อาชีพตำรวจ มักถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ต้องบริการประชาชน เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
แต่ในช่วงที่ผ่านมากลับมากระแสแง่ลบมากมายเกี่ยวกับตำรวจ มีการพูดล้อเลียน ไปถึงสัญลักษณ์ข้อความต่างๆ ที่พูดถึงตำรวจมากมาย โดยเฉพาะกับการปฏิบัติงานสลายการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการใช้แก๊สน้ำตา หรือการยิงกระสุนยาง ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่จะชี้ว่าเป็นการทำตามหลักสากล แต่ภาพที่เราเห็น คลิปหลักฐานที่ออกมา กลับเห็นถึงความรุนแรง และการกระทำที่ดูเกินกว่าเหตุ หรือหลักสากลด้วย
ที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของอาชีพตำรวจเคยถูกมองในแง่ลบขนาดนี้หรือไม่ ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นไปตามหลักสากลจริงไหม และจะมีวิธีการกู้ภาพลักษณ์ หรือปฏิรูปตำรวจได้อย่างไร The MATTER พูดคุยกับตำรวจเกษียณอายุ และตำรวจที่อยู่ในราชการ รวมถึงครอบครัว คนใกล้ชิดของตำรวจว่า พวกเขามองประเด็นเหล่านี้กันอย่างไรบ้าง
ภาพลักษณ์ติดลบของตำรวจ
ตำรวจเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงรายวัน ทั้งมีแฮชแท็ก หรือมีข่าวต่างๆ โดย ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือทนายแจม ทนายความสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานคดีกับตำรวจมามากมาย และยังมีสามีรับราชการตำรวจก็มองว่าภาพลักษณ์ และความรู้สึกด้านลบของประชาชน กับตำรวนมันเปลี่ยนมาซักพักใหญ่ๆ แล้ว
“ไม่ใช่แค่เรื่องม็อบ มันสะสมมาเรื่อยๆ คือตำรวจไม่ได้เป็นที่พึ่ง ไม่ได้เป็นบุคคลที่เจอแล้วสบายใจ แต่กลายเป็นความรู้สึกว่า เจอแล้วรู้สึกกลัว เราทำอะไรผิดเปล่าวะ จะมายัดยา จะมาจับไหม เป็นอำนาจอะไรบางอย่าง ซึ่งตามหลักตำรวจควรจะเป็นภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรกับประชาชน ตำรวจมันมีหลายหน้างาน มีทั้งจราจร สายสืบ สายตรวจ ซึ่งแต่ละหน้างานมันต่างกัน แต่ตอนนี้ประชาชนก็จะมองตำรวจเป็นภาพเดียว”
ทนายแจมยังเล่าอีกว่า สำหรับสามีเธอ เคยอยู่หน่วยปราบปราม ก็จะมีหน้าที่ปรากฎกายตามสถานที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดอาชญากรรมขึ้น อาจจะเป็นในมุมที่ให้น่าเกรงขามขึ้น หรืออย่างตำรวจจราจรก็จะกวดขันเรื่องการจราจร ส่วนพนักงานสอบสวนก็จะเป็นส่วนที่ต้องเจอประชาชนจริงๆ คือเขาเข้ามาขอความช่วยเหลือจริงๆ หรือสายสืบที่ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบ เป็นนอกเครื่องแบบไปสืบสวน หาข่าวหรือคดี “แต่อย่างตอนนี้ คนติดภาพ คฝ. ซึ่งเขาก็คือตำรวจเหมือนกัน” เธอเล่า
อย่างที่ทนายแจมบอกว่า ตำรวจเองก็มีหลายหน้างาน สำหรับนักข่าวหนุ่มคนหนึ่ง ในบางวันเขาเองก็ต้องลงภาคสนาม ไปรายงานข่าวในพื้นที่ชุมนุม เห็นภาพความรุนแรงต่างๆ ในปฏิบัติการของ คฝ. แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อกลับบ้านแล้ว เขาก็เป็นลูกชายของคุณพ่อที่รับราชการตำรวจ ซึ่งเขาก็บอกกับเราว่าแม้สังคมจะมองตำรวจแย่ลง แต่มุมมองของเขาไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก
“ตั้งแต่เด็ก เราเห็นภาพของพ่อที่เป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ (สายสืบ) เดินทางขึ้นเหนือลงใต้ อยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองมาตลอด (ปี 2535, 2549, 2553 และ 2557) เชาทำงานหนักอยู่ตลอด ดังนั้น สำหรับเราพูดได้เลยว่าภาพลักษณ์ต่ออาชีพตำรวจของเราไม่เปลี่ยนไป เราแค่รู้สึกว่าพวกเขาก็มนุษย์คนนึง มีความคิด ความรู้สึก มุมมองทางการเมือง ความจำเป็นในชีวิต ครอบครัวที่แบกอยู่ อะไรต่างๆ นานา
ซึ่งตรงนี้ ต้องพูดให้ชัดว่า สำหรับเราตำรวจไม่เคยเป็นสีขาวสะอาดสะอ้านอยู่แล้ว มันเป็นอาชีพสีเทาเช่นเดียวกับหลายๆ เรื่องในสังคมไทย พวกเขาติดต่อคบค้ากับเจ้าพ่อ ผู้มีอำนาจ และหลายครั้งต้องยอมรับเงินตามน้ำที่ไหลมาในระบบทุกวัน จนแทบทำกันเป็นเรื่องธรรมดา และมีข้ออ้างกันว่า ถ้าไม่รับ เราก็อยู่ไม่ได้ เราก็ยอมรับว่าที่เรามาอยู่ตรงนี้ในวันนี้ได้ ก็เพราะเงินตามน้ำเหล่านั้นเหมือนกัน”
เราถามเขาต่อ ถึงคำเปรียบเทียบต่างๆ ในที่ชุมนุมไม่ว่าจะหมารับใช้ เอาอาหารหมามาล้อเลียนเชิงสัญลักษณ์ ว่ารู้สึกอย่างไร ?
