเด็นที่พูดบนเวที
คนส่วนใหญ่ตอนนี้ติดตามการเมือง คุณหนีไม่ได้หรอก มันจะมีเพื่อนซักคนที่โพสต์การเมือง และปรากฏอยู่ในหน้าฟีด คุณมีไลน์ ก็มีคนส่งมา มันเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องการเมืองไม่ได้หรอก
และเอาเข้าจริงๆ การเมืองมันมากกว่าเรื่องความเห็น เรื่องในโซเชียล ซักวันนึงที่คุณเจอรัฐบาลสั่งห้ามออกจากบ้านเพราะเคอร์ฟิว การที่รัฐบาลปล่อยให้มีทหารต่างชาติที่ติดโควิดเข้ามาได้ ก็จะรู้สึกว่าการเมืองใกล้ตัวเขามา ไม่ใช่เรื่องไกลตัว
ภาพเมืองไทยที่ทนายอานนท์ต่อสู้เพื่อ และอยากเห็นเป็นอย่างไร
มันไม่มีโลกพระศรีญาณในโลกความเป็นจริง แต่จุดที่ทุกคนแสดงออกได้อย่างเสรี และเคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นในช่วงชีวิตของเรา เราอยากเห็นสถาบันกษัตริย์เคารพความเป็นมนุษย์ของราษฎร และก็อยู่กันโดยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เราก็เคารพสถาบันกษัตริย์ สถาบันก็เคารพความเป็นมนุษย์ของเรา ในแง่นึงความสัมพันธ์ที่มีการเคารพซึ่งกันและกัน ก็นำไปสู่หัวใจสำคัญของการเป็นประชาธิปไตยคือหลักเสรีภาพ เสมอภาค และอยู่กันอย่างภราดรภาพ เคารพกันแม้แตกต่างกัน
สิ่งที่อยากเห็นคิดว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ ประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้น
ตอนนี้มันเริ่มเห็นแล้ว สิ่งที่เราต้องการเห็นแต่ก่อนมันเหมือนการไปเดินในป่าทืบๆ ไม่เห็นอะไร แต่ตอนนี้มันเหมือนเราเดินมาบนเนิน และเราเห็นแล้วว่าข้างหน้าเราคืออะไร แล้วโชคดีกว่านั้นคือ หลายคนเห็นร่วมกันแล้วว่าเส้นชัยข้างหน้าคืออะไร
การเรียกร้องของนักศึกษาก็ดี นักเรียน หรือคนรุ่นใหญ่ๆ พ่อแม่ ลุงป้า เราเห็นเป้าหมายร่วมกันแล้ว ที่เหลือคือการต่อสู้ให้มันเป็นไปตามเป้าหมายเท่านั้นเอง ผมว่าไม่ยาก และก็โอกาสชนะกับแพ้ โอกาสชนะมากกว่า