ถูกจับกุม โดนกระสุนยาง สั่งหยุดไลฟ์
นี่ล้วนแต่เป็นสิ่งที่สื่อมวลชน ถูกคุกคามระหว่างรายงานข่าวการชุมนุมในช่วงปี 2564 ซึ่งเรียกได้ว่าสถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชนนั้น ถูกลิดรอนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในสนามข่าวเอง ระหว่างการรายงานข่าวของผู้ชุมนุม และการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ หลายครั้งสื่อยังตกเป็นเป้าหมาย และไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการรายงานข่าวด้วย
โดยจากข้อมูลของ iLaw ระบุว่า ในปีนี้ มีสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บในการชุมนุมอย่างน้อย 28 ราย ทั้งยังมีการจับกุมสื่อมวลชน และแจ้งข้อหาเกิดขึ้น ไปถึงความพยายามนิยามสื่อของภาครัฐ ว่าสื่อพลเมือง หรือสื่อภาคประชาชน เป็นผู้ชุมนุมที่ปลอมมาเป็นสื่อด้วย
ในโอกาสปลายปีนี้ The MATTER ได้สรุปรวมเหตุการณ์ต่างๆ ที่สื่อมวลชนพบเจอในระหว่างการรายงานข่าวชุมนุมปี 2564 นี้ เพื่อสะท้อนว่า เสรีภาพสื่อของไทยถูกคุกคามอย่างไรบ้าง
สื่อถูกยิงกระสุนยาง
ในการชุมนุมทางการเมืองปี 2564 ใน #ม็อบ28กุมภา ถือเป็นครั้งแรกที่ตำวจใช้กระสุนยางในการสลายการชุมนุม แต่หลังจากนั้นเพียงไม่ถึง 1 เดือน ใน #ม็อบ20มีนา ก็เป็นครั้งแรก ที่มีสื่อมวลชนถูกเจ้าหน้าที่ยิงด้วยกระสุนยางถึง 3 ราย โดยเป็นบริเวณอย่างเช่น ที่กลางหลัง และศีรษะ
ซึ่งหลังจากวันนั้น สื่อเองก็ได้สัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ถึงการที่สื่อโดนยิงกระสุนยาง จากการสลายการชุมนุม ด้านนายกฯ เองก็ตอบว่าเป็นห่วงสื่อมวลชน และกำชับตำรวจให้ดูแลแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็กว่าว่า “คุณก็รู้อยู่แล้วมันจะรุนแรงตอนไหน คุณก็รู้อยู่แล้ว ทำไมจะเลี่ยงไม่ได้” และ “ถ้าเขาจะแรงกัน ตำรวจเริ่มจะปรับ (ปฏิบัติการ) คุณก็ออกไปถ่ายข้าง ๆ โน่น เพราะเขาต้องทำงานไงเล่า เขาประกาศแล้วไม่ใช่หรือว่าต่อไปนี้จำเป็นต้องทำให้เหตุการณ์มันสงบ” รวมถึงตำหนิสื่อมวลชนด้วย
ไม่เพียงแค่ในวันนั้น แต่ใน #ม็อบ18กรกฎา2564 ในการชุมนุมครบรอบ 1 ปีของเยาวชนปลดแอก ก็ได้มีสื่อมวลชนอย่างน้อย 3 คน ที่ถูกยิงด้วยกระสุนยาง ซึ่งจำนวนนั้นมีผู้ที่ถูกยิงที่แขน และหลัง ซึ่งไม่ใช่ร่างกายส่วนล่างตามหลักสากล และมีสื่อ 2 คน ที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้ไต่สวนในประเด็นนี้ ทำให้ภายหลังศาลแพ่งจะมีคำสั่งให้ตำรวจระมัดระวังในการสลายการชุมนุมในเดือนสิงหาคม
แต่ถึงอย่างนั้น แม้จะมีคำสั่งให้ระมัดระวัง แต่ก็ยังคงการยิงกระสุนยางมายังบริเวณสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็น #ม็อบ13กันยา ซึ่งเจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางมาบริเวณที่สื่อมวลชนหลบฝน โดยแม้จะพยายามแสดงปลอกแขนแต่เจ้าหน้าที่ก็ยังยิงมา จนมีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 2 ราย
จับกุมสื่อพลเมือง และจำกัดการทำงานช่วงเคอร์ฟิว
ในการชุมนุมปี 63 ก็มีเหตุการณ์ที่มีสื่อมวลชน ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว และพาขึ้นรถผู้ต้องขัง ขณะที่ปีนี้เอง ก็ยังมีเหตุการณ์ทำนองนี้เช่นกัน โดยในการชุมนุมที่ดินแดง ในเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่เริ่มอ้างถึงประกาศเคอร์ฟิว เพื่อจำกัดการทำงานของสื่อ และมีการจับกุมสื่อด้วย
โดยในวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา อย่างโอปอ ณัฐพงศ์ มาลี จากสำนักข่าวราษฎร – Ratsadon News และนักข่าวพลเมืองอีก 1 คน จากเพจปล่อยเพื่อนเรา ก็ถูกจับกุมขณะรายงานสถานการณ์การชุมนุมที่ดินแดง และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินด้วย
สำหรับเหตุการณ์นี้ โอปอเคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า “ตอนแรกผมถูกเชิญตัว และเอาตัวไปดุริยางค์ทหารบก อ้างว่าเอาไปตรวจสอบ ผมก็คิดแค่ว่าเอาไปตรวจสอบเฉยๆ ไม่ได้มีอะไรมาก สุดท้ายหัวหน้า คฝ.บอกว่าคือการจับกุม พาเราไป สน.พหลโยธิน และก็มัดเคเบิลไทด์ที่นั่น เราก็มองว่า เราไม่ได้ทำความผิดขนาดร้ายแรง เราแค่มารายงานข่าว ทำไมต้องใส่เครื่องพันธนาการด้วย ตอนหลังเขาก็ถอดออกหลังสอบสวนเสร็จ เพราะทนายบอกให้ถอด เขาก็ยอมถอด แต่พอจะส่งศาลฝากขัง เขาก็ใส่กุญแจมืออีก”
หลังจากนั้น ในวันที่ 6 ตุลาเองมแอดมินนินจา สื่อมวลชนอิสระจากเพจ ‘Live Real’ ก็ถูกจับกุมกลางดึกทั้งที่มีสัญลักษณ์สื่อชัดเจน ขณะไลฟ์สดการชุมนุมแยกดินแดงด้วย
การจับกุมสื่อมวลชนนั้น เป็นเหตุการณ์ที่มาพร้อมกับ การจำกัดการทำงานช่วงเคอร์ฟิว ซึ่งในช่วงนั้นเจ้าหน้าที่ได้พยายามจำกัดพื่นที่การทำงานของสื่อมวลชน และระบุว่าหากไม่ปฏิบัติก็อาจจะถูกจับกุมตัวได้ เพราะถือว่าทำผิดกฎหมายฝ่าฝืนเคอร์ฟิวเช่นเดียวกับผู้ชุมนุม
ทั้งตำรวจเองยังได้ออกข้อกำหนดให้สื่อมวลชน ต้องมีปลอกแขนที่ออกโดยสมาคมสื่อ 6 องค์กร จดหมายเอกสารจากต้นสังกัดเพื่อรับรองการทำงานและการเดินทางในช่วงเวลาเคอร์ฟิว ก่อนที่ภายหลังจะเพิ่มเติมว่า หนังสือรับรองจากต้นสังกัดต้องมีตราประทับของ บช.น. และมีบัตรประจำตัวสื่อมวลชน ที่ออกโดย กรมประชาสัมพันธ์ เท่านั้นด้วย ซึ่งหากไม่มีจะไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ และต้องออกจากพื้นที่ตามคำสั่งด้วย
สั่งให้หยุดไลฟ์ และปัดโทรศัพท์ขณะไลฟ์
การถ่ายทอดสด หรือการไลฟ์ การเป็นการรายงานข่าวรูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมในการถ่ายทอดสถานการณ์การชุมนุม โดยในปีนี้ มีหลายครั้งที่สื่อสามารถจับภาพเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ทั้งสำนักข่าวราษฎร ที่สามารถจับภาพการเล็งปืน และยิงใส่ประชาชนที่กลับจากงาน ขณะนั่งมอเตอร์ไซค์ผ่านเส้นทางดินแดง หรือ The Reporters ที่สามารถถ่ายทอดสดขณะที่รถของเจ้าหน้าที่พุ่งชนเยาวชนที่ดินแดง ก่อนจะขับออกไปทันทีด้วย
ดังนั้น หลายครั้งในการสลายการชุมนุม หรือเข้าควบคุมพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ ได้มีการพยายามไม่ให้สื่อมวลชนได้จับภาพ หรือไลฟ์สดได้ โดยใน #ม็อบ20มีนา เอง ขณะที่ผู้สื่อข่าวของ The MATTER กำลังไลฟ์สถานการณ์ปฏิบัติการณ์ของเจ้าหน้าที่ และการยิงกระสุนยางที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ถูกเจ้าหน้าที่ปัดโทรศัพท์ขณะไลฟ์สด จนโทรศัพท์ตกที่พื้น โดยไม่มีการแจ้งเตือน ก่อนจะสั่งให้สื่อมวลชนออกจากพื้นที่ เพราะเป็นจุดปะทะ
ทั้งในวันที่ 11 กันยา ขณะเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมยังได้มีการพยายามตรวจบัตรประจำตัวสื่อมวลชน และสั่งให้หยุดการไลฟ์สด ก่อนจะทำการปฏิบัติการณ์กับผู้ชุมนุม ทั้งยังไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปบริเวณแฟลตดินแดงด้วย