“สำหรับเราเอง เราเสียใจนะ ถึงรู้ว่าเขามุ่งเป้าไปที่ปัญหาเชิงโครงสร้างหรืออะไรก็ตาม แต่มันก็คืออาชีพของพ่อเราอะ และมันก็พูดได่ไม่เต็มปากว่าพ่อเราหลุดจากคำด่าพวกนั้น เพราะพ่อเราเองก็เป็นเฟืองตัวนึงในระบบที่รับใช้และทำให้ระบบมันยังหมุนไปต่อได้อะ” นักข่าวหนุ่มสะท้อน
“ภาพลักษณ์ตำรวจตกต่ำที่สุด ตั้งแต่มีอาชีพตำรวจมาแล้ว” นี่คือเสียงจากร้อยตำรวจโทคนหนึ่ง เมื่อเราถามถึงภาพลักษณ์ของตำรวจในช่วงนี้ โดยเขาเองไม่ได้จบจากโรงเรียนนายร้อย แต่มารับราชการหลังเรียนจบปริญญาตรี ผ่านการเรียนแบบบุคคลภายนอก ในหลักสูตรนักเรียนอบรม เขามองว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับการรับราชการ ทั้งยังมีพ่อที่ก็เป็นตำรวจเหมือนกัน
เขาเล่าว่าเนื้องานตำรวจของเขาไม่ต้องติดต่อกับประชาชนโดยตรง ที่รับผิดชอบอยู่เป็นฝ่ายสนับสนุน เป็นงานเอกสาร เลยไม่ได้สัมผัสว่าประชาชนรู้สึกยังไงโดยตรง แต่ก็พูดได้ว่าขนาดไม่ได้เจอประชาชนยังรู้สึกได้มากๆ ถึงกระแสด้านลบที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเขาคิดว่าคนที่หน้างานต้องลงพื้นที่ เจอประชาชนคงต้องรับความรู้สึกด้านลบขึ้นมากกว่าแต่ก่อนแน่ๆ และตอนนี้ยิ่งรุ่นเด็กๆ ลงมา อาจจะเกือบ 100% ก็มองอาชีพตำรวจไม่ดีไปแล้วด้วย
แม้ว่าตำรวจจะมีหลายหน้างาน แต่ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่คุมฝูงชน (คฝ.) เป็นปัจจัย และประเด็นหลักที่ตอนนี้ถูกจับตามากๆ ประเด็นที่ คฝ.ใช้ความรุนแรง ปฏิบัติดูเกินขอบเขตนั้น พ.ต.ท.ทรงศักดิ์ ธิติธารวัฒน์ อดีตรองผู้กำกับฝ่ายอำนวยการ ตำรวจภูธรจังหวัดพะเยา ซึ่งเคยเป็นครูฝึกตำรวจด้วยก็บอกกับเราว่า ที่มาของรัฐบาลแต่ละสมัย มีผลต่อคำสั่งที่ลงมาถึงผู้ปฎิบัติการ
“การทำงานของ คฝ. มันขึ้นอยู่กับว่า อยู่ในสมัยที่รัฐบาลนั้นมีที่มาอย่างไร ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เกือบทุกยุคสมัยโดยเฉพาะหลังๆ ก็จะมองว่าประชาชนเป็นศูนย์กลาง ในการบริหารการจัดการการชุมนุมก็จะผ่อนจากเบาเป็นหนัก ยกตัวอย่างสมัยนายกฯ ทักษิณ และยิ่งลักษณ์จะมีการตั้งโต๊ะเจรจากับม็อบเลย ว่าฝ่ายผู้ชุมนุมเรียกร้องอะไร และรัฐจะขจัดปัญหาข้อเรียกร้องไปได้ไหม”
เขายกตัวอย่างการชุมนุมของเกษตรกรสมัยนายกฯ ทักษิณว่า “มีปีนึงลำไยตกต่ำ เหลือกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ชาวบ้านก็ขนลำไยไปเทที่ซูเปอร์ไฮเวย์ และปิดถนนเลย ทักษิณก็เดินทางมาตั้งโต๊ะเจรจา และหลังจากนั้นก็เรียกทูตทั้งประเทศมาว่า เอาลำไยไปขาย ถ้าเขาไม่ซื้อ ก็แจกฟรี แล้วหลังจากนั้นราคาลำไยก็ขยับขึ้นเรื่องๆ จนเกษตรกรเป็นที่พอใจ
“หรืออย่าง คฝ.ที่ควบคุมม็อบ ถ้าเป็นสมัยม็อบเสื้อแดง ก็จะเหมือนญาติกันเลย ม็อบจัดอาหารมาให้ตำรวจ ตำรวจออกเวรมา ก็จะไปร้อง ไปเต้นกับผู้ชุมนุม ไม่มีเรื่องบาดเจ็บ รุนแรงกัน ซึ่งต่างกับม็อบ กปปส. ที่มีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำวจ ความรุนแรงมันเกิดขึ้นได้ทั้งสองฝ่ายทั้งจากผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่”
“แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมองประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ถ้ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เผด็จการจะไม่มีความไว้วางใจประชาชน เพราะว่าปล้นอำนาจเขามา ก็จะหวาดระแวงประชาชนตลอดเวลา ตั้งแต่ประยุทธ์เข้ามา ไม่ว่าจะจากการยึดอำนาจ หรือการเลือกตั้งก็ตาม ก็มีที่มาไม่ชอบธรรมทั้งนั้น เขาจึงไม่ไว้วางใจประชาชน ดังนั้นนโยบายที่มอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาคุมฝูงชน จึงเกิดบนพื้นฐานของความหวาดระแวง
ตอนยึดอำนาจ มีการแก้กฎหมาย พรบ.การชุมนุม จำกัดสิทธิเสรีภาพของการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ โดยการสร้างเงื่อนไขต่างๆ ให้ประชาชนต้องขออนุญาต ต้องแจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง พอมามีสถานการณ์การชุมนุมในปีที่แล้ว บวกกับสถานการณ์โรคระบาด ก็เลยประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ทำให้การชุมนุมระหว่างนี้ ผิดกฎหมายทั้งหมด จึงมอบนโยบายแบบเต็มเหนี่ยวให้ชุด คฝ.จัดการกับผู้ชุมนุมขั้นเด็ดขาด” เขาสรุป
ทำตามหลักสากลหรือไม่ ทำเกินกว่าเหตุไปหรือเปล่า หากประชาชนฟ้องกลับจะเป็นอย่างไร ?
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา (13-20 สิงหาคม 2564) เป็นช่วงที่มีปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ สลายการชุมนุมในเกือบทุกวัน และดูที่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องนี้ พ.ต.ท.ทรงศักดิ์ก็บอกกับเราว่า เห็นได้ชัดเจนว่าการควบคุมของ คฝ.ไม่ตามหลักสากลที่ผ่อนจากเบาไปเป็นหนัก
“หลายครั้งมีการใช้กระสุนยางเลย หลายครั้งผู้ชุมนุมยังไม่ใกล้แนว คฝ. ก็เปิดฉากยิงเลย ทั้งการยิงกระสุนยางยังผิดหลัก เพราะห้ามยิงที่อวัยวะสำคัญ และตอนนี้ยังยิงกราดมั่วไปหมด โดยตามหลักต้องยิงแค่คนที่ก่อให้เกิดความรุนแรงเท่านั้น ไม่ใช่ยิงใครก็ได้ เลวร้ายไปกว่านั้นคือการยิงจากที่สูงข่ม ซึ่งไม่มี่ไหนในโลก เพราะการยิงจากที่สูงมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกอวัยวะสำคัญอย่างศีรษะ หลายคนสาหัส นอกจากนี้ยังมีการแทรกแซงด้วยมือที่ 3 มีการแจมด้วยกระสุนจริงที่เห็นไป มีผู้ถูกยิงด้วยกระสุนจริงแล้ว ดังนั้นมันแปลว่าสถานการณ์การชุมนุมจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดผมไม่อยากให้มีการประกาศเขตประสุนจริง เหมือนสมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
“คฝ. มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมเป็นไปตามกฎหมาย และรักษาสถานที่ราชการ ไม่ใช่ไปตั้งแนวอยู่กลางถนน อย่างม็อบจะไปบ้านนายกฯ ก็ต้องไปตั้งแนวห่างจากบ้านไม่เกิน 50 เมตร ไม่ใช่ดักตั้งแต่หัวถนนวิภาวดี ประชาชนมีความชอบธรรมจะใช้ถนน และไปบ้านนายกฯ เพราะเป็นบ้านพักของทางราชการ ไม่ใช่บ้านพักส่วนตัว ประชาชนเดือดร้อนก็มีสิทธิจะไปเรียกร้อง ให้นายกฯ บำบัดข้อเรียกร้องของตัวเอง”
