ที่ผ่านมา ภาครัฐ ‘ฟัง’ เสียงของเด็กและเยาวชนมากแค่ไหน?
หลายคนคงมีคำตอบในใจกันอยู่แล้ว ด้วยภาพความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนมีให้เห็นตามสื่ออยู่ทุกวัน ยิ่งในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐต่อเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างออกไป ยิ่งปรากฎให้เห็นชัดขึ้น
ในวันเยาวชนแห่งชาติ (20 กันยายน) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานเสวนาเปิดตัวโครงการ ‘พูดเพื่อเด็ก’ เพื่อส่งสัญญาณว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอันเปี่ยมล้นไปด้วยพลังของเยาวชน ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่จะหันมาฟังเสียงของเยาวชนกันให้มากกว่าที่เคย ด้วยความเชื่อมั่นว่า ทุกคนสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชนได้
The MATTER ขอชวนทุกคนมาอ่านสรุปจากงานเสวนา เพื่อให้เข้าใจถึงสภาพปัจจุบันของการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน และแนวทางในการยุติปัญหานี้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ปลอดภัยจริงๆ เสียที
สถานการณ์ความรุนแรงต่อเยาวชนในพื้นที่ชุมนุม
เด็กถูกจับ ถูกดำเนินคดี ถูกยิงจนได้รับบาดเจ็บสาหัส .. ทั้งสามสิ่งนี้ ล้วนเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย เมื่อการชุมนุมเรียกร้องของเยาวชนไม่ได้รับการตอบสนอง ซ้ำความรุนแรงก็ยิ่งทวีคูณขึ้นไปเรื่อยๆ
ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์นโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกล่าวถึง ความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ออกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 21 ว่า รัฐมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกแล้วก็รับรองสิทธิในการชุมนุม หรือก็คือคือไม่ได้กำหนดห้ามเด็กและเยาวชนเข้าร่วมชุมนุม แต่กำหนดหน้าที่เพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่รัฐว่า ถ้าหากมีเด็ก หรือกลุ่มเปราะบางอื่น เช่น คนพิการ สตรี เข้าร่วมการชุมนุม รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องหามาตรการเพิ่มเติม หรือใส่มาตรการพิเศษเข้าไป ให้กลุ่มเปราะบางเข้าร่วมการชุมนุมได้
แต่ข้อมูลจากโครงการ Mob Data Thailand ซึ่งเป็นโครงการที่สังเกตการชุมนุมทั่วประเทศไทยขององค์กรแอมเนสตี้ ร่วมกับ iLaw ระบุว่า ตั้งแต่ 18 กรกฎาคม 2563 – 16 กันยายน 2564 มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั้งหมด 1,852 ครั้ง
ภัทรานิษฐ์เล่าว่าเด็กและเยาวชนก็ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่ชุมนุมมาตั้งแต่อดีต อย่างในปี 2553 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตถึง 94 ราย ในจำนวนนี้มีเด็กอายุ 14 ปี รายหนึ่งที่เสียชีวิตจากอาวุธปืนจริงที่ศาลตัดสินแล้วว่ามาจากทหาร
ขณะที่ หลังช่วงรัฐประหารปี 2557 ภัทรานิษฐ์กล่าวว่า รัฐไทยใช้ทั้งกฎอัยการศึกในการจำกัดการชุมนุม ทั้งยังมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาอีก ซึ่งในช่วงนั้นมีปริมาณเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบน้อย แต่ก็มีประมาณ 7 คนที่ถูกดำเนินคดีจากการเผาซุ้มป้ายเฉลิมพระเกียรติ ใน จ.ขอนแก่น ซึ่งสุดท้าย เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ก็ถูกดำเนินคดีตามความผิดอาญา ม.112 ด้วย