สั่งให้สื่อไปอยู่บนฟุทปาธ และขู่จับกุม
“สื่อมวลชนไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ เจ้าหน้าที่กำลังทำงาน ให้ออกพ้นแนว ตรงนี้ไม่อนุญาตให้ท่านอยู่” นี่คือการประกาศของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับสื่อมวลชน ใน #ม็อบ20มีนา
ในการชุมนุมปี 64 มีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่พยายามจำกัดพื้นที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะการสั่งให้ขึ้นไปอยู่บนฟุทปาธ หรือหลังแนวตำรวจ ซึ่งมีการใช้คำขู่ว่าหากไม่ปฏิบัติตาม จะถือว่าเป็นผู้ชุมนุม และจับกุมสื่อด้วย
ทั้งในการชุมนุม #ม็อบ27กันยา ที่บริเวณแยกนางเลิ้ง คฝ.เองก็ได้ใช้โล่ดันสื่อมวลชนขึ้นไปบนฟุตปาธ ขณะที่ทำการจับกุมตัวผู้ชุมนุม ทั้งยังประกาศว่าหากไม่ถอยห่างไป 5 เมตรจะทำการจับกุมด้วย
เช่นเดียวกับการชุมนุมของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ที่ปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 6 ธันวาที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าหน้าที่จะสลายการชุมนุม ได้มีการประกาศให้สื่อมวลชนและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องขึ้นที่ฟุตปาธฝั่งตรงข้าม (สำนักงาน ก.พ.ร.) และมีเจ้าหน้าที่คอยยืนกันไว้ ใช้โล่บัง รวมถึงมีการใช้วิธีที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างการส่องไฟฉายใส่สื่อมวลชน ทำให้ไม่สามารถเก็บภาพต่างๆ ได้ด้วย
ภายหลัง ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้เชิญเจ้าหน้าที่ นำโดย พล.ต.ต.นครินทร์ สุคนธวิท ผู้บัญชาการอารักขาและควบคุมฝูงชน และคณะเข้าชี้เเจงต่อคณะกรรมาธิการ ถึงการสลายการชุมนุมของจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงว่า กรณีสลายการชุมนุมกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ผู้ชุมนุมกีดขวางประตู 1 คือทำเนียบรัฐบาล โดยในวันนั้นได้มีการเจรจา เเละผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม มีการเข้าสลายการชุมนุมตามขั้นตอน ซึ่งการกระทำของผู้ชุมนุมผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ทั้งเมื่อมีการพูดถึงเรื่องการส่องไฟใส่สื่อมวลชล ผบก.น.1 ก็ได้ขอโทษสื่อกลางที่ประชุม กมธ. และอ้างว่า เรื่องนี้ไม่ทราบจริงๆ เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์
อ้างข้อตกลงกับองค์กรสื่อ
ในการชุมนุมปีนี้ นอกจากฝั่งเจ้าหน้าที่แล้ว ฝั่งองค์กร และสมาคมสื่อเองก็ได้เข้าไปหารือ และพยายามหาข้อตกลงกัน ซึ่งก็มีการพูดคุยกันถึงการใส่ปลอกแขน การใส่เสื้อสีสะท้อนแสงเป็นสัญลักษณ์เพื่อความปลอดภัยในการทำงานเป็นต้น
แต่ว่าในการชุมนุมของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นนั้น นอกจากการส่องไฟ และให้สื่อขึ้นไปอยู่บนฟุตปาธแล้ว ยังมีการอ้างของข้อตกลงกับ 6 องค์กรสื่อด้วย โดยตำรวจพูดว่า “ไม่ได้ปิดกั้นการทำงานของสื่อไม่ว่าจะสื่อหลัก หรือสื่อออนไลน์ แต่ขอให้ทุกท่านปฎิบัติตามเงื่อนไข ตามที่ตกลงกันไว้ทั้ง 6 องค์กรสื่อ ว่าจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง ตามที่ 6 องค์กรสื่อได้ให้คำแนะนำและความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ต้องเคลียร์พื้นที่เพื่อดูแลความเรียบร้อย”