ทนายแจมเอง ก็มีโอกาสได้พูดคุยกับ คฝ. ในหลายๆ ครั้ง ซึ่งสำหรับเรื่องหลักสากล เธอก็บอกเลยว่า เจ้าหน้าที่เองก็รู้ และยอมรับกับเธอว่าทำเกินมาตรการ “เขาก็ยอมรับว่าเขาทำผิดยุทธวิธี เขาก็รู้ แต่เขาบอกว่ามันเป็นหน้างานของเขา เขาบอกว่าถ้าทำตามวิธีมันจัดการกับเด็กพวกนี้ไม่ได้ คือเขาก็มองม็อบเป็นสองส่วนนะ คือส่วนที่ใช้ความรุนแรง กับส่วนที่มาเรียกร้องจริงๆ แต่เวลาเขาจัดการ เราก็เห็นว่าหน้าที่ที่เขาทำมันไม่ถูก ในการไปตี หรือใช้กำลัง เพราะคนที่มาชุมนุม เขาไม่ได้เรียกร้อง หรือมองว่าตำรวจเป็นคนที่เขาเกลียด เขามาปาสี ปาขวดโดยการมองในเชิงอำนาจของรัฐ ไม่ได้มองว่าตำรวจเป็นคนที่เขาขัดแย้งด้วย
ความรุนแรงที่มันก็เกิดมาตลอดตั้งแต่ต้นปี มันคือความอึดอัดของประชาชน มุมนึงประชาชนไม่รู้ว่าจะทำยังไง เพราะอัดอั้นขนาดที่เผาอะไรได้ คือคนที่สิ้นไร้ไม้ต่อแล้ว เพราะวิธีการไหนก็ใช้ไม่ได้ ในเชิงกฎหมายคุณก็เอาเราไปขัง ในจุดที่มันต้องหาวิธีการปลดปล่อย แต่ตำรวจก็ไม่เข้าใจ เพราะมีมุมทื่อๆ บื้อๆ อยู่ว่าก็ผิดกฎหมาย ก็จับ แต่ไม่ได้ดูในมุมว่าเขาทำผิดกฎหมายเพราะอะไร ต้นเหตุที่เขามาคืออะไร”
ทั้งหน้าที่คุมฝูงชนคือบริการ อำนวยความสะดวกไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ถ้าเห็นคนทำผิดกฎหมายก็จับ ส่งพนักงานสอบสวน ไม่ใช่ลากมากระทืบ หรือตี มันผิดวิธี คุณไม่ใช่คู่ขัดแย้ง คือผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย การทำร้าย คือการทำผิดหน้าที่ เกินกว่าอำนาจที่ให้ไว้” ทนายแจมชี้
ด้านร้อยตำรวจโท เขามองว่าในเมื่อยังไงเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องออำมาปฏิบัติงาน เพราะหากไม่มาก็ถือเป็นการละเว้นหน้าที่ แต่เขาก็สะท้อนให้เราฟ้องถึงจุดอ่อนที่เขามองเห็นว่า คือเรื่องของการสื่อสาร “ผมว่าเป็นจุดอ่อนของตำรวจ และภาครัฐเอง การสื่อสารวิธีที่จะใช้ มันซับซ้อน แต่ควรจะอธิบายให้มากกว่านี้ ควรเอาเหตุการณ์มาอธิบายกับผู้ชุมนุมแต่ละขั้นตอนว่า เขาทำตามขั้นตอน ตามตัวหนังสืออย่างไร ให้ละเอียดเลยว่าหลักการจริงๆ เป็นยังไง และที่เขาทำตามนั้นหรือเปล่า พอมันคลุมเครือ มันก็ไม่รู้จะเชื่อใคร ก็ไม่แหล่งจริงๆ ว่านี่ตามหลักหรือเปล่า หรือเกินจริงไปแค่ไหนด้วย”
เมื่อเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ ฝั่งภาคประชาชน ไปถึงสื่อมวลชน ที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม ก็เริ่มที่จะฟ้อง และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วเช่นกัน ซึ่งทั้ง พ.ต.ท.ทรงศักดิ์ ก็บอกกับเรา การฟ้องยิ่งสงผลต่อภาพลักษณ์ตำรวจด้วย
