ทำไมบัลลังก์ของประธานสภา ถึงเป็นที่ต้องการจากสองพรรคใหญ่ขนาดนั้น?
นับเป็นข่าวที่ร้อนระอุมาตลอด นับจากที่การเลือกตั้งในปี 2566 เสร็จสิ้นไป เมื่อทั้งพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยมีที่นั่งห่างกัน 10 ที่นั่ง ต่างก็อยากได้ตำแหน่ง ‘ประธานสภา’ ด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป ทำให้ประชาชนต่างร่วมลุ้นความสัมพันธ์ของว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลว่าจะสั่นคลอนหรือไม่ ส่งผลกับการจัดตั้งรัฐบาลแค่ไหน
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ดุเดือดนี้ The MATTER ขอชวนมาอ่านสรุปท่าทีของสองพรรคการเมือง และความเห็นจาก ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชว่า ทำไมตำแหน่งประธานสภาในรอบนี้ถึงเป็นเรื่องสำคัญ
เกิดอะไรขึ้นในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ช่วงเย็นของเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย มีมติให้คณะเจรจาของพรรคเพื่อไทยไปต่อรองกับพรรคก้าวไกลใหม่ โดยระบุว่า พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยนั้น ได้คะแนนห่างกันเพียง 10 เสียง ซึ่งตามข้อเสนอเดิมทั้ง 2 พรรคจะได้ 14 รัฐมนตรีเท่ากัน โดยพรรคก้าวไกล จะได้ 14 เก้าอี้รัฐมนตรี และ 1 นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเก้าอี้ของผู้นำฝ่ายบริหาร เท่ากับว่า เป็น 14+1 ที่นั่ง
ดังนั้นแล้ว พรรคเพื่อไทยก็ควรได้ 14+1 เช่นกัน และ +1 ที่ว่านี้ก็คือ ‘เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร’
หลังจากมีข่าวนี้ไม่นาน พรรคก้าวไกลก็เปิดตัว ‘ตัวเต็งตำแหน่งประธานสภา’ ของฝ่ายก้าวไกล นั่นคือ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 2 ในปี 2566 สังกัดพรรคก้าวไกล เขต 1 จังหวัดพิษณุโลก และได้คะแนนเสียงสูงสุด ทำให้ปดิพัทธ์ได้เป็น ส.ส.สมัยที่สอง
นอกจากนี้ การประชุมระหว่างก้าวไกล-เพื่อไทย ซึ่งควรจะต้องจัดในช่วง 10.00 น. ของวันที่ 28 มิถุนายน และเป็นที่เพ่งเล็งว่าจะต้องมีการเจรจากันในเรื่องนี้ กลับถูกเลื่อนออกไป พร้อมกับที่การประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่จะต้องจัดในวันที่ 29 มิถุนายน ก็ถูกเลื่อนไปด้วยเช่นกัน
ทำไมตำแหน่งประธานสภาถึงสำคัญ
การจะเล่าเรื่องนี้ อาจต้องเริ่มจากหน้าที่ของตำแหน่งประธานสภาก่อน โดยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ระบุอำนาจหน้าที่ของประธานสภาฯ ไว้ ดังนี้
- เป็นประธานที่ประชุมรัฐสภา และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
- กำหนดการประชุมรัฐสภา
- ควบคุมและดำเนินกิจการของรัฐสภา
- รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรัฐสภา ตลอดจนบริเวณรัฐสภา
- เป็นผู้แทนรัฐสภาในกิจการภายนอก
- แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินการใดๆ
- และมีอำนาจหน้าที่อื่น ตามกฎหมายบัญญัติ ที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
The MATTER ต่อสายหา ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อให้ช่วยอธิบายความสำคัญของตำแหน่งประธานสภาในครั้งนี้ ซึ่ง อ.ยุทธพร ระบุว่า โดยปกติแล้วพรรคที่ได้อันดับ 1 ก็จะพูดคุยกันกับพรรคร่วมรัฐบาลและตกลงตำแหน่งประธานสภากัน แต่นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 และมีบทเฉพาะกาลใน ม.272 ให้ ส.ว.มาร่วมโหวตตำแหน่งนายกฯ กับ ส.ส.ด้วย ทำให้เงื่อนไขทางการเมืองซับซ้อนมากขึ้น แล้วเกมการเมืองในสภาก็จะมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน
“ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า หลังการเลือกตั้งปี 62 ก็จะมีการต่อรองตำแหน่งประธานสภากันในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลในเวลานั้น ก็คือพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งท้ายที่สุดก็ตกลงที่พรรคประชาธิปัตย์ โดย ชวน หลีกภัย ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง”
