การเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหาร เรายังเห็นปรากฎการณ์คนรุ่นใหม่ตื่นตัว มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น รวมไปถึงนักการเมืองหน้าใหม่ๆ คนหนุ่มสาวที่ผันตัวเข้ามาเล่นการเมือง ที่เป็นสีสัน และบทบาทที่สำคัญที่เพิ่มขึ้นมาในการเลือกตั้งครั้งนี้
แต่ทำไมคนหนุ่มสาวเหล่านี้ จึงหันมาเล่นการเมือง ลงสมัครเป็นผู้แทน และอยากก้าวเข้ามาในการผลักดันนโยบายต่างๆ ?
The MATTER มาคุยกับ 2 นักการเมืองหน้าใหม่ ที่เพิ่งลงสนามนี้หมาดๆ อย่าง นัฏฐิกา โล่ห์วีระ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จังหวัดชัยภูมิ จากพรรคประชาธิปัตย์ และณิชชา บุญลือ ผู้สมัคร ส.ส. เขตบางกะปิ – วังทองหลาง จากพรรคอนาคตใหม่กันว่า อะไรทำให้ทั้งคู่ถึงตัดสินใจมาสมัครผู้แทน ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรในระบบการเมือง และความเห็นถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่
นักการเมืองหน้าใหม่ กับการลงสนามครั้งแรก
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี เราเห็นภาพของนักการเมืองหน้าใหม่มากขึ้นในการแข่งขันครั้งนี้ เราจึงสนใจว่า อะไรทำให้ทั้งคู่ผันตัวมาเล่นการเมือง และครั้งนี้ที่มีพรรคการเมืองมากมาย ทำไมถึงตัดสินใจเลือกสังกัดในพรรคนี้
นัฏฐิกา โล่ห์วีระ จากพรรคประชาธิปัตย์ เล่าว่าเพราะมองเห็นความเหลื่อมล้ำ เธอจึงอยากก้าวเข้ามาแก้ไข “การที่เรามองเห็นสภาพสังคมที่มันเหลือมล้ำในเกือบจะทุกๆด้าน มันเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำให้เราอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมด้วย บวกกับการที่เราเห็นกระแสสังคมของคนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมา ซึ่งมันมีพัฒนาการเห็นได้จากอดีต ตั้งแต่ 14 ตุลา 2536 ก็เป็นพลังของคนหนุ่มสาว ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจว่า ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาต่างๆ เชิงโครงสร้าง มันสามารถแก้ไขได้ด้วยพลังของเรา จึงทำให้ตัดสินใจที่จะลงสมัคร ส.ส.”
“พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ แต่จำนวนระยะเวลาที่นานของพรรค ไม่ได้บอกว่ามันจะไม่เข้ากับคนรุ่นใหม่ แต่ต้องดูว่าอะไรที่ทำให้พรรคนี้ ถึงได้อยู่ได้ยาวนานถึง 72 ปี พรรคนี้มีพื้นฐานที่เป็นประชาธิปไตย การจัดการองค์กรใช้หลักการประชาธิปไตย ประชาชนและสมาชิกพรรคสามารถมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้บริหารพรรคทั้งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีกลุ่มทุนมาครอบงำแสดงความเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้นพื้นที่ที่เป็นประชาธิปไตยทำให้เราดึงศักยภาพของเราออกมาได้ เราเลยเลือกพรรคประชาธิปัตย์”