“ผมคิดว่า ผู้เสียหายฟ้องร้องแน่นอน ในกรณีของลูกนัท (ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ซึ่งถูกยิงแก๊สน้ำตาเข้าที่ดวงตา ในม็อบ 13 สิงหา) เขาเอาทั้งอาญา และแพ่งแน่นอน ก็เป็นการเอาคืนกันไป เอาคืนกันมา ผมเลยโพสต์เตือนน้องๆ คฝ. ว่าอย่างเล่นแรงเกินกว่าอำนาจ อย่าเล่นเกิน เพราะต้องรับผิดแน่ๆ แล้วคดีพวกนี้มันมีอายุความ รัฐบาลที่คุ้มครองวันนี้ อยู่ได้ไม่นานแน่
ทั้งในการตรวจสอบแต่ละวันว่า เจ้าหน้าที่ คฝ.เป็นใครมาปฏิบัติงานบ้าง มันไม่ได้ยาก ถ้าระบุตัวได้ก็จะถูกฟ้องเป็นรายบุคคล แต่ถ้าระบุไม่ได้ก็จะถูกฟ้องทั้งชุด รวมถึงผู้บังคับบัญชาด้วย และนายกฯ ด้วย แต่ถ้าระบุตัว หรือตรวจสอบไม่ได้ เขาก็จะฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งยังไงก็กระทบต่อภาพลักษณ์มากๆ” นายตำรวจเกษียณกล่าว ทั้งยังบอกว่าการชุมนุมทุกครั้งมีคลิป มีหลักฐานหมด แทบจะตรวจสอบได้ทุกตารางนิ้วของพื้นที่การชุมนุม
ทนายแจมก็เป็นคนที่เห็นตรงกันว่า การฟ้องร้องจะเกิดขึ้นแน่นอน และเป็นสิ่งที่ประชาชนทำได้ เพราะเป็นการทำเกินกว่าเหตุ
“เราคุยกับ คฝ.เราก็แอบขู่แล้วว่า ถ้าฟ้องขึ้นมาจริงๆ คนที่ซวยคือตัวพวกเขา ไม่ใช่นาย นายก็จะพูดแหละว่า ไม่ได้สั่ง สั่งแค่นี้ เราทำคดีมานานเราเห็นเลยนายแบบนี้ สุดท้ายโดนลูกน้องทุกคน คนซวยคือคนที่ทำเกินขอบเขตอำนาจ นายก็จะบอกว่าเขาสั่งแค่นี้ นอกเหนือจากนี้ทำกันเอง ไม่ได้บอกให้ตีหัว เวลาติดคุกก็คือพวก คฝ.นะ เราบอกเขาเลยนะว่าถ้าเห็นแก่ลูกเมีย ต้องคิดให้ดีก่อนจะฟาดใคร จะบอกว่าทำตามหน้าที่ ถ้าไม่ทำโดนไล่ออก แต่ถ้าคุณทำประชาชน คุณติดคุกนะ อันไหนลำบากกว่า” เธอตั้งคำถามกลับกับ คฝ.
เมื่อตำรวจเองก็โดนกดขี่ ในความโกรธนี้ จะทวงความยุติธรรมให้เขาอย่างไร ?
แม้จะมีกระแสด้านลบกับ คฝ. แต่ก็มีอีกกระแสนึง #ทวงคืนเบี้ยเลี้ยงให้คฝ เกิดขึ้น จากการที่ คฝ. ได้ติดต่อทนายแจมมาระบายเรื่องเบี้ยเลี้ยงตำรวจที่พวกเขาไม่ได้รับแม้จะมาปฏิบัติงาน ซึ่งเธอมองว่า เบี้ยเลี้ยงเรามองว่ามันเป็นสิ่งที่เขาควรจะได้ และการทวงไม่ได้แปลว่าเราเข้าข้างเขาด้วย
“เราไม่คิดว่ามันจะไปขนาดนั้น เราแค่ทวงคืนให้ เพราะอีกมุมนึงเราก็อยากให้เขาเห็นว่าเราก็สื่อสารในมุมของเขาให้ได้รู้บ้าง ว่าเขามีมายเซ็ทแบบไหน ถ้าเราไปตั้งการ์ด หรือด่าอย่างเดียว มันก็ไม่มีจุดตรงกลางที่คุยกันได้ ความขัดแย้งมันไม่มีทางหายได้ พอเรามีโอกาสที่เราได้คุยกับเขา เขาก็บอกว่าเขาขอฝากเรื่องนี้ได้ไหม ไม่อยากให้เงียบ เราเองก็ไม่ได้มองแค่มุม คฝ. แต่มองถึงครอบครัวเขาด้วย และการพูดเรื่องนี้มันก็ทำให้เห็นว่าในองค์กรมันก็มีปัญหาเรื่องนี้ มีการกดขี่ หรือเรื่องที่มันไม่แฟร์
เราคุยกับเขาเราไม่ได้คุยในมุมคู่ขัดแย้งเสมอไป เราพยายามจะให้เขาพูดในมุมของเขา เราก็เห็นว่าฝั่งเขาเป็นยังไง เรารู้ว่ามันไม่ใช่หน้าที่เรา แต่พอมันเป็นโอกาสที่ได้คุย เราก็อยากจะสื่อสารต่อ ก็มีคนด่าเราที่ไปช่วยทวงเบี้ยเลี้ยง เราเข้าใจอารมณ์คน แต่เราคิดว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหากันได้ด้วยความโกรธ ความโกรธมันใช้ได้ในระยะเวลานึง สุดท้ายก็ต้องมีการพูดคุยกันอยู่ดี ถ้าฝั่งเราไม่มีพื้นที่ให้เขาได้คุยเลย ความรุนแรงก็ไม่มีทางหาข้อยุติ หรือเอาเขามาเป็นพวกได้เลย”