พอมาในการเลือกตั้งปี 2566 อ.ยุทธพรก็มองว่า เกมการเมืองในสภายังคงเข้มข้น โดยเฉพาะการให้ ส.ว.มาร่วมโหวตเลือกนายกฯ กับ ส.ส.ที่ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม สถานการณ์ทางการเมืองที่ถูกแบ่งออกเป็นสองขั้ว รวมถึงโครงสร้างรัฐบาลผสมที่ขาดความสมดุล จะยิ่งทำให้เกณฑ์ในการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภานั้น ยิ่งมีความสำคัญ
“พรรคที่ได้อันดับหนึ่ง ก็คือก้าวไกลพรรคที่ได้อันดับสอง ก็คือเพื่อไทย ในขณะที่พรรคที่เหลือทั้งหมด ก็จะเป็นพรรคที่ต่ำกว่า 10 ที่นั่ง เพราะฉะนั้น เมื่อโครงสร้างของรัฐบาลผสมไม่สมดุลแบบนี้ ก้าวไกลก็จะอยู่ไม่ได้ ถ้าขาดพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกัน เพื่อไทยก็จะอยู่ไม่ได้ ถ้าขาดก้าวไกล”
แต่ อ.ยุทธพรก็มองว่า พรรคเพื่อไทยมีทางเลือกทางการเมืองมากกว่าพรรคก้าวไกล ดังนั้น ถ้าวันนี้ พรรคเพื่อไทยถอดปลั๊ก รัฐบาลผสมชุดนี้ก็จะมีต่อไปไม่ได้ เพราะไม่มีพรรคอันดับสามที่จะมารองรับ หรือดึงบรรดาพรรคการเมืองขนาดกลาง-ขนาดเล็ก เพื่อพยุงรัฐบาลให้ไปต่อได้
ดังนั้น อ.ยุทธพรจึงมองว่า ตำแหน่งประธานสภาก็เลยมีความสำคัญในสองประเด็น
ประการแรก คือเป็นหมุดหมายแรกที่จะชี้ทิศทางในการเลือกนายกรัฐมนตรี แม้ว่าประธานสภาคงไม่สามารถชี้ได้ว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ หรือชี้ได้ว่าพรรคไหนจะเป็นแกนนำ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปโดยมติของที่ประชุม แต่สิ่งที่ประธานสภาจะทำได้คือเรื่องของการอำนวยความสะดวก หรือไม่อำนวยความสะดวก ในการเลือกนายกฯ เพราะว่าจะทำหน้าที่เมื่อมีการประชุมร่วมกันทั้งสองสภา ในฐานะของประธานรัฐสภาด้วย ดังนั้น ก็เป็นบทบาทสำคัญที่เป็นหมุดหมายแรก ที่จะชี้ทิศทางให้เห็นถึงการเลือกนายกฯ ด้วย
ประการที่สอง คือเรื่องที่เกิดขึ้นในระยะยาว เพราะประธานสภาจะเป็นผู้บรรจุวาระในการพิจารณากฎหมายต่างๆ ส่งผลต่อการเสนอกฎหมายหรือนโยบายที่พรรคการเมืองเคยไปหาเสียงกับพี่น้องประชาชน ซึ่งกรณีนี้ พรรคก้าวไกลเขาก็เคยประสบปัญหาเมื่อสภาชุดที่แล้ว เมื่อมีการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 แล้วก็ไม่ได้รับการบรรจุวาระเข้าสู่สภา
“ดังนั้น ตรงนี้ก็สะท้อนภาพว่าตำแหน่งประธานสภาจึงเป็นที่ต้องการของทั้งพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยในเวลานี้”
ท่าทีเพื่อไทย-ก้าวไกล และความเงียบของขั้วรัฐบาลเดิม
ก่อนหน้านี้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้เป็นตัวแทนเจรจาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับก้าวไกล เคยกล่าวถึงสูตรจัดรัฐบาลโดยเสนอให้ทั้งสองพรรคใหญ่ที่มี ส.ส.ห่างกันเพียง 10 เสียง ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีพรรคละ 14 คน โดยพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคอันดับหนึ่ง ควรได้ประมุขฝ่ายบริหาร และพรรคเพื่อไทยควรได้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ
แต่ไม่นานหลังจากนั้น ก็มีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทย ‘ยอมถอย’ จากตำแหน่งประธานสภาแล้ว หลังจากที่ภูมิธรรมเผยจุดยืนและข้อสรุปของพรรคว่า เห็นชอบในหลักการว่าพรรคอันดับ 1 จะทำหน้าที่ประธานสภา แต่เนื่องจากพรรคอันดับหนึ่งและสองมีที่นั่งจำนวนใกล้เคียงกัน ตำแหน่งรองประธานสภาทั้งสองคน จึงควรเป็นคนของพรรคลำดับสอง
อย่างไรก็ดี ท่าทีล่าสุดของพรรคเพื่อไทยที่ออกมานั้น ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก โดย อ.ยุทธพร คิดว่าท่าทีของทั้งสองพรรคคงเป็นเรื่องที่คุยกันได้ยากแล้ว เพราะเมื่อเปิดประชุมสภาในวันที่ 3-4 กรกฎาคมแล้ว การประชุมสภานั้นก็จะนำไปสู่การเลือกประธานสภาแล้ว จำนวนวันที่เหลืออยู่ไม่มากนี้ คงเป็นปัจจัยให้คุยกันได้ยาก