ในด้านของณิชชา บุญลือ จากพรรคอนาคตใหม่ ก็เล่าถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำเช่นกัน “ตอนแรกเรื่องการเมืองอาจจะดูไกลตัว แต่ว่าก่อนหน้านี้เราทำงานในองค์กรตั้งแต่เราเรียนจบ เราเห็นความเหลื่อมล้ำในองค์กรตั้งแต่เรื่องการสมัครงาน ทุกคนต้องมีพื้นเพ ต้องมีคน refer มา ทำให้เราคิดว่าแล้วคนอื่นๆ ที่เก่ง ที่มีศักยภาพเหมือนกัน หายไปอยู่ที่ไหนในสังคม ซึ่งในองค์กรยังมีความเหลื่อมล้ำขนาดนี้ เราจึงคิดว่า แล้วประเทศไทยเอง ในภาพใหญ่จะเหลื่อมล้ำขนาดไหน จุดนี้แหละ เราเลยคิดว่าเราอยากทำอะไรซักอย่าง เราจึงเลือกเข้ามาสมัคร ส.ส. ในนามพรรคอนาคตใหม่”
“พรรคอนาคตใหม่ เรียกได้ว่าเป็นพรรคที่เปิดกว้างให้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ที่มีอุดมการณ์ชัดเจนในด้านประชาธิปไตย เราจึงคิดว่านี่แหละเป็นโอกาสของเรา ถ้าไม่ลองก้าวเข้ามา อาจจะเสียใจทีหลังก็ได้”
แต่การเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ก็อาจจะถูกมองว่าไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยลงสนามมาก่อน แต่ทั้งคู่เล่าให้เราฟังว่า พวกเขาไม่ได้มองว่าการไม่มีประสบการณ์ถือเป็นข้อเสียเปรียบ แต่เป็นข้อได้เปรียบสำหรับคนรุ่นใหม่มากกว่า ซึ่งสำหรับนัฏฐิกาที่เคยเป็นผู้สื่อข่าวการเมืองมาก่อน ก็ถือว่าประสบการณ์ส่วนนั้น นำมาใช้กับการเป็นนักการเมืองได้เช่นกัน
“เรื่องของประสบการณ์ทางการเมืองมันเป็นเรื่องที่เราเรียนรู้ได้ ประสบการณ์ทางการเมืองจากการเป็นผู้สื่อข่าวการเมืองก็เป็นประสบการณ์อีกอย่างหนึ่ง ประสบการณ์จากการที่เราเป็นนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัยเราก็อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งประสบการณ์ตรงนี้ ถึงแม้ว่าเราจะยังเป็นคนนอก แต่คนนอกก็เป็นจุดแข็ง เพราะคนนอกจะเห็นปัญหาได้ชัดเจนที่สุด โดยที่ไม่ได้ลำเอียงเข้าข้างตัวเอง และมาเป็นจุดแข็งว่าเราเห็นปัญหา เห็นโครงสร้างการเมืองที่กระจุกอยู่แค่ชนชั้นนำ ซึ่งจากมุมมองคนนอก เราสามารถนำเสนอมุมนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไข”
นอกจากนี้เธอยังใช้จุดแข็งความเป็นคนรุ่นใหม่ของตัวเอง ในการหาเสียงให้ตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่ด้วยกัน “เรายังมีกลุ่มคนหนุ่มสาวอยู่ประมาณ 20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้เขามีผู้แทนของเขาไหม พวกเขาบอกเราว่า ไม่รู้ว่าจะเลือกใคร เพราะไม่เคยมีคนที่ทำประโยชน์อะไรเพื่อเขา ไม่มีตัวแทนที่อยากจะมาพูดถึงเขา เพราะฉะนั้น เราจึงใช้จุดเด่นของเรากับ 20% นี้ รวมถึงนโยบาลรัฐ รวมถึงนโยบายพรรคที่จะไปตอบโจทย์กับกลุ่มของคนในสังคมอีก ในหลายชุมชน”
ในขณะที่ณิชชาเอง ก็มองว่าการไม่มีประสบการณ์มาก่อน ไม่เสียเปรียบในการลงสมัครครั้งนี้ “เราคิดว่าไม่เสียเปรียบ และเป็นเรื่องที่ดีด้วย เพราะเรามาตัวคนเดียว เรามาด้วยอุดมการณ์ เรามาด้วยเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม และประชาชนในประเทศไทยจริงๆ ดังนั้น เราไม่มีผลประโยชน์ที่จะต้องไปตอบแทนใคร หรือชดใช้ให้ครอบครัวหรือใคร เรามาด้วยใจที่มุ่งมั่นอยากทำงานการเมืองจริงๆ