ด้านนักข่าวหนุ่มเอง ก็มองเรื่องนี้เช่นกันว่าควรจะมีพื้นที่ให้ คฝ.ด้วย “มันดูเป็นการเมืองหน่อยนะ แต่เราเชื่อว่าการรวมคนอื่นมาเป็นพวก ย่อมดีกว่าการผลักเขาออกจากกลุ่ม เราคิดว่าการเปิดแคมเปญรณรงค์หรือตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก เช่น คฝ. ปลดแอก, ตำรวจของประชาชน บลาๆ เพื่อเปิดพื้นที่และโอกาสให้พวกเขาได้มีที่หลบ หรือให้ข้อมุลอย่างลับๆ น่าจะเป็นอะไรที่ดีมาก มากกว่าการไล่ด่าให้เขาน้อยเนื้อต่ำใจนะ ซึ่งการด่ามันก็ดี แต่เราไม่คิดว่ามันทำให้ใครคิดได้เท่าไหร่”
ส่วนในมุมนี้ ตำรวจมากประสบการณ์ อย่าง พ.ต.ท.ทรงศักดิ์ ได้เล่าว่า ในสมัยของเขา หน่วยของเขาไม่เจอเหตุการณ์อมเบี้ยเลี้ยง แต่ยอมรับว่ามันมีจริงๆ “คฝ.มันขึ้นกับแต่ละหน่วยที่จัดกำลังมา ส่วนใหญ่ก็จะปรับเปลี่ยนกำลังมาตามตำรวจภูธรภาคต่างๆ ถ้าส่วนกลางกำลังไม่พอ ก็ต้องเรียกกำลังจากส่วนภูมิภาค” ซึ่งเขาเล่าว่า การเอาเจ้าหน้าที่จากต่างจังหวัดมาประจำกรุงเทพฯ ก็ต้องพบเจอกับปัญหาหลายๆ อย่าง
“เช่น การเอาตำรวจภาคเหนือ มากรุงเทพ ก็มีปัญหาความแตกต่างหลายอย่าง ทั้งอากาศ สภาพความเป็นอยู่ ไม่ได้นอนโรงแรม ต้องนอนวัด นอนโรงเรียน อาหารกล่องที่จัดให้ ถ้าได้ผู้รับเหมาจัดอาการที่ไม่ดี ปรุงไม่สะอาด ทำแต่เช้ามืด มาแจกตอนบ่าย ตอนเย็น อาหารบูดก็มี เบี้ยเลี้ยงก็น้อย บางคนมานอนแบบนี้ไม่ได้ ก็ไปเช่าโรงแรม จ่ายเงินเอง ตรงนี้ก็น่าเห็นใจกับสวัสดิการข้าราชการ มันมีแรงกดดันจากภายใน บางคนก็มีอาการป่วยก็ต้องมา บางคนก็ติดโควิดด้วยซ้ำ”
นอกจากเรื่องเบี้ยเลี้ยงเอง ทนายแจมยังเสริมว่า ในระบบตำรวจมีการกดขี่อีกมากมาย รวมถึงปัญหาเรื่องสวัสดิการด้วย อย่างที่อยู่อาศัย หรือแฟลตตำรวจ รวมไปถึงโครงสร้างที่ตัวผู้บังคับบัญชาเอง ก็ไม่ได้สนใจผู้น้อย “ระดับผู้บังคับบัญชาก็ไม่ได้มองว่าการเป็นอยู่ของลูกน้องสำคัญยังไง เพราะโครงสร้างตำรวจมันไปผูกกับการเมืองมากๆ ยุคไหนใครมีอำนาจก็จะมีอำนาจในการแต่งตั้งตำรวจ ดังนั้นตำรวจก็จะทำทุกอย่าง เพื่อให้คนที่มีอำนาจแต่งตั้งพอใจ เขาจะไม่ได้มองว่าประชาชนพอใจหรือไม่ การยึดโยงอำนาจของเขาไม่ได้มาจากประชาชน
อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องมายเซ็ทของตำรวจรายบุคคล ไม่ใช่ทุกคนที่มีมายเซ็ทว่าจะมาบริการประชาชน บางคนมองว่าเป็นแค่อาชีพนึงที่เลี้ยงครอบครัวได้ เพราะเงินเดือนตำรวจก็ไม่ได้เยอะ ทุกคนก็จะหาเงินอื่นๆ กัน พอเบี้ยเลี้ยงก็เป็นเงินที่นอกเหนือจากเงินเดือนที่น้อยของเขา พอไม่ได้มันก็กระทบไปหมด โดยที่ระดับสูงก็ไม่ได้มาสนใจ มาลำบากกับระดับปฏิบัติการ”
จะแก้ปัญหาภาพลักษณ์ที่ดีของตำรวจกลับมาได้อย่างไร ? หากประชาชนไม่เชื่อมั่น ระบบยุติธรรมกระทบแค่ไหน ?