ส่วนช่วงหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ภัทรานิษฐ์ มองว่า มีจุดเปลี่ยนจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตอนนี้มีเด็กและเยาวชน 184 คนที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม โดยฐานความผิดที่โดนมากที่สุด คือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
“จำนวน 184 คน จริงๆ แล้วเพิ่งจะมาเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้เอง จากเดือนก่อนๆ ที่เด็กที่ถูกดำเนินคดีจะอยู่ที่เลข 30-40 คน จำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว สอดคล้องไปกับจำนวนการชุมนุมที่มากขึ้น”
ภัทรานิษฐ์ กล่าวอีกว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีการชุมนุมมากถึง 165 ครั้ง หรือตอนนี้อาจจะมากกว่านั้นแล้วด้วย นำไปสู่การดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนอีกร้อยกว่าคน ซึ่งเฉพาะในพื้นที่ดินแดงก็มีการชุมนุมประมาณ 37 ครั้ง ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีผู้ถูกจับกุมเกือบทุกวันด้วย
อย่างไรก็ดี ภัทรานิษฐ์ได้แบ่งช่วงพัฒนาการของกลุ่มเด็กและเยาวชนในการชุมนุมออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
- ช่วงเริ่มเยาวชนปลดแอก 18 กรกฎาคม ถึงเวลาที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเด็กและเยาวชนที่โดนดำเนินคดีส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา และเนื้อหาการเรียกร้องก็เป็นการอธิบายถึงการที่ถูกกดทับในโรงเรียน ซึ่งพวกเขาคิดว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับการที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย
- ช่วงที่เด็กและเยาวชนถูกคุกคามทางออนไลน์ โดยเริ่มมีกลุ่มบุคคลธรรมดาตั้งกลุ่มมารวบรวมพยานหลักฐาน และรวบรวมความเห็นเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนแสดงต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อแจ้งข้อหากลุ่มเหล่านี้ โดยกลุ่มที่จัดตั้ง เช่น ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ที่รวบรวมไปกว่า 1,000 รายชื่อ ทำให้เด็กและเยาวชนเริ่มถูกเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา บางคนโดนโรงเรียนเรียกไปคุยด้วย
- ณ ปัจจุบัน เริ่มมีการชุมนุมถี่ขึ้น บ่อยขึ้น จากกลุ่มอื่นๆ ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น คาร์ม็อบ ที่กระจายไปในหลายจังหวัด ทะลุฟ้า คณะราษฎร์ รวมถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง
“สำหรับกลุ่มดินแดง เมสเสจหลักคือตัวของเขาเอง เขามาเพื่อให้เห็นว่า ฉันนี่แหละคือผลผลิตของความเหลื่อมล้ำของทุกอย่าง ทั้ง 7 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่ได้เฟรมเป็นเมสเสจแล้วพูดออกมาในลักษณะปกติอย่างที่เราคุ้นชิน แต่เขาปรากฏตัวออกมาพร้อมกับพฤติกรรมบางอย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐมองว่า นั่นคือการใช้ความรุนแรง และการใช้ความรุนแรงเป็นเหตุผลอันชอบธรรมเสมอที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐจัดการยังไงก็ได้ รวมถึงการสลายการชุมนุมและการดำเนินคดี”