ประชาชนจะได้รู้จักเราจริงๆ อย่างในการลงพื้นที่ ส.ส.อนาคตใหม่ทุกพื้นที่ 350 คน ได้มีการทำการบ้านเกี่ยวกับพื้นที่ของแต่ละคน และมีการวางแผนงาน ศึกษาข้อมูลชัดเจน เราไม่มี ส.ก. หรือ ส.ข.เป็นฐานเสียงคอยนำ ตรงนี้ทำให้เราได้เป็นผู้นำเองเลย เพราะฉะนั้นเราว่าจุดเล็กๆ ตรงนี้เป็นเหมือนความท้าทายของเรา ซึ่งเมื่อเรามองภาพกว้างระดับประเทศ เราจะเป็นตัวแทนของประชาชนได้จริงๆ ถ้าเราเริ่มจากจุดนี้”
ความหวังและสิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทย
แม้จะเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ลงสนามครั้งแรก แต่เมื่อเราถามทั้งคู่ถึงความหวังในการชนะเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งคู่ตอบกับเราว่า หวังว่าจะชนะ ซึ่งณิชชาก็บอกกับเราว่า แม้จะไม่ชนะ แต่ก็จะทำงานด้านการเมืองต่ออีกแน่นอน “หวังชนะ 100% ค่ะ แต่ถ้าไม่ชนะเราก็ทำงานการเมืองต่อแน่นอน อย่างที่บอกพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ครั้งเดียวแล้วจบ พรรคอนาคตใหม่ยังมีแผนการทำงานที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม มูลนิธินี้ก็เปรียบเป็นเสมือนคลังสมอง ที่จะเอานโยบายต่างๆ มาพัฒนาให้มันเกิดขึ้นได้จริง อาจจะไม่ใช่ในระดับประเทศ แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของพรรคอนาคตใหม่ที่จะผลักดันมันให้เป็นจริงขึ้นได้”
ด้านนัฏฐิกาก็เล่าเช่นกันว่า แม้เขตของตัวเองจะมีคู่แข่งจากเกือบทุกพรรคการเมือง แต่ก็หวังว่าจะได้เป็นผู้แทนของเขตนี้ “ในฐานะผู้สมัครทุกคนก็มีความคาดหวังอยู่แล้วว่าอยากจะเป็นผู้แทน เพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน แต่ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นยังไง ก็ต้องยอมรับค่ะ แล้วก็งานการเมืองเนี่ย มันเป็นงานอาสา ถ้าชนะก็จะขอทำหน้าที่ แต่ถ้ายังไม่ได้รับเลือก ตัวเองเนี่ยมีความสนใจในเรื่องการเมืองอยู่แล้ว ก็จะอาสาทำงานเพื่อสังคมในด้านอื่นๆ อีกต่อไป”
เราคุยกับทั้งสองคน ถึงความตั้งใจ และสิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลง ถ้าได้รับเลือกให้เป็นผู้แทน รวมไปถึงสิ่งที่อยากผลักดันต่อการเมืองไทย ซึ่งทั้งคู่ก็มีสิ่งที่ตั้งใจอยากจะทำเมื่อได้เข้าไปอยู่ในสภาแตกต่างกันไป โดยณิชชาเล่าว่า “เราคิดว่าจะผลักดันนโยบายเด็ก และการศึกษา เราคิดว่ามันเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนควรมี และทุกคนควรเท่าเทียมกันในเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง เราไปลงพื้นที่ในบางกะปิ เราไม่เข้าใจว่าโรงเรียนในกรุงเทพมหานครเองทำไมอุปกรณ์การศึกษายังไม่เพียงพอ หรือการที่เด็กจะเข้าโรงเรียนดีๆ ทำไมพ่อแม่ควรจะต้องรู้จักผู้ใหญ่ท่านไหนถึงจะเข้าได้ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ คนที่เกิดมายังไงก็ต้องมีโอกาสได้รับสิ่งดีๆ บ้างไม่ว่าจะเกิดในฐานะไหน นี่คือสิ่งแรกที่เราจะผลักดัน”