จะแก้ภาพลักษณ์ของตำรวจได้ไหม คือคำถามหนึ่งที่เราถามนักข่าวลูกชายนายตำรวจ ซึ่งเขาก็ตอบอย่างมั่นใจว่า ได้แน่นอน
“เราเชื่อว่าแทบทุกคนไม่ได้ปฏิเสธการมีตำรวจ พวกเขาแค่รังเกียจในสิ่งที่ตำรวจทำทุกวันนี้ เราว่าลำดับแรก ตำรวจควรเลิกอยู่ภายใต้อำนาจของนายกฯ แต่ควรเป็นองค์กรเอกเทศดำรงอยู่ด้วยตัวเองเลย เพราะการที่อยู่ภายในอุ้งมือนายกฯ มันทำให้การเมืองแทรกแซงได้ง่ายเกินไป ขึ้นกับนโยบายและรสนิยมของนายกฯ มากเกินไป อย่างที่น่าจะเห็นกันในช่วงการสลายชุมนุมหลายๆ ครั้งมานี้”
ซึ่งข้อเสนอของเขาเอง ก็คล้ายกับร้อยตำรวจโท ที่บอกว่า อยากให้มีการสื่อสารกันในองค์กรตำรวจ และอยากให้หน่วยงานตำรวจเป็นอิสระมากกว่านี้
“อยากให้มีการพูดคุยกันในองค์กร เช่นว่าตำรวจเองรู้สึกยังไงกับองค์กร มีอะไรที่อยากให้เปลี่ยน ทำในองค์กรด้วย และสื่อให้ประชาชนรู้ว่าตำรวจพร้อมจะปรับ พร้อมจะฟังประชาชน เราเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเด็ดขาดก็ถูก แต่มันควรต้องรับฟังทุกความเห็นโดยเฉพาะประชาชน เพราะเรามาบริการประชาชน ทั้งสิ่งที่สำคัญคือการสื่อสาร เราต้องบอกประชาชนให้ชัดเจนว่าทำไมใช้กฎหมายนี้ ไม่ใช่ให้มันคลุมเครือ หรือใช้กฎหมายในการกลั่นแกล้ง”
“ทั้งตำรวจเอง หัวหน้าตามหลักสายบังคับบัญชา นายกฯ คือหัวสุด ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าทำไมกลายเป็นแบบนี้ พอนายกฯ คุมมันก็ย้อนแย้ง มันควรอิสระกว่านี้ พอไปพึ่งพิงนายกฯ ก็เหมือนมีขั้วอำนาจเข้ามาอีก ควรจะอิสระเหมือนองค์กรบางองค์กรมากกว่านี้” เขาเสนอ
ในขณะเดียวกัน คำตอบเมื่อเราถาม พ.ต.ท.ทรงศักดิ์ว่า ตำรวจชั้นผู้น้อยจะทำอย่างไรได้บ้าง ในการกู้ภาพลักษณ์ให้กลับมาได้ คือ “อย่าเล่น อย่าทำเกินขอบเขตอำนาจที่ตัวเองมีอยู่” แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็บอกว่า การจะแก้ได้จริงๆ ต้องเกิดจากระดับใหญ่ อย่างนายกฯ ด้วย
“สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานขึ้นตรงนายกฯ ผู้บังคับบัญชาโดยตรงสูงสุดคือ นายกฯ ผมพูดทุกที่เรื่องการแก้ภาพลักษณ์ ซึ่งวิธีการกู้ภาพลักษณ์ที่เร่งด่วน และเร็วคือคุณประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องลาออก เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนโยบายใหม่ การแก้ภาพลักษณ์ของตำรวจต้องรีบดำเนินการเลย สภาวะปกติตำรวจที่ทำให้เสียภาพลักษณ์สุด คือตำรวจจราจร แต่ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ คฝ.ซึ่งผมไม่อยากให้มีการดักทำร้าย การแก้แค้นตำรวจเกิดขึ้น”
โดย พ.ต.ท.ทรงศักดิ์ยังบอกว่า ที่เขาต้องออกมาพูด แม้จะโดนเตือน เพราะเขารักในองค์กร และอยากให้เห็นว่า ตำรวจที่ดีก็ยังมี รวมถึงเขาไม่ได้เพิ่งมาพูดถึงปัญหาของตำรวจในตอนนี้ แต่พูดมาตั้งแต่ สมัย คสช. และเคยโดนเรียกปรับทัศนคติตั้งแต่สมัยรับราชการด้วย
สำหรับทนายแจม เธอเสนอว่าตำรวจต้องมีการสอบสวนกันภายใน และรับผิดชอบต่อคำสั่งที่ออกมา