ซึ่งภายหลัง อุปนายกฝ่ายเสรีภาพสื่อของสมาคมนักข่าวฯ ก็ได้โพสต์ว่า ไม่ทราบว่า ข้อตกลงดังกล่าวคืออะไรและไม่เคยได้ยินมาก่อน ทั้งทางสมาคมนักข่าวฯ ยังได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงตำรวจตามมาว่า ตำรวจไม่ควรปิดกั้น ขัดขวาง แทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ไม่ใช้ความรุนแรง หรือแสดงท่าที วาจา พฤติกรรมที่มีลักษณะคุกคาม ทั้งยังชี้ว่าตำรวจสามารถตรวจสอบเครื่องยืนยันสถานะสื่อมวลชน และหากมีการทำร้าย ใช้ความรุนแรง ต้องมีการตรวจสอบ รวมถึงหากมีการจับกุมสื่อมวลชนในพื้นที่ชุมนุม ต้องได้รับสิทธิติดต่อทนายด้วย
จากเหตุการณ์นี้ ทางสมาพันธ์สื่อเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) ก็ได้ออกแถลงการณ์โต้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่าได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อที่เคยไปพบและทำความเข้าใจกับทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) “พบว่าไม่มีข้อตกลงใดๆ ที่เป็นการอนุญาตให้สกัดกั้นล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพการทำงานของสื่อมวลชน เป็นการกล่าวอ้างและบิดเบือนข้อมูล ใช้ภาพการพบปะพูดคุยกับตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อเพื่อนำไปสนองประโยชน์กับฝ่ายอำนาจรัฐเท่านั้น”
สำหรับสถานการณ์ของสื่อมวลชน ในการรายงานข่าวการชุมนุมในปีนี้ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า “ผลกระทบที่เกิดกับสื่อในการทำงานชัดเจน และก็รับไม่ได้ ไม่ควรจะยอมรับได้ให้เกิดขึ้นเลย มีสื่อที่ได้รับบาดเจ็บในการชุมนุมอย่างน้อย 28 คน มีสื่อที่ถูกจับกุมดำเนินคดีฐานผ่าผืนเคอร์ฟิว หรือ พรก.ฉุกเฉิน มีการปิดกั้นการทำงาน มีการตรวจค้น ตรวจสอบ ข่มขู่สื่อมวลชนต่างๆ ในพื้นที่หน้างาน นับครั้งไม่ถ้วน ทุกครั้งที่ตำรวจจะใช้กำลัง ความรุนแรง จะต้องมีปฏิบัติการบางอย่างที่ตำรวจออกแบบมาว่าจะเอายังไงกับสื่อ จะกั้นไว้บางโซน บางวันก็ข่มขู่เลยว่า จะจับคุณด้วย ถ้ายังอยู่ รวมถึงบางทีก็จับจริง
การใช้กระสุนยางไม่มีความพยายามมากพอจะหลบเลี่ยง หรือไม่ให้สื่อได้รับผลกระทบ ยังอาจจะกล่าวหาโดยตรงไม่ได้ว่ามีความตั้งใจให้กระสุนมันมาทิศทางที่มีผู้สื่อข่าวหรือเปล่า แต่ไม่มีความพยายามหลบเลี่ยงมากพอ เพราะบางครั้งก็ชัดเจนว่าบริเวณนั้นผู้สื่อข่าวอยู่ ถ้ายิงให้หลบเลี่ยงก็ไม่มีทางที่จะมาได้”
แต่ยิ่งชีพเองก็รายงานว่า เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ได้เกินความคาดหมายนัด ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ปกติ “เป็นปรากฎการณ์ที่ตำรวจเป็นแซนวิช ที่คนชุมนุมก็ดันมา แล้วก็ถูกอำนาจข้างบนก็ดันมา และไม่รู้จะทำยังไง ก็ทำงานด้วยความหวาดกลัว ถ้าไม่ใช้กำลัง ก็กลัวข้างบนจะลงโทษ ถ้าใช้กำลังก็กลัวประชาชนจะเกลียด ถ้าปฏิบัติการณ์มากเกินไปคนก็จะเกลียด ถ้าปฏิบัติการณ์น้อยไป ก็กลัวจะเอาสถานการณ์ไม่อยู่ ถ้าไม่ทำอะไรบางอย่าง ดีไม่ดีตัวเองอาจกลายเป็นคนที่เจ็บเอง ทั้งร่างกาย หรือโดนต่างๆ นานาๆ เอง ก็อยู่ในภาวะที่เครียด ก็ไม่ได้เป็นห่วงใคร ก็ทำงานแบบเป็นห่วงในตัวเอง” ยิ่งชีพสรุป
อ้างอิงจาก