“ถ้าพูดถึงประเทศไทย สิ่งที่เราอยากจะเปลี่ยนคือ ทำให้ทุกคนมองภาพของประเทศไทยชัดเจน อยากให้คนเท่าเทียมกันจริงๆ เพราะตอนนี้สังคมเราเกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกัน และประเทศไทยเองก็มีระบบอุปถัมป์ที่ชัดเจนมากๆ รวยก็รวยอยู่แค่ไม่กี่คน แล้วคนระดับรากหญ้า เคยเห็นความสำคัญของเขาเหล่านี้ไหม เขาก็คือประชาชนคนไทยเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ”
ในขณะที่นัฏฐิกาก็อยากแก้ไขเรื่องสิทธิและเสรีภาพ “สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ การแก้ไขปัญหาที่ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพทุกด้าน ถ้าให้ยกตัวอย่างเลย คิดว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง กฎหมายต่างๆที่ให้อำนาจกับ คสช. หรือไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมต้องได้รับการแก้ไข เพราะรัฐธรรมนูญคือกฎหมายที่เป็นโครงสร้างของสังคม ถ้าแม้แต่กฎหมายที่เป็นโครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดยังไม่เคารพสิทธิและเสรีภาพ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร”
“ถ้าพูดถึงระบบการเมือง เราต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการที่เขาจะกำหนดนโยบายรัฐ ให้ท้องถิ่นดูแลตนเองได้ ถ้าเราสามารถที่จะแก้ไขโครงสร้างตรงนี้ได ถ้าประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพ มันจะทำให้เกิดการพัฒนา”
นอกจากภาพการเมืองในระดับใหญ่ ทั้งสองคนยังได้เล่าถึงประสบการณ์การหาเสียงในพื้นที่เขตที่เป็นผู้สมัคร และปัญหาที่ได้พบเจอและอยากแก้ไข โดยสำหรับณิชชา เธอเห็นว่าพื้นที่บางกะปิยังมีปัญหาหลายอย่างที่เธออยากแก้ไข โดยการผลักดันนโยบายของพรรค
“ต้องเล่าก่อนว่า เขตพื้นที่บางกะปิ ปัจจุบันมีปัญหาเยอะมาก ไม่ว่าจะขนส่ง คมนาคม และเศรษฐกิจ ซึ่งทุกครั้งที่เราเดินพบปะประชาชน สิ่งนึงที่ได้รับจากพ่อค้า แม่ค้าคือ เศรษฐกิจแย่มาก สมมุติจากที่ขายได้กำไรวันละ 100 บาท ตอนนี้เหลือแค่ 20 บาท บางท่านร้องไห้กับเราเลย เราเลยอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านนโยบายเศรษฐกิจจริงๆ ซึ่งนี่ก็เป็นเสียงตอบรับจากประชาชนจริงๆ ที่เราได้สัมผัสถึง ถ้าเราได้มีโอกาสได้เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ เราก็จะผลักดันนโยบายที่พรรคอนาคตใหม่มีทั้งหมดให้เป็นจริงได้ และเราเชื่อว่าทำได้”
ซึ่งนัฏฐิกาก็เล่าให้ปัญหาในพื้นที่อย่างชัยภูมิ ที่แตกต่างกันไป “ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิอยู่ในภาคอีสาน ซึ่งเป็นภาคที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในประเทศ ปัญหาแรกก็คือปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เกษตรกรต้องใช้ที่ดินเพื่อปลูกผลผลิต เป็นปัจจัยการผลิตของเขา แต่เขาไม่มีปัจจัยการผลิตนี้ ปัญหาเรื่องหนี้สินเกษตรกรอีก แล้วก็รวมถึงราคาสินค้าเกษตร 3 อย่างนี้รวมกัน ทำให้เป็นปัญหาที่เป็นงูกินหางไปเรื่อยๆ อีกเรื่องคือปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาของเยาวชน ที่แม้เราจะจับผู้ต้องหาเข้าเรือนจำแล้ว แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่เคยลดเลย นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการจัดการชุมชน ที่ท้องถิ่นไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย”