“แล้วในวันนี้ การเสนอชื่อประธานสภาจากทางขั้วอำนาจเดิม เราก็ไม่ได้ยินชื่อเลยนะ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่สังคมอาจจะไม่ได้จับจ้อง เพราะส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกันในการแย่งชิงกันระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย”
ขณะเดียวกัน อ.ยุทธพรก็มองว่า ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคร่วมรัฐบาลในเวลานั้น คือพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ ก็ต่อสู้แย่งชิงกัน และสุดท้ายก็คือประชาธิปัตย์ที่ได้ ชวน หลีกภัย มาเป็นประธานสภา แต่ในอีกขั้วหนึ่ง พรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย ก็เสนอชื่อ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ แม้ว่าจะไม่ได้รับการเลือกเป็นประธานสภาก็ตาม
เพราะฉะนั้น ในขั้วอำนาจเดิมก็ได้ยินชื่อของการเสนอใครขึ้นมาสักคน แต่แพ้ชนะเป็นอีกเรื่อง
“แต่วันนี้ ขั้วอำนาจเดิมนั้นเงียบมาก ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ไม่ปกติ มีความเงียบที่ผิดปกติ เพราะงั้นจะต้องมีอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในเกมการเมืองตรงนี้แน่นอน ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ที่จะมาสนับสนุนแคนดิเดตประธานสภาจากพรรคเพื่อไทย โดยกลุ่มขั้วอำนาจเดิม ก็เป็นไปได้ แล้วก็จะทำให้ตรงนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทยด้วยเช่นเดียวกัน”
อย่างไรก็ดี คำสัมภาษณ์จาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Insight Thailand วันนี้ (28 มิถุนายน) ระบุว่า พรรคเพื่อไทยยังคงสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตพรรคก้าวไกลให้ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ส่วนเรื่องของประธานสภานั้นเป็นข้อเสนอที่จะไปพูดคุย หากไม่ได้ข้อยุติก็จะนำกลับไปคุยในพรรคทั้งสองอีกครั้งจนกว่าจะได้ข้อสรุปตรงกัน
ส่วนเรื่องของ ‘ฟรีโหวต’ ในการโหวตตำแหน่งประธานสภา นพ.ชลน่านใช้คำว่าจะ “ระมัดระวัง” ไม่ให้เกิดการฟรีโหวต เพราะไม่เป็นประโยชน์กับทั้งสองพรรค แต่ไม่เป็นประโยชน์กับกลุ่มที่สามที่รอโอกาสอยู่
“ภาวะแบบนี้ดีที่สุดก็คือให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตัดสิน” อ.ยุทธพรกล่าว
อ.ยุทธพรย้ำอีกว่า ทุกพรรคสามารถเสนอชื่อของประธานสภาได้ทั้งหมด แล้วก็ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นคนเลือก เพราะว่าสภาผู้แทนราษฎรคือคนที่ต้องทำงานกับประธานสภาคนนี้ ดังนั้น ก็ให้สภาเป็นคนเลือกด้วยเสียงข้างมากในสภา เมื่อมีข้อขัดแย้งที่ไม่อาจจะตกลงกันได้
“นี่เป็นทางออก เป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกครั้งถ้าพูดคุยประชุมหารือกันได้ มีข้อตกลงก็จบตรงนั้น แต่ถ้าไม่มีข้อตกลง ก็จบลงที่การโหวต และไม่ใช่โหวตเฉพาะก้าวไกลกับเพื่อไทยนะ โหวตรายชื่อที่ทุกพรรคเสนอ”
“แปลว่าเราไม่รู้ว่า พอถึงวันที่เปิดสภาอาจจะมีการนำเสนอชื่อของแคนดิเดตประธานจากภูมิใจไทย จากรวมไทยสร้างชาติ จากพลังประชารัฐ จากเสรีรวมไทย จากพรรคเป็นธรรม เขาเสนอได้ทั้งหมด เพราะว่าไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเหมือนกับแคนดิเดตนายกฯ ที่ต้องมีที่นั่งไม่น้อยกว่า 25 ที่นั่ง หรือ 5% ถึงจะเสนอแคนดิเดตนายกฯ ได้ แต่ประธานสภาก็คือทุกพรรคมีสิทธิเสนอได้หมด หรือแม้กระทั่ง ส.ส.ทุกคนก็เสนอได้หมดด้วย ถ้ามีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ตามข้อบังคับการประชุมของสภา”
เหลือเวลาอีกไม่นานก็จะถึงวันโหวตเลือกประธานสภาแล้ว คงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดว่า ที่สุดแล้ว ‘ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ’ จะเป็นผู้แทนจากพรรคใดกันแน่
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก