เป็นอีกครั้งที่วงการสื่อสารมวลชนไทยถูกตั้งคำถามถึงหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคม หลังจากมีการเสนอข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ในงานชุมนุม ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา
จังหวะแรก สื่อแต่ละสำนักมีปฏิกริยาต่อข้อเสนอดังกล่าวไปในทิศทางต่างกัน บ้างตัดสินใจตัดการรายงานสดในเดี๋ยวนั้น แล้วมารายงานภายหลัง บ้างเลือกคนให้ขุ่นด้วยอคติก่อนรายงาน และบ้างเลือกนิ่งเงียบ รอดูจังหวะและสถานการณ์
แต่มีสื่อหนึ่งที่เรียกได้ว่ายืนหยัดต่อหลักการวิชาชีพอย่างตรงไปตรงมา และท้าทายเพดานเสรีภาพการนำเสนอข่าวในสังคมไทยอย่างกล้าหาญ ซึ่งไม่ใช่เพื่อดึงยอดไลค์ ยอดแชร์ แต่พวกเขาทำมันอย่างสม่ำเสมอ สื่อนั้นคือ ‘ประชาไท-Prachatai’
ในช่วงเวลาที่สื่อมวลชนควรหันหน้าคุยกันให้มาก เพื่อเลือกทิศทางและเดินหน้าเป็นทีมแบบนี้ The MATTER ได้ชวน เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท มานั่งพูดคุยถึงที่มาที่ไป จุดยืน ความเชื่อ และคุณค่าต่อสังคมของสำนักข่าวแห่งนี้ ตลอดจนมุมมองต่อเพดานเสรีภาพของสื่อไทยในขณะนี้ และวิกฤตที่พวกเขาเผชิญมาโดยตลอด ทั้งในแง่ธุรกิจ และสื่อที่ปวรณาตนเป็นกระบอกเสียงให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย
สำหรับประชาไท สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างไรต่อสังคม อะไรคือจุดยืน ความเชื่อ และคุณค่าต่อสังคมของประชาไท
ตั้งแต่เราเริ่มก่อตั้งในปี 2547 โดยมี อ.จอน อึ๊งภากรณ์ เป็นหัวหอก เราต้องการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มคนที่ไม่มีเสียง ไม่ว่าประชาชนในพื้นที่ ชาวบ้าน แรงงาน หรือองค์กรต่างๆ ที่ทำงานกับชุมชน
อีกประการ เราต้องการให้วัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน และวัฒนธรรมประชาธิปไตยลงหลักปักฐานในสังคม รวมถึงองคายพต่างๆ ที่ส่งเสริมประชาธิปไตยสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ไม่ถูกรัฐประหาร หรือล้มล้าง ตรงนี้เป็นภารกิจของประชาไท ที่มากกว่าวางตัวเป็นแค่กระจกอย่างเดียว
อีกประการคือ เราต้องการส่งเสริมความเสมอภาคและเป็นธรรมให้กับคนในสังคม ตั้งแต่เรื่องสิทธิพลเมือง จนถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงาน เพราะผมคิดว่าตรงนี้เป็นขั้นพื้นฐานของการสร้างวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยในสังคม
ตั้งแต่ก่อตั้งมา ครั้งไหนบ้างที่ทำงานแล้วได้รับแรงกระทบกระแทกเข้ามามากที่สุด
ในปี 2547 หรือปีแรกที่ประชาไทก่อตั้งขึ้น ได้นำเสนอข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง เกี่ยวกับกรณีตากใบ โดยเสนอผ่านเสียงของคนใกล้ชิด หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ ทำให้ถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และถูกตั้งแง่ว่าเป็นสื่อฝั่งตรงข้าม
หลังการรัฐประหาร 2549 เว็บบอร์ดราชดำเนินถูกปิด คนก็ย้ายมาเว็บบอร์ดประชาไท และมีการตั้งข้อสงสัยกรณีที่สถาบันกษัตริย์เซ็นรับรองการรัฐประหาร จนทำให้ผู้อำนวยการของประชาไทถูกดำเนินคดี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในฐานะเป็นผู้ให้บริการ เนื่องจากปล่อยปะละเลยให้มีข้อความหมิ่นนพระบรมเดชานุภาพ
เมื่อปี 2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ก็ได้สั่งปิดเว็บไซต์ของเรา แต่เราก็ดิ้นรนด้วยการไปตั้ง URL อื่นไปพลางๆ แต่ก็ไม่พ้นถูกบล็อคอีก แต่พอ ศอฉ. ยุบ และสั่งยกเลิก พรก ฉุกเฉิน เว็บไซต์เราก็กลับมา
กระทั่งรัฐประหารปี 2557 บาง URL ของเราที่ถูกวินิจฉัยว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ถูกบล็อคอีกครั้ง นักข่าวและผู้บริหารก็ถูกเรียกไปกินกาแฟ รวมถึงตัวผมเองก็ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ แม้ก่อนเลือกตั้งปี 2562 บ้านผมที่ต่างจังหวัดก็มีทหารมาเยี่ยมบ้านทุกสามเดือน
นอกจากนั้น ก็มีการขู่ฟ้องหมิ่นประมาทเป็นระยะ เช่น สัมภาษณ์และมีการพาดพิงบุคคลหนึ่ง เราก็ถูกพ่วงไปเป็นพยาน หรือช่วงเลือกตั้ง ที่เพจหนึ่งของกองทัพโพสต์ชวนให้ไปเลือกพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เราก็แคปโพสต์ดังกล่าวไปรายงานข่าว จนสุดท้ายเขาลบโพสต์นั้น และขู่ว่าจะฟ้องเรา แต่ก็ไม่ได้ฟ้อง
นอกจากนี้ มีบางช่วงที่เราถูกตัดงบสนับสนุน เพราะท่าทีทางการเมือง จนเราต้องบอกทีมว่าไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนให้ แต่ก็ตกลงกันว่าจะทำงานกันอยู่ แต่ปริมาณงานอาจลดน้อยลง
มองว่าเส้นแบ่งระหว่างการทำหน้าที่ ‘สื่อมวลชน’ กับ ‘ธุรกิจ’ ควรอยู่ตรงไหน
สำหรับประชาไท ฝ่ายที่กุมกระเป๋าเงินกับฝ่ายเนื้อหาเราแบ่งขาดออกจากกัน ถึงเราจะทราบบ้าง แต่ก็พยายามไม่เอามาคิดภายในหัว เพราะถ้าคิดมากๆ เราจะกังวลว่าพรุ่งนี้จะกินอะไรดี
ประชาไทมีรายได้มาจาก หนึ่ง โครงการที่ยื่นให้องค์กรสนับสนุน แต่ละปีเราจะคุยกันว่าจะทำโครงการที่ส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนหรือประชาธิปไตยอะไร เมื่อคิดได้แล้ว เราก็นำไปเสนอให้องค์กรที่สนับสนุนเรื่องเหล่านี้ ถ้าเขาเห็นด้วยเขาก็ให้เงินสนับสนุน
สอง ยอดเงินบริจาค ก่อนหน้านี้ยอดบริจาคเป็นรายได้ประมาณ 10 เปอร์เซนต์ของรายได้ทั้งหมด แต่หลังจากวันที่เราไลฟ์การชุมนุมของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ก็ทำให้ยอดบริจาคอย่างไม่เป็นทางการวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นยอดบริจาคที่ทำให้เซอไพรส์มาก
สาม รายได้จากการขายสินค้า ไม่ว่าเสื้อผ้า แก้ว จานรอง อะไรต่างๆ
และอีกช่องทางคือ ไปรับจ้างบันทึกการประชุม เขียนข่าว หรืออบรมการทำสื่อให้กับองค์กรอื่น ซึ่งตรงนี้เป็นการขูดรีดตัวเองเหมือนกัน แต่เราตกลงกับเพื่อนร่วมงานตั้งแต่สมัครเข้ามาแล้วว่า เรามีระบบตรงนี้ ซึ่งหลายคนก็ยินยอม
แต่สิ่งที่คาดหวังจริงๆ คือ ให้เนื้อหามันหล่อเลี้ยงเราเอง แต่การไปถึงตรงนั้นเราต้องแสดงให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของเรา ซึ่งถ้าในอนาคตหลักการที่เราต้องการผลักดันมันลงหลักปักฐาน น่าจะมีคนที่พร้อมช่วยเหลือเรามากขึ้น แต่ตอนนี้ผ่านมา 16 ปีแล้ว ประชาไทก็ยังกระท่อนกระแท่นอยู่
มองอย่างไรกับคำว่า ‘สื่อต้องเป็นกลาง’
ความเป็นกลางของสื่อสำหรับผมคือ ‘ภววิสัย’ สื่อต้องรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในแบบที่มันเกิดขึ้น ไม่ใช่เอา ‘อัตวิสัย’ ไปตัดสิน แม้ในความเป็นจริง นักข่าวก็เป็นมนุษย์ปุถุชน มีการคัดสรรค์เนื้อหาภายในกองบรรณาธิการ แต่เราพยายามลบตรงนี้ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นได้
สมมุติฐานอีกอย่างหนึ่งของประชาไทคือ ฝ่ายรัฐและกลุ่มทุน มีสื่อให้ความสนใจเขาจำนวนมากอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงไม่ค่อยให้เสียงของกลุ่มดังกล่าวผ่านช่องทางเรามากนัก แต่เราจะเน้นให้องค์ประธานของข่าวเราเป็นเสียงของประชาชน แรงงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนามากกว่า เพื่อให้ผู้อ่านของเราได้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น
นอกจากนี้ เราไม่ใหญ่ถึงขนาดให้พื้นที่สื่อได้ทั้งสองฝั่ง ดังนั้น ถ้าฝั่งของรัฐและทุนมีพื้นที่อยู่แล้ว เราก็ควรเพิ่มเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยหรือคนที่คิดต่างจากกระแสหลักให้มากขึ้น และสุดท้ายมันก็จะไปสมดุลกับเสียงของสื่อหลักเอง
ทำไมประชาไทถึงเลือกวิธีการไลฟ์ในหลายๆ สถานการณ์ ยกตัวอย่าง การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา
ผมคิดว่าเทคโนโลยีมันช่วยตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจ และรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทันที อย่างกรณีที่ กานต์ พงประภาพันธ์ ไลฟ์สดระหว่างที่เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ตอนที่ไปสังเกตุการณ์การย้ายอนุเสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผมคิดว่ามันช่วยให้คนที่อยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงแบบนั้นปลอดภัยมากขึ้น เพราะมีคนในโลกออนไลน์จับตาดูอยู่
เช่นเดียวกับการชุมนุม เราไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างทั้งบนเวที และกับผู้ชุมุนม การที่เราเลือกถ่ายทอดผ่านไลฟ์ มันช่วยทั้งในเรื่องการสื่อสาร ช่วยตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และช่วยกำกับตัวผู้ชุมนุมเองด้วยว่าจะทำอะไรต้องอยู่ในความชอบธรรม
ดังนั้น เทคโนโลยีตรงนี้ มันไม่เข้าใครออกใคร อาจส่งผลบวกและลบต่อผู้ชุมนุมเองก็ได้ นอกจากนี้ ผมคิดว่าข้อมูลข่าวสารสำคัญต่อสังคม ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม เราไม่ควรไปปิดกั้นข้อมูลที่ส่งให้สังคม