7 ปีที่ไม่ได้เลือกตั้ง และความสำคัญของการเลือกผู้แทนในครั้งนี้
เป็นเวลากว่า 7 ปีที่เราไม่ได้มีการเลือกตั้ง และเกือบ 5 ปีภายใต้การปกครองของคสช. เราถามนักการเมืองหน้าใหม่สองคนนี้ถึงความเห็นว่าช่วงระยะเวลาที่ไม่มีเลือกตั้ง พวกเขามองว่าประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งนัฏฐิกา เล่าให้เราฟังว่า ช่วงที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ท้องถิ่นในชัยภูมิก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
“5 ปีที่ผ่านมาคือ การเมืองมันไม่ได้แค่ส่งผลกระทบแค่ภาพรวมของประเทศ แต่ท้องถิ่นที่ไม่ได้แม้แต่มีส่วนร่วมในการเลือกนายก อบจ. ไม่มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นเลย ทำให้กลุ่มผู้มีอำนาจผูกขาดกับอำนาจ แล้วการที่อยู่ในอำนาจได้นานๆ โดยที่ไม่มีการตรวจสอบ ไม่ต้องพูดถึงรัฐบาลเลยค่ะ สิ่งนี้ก็อยู่ในท้องถิ่นเหมือนกัน เมื่อประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมแม้แต่ในระดับท้องถิ่น ผู้ที่อยู่ในอำนาจจะมีเหตุผลอะไรที่เขาจะทำเพื่อประชาชน เพราะฉะนั้นไม่ต้องถามว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไหมในจังหวัดชัยภูมิ ดิฉันคิดว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงทั่วประเทศเหมือนกัน”
ฝั่งของณิชชาก็มองว่าช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้ง ประเทศเปลี่ยนไป แต่ไม่ใช่ในทางที่ดีขึ้น “ถ้ามองภาพรวม ประเทศไทยเปลี่ยนแปลง แต่เป็นไปในทางที่แย่ลง เพราะว่าคนไม่ได้ใช้ความคิดของตัวเอง ไม่ว่าการจะคิด หรือจะพูดอะไรออกไปบางทียังผิดเลย ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ในวงจรการเมืองแบบนี้ วิถีชีวิตเดิมๆ แบบนี้ไปเพี่ออะไร เพราะฉะนั้นก็อยากจะให้ประชาชนลองให้โอกาส และตัดสินใจให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปทำงานจริงๆ เข้าไปแก้ไขปัญหาประเทศจริงๆ”
ทั้งคู่จึงเห็นตรงกันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ หลังจากห่างหายการได้ใช้สิทธิมานาน จึงเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญมาก
“การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการบอกว่า ประชาชนต้องการให้ประเทศเป็นไปในทิศทางไหน ประชาชนทุกวัย ทุกเพศจะเป็นคนกำหนดประเทศว่าเราจะก้าวต่อไป หรือเราจะอยู่ที่เดิม สำหรับเรา เรามองว่าการที่เราไม่ได้มีการเลือกตั้งมา 7 ปี มันไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือดีขึ้นเลยในทุกๆ เรื่อง คิดว่าครั้งนี้แหละ ประชาชนเป็นผู้ที่ต้องออกมาใช้สิทธิ ใช้เสียง และส่งพลังของตัวเองให้ได้มากที่สุด” ณิชชาระบุ
นัฏฐิกามองว่านอกจากผลการเลือกตั้งที่สำคัญในครั้งนี้ ทุกฝ่ายควรต้องทบทวนบทเรียนด้วย “การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่เกิดรัฐประหาร เป็นการเลือกตั้งที่จะกำหนดว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปยังไง ผ่านนโยบายที่พรรคต่างๆ หาเสียง เป็นการกำหนดว่าประชาชนชอบวิธีการแก้ปัญหาของพรรคไหน นี่คือสิ่งที่สำคัญ แต่ที่สำคัญมากกว่านั้น นอกจากผลชนะของการเลือกตั้งที่กำหนดอนาคตประเทศไทยเนี่ย ทุกๆ ฝ่ายทั้งพรรคการเมือง ประชาชน และกองทัพ จะต้องทบทวนบทเรียนของตนเอง ถ้าไม่ทบทวนบทเรียนของตนเอง เราจะก้าวไปในทิศทางที่ผิดพลาดอีกได้” เธอกล่าว
เราคุยกับทั้งคู่ถึงประเด็นสุดท้ายคือ ‘คนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง’ ณิชชาได้บอกกับเราว่า เธอไม่คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนวัยใด วัยหนึ่งเท่านั้น “เราคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนทุกวัย ทุกเพศ เพราะการเมืองเข้ามาอยู่ในชีวิตของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว เราก้าวออกจากบ้าน สิ่งแรกที่หลายคนทำก็คือ การใช้ระบบขนส่งมวลชน ทำไมเราถึงจะไม่สามารถใช้ปัจจัยพื้นฐานที่เราควรได้รับตรงนี้อย่างเท่าเทียมกันกับทุกคน การเมืองคือทุกรอบด้านของชีวิตคนจริงๆ แต่อยู่ที่ว่าคนจะมองมันเป็นเรื่องของการเมืองรึเปล่า ในเรื่องของการดำรงชีวิตของเรา”
“และถ้าคนรุ่นใหม่จะก้าวเข้ามามีส่วนร่วม เราว่าคนรุ่นใหม่ก็มีศักยภาพพอที่จะขับเคลื่อนประเทศไปในทางที่ดีขึ้นด้วยเราเชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่มีพลังมาก เห็นได้จากการทำงานในพรรคการเมืองนี้ ตัวเราเองเราก็ไม่คิดว่าเราจะสามารถทำอะไรได้มากขนาดนี้เหมือนกันฉะนั้นเราถึงคิดว่าพลังของคนรุ่นใหม่สำคัญมาก และทุกคนต้องก้าวออกมา ใช้พลังของตัวเอง เคารพในสิทธิของตัวเอง”
สังคมเปลี่ยนแปลงไปตลอด สุดท้ายเราก็ต้องเตรียมคนรุ่นใหม่ให้พร้อม นั่นคือสิ่งที่นัฏฐิกาบอกกับเราในประเด็นนี้ “สังคมมันมีการแข่งขัน ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เราก็ต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ภายใต้การแข่งขันการยกระดับเข้าสู่สากลเนี่ย เราจะต้องมีทรัพยากรบุคคลที่จะมามีส่วนร่วมในการพัฒนา และคนรุ่นเก่าๆจะต้องจากไปตามกาลเวลา แล้วเราได้เตรียมคนรุ่นใหม่ๆมาเพื่อที่จะเข้าสู่กระบวนการการแข่งขันของประเทศไทยไหม นี่เป็นเรื่องสำคัญที่คนรุ่นใหม่ๆ รวมถึงนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม เราจะปล่อยให้ประเทศของเราเนี่ยขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะอนาคตของประเทศก็คืออนาคตของเราเหมือนกัน”
“พลังในการเปลี่ยนแปลงเนี่ย มันมีพัฒนาการ เราจะมาบอกว่าเราจะเปลี่ยนแปลงปัญหาที่หมักหมมมายาวนานมากๆเนี่ย ภายในพริบตาเนี่ยคงอาจจะพูดไม่ได้แต่เราต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาเพื่อที่อย่างน้อย ปัญหาที่หมักหมมมันจะคลี่คลายลงได้ นักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่เรามีมุมมองใหม่ๆ เราจะเอามุมมองใหม่ๆ ไปแก้ไขปัญหาเดิมๆ นี่คืออสิ่งที่นักการเมืองใหม่ๆเขากำลังเสนอ”