ข้อมูลจากแอมเนสตี้และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีเด็กและเยาวชนบาดเจ็บในพื้นที่ชุมนุม ประมาณ 50 กว่าคน ซึ่งภัทรานิษฐ์บอกว่า นี่เป็นตัวเลขที่ยังไม่นิ่ง และอาจมีบางส่วนที่เรายังไม่มีข้อมูลเก็บไว้ด้วย
“เราพบว่า เด็กและเยาวชนที่บาดเจ็บจากการชุมนุม ส่วนใหญ่จะมาจากการสลายการชุมนุมแบบปิดล้อม ซึ่งเป็นยุทธวิธีใหม่ของเจ้าหน้าที่ในการปิดล้อมและจำกัดพื้นที่ให้แคบที่สุด ไม่มีทางหลบออก แล้วก็จะใช้อาวุธ ซึ่งเป็นอาวุธที่หากไม่ใช้ให้ถูกวิธีก็นำมาสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ อย่างกระสุนยาง แก๊สน้ำตา โดยตอนนี้มีอย่างน้อย 20 กว่าคนแล้วที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อาวุธเหล่านี้”
ภัทรานิษฐ์ย้ำว่า ข้อมูลทั้งหมดนี้ขัดกับหลักการสากลระหว่างประเทศและกฎหมายไทย โดยข้อมูลที่มีตอนนี้ พบว่า มีเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 147 รายที่โดนจับกุม โดยเป็นการจับกุมแบบกะทันหัน ไม่มีหมายจากศาล แต่ระยะหลังศาลเยาวชนก็เริ่มทยอยออกหมายจับเยาวชนที่ถูกกล่าวหาต่างๆ แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังจากมีการชุมนุมต่อเนื่องมาปีกว่า ที่มีการออกหมายจับ แม้ว่าจะไม่ใช่ข้อหาที่ร้ายแรงก็ตาม
นอกจากนี้ การจับส่วนมากมักเกิดขึ้นตอนกลางคืนซึ่งเด็กก็จะไม่ได้พบที่ปรึกษากฎหมาย วิธีการนี้อยู่ภายใต้เหตุผลหรือข้ออ้างที่พูดกันมาว่า เพราะเด็กใช้ความรุนแรง ดังนั้น จึงความรุนแรงที่โต้กลับจากเจ้าหน้าที่ทั้งกายภาพและกฎหมาย จึงชอบธรรม ทั้งที่ความจริงต้องมาดูกันตามสเต็ปว่าเป็นไปตามหลักกฎหมายหรือเปล่า
“กระบวนการที่ทำกับเด็ก โดยหลักการ มันเขียนเอาไว้อย่างดี ซึ่งเคารพหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก ในการพิจารณาต้องเอาหลักการนี้มาพิจารณาอย่างแรก จึงอยากฝากว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ พนักงานอัยการ หรือศาล ต้องคำนึงด้วยว่า นอกจากความมุ่งหมายที่จะให้เขาแก้ไขพฤติกรรมต้องตระหนักด้วยว่า เราเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ ฉะนั้น หน้าที่ที่สำคัญที่สุดก็คือการตรวจสอบอำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
สิ่งที่เด็กและเยาวชนสูญเสียไปจากระบบสังคมที่ล้มเหลว
กลางดึกคืนวันที่ 16 สิงหาคม วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนวัย 15 ปี ถูกยิงเข้าที่คอ ในพื้นที่หน้า สน.ดินแดงซึ่งชุดควบคุมฝูงชนกำลังเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม ภาพจากคลิปที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์เห็นร่างของวาฤทธิ์ร่วงลงกับพื้น ก่อนจะถูกนำส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล
ไม่กี่วันหลังจากนั้น โรงพยาบาลราชวิถีออกแถลงการณ์ว่า วาฤทธิ์มีอาการอัมพาตตั้งแต่ช่วงแขนลงมา
“อาการน้องก็เหมือนเดิม ยังไม่ฟื้น ไม่รู้สึกตัว เป็นมาประมาณ 1 เดือนกับอีก 2-3 วันแล้ว”
คำกล่าวจาก นิภาพร สมน้อย แม่ของวาฤทธิ์กล่าวในงานเสวนา พลางเล่าว่า อาการของลูกก็ยังไม่ดีขึ้น และครอบครัวรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ ตอนนี้วาฤทธิ์อยู่ได้ด้วยยากระตุ้นหัวใจ ซึ่งถ้าหมอไม่ให้ยากระตุ้น หัวใจของเขาจะอ่อนลงเรื่อยๆ และตอนนี้หมอก็ให้ยาจนเต็มลิมิตแล้ว ไม่สามารถให้มากกว่าไม่ได้ แต่หัวใจของวาฤทธิ์ยังเต้นอ่อนลง ถือเป็นแนวโน้มที่ไม่ดี
นิภาพรเล่าว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพิ่งมีโอกาสทราบข้อมูลที่ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ รวบรวมข้อมูลหลักฐานมาให้ ซึ่งเห็นแล้วก็รู้สึกช็อกมากขึ้น หลักฐานที่ปรากฏค่อนข้างมาก แต่ไม่น่าเชื่อว่า จะยังไม่มีความคืบหน้าของคดีเกิดขึ้น
หลังฐานจาก กมธ.ชี้ว่า คนก่อเหตุเป็นชายฉกรรจ์ แต่งตัวคล้ายผู้ชุมนุม ซึ่งเชื่อมโยงกับกรณีของเยาวชนวัย 14 ปี อีกรายหนึ่งที่ถูกยิงเข้าที่ไหล่ในวันเดียวกัน และใน สน.ดินแดงก็มีกลุ่มชายฉกรรจ์ที่แต่งตัวคล้ายกับคนยิง
พ่อของวาฤทธิ์กล่าวเสริมว่า เหตุเกิดที่หน้า สน.ดินแดง ห่างจากจุดที่ลูกถูกยิงเพียง 200-300 เมตร ไม่ว่าจะวิถีกระสุนหรือกล้องวงจรปิด 54 ตัว ก็เป็นหลักฐานที่สามารถไล่เรียงบุคคลที่ก่อเหตุได้ แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลอะไรจากตำรวจเลย และหลักฐานจากในคลิปก็ชัดเจนมากกว่าคนที่ยิงอยู่จุดไหน ยิงไปทางไหน ตำรวจมีประสบการณ์สอบสวนมามาก ควรจะหาคนลงมือได้แล้ว
ขณะที่ แม่ของวาฤทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้มีการตั้งคำถามหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการถามว่า เป็นฝีมือคู่อริ เป็นชายฉกรรจ์ ตำรวจ หรือชุดควบคุมฝูงชน เหตุเกิดหน้า สน.ดินแดง และไม่ได้ยิงจากที่สูง การหาหลักฐานก็มีมากพอสมควรแล้ว หากตามต่อก็คงไม่เหนือบ่ากว่าแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงควรเร่งทำคดีนี้ให้กระจ่าง เพื่อไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต้องตกเป็นจำเลยของสังคม
นิภาพรย้ำว่า อย่าทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย คนที่ออกมาชุมนุมเขามีสิทธิ เสรีภาพของเขา ก็ควรรับฟัง
“ตอนนี้รอปาฏิหาริย์อย่างเดียว อยากให้เขาฟื้นขึ้นมาก่อน จะดีไม่ดี ร่างกายจะเป็นยังไง ก็ว่ากันอีกที แต่ขอให้ได้สติ ให้ลืมตาขึ้นมาก่อน”
ขณะที่ อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดงผู้มาร่วมงานเสวนาในฐานะประชาชนผู้ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก กล่าวถึงสภาพจิตใจของคนทั่วไปว่า เวลาอ่านข่าวการสลายการชุมนุมจะรู้สึกหดหู่ เพราะเห็นภาพเยาวชนที่แค่ออกไปเรียกร้องเพียงเพราะอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ถูกทำร้ายทุกวัน และโดนหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้หลายคนเริ่มรับข่าวสารไม่ไหว และเขามองว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
แต่อวัชก็มองว่า เราต้องออกมาช่วยกันพูด เพื่อไม่ให้มันเป็นเรื่องปกติของสังคม ทั้งรัฐบาลเองก็ต้องตั้งคำถามว่า การที่เด็กออกมาประท้วง มีสาเหตุจากอะไร ซึ่งนับวันอายุของผู้ชุมนุมเริ่มเด็กลงเรื่อยๆ ฉะนั้น รัฐบาลต้องพิจารณาและกลับมาถามตัวเองอย่างจริงจัง และต้องดูมาตรการรับมือว่า สิ่งที่ทำอยู่ถูกต้องหรือเปล่า
“ก่อนเกิดการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส ต้องดูว่ามันเกิดการชุมนุมมาแล้วตั้งกี่ครั้ง เยาวชนกลุ่มนี้ออกมาเรียกร้องโดยพร้อมที่จะแลกกับชีวิต พร้อมที่จะลงมาแล้วรู้ว่า รัฐบาลจะใช้ความรุนแรง ต้องตั้งคำถามว่าทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงยอมไปแบบนั้น นั่นแปลว่า ชีวิตของเขาเหล่านี้ไม่เหลืออะไรแล้วหรือเปล่า”
“ในสภาพสังคมและระบบที่กดขี่ แม้ว่าเขาจะเปร่งสุดเสียง ภาครัฐก็ไม่เคยได้ยิน”
อวัชกล่าวว่า พอเป็นการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส คนก็มักตั้งคำถามว่า ‘ไหนบอกว่าเป็นม็อบสันติวิธี’ ซึ่งต้องย้อนไปดูว่า ผู้ชุมนุมใช้สันติวิธีมาเท่าไหร่แล้ว รัฐบาลก็ไม่เคยรับฟังเลย วันนี้ที่ทะลุแก๊สใช้อาวุธตอบโต้ ก็ไม่ได้รุนแรงเท่ากับที่เจ้าหน้าที่ใช้ ซึ่งเยาวชนใช้วิธีนี้เพราะมองว่า มันเป็นวิธีเดียวที่เขาจะทำได้
นอกจากนี้ อวัชยังเสริมด้วยว่า สิ่งที่เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่ภาครัฐพยายามผลักให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุแก๊ส ถือเป็นการ ‘ก่อความไม่สงบ’ ซึ่งเขามองว่ามันเป็นการใช้วิธีการเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องให้พื้นที่กลุ่มทะลุแก๊ส เพื่อให้พวกเขาได้มีส่งเสียงจริงๆ
“สิ่งที่อยากฝากคือ รัฐบาลต้องให้โอกาสเยาวชนได้เติบโต ให้โอกาสพวกเขาได้มีความฝัน ได้เรียนรู้ ได้มีอนาคตที่ดีในประเทศนี้ เพราะคนที่จะต้องอยู่ต่อไป คือเยาวชน ถ้าคุณไม่มีพื้นที่ให้เขาแสดงออกได้ ประเทศก็จะอยู่กับที่และถูกแช่แข็งแบบนี้ต่อไป”
เมื่อเยาวชนไม่เกรงกลัวความรุนแรง แล้วภาครัฐต้องแก้ปมอย่างไร
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเยาวชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทั้งบนโลกออนไลน์ และในพื้นที่ชุมนุม ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมนุมที่มีเยาวชนจำนวนมากบาดเจ็บและถูกจับกุม
ณัฐวุฒิ เนาวบุตร อาสาสมัครจากโครงการในม็อบมีเด็ก (Child in mob) เล่าว่า หลังจากที่เริ่มมีการสลายการชุมนุมและมีเด็กได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 แล้วมีเด็กได้รับผลกระทบจากการใช้แก๊สน้ำตา ทำให้ทีมต้องกลับมาตั้งคำถามกันว่า เราจะมีมาตรการอย่างไร เพื่อให้เด็กชุมนุมได้อย่างปลอดภัย
“เมื่อปีที่แล้ว เราลงพื้นที่ 9 ครั้ง พบว่า มีเด็กเข้าร่วมชุมนุมมากกว่า 5,489 คน แต่พอ COVID-19 ระบาดหนัก อาสาเองก็ลงพื้นที่ได้ยาก เด็กก็ชุมนุมน้อยลง ช่วงปีนี้ลงพื้นที่ไป 34 ครั้ง ได้ผูกแท็กข้อมือไป 1,532 เส้น”
การทำงานของกลุ่มในม็อบมีเด็ก มีตั้งแต่การระบุตัวตนเด็ก ด้วยการให้แท็กผูกข้อมือ สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี จะได้สีส้ม ส่วนเด็กและเยาวชนที่อายุ 15-18 ปี จะได้แท็กสีชมพู นอกจากนี้ ยังประชาสัมพันธ์พื้นที่ปลอดภัยและสิทธิที่เด็กมีให้กับเด็กและเยาวชนด้วย และหากเกิดกรณีฉุกเฉิน กลุ่มในม็อบมีเด็กก็จะพาเด็กออกจากพื้นที่ชุมนุม รวมถึง มีการจัดทีมช่วยเหลือปฐมพยาบาลไว้ด้วย
ณัฐวุฒิเล่าว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีเด็กและเยาวชนถูกคุกคาม 56 เคส จากปกติจะอยู่ที่เดือนละ 10 เคสเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นการคุกคามกับเด็กที่มีความคิดเห็นต่าง โดยมาในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การข่มขู่ ตามไปหาที่บ้าน กดดันกับผู้ปกครอง และการใช้ความรุนแรงอย่างที่พบเห็นในพื้นที่ดินแดง
ยิ่งกว่านั้น เด็กที่มาร่วมชุมนุมก็เริ่มมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ มีทั้งเด็กที่มาชุมนุมกับผู้ปกครอง และเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมนุม ซึ่งบางคนอยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง บางคนก็แค่มาสังเกตการณ์ โดยณัฐวุฒิเสริมว่า เด็กหลายคนยังไม่รู้สิทธิที่ตัวเองมี ซึ่งสังเกตได้จากความสนใจของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ดินแดง เวลาที่ทีมลงพื้นที่ มีหลายคนอยากเข้ามาฟังทั้งเรื่องสิทธิในการชุมนุม และสิทธิในการเข้าถึงทนาย เพราะเป็นเรื่องที่พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อน
ขณะที่ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนตั้งคำถามว่า ทำไมการชุมนุมของเยาวชนที่ดินแดงถึงได้รับความสนใจน้อยกว่าการชุมนุมเมื่อปีก่อน
“ม็อบปีที่แล้ว เราเห็นภาพของลูกหลานชนชั้นกลางออกมาเรียกร้อง สังคมช็อกว่า เป็นไปได้ยังไงที่ลูกหลานคนที่มีอันจะกินจะเดือดร้อน สังคมไทยไม่มีคำตอบกับเรื่องนี้ แต่ปีนี้ ปัญหามันเริ่มจากสังคมไทยกับวิธีคิดที่มีต่อกลุ่มลูกหลานคนจน ซึ่งมักมีข้อสรุปอยู่ก่อนแล้วว่า เขาเป็นลูกคนจน ความรุนแรง แก็งเด็กแว้น นั่นคือมีคำอธิบายที่สำเร็จรูปอยู่แล้ว คนจึงไม่ค่อยสนใจว่า ม็อบดินแดงเป็นใคร”
อ.กนกรัตน์ เล่าถึงข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับเยาวชนแนวหน้าในพื้นที่ดินแดงว่า เยาวชนในพื้นที่ดินแดง คือลูกหลานของชนชั้นล่างซึ่งล่างที่สุดในสังคมที่เหลื่อมล้ำในทุกมิติ เขามาจากครอบครัวที่ยากจน แม้ว่าครอบครัวจะพยายามต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อยกระดับฐานะตัวเอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ บางคนเป็นกลุ่มเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา หรือมาจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ หรือได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์จากการถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้ด้วย
“เยาวชนในปีที่แล้ว เขาฝันถึง ‘อนาคต’ ของพวกเขา แต่ปีนี้ เขาฝันถึง ‘วันนี้’ ที่ดีขึ้น”
“เขาคือการระเบิดของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการศึกษา ปัญหาการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ปัญหาของครอบครัวไทย ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณสุข ทุกอย่างของปัญหาในสังคมไทยที่เราพูดกันมา”
อ.กนกรัตน์ กล่าวด้วยว่า การจับกุมแกนนำ การใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ทำให้คนจำนวนมากถอยและไม่ไปร่วมม็อบจริงๆ อีกทั้ง การจับกุมแกนนำยืดเยื้อยาวนาน ก็ส่งผลกระทบต่อการชุมนุมของกลุ่มลูกหลานชนชั้นกลางด้วย แต่กลุ่มเด็กเยาวชนปีนี้ มีความกลัวแตกต่างออกไป เนื่องจากเขาอยู่ในสภาพสังคมที่เผชิญกับความรุนแรงมาบ่อยครั้ง เคยถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐจริงๆ ตำรวจจึงไม่ใช่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ของพวกเขาตั้งแต่ไหนแต่ไร และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่เขาสามารถแสดงความอัดอั้นนั้นออกมาได้
นอกจากนี้ อ.กนกรัตน์ยังเสริมว่า ปีที่แล้ว รัฐบาลอาจคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จในการเอาทุกอย่างไปอยู่ใต้พรม แต่จากเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งกระจายไปในหลายพื้นที่นอกเหนือจากดินแดง เช่น แยกนางเลิ้ง อนุสาวรีย์ชัยฯ ถือเป็นรูปแบบใหม่ที่สะท้อนว่า เรากำลังจะผ่านเส้นที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้แล้ว
ดังนั้น ข้อเสนอที่ อ.กนกรัตน์ มองว่าภาครัฐต้องเร่งแก้ไขโดยด่วนก็คือ ประการแรก ภาครัฐต้องได้ยินเยาวชน โดยที่พวกเขาไม่ต้องพูด เพราะพวกเขาพูดกันมาเยอะมากแล้ว จะให้เปิดเวทีรับฟังปัญหาทั้งหมดก็ไม่ไหว แต่หากจะทำจริงๆ ก็ต้องทำอย่างเป็นระบบ และให้ทุกคนมีส่วนร่วม
ประการที่สอง ต้องแก้ปัญหาจากภายใน ทั้งระบบราชการและนโยบายในกระทรวงต่างๆ สามารถเริ่มแก้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอการสั่งการจากเบื้องบน
และประการที่สาม คือการให้เยาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยต้องเปิดพื้นที่ให้อยากกว้างขวาง เป็นคอมมูนิตี้ฮอล อย่างที่ประเทศไทยไม่เคยทำมาก่อน ไม่อย่างนั้นก็คงไม่เห็นทางออกจากปัญหาที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ที่ปรึกษาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้กล่าวย้ำถึงแถลงการณ์ 5 ข้อที่คณะกรรมการได้ออกไปก่อนหน้านี้ว่า
- ต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเด็กและเยาวชนที่ไปชุมนุม โดยมีหน่วยงานจากภาครัฐเข้าร่วมด้วย
- หน่วยงานของรัฐควรมีแนวปฏิบัติและวิธีการที่เหมาะสมกับเยาวชนในพื้นที่ชุมนุม โดยจัดให้มีระบบดูแลเด็กและเยาวชนตั้งแต่เริ่ม ระหว่าง จนถึงหลังการชุมนุม โดยมีการติดสัญลักษณ์ให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และหากมีการจับกุม ก็ต้องมีสหวิชาชีพเข้าร่วมด้วย
- เจ้าหน้าที่รัฐควรจัดหามาตรการเชิงป้องกันที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้อย่างปลอดภัย และแยกกลุ่มผู้ชุมนุมให้ชัดเจนระหว่างผู้ก่อความรุนแรงและผู้ที่ไม่ได้กระทำ
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจัดอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล โดยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนที่คำนึงถึงมิติของเด็กและเยาวชน
- รัฐบาลควรประสานงานกับกระทรวง DE และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแล คุ้มครอง และปกป้องความเป็นส่วนตัวของเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และต้องมีมาตรการป้องกันการตีตรา กลั่นแกล้ง ผู้ที่มีความเห็นแตกต่างในโลกออนไลน์ด้วย
สรวงมณฑ์ กล่าวปิดท้ายว่า เด็กและเยาวชนมีต้นทุนชีวิตที่หลากหลาย แตกต่างกันไป ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องรับฟังทุกคนด้วย
ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐต้องยุติการใช้ความรุนแรงโดยเร็ว ทั้งความรุนแรงในการสลายการชุมนุม การใช้กฎหมายคุกคามสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการข่มขู่ คุกคามในรูปแบบอื่นๆ
หากภาครัฐยังเชื่อมั่นในคำที่ชอบพูดกันอยู่เสมอว่า เยาวชนคืออนาคตของชาติ เป็นกลุ่มคนที่จะมาขับเคลื่อนประเทศนี้ต่อไป ก็ขอให้ยุติการใช้ความรุนแรง และเปิดทางให้ได้มีชีวิตและเติบโตต่อไปด้วย