อีกอย่างหนึ่ง ข้อเรียกร้อง 10 ข้อจากนักศึกษาในวันนั้น ไม่ได้มีอะไรผิดกฎหมาย ไม่ล้มล้างการปกครอง และผมมองว่าเป็นข้อเรียกร้องที่อนุรักษ์นิยมแบบก้าวหน้าด้วยซ้ำ ที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ภายใต้ยุคสมัยที่ข้อมูลมันถาโถมแบบนี้
ผมไม่เข้าใจว่าสังคมไทยเป็นอะไร เราสามารถพูดถึงสังคมที่เท่าเทียม เป็นธรรม หรือแสดงตัวว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ใส่หมวกดาวแดงได้ แต่พอเราพูดถึงรอยัลลิสต์ในแบบก้าวหน้าเรากลับพูดไม่ได้
ในขณะเดียวกัน สื่อหลายสำนักตัดสินใจรายงานแค่บางส่วน ตลอดจนไม่รายงานเลย มองว่าอย่างไร
จริงๆ หลายสื่อพยายามสื่อสารเหตุการณ์ตรงนั้นออกไป แต่อาจด้วยวิธีแตกต่างกันไป ทั้งแบบไลฟ์สด รายงานบางช่วงตอน หรือสรุปข่าว อย่างรายการข่าวสามมิติเองก็มีการพูดถึงข้อเสนอและเจตจำนงค์ของกลุ่มนักศึกษา
ผมเข้าใจว่าสื่อแต่ละสำนักมีข้อจำกัดแตกต่างกัน มันเป็นภาวะที่มีเพดานความกลัวบางอย่างที่กดทับเราอยู่ ทั้งเรื่องกฎหมาย หรือข้อกังวลต่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากนี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อมวลชนเองก็ไม่ได้มีอุดมการณ์เหมือนผู้ชุมุนมไปทั้งหมด พวกเขาถูกหล่อหลอมด้วยกลไกทางสังคม การศึกษา การสื่อสารด้านเดียวมาโดยตลอด ทำให้คนทำงานสื่อเองก็อาจมี ‘การเซนเซอร์ตัวเอง’ จากอุดมการณ์ที่ตัวเองเชื่อด้วยซ้ำไป
ผมอยากเรียกร้อง ประชาชนอย่าไปทุบทำลายสื่อที่นำเสนอแง่มุมที่แตกต่าง เพราะสื่อทั้งหมดไม่จำเป็นต้องนำเสนอเรื่องเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นข่าวของลุงพล และน้องชมพู่ทั้งหมด
ประชาชนอาจควบคุมกำกับหรือตั้งคำถามกับสื่อได้ แต่ไม่ควรไปกำหนดมาตรฐานของสื่อ ปล่อยให้มันเป็นไปแบบนี้แหละ อย่าไปกลัวความหลากหลายของสื่อ เพราะสุดท้ายถ้าประชาชนไม่อุดหนุนสื่อ สื่อที่ไม่มีอะไรหล่อเลี้ยงให้ดำเนินไปได้ก็จะหายไปเองตามสภาพ
ตั้งแต่เริ่มทำงาน จนถึงตอนนี้ มองว่าเพดานเสรีภาพของสื่อมวลชนในสังคมไทยมีการขยับเขยื้อนไปข้างหน้าอย่างไรบ้างไหม
ตรงนี้ก็แปลกใจมากนะ เพราะก่อนหน้านี้สื่อเองก็เคยนำเสนอเรื่องสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าข้อเสนอ 8 ข้อของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือสำนักข่าวผู้จัดการก็เคยลงบทความที่ คำนูญ สิทธิสมาน พูดถึงบทความดังกล่าว รวมถึงรายการตอบโจทย์ของช่องไทย พีบีเอส ที่เคยเอา ส.ศิวรักษ์ กับ สมศักดิ์มาพูด หรืออย่างช่วงปี 2553-2555 ก็มีการจัดวงเสวนาวิชาการในสถาบันศึกษา โดยคณะนิติราษฎร์
ผมคิดว่าเป็นเพราะหลังรัฐประหาร 2557 ที่ให้ข้อหามาตรา 112 ไปอยู่ใต้การพิจารณาของศาลทหารและทำให้บทลงโทษรุนแรงขึ้นมาก เพดานเสรีภาพมันเลยลดลง
แต่ปัจจุบัน โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในโลกทวิตเตอร์ที่มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากใช้งานและคนกลุ่มนี้แอคทีฟมาก ทำให้ความจริงไม่ถูกผูกขาดโดยสื่อหลัก เชื้อเชิญให้สื่อหันมาให้พื้นที่กับคนกลุ่มนี้มากขึ้น ดังนั้น ในตอนนี้ผมคิดว่าเพดานน่าจะขยับขึ้น แต่ยังเต็มไปด้วยความกลัวหลายประการ
หลังจากที่มีการประกาศข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน เกิดปฏิกริยาโต้ตอบจากคนบางกลุ่มจนมีแนวโน้มอาจผลักสังคมไปสู่ความรุนแรง ในสถานการณ์แบบนี้ ประชาไทมองว่าสื่อควรมีท่าทีและวางตัวอย่างไร
สมมุติฐานของผมในฐานะสื่อมวลชนคือ สังคมไทยมีดุลยพินิจและบทเรียนเพียงพอ ที่จะพิจารณาสารที่เผยแพร่ออกไปด้วยตัวเอง โดยที่สื่อไม่จำเป็นต้องรายงานแบบตัดสิน
ผมไม่มีปัญหากับการที่สื่อไม่นำเสนอข้อเรียกร้อง แต่การที่สื่อบางสำนักนำเสนอข่าวเชิงตัดสินผู้ชุมนุม เช่น รายงานว่ามีผู้คอมเมนท์การจัดกิจกรรมของนักศึกษาว่าจาบจ้วง ล้มสถาบัน ผมคิดว่ามันเป็นการตัดสินโดยไม่นำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาให้ผู้อ่านก่อน ตรงนี้นอกจากไม่เป็นธรรม บิดเบือนความจริง และยังเป็นการดูถูกดุลยพินิจของผู้อ่าน
นอกจากนี้ สื่อหลักควรยอมรับว่ามีคนบางกลุ่มที่พร้อมใช้ความรุนแรง และควรพิจารณาว่าควรวางตัวอย่างไร เช่น ให้ตัวเองเป็นพื้นที่กลางในการสร้างความเข้าใจ หรือไปสัมภาษณ์ผู้เสนอข้อเรียกร้องเพิ่มเติม เพื่อให้สังคมเห็นมิติด้านอื่นๆ และทำให้สังคมเปิดใจและรับฟังผู้เสนอมากขึ้น
สื่อควรเป็นองค์กรหนึ่งที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับการเสนอข้อเรียกร้องใหม่ๆ โดยไม่นำไปสู่ความรุนแรง นอกจากสื่อก็มีมหาวิทยาลัยที่ควรรีบหยิบเรื่องนี้มาคุย เพราะถ้าปล่อยไว้แบบนี้ แรงปะทะอาจไปอยู่กับกลุ่มที่เสนอมากขึ้นเรื่อยๆ
ประชาไทก่อตั้งมาร่วม 16 ปี มองว่าสังคมเดินหน้าไปสู่ทิศทางเดียวกับพันธกิจของประชาไทไหม
ผมคิดว่าสังคมมีผู้เล่นหน้าใหม่ ที่ยึดถือคุณค่าต่างจากคุณค่าเดิมที่สังคมไทยหล่อหลอมมา คนกลุ่มนี้มองว่ามีบางอย่างที่อาจเป็นฉันทามติร่วมแบบใหม่ของสังคมได้ เช่น สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน พวกเขามองความเป็นชาติต่างออกไปจากแบบที่รัฐไทยต้องการให้มอง หรือมองสถาบันกษัตริย์ในแบบสมัยใหม่ที่ก้าวหน้ามากขึ้นเหมือนในญี่ปุ่น อังกฤษ หรือสแกนดิเนเวีย
อย่างหนึ่งเพราะโลกมันกว้างขึ้น คนรุ่นใหม่สามารถเสพข้อมูลได้มากขึ้น ทำให้เขาได้รับความคิดอุดมการณ์แบบใหม่ มองว่าตัวเองเป็นพลเมืองของโลก มากกว่าพลเมืองของประเทศ
ดังนั้น ผมคิดว่าสังคมเปิดกว้างมากขึ้น ขยับไปข้างหน้ามากขึ้น ยึดถือหลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพมากขึ้น จนทำให้แนวคิดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมไทยอีกแล้ว
Photo by Fasai Sirichanthanun