“อย่างน้อยคุณต้องไม่แจ้งความดำเนินคดีใครที่มาวิพากษ์วิจารณ์คุณ การที่รู้ว่าทำผิด แล้วยังไปแจ้งคนที่มาบอกว่าคุณทำผิด มันไม่ใช่ การจะทำให้องค์กรตำรวจกลับมาเป็นองค์กรที่มือาชีพเหมือนเดิม อะไรที่มันผิด บิดเบี้ยวไปต้องจัดการ เช่นมีเหตุการณ์ที่ คฝ.ทำผิดยุทธวิธีจริงๆ ซึ่งเรารู้ว่าตำรวจรู้นะ แต่คุณยังปล่อย เห็นว่า คฝ.ขึ้นรถกระบะ ยิงจากรถกะบะ อย่างน้อยก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน จัดการ หรือคนที่สั่งก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่คุณสั่ง และระดับปฏิบัติงานต้องได้รับโทษด้วย ไม่งั้นเขาก็จะรู้สึกว่า เหมือนมีอะไรมาคุ้มครองเขาอยู่ตลอดเวลา จะตี จะทำความรุนแรง จัดการหน้างานยังไงก็ได้ เพราะไม่มีใครมาทำอะไรเขาได้ ทั้งๆ ที่จริงๆ กฎหมายไม่ได้รองรับให้เขาทำอย่างนั้น”
“เราคุยเรื่องตำรวจกับแฟนมาบ่อยมาก คือเขาก็รู้ว่ามีปัญหา เราก็เป็นมุมสะท้อนปัญหา เราก็คุยตลอดว่าถ้าวันนึงได้ขึ้นตำแหน่งที่สูงขึ้น จะแก้ไขกันยังไง ต้องแก้ตั้งแต่ข้างบนลงมา ระบบปฎิบัติการมันแทบไม่มีส่วนอะไรในการแก้อยู่แล้ว เพราะว่าหลักปฎิบัติการต้องทำเพราะเขาสั่งมา ไม่ทำก็โดนทำโทษ ออกจากราชการ”
แต่หากตำรวจไม่สามารถปรับภาพลักษณ์ได้ และประชาชนไม่เชื่อมั่นในตำรวจแล้ว แน่นอนว่าไม่ได้ส่งผลต่ออาชีพนี้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อกระบวรการยุติธรรมทั้งระบบ และสังคมด้วย
“ตำรวจเป็นปัจจัยแรกที่ประชาชนเจอก่อน ศาล และอัยการ” นายตำรวจยศร้อยโทบอกกับเรา “แต่หากคนมีอคติกับตำรวจแต่แรก การจะทำงานร่วมกัน การให้ข้อมูล การช่วยเหลือคงยิ่งจะยากกันไปใหญ่ ความสัมพันธ์ที่จริงควรต้องกลางๆ ไม่ใช่ว่า ดีแบบเอื้อกันไปในทางคอร์รัปชั่น หรือไม่ดีจนอคติไปหมด ประชาชนควรมาโรงพักด้วยความรู้สึกว่าตำรวจคืออาชีพหนึ่ง ที่หวังทางกระบวนการยุติธรรมได้”
ประเด็นนี้ พ.ต.ท.ทรงศักดิ์ก็มองเช่นกันว่า ความไม่เชื่อมั่นในตำรวจ และหากไม่แก้ภาพลักษณ์มันส่งผลแน่นอน “ในเมื่อระบบยุติธรรม มันมีตำรวจ ศาล อัยการ ราชทัณฑ์ และไม่ใช่เฉพาะตำรวจ ศาลก็โดน หลายๆ เคสมีการตัดสินคดี ด้วยการใช้ดุลพินิจไม่เป็นไปตามกฎหมาย ประชาชนมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้นคนที่ทำให้เสียคือ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้โครงสร้างเสียทั้งระบบ จากรัฐราชการรวมศูนย์ มาถึงการกระจายอำนาจ แต่ตอนนี้ ประยุทธ์กลับรวมอำนาจกลับมา กลายเป็นรวมศูนย์ที่คนๆ เดียว รวบอำนาจ 31 พรบ. ไว้เป็นอำนาจของตัวเอง จัดตั้งศูนย์นู้นนี่ขึ้นมา และรวมอำนาจที่คนเดียว ถ้าคนๆ นี้ฉลาด ก็ว่าไปอย่าง แต่นี่ดันโง่สุดๆ”
ทนายแจม ผู้ที่ทำงานในระบบยุติธรรมนี้ก็สะท้อนเช่นกันว่า ทั้งระบบยุติธรรมมีปัญหาไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศาล ที่ไม่ให้สิทธิการประกันตัว การดำเนินคดีการเมืองแตกต่างจากคดีอื่นๆ การสั่งฟ้องของอัยการ ไปถึงการทำงานของราชทัณฑ์ที่เป็นการลงโทษคนมากกว่าการทำให้คนกลับตัวเป็นคนดี มีผลทั้งหมดต่อกระบวนการยุติธรรม รวมถึงตัวกฎหมายเองที่กว้าง ตีความผิดได้มากมายอย่าง ม.112 ด้วย
“พอกฎหมายไม่ฟังก์ชั่น กลายเป็นตอนนี้ปัญหาก็เกิดจากคนที่ถือกฎหมาย ทำให้คนไม่เชื่อถือ ไม่กลัว และวุ่นวาย ซึ่งในการปรับภาพลักษณ์เราก็ไม่รู้ว่าจำทำได้หรือเปล่า เพราะเรารู้สึกว่ามันพังไปทั้งระบบแล